จับตาสองก๊ก ปชป. เล่นแง่-เคารพมติพรรค???


เพิ่มเพื่อน    

    ความเคลื่อนไหวของพรรคประชาธิปัตย์อยู่ระหว่างนับถอยหลัง เพื่อกำหนดทิศทางการเมืองของพรรคว่าจะร่วมหรือไม่ร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งสำคัญมาก เพราะส่งผลต่อการเมืองไทย
    หากประชาธิปัตย์และพรรคภูมิใจไทยยอมร่วม รัฐบาลชุดต่อไปไม่พ้นง่ามมือของพรรคพลังประชารัฐ และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้นั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีอีกสมัย แต่ถ้าพรรคใดพรรคหนึ่งไม่ยอมจับมือ เท่ากับฝั่งพรรคเพื่อไทยพร้อมคณะจะได้เป็นฝ่ายจัดตั้งรัฐบาลแน่นอน
    หากเหตุการณ์พลิกเป็นโอกาสของพรรคเพื่อไทยให้ผงาดอีกครั้ง หลายคนคงนึกไม่ออกว่าการเมืองหลัง 9 พ.ค.จะเป็นอย่างไร ผู้มีอำนาจจะยอมเล่นเกมปล่อยให้พรรคเพื่อไทยบริหารประเทศตามกลไกระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ครบเทอมค่อยสู้กันใหม่อีกครั้งในสนาม หรือจะมีพวกขี้แพ้ชวนตีล้มกระดานเลือกตั้งแต่ต้นหรือไม่
    ดังนั้น อนาคตการเมืองจะออกมารูปแบบใดจึงอยู่ที่พรรคการเมืองต่างๆ โดยเฉพาะประชาธิปัตย์และภูมิใจไทย ซึ่งวันนี้พรรคของ “เสี่ยหนู” อนุทิน ชาญวีรกูล ค่อนข้างชัดว่าจะร่วมกับพลังประชารัฐ
    ส่วนพรรคประชาธิปัตย์กำลังวัดกำลังภายในกันอยู่ ระหว่างฝั่งอยากร่วมกับฝั่งไม่อยากร่วม ซึ่งคงจะได้เห็นภาพชัดขึ้นในวันที่ 24 เม.ย. ที่กำลังจะมาถึง แม้จะมีวาระพิจารณาเพียง 2 เรื่อง คือ รายงานผลการดำเนินการของพรรคในรอบปี 2561 และการรับรองงบการเงินในปี 2561 ก็ตาม แต่ต้องจับตาให้ดี เพราะเชื่อว่าความเผ็ดร้อนจะเกิดขึ้นนอกห้องประชุม คงจะได้เห็นการแบ่งออกเป็น 2 ก๊ก
    ที่สำคัญจะเป็นการพิสูจน์ว่าสิ่งที่ “ถาวร เสนเนียม” ว่าที่ ส.ส.จังหวัดสงขลาและแกนนำฝั่งอยากร่วมรัฐบาล เคยประกาศไว้ก่อนหน้านี้ จะหอบ ส.ส. จำนวน 30 คนไปซูฮกพลังประชารัฐนั้น มีความเป็นไปได้มากน้อยเพียงใด ขณะเดียวกัน จะได้เห็นด้วยว่าฝั่งไม่อยากร่วมรัฐบาลหาเสียงได้กี่คนแล้ว
    อย่างไรก็ตาม มองข้ามช็อตไปยังที่ประชุมของพรรค ถ้ามีมติไม่ร่วมรัฐบาลจริง “ถาวร” พร้อมทีมจะยังไปอีกหรือไม่ เพราะถ้าเดินหน้าแปลว่าพวกเขาเหล่านั้นกำลังฝ่าฝืนมติของพรรค ซึ่งบทลงโทษคือ การขับออกจากการเป็นสมาชิกพรรค แม้ตามรัฐธรรมนูญจะให้ความเป็นอิสระ ส.ส.ในการยกมือโหวตก็ตาม
    หรือหมายความว่า ในกรณีโหวตสวนมติพรรค ความเป็น ส.ส.จะยังติดตัวทำหน้าที่ในสภาผู้แทนราษฎรได้ ในเวลาเดียวกันพวกเขาไม่ใช่สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์แล้ว และจะต้องหาสังกัดพรรคใหม่ด้วย
    ในทางตรงกันข้าม หากที่ประชุมมีมติให้ประชาธิปัตย์ไปร่วมรัฐบาล ต้องถามใจฝ่ายไม่อยากร่วมรัฐบาลว่าจะเล่นการเมืองอย่างไร ระหว่างเคารพมติกับงดออกเสียงในสภา ซึ่งถ้าเป็นอย่างหลังก็ต้องตีความกันอีกว่า การงดออกเสียงในสภา แปลว่าสวนมติพรรคและเป็นงูเห่าหรือไม่ และถ้าใช่ การกระทำดังกล่าวก็ต้องขับออกจากพรรคด้วยเช่นกัน
    อย่างไรก็ตาม นี่เป็นเพียงการประเมินเท่านั้น
    ทว่า สิ่งสำคัญในตอนนี้ต้องประเมินจากคีย์แมนคนสำคัญของพรรค “ชวน หลีกภัย” ประธานสภาที่ปรึกษาพรรค ให้สัมภาษณ์เมื่อวันคล้ายวันเกิดพรรค ตอนหนึ่งว่า “อย่าประเมินว่าการเป็นฝ่ายค้านจะไม่ดี ทุกคนอยากเป็นรัฐบาลมากกว่า คนทุกคนเลือกตั้งมาอยากชนะทั้งนั้น แต่เมื่อได้คะแนนเสียงเท่านี้ ต้องเป็นมติของกรรมการบริหารพรรค แม้ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยเมื่อเป็นมติ ก็ต้องเคารพ”
    แม้กระทั่ง “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” รักษาการหัวหน้าพรรค เคยกล่าวเมื่อวันที่ 25 มี.ค.ที่ผ่านมาไว้ว่า “ยังไม่มีการพิจารณาเกี่ยวกับการตัดสินใจทางการเมืองว่าจะร่วมรัฐบาลหรือเป็นฝ่ายค้าน ซึ่งการตัดสินใจทางการเมืองต้องเคารพ 3.9 ล้านเสียงที่เลือกพรรคเข้ามาด้วย และยังเชื่อว่าเมื่อพรรคตัดสินใจอย่างใดอย่างหนึ่งไปแล้ว จะไม่เกิดปัญหาพรรคแตก เพราะทุกคนเคารพมติพรรค”
    สรุปง่ายๆ คือ ไม่ว่าผลจะออกมาอย่างไร ทุกคนต้องเคารพมติพรรค ฉะนั้น จากวันนี้ไป รอดู 2 ก๊ก จะแสดงสปิริตแบบตรงไปตรงมา หรือเล่นแง่ใส่กัน.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"