พึ่งศาล รธน.เป็นเกราะกำบัง กกต.อ้างทางตัน คำนวณสูตรเก้าอี้ปาร์ตี้ลิสต์


เพิ่มเพื่อน    

 

        มีการตั้งข้อสังเกต ผสมกับเสียงวิพากษ์วิจารณ์มติของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่ให้ส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย วิธีคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อที่แต่ละพรรคการเมืองจะพึงได้ในการเลือกตั้งเมื่อ 24 มี.ค.ที่ผ่านมา

          ทั้งเสียงวิจารณ์ว่า กกต.ไม่เด็ดขาด ลอยตัว ไม่กล้าตัดสินใจ หลังมีความคิดเห็นที่หลากหลายในสูตรการคำนวณเก้าอี้ปาร์ตี้ลิสต์ดังกล่าว ทั้งความเห็นจากพรรคการเมืองทั้งพรรคใหญ่-กลาง-เล็ก ที่ย่อมมีมุมมองในทางที่จะทำให้ตัวเองได้ประโยชน์ ได้เก้าอี้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ หรือความเห็นจากนักวิชาการทั้งสายรัฐศาสตร์-นิติศาสตร์-อดีตกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ที่มีมุมมองเรื่องดังกล่าวแตกต่างกัน จนหาข้อสรุปคณิตศาสตร์การเมืองดังกล่าวไม่ได้ 

                จนสุดท้าย แม้ กกต.จะมีการเรียกอดีตกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ที่ยกร่าง รธน.ฉบับปัจจุบัน มาให้ความเห็นประกอบการตัดสินใจ แต่สุดท้าย กกต.ก็เลือกที่จะใช้ศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาดในปมปัญหาข้อสงสัย โดยมีบางฝ่ายก็ไม่เห็นด้วย เพราะมองว่า เรื่องดังกล่าวเป็นอำนาจของ กกต.ตามกฎหมายที่รับรองไว้ให้อยู่แล้ว หากทำโดยสุจริต สามารถอธิบายประชาชนได้ ก็ไม่เห็นต้องส่งศาล รธน.หรือเกรงกลัวใดๆ

                 ท่ามกลางเสียงวิจารณ์ว่าส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะ กกต.ที่ตอนนี้ก็ถูกวิจารณ์อย่างหนักเรื่องการจัดการเลือกตั้งที่ด้อยประสิทธิภาพ จนประชาชนเข้าชื่อถอดถอนออกจากตำแหน่ง ทำให้ 7 เสือ กกต.เลยเกรงว่า หากเคาะเก้าอี้ปาร์ตี้ลิสต์ออกมาแล้วมีพรรคการเมืองไม่พอใจ จนเคลื่อนไหว เอาผิด-ยื่นเรื่องไปยังช่องทางต่างๆ อาจทำให้ตกจากเก้าอี้ก่อนครบวาระ เลยใช้วิธียื่นศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อให้คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมาเป็นด่านป้องกันตัวเองไว้ก่อน จะได้เพล์ยเซฟ

                เพราะ กกต.ทั้งหมด ย่อมอ่านสถานการณ์ออกและรู้ดีว่า ไม่ว่าสุดท้าย กกต.เคาะ-คำนวณออกมาสูตรไหน ก็ย่อมมีคนไม่พอใจ ไม่เห็นด้วย จนอาจมีการยื่นคำร้องคัดค้าน และนำไปสู่ความเสี่ยงที่อาจทำให้หลุดจากตำแหน่งได้ ดังนั้นการยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญช่วยเซฟตัวเองไว้ก่อน จึงเป็นทางออกที่ 7 เสือ กกต.ไม่มีใครเสียงแตก ทุกคนเห็นด้วยไปในทางเดียวกันหมด 

                 มติ กกต.ดังกล่าว ทาง อิทธิพร บุญประคอง ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง แจงไว้ว่า เหตุที่ กกต.ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยวิธีคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้ง ส.ส. ซึ่งวิธีที่สำนักงาน กกต.คำนวณ สอดคล้องกับวิธีที่อดีตกรรมการร่างรัฐธรรมนูญสามารถจัดสรร ส.ส.บัญชีรายชื่อพึงมีได้ครบ 150 คน แต่การอาจไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 91 (4) ที่กำหนดหลักการจัดสรร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อจะเกินกว่าที่พึงมีไม่ได้ โดยการจัดสรรในจำนวนที่ต่ำกว่า 0 อาจถือได้ว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ และวิธีการคำนวณตามมาตรา 128 ของกฎหมายลูกว่าด้วย ส.ส.จำเป็นต้องหาข้อยุติให้ชัดเจน แม้ว่าวิธีการคำนวณตามมาตรา 128 ของกฎหมายลูกว่าด้วย ส.ส. จะจัดสรรได้ครบ 150 คน แต่อาจติดขัดต่อประเด็นว่าการจัดสรรนี้ จะทำให้พรรคการเมืองบางพรรคได้ ส.ส.เกินพึงมีหรือไม่

