บี้กกต.แจง'ปารตี้ลิสต์' 'วิษณุ'แนะเปิดวิธีคำนวณ/การเมืองชี้มีสูตรเดียว


เพิ่มเพื่อน    


    “วิษณุ” ชี้ กกต.ต้องอธิบายวิธีคิดคำนวณ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ เชื่อไม่มีการกลั่นแกล้ง พรรคการเมืองรุมจวกหนัก ชี้ต้องอิงมาตรา 128 สูตรเดียวเท่านั้น คะแนน ส.ส.พึงมี 1 รายต้อง 7.1 หมื่นเสียง  “สมชัย” เตือน 7 กกต.ระวังคุกหากตีความผิด “พปชร.” ย้ำรอหลัง 9 พ.ค.ถึงชัดเจนเรื่องจับขั้ว “มาร์ค”  อัดตัวเลขโม้เกินจริง 2 ขั้วจัดตั้งรัฐบาล ไม่รู้เอาความมั่นใจมาจากไหน “ธนาธร” เผยเป้าการเมือง 24  มี.ค.แค่จุดเริ่มต้นต่อไปเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล
    เมื่อวันจันทร์ การคำนวณสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ (ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์) ยังคงเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก โดยเฉพาะกรณีเผยแพร่ตัวเลขพรรคเล็กที่ได้คะแนนเพียงกว่า 30,000  คะแนนก็ได้ ส.ส. โดยนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ชี้ว่าคนไม่ค่อยเข้าใจหรอกว่าการเลือกบัตรใบเดียวนั้น เมื่อเลือกเสร็จแล้วคะแนนต้องเอามาหารรอบ 1 รอบ 2 รอบ 3 เมื่อมีหลายรอบเข้าก็ทำให้พรรคการเมืองที่ได้คะแนนเพียง 30,000 คะแนนได้ ส.ส. 1 คน จากทีแรกตั้งหลักว่าต้องได้ถึง  60,000-70,000 คะแนนจึงได้ ส.ส. 1 คน ซึ่งเป็นวิธีคิดของเขา โดยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)  ต้องอธิบายทั้งหมดอย่างเป็นระบบเพราะเป็นวิธีใหม่จริงๆ ทั้งวิธีการเลือกตั้งและการนับคะแนน รวมถึงเจ้าหน้าที่ ซึ่งก็เห็นใจทุกอย่างที่ทำให้ทุกอย่างเกิดความวุ่นวายขึ้น
    “การนับคะแนนมีการเฉลี่ยหลายรอบ รอบ 1, 2, 3 นั้นพรรคอื่นได้ไปหมดแล้ว แต่เหลือเศษอยู่จึงเฉลี่ยให้พรรคเล็กๆ ส่วนพรรคใหญ่ได้ผ่านการได้เปรียบไปหมดแล้ว จึงได้เฉลี่ยไปถึงพรรคเล็ก เป็นไปตามกฎกติกาที่มีมาตั้งแต่ต้น ไม่มีใครไปกลั่นแกล้งกัน ในเมื่อกฎกติการะบุไว้อย่างนี้ ผลที่ออกมาจึงช่วยไม่ได้ แต่ที่สุดแล้วควรให้ กกต.เป็นผู้ประกาศและเปิดเผยถึงวิธีการคิดเฉลี่ยคะแนน” นายวิษณุกล่าว
นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กล่าวในเรื่องนี้ว่า พรรคไม่ได้ขัดข้องอะไรเพราะเป็นการคำนวณตัวเลข ก็ต้องยอมรับและปล่อยให้เป็นไปตามกฎหมาย
    ขณะที่พรรคเพื่อไทย (พท.) ได้มีการเรียกประชุมแกนนำพรรคและฝ่ายกฎหมายในกรณีดังกล่าว ก่อนมีการตั้งโต๊ะแถลงเรื่องดังกล่าว โดยนายนพดล ปัทมะ คณะทำงานฝ่ายกฎหมาย แถลงว่าพรรคขอเรียกร้องให้ กกต.ชี้แจงข้อเท็จจริงในการคำนวณที่นั่ง ส.ส.บัญชีรายชื่อแต่ละพรรคการเมืองให้สาธารณชนได้ทราบ มิใช่ปล่อยให้คลุมเครือและมีการตีความบทบัญญัติแห่งกฎหมายเพื่อวัตถุประสงค์ทางการเมืองของตนเอง
