แวนคูเวอร์ - โคควิทแลม


เพิ่มเพื่อน    

ชายหาดสแปนิชแบงค์ เมืองแวนคูเวอร์ รัฐบริติชโคลัมเบีย

หลังจากงาน Memorial Service รำลึกและไว้อาลัยแด่ปีเตอร์ผู้ล่วงลับผ่านไป 1 วัน ชาร์ล็อตผู้เป็นลูกสาวคนเดียวของบ้าน หลานสาวของปีเตอร์ ได้เวลาเดินทางกลับไปทำงานต่อที่เมืองมอนทรีออล รัฐควิเบก เสร็จมื้อเช้าขนมปังชีสและกาแฟแล้วทุกคนก็ขึ้นรถ Nissan Rouge ของจอห์นไปยังสนามบินแวนคูเวอร์ ชาร์ล็อตกอดลาพ่อกับแม่ แล้วก็เดินมากอดลาผมด้วย “หวังว่าจะได้เจอคุณอีก” ผมก็กล่าวเช่นเดียวกัน

จอห์นขับรถออกจากสนามบินบนเกาะซีไอแลนด์ เมืองริชมอนด์ พาไปกินมื้อเที่ยงที่ร้านอาหารบนถนนเวสต์บรอดเวย์ ในตัวเมืองแวนคูเวอร์ ห่างออกไปราว 10 กิโลเมตร ผมสั่งปลาทอดและมันทอดแต่ไม่ได้เรียกว่า “ฟิชแอนด์ชิพ” เพราะหน้าตาของอาหารแตกต่างกัน และรสชาติก็เข้มข้นกว่าอาหารยอดนิยมของชาวอังกฤษ จอห์นกินเบอร์เกอร์ ลิเลียนสั่งไก่และมันทอด แต่ขอลดปริมาณมันทอดลงไปครึ่งหนึ่ง แม้จะไม่เคร่งครัดแต่เธอก็ระมัดระวังเรื่องอาหารอยู่พอสมควรเพราะอายุเฉียด 80 แล้ว ส่วนจอห์นยังแค่ 64 – ซิกตี้โฟร์ ตามเพลงของ “เดอะ บีทเทิลส์” เป๊ะๆ

เสร็จจากมื้อเที่ยง คู่รักพาผมไปยังมหาวิทยาลัยบริติชโคลัมเบีย (University of British Columbia หรือ UBC) มหาวิทยาลัยเก่าของทั้งจอห์นและลิเลียน รวมถึงปีเตอร์ด้วย บุคคลสำคัญของประเทศหลายคนก็จบจากสถานศึกษาแห่งนี้ อาทิ คิม แคมป์เบล อดีตนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของประเทศ และจัสติน ทรูโด ผู้นำคนปัจจุบัน ถือเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐที่มีคุณภาพการศึกษาติด 1 ใน 3 ของประเทศ และ 1 ใน 20 ของโลกมายาวนานหลายปี

ตัวอย่างบ้านเรือนของชนพื้นเมืองในแคนาดา ด้านนอกอาคารพิพิธภัณฑ์ทางมานุษยวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยบริติชโคลัมเบีย

นอกจากมีชื่อเสียงในสาขาคณิตศาสตร์, วิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์, การแพทย์,เศรษฐศาสตร์, กฎหมาย และอักษรศาสตร์แล้ว ก็ยังมีการศึกษาด้านชนพื้นเมืองอย่างจริงจังและเป็นระบบ ในชื่อสาขา First Nation and Indigenous Studies และมีการตั้งพิพิธภัณฑ์ทางมานุษยวิทยาขึ้นภายในพื้นที่ของมหาวิทยาลัย ชื่อ Museum of Anthropology at UBC หรือ MOA ซึ่งจอห์นขับรถพาไปชมเป็นสถานที่ถัดมา

พิพิธภัณฑ์ทางมานุษยวิทยาแห่ง UBC ตั้งอยู่บนเนินดิน เป็นแหลมยื่นไปในทะเลส่วนที่เรียกว่าช่องแคบจอร์เจีย (Strait of Georgia) อาคารออกแบบให้มีลักษณะคล้ายสถาปัตยกรรมของชนพื้นเมืองที่มีเสาไม้ 2 เสาและคานพาดด้านบน สร้างเรียงซ้อนกันโดยขยายขนาดไปทางด้านหลัง แต่สร้างด้วยคอนกรีตและกระจกใส ด้านนอกอาคารมีบ้านเรือนโบราณและเสาไม้แกะสลักศิลปะชนพื้นเมืองตั้งอยู่จำนวนหนึ่ง

