ปรากฏการณ์ อนาคตใหม่


เพิ่มเพื่อน    

 อนค.-ธนาธร ยิ่งตียิ่งขึ้น เปิดโมเดลปฏิรูปกองทัพ

ผลการเลือกตั้ง ส.ส.เมื่อวันที่ 24 มี.ค.ที่ออกมา ด้วยระบบเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม นับทุกคะแนนเสียง ได้สร้างปรากฏการณ์การเมืองใหม่ขึ้นมาหลายอย่าง ชนิดหักปากกาเซียนกันครั้งใหญ่ ในสนามเลือกตั้งหลายพื้นที่ รวมถึงกรณีที่พรรคการเมืองตั้งใหม่ ลงสนามเลือกตั้งครั้งแรก อย่าง พรรคอนาคตใหม่ (อนค.) ที่ได้สร้างปรากฏการณ์การเลือกตั้งให้เป็นที่พูดถึงอย่างมาก กับการได้ ส.ส.เขต 30 ที่นั่ง และคาดว่าน่าจะได้ ส.ส.บัญชีรายชื่ออีกร่วม 50 กว่าที่นั่ง จากคะแนนเลือกตั้งทั่วประเทศที่พรรคได้คือ 6,265,950 คะแนน ทำให้คาดว่า อนค.จะได้ ส.ส.ไม่ต่ำกว่า 87 ที่นั่ง จนตอนนี้ไปจับมือร่วมตั้งรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทยเรียบร้อยแล้ว

สิ่งที่เกิดขึ้นกับพรรค อนค.มีมุมมองจากคนในพรรค 2 คนที่มองปรากฏการณ์ดังกล่าว เริ่มจากคนแรก พลโทพงศกร รอดชมภู รองหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ อดีตรองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) หรือเสธ.โหน่ง ที่บอกว่า การที่พรรคได้ ส.ส.รวมทั้งหมดไม่น้อยกว่า 80 ที่นั่ง ไม่ใช่เรื่องเหนือความคาดหมายของพรรคแต่อย่างใด เพราะเดิมทีก็คาดไว้อยู่แล้วว่าพรรคน่าจะได้ ส.ส.ประมาณนี้ แต่เมื่อดูจากผลการออกเสียงของทุกเขต พรรคพบว่าผู้สมัครของพรรคได้อันดับ 2-3 ในเขตที่ไม่ชนะ ก็ถือว่าสูสี แปลว่าประชาชนส่วนใหญ่ตอบรับพรรค แต่ยังทำงานไม่หนักพอ เลยไม่ชนะ ผลที่ออกมาเราจึงไม่ประหลาดใจ แต่ก็ยังน้อยกว่าในความรู้สึกของเราที่ประเมินกระแสตอบรับจากประชาชน แต่เมื่อไปดูคะแนนที่แพ้ ก็กลายมาเป็นปาร์ตี้ลิสต์ ก็ถือว่าโอเค แต่จริงๆ อยากให้ชนะเขตมากกว่านี้

ส่วนก้าวย่างของพรรค อนค.ต่อจากนี้ พลโทพงศกร ย้ำว่า ต้องทำงานหนักขึ้น

“ดังนั้นเราต้องไม่ประมาท อย่าคิดว่าเรื่องแบบนี้เป็นของตาย เราต้องทำงานต่อ อธิบายต่อ เพื่อที่ว่าพอกระแสเราลดลง ประชาชนเขายังเห็นประโยชน์ของพรรคเราอยู่ เราต้องทำต่อ บางทีเราอาจมองภาพลวงตาไปนิด เพราะหากช่วงเวลานี้เปลี่ยนไป เขาก็อาจเลือกเราลดลงก็ได้ ดังนั้นเราต้องทำงานหนักขึ้น” รองหัวหน้าพรรค อนค.ระบุ

ถามถึงว่า สิ่งที่เกิดขึ้น การที่คนเลือก อนค.เป็นเรื่องของกระแสพรรคหรือกระแสธนาธรฟีเวอร์ รองหัวหน้าพรรค อนค. มองว่าน่าจะทั้ง 2 อย่าง เพราะธนาธรน่าจะเป็นกระแสของฟ้า ส่วนพรรคเป็นนโยบาย คือหากเป็นกระแส ก็อาจจะได้ แต่คงไม่เต็มที่ เพราะว่าไม่ใช่แค่คนหนุ่มสาวที่เลือก คนธรรมดาเขาก็เลือก เพราะเขาอยากออกจากความขัดแย้ง อยากเปลี่ยนแปลง อยากมีสังคมแบบใหม่ มีหลายองค์ประกอบ ไม่เช่นนั้นเราคงไม่ได้คะแนนแบบนี้

                เมื่อไล่ถามรายภาคถึงชัยชนะของ อนค.และคะแนนที่ได้ โดยเริ่มจากกรุงเทพมหานคร ซึ่งรอบนี้แชมป์เก่าอย่างประชาธิปัตย์ไม่ได้ ส.ส.สักคนเดียว แต่ อนค.ได้มา 9 ที่นั่ง โดยหลายแห่งสามารถโค่นแชม์ปเก่าอดีต ส.ส.หลายสมัยได้ พลโทพงศกร มองว่า ที่คน กทม.เลือก อนค. เป็นเพราะคน กทม.ส่วนใหญ่ที่เคยเลือกหนุนพรรคเก่า เขาคงเห็นว่าถึงเวลาต้องเปลี่ยนแปลง อยากให้ก้าวพ้นความขัดแย้ง ก้าวไปสู่ความเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ อยากก้าวเดินไปข้างหน้า สร้างบ้านสร้างเมืองกันใหม่ ไม่อยากอยู่กับความขัดแย้งเดิมๆ เท่านั้นเอง คนเบื่อแล้ว ความขัดแย้ง เขาก็เลือกพรรคการเมืองที่จะนำพาออกจากความขัดแย้งได้

                ส่วนที่ต่างจังหวัดหลายพื้นที่ ซึ่งพรรคได้ ส.ส.เขตก็มองว่า เขาต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงระดับโครงสร้าง ไม่ใช่แค่การสงเคราะห์เป็นครั้งคราว เช่น จำนำข้าว-ประกันราคาพืชผลเกษตร ที่เป็นการช่วยเหลือระยะสั้น บางส่วนเขาเห็นว่า ควรแก้ที่โครงสร้างมากกว่าอย่างที่พรรคได้บอก เช่น ลดการผูกขาด หรือการให้ประชาชนสามารถมีส่วนในการกำหนดราคาสินค้าเกษตรเองได้ ทำให้คนหันมาในเรื่องทิศทางเศรษฐกิจใหม่ เห็นได้จากในพื้นที่เลือกตั้ง ซึ่งมีแรงงานเยอะ อนค.ก็ได้มาเช่น ชลบุรี ก็คงเพราะเขาเห็นว่านโยบายรัฐสวัสดิการของเราจะเป็นประโยชน์กับเขา โดยในเขต 7 ที่พรรคชนะ เอาชนะบ้านใหญ่มาได้ (ตระกูลคุณปลื้ม) ก็จะพบว่าเขตดังกล่าวมีโรงงานเยอะ รวมถึงคะแนนจากฐานทัพเรือสัตหีบ หันมาเทคะแนนให้ อนค.ค่อนข้างมาก แสดงว่าทหารเรือเริ่มตีตัวออกห่างจากทหารการเมือง

