หลายองค์กรร่วมจัดงาน ‘สานต่อความคิด  มุทิตาจิต  84 ปี  บัณฑร  อ่อนดำ’ ยกย่องเป็นนักวิชาการของประชาชนที่ไม่ได้อยู่บนหอคอยงาช้าง 


เพิ่มเพื่อน    

สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ / หลายองค์กรร่วมจัดงาน ‘สานต่อความคิด  มุทิตาจิต  84 ปี  บัณฑร  อ่อนดำ’ เนื่องในโอกาสครบรอบอายุ  84 ปี  ผู้ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นนักวิชาการของประชาชนที่ไม่ได้อยู่บนหอคอยงาช้าง  แต่ลงมาทำงานคลุกคลีกับคนยากคนจน  เป็นทั้งครู  นักวิชาการ  และนักพัฒนาที่อุทิศตนทำงานเพื่อรับใช้สังคมมาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน

 

วันนี้ (4 เมษายน) เวลา 9.00-16.00 น. ที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ถนนนวมินทร์  เขตบางกะปิ  กรุงเทพฯ  หลายองค์กรได้ร่วมจัดงาน  ‘สานต่อความคิด  มุทิตาจิต  84 ปี  บัณฑร  อ่อนดำ’  เนื่องในโอกาสที่อาจารย์บัณฑร  อ่อนดำ  มีอายุครบรอบ 84 ปี  โดยมีนักวิชาการ  นักพัฒนาชุมชน  ภาคประชาชน  กลุ่มและองค์กรต่างๆ   ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ พอช.  เข้าร่วมงานประมาณ  200 คน

 อ.บัณฑร (นั่งที่ 2 จากขวา)

 

ภายในงานมีการจัดเวทีเสวเรื่อง ‘ทัศนะ/มุมมองต่ออาจารย์บัณฑร  อ่อนดำ’  โดย นพ.ประเวศ  วะสี  นางสมปอง  เวียงจันทร์  ผู้ได้รับผลกระทบจากเขื่อนปากมูล  นายบำรุง  คะโยธา  อดีตแกนนำสมัชชาคนจน  เวทีวิชาการหัวข้อ ‘สถานการณ์สังคมไทย  และความท้าทายใหม่ในงานพัฒนา’  มีผู้ร่วมเสวนา  เช่น   ดร.อรรถจักร์  สัตยานุรักษ์  นายศิวโรฒ  จิตนิยม  นายประสาท  มีแต้ม  นายไพโรจน์  พลเพชร  ฯลฯ  โดยมีนักวิชาการและนักพัฒนาอาวุโสเข้าร่วมงานมุทิตาจิตในครั้งนี้หลายคน   เช่น  นายโคทม  อารียา   นายจอห์น  อึ๊งภากรณ์  นางรัตยา  จันทร์เทียน  นายเดช  พุ่มคชา  นายสมพันธ์   เตชะอธิก   ศ.สุริชัย  หวันแก้ว   นายประสาน  มฤคพิทักษ์  ฯลฯ

อาจารย์บัณฑร  อ่อนดำ   เกิดเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์  พ.ศ.2478  จบการศึกษาระดับปริญญาตรี  คณะรัฐศาสตร์บัณฑิต  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  ปริญญาโท MS (Rural Sociology) Cornell  University, USA  และปริญญาเอก  สังคมวิทยาและมานุษยวิทยา  ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (สาขาสังคมวิทยา)  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  (2556)

 

อาจารย์บัณฑรเริ่มทำงานในปี 2509  โดยทำงานเป็นผู้ช่วยนักวิจัยในองค์การ USOM ของอเมริกาที่สำนักงานในประเทศไทย  ในปี 2517 เป็นหนึ่งในผู้ร่วมโครงการพัฒนาชนบทลุ่มแม่น้ำกลอง  โดยมี ดร.ป๋วย  อึ๊งภากรณ์  เป็นผู้อำนวยการโครงการ  นอกจากนั้นยังทำงานร่วมกับองค์กรต่างๆ  เช่น  มูลนิธิโกมลคีมทอง  กลุ่มประสานงานศาสนาเพื่อสังคม  สภาคาทอลิกเพื่อการพัฒนา  ฯลฯ 

 

ช่วงปี 2515-2523  เป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์  คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  หลังจากนั้นจึงมีบทบาทในการเป็นนักพัฒนาอย่างเต็มที่  เช่น  (รักษาการ) ผู้จัดการภาคสนาม  โครงการประสานความร่วมมือพัฒนาทุ่งกุลาร้องไห้  จ.ร้อยเอ็ด (2527-2528),  ประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรเอกชนพัฒนาชนบทภาคอีสาน (กป.อพช.อีสาน)  ผู้อำนวยการ  สำนักงานคณะกรรมการองค์กรพัฒนาเอกชนพัฒนาชนบท (2533-2540)  ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการกำหนดทิศทางการทำงานกับคนจนและชนบทขององค์กรพัฒนาเอกชน

