เมินเซ็นต้านบิ๊กตู่ เพื่อแม้วส่องูเห่า


เพิ่มเพื่อน    


    "รัฐบาล" ชี้เลือกตั้งเป็นเรื่องภายในประเทศ อย่าเปิดช่องต่างชาติก้าวก่าย เผยมีผู้ไม่หวังดีพยายามทำให้บานปลาย "กกต." ติวเข้มอนุฯ วินิจฉัยปัญหาและข้อโต้แย้ง "อิทธิพร" ปลุกขวัญอย่าหวั่นไหวต่อแรงเสียดทาน รอฟัง "กรธ.-สนช." ตีความเจตนา กม.ก่อนเปิดสูตรคำนวณปาร์ตี้ลิสต์สัปดาห์หน้า ศาลพร้อมรับคำร้องพิจารณาแจกใบแดงผู้สมัครส.ส. "พท." วุ่นส่อมีงูเห่า ว่าที่ ส.ส.แข็งข้อ "เจ๊หน่อย" เมินเซ็นใบปฏิญาณจะไม่หนุน "บิ๊กตู่" 
    เมื่อวันที่ 2 เม.ย. พล.ท.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีหลายประเทศออกมาเรียกร้องการเลือกตั้งไทยให้มีความโปร่งใสยุติธรรมว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศเราเป็นเรื่องราวของประเทศเรา ถ้าภายในประเทศไม่สร้างความกดดัน ต่างประเทศก็เข้ามายุ่งเกี่ยวไม่ได้ แต่ที่เราเห็นมีความพยายามให้เรื่องราวที่ความจริงแล้วอาจจะไม่ใช่เรื่องที่แก้ไขไม่ได้ แต่เราอาจจะแก้ไขหรือมีคำอธิบายที่เกิดขึ้นในประเทศเราได้ คนไทยคุยกันรู้เรื่อง แต่มีความพยายามจะให้ลุกลามบานปลาย 
    พล.ท.วีรชนกล่าวว่า ขอเน้นย้ำ ถ้าเราไม่สร้างแรงกดดันขึ้นมาเองแล้ว โลกหรือต่างประเทศเขาก็กดดันเราไม่ได้ เว้นแต่ว่ามีความพยายามให้ลุกลามบานปลายจากผู้ที่ไม่หวังดี ซึ่งเรื่องราวเหล่านี้เป็นหน้าที่ กกต.ที่จะตอบเรื่องราวต่างๆ ที่เป็นข้อสงสัย
    "อยากให้คนที่ติดตามข้อมูลข่าวสารใช้เหตุผลมากกว่าอารมณ์ พยายามเปิดใจฟังเหตุผลในการชี้แจงเขาบ้าง ที่ผ่านมา กกต.พยายามชี้แจงมาเป็นระยะ ว่าแต่ละขั้นตอนมีวิธี หลักการในการคิดอย่างไร ไม่อยากให้ทุกคนสรุปเพื่อที่จะหาคำตอบให้ตัวเองเร็วเกินไป" รองโฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าว
    ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายอิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต. เป็นประธานเปิดการอบรมมอบนโยบายในการประชุมชี้แจงขั้นตอนการดำเนินการของคณะอนุกรรมการวินิจฉัยปัญหาและข้อโต้แย้ง  
    นายอิทธิพรกล่าวว่า อนุกรรมการที่ กกต.ตั้งขึ้นเป็นบุคคลที่มีความเป็นกลาง มีความซื่อสัตย์สุจริต  จึงต้องประชุมซักซ้อมการปฏิบัติงานให้มีเอกภาพ เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่ง กกต.มั่นใจว่า จากความรู้ความสามารถและประสบการณ์ของแต่ละคน จะสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้เป็นอย่างดี โดยการเลือกตั้งที่เพิ่งผ่านพ้นไป สังคมคาดหวังมายัง กกต. และอยากทราบผลการเลือกตั้งอย่างรวดเร็ว ซึ่งก็อาจจะไม่ได้รวดเร็วทันใจตามที่หวัง เพราะเราต้องทำหน้าที่ด้วยความรอบคอบถูกต้อง ด้วยความสุจริต ด้วยความเที่ยงธรรม และชอบด้วยกฎหมาย
    นายอิทธิพรกล่าวว่า แนวทางการทำงานที่จำเป็นและหลักการทำงานที่เห็นว่าจำเป็นที่จะใช้ในการทำงานของทุกคน โดยการทำงานต้องมีคุณภาพ คุณธรรมและความรวดเร็ว คุณภาพคือมีความรู้รอบด้าน ถูกต้องครบถ้วน มีมาตรฐานในเนื้อหาสาระของงานที่ทำ ส่วนคุณธรรมคือความเป็นกลาง ปราศจากอคติ กล้าหาญ ยึดความถูกต้องตามตัวบทของกฎหมาย บนพื้นฐานของหลักนิติธรรม คือหลักความเป็นธรรมตามกฎหมาย ไม่หวั่นไหวต่อแรงเสียดทานหรืออำนาจอิทธิพลใดๆ 
