‘ผลประโยชน์’ ตัวแปรอำนาจ เปลี่ยน ‘รบ.ลม’ สู่ ‘รบ.จริง’


เพิ่มเพื่อน    

                 อัดอึดกันมาตลอดสัปดาห์ กับบรรยากาศการเมืองหลังปิดหีบเลือกตั้งและนับคะแนนเสร็จสิ้น ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการทำงานของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ตลอดจนการแข่งกันตั้งรัฐบาล ระหว่าง “เพื่อไทย” และ “พลังประชารัฐ”

                ต่างฝ่ายต่างอ้าง “สิทธิ์ กันเป็นหัวหอกในการจัดตั้งรัฐบาล ฝ่ายหนึ่งใช้ตัวเลข ส.ส. อีกฝ่ายหนึ่งใช้คะแนนเสียงประชาชนทั้งประเทศ

                แต่นั่นเป็นเกมชิงจังหวะ เพื่อสร้างความชอบธรรม เพราะโดยกติกาตามรัฐธรรมนูญปี 2560 มุ่งเน้นผลลัพธ์ว่า ใครสามารถรวมเสียงตั้งรัฐบาลเป็นสำคัญ

                พรรคเพื่อไทยอาจระบุว่า พวกเขาสามารถรวมเสียงจัดตั้งรัฐบาลได้แล้ว เพราะมีจำนวน ส.ส.ของพรรคพันธมิตรที่ร่วมลงสัตยาบันเกินกึ่งหนึ่งของจำนวน ส.ส.ทั้งหมด แต่มันเป็นเพียงตัวเลขที่เกิดจากการคำนวณของตัวเอง ซึ่งคำตอบสุดท้ายอยู่ที่ กกต.ว่าใครจะได้เท่าไหร่

                การประกาศจัดตั้งรัฐบาลได้แล้ว จึงเป็นเพียงชัยชนะในแง่ของการช่วงชิงจังหวะประกาศบอกต่อสังคมเท่านั้น แต่ในทางปฏิบัติมันยังเป็นเพียง รัฐบาลลม

                เพราะวันนี้แม้ กกต.จะประกาศผลคะแนน จนสามารถนำมาคำนวณ ส.ส.ของตัวเองได้ ทว่าสูตรที่แต่ละพรรคใช้คำนวณจะตรงหรือไม่ นั่นคือประเด็น

                อีกทั้งมันยังมีตัวแปรเรื่องใบเหลือง ใบแดง ซึ่งเกิดขึ้นทุกครั้งในสนามเลือกตั้ง ยังไม่รู้ว่า “หวย” จะออกที่เขตใด และพรรคใดจะต้องถูกตัดคะแนนทิ้งออกไป เพราะโดนจับฟาวล์ ตัวเลขที่นั่ง ส.ส.จึงย่อมเปลี่ยนแปลงได้อีก

                โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่พอมองออกได้ตั้งแต่ตอนนี้ จากปริมาณคะแนนที่ได้ต่างฝ่ายต่างมีคะแนน “ปริ่มน้ำ” ตัวเลขนิดเดียวสามารถเปลี่ยนแปลงสถานะได้เลย

                พรรคเพื่อไทยแม้จะชิงจังหวะประกาศได้ก่อน แต่ก็รู้ดีเต็มอกว่า สูตรคณิตศาสตร์ที่มีผลต่อการจัดตั้งรัฐบาลมาจาก กกต. หาใช่จากพรรคการเมือง หรือนักวิชาการที่ใด

                ขณะเดียวกัน รู้ว่าต่อให้จำนวน ส.ส.จะมีเกินกึ่งหนึ่ง แต่ปริมาณดังกล่าวไม่สามารถทำให้พรรคเพื่อไทยบรรลุเป้าหมาย คือเข้าสู่อำนาจได้

                251 ที่นั่งในสภาฯ แม้จะเป็นเสียงข้างมาก แต่ในทางปฏิบัติแค่จัดตั้งรัฐบาลได้ แต่ไม่เพียงพอสำหรับการเลือกนายกรัฐมนตรี ที่ต้องใช้ 376 เสียงยกมือให้ ก็ทำให้เกิด เดดล็อก ไปต่อไม่ได้อยู่ดี

                ต่อให้มีการปิดสวิตช์ ส.ว. 250 คน จนสามารถเลือกนายกรัฐมนตรีจากคนฝั่งตัวเองได้ แต่ก็เป็นรัฐบาลมีอายุขัยสั้น นั่นเพราะมันไม่ปลอดภัยสำหรับการยกมือผ่านกฎหมายในสภาฯ โดยเฉพาะ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี ที่หากล่ม รัฐบาลจะต้องรับผิดชอบด้วยการลาออก

                เสียง ส.ส. 250 กว่าคน ไม่เพียงพอต่อการอยู่รอดของรัฐบาลในเกมสภาฯ!

