เปิดสูตรกวาด 'ส.ส.เมืองกรุง' จาก 'ปชป.โมเดล' สู่ 'พปชร.'


เพิ่มเพื่อน    

      เก็บตกควันหลงชัยชนะในเมืองกรุงของพรรคพลังประชารัฐ และความพ่ายแพ้แบบมือเปล่าของเจ้าถิ่นเก่าอย่างพรรคประชาธิปัตย์ ถูกวิเคราะห์แบบแยกย่อยกันไปหลายครั้งแล้ว

      หากแต่ท่ามกลางชัยชนะของน้องใหม่อายุไม่กี่เดือน และความพ่ายแพ้ของพรรคเก่าแก่ มีความเชื่อมโยงกัน นอกเหนือไปจากปัจจัยเรื่องคำประกาศไม่สนับสนุน “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์

     นั่นเพราะ “สูตรสำเร็จ” ที่พรรคพลังประชารัฐนำมาใช้ เป็นแบบเดียวที่พรรคประชาธิปัตย์ใช้มาตลอดก่อนหน้านี้ จนผูกขาดชัยชนะในเมืองหลวงมาเป็นสิบๆ ปี

      สูตรสำเร็จที่ว่าคือ การดึงผู้บริหารท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) สมาชิกสภาเขต (ส.ข.) มาเป็นฟันเฟืองหลักในการทำพื้นที่เมืองกรุง

      ไม่แปลกหากพรรคพลังประชารัฐจะเลือกใช้วิธีการนี้ ในเมื่อพรรคน้องใหม่ได้คนประชาธิปัตย์มาเป็นกำลังสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ, นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ และนายสกลธี ภัททิยกุล เข้ามาเป็นแม่ทัพเพื่อตีเมืองหลวง

      อดีตสามทหารเสือจากเวที กปปส. คือ อดีต ส.ส. กทม. พรรคประชาธิปัตย์ ที่อยู่กับพรรคสีฟ้ามานานนม ชนะการเลือกตั้งมาสม่ำเสมอ ย่อมรู้เคล็ดลับว่า ทำอย่างไรถึงชนะ

      จะเห็นว่า ก่อนการเลือกตั้งพรรคพลังประชารัฐกวาดต้อน ส.ก. และ ส.ข. จากทั้งพรรคประชาธิปัตย์และพรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นแชมป์เก่าในพื้นที่มาจำนวนมาก

      ขณะที่ ส.ก. และ ส.ข. หลายคนที่ถูกดึงมา ยังมีโอกาสได้ลงรับสมัครเลือกตั้ง ส.ส.เป็นครั้งแรก ในสีเสื้อพรรคพลังประชารัฐด้วย

      คนภายนอกอาจมองว่า ส.ก. และ ส.ข.เหล่านี้เป็นผู้บริหารท้องถิ่นตัวเล็กๆ จะขยับขึ้นมาสู้กับอดีต ส.ส.เก่าได้อย่างไร แต่ในความเป็นจริง คนเหล่านี้คือเบื้องหลังความสำเร็จของพรรคประชาธิปัตย์ตลอดช่วงหลายปี

      ส.ก. และ ส.ข. คือหัวใจสำคัญของการเลือกตั้ง ส.ส. ใน กทม.เลยก็ว่าได้ เพราะเป็นคนทำพื้นที่ให้กับผู้สมัคร ส.ส. มีความใกล้ชิดกับประชาชนมากกว่า ส.ส.ด้วยซ้ำ

      การที่พรรคพลังประชารัฐไปดึง ส.ก. และ ส.ข.จากพรรคประชาธิปัตย์มาจำนวนมาก ไม่ต่างอะไรกับการตัดแขนตัดขาผู้สมัคร ส.ส.จากพรรคสีฟ้า

      นั่นว่าหนักหนาแล้ว การที่ ส.ก. และ ส.ข.เหล่านี้มาลงสมัคร ส.ส. แข่งกับคนที่ตัวเองเคยทำพื้นที่ให้ ย่อมได้เปรียบ เพราะรู้ดีว่าจะหาคะแนนมาจากไหน