MOA ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ ค.ศ. 1947 โดยเป็นสาขาหนึ่งของคณะอักษรศาสตร์ ต่อมาในปี ค.ศ. 1791 นายกรัฐมนตรี ปีแอร์ ทรูโด บิดาของจัสติน ทรูโด ได้ประกาศให้มีการก่อสร้างพิพิธภัณฑ์ใหม่ขึ้นและเปิดใช้เมื่อปี ค.ศ. 1976

สแตนลีย์ปาร์ก สวนสาธารณะขนาดใหญ่ในแวนคูเวอร์

อาคารหลังใหม่นี้นอกจากจะเป็นพิพิธภัณฑ์ทางมานุษยวิทยาแล้วยังมีส่วนที่เป็นงานวิจัยทางโบราณคดีและห้องเก็บตัวอย่างวัตถุด้วย

ในส่วนที่เป็นพิพิธภัณฑ์ทางมานุษยวิทยา ได้มีการนำผลงานศิลปะที่เกี่ยวกับชนพื้นเมืองจำนวนมากมาจัดแสดง โดยมีการทำงานร่วมกับศิลปินชาวมุสคีม ชนพื้นเมืองกลุ่มหนึ่งของแคนาดาอย่างใกล้ชิด

สิ่งสะสมในพิพิธภัณฑ์มีอยู่กว่า 5 หมื่นชิ้นจากทั่วโลก แม้ว่าจะเน้นงานจากฝั่งตะวันตกเฉียงเหนือของทวีปอเมริกาเป็นพิเศษ แต่เกือบครึ่งของสิ่งสะสมก็มาจากเอเชียและโอเชียเนีย รวมถึงงานสำคัญจากอาร์คติก ละตินอเมริกา และยุโรป ขณะที่ส่วนงานวิจัยทางโบราณคดีมีตัวอย่างวัตถุถึง 535,000 ชิ้น

นอกจากนี้ยังมีส่วนที่จัดแสดงการบันทึกของนักมานุษยวิทยา นักภาษาศาสตร์ หมอสอนศาสนา และนักเดินทางคนสำคัญๆ โดยเฉพาะภาพถ่ายมากกว่า 9 หมื่นภาพที่ถ่ายจากทั่วโลกตั้งแต่คริสต์ทศวรรษ 1890 เป็นต้นมา แม้แต่ภาพถ่ายยุคเริ่มแรกจากธิเบต ดินแดนหลังคาโลก

แม้จะรังเกียจการใช้แรงงานสัตว์แค่ไหน ก็จะได้รับการยกเว้นหากกระทำในนามการท่องเที่ยว

ทั้งนี้ แคนาดาเรียกชนพื้นเมืองว่า First Nations หรือกลุ่มปฐมชาติ มีมากกว่า 600 กลุ่ม อยู่ในดินแดนแถบนี้มามากกว่า 500 ปีก่อนคริสตกาล ก่อนชาวอังกฤษและฝรั่งเศสจะเข้ามาไม่กี่ร้อยปีที่แล้ว (อังกฤษชนะสงครามกับฝรั่งเศสในเวลาต่อมา จึงได้ครองแคนาดา – ชื่อที่หมายถึง “หมู่บ้าน” ในภาษาชนพื้นเมือง ต่อมากลายเป็นชื่อแม่น้ำสายหนึ่ง) โดยไม่นับชาวอินนูอิท (หรือชาวเอสกิโม แต่ปัจจุบันกลายเป็นคำไม่สุภาพ) และชาวเมทิส ซึ่งก็คือกลุ่มชนพื้นเมืองเลือดผสมกับชาวยุโรปที่เข้ามาบุกเบิกทำการค้าและตั้งถิ่นฐาน        

ข้างๆ กับอาคาร MOA มีป้อมปืนใหญ่ชื่อ Grey Point ตั้งอยู่ สร้างขึ้นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เพื่อป้องกันการถูกโจมตีจากญี่ปุ่น แต่ปืนเหล่านี้ไม่เคยได้ใช้ยิงศัตรูเลย กระทั่งหลังสงคราม ปี ค.ศ. 1948 ก็ถูกเคลื่อยย้ายออกไปเพื่อหลีกทางให้กับการสร้างพิพิธภัณฑ์ เหลือเพียงฐานวางปืนใหญ่ อุโมงค์ และห้องเก็บกระสุน อย่างละนิดละหน่อยไว้ให้ผู้มาเยือนได้ประจักษ์ถึงการเคยมีอยู่