      นายโภคิน พลกุล คณะทำงานฝ่ายกฎหมาย กล่าวว่า สูตรการคำนวณ ส.ส.ว่าพรรคการเมืองจะได้ ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อต้องมีคะแนนเสียงมากกว่าจำนวน ส.ส.พึงมีขึ้นไป โดยยึดตามรัฐธรรมนูญ มาตรา  91 (4) และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.มาตรา 128 (5) ซึ่งเมื่อนำตัวเลขบัตรดีทั้งหมดที่ กกต.ประกาศออกมาจำนวน 35,532,647 เสียง หารด้วย ส.ส. 500 คน จะได้คะแนนเสียงพึงมีของ ส.ส. 1 คนที่ 71,065.3 เสียง ดังนั้นจึงมีเพียง 16 พรรคเท่านั้นที่มีคะแนนเสียงเกินเกณฑ์ ส.ส.พึงมี แต่จากตัวเลขที่มีเมื่อคำนวณแล้วจะได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อถึง 152 คน ทำให้ต้องพิจารณาตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.มาตรา 128 (7) จัดสรรตัวเลข ส.ส.บัญชีรายชื่อที่เกินมา ส่งผลให้พรรคอนาคตใหม่ (อนค.) และพรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) มี ส.ส.บัญชีรายชื่อลดลงพรรคละ 1  คน ส่วนพรรคเล็กที่มีคะแนนไม่ถึงจำนวน ส.ส.พึงมีจะไม่มีสิทธิ์ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อเลย ดังนั้นจะนำคะแนนไปแจกพรรคเล็กที่คะแนนเสียงไม่ถึงเกณฑ์นั้นไม่ได้
ชี้มีวิธีคำนวณสูตรเดียว
      นายภูมิธรรม เวชยชัย เลขาธิการพรรค พท.ระบุว่า หลังจากนี้เราจะรอดู กกต.ว่าสุดท้ายแล้วจะคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้หรือไม่ หากพิจารณากันตามอำเภอใจ ไม่ตรงตามกฎหมาย พรรคจะหารือกันอีกครั้งว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป
    ส่วนนายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรค อนค.กล่าวเช่นกันว่า วิธีการคำนวณ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์มีวิธีการเดียวเท่านั้น ซึ่งเมื่อคำนวณแล้วพรรคจะมี ส.ส.ทั้งหมด 87 ที่นั่ง เพราะ ส.ส.พึงมี 1 คนจะเท่ากับ 71,065.2940 เสียง ซึ่งพรรคได้คะแนนดิบ 6,265,950 คะแนน หาร 71,065 เท่ากับจำนวน ส.ส.พึงมีคือ 88.170 ส.ส. โดยพรรคการเมืองไหนมี ส.ส.พึงมีไม่ถึง 1 ให้ตัดทิ้ง ซึ่งพรรคสุดท้ายที่ได้เกิน 1  คือพรรคพลังชาติไทยที่คิดแล้วได้ ส.ส.พึงมี 1.0395 ดังนั้นพรรคลำดับที่ 17 เป็นต้นไปให้ตัดออกจากการคิดทันที ซึ่งตามบทบัญญัติพรรคจะได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 58.17 แต่เทียบสัดส่วนแล้วจะลด ส.ส.บัญชีรายชื่อเหลือ 57.23 คน และพรรคที่ได้ลูกหลงอีกพรรคคือ พรรคเสรีรวมไทยที่ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อลดลง 1 เมื่อคิดเป็นจำนวนเต็มอนาคตใหม่จะเหลือ ส.ส.บัญชี 57 ที่นั่ง 