...ขณะที่บางแห่งซึ่งพรรคชนะยกจังหวัด เช่น จันทบุรี เพราะจันทบุรีเป็นเมืองผลไม้ การที่ชาวสวนผลไม้ไม่สามารถกำหนดราคาได้ด้วยตัวเอง สิ่งนี้คือปัญหาใหญ่ เพราะเขาเห็นว่า นโยบายของพรรคที่ต้องการให้เกษตรกรสามารถกำหนดราคาสินค้าได้เอง เป็นเรื่องที่เขาจะได้ประโยชน์จากตรงนี้ หรือบางแห่ง เช่น นครปฐม ที่เอาชนะบ้านใหญ่ (เผดิมชัย สะสมทรัพย์ อดีตรัฐมนตรี-อดีต ส.ส.หลายสมัย) ในความเป็นจริง ที่นครปฐม ทางพรรคน่าจะได้ ส.ส.เขตมากกว่า 2 ที่นั่ง แต่ที่แพ้ บางคนก็หวุดหวิดจะชนะ เท่าที่พบคนนครปฐมมีการตื่นตัวทางการเมืองสูง บางทีคนอาจเห็นว่าการที่ต้องอยู่กับระบบ ”หัวคะแนน” แบบเก่า อาจเห็นว่ามันถึงเวลาต้องเปลี่ยนแปลงแล้ว และนครปฐมอยู่ติดกับกรุงเทพฯ มีคนรุ่นใหม่เยอะ ซึ่งกลุ่มนี้เป็นกระแสที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง

จากการลงพื้นที่เราพบว่า คนรุ่นใหม่จะไปบอกคนที่บ้านให้เลือกอนาคตใหม่ เราลงพื้นที่ เจอประชาชนเขาก็บอกว่า ลูกที่บ้านบอกให้เลือกอนาคตใหม่

รองหัวหน้าพรรค อนค. กล่าวต่อไปว่า สำหรับในภาคเหนือ เช่น เชียงราย ซึ่งได้ ส.ส. 2 คน โดยเฉพาะเขต 1 ที่คนของ อนค.เอาชนะเพื่อไทยได้ คือภาพใหญ่ในจังหวัดที่อยู่ไกลๆ คือพวกนักการเมืองที่เป็นพวก บ้านใหญ่ พบว่าเขาใช้ระบบหัวคะแนน ทำให้ประชาชนเขาเห็นว่าควรเปลี่ยนแปลง อย่างเขต 1 ที่ชนะ เป็นเขตเมือง เขาก็คงคิดเหมือนคนเมืองทั่วไปที่เห็นว่า ควรได้เวลาเปลี่ยนแปลง แต่หากเป็นคนมีอายุขึ้นมา เขาก็ยังอาจคิดว่าควรอยู่กับหัวคะแนน ดังนั้นเขตที่เรา อนค.พลิกได้คะแนนมามาก มักจะเป็นเขตเลือกตั้งในเมือง เช่น เขต 1 ขอนแก่น ที่ อนค.ได้มา เขตดังกล่าวเป็นเขตเมือง เขาจะคิดแบบใหม่ ต้องการออกจากความขัดแย้ง ต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลง ก็มาทางพรรค อนค. ทำให้เห็นภาพชัดคือ หากเป็นการเมืองแบบเก่าที่ยังใช้ระบบหัวคะแนน ระบบอุปถัมภ์ พรรคการเมืองเดิมก็จะได้ไป แต่ใครที่เริ่มคิดแบบใหม่ จะเกิดการเปลี่ยน

พลโทพงศกร ยังกล่าวถึงพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งเป็นภาคที่พรรคไม่ประสบความสำเร็จ ไม่ได้ ส.ส.แม้แต่คนเดียว อย่างไรก็ตาม ตอนที่แกนนำพรรคลงพื้นที่ การตอบรับดีมากจากคนรุ่นใหม่ แต่เราทราบมาว่า ที่เป็นแบบนี้เพราะการใช้ระบบหัวคะแนน จัดระบบอุปถัมภ์ ยังมีอยู่ คนที่มีอายุยังอยู่กับระบบเก่า แต่คะแนนของผู้สมัครที่แพ้ ก็ไม่ธรรมดา หลายเขตเลือกตั้งที่เป็นเขตพื้นที่สีแดง ที่มีเรื่องปัญหาเรื่องความไม่สงบ บางหมู่บ้านเขาเลือก อนค.ทั้งหมู่บ้านเลย ก็แสดงว่าคนเฒ่าคนแก่ และคนรุ่นใหม่เขาเปลี่ยนเลย ทำให้หลังจากนี้พรรคก็ต้องเจาะพื้นที่ต่อไป กลับไปทำความรู้จักกับเขาต่อไป

-มองว่าเหตุใดพรรค อนค.โดยเฉพาะธนาธร โดนวิจารณ์ ตรวจสอบอย่างหนัก อย่างก่อนเลือกตั้งวันเดียวก็มีเรื่องการโอนหุ้น?

ก็ต้องขอขอบคุณ เพราะทำให้พรรคมีพื้นที่สื่อทุกวัน ที่ทำให้เรามีพื้นที่สื่อทุกวันทำให้เราได้คะแนน (หัวเราะ) คือเหมือนกับที่เขาพูดกัน Bad news is Good news หมายถึงมีข่าวร้ายก็จริง แต่ทำให้เรามีพื้นที่สื่อ คือพอมีข่าวแบบนี้ ก็ทำให้คนที่สนับสนุนพรรค เขาจะค้นคว้าข้อมูล แล้วพอมันไม่ใช่ มันตีกลับ คะแนนพรรคขึ้นเลย

ดังนั้นยิ่งตียิ่งขึ้น แต่ก่อนเลือกตั้งมีอยู่ช่วงหนึ่งที่เราโดนตีหนัก ก่ออนเลือกตั้งประมาณสัก 1 เดือน เราโดนตีหนักมาก แต่ต่อมาคนที่ตีเราหนัก หยุดแล้ว แต่ยังมีคนทำต่อ แต่กระแสหลักในการตีเลิกแล้ว เพราะเขารู้แล้วว่ายิ่งตีพรรค คะแนนยิ่งขึ้น หากตีต่อไปเสร็จแน่ แต่คนไม่รู้เรื่องนี้ เขาเล่นต่อ ก็ช่วยไม่ได้

ถามย้ำว่ามีการมองว่าคนที่ต้านธนาธรเป็นพวกอนุรักษนิยม พลโทพงศกร ตอบรับทันทีว่า ก็ใช่ ก็ดูเรื่องที่ตีมีอะไร เช่น ล้มเจ้า หรืออะไรที่มันไม่เกี่ยวเลย ความคิดแบบนี้เป็นความคิดล้าหลัง แล้วเป็นการใส่ร้ายป้ายสีทางการเมือง ซึ่งคนเขาจับได้ว่ามันไม่ใช่ ก็ทำให้คะแนนตีกลับมา มันเป็นการสู้กันของคน 2 ระดับที่มีทัศนคติแล้วก็เทคโนโลยีที่ต่างกัน พอต่างกันมันเลยสู้กันไม่ได้

-ช่วงนั้นแกนนำพรรคมีการวิเคราะห์ไหม ทำไมมีเรื่องแบบนี้ออกมามากตอนเลือกตั้ง?