                เช่นเดียวกัน แม้แต่พรรคพลังประชารัฐเองก็ไม่ได้มองว่า ตัวเลข 250 กว่าเสียงนั้นไม่สามารถสร้างเสถียรภาพให้กับรัฐบาลได้ ตัวเลขที่ปลอดภัยควรจะอยู่ที่ 270-280 เสียง ด้วยเหตุนี้จึงปล่อยให้พรรคเพื่อไทยเปิดเกมรุกไป เพราะรู้ว่าสุดท้ายเป็นเพียง สงครามประสาท

                ในขณะที่ตัวเองกลับไม่กระโตกกระตาก นอกจากออกมายืนยันว่า กำลังรวบรวมเสียงเพื่อบอกกับประชาชนว่า พรรคพลังประชารัฐไม่ได้ยอมแพ้เท่านั้น แต่จะเชิญใครรวมกับใคร กลับปิดปากเงียบสนิท

                สาเหตุที่พรรคพลังประชารัฐยังไม่ออกมาประกาศจัดตั้งรัฐบาล นั่นคือ กกต.ยังไม่ได้ประกาศผลอย่างเป็นทางการ การชิงออกมาพูดก่อน ท่ามกลางการจับตาของประชาชนอีกฝั่ง อาจทำให้โดนข้อหาสมรู้ร่วมคิดกับ กกต.ได้

                อีกส่วนหนึ่งยังอยู่ระหว่างเจรจาต่อรองกับ พรรคเป้าหมาย เพราะเงื่อนไขในการตัดสินใจที่จะทำให้ “มา” หรือ “ไม่มา” ไม่ใช่มีเพียงแค่ว่า อยู่ฝ่ายไหน แต่เป็น “ข้อเสนอ” ที่จะทำให้ทั้งพรรค “ฝ่ายเชิญ” และ “ฝ่ายถูกเชิญ” พึงพอใจ

                ตัวแปรสำคัญอย่างพรรคประชาธิปัตย์ ภูมิใจไทย พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคชาติพัฒนา พรรครวมพลังประชาชาติไทย และพรรคเล็กๆ ต่างๆ อีก 10 กว่าพรรค ที่ถูกมองว่า มีแนวโน้มจะมาอยู่กับพรรคพลังประชารัฐ ไม่สามารถตัดสินใจได้ทันที แต่ต้องแสวงหาผลประโยชน์ที่ได้กับพรรคตัวเองมากที่สุด

                โดย “ข้อเสนอ” ที่ว่าในการฟอร์มรัฐบาลทุกยุคทุกสมัยคือ การเกลี่ยเก้าอี้ในคณะรัฐมนตรี ครั้งนี้อาจจะนานหน่อย เหตุเพราะการที่ต่างฝ่ายต่างมีคะแนน "ปริ่มน้ำ" ทำให้ทุกพรรคที่ได้ ส.ส.มีความหมาย แม้จะได้เพียงที่นั่งเดียวก็ตาม

                พรรคตัวแปรดังกล่าวอาจดูไม่ยากในการเชื้อเชิญ แต่อาจยากในแง่ความพึงพอใจกับสิ่งที่ตัวเองได้รับ ยิ่งเมื่อทุกพรรคทุกที่นั่งมีความสำคัญ

                แต่ละพรรคต่างเรียกร้องเก้าอี้รัฐมนตรีที่ตัวเองควรได้ ซึ่งนี่คือปัจจัยสำคัญที่ทำให้การจัดตั้งรัฐบาลทางฝั่งพรรคพลังประชารัฐยังไม่ "สะเด็ดน้ำ"

                การตัดสินใจของพรรคภูมิใจไทย และพรรคประชาธิปัตย์ นาทีนี้ถือว่าเปลี่ยนแปลงประเทศได้ การเรียกร้องจึงสูง ขณะที่พรรคเล็กๆ ก็รวมตัวกันเพื่อให้ได้ปริมาณ ส.ส.เพื่อเพิ่มพลังต่อรอง