       “การส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเป็นวิธีดำเนินการเหมาะสม เมื่อตัวอักษรเขียนแบบนี้คงถึงทางตันที่ไม่สามารถตัดสินในเรื่องนี้เองได้ จึงต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญช่วยวินิฉัย” ประธาน กกต.แจงไว้

                ทั้งนี้ มติ กกต.ดังกล่าวขอรีวิว ย้ำชัดๆ ถึงที่มาที่ไปและเหตุผลของ กกต.ที่ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญ

                โดยสำนักงาน กกต.ระบุว่า คณะกรรมการการเลือกตั้งได้พิจารณาเรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อที่แต่ละพรรคการเมืองจะพึงมีได้ ตามมาตรา 91 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ประกอบมาตรา 128 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2561 ตามที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2562 แล้ว

                ปมปัญหาดังกล่าว ที่ประชุม กกต.มีความเห็นดังนี้

                1.ตามรัฐธรรมนูญฯ 2560 มาตรา 91 วรรคสาม กำหนดหลักเกณฑ์วิธีการคำนวณและการคิดอัตราส่วนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ ให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2561 ซึ่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2561 มาตรา 128 ได้กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อไว้ สำนักงาน กกต.ได้เสนอผลการคำนวณจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อต่อ กกต. ซึ่งเป็นไปตามหลักเกณฑ์ และวิธีการคำนวณตามแนวทางของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญที่ได้จัดทำวิธีการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อในชั้นพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560

                ปรากฏว่า การคำนวณดังกล่าวมีพรรคการเมืองหลายพรรคมีจำนวน ส.ส.ที่จะพึงมีได้ในเบื้องต้นต่ำกว่า 1 คน แต่เมื่อคำนวณต่อไปตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.มาตรา 128 (5) แล้ว พรรคการเมืองที่มีผลการคำนวณจำนวน ส.ส.จะพึงมีได้ในเบื้องต้นต่ำกว่า 1 คนดังกล่าว สามารถได้รับการจัดสรรจำนวณ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ 1 คน

                    2.คณะกรรมการการเลือกตั้งพิจารณาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายตามข้อ 1 แล้วเห็นว่า

                    2.1 แม้การคำนวณหาจำนวนสมาชิก ส.ส.บัญชีรายชื่อที่สำนักงาน กกต.ดำเนินการมานั้น สามารถจัดสรรจำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อได้ครบ 150 คน ซึ่งสอดคล้องกับความเห็นของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญก็ตาม แต่การคำนวณ ส.ส.ตามมาตรา 128 (5) ดังกล่าวมีผลขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 91 (2) และ (4) เนื่องจากมีผลให้พรรคการเมืองที่มีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจะพึงมีได้ตาม (2) ต่ำกว่า 1 คน สามารถได้รับการจัดสรรให้มี ส.ส.บัญชีรายชื่อได้ 1 คน จึงอาจทำให้พรรคการเมืองบางพรรคมีจำนวน ส.ส.เกินกว่าจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่จะพึงมีได้ ซึ่งต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 91 (4) แต่หากคำนวณหาจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 91 แล้ว จะทำให้ไม่สามารถจัดสรร ส.ส.บัญชีรายชื่อได้ครบ 150 คน อีกทั้งหากไม่นำจำนวน ส.ส.ที่จะพึงมีได้ในเบื้องต้นของพรรคการเมืองที่มี ส.ส.ที่จะพึงมีได้ต่ำกว่า 1 คน ไปคิดคำนวณต่อตาม พ.ร.บ.เลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 128 (5) ก็ไม่สามารถคิดคำนวณจัดสรรได้ครบ 150 คนได้เช่นกัน

                "จึงไม่มีวิธีการใดที่จะนำมาคิดคำนวณให้มีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อได้จำนวน 150 คน ตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 83 ได้"

                 สำนักงาน กกต.แจ้งถึงมติ กกต.ดังกล่าวว่า การคำนวณหาจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อตามข้อ 1 ซึ่งเป็นการดำเนินการคิดคำนวณตามมาตรา 91 วรรคสาม ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ผลของการคำนวณจะไม่สามารถนำไปประกาศผลการเลือกตั้งได้ เพราะอาจขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 91

                "อาศัยเหตุผลทั้งหมดที่ได้กล่าวมาข้างต้น จึงได้เสนอเรื่องตามข้อ 1 และข้อ 2 ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ตามมาตรา 210 (1) และ (2) ของรัฐธรรมนูญฯ 2560 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 มาตรา 7 วรรคหนึ่ง (1) และ (2) ว่า กรณีคณะกรรมการการเลือกตั้งจะคำนวณหาจำนวณ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อตามวิธีดังกล่าวข้างต้นแล้ว ไม่มีวิธีใดที่จะทำให้ได้จำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อครบจำนวน 150 คนได้ มีเพียงการคำนวณตามมาตรา 91 วรรคสาม ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ประกอบมาตรา 128 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ที่สามารถจะคำนวณให้ได้จำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อครบจำนวน 150 คนได้