เรารู้อยู่แล้ว ยิ่งชอบเลย จริงๆ รู้สึกชอบ อย่างผมก็โดนคดี ก็เพราะแบบนี้แหละ ทั้งที่มันไม่ใช่คดี แต่ก็เอาจนได้ เพื่อให้พรรค อนค.มันเกิด 2 อย่างคือ 1.มันไม่ดี 2.ต้องโดนยุบพรรค ซึ่งเรื่องยุบพรรค เราต้องชี้แจงเยอะ มีแต่คนถามจะโดนยุบไหม ไม่กล้าเลือก เราต้องชี้แจงเยอะ เป็นเรื่องเดียวที่เป็นอุปสรรคมากที่สุด แต่ก็ชี้แจงจนโอเค เราต้องพูดตลอดเวลาว่าเราจะไม่โดนยุบ เพราะมันไม่เข้าข่ายยุบพรรค

-คนที่ออกมาวิจารณ์พรรค อนค.ค่อนข้างเยอะ บางคนก็เป็นคนระดับสูง จนคนมองว่าเป็นการสู้กันระหว่างชนชั้นนำกับพรรค อนค.?

ชนชั้นนำมีหลายฝ่าย แล้วถ้าศึกษากันดีๆ ก็จะรู้ว่า ฝ่ายไหนเป็นฝ่ายไหน แล้วจะรู้ว่าเขาไปเชื่อมโยงกับขบวนการเดิมใช่ไหม ก็จะพวกเก่า แต่ก็ไม่อยากเอ่ยชื่อท่านหรอก แต่ไล่ๆ ดูก็หน้าเดิมแค่นั้นเอง

-ที่ได้มาเยอะ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะนโยบายพรรค 3 เรื่อง คือแก้ รธน.-ล้างมรดก คสช.-ปฏิรูปกองทัพด้วยหรือไม่?

ใช่ รวมถึงการยืนอยู่บนเงื่อนไขประชาธิปไตย ที่เรายืนยันไม่ยอมเปลี่ยนหลักการ อย่างพูดตรงๆ เลยคือวันที่ 8 ก.พ. ที่เราแถลงจุดยืนพรรคอย่างมั่นคง ทำให้มีหลายคนมาสนับสนุนพรรคเราเพิ่มขึ้น เพราะว่าเราสู้บนกติกาประชาธิปไตยอย่างแท้จริง 

-คนมองว่าคะแนนของ อนค.หลายพื้นที่ อดีตผู้สมัครพรรคไทยรักษาชาติที่โดนยุบพรรค มีการเทคะแนนให้ เช่นที่ฉะเชิงเทรา หรือ กทม.หลายเขต?

เราพูดได้ว่าก็จริง เพราะก็มีบางแห่งที่เขาประกาศผ่านสื่ออย่างเช่น ฉะเชิงเทรา แต่เขาประกาศอย่างถูกต้อง เพราะเขาไปสมัครเป็นผู้ช่วยหาเสียงให้ อนค.เรียบร้อยก่อนแล้ว หลัง ทษช.ถูกยุบพรรค ซึ่งเป็นเรื่องปกติ เรื่องนี้หากถามว่าทำไม ก็เพราะ ทษช.กับ อนค.มีความเหมือนกันตรงที่มีนักสู้ พยายามสื่อไปว่านี่คือนักสู้ด้วยกัน มันก็เห็นใจกันแค่นั้นเอง ไม่มีอะไรมาก ต้องเข้าใจว่าเสียงประชาชนไม่ใช่สิ่งของที่จะไปเทให้ใครง่ายๆ ไม่ได้ แต่คุณต้องเอาจิตวิญญาณของคุณไปบอกว่า คนคนนี้เป็นนักสู้เหมือนกัน หากคุณสนับสนุนฉัน คุณก็ไปสนับสนุนคนที่เป็นนักสู้เหมือนกันก็ได้ ไม่ใช่ว่ามีของในมือร้อยชิ้นแล้วโยนไปให้คนอื่น แบบนั้นเป็นไปไม่ได้ แต่ความคิดที่ตรงกันมันไปด้วยกันได้

ทั้งนี้ พรรค อนค.ถูกพูดถึงมากว่า สามารถเจาะกลุ่มฐานเสียง คนรุ่นใหม่-ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งครั้งแรกได้ จนกลายเป็นกระแสและคะแนนเสียงที่ออกมา โดยเฉพาะการสื่อสารผ่านโซเชียลมีเดีย พลโทพงศกร พูดถึงเรื่องนี้ว่า อาจพูดได้ว่าพรรค อนค.ประสบความสำเร็จ เดินก่อนคนอื่น เราเดินอยู่ 2 เรื่องที่ทุกคนยอมรับว่าใช่ คือเราไปที่โซเชียลมีเดียกับคนรุ่นใหม่ ซึ่งก็มีคนอื่นมาเดินตามเรา แต่เขาตามเราไม่ทันแล้ว เพราะเราไปก่อน คือคนรุ่นใหม่เขาจะค้นคว้าศึกษาข้อมูลจากโซเชียลมีเดีย จากนั้นเขาก็จะเปรียบเทียบ

...เช่นก่อนเลือกตั้ง มีการนำรูปเงาของคน 2 คนมาเทียบ แล้วบอกว่าเป็นเสียงคนนั้นคนนี้ กรณีนี้โซเชียลมีเดียเป็นคนจับได้ ไม่ใช่พรรค อนค.จับได้ด้วยเครือข่ายความเร็วของเครือข่ายจำนวนมาก จนเหมือนว่าคนที่สนับสนุนเราในโซเชียลมีเดียและคนรุ่นใหม่เหมือนกับเป็นเจ้าของพรรค มาอุทิศตัวให้กับพรรค โดยไม่ถือว่าเป็นลูกจ้าง โดยพวกเขามาเดินงานให้พรรคโดยไม่ต้องขอร้อง แต่เขาเหมือนกับว่าเป็นเจ้าของ คือมองว่าหากพรรคแพ้หรือชนะเป็นเรื่องของเขา คนรุ่นใหม่เหล่านี้ก็เข้ามาอยู่ในห้องต่างๆ ของพรรค มาขับเคลื่อนไปด้วยกัน