                ไม่เพียงเท่านั้น ในพรรคพลังประชารัฐเอง ที่ก่อตั้งจากการรวมตัวกันของ ส.ส.หลายมุ้ง หลายก๊วน ก็ดูจะเป็นปัญหาในการจัดสรรความพึงพอใจ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มสามมิตร, กลุ่มกำแพงเพชร, กลุ่มเพชรบูรณ์, กลุ่มโคราช, กลุ่มกรุงเทพมหานคร, กลุ่มภาคใต้ ตลอดจน 4 รัฐมนตรีในสายนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ทุกกลุ่มล้วนต้องการรางวัลจากการลงมือลงแรงทั้งสิ้น

                ยิ่งมีข่าวลือว่า นายสมคิดต้องการจะเก็บกระทรวงเศรษฐกิจเอาไว้เพื่อบริหารต่อ ยิ่งทำให้ข้อจำกัดสูงขึ้นในการเจรจาต่อรองกับพรรคอื่นๆ ที่ต้องการดึงมาร่วมจัดตั้งรัฐบาล

                พรรคภูมิใจไทย และพรรคประชาธิปัตย์ ก็ชูนโยบายด้านเศรษฐกิจ ย่อมต้องการเข้ามามีส่วนร่วมในการผลักดันโครงการต่างๆ อีกประการสำคัญคือ "จุดเด่น" และ "จุดขาย" ของพรรคพลังประชารัฐ คือ เรื่องความมั่นคงและความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ ในขณะที่เศรษฐกิจถือเป็น "จุดอ่อน" ด้วยซ้ำตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา

                ดังนั้นการผูกขาดกระทรวงเศรษฐกิจเอาไว้ โดยไม่ยอมคายให้กับพรรคร่วมรัฐบาล อาจทำให้การเจรจาต่อรองยืดเยื้อ เพราะทุกคนต่างหวั่นผวาว่า หากใช้ทีมเศรษฐกิจชุดเดิมบริหาร อาจไม่สามารถสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนได้ว่ามีการเปลี่ยนแปลง และหากผลออกมาแบบเดิม อาจทำให้รัฐบาลอยู่ยากขึ้น

                เหล่านี้ล้วนเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้การจัดตั้งรัฐบาลของพรรคพลังประชารัฐยังไม่เรียบร้อยบริบูรณ์

                นอกจากนี้ยังรวมไปถึงจำนวน ส.ส.ในสภาฯ ที่แม้จะรวมกันถึง 250 กว่า แต่ยังไม่ได้อยู่ในเซฟตี้โซน เพราะตัวเลขที่อุ่นใจได้คือ 270-280 เสียง ซึ่งทางเดียวที่จะถึงคือ ต้องเดินหน้าหา ส.ส.เพิ่ม จากพรรคฝั่งตรงข้าม หรือเรียกว่า "งูเห่า" นั่นเอง

                ที่ว่า ส.ส.พรรคเพื่อไทย พรรคอนาคตใหม่ ต่างตกเป็นข่าวพัวพันว่าจะถูกช้อนมาฝั่งนี้ เช่นเดียวกับพรรคเศรษฐกิจใหม่ ที่แม้ "มิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์" จะประกาศอยู่ฝ่ายประชาธิปไตย แต่ก็ไม่มีใครการันตีได้ว่า ว่าที่ ส.ส.ของเขาจะไม่เปลี่ยนใจหันมาสนับสนุน "บิ๊กตู่" พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

                ซึ่งพรรคพลังประชารัฐจะประกาศตั้งรัฐบาลอย่างเป็นทางการได้ ก็ต้องทำให้เงื่อนไขดังกล่าวข้างต้นได้บทสรุปทั้งหมดก่อน สภาวะอึดอัด อึมครึม จะมีออกไปอีกระยะ ก่อนจะเปลี่ยนโหมดเบาลงในช่วงเดือนมหามงคล แล้วกลับมาเข้มข้น ชัดเจนอีกครั้งหลังวันที่ 9 พฤษภาคม ซึ่ง กกต.ประกาศผลเลือกตั้งอย่างเป็นทางการแล้ว.

                                                                                                                                ทีมข่าวการเมือง

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"