    "หากทำได้เช่นนี้ ก็ขอให้มั่นใจว่าคุณธรรมจะเป็นเกราะป้องกันตัว และองค์กร กกต.ก็จะสนับสนุนปกป้องการทำงานของท่านอย่างเต็มที่ ส่วนคำว่ารวดเร็ว คือไม่ล่าช้า ความรวดเร็วในกรณีนี้คือไม่ล่าช้า ทำเสร็จตามกรอบเวลาที่กฎหมายกำหนด เพราะความล่าช้าคือความอยุติธรรม" ประธาน กกต.กล่าว
กกต.ยันทำตามกฎหมาย
    นายปกรณ์ มหรรณพ กรรมการ กกต. กล่าวถึงเรื่องบัตรเลือกตั้งจากนิวซีแลนด์ว่า เรามีคำตอบขั้นตอนต่างๆ เรามีหมด และกำลังจะตรวจสอบขั้นตอนสุดท้ายว่าทำอะไรบกพร่องหรือไม่ และเป็นความรับผิดชอบของใคร ซึ่งในมาตรา 114 ของ พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส. เงื่อนไขมีอยู่ 4 ข้อ แต่ข้อที่ต้องพิจารณามีข้อเดียว ซึ่งเป็นข้อที่วิพากษ์วิจารณ์กันมาก แต่เราไม่สามารถทำให้ทุกฝ่ายพึงพอใจได้ เงื่อนไขคือให้เรามีอำนาจสั่งเมื่อบัตรเลือกตั้งไปถึงหน่วยเลือกตั้ง หลังจากมีการนับคะแนนแล้ว เราจึงจะสั่งได้ว่าเป็นบัตรเสีย แต่กรณีนี้บัตรไม่ได้ไปถึง และการนับได้จบสิ้นแล้ว
    “ท่านนึกถึงการเลือกตั้งต่างๆ และการส่งชิงโชคต่างๆ เมื่อดำเนินการเสร็จแล้ว บัตรต่างๆ เอกสารต่างๆ ที่ส่งมาใช้สิทธิ ท่านจะมาสามารถขอให้นับเมื่อดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว นับไม่ได้ เราจึงวินิจฉัยเช่นนี้ เราไม่ได้วินิจฉัยว่าเสียหรือดี ถ้าเราวินิจฉัยว่าเสีย  ฝ่ายดีก็จะยกขึ้นมาอ้างว่าขอให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ ถ้าวินิจฉัยว่าดี ฝ่ายเสียก็จะยกขึ้นอ้าง อันนี้เป็นสิ่งที่สังคมรับรู้ จุดประสงค์เขาเป็นอย่างนั้น” นายปกรณ์กล่าว
    กรรมการ กกต.ระบุว่า ในส่วนบัตรเกินกว่า 4 ล้านใบ ขณะที่ กกต.แถลงโดยระบบแรพพิดรีพอร์ตนั้น เวลาประมาณ 21.00 น. ข้อมูลเพียงร้อยละ 93  ขาดอยู่ร้อยละ 7 ของประมาณ 30 ล้าน เหลืออีกกว่า 2 ล้านคน ยังไม่ได้ประกาศ เมื่อจากหน่วยมาถึงเขต  เขตต้องเอาบัตรต่างประเทศกว่าแสนใบ เลือกตั้งล่วงหน้าวันที่ 17 มี.ค.อีกกว่า 2 ล้านคนมารวม เมื่อรวมกันทั้งหมดคือ 4 ล้านเศษ ไม่มีการเพิ่มบัตรอะไรเข้าไปทั้งสิ้น นี่คือความจริง 
    ด้าน พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการ กกต. กล่าวว่า การประชุมชี้แจงขั้นตอนการดำเนินการของคณะอนุกรรมการวินิจฉัยปัญหาและข้อโต้แย้งทั้ง 35 ชุด ต้องทำหน้าที่กลั่นกรองและให้ความเห็นในสำนวนการสอบสวน โดยผลคดีจะออกมาเป็นอย่างไร ขึ้นอยู่กับพยานและหลักฐาน 
    พ.ต.อ.จรุงวิทย์กล่าวว่า ส่วนข้อเรียกร้องให้เปิดเผยสูตรคำนวณ ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อนั้น กกต.ยังไม่มีมติ คาดว่าจะมีความชัดเจนภายในสัปดาห์นี้ ซึ่งสูตรคำนวณ ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญและพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วย ส.ส. แต่ถึงอย่างนั้นก็ต้องมีต้นแบบการคำนวณ ซึ่ง กกต.จะได้รวบรวมทุกความเห็นและข้อโต้แย้ง รวมทั้งศึกษากฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้มีคำตอบกับสังคม 