ดังนั้นที่พรรควาง position ตรงนี้จึงถูกต้องแต่แรก ทำให้พรรคได้คนกลุ่มนี้มาสนับสนุนพรรคแต่แรก แล้วเมื่อเขาไปอยู่ที่บ้าน เวลาเลือกตั้ง เขาก็บอกพ่อแม่ให้เลือกคนของพรรค อนค. อย่างบางเรื่องที่พรรคโดนใส่ร้าย เขาก็ช่วยอธิบายให้พ่อแม่เขาฟัง พอพ่อแม่ฟังแล้วเห็นว่าเราถูกใส่ร้าย เขาก็คิดว่าต้องช่วย ก็เป็นผลดีให้กับพรรค แบบนี้คือตัวอย่าง

สำหรับสถานการณ์การเมืองต่อจากนี้ โดยเฉพาะการรับรองผลการเลือกตั้งของ กกต.และการจัดตั้งรัฐบาล พลโทพงศกร-รองหัวหน้าพรรค อนค. อ่านสถานการณ์ไว้ว่า ในส่วนของการจัดตั้งรัฐบาล ถึงเวลานี้หากจะบอกว่าพรรคฝ่าย ปชต.จะตั้งรัฐบาลคงยากแล้ว เพราะที่ดูตัวเลข ส.ส.ห่างกันเกือบ 20 เสียงโดยประมาณ ระหว่างพรรคเพื่อไทยกับพรรคพลังประชารัฐ เพราะเพื่อไทยได้ ส.ส. 137 เสียง ส่วนพลังประชารัฐน่าจะประมาณ 116 เสียง ห่างกันเกือบ 20 เสียง การที่ฝ่ายเพื่อไทยจะมีเสียง ส.ส.ตั้งรัฐบาลได้สัก 270 เสียง ก็จบทุกเรื่องจะเป็นรัฐบาลที่แข็งแกร่งมาก แล้วอย่างบางพรรค เช่น ภูมิใจไทย ที่น่าจะได้ประมาณ 51 เสียง ถ้าผมเป็นภูมิใจไทยหากมาอยู่กับฝ่ายเพื่อไทย จะเป็นรัฐบาลที่สะดวกกว่า เพราะฝ่ายนี้จะมีแค่ไม่กี่พรรค

-จะมีโอกาสเกิดงูเห่าการเมืองไหม อย่างต่อรองให้เงินกันสัก 50 ล้าน?

ผมไม่สามารถพูดถึงพรรคอื่นได้ แต่สำหรับอนาคตใหม่เราอยู่ด้วยอุดมการณ์ ดังนั้นงูเห่าอนาคตใหม่จะไม่มี แต่พรรคอื่นเราไม่รู้ว่าจะไปยังไง แต่ถ้าดูสถานการณ์การเลือกตั้งที่ผ่านมามันไม่ใช่การเลือกตั้งตามสถานการณ์ปกติ มันเป็นการพยายามให้พรรคการเมืองรวมตัวกัน เพื่อที่จะเอากาฝาก ที่ก็คือระบบทหารที่สืบทอดอำนาจออกไปจากระบบการเมือง ดังนั้นจะไม่ดีกว่าหรือ ถ้าพรรคการเมืองต่างๆ จะรวมตัวกัน มาเถอะ พรรคการเมืองทุกพรรคมาเลย แค่บอกมาว่าไม่เอา ส.ว. 250 เสียง ปิดสวิตช์ตรงนี้เสีย แล้วเลือกนายกฯ คนไหนก็ได้ พอเลือกไปสักพักแล้วจะโหวตเปลี่ยนทีหลังก็ไม่เป็นไร แต่ขอให้ตรงนี้หลุดไปก่อน ไม่เป็นไร จริงไหม

...ระยะแรกให้พรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยหรือพรรคการเมืองด้วยกันรวมกันก่อน อย่างคุณหญิงสุดารัตน์ จากเพื่อไทยก็ยังบอก ใครจะเป็นนายกฯ ก็เป็นไป ขอให้มาช่วยกันทำงานก่อน แปลว่า ให้ทุกพรรครวมกันแล้วใครมีเสียงรับรองสูงสุดก็ให้เขาไปเป็นนายกฯ แต่หลังจากนั้นพรรคเพื่อไทยเขาก็ต้องกลับมาเป็นนายกฯ ใหม่จนได้ เพราะเขาเสียงข้างมาก จริงไหม แต่ช่วงนี้เอา คสช.ออกไปก่อนสัก 5-6 เดือน แล้วเปลี่ยนนายกฯ ใหม่ ก็ไม่เห็นจะยาก จริงไหม ก็ได้เป็นแล้วสัก 6 เดือน

-หากสุดท้ายพรรคฝ่ายเพื่อไทยรวมเสียงกันได้เกินกึ่งหนึ่ง แต่ตั้งรัฐบาลไม่ได้ อีกฝ่ายใช้เสียง ส.ว. 250 เสียง ตั้งนายกฯ ไปก่อน แล้วมาดึงงูเห่าตั้งรัฐบาล จะเกิดเหตุวุ่นวายหรือไม่?

หลักนี้เขาวางแผนไว้แต่แรก โดยการเขียน รธน.เอาไว้ โดยให้ ส.ส.แค่ 126 คนมาบวกกับ ส.ว. 250 เสียง เลือกนายกฯ แล้วพอได้นายกฯ ผ่านไปสัก 2 สัปดาห์ พรรคการเมืองต่างๆ ก็จะไหลไปอยู่ด้วย อันนี้ต้องถามสปิริตพรรคการเมืองว่าจะอยู่ใต้ท็อปบูตทหารหรือ หากอยากอยู่ใต้ท็อปบู๊ตทหาร ก็เรื่องของคุณ เขามีสิทธิ์เลือกได้ แต่ก็จะอยู่ใต้ท็อปบูตทหารไปเรื่อยๆ ซึ่งจะดีกว่าไหม หากจะมารวมตัวกันของพรรคการเมืองด้วยกันเอง มากำหนดกติกากันเอง แล้วไปร่วมกันแก้ไขรัฐธรรมนูญ แล้วกลับมาอยู่กันปกติ โดยไม่มีทหารมาแทรกแซง แบบนี้จะดีกว่าไหม เปลี่ยนพลังประชารัฐเป็นฝ่ายค้านพรรคเดียว จะไม่ดีกว่าหรือ จะสวยกว่าไหม

เมื่อถามว่า การร่วมรัฐบาลของพรรค อนค. ที่แกนนำพรรคแถลงก่อนหน้านี้ ว่าต้องทำใน 3 เรื่องตามนโยบายพรรค เช่น ปฏิรูปกองทัพ แต่หากตั้งรัฐบาลแล้วพรรคร่วมรัฐบาลเห็นว่าสิ่งที่พรรคเสนอ เช่น ปฏิรูปกองทัพ อาจเกรงว่าทำแล้วจะมีปัญหากับผู้นำเหล่าทัพ  จะขอให้ยืดเวลา เก็บไว้ก่อน พลโทพงศกร ย้ำไว้ว่า พรรค อนค.ถึงจะให้มีการเซ็นเอ็มโอยู ร่วมกัน เพราะหากพูดด้วยปาก เดี๋ยวก็จะเลื่อนไปเรื่อย มาตกลงด้วยกันว่าจะปฏิรูปกองทัพ แต่ทุกพรรคก็บอกจะปฏิรูป ซึ่งหากไม่กล้า เราจะทำให้ เพราะไม่อย่างนั้นจะไปหาเสียงทำไม