จอห์นถ่ายรูปผมกับลิเลียนแล้วชวนให้ขึ้นรถ ขับพาเราไปไม่ไกลก็เข้าที่จอดของสวนสาธารณะ Spanish Banks Beach มีสนามหญ้าสำหรับปิกนิกและเล่นกีฬา ส่วนของชายหาดมีท่อนไม้ขนาดใหญ่ๆ ยาวๆ วางขนานไปกับแนวชายหาดให้คนนั่งเล่นหรือถ่ายรูป อีกฝั่งทะเลคือภูเขาของเขตเวสต์แวนคูเวอร์ ทะเลส่วนนี้เรียกว่าปากน้ำเบอร์ราร์ด มีเรือสินค้าขนาดใหญ่หลายลำจอดอยู่ น้ำค่อนข้างตื้น พื้นทะเลโผล่ให้เห็นยาวมากกว่าร้อยเมตร ด้านซ้ายมือคือช่องแคบจอร์เจีย ถัดไปเป็นเกาะขนาดใหญ่ชื่อเกาะแวนคูเวอร์ซึ่งมีวิคตอเรีย เมืองหลวงของรัฐบริติชโคลัมเบียตั้งอยู่ทางใต้เกาะ (แต่เมืองแวนคูเวอร์ตั้งอยู่บนแผ่นดินใหญ่) ถัดไปก็เป็นมหาสมุทรแปซิฟิกเหนือ

นางเงือกขี้อายแห่งสแตนลีย์ปาร์ก

ที่มาของชื่อชายหาดสแปนิชแบงค์ (Spanish Banks Beach) นั้นมีข้อมูลระบุว่าชาวสเปนเป็นคนกลุ่มแรกที่เข้ามาในช่องแคบจอร์เจียเมื่อปี ค.ศ. 1791 ชื่อของหาดได้รับการตั้งขึ้นตามเหตุการณ์การพบกันของกัปตันจอร์จ แวนคูเวอร์ แห่งกองทัพเรืออังกฤษ และฝ่ายกองทัพเรือสเปนในปี ค.ศ. 1792 ในขณะที่แผนที่ของกัปตันแวนคูเวอร์ไม่ได้ระบุชายหาดแห่งนี้ไว้ ฝ่ายสเปนได้เขียนไว้อย่างชัดเจนในปี ค.ศ. 1792 และ 1795 ต่อมาบริษัท Hudson’s Bay ยักษ์ใหญ่ด้านธุรกิจค้าขนสัตว์ได้เข้ามายังบริเวณนี้ก็เลยเรียกชื่อตามฝ่ายสเปน และใช้ชื่อนี้มาจนถึงปัจจุบัน

จากนั้นเราขึ้นรถอีกครั้ง จอห์นขับไปทางขวาผ่านอ่าว English Bay เข้าสู่ย่านเวสต์เอนด์ของแวนคูเวอร์ วนรอบสแตนลีย์ปาร์ก (Stanley Park) เกาะที่เป็นสวนสาธารณะขนาดใหญ่ มีอ่าวแวนคูเวอร์อยู่ทางขวา สแตนลีย์ปาร์กถูกขึ้นทะเบียนเป็นเขตประวัติศาสตร์แห่งชาติของแคนาดา และได้รับการจัดอันดับโดยเว็บไซต์ Tripadviser เมื่อปี ค.ศ. 2013 ให้เป็นสวนสาธารณะอันดับ 1 ของโลกสำหรับผู้ที่ไปเยือนเป็นครั้งแรก (อันดับ 2 ตกเป็นของ Central Park ในนิวยอร์ก)

เสียดายที่ไม่ได้แวะ จอห์นขับรถข้าม Lions Gate Bridge สะพานแขวนแสนสวยที่เชื่อมเขตเมืองแวนคูเวอร์กับแวนคูเวอร์ฝั่งเหนือ ซึ่งมีนอร์ธแวนคูเวอร์และเวสต์แวนคูเวอร์