      ผู้บริหารท้องถิ่นกลุ่มนี้ไม่ต้องหาเสียงให้ใครหลายทอด หากแต่การเดินขอคะแนน “ทางตรง” ได้เลย ซึ่งง่ายกว่าเดิมมาก

      ที่สำคัญ ส.ก. และ ส.ข. ล้วนอยากขยับมาเล่นการเมืองระดับชาติทั้งสิ้น แต่ที่ผ่านมาไม่มีโอกาสเนื่องจากต้องผ่านผู้ใหญ่ในพรรคหลายด่าน โดยเฉพาะ ส.ส.เก่า เมื่อพรรคพลังประชารัฐหยิบยื่นโอกาสและการสนับสนุนด้านทรัพยากรให้ ย่อมตัดสินใจไม่ยาก

      และเหตุนี้นี่เอง ทำให้คนในพรรคประชาธิปัตย์ไม่ค่อยพอใจอดีตลูกพรรคเก่าที่มาดึง ส.ก. และ ส.ข.ของพวกเขาไป อดีต ส.ส.กทม.ที่สอบตกของพรรคสีฟ้าบางคน ถึงกับอยากจะตัดความสัมพันธ์กับเพื่อนเก่าที่ย้ายมาอยู่กับพรรคพลังประชารัฐกันเลยทีเดียว

      จะเห็นว่า มี ส.ก. และ ส.ข. ได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส.กทม.พรรคพลังประชารัฐหลายคน ไม่ว่าจะเป็น นางกรณิศ งามสุคนธ์รัตนา อดีต ส.ก.เขตคลองเตย กำลังสำคัญของนายอนุชา บูรพชัยศรี ที่ต้องกลายมาเป็นคู่แข่งกันในสนาม และสามารถเอาชนะได้

      น.ส.กานต์กนิษฐ์ แห้วสันตติ อดีต ส.ก.เขตพระนคร ที่ได้รับเลือกตั้ง ส.ส. หรือ น.ส.ฐิติภัสร์ โชติเดชาชัยนันต์ ที่คว้าชัยชนะเหนือ “ไอติม” พริษฐ์ วัชรสินธุ จากพรรคประชาธิปัตย์มาได้ เพราะเป็นทายาทของ ส.ก.ในพื้นที่

      ขณะที่เขตอื่นๆ ของพรรคพลังประชารัฐ แม้ไม่ใช่ ส.ก.หรือ ส.ข.เก่า ลงสมัครรับเลือกตั้ง แต่ก็ได้ผู้บริหารท้องถิ่นเหล่านี้ช่วยทำพื้นที่ช่วงหาเสียง ดังนั้น จึงไม่แปลกที่คะแนนของพรรคประชาธิปัตย์จะหายไปมหาศาล บางเขตตกไปอยู่ที่ 3 และที่ 4

      เขตที่คิดว่าผูกขาดชัยชนะ กลับแพ้ถล่มทลาย นั่นเพราะผู้สมัคร ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ไม่มีแขนและขาที่คอยช่วยเหมือนในอดีตแล้ว

      การเดินสวนทางในสนามเลือกตั้งระหว่างพรรคพลังประชารัฐและพรรคประชาธิปัตย์ จึงมาจากปัจจัยนี้เป็นสำคัญ

      สูตรของพรรคประชาธิปัตย์ถูกพรรคพลังประชารัฐนำมาใช้ เท่านั้นไม่พอ ยังมีกลไกรัฐคอยซัพพอร์ตอย่างเต็มที่ กอปรกับอีกเคล็ดลับหนึ่ง นั่นคือ ในย่านเขตเมืองชั้นใน พรรคใหม่แกะกล่องพยายามคัดเลือกผู้สมัคร ส.ส.ที่ดูดี ทันสมัย เป็นคนรุ่นใหม่ เพื่อให้ดูโดดเด่น เพื่อเป็นทางเลือกให้กับประชาชนที่เบื่อของเก่ามานานหลายปี

      12 ที่นั่ง ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างมาก จากเดิมที่หวังเพียงแค่ 4-5 ที่นั่ง.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"