ให้ ส.ส.พิจารณาแต่งตั้ง-โยกย้าย  บิ๊กกองทัพ-ทหารระดับนายพล

พลโทพงศกร ที่รับผิดชอบเรื่องการผลักดันนโยบาย ปฏิรูปกองทัพ-ทหาร ของพรรค อนค.กล่าวลงรายละเอียดถึง พิมพ์เขียวปฏิรูปกองทัพ ว่าจะต้องทำในสามเรื่องใหญ่ คือ 1.ตัดวงจรรัฐประหาร 2.ทำให้กองทัพมีเทคโนโลยีสูงขึ้น ทำให้มีความเข้มแข็ง 3.เป็นเรื่องกำลังพลเช่นการรับสมัครเกณฑ์ทหาร

...อันแรกเรื่องตัดวงจรรัฐประหาร คือวงจรรัฐประหารมันเกิดจากการมีระบบเส้นสาย อุปถัมภ์ เส้นสายในกองทัพมีวงศ์เทวัญ บูรพาพยัคฆ์ เพราะมีระบบแต่งตั้งกัน เราจะทำให้เกิดระบบแต่งตั้งทหารที่จะทำให้ไม่เกิดการสร้างเครือข่ายได้ คือระบบ "คนประเมินกับคนถูกประเมินจะไม่เห็นกัน" ทุกคนจะทำหน้าที่ตามบันทึกการทำงาน แล้วคัดเลือกตามนั้น

อย่างการตั้ง ทหารระดับนายพล จะแต่งตั้งกันได้ต้องให้ รัฐสภารับรองก่อน โดยให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ไม่ต้องไปถึงวุฒิสภา เพื่อให้ยึดโยงประชาชน เพราะ ส.ว. 250 คนไม่ยึดโยงประชาชน  ทางสภาจะได้ถามว่าชื่อที่เสนอมาดีจริงหรือไม่ ถ้าที่ประชุมสภาตีชื่อตกไปก็ต้องมาพิจารณากันใหม่ หากผ่านก็หมายถึงพวกนายพลทั้งหลายเป็นคนของประชาชน ทำให้การขึ้นมาดำรงตำแหน่งไม่สามารถวิ่งเต้นกันได้ เพราะขึ้นมาตามการทำหน้าที่ถึงจะได้ เช่นต้องมีการสอบวัดความรู้การทำงาน แล้วความรู้ที่จะไปอยู่ในตำแหน่งใหม่คนนั้นมีความรู้พอหรือไม่ แล้วเรื่องร่างกายฟิตหรือไม่ เพราะจะมีการให้ทดสอบร่างกายตลอดเวลา ทุกอย่างมีคะแนนหมดแบบตะวันตก รวมถึงเรื่องจิตวิทยา ดูว่าคุณสติดีหรือไม่ ถ้าแบบนี้ขึ้นมาดำรงตำแหน่งสำคัญไม่ได้ถ้าสติเสีย รวมถึงดูว่าเขาทำงานกับองค์กรระหว่างประเทศหรือไม่ เคยทำงานกับตะวันตกยูเอ็นหรือไม่ จะมีตัวคะแนนบวกเพิ่มให้ จะทำให้ทหารไทยไปโกอินเตอร์ตลอดเวลา เช่นไปทำหน้าที่ที่แอฟริกาซึ่งจะเสี่ยงภัยตลอดเวลา จะทำให้เป็นทหารที่เก่งเพราะต้องตื่นตัวตลอดเวลา

 เมื่อเป็นทหารที่เก่งพอกลับมาไทยทุกอย่างจะมี records หมด ก็จะส่งชื่อไปให้เลือก คนที่เลือก เขาดูจากเอกสารเฉยๆ โดยไม่รู้จักหน้าไม่รู้จักชื่อ ก็ดูจากประวัติที่ส่งไป เช่นตำแหน่งหนึ่งส่งชื่อไป 3 ชื่อ ให้ผู้บังคับบัญชาเลือก โดยเลือกแค่ 2 ชั้น คือ ผบ.ทบ.ปัจจุบัน แต่งตั้งผู้พันได้ เราก็จะให้ ผบ.ทบ.แต่งตั้งได้แค่ถึงระดับแม่ทัพภาค-พลโทเท่านั้น แล้วตัวแม่ทัพก็ตั้งได้แค่ถึงระดับผู้การกับพันเอกพิเศษ ก็จะทำให้ไม่สามารถไปคุยกับ ผบ.ทบ.ว่าจะให้คนไหนไปเป็นผู้พัน เพราะเป็นพวกเราจะได้ยึดอำนาจได้  ต่อไปก็จะทำไม่ได้เพราะมันขาดตอนไปหมดแล้ว ขาดตอนหมดเลย 

พลโทพงศกร ยืนยันว่าโมเดลดังกล่าวต่างประเทศใช้กันทั้งนั้น ข้าราชการพลเรือนต่างประเทศก็ใช้ แต่ของเรามาให้ ผบ.ทบ.แต่งตั้งได้ถึงระดับล่างสุดเลย ซึ่งไม่ได้ ต้องเลิก ทำให้เป็นสากล วางระบบไม่ให้เขาแต่งตั้งผู้การ-ผู้พันได้ ก็ทำให้ทหารยึดอำนาจยากแล้ว แล้วอำนาจต่างๆ ก็ให้เปลี่ยนเป็นระบบ "คณะเสนาธิการร่วม" โดยที่อำนาจการเคลื่อนย้ายกำลังพล อำนาจแต่งตั้งโยกย้ายต่างๆ เป็นของรัฐบาลพลเรือนหมด

 ส่วนเรื่องการประกาศกฎอัยการศึกก็ให้มาอยู่ที่รัฐบาลหมด ให้ ครม.ประกาศ เรื่องสภากลาโหมไม่ต้องพูดแล้ว จะให้เลิกไปหมดเลยเปลี่ยนเลย ไม่ต้องไปแก้ พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ.2551 แล้ว เปลี่ยนเลย เพราะจะแก้ไขก็แก้ไม่ทัน แก้ยาก เราก็ไม่ต้องแก้ แต่ใช้วิธียกเลิกไปเลย เพราะเมื่อเขียนกฎหมายใหม่ตามแบบที่ออกมา ก็จะทำให้กฎหมายที่ใช้อยู่ก่อนถูก overruled (ยกเลิก)  ไป จะไปแก้ทำไมให้เสียเวลา ก็เลิกเลย วิธีการก็เสนอเข้าสภาไป ใครอยากเสนอก็ได้ ก็เอาเข้า ครม. แล้วพอผ่านมาก็จบ หายเลย