    "กกต.ไม่ได้เป็นผู้ร่างกฎหมาย เป็นเพียงผู้ใช้กฎหมาย และยืนยันว่าที่ผ่านมา กกต.ยังไม่ได้เริ่มคำนวณเลย ส่วนเรื่องจุดทศนิยมหรือการปัดเศษต่างๆ ผมยังไม่ขอตอบ แต่ขอให้มั่นใจว่า กกต.รับฟังทุกข้อโต้แย้ง" เลขาฯ กกต.กล่าว
    ถามว่าจะต้องเชิญคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) มาให้ความเห็นหรือไม่ พ.ต.อ.จรุงวิทย์กล่าวว่า สูตรคำนวณ เป็นเรื่องคณิตศาสตร์ที่นำมาเขียนเป็นกฎหมาย กกต.จึงต้องรับฟังทั้งความเห็นของ กรธ.และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ว่ามีเจตนารมณ์ในการเขียนกฎหมาย และการตีความกฎหมายนี้อย่างไร เมื่อ กกต.มีมติออกมาก็อาจจะเผยแพร่และชี้แจงกับประชาชน ถึงอย่างไรก็หนีไม่พ้นต้องประกาศรับรองผลการเลือกตั้งในวันที่ 9 พ.ค. 
    ถามถึงการล่ารายชื่อถอดถอน กกต. พ.ต.อ.จรุงวิทย์กล่าวว่า เป็นสิทธิ์ของเขา แต่เราก็ได้ชี้แจงไปหลายประเด็น ทั้งข้อสงสัยในช่วงก่อนการเลือกตั้ง บัตรเลือกตั้ง โดย กกต.ได้เปิดเผยทั้งหมด ขั้นตอนการเก็บรักษาบัตร การส่งบัตรเลือกตั้งก็เปิดเผยไปแล้ว ข้อสงสัยที่เกิดในช่วงหลังเลือกตั้งเราก็พยายามชี้แจง แต่อาจไม่ทัน เพราะมีเยอะมาก จึงขอให้ฟังเหตุผลด้วย ในสังคมประชาธิปไตยยึดเหตุผลเป็นหลัก
เพื่อไทยวุ่นส่อมีงูเห่า
    ขณะที่นายสราวุธ เบญจกุล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม กล่าวถึงการรับคดีเลือกตั้ง ส.ส. ภายหลังการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มี.ค. ของศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งว่า ขณะนี้ทาง กกต.ยังไม่มีการยื่นขอให้พิจารณาเกี่ยวกับคดีเลือกตั้งเข้ามา โดยอำนาจที่จะแจกใบแดงให้เพิกถอนสิทธิการรับสมัครเลือกตั้งของว่าที่ ส.ส. เป็นอำนาจวินิจฉัยของศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งเท่านั้น ซึ่งในการพิจารณาการยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อตัดสิทธิการเลือกตั้งของ กกต. ก็จะมีคณะอนุกรรมการวินิจฉัย จะต้องรวบรวมข้อเท็จจริงก่อนที่จะส่ง กกต.ชุดใหญ่เป็นผู้พิจารณา ก่อนที่จะยื่นคำร้องส่งศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้ง 
    "ระยะเวลาการพิจารณาคดีจะต้องเป็นไปตามกรอบกฎหมายว่าจะต้องพิจารณาวินิจฉัยให้แล้วเสร็จภายในกี่วัน หากไม่แล้วเสร็จตามกรอบที่กำหนดจะต้องดำเนินการอย่างไรต่อ แต่เราก็ต้องมาดูว่าจะทำอย่างไรให้รวดเร็วกว่ากรอบที่กำหนด" เลขาฯ สำนักงานศาลยุติธรรมระบุ 
    นายสุริยัณห์ หงษ์วิไล โฆษกศาลยุติธรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนคดีที่มีการร้องเข้ามาก่อนวันเลือกตั้ง 24 มี.ค. ศาลฎีกามีคำสั่งไปหมดแล้ว 577 คดี ส่วนคดีที่จะเลือกตั้งจะใช้เวลาเท่าไหร่ ต้องเป็นไปตามกรอบที่กฎหมายกำหนด แม้หลัง กกต.ประกาศรับรองผลรายชื่อผู้ได้เป็น ส.ส. ศาลฎีกาก็ยังมีอำนาจพิจารณาในเรื่องใบแดงได้ 