สะพานไลออนเกต เชื่อมตัวเมืองแวนคูเวอร์กับแวนคูเวอร์ฝั่งเหนือ

เลี้ยวซ้ายไปสักพักก็ถึงอุทยานไวท์คลิฟ (Whytecliff Park) ในย่านฮอสชูเบย์(Horseshoe Bay) จอห์นหาที่จอดอยู่นาน วนหลายรอบกว่าจะจอดได้ แล้วเดินนำผมไปยังชายหาดที่มีก้อนหิน กรวด และทรายหยาบๆ หน้าผาสีขาวเจ้าของชื่อเป็นเนินหินขนาดไม่สูงใหญ่นักยื่นออกไปในทะเล ผมนั่งที่ม้านั่งตัวหนึ่งมองย้อนแสงแดดอ่อนยามบ่ายแก่ๆ ออกไปเห็นเกาะโบเวนอยู่อีกฝั่ง

รวมๆ แล้วก็น่าชมและให้ความสงบพอดีงาม เด็กๆ และผู้ใหญ่เดินไปมาบนชายหาด ไม่มีใครลงไปเล่นน้ำทะเล จอห์นบอกว่าเบื่อแล้วค่อยกลับไปยังลานจอดรถ เขาจะกลับไปหาลิเลียนที่นั่งพักอยู่แถวๆ ที่ทำการอุทยาน

เขตอุทยานไวท์คลิฟมีสัตว์ทะเลอยู่มากกว่า 200 สปีชีส์ เป็นพื้นที่พิทักษ์ทางทะเลแห่งแรกของแคนาดา ในฤดูร้อนสิงโตทะเลจะพากันขึ้นมานอนอาบแดดโชว์นักท่องเที่ยว ผมนั่งอยู่สักพักเมื่อรู้สึกว่าลมพัดแรงขึ้นก็เดินตามไปสมทบกับจอห์นและลิเลียน

เรากลับถึงบ้านที่เมืองโคควิทแลมตอนเย็น จอห์นไปหาผู้ป่วยเด็กพิการทางสมองที่ต้องทำกายภาพบำบัด จอห์นเป็นอดีตนักกายภาพของนักกีฬาทีมชาติแคนาดา แต่เมื่อเกษียณอายุแล้วก็มาทำงานกับกลุ่มเด็กพิเศษเหล่านี้ตามบ้าน เขากลับมาตอนที่อาหารเย็นเสร็จเรียบร้อยแล้ว

ชาวเอเชียพบปะกันที่ Horseshoe Bay

ลิเลียนนำซอสหมูที่เหลือจากที่กินกับสปาเก็ตตี้เมื่อคืนก่อนมาอุ่นให้ร้อนแล้วราดลงบนข้าวสวย โดยคนปรุงจริงๆ ก็คือชาร์ล็อต ผมดีใจที่ได้กินอีกเพราะฝีมือชาร์ล็อตนั้นไม่ธรรมดา และเท่าที่สังเกตจากการพักกับครอบครัวนี้ราว 1 สัปดาห์ พบว่าลิเลียนไม่ชอบทำอาหาร จอห์นคงรับหน้าที่นี้ในยามปกติ และกินนอกบ้านบางวัน

หลังมื้ออาหาร จอห์นหยิบกีตาร์ออกมาเล่น ฝีมือเขาใช้ได้ เขาขอให้ผมเล่นให้ฟังบ้าง ผมพึ่งพี่ปู พงษ์สิทธิ์ ไปสอง-สามเพลง แล้วก็คืนกีตาร์ให้จอห์น เขาหันมาเปิดซีดีจำพวก “ดิ อิเกิลส์” สักพักก็ชวนกันแยกย้ายเข้านอน

วันต่อมา จอห์นต้องออกไปหาผู้ป่วยอีก ลิเลียนขับรถพาผมออกไปยังอุทยาน Gates Park ในเขต Port Coquitlam มีส่วนที่เป็นสวนสาธารณะกว้างใหญ่และแม่น้ำโคควิทแลมที่ลักษณะออกไปทางลำธารมากกว่า ลิเลียนชวนเดินเลียบแม่น้ำ เห็นคนกำลังตกปลาอยู่หลายคน ช่วงเวลานี้ของปีทางการไม่อนุญาตให้เดินลงไปในแม่น้ำเพราะกลัวว่าจะไปเหยียบไข่ของปลาแซลมอน แม้แต่สุนัขก็ยังถูกขอไม่ให้เดินลงไป แต่ผมเห็นมีอย่างน้อยคนหนึ่งยืนตกปลากลางลำธารเลยทีเดียว   