                ...นอกจากนี้เราจะให้เลิกหน้าที่ทหารต่างๆ ที่ไปเกี่ยวข้องกับการเมือง ดึงหน้าที่ออก เช่นที่จะไปสอดส่องประชาชน ก็เอาออกทั้งทหารและ กอ.รมน. พอเอาออกไปพวกเครื่องมือที่จะไปเที่ยวสอดส่องคอยตามใครก็ไม่ต้องไปให้เสียเกียรติ

พลโทพงศกร-เสธ.โหน่ง กล่าวต่อไปว่า ส่วนเรื่องที่สอง เรื่องเทคโนโลยี หลักคือปัจจุบันมีทหารประจำการอยู่ที่ 330,000 คน และกำลังสำรองอีก 2 แสน รวมเป็น 5 แสน นโยบายเราต้องการลดให้เหลือ 170,000 โดยให้มีกำลังสำรองสองระลอก อย่างละ 170,000 คน ก็จะเป็น 5 แสนเหมือนเดิม ดังนั้นนโยบายนี้กำลังพลก็จะเท่าเดิม แต่ที่ให้เหลือ 170,000 จะกลายเป็นว่างบประมาณที่ไปใช้กับกำลังพล เช่นค่าอาหารจะลดไป แล้วนำเงินที่ลดไปมาเติมให้ทหาร ทำให้เขามีเงินเพิ่มขึ้น แล้วก็ยังนำเงินไปซื้ออาวุธให้ดีขึ้นเป็นสองเท่าได้ ก็ยังมีเงินเหลืออีก ที่เอาไปทำพวกสวัสดิการ เช่นอดีตทหารที่มีอายุมาก  ทำให้มีเงินเหลือจากเดิมปีละร่วมห้าหมื่นล้านบาท เป็นการรีดไขมันออกไป แต่ทำให้ยังมีกำลังพลเหลือเท่าเดิม ทำให้เทคโนโลยีของทหารดีขึ้นเป็นสองเท่า เพราะงบประมาณกลาโหมจะลดลงจากเดิมสามเท่า กลายเป็นอาวุธ ค่าตอบแทนให้ทหารที่มากขึ้น

...ซึ่งงบที่ลดลงมา แต่ไม่ได้ลดจริง เพราะเราจะนำสินทรัพย์ต่างๆ เช่นที่ดินของทหาร คลื่นวิทยุโทรทัศน์ต่างๆ ของกองทัพที่มีมากมายมาบริหารจัดการใหม่ เพื่อให้มีเงินเพิ่มขึ้นเกือบเท่ากับปัจจุบัน  เราดูไว้ที่ 150,000-200,000 ล้านบาท ด้วยการนำสินทรัพย์มาบริหารจริงๆ ไม่ได้บริหารแบบที่ผ่านมา  จะให้บริหารแบบมืออาชีพเพื่อจะได้มีเงินเข้ามามากขึ้น แล้วนำงบส่วนนี้ไปดูแลทหาร เช่นไปดูว่าจะให้ทหารที่เป็นข้าราชการไปซื้อประกันชีวิตเอกชนเพิ่มขึ้น ทำให้ทหารไม่ต้องห่วงอะไรเพราะจะมีการดูแลสวัสดิการให้หมด หากบาดเจ็บ-พิการ ทำให้ทหารมีความรู้สึกว่าชีวิตเขามั่นคง เราจะสร้างเรื่องพวกนี้ให้ โดยเงินที่จะใช้ส่วนนี้จะเป็นเงินนอกงบประมาณ เพราะสินทรัพย์ต่างๆ ของกองทัพเช่นที่ดินมีร่วมสองล้านไร่ เราขอแค่สิบเปอร์เซ็นต์ ก็คือสองแสนไร่ มาทำกิจกรรมต่างๆ หากได้เงินมาปีละหนึ่งล้านบาทต่อไร่ เท่ากับมีเงินเพิ่มปีละสองแสนล้านบาท ก็จะทำให้การใช้งบประมาณของทหารเท่ากับสองเปอร์เซ็นต์ของจีดีพี เท่ากับมาตรฐานโลก ก็จะเป็นกองทัพที่เข้มแข็ง

...ขณะเดียวกันก็มีเงินเหลือมาช่วยทหารชั้นผู้น้อยโดยทำให้โปร่งใส จะมีเงินไปสร้างอาวุธใหม่ๆ ให้เราผลิตอาวุธและขายเอง หรือมีเงินไปซื้ออาวุธโดยให้มีเงื่อนไข เช่นคนที่จะมาขายให้เราต้องนำเทคโนโลยีมาให้แล้วเราจะผลิตเอง

พลโทพงศกร กล่าวถึงโมเดลปฏิรูปกองทัพของ อนค.ต่อไปว่า เรื่องที่สามเรื่องเกณฑ์ทหาร กำลังพล ที่ผ่านมาไปเกณฑ์กับคนที่ไม่ได้เรียน รด.ซึ่งเขาไม่พร้อม แต่แนวทางเราใช้การอาสาเข้ามา เอาคนจบ ม.ปลาย จากปกติเราเกณฑ์ปีละแปดหมื่นถึงหนึ่งแสนคน ของเราจะให้ใช้แค่สองหมื่นคน ก็ทำให้มีเงินเหลือจากค่าใช้จ่ายที่เคยใช้เพราะถูกลดคนลงมา เท่ากับเขาจะมีเงินเหลือเป็นสองเท่าเพราะลดจากหนึ่งแสนเหลือแค่สองหมื่นคน แล้วก็จะมีเงินคอยช่วยเหลือเขาเช่นให้เงินไปเรียนจบปริญญาตรี เพราะเราใช้คนจบ ม.ปลายอาสาเข้ามา โดยให้เรียนพวกวิศวะ สายช่าง แล้วก็ตั้งกองทุนเพื่อพอจบแล้วก็ไปประกอบอาชีพได้

...เราจะเลิก รด. เพราะ รด.ทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมกัน เราจะใช้วิธีฝึกสามเดือน ให้มีเบสิกพื้นฐานเหมือนกัน ทำให้เข้มแข็งเท่ากัน ให้ทุกคนเป็นนักรบหมด ครึ่งกองทัพเป็นนักรบหมด แล้วหากฝึกเสร็จหากอยากอยู่ต่อก็เป็นนายสิบ เงินเดือนแม้อาจลดลงแต่ก็จะมีสวัสดิการข้าราชการ

รองหัวหน้าพรรค อนค. ยืนยันเสียงหนักแน่นว่า ที่พูดมาทั้งหมดสามารถทำได้เลย เพราะบางเรื่องแค่แก้ไขกฎหมายบางตัว ประกาศเป็นนโยบาย เช่นเรื่องเกณฑ์ทหาร ก็ไปปรับแก้กฎหมายการเกณฑ์ทหาร แล้วให้มีบทเฉพาะกาลในช่วงเปลี่ยนผ่าน

-ผลเลือกตั้งออกมา คนที่เลือก อนค.คาดหวังไว้กับพรรคค่อนข้างมาก  โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ พรรคต้องแบกรับความคาดหวังไว้?