    วันเดียวกัน ที่ กกต. นายสุรินทร์ สุรินก้อน ผู้สมัคร ส.ส.เขต 5 จ.กาญจนบุรี พรรคไทยศรีวิไลย์ เข้ายื่นคำร้องกับ กกต. ขอให้ตรวจสอบนายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เชื่อว่ามีการชี้นำชาวบ้านในพื้นที่ เพื่อให้ตนได้รับคะแนนเลือกตั้งน้อยกว่าที่ควรจะได้รับ และขอให้พิจารณาสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ในเขตดังกล่าว 
    ที่พรรคเพื่อไทย (พท.) นางลดาวัลลิ์ วงศ์ศรีวงศ์ โฆษกพรรค ในฐานะเลขานุการคณะทำงานติดตามการกระทำผิดในการเลือกตั้ง พร้อมผู้สมัคร ส.ส. ร่วมแถลงข่าวถึงความผิดปกติในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24มี.ค.ว่า คณะทำงานพิจารณาคำร้องไปแล้ว 3 เขต ได้ยื่นเรื่องไปยัง กกต. และยังมีกรณีใหม่เกิดขึ้น ซึ่งสร้างความเคลือบแคลงสงสัยว่าจะมีการทำผิดกฎหมายหรือไม่
    ส่วนนายชวลิต วิชยสุทธิ์ ว่าที่ ส.ส.นครพนม พรรค พท. กล่าวว่า ประเทศไทยปกครองโดยระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา เพื่อให้ประเทศเดินหน้าได้ กกต.ควรเร่งรับรอง ส.ส.ให้ได้อย่างน้อย 95% เพื่อเปิดรัฐสภาให้มีฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารมาขับเคลื่อนประเทศ และที่สำคัญที่สุดคือสร้างความเชื่อมั่นประเทศ ไม่ควรรอจนถึงวันสุดท้ายคือวันที่ 9 พ.ค.62 ซึ่งไม่ใช่วิธีการแก้ไขปัญหาชาติที่ถูกต้อง 
    มีรายงานว่า ขณะนี้ในพรรค พท.ได้เกิดความขัดแย้งกันขึ้น กรณีแกนนำพรรคได้ให้ว่าที่ ส.ส.ของพรรคทุกคนเซ็นชื่อในเอกสารคำปฏิญาณ ตั้งแต่วันที่ 27 มี.ค. ซึ่งเป็นวันประชุมว่าที่ ส.ส.และอดีตผู้สมัคร ส.ส.ของพรรค แต่ปรากฏว่าในวันดังกล่าวมีว่าที่ ส.ส.อีกส่วนหนึ่งที่ไม่ได้เดินทางมาร่วมประชุม แกนนำพรรคจึงได้ให้เจ้าหน้าที่พรรคส่งเอกสารคำปฏิญาณไปให้เพื่อให้เซ็นชื่อ ปรากฏว่ามีว่าที่ ส.ส.บางส่วนไม่ยอมเซ็นเอกสาร เนื่องจากมองว่าไม่ได้เป็นมติของพรรค 
    "คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ใช้สิทธิ์อะไรมาบอกให้ว่าที่ ส.ส.ต้องทำตาม เพราะขนาดหัวหน้าพรรคยังไม่เห็นสั่งการอะไรเลย หากอ้างความเป็นแคนดิเดตนายกฯ ของพรรค ก็มีถึง 3 คน แต่ก็ไม่เห็นอีก 2 คนว่าอะไร และถ้าว่าที่ ส.ส.เซ็นเอกสารดังกล่าวไปแล้วมันจะได้อะไร" ว่าที่ ส.ส.พรรค พท.รายหนึ่งระบุ
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เอกสารคำปฏิญาณดังกล่าวมีเนื้อหาระบุว่า "ขอยืนยันและให้คำรับรองว่าจะทำหน้าที่สมาชิกพรรคและ ส.ส.โดยสุจริต เพื่อปกป้องระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จะไม่สนับสนุนการสืบทอดอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และคณะโดยเด็ดขาด ไม่ว่าในทางใดๆ ทั้งจะยืนหยัดปกป้องเจตนารมณ์ของประชาชนชาวไทยส่วนใหญ่ที่ต้องการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยไปสู่ระบอบประชาธิปไตย และยุติระบอบเผด็จการอำนาจนิยม"
     ศาสตราจารย์ ดร.อัญชนา ณ ระนอง ผู้อำนวยการศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” ชี้แจงกรณีผลการสำรวจความคิดเห็นเรื่องการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง 2562 ว่า ได้ตั้งประเด็นหัวข้อดังกล่าวอย่างเป็นกลาง โดยมีคำตอบทั้งเชิงบวกและเชิงลบ ในจำนวนเท่าๆ กัน. 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"