                ดังนั้น คณะกรรมการการเลือกตั้งจะคำนวณหาจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อ ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. พ.ศ.2561 มาตรา 128  โดยการคิดคำนวณดังกล่าวอาจทำให้พรรคการเมืองบางพรรคที่มีจำนวน ส.ส.ที่จะพึงมีได้ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยต่อ ส.ส. 1 คนได้จำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อ 1 คน กกต.จะสามารถดำเนินการได้หรือไม่ และการดำเนินการดังกล่าวชอบด้วยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 91 หรือไม่"

                 ก่อนหน้านี้สื่อมวลชนรายงานไว้ว่า ฝ่าย กกต.เคยระบุเบื้องต้นไว้ว่า มีความเป็นไปได้ที่การเลือกตั้งรอบนี้จะมีพรรคการเมืองได้มีที่นั่ง ส.ส.ในสภาฯ ร่วม 25 พรรค โดยจะมีพรรคเดียวที่ไม่มี ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์เลยคือ พรรคเพื่อไทย ขณะที่จะมีพวกพรรคการเมืองขนาดเล็กจำนวนมาก ที่ไม่ได้ ส.ส.เขตแม้แต่คนเดียว แต่จะได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ที่ส่วนใหญ่ก็จะประมาณ 1-2 ที่นั่ง

                ยิ่งเมื่อพบว่าพรรคการเมืองขนาดเล็กหลายพรรคมีข่าวปรากฏออกมาว่า ได้รับการติดต่อจากฝ่าย คสช.-พลังประชารัฐ ให้รวมเสียงกัน แพ็กทีมไม่ให้มีแตกแถว เพื่อมาร่วมรัฐบาลกับฝ่ายพลังประชารัฐ เพื่อรวมเสียง ส.ส.ในสภาฯ ดันบิ๊กตู่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา กลับทำเนียบรัฐบาลรอบ 2 โดยที่สูตรดังกล่าวมีเสียงไม่เห็นด้วยตามมามากมาย กับวิธีคำนวณของเจ้าหน้าที่สำนักงาน กกต. โดยมีการตั้งข้อสังเกตว่า เป็นสูตรที่ไปเข้าทางพลังประชารัฐ ที่มีข่าวกำลังเคลื่อนไหวรวมเสียงพวกพรรคการเมืองขนาดเล็กร่วม 12 พรรค เช่น ประชาชนปฏิรูป-พลังธรรมใหม่-ไทยศรีวิไลย์ มาจับมือกันตั้งรัฐบาล ซึ่งแม้ล่าสุด กกต.จะแก้ปัญหาด้วยการส่งเรื่องให้ศาล รธน.ชี้ทางออกให้เป็นข้อยุติ แต่ก็ยังมีเสียงวิจารณ์ตามมาว่า การหาทางออกของ กกต.ดังกล่าวหวังผลทางการเมืองในเรื่องเสียง ส.ส.เพื่อให้บางขั้วจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ

                เช่น ทัศนะของ จาตุรนต์ ฉายแสง อดีตแกนนำพรรคเพื่อไทยและพรรคไทยรักษาชาติ ที่โดนยุบพรรคไปแล้ว ซึ่งแน่นอนว่า เป็นกลุ่มที่ลุ้นให้ฝ่ายเพื่อไทยจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ ที่มองว่า ที่ กกต.ดำเนินการนั้นถือว่าเข้ามามีบทบาทตัดสินว่าฝ่ายไหนจะได้เสียงข้างมากในสภาฯ และมีต่อการเมืองและการจัดตั้งรัฐบาล

                คำร้องดังกล่าวของ กกต. จากนี้ต้องรอดูว่าทางศาลรัฐธรรมนูญจะว่าอย่างไร?

                หากดูตามทิศทาง ก็ถือว่าเป็นคำร้องที่ชวนให้ติดตามการใช้ดุลยพินิจของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอย่างยิ่ง เพราะระบบการเลือกตั้งแบบนับทุกคะแนนเสียงมาคำนวณเป็นเก้าอี้ปาร์ตี้ลิสต์ของแต่ละพรรคการเมือง เพิ่งใช้กับประเทศไทยในการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นครั้งแรก

                 จึงเป็นเรื่องใหม่ทั้งกับฝ่ายพรรคการเมือง-สำนักงาน กกต. บนความคาดหวังของ กกต.ว่า ศาล รธน.จะช่วยเคลียร์ชัดๆ ทุกตัวอักษรของ รธน.และกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส. เพื่อให้สิ้นกระแสความ ก่อนการรับรองผลเลือกตั้ง 9 พ.ค 2562 ตามที่ กกต.เคยบอกไว้

.....................

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"