เรายินดี เพราะพรรคเราเกิดมาเพื่อความเปลี่ยนแปลง เราจะเปลี่ยนโครงสร้างเลย ทั้งด้านสังคม-การผลิต-รัฐสวัสดิการ เราเปลี่ยนหมด พลิกหน้ามือเป็นหลังมือเลย ซึ่งเมื่อเปลี่ยนแล้วมันจะยืนยาว นี่คือสิ่งที่ประชาชนคาดหวังจากเราที่แตกต่างจากพรรคการเมืองอื่นๆ

ถามปิดท้ายว่าถึงตอนนี้บางกลุ่มก็ยังพูดกันว่า พรรค อนค.เป็นพรรคเครือข่ายทักษิณ ชินวัตร พลโทพงศกร ตอบว่า ก็ต้องถามว่าธนาธรกับทักษิณเกี่ยวข้องกันไหม ธนาธรไม่เกี่ยวข้องตั้งแต่แรกแล้ว  แล้วระบบเศรษฐกิจก็คนละแบบ ของทักษิณอยู่ในระบบสัมปทาน แต่ของธนาธรเป็นธุรกิจแข่งขัน แต่เป็นความคิดความพยายามที่จะมาบอกว่าเป็นเครือข่ายทักษิณ เพื่อให้คนกลุ่มหนึ่งไม่มาเลือกพรรค อนค.เพราะเกลียดทักษิณ พรรคเราพูดตั้งแต่ต้นแล้วว่าต้องการให้ประชาชนเป็นเจ้าของพรรค นโยบายต่างๆ ก็มาจากประชาชน ดังนั้นสิ่งที่เราจะทำต่อไปคือสร้างเครือข่ายประชาชนให้แข็งแกร่ง.

 

ปรากฏการณ์อนาคตใหม่  รอบหน้าลุ้น 100 เสียงขึ้นไป

ด้าน คารม พลพรกลาง-ว่าที่ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ และทนายความแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือทนายเสื้อแดง ที่รับผิดชอบการรณรงค์หาเสียงให้พรรคในพื้นที่ภาคอีสาน โดยเฉพาะที่จังหวัดร้อยเอ็ดซึ่งแม้ อนค.จะไม่ได้ ส.ส.เขตในร้อยเอ็ด แต่ก็ได้คะแนนพรรคที่ร้อยเอ็ดมาแปดหมื่นกว่าคะแนน 

“ผมเชื่อว่าพรรคอนาคตใหม่จะเป็นพรรคคู่แข่งของพรรคใหญ่ๆ หลังจากนี้ หลังจากนี้จะโตได้อีกเยอะรอบหน้าอาจจะเกินร้อยที่นั่ง คาดว่าจะเกิน แต่พรรคก็ต้องทำงานหนัก

สำหรับตัวหัวหน้าพรรค นายธนาธรเป็นคนหนุ่มและแก้ปัญหาเร็ว อย่างวันสุดท้ายก่อนเลือกตั้ง พอมีข่าวเรื่องการโอนหุ้น เขาแก้ข่าวเร็ว หรือคลิปเสียงที่พาดพิงเขา เขาก็ไม่ดำเนินคดี เพราะเป็นบุคคลสาธารณะ จุดเด่นตรงนี้ไปได้ไกลแน่นอน มีคนอยากให้เขาเป็นนายกฯ กันมาก  ครั้งนี้ที่อนาคตใหม่ได้ ส.ส.มาเยอะมีหลายปัจจัย เช่นจากหัวหน้าพรรค ความโดดเด่นของทีมผู้บริหารพรรค คือพูดตรง แก้ปัญหาเร็ว และกล้าพูดเช่นเรื่องลดขนาดกองทัพ” เป็นคำกล่าวของ คารม ว่าที่ ส.ส.อนาคตใหม่ หลังถามไปว่า กระแส-ธนาธร จะอยู่ได้นานแค่ไหนและพรรคอนาคตใหม่ มีสิทธิ์ได้ ส.ส.เกินร้อยที่นั่งในการเลือกตั้งรอบหน้าหรือไม่

                นอกจากนี้ คารม-อดีตทนายเสื้อแดง กล่าวลงรายละเอียดถึงกระแสพรรค อนค.ในภาคอีสานว่า สำหรับภาคอีสานแม้ผู้สมัครของพรรค อนค.จะได้ ส.ส.เขตมาหนึ่งคนคือที่ขอนแก่น แต่ภาพรวมหลายจังหวัด ผู้สมัครของพรรคก็มีคะแนนเกาะกลุ่มอยู่อันดับต้นๆ ซึ่งกระแสพรรค อนค.ที่คนให้ความสนใจกันมากมีหลายองค์ประกอบ แต่หลักๆ ก็คือกระแสยอมรับในตัวนายธนาธร-หัวหน้าพรรค  และ ดร.ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรค ตลอดจนนโยบายและหลักการพรรค เช่น นโยบายคัดค้านการสืบทอดอำนาจ คสช., นโยบายลดความเหลื่อมล้ำ เป็นต้น

...ผลตอบรับของประชาชนในจังหวัดภาคอีสานกระแสตอบรับดี ถือว่าแจ้งเกิดในแง่การตอบรับ  คะแนนอย่างไม่เป็นทางการ อีสานพรรคได้ ส.ส.เขตมาหนึ่งคนที่ขอนแก่น ซึ่งต้องยอมรับว่ากระแสเพื่อไทยในภาคอีสานยังแข็งแรงจากหลายปัจจัย เช่นกระแสอดีตนายกฯ-นโยบาย

เมื่อดูจากการตอบรับของ อนค.ในภาคอีสาน ทำให้เห็นทิศทางว่า อนค.จะเติบโตในอีสานได้อีกเยอะมาก หากมีการวางผู้สมัครดีๆ การไปแข่งขันแบบตัวต่อตัว ก็ไม่เกินกำลัง มีการเตรียมตัวตั้งแต่ตอนนี้ ก็เชื่อว่า อนค.จะเจาะอีสานได้มากกว่านี้ การเลือกตั้งรอบหน้าอาจมีจุดเปลี่ยนในภาคอีสาน

...ผลการเลือกตั้งที่ออกมา หากดูที่ภาคอีสานเช่นร้อยเอ็ด เห็นชัดว่าประชาชนปฏิเสธอำนาจทหาร  ผมไปดูด้วยตัวเองหลายจุดเวลาพลังประชารัฐปราศรัย บางเวทีมีคนไปเป็นหมื่น แต่คะแนนกลับไม่มา ผู้สมัครของ พปชร.ไม่ได้รับเลือก บางแห่งคะแนนแพ้ อนค. ซึ่งแม้จะไม่ได้ ส.ส.เขต แต่ก็ได้คะแนนพรรคมา 8 หมื่นกว่าคะแนน การเลือกตั้งที่ผ่านมาเรื่องของสีเสื้อทางการเมือง ผมมองว่าไม่ได้มีผลเท่าใด เพียงแต่คนที่เคยอยู่เพื่อไทยหรือเสื้อแดง หากจะเปลี่ยนพรรคต้องยืนอยู่ใน position ที่ถูก เพราะหลายคนเคยอยู่เพื่อไทย-เสื้อแดง แต่พอย้ายไป พปชร.ไม่ตอบโจทย์ คนของพรรค พปชร.ไม่ได้รับเลือกเป็นส.ส.เขตเลย แต่คะแนน พปชร.รวมทั้งจังหวัดร้อยเอ็ดก็พบว่าอยู่ระดับแสนกว่า แต่ไม่เกินสองแสน