อ.บัณฑรเมื่อครั้งเป็นที่ปรึกษาสมัชชาคนจน

 

อาจารย์บัณฑรเป็นทั้งนักวิชาการและนักพัฒนาที่ริเริ่มแนวทางการทำงานใหม่ๆ  และฝึกฝนคนรุ่นใหม่ให้ทำงานร่วมกับชาวบ้านและผู้ยากลำบากด้วยความอุตสาหะ  และมีบทบาทสำคัญในการปลุกมโนธรรมสำนึกให้คนรุ่นใหม่เห็นถึงความทุกข์ยากของคนเล็กคนน้อย  รวมทั้งกระตุ้นส่งเสริมให้ชาวบ้านรวมพลังสร้างกลุ่มขึ้นมาเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิและความเป็นธรรมในสังคม

 

ปี 2553  เป็นที่ปรึกษาสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ มีบทบาทสำคัญในการผลักดันแนวทางการปฏิรูปประเทศ   โดยเป็น 1 ใน 19  ของคณะกรรมการปฏิรูปประเทศที่มีนายอานันท์  ปันยารชุน  เป็นประธาน  ได้นำเสนอข้อเสนอในการปฏิรูปประเทศในด้านต่างๆ

 

ปี 2555  รับตำแหน่งสำคัญในองค์กรพัฒนาหลายองค์กร  เช่น  ประธานกรรมการมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย  กรรมการมูลนิธิสภาวัฒนธรรมแห่งเอเซีย  กรรมการมูลนิธิชุมชนไท  ที่ปรึกษาองค์กรชาวบ้านเพื่อการพัฒนาภาคอีสาน    ที่ปรึกษาโครงการยุติธรรมและสันติ  ที่ปรึกษาสมัชชาคนจน  ฯลฯ

อ.บัณฑรเยี่ยมเกษตรกรที่ อ.บ้านลาด  จ.เพชรบุรี (ภาพจากสำนักข่าวอิสรา)

 

อาจารย์บัณฑรได้ชื่อว่าเป็น ‘นักวิชาการของประชาชนที่ไม่ได้อยู่บนหอคอยงาช้าง’  เป็นกำลังสำคัญในการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับขบวนการนักพัฒนา  อาสาสมัคร  และคนรุ่นใหม่  ที่มีปณิธานที่จะทำงานรับใช้สังคม  มุ่งมั่นสร้างสังคมที่คนยากจนส่วนใหญ่ในสังคมได้ลืมตาอ้าปาก  ลุกขึ้นมายืนได้อย่างมีศักดิ์ศรี   ประกอบกับการที่เป็นพุทธศาสนิกที่มีความรู้และเป็นนักปฏิบัติ  ทำให้อาจารย์บัณฑรประพฤติปฏิบัติ  ครองตนอยู่ในศีลธรรม  จนเป็นที่ยอมรับนับถือของบุคคลและหน่วยงานในวงการพัฒนาสังคมทั้งในและนอกประเทศ

 

อาจารย์บัณฑรจึงเป็นทั้งครู  นักวิชาการ  และนักพัฒนา  ผู้มีคุณูปการในการบุกเบิก  กรุยทางวิธีการทำงานพัฒนาแนวใหม่  พร้อมกับการฝึกอบรมสร้างคนรุ่นใหม่ให้ร่วมทำงานและใช้ชีวิตกับชาวบ้านผู้ยากไร้  ด้วยความอุตสาหะและตรากตรำเป็นเวลานานหลายสิบปี  จนสุขภาพทรุดโทรมลง  ไม่อาจเดินและพูดได้เหมือนเดิม  แต่แววตาและสีหน้าบอกถึงความมุ่งมั่นแน่วแน่ที่จะสร้างสังคมไทยให้เกิดความเป็นธรรม  ทำให้คนยากคนจนได้ลืมตาอ้าปากอย่างมีศักดิ์ศรี...!!

 

ทั้งนี้การจัดงานในวันนี้นอกจากจะแสดงมุทิตาจิตต่ออาจารย์บัณฑรแล้ว  ยังเป็นการเชื่อมโยงนักวิชาการ  นักพัฒนา  และประชาชน  ให้มาพบปะ  พูดคุย  แลกเปลี่ยนประสบการณ์และทิศทางในการพัฒนาสังคมร่วมกัน  นอกจากนี้ยังเป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้ที่มีคุณูปการต่อการพัฒนาชุมชนและสังคม   โดยมีหน่วยงานที่ร่วมจัด  เช่น  สถาบันวิจัยสังคม  จุฬาฯ   วิทยาลัยพัฒนศาสตร์  ป๋วย  อึ๊งภากรณ์   สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ  คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน   มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม  มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย  มูลนิธิชุมชนไท  ฯลฯ 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"