ขณะเดินไปลิเลียนก็อธิบายและให้ความรู้เกี่ยวกับเมืองแห่งนี้เหมือนว่าความรู้และความจำของเธอไม่มีขีดจำกัด เธอเป็นอดีตคุณครูสอนระดับประถมศึกษาหลายวิชา ทุกวันนี้เล่นเปียโนให้ความบันเทิงแก่ผู้สูงอายุในบ้านพักคนชราสัปดาห์ละครั้ง เมื่อวานซืนเธอก็เพิ่งโชว์ฝีมือให้ได้ยิน

เย็นนี้เมื่อกลับบ้านไป ลิเลียนสั่งพิซซ่ามากินเป็นมื้อค่ำ ตอกย้ำข้อสังเกตของผมเข้าไปอีก จอห์นเล่นกีตาร์ ร้องเพลงเหมือนเคย วันนี้มีปลาแซลมอนรมควันสำหรับแกล้มเบียร์ เข้ากันดีมาก จอห์นบอกว่าราคาค่อนข้างแพงเพราะเป็นปลาที่ไม่ได้มาจากฟาร์มเลี้ยง

เช้าวันสุดท้ายในแคนาดา อาการเจ็ตแล็กหายไปพอดี หลังมื้อเช้าสไตล์อังกฤษแล้วจอห์นก็ออกไปหาลูกค้า (เด็กป่วย) ก่อนจะกลับมาเพื่อพาผมไปกินข้าวเที่ยง เขาให้เลือกระหว่างอาหารเอเชียกับเคเอฟซี ผมไม่เชื่อใจอาหารเอเชียในต่างแดนสักเท่าไหร่ แม้ว่าคนเอเชียจะอาศัยอยู่ในรัฐนี้ค่อนข้างเยอะ อีกทั้งยังไม่ได้พิสูจน์เคเอฟซีแดนหมีกริซลี่ แถมจอห์นยังพูดอีกว่า “We don’t have bad chicken” – เราไม่มีไก่คุณภาพแย่ๆ เพราะมีการควบคุมการเลี้ยง เข้มงวดเรื่องการใช้ฮอร์โมนและยาปฏิชีวนะ ผมจึงไม่พลาดเคเอฟซีแคนาดา

สาวน้อยลงทะเลเพียงแค่ตาตุ่มก็พอใจที่อุทยานไวท์คลิฟ เวสต์แวนคูเวอร์

ชิ้นไก่ค่อนข้างเล็ก รสชาติก็ไม่มีอะไรผิดแผกไปจากของไทยมาก แต่กินแล้วสบายใจ ความอร่อยจึงตามมาเอง และรู้สึกว่าไก่ทอดกินด้วยมืออร่อยกว่ากินด้วยมีดและซ่อม กินเสร็จแล้วใช้ผ้าเปียกเช็ดมือ แล้วเดินออกไปหาซื้อวิสกี้ในร้านจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ขนาดใหญ่ร้านหนึ่ง เลือกอยู่นานก่อนตัดสินใจหยิบ Ardbeg ซิงเกิลมอลต์วิสกี้ที่หนักกลิ่นควันเพื่อนำกลับไปพิสูจน์ที่เมืองไทย

ระหว่างเก็บกระเป๋า เพื่อนจากเมืองไทยผู้เป็นเอเยนต์จำหน่ายตั๋วเครื่องบินให้แจ้งข่าวมาว่าพายุกำลังเข้าไต้หวัน ผมต้องไปเปลี่ยนเครื่องที่นั่น เที่ยวบินเลื่อนกันพัลวันนานหลายชั่วโมง แต่ก็ขอออกจากบ้าน 5 ทุ่มตามเวลาเดิม เพราะวันรุ่งขึ้นจอห์นมีแข่งฮ็อกกี้น้ำแข็งของกลุ่มนักกีฬาอาวุโส ผมไม่อยากให้เขานอนดึกแม้เจ้าตัวบอกว่าออกไปส่งกี่โมงก็ได้

กอดลาลิเลียนที่บ้าน และกอดลาจอห์นที่สนามบิน ส่วนปีเตอร์คาดว่าจะบินกลับเมืองไทยด้วยกัน.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"