คารม-อดีตทนายเสื้อแดง มองว่าการทำงานการเมืองจากนี้ของพรรค อนค. ถ้าใช้ระบบสมาชิกพรรคดีๆ มีมาตรฐานสูง มีการลงสัมผัสประชาชนจริงๆ โดยผู้สมัครพรรคไม่จำเป็นต้องเป็นตระกูลการเมือง พรรคจะไปได้เลย โดยหลักการในระดับประเทศต้องไม่เปลี่ยน โดยเฉพาะเรื่องการลดความเหลื่อมล้ำ การแสดงจุดยืนทางการเมืองที่ต้องชัด ก็จะทำให้การเลือกตั้งครั้งต่อไป เพื่อไทยก็จะมีคู่แข่งขันคืออนาคตใหม่ ซึ่งตอนนี้เพื่อไทยได้เห็นแล้ว

คารม ย้ำว่าสามนโยบายหลักของพรรคที่ประกาศว่า หากได้เข้าไปเป็นรัฐบาล พรรคร่วมรัฐบาลต้องสนับสนุนคือการแก้ไข รธน.-การล้างมรดก คสช.และการปฏิรูปกองทัพ จะไม่เป็นชนวนนำไปสู่ความขัดแย้งใดๆ เพราะเป็นนโยบายพรรคที่ประกาศไว้ เพราะพรรคมองว่าหากกติกายังเป็นแบบนี้ต่อไปมันจะยุ่งยาก เหมือน ส.ส.เขตไล่ปาร์ตี้ลิสต์หมดของเพื่อไทย ซึ่งเป็นกติกาแปลกประหลาด หากไม่แก้ ระยะยาวฝ่ายที่ร่างมาก็มีปัญหาเหมือนกัน

...สำหรับเรื่องปฏิรูปกองทัพ ทหารยุคนี้ก็คงรู้แล้วว่ากองทัพใหญ่เกินจริง หลักใหญ่ของ อนค.คืออยากให้ทหารอยู่ภายใต้การควบคุมกำกับได้ของรัฐบาลพลเรือนที่ประชาชนเลือกมา จึงอยากให้เอาทุกอย่างเข้าสภา เช่นการลดขนาดกองทัพ ก็นำเรื่องเข้าสภาให้ว่ากันเลย ส่วนตัวก็มองว่ากองทัพควรกระชับมีขนาดพอดี ถ้ามองตอนนี้ทหารเหมือนอยู่ในมุมมืดหรือไม่ก็ไม่รู้ คนจะเข้าไปรู้ลึกซึ้งมันน้อย สิ่งที่ไม่อยากเห็นกันก็คือทหารออกมายึดอำนาจอีก

ถามถึงว่าหากพรรคฝ่ายเพื่อไทยและแนวร่วมที่ประกาศจัดตั้งรัฐบาลไปแล้ว แต่หากสุดท้ายทำไม่สำเร็จจะวุ่นวายหรือไม่ คารม มองว่าคงไม่มีอะไร คือมันอาจมีอารมณ์เช่น สมมุติฝั่งเพื่อไทยรวมเสียงได้ไม่พอ ซึ่งรอบนี้จะมีไม่กี่พรรคที่เป็นตัวแปร คือใครดึงไปได้ก็ตั้งรัฐบาลได้เลย มองว่าเพื่อไทยก็เรียนรู้ แต่ความวุ่นวายไม่น่าจะเกิดขึ้น แต่ก็อย่าไปทำให้ไปกดดันคนพวกนี้เกินไป โดยเฉพาะ กกต.ต้องทำให้ชัดเจน ทำตรงไปตรงมาตอบคำถามคนให้ได้ เช่นเรื่องบัตรเสีย คือคนไม่อยากเห็นความวุ่นวาย และพรรคการเมืองที่ตั้งรัฐบาลอยู่ตอนนี้ก็ไม่อยากเห็น แต่อารมณ์คนในโซเชียลมีเดียต้องตอบเร็ว ไม่งั้นมันไปเลย ผมไม่อยากเห็นม็อบการเมืองอีกแล้วเพราะเป็นเงื่อนไขการยึดอำนาจ พอมีเหตุวุ่นวายก็เลยจะมีตาอยู่ 

...ส่วนเรื่องงูเห่าการเมือง เป็นเรื่องที่รัฐธรรมนูญให้สิทธิ์ ส.ส.ในการโหวต ผมก็สังหรณ์ใจกังวลมากเลย แต่ อนค.ไม่มีงูเห่าแน่นอน เพราะว่าที่ ส.ส.ของพรรคส่วนใหญ่ได้มาเพราะพรรค เราจะไปหลงตัวเองไม่ได้ คือเรามีส่วนด้วยแต่ส่วนใหญ่ที่ได้เป็นเพราะพรรค ทั้งนโยบาย-จุดยืน-ภาพพจน์หัวหน้าพรรค  จึงมองว่าคนของพรรคคงไม่มีใครกล้าไปทำ เพราะจะเป็นการฆ่าตัวตาย แต่ถามว่าเหตุการณ์จะเกิดขึ้นหรือไม่ ก็ไม่แน่เหมือนกัน ก็หวั่นๆ   

อนาคตใหม่ถ้าจุดยืนไปอย่างนี้ตลอดก็เป็นร้อยขึ้น อนาคตใหม่ต้องเป็นคู่แข่งขันทางการเมืองที่สำคัญของพรรคเพื่อไทย แต่จะร่วมรัฐบาลอะไรก็ว่าไป แต่ challenger จริงๆ น่าจะไปอยู่ที่เพื่อไทย เพราะพรรคออกต่างจังหวัดเยอะ อย่างภาคใต้แม้จะไม่ได้ ส.ส.เขต แต่คะแนนไล่บี้  ส่วนอีสานผู้สมัครของพรรคก็ติดอันดับ 2-3 ทั้งที่พรรคเพิ่งลงเลือกตั้งครั้งแรก เพราะสิ่งที่พรรคบอกไปเช่นอีสานคืนถิ่น เป็นเรื่องที่โดน ไม่อย่างนั้นคะแนนไม่ไล่บี้เพื่อไทย วันนี้ อนค.ได้ที่อีสานแค่เสียงเดียว แต่หากพรรคได้สัก 50 เสียง บวกกับที่ได้อย่างตอนนี้ 80 ที่ ดังนั้นจุดยุทธศาสตร์อยู่ที่อีสาน" คารม-ว่าที่ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ อนค.วิเคราะห์ไว้.

โดย วรพล กิตติรัตวรางกูร

วิจักรพันธ์ หาญลำยวง

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"