     “จำนวน ส.ส.พรรคที่พึงมีต่อ 1 คน ต้องได้ 7 หมื่นกว่าคะแนน แต่พรรคเล็กได้เพียง 3 หมื่นกลับได้ ส.ส. 1 คน ซึ่งห่างกันมากถึง 4 หมื่น ไม่เป็นธรรมอย่างมาก ทั้งหมดที่กล่าวไปคือการคำนวณตามที่มาตรา 128 กำหนด ขอยืนยันอีกครั้งว่าไม่มีการคำนวณแบบอื่น นี่ไม่ใช่ความเห็น แต่เป็นคณิตศาสตร์ซึ่งมีสูตรเดียวเท่านั้นตามมาตรา 128 ไม่มีความเห็นที่แตกต่าง ยืนยันว่าอนาคตใหม่จะได้ ส.ส. 87 ที่นั่ง  แบ่งเป็นแบบแบ่งเขต 30 ที่นั่ง และแบบบัญชี 57 ที่นั่ง ตามที่มาตรา 128 กำหนด" นายปิยบุตรกล่าว 
นายปิยบุตรย้ำว่า เมื่อคำนวณตามมาตรา 128 กำหนด ส่งผลให้พรรคผนึกกำลังต้าน คสช.ที่นั่งหาย สังคมก็ยิ่งคลางแคลงใจไปใหญ่ เดิมมีตัวเลขรวมกันที่ 255 ส.ส. เมื่อไปคิดแบบให้พรรคเล็กเยอะ ตัวเลขนี้ก็จะหายไป ยืนยันว่าต้องกลับมายืนยันตามมาตรา 128 ไม่ใช่คิดจากในหัวที่มีธงอยู่ว่าจะลด 255 เสียงอย่างไร แล้วจึงไปหาสูตรมาคิด 
      "ผมว่าถูกแล้วที่ กกต.ยังไม่บอก เพราะการนับคะแนนยังไม่จบ แต่สิ่งหนึ่งที่ กกต.ต้องยืนยันคือ การคิดแบบมาตรา 128 กกต.ต้องยืนให้มั่น เข้าใจว่า กกต.ยังไม่ยืนยันสูตร เพราะว่ายังมีเรื่องใบเหลือง ใบแดงอยู่ และถ้าเป็นไปได้อยากให้ กกต.เกาะเลขมาตรา 128 ไว้" เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่กล่าว 
    นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ลงพื้นที่ จ.สุราษฎร์ธานีเป็นครั้งแรกหลังพ่ายศึกเลือกตั้ง โดยกล่าวว่ารัฐธรรมนูญเขียนการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อแตกต่างจากในอดีต  ซึ่งตอนนี้มีปัญหาว่ามีพรรคที่ได้ ส.ส.เขตเกินกว่าจำนวน ส.ส.พึงมีที่ตัวเองจะได้รับ จึงมีการคำนวณสูตรใหม่ที่ทำให้พรรคเล็กที่ได้คะแนนไม่ถึงจำนวน ส.ส.พึงมีได้ ส.ส.ไปด้วย ซึ่งไม่คิดว่าจะถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ ดังนั้นจึงต้องจับตาดูว่า กกต.จะเอาสูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่ออย่างไร 
เตือนซ้ำรอย กกต.ชุด 2
    นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตผู้สมัคร ส.ส.สมุทรสงคราม ปชป.โพสต์เฟซบุ๊กในหัวข้อ "จุดตายของ กกต.ชุดปัจจุบัน" ตอนหนึ่งว่า เรื่องหนึ่งที่ต้องเตือนและเป็นจุดตายแน่นอนที่อาจนำไปสู่การถอดถอน และอาจนำไปสู่ความผิดทางอาญาได้โดยง่าย คือสูตรการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อในมาตรา 128 ซึ่งอ่านแปลความหมายนำไปสู่การคำนวณที่แตกต่างกัน และทำให้เกิดผลแตกต่างกันอย่างน้อยสองแบบ  แบบแรกที่เผยแพร่ในสื่อทั่วไปทำให้มีพรรคเล็กได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 1 ที่นั่ง เพิ่มขึ้นมา 11 พรรค และแบบที่สอง เป็นการคำนวณโดยนักวิชาการ ที่นำแต่ละบรรทัดของกฎหมายมาแปลความและทดลองคำนวณ ซึ่งมีผลทำให้ 11 พรรคเล็กที่มีคะแนน ส.ส.เขตต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 71,065 คน ไม่ได้รับการจัดสรร ส.ส.บัญชีรายชื่อ และทำให้พรรคกลางและพรรคใหญ่มี ส.ส.มากขึ้น 
    “การตัดสินใจแบบใดแบบหนึ่ง หากมีการพิสูจน์ได้ว่าเป็นการใช้ตำแหน่งหน้าที่ของ กกต.เพื่อไปสนับสนุนให้พรรคการเมืองใดชนะการเลือกตั้งและสามารถตั้งรัฐบาลได้ จะตรงกับข้อหาที่ กกต.ชุดที่สองเคยโดนมาก่อน ซึ่ง กกต.ถูกศาลตัดสินจำคุก เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องที่ กกต. 7 ท่านต้องคิดและรับฟังจากทุกฝ่ายให้รอบคอบ เพราะแปลความผิดอักษรเดียว มีพรรคที่ได้ มีพรรคที่เสีย และเขาฟ้องแน่นอน” นายสมชัยโพสต์ไว้
    น.ส.เกศปรียา แก้วแสนเมือง โฆษกพรรคเพื่อชาติ กล่าวว่า การเลือกตั้งครั้งนี้มีตรรกะที่พิลึกและทำเรื่องพลิกกลับมาตรฐานหลายมิติ โดยเฉพาะเรื่อง ส.ส.บัญชีรายชื่อ ซึ่งตามตรรกะมาตรฐานทั่วไปที่เด็กประถมศึกษาก็ทราบคือ วิธีการคำนวณผลคะแนนดิบ แล้วนำมาตัดเกรดเพื่อวัดผลว่าสอบได้หรือสอบตกต้องซ่อม คือสมมุติมีการตัดเกรด A สำหรับผู้สอบได้ 70 ขึ้นไป ส่วนคนได้ต่ำกว่า 50 คือสอบตก E หรือ F ต้องซ่อม เป็นมาตรฐานที่คนทั้งโลกเข้าใจ ไม่ใช่คำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อของ กกต.ที่ส่วนใหญ่กว่า 70,000 คะแนนได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 1 คน แต่มีส่วนน้อยบางพรรค 30,000-60,000 กว่าคะแนนได้ ส.ส. 1 คนด้วย 
    วันเดียวกันยังคงมีความเคลื่อนไหวในเรื่องการรวมเสียงเพื่อจัดตั้งรัฐบาล โดยที่พรรค พปชร. แกนนำพรรคได้เดินทางเข้าประชุมหารืออย่างพร้อมเพรียงท่ามกลางการรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวด  โดยนายสนธิรัตน์แถลงผลประชุมว่า ในวันพุธที่ 3 เม.ย. เวลา 13.30 น. พรรคได้เชิญว่าที่ ส.ส.เขต 97  คน และว่าที่ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 19 คน เพื่อซักซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับทิศทางและแนวทางการทำงานของพรรคในช่วงระหว่างที่ กกต.ยังไม่ประกาศผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ ซึ่งการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อได้ 19 คน เพราะยึดหลักของกฎหมายทำให้มี ส.ส.บัญชีรายชื่อลดลงจาก 21 คน เหลือ 19  คน 
    เมื่อถามว่าพรรค พปชร.ได้หารือกับพรรคการเมืองขนาดเล็กจบแล้วหรือไม่ นายสนธิรัตน์กล่าวว่า  การจัดตั้งรัฐบาลยังมีเวลาถึงวันที่ 9 พ.ค. ซึ่งพรรคต้องรอคะแนนอย่างเป็นทางการก่อน แน่นอนว่าต้องผ่านพ้นช่วงพระราชพิธีสำคัญไปก่อนจึงจะหารือต่อไป ส่วนพรรคเล็กจะได้ร่วมงานกับพรรค พปชร.หรือไม่ต้องคุยกันเพราะตอนนี้ยังไม่ได้คุยกัน
“ถ้าเราอยากจัดตั้งรัฐบาลต้องพร้อมคุยกับทุกคน แต่ตอนนี้ต้องรวบรวมเสียงก่อน ส่วนการตัดสินใจว่าใครจะเข้าร่วมหรือไม่ เป็นเรื่องที่แต่ละพรรคจะต้องตัดสินใจกันต่อไป” นายสนธิรัตน์กล่าวและว่า ในวันที่ 6 เม.ย.พรรคจะไปแสดงความยินดีเนื่องในวันคล้ายวันก่อตั้งพรรคภูมิใจไทยและพรรคประชาธิปัตย์อยู่แล้ว และไม่เกี่ยวข้องกับกระแสข่าวที่ว่าเป็นการแสดงความยินดีในฐานะพรรคร่วมรัฐบาลแต่อย่างใด
    ด้านนายสมศักดิ์ เทพสุทิน ประธานคณะกรรมการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งพรรค พปชร.กล่าวถึงกระแสวิพากษ์วิจารณ์โจมตีพรรคในโลกออนไลน์ว่า ไม่รู้ว่าเกิดขึ้นตามธรรมชาติหรือมีใครเสริมเติมแต่งเข้าไปเท่าไร ถ้าเป็นเรื่องจริงก็ต้องยอมรับ แต่หากเป็นการสร้างกระแสเพื่อหวังผลทางการเมือง ตรงนี้ต้องระวังเพราะอาจมีคนที่เป็นหน้าม้า หรือคนจ้างมาให้ทำงานปั่นกระแส 
    “ช่วงนี้เป็นโอกาสท้ายๆ ของบางกลุ่ม จึงต้องพยายามออกมาทำให้สุด วันนี้มีคนพยายามปลุกกระแสความขัดแย้งของคนในชาติของบางกลุ่มบางคน ที่พยายามให้เกิดความเกลียดชังอีกฝ่ายและสร้างเงื่อนไขในการนำไปสู่ความขัดแย้ง แบ่งแยกฝ่าย แต่เชื่อว่าไม่น่าจะสำเร็จ เพราะประชาชนเห็นบทเรียนความวุ่นวายจากในอดีตมามากแล้ว ไม่มีใครอยากให้ประเทศกลับไปเป็นแบบนั้นอีก ทุกคนอยากให้ประเทศสงบก้าวข้ามความขัดแย้ง ซึ่งไม่เกินวันที่ 9 พ.ค.จะมีบทสรุปแน่นอน” นายสมศักดิ์กล่าว
ธนาธรเผยเป้าอนาคต
    ขณะเดียวกัน นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรค อนค.พร้อมคณะได้ลงพื้นที่ภาคตะวันออกเพื่อขอบคุณประชาชน โดยได้ปราศรัยตอนหนึ่งว่า วันนี้ผ่านมาแล้ว 1 สัปดาห์หลังจากการเลือกตั้ง สิ่งที่พรรคได้ทำตามสัญญาไปแล้วคือการพยายามหยุดยั้งการสืบทอดอำนาจของ คสช. โดยร่วมมือกับพรรคการเมืองต่างๆ ในฝ่ายประชาธิปไตย แต่หนทางข้างหน้ายังเต็มไปด้วยอุปสรรค เพราะยังคงมี ส.ว. 250 คนที่อาจจะยกมือโหวตสวนเจตจำนงของประชาชนให้ได้นายกฯ ที่มาจากฝ่ายสืบทอดอำนาจ ซึ่งพรรคยืนยันว่าไม่ว่าเป็นฝ่ายรัฐบาลหรือฝ่ายค้าน พรรคก็พร้อมทำหน้าที่เต็มที่ 
    “การเลือกตั้งวันที่ 24 มี.ค.ไม่ใช่เป้าหมาย แต่เป็นจุดเริ่มต้น ในวันนี้การได้ 87 ที่นั่งยังไม่เพียงพอสำหรับการเปลี่ยนแปลงประเทศ มีแต่เมื่อพรรคอนาคตใหม่ได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลเท่านั้น จึงจะนำประเทศนี้ไปสู่การเปลี่ยนแปลงได้ จึงขอแรงสนับสนุนจากประชาชนทุกคน ร่วมกันเดินทางต่อไปด้วยกันข้างหน้ากับพรรคเพื่อนำประเทศนี้ไปสู่การเปลี่ยนแปลงให้ได้” นายธนาธรกล่าว
    ส่วนนายปิยบุตรกล่าวถึงการลงสัตยาบัน 5 ข้อ ของว่าที่ ส.ส.พรรคว่า สัตยาบันที่ลงนามนั้นมีทั้งหมด 3 ชุดเก็บไว้ที่สำนักงานพรรค และฉบับที่เหลือมอบให้ว่าที่ ส.ส.แต่ละคนเก็บไว้ ซึ่งสัตยาบันนี้ไม่ได้มีผลทางกฎหมาย แต่เป็นสัญลักษณ์ของการทำงานการเมืองแบบใหม่ ส.ส.ต้องยึดอุดมการณ์ของพรรค ดำเนินการนโยบายของพรรค เชื่อว่าว่าที่ ส.ส.อนาคตใหม่ที่เข้ามานั้นร้อยรัดกันด้วยอุดมการณ์และความหวัง จะไม่ทรยศต่อพี่น้องประชาชน หากมีใครคนใด กลุ่มการเมือง หรือพรรคการเมืองใด ที่พยายามติดต่อเทียบเชิญว่าที่ ส.ส. โดยหยิบยื่นผลประโยชน์จูงใจเพื่อจะให้งูเห่าเกิดขึ้น ว่าที่ ส.ส.ของเราไม่มีทางยอม และจะบันทึกคนที่มาติดต่อไว้เป็นหลักฐาน พร้อมพิจารณาว่าเข้าข่ายทำผิดตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 46 ที่กำหนดว่าคนเสนอให้หรือเรียกรับมีโทษจำคุก 10-20 ปี และเพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้งหรือไม่ต่อไป
    ด้านนายอภิสิทธิ์กล่าวถึงการที่ 2 ขั้วชิงจัดตั้งรัฐบาลว่า ต้องจับตาดูว่า กกต.จะเอาสูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่ออย่างไร เพราะขณะนี้ 2 ฝ่ายที่ชิงจัดตั้งรัฐบาล คือพรรคเพื่อไทยที่เอา 6 พรรคไปลงสัตยาบัน ถ้านับจำนวน ส.ส.แล้วน่ายังไม่ถึง 250 หย่อนอยู่ 4-7 เสียง และถ้าคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่ออย่างที่มีการปรากฏออกมาในขณะนี้อาจหายไปเป็น 10 เสียง ส่วนพรรค พปชร.ที่จะจัดตั้งรัฐบาลมีเสียงอยู่ประมาณ 120 เสียง เพราะพรรคอื่นยังไม่มีใครพูดอะไร ทุกคนบอกรอ กกต.ประกาศผลเลือกตั้งอย่างเป็นทางการก่อน 
"สมมุติว่านับรวมประชาธิปัตย์ ภูมิใจไทย รวมถึงพรรคอื่นๆ ไปด้วยก็ยังไม่แน่ว่าจะถึง 250 หรือไม่  เพราะฉะนั้นเบื้องต้นจึงต้องบอกว่ายังไม่มีความชัดเจนเลยว่าจะเป็นอย่างไร กว่าจะถึงวันที่ 9 พ.ค.จะมีการตรวจสอบคำร้องเรียนต่างๆ ซึ่งอาจนำไปสู่การเลือกตั้งใหม่ในบางเขต ก็จะเปลี่ยนแปลงไปอีก  ฉะนั้นก่อนวันที่ 9 พ.ค.ไม่มีทางทราบว่าแต่ละพรรคจะมี ส.ส.เท่าไหร่ ใครที่ไปโม้ว่ารวบรวมเสียงได้ก็ไม่รู้ว่าโม้บนความมั่นใจอะไร ดังนั้นทุกอย่างต้องรอวันที่ 9 พ.ค." นายอภิสิทธิ์กล่าว
    นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ ประธานที่ปรึกษาพรรคชาติพัฒนา (ชพน.) ได้นัดพูดคุยกับแกนนำพรรคบางส่วนก่อนแถลงว่า การเลือกตั้งครั้งนี้พรรคคาดว่าจะได้ 3 ที่นั่ง ซึ่งต้องรอการประกาศอย่างเป็นทางการของ กกต.อีกครั้ง ซึ่งภาพรวมถือว่าน้อยกว่าเดิม แต่ก็พอใจ ส่วนเรื่องการพูดคุยจัดตั้งรัฐบาลนั้นยังไม่มีการพูดคุยกันอย่างเป็นกิจจะลักษณะ เพราะผลการเลือกตั้งยังไม่ชัดเจน คะแนนของการจับขั้วทางการเมืองก็ยังสูสีกันมาก ดังนั้นคงต้องดูผลคะแนนอย่างเป็นทางการจาก กกต. 
    “พรรคไม่ห่วงว่าจะเป็นฝ่ายค้านหรือเป็นรัฐบาล แต่ห่วงคือการเมืองหลังจากนี้ เพราะทุกคนคาดหวังว่าเมื่อเลือกตั้งแล้วบ้านเมืองจะเรียบร้อย มีรัฐบาลที่มีเสถียรภาพ แต่เมื่อดูโครงสร้างของตัวเลขที่เกิดขึ้นยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องของเสถียรภาพรัฐบาล ว่าใครจะได้เสียงข้างมาก ซึ่งตรงนี้มีความน่าห่วงมากกว่า โดยเสถียรภาพที่เหมาะสมที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้เศรษฐกิจและแก้ไขปัญหาประเทศได้ ควรมีตัวเลขเกือบ 300 เสียงด้วยซ้ำไป ที่พูดกันถึง 250 เสียงทุกวันนี้เป็นตัวเลขที่บอบบางมาก” นายสุวัจน์กล่าว
    ส่วนนายอลงกรณ์ พลบุตร รองหัวหน้าพรรค ปชป.โพสต์เฟซบุ๊กชี้แจงกรณีนายพริษฐ์ วัชรสินธุ  อดีตผู้สมัคร ส.ส.กทม.ของพรรคเสนอให้พรรคเป็นฝ่ายค้านอิสระ จนเกิดการวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากว่า  จะถูกจะผิดจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย ทุกคนควรเคารพความเห็นซึ่งกันและกัน ซึ่งพรรคมีวัฒนธรรมองค์กรเปิดกว้าง แต่ละคนมีเสรีภาพทางความคิดในประเด็นการเมือง เป็นปกติวิสัยของสถาบันทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย และเมื่อพรรคมีมติออกมาเราก็มีวินัยพรรคในการต้องปฏิบัติตาม 
    “คุณพริษฐ์เป็นสมาชิกพรรคที่เป็นคนรุ่นใหม่ เป็นหนึ่งในกลุ่มนิวเดม มีคุณวุฒิ วัยวุฒิ และภูมิหลังที่ดี ดังนั้นการแสดงออกซึ่งจุดยืนและความคิดทางการเมืองของคุณพริษฐ์ที่เสนอต่อพรรคที่สังกัดจึงเป็นเอกสิทธิ์เฉพาะตัว ส่วนเรื่องจุดยืนของพรรคนั้น ที่ประชุมมีแนวทางชัดเจนเป็นข้อสรุปว่าให้คณะกรรมการบริหารชุดใหม่และ ส.ส.ใหม่ที่จะมีการรับรองผลโดย กกต.ในวันที่ 9 พ.ค.เป็นผู้ตัดสินใจในเรื่องดังกล่าว เช่นเดียวกับพรรคภูมิใจไทยก็จะตัดสินใจเรื่องร่วมรัฐบาลหรือไม่หลังวันประกาศรับรองผล ส.ส.เช่นกัน” นายอลงกรณ์กล่าวและว่า เชื่อว่าทุกคนรักชาติบ้านเมือง ไม่ต้องการให้เกิดทางตันทางการเมือง ขอให้มั่นใจว่าการตัดสินใจของพรรคยึดประโยชน์ของชาติเป็นที่ตั้ง และคำนึงถึงอนาคตของประเทศมากกว่าอนาคตของพรรคตัวเอง 
    ขณะที่นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ ประธานสหภาพนักเรียนนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนท.) พร้อมคณะ ยื่นหนังสือถึงรักษาการหัวหน้า ปชป. เรียกร้องให้พรรคเข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทย เพราะเป็นวิธีเดียวที่จะหยุดยั้งการสืบทอดอำนาจของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) แต่หากเป็นฝ่ายค้านอิสระตามที่กลุ่มนิวเดมเรียกร้องจะเป็นการเอื้อให้ พล.อ.ประยุทธ์สืบทอดอำนาจโดยปริยาย.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"