"อย่าให้สูงวัยล้ม เดี๋ยวไม่ลุก" รณรงค์ลูกหลานร่วมป้องกัน 


เพิ่มเพื่อน    


    นพ.เอกกิตติ์ สุรการ ผู้อำนวยการศูนย์อุบัติเหตุกรุงเทพ โรงพยาบาลกรุงเทพ กล่าวถึงสถิติจำนวนผู้สูงอายุในประเทศไทย ล่าสุดเมื่อปี 2561 พบว่า ปัจจุบันจำนวนผู้สูงอายุทั้งหมดในประเทศไทยมีจำนวน 10,666,803 คน จากจำนวนประชากรไทยทั้งหมด 66,413,979 คน คิดเป็นร้อยละ 16.06% ของจำนวนประชากรทั้งหมด และเสียชีวิตจากการพลัดตกหกล้มสูงถึงปีละ 1,600 คน ถือเป็นสาเหตุการตายอันดับสองในกลุ่มของการบาดเจ็บโดยไม่ตั้งใจ (Unintentional) รองจากอุบัติเหตุทางถนน โดย 1 ใน 3 เป็นผู้มีอายุมากกว่า 60 ปี โดยความเสี่ยงในการบาดเจ็บจะเพิ่มสูงขึ้นตามอายุ 
    การบาดเจ็บปัญหาที่พบบ่อยใน “ผู้สูงอายุ” ที่ได้รับอุบัติเหตุพลัดตกหกล้มส่วนมากคือ กระดูกสะโพกหัก ศีรษะได้รับความกระทบกระเทือน ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้พิการและมีอัตราการเสียชีวิตค่อนข้างสูง สาเหตุของอุบัติเหตุที่พบบ่อยในผู้สูงอายุคือ การหกล้ม เช่น ลื่นล้มในห้องน้ำ การตกเตียง ตกบันได ซึ่งมักเกิดกับผู้สูงอายุที่มีอายุระหว่าง 65-75 ปี อันตรายที่สำคัญ คือ การบาดเจ็บร่วมกันในหลายอวัยวะ ได้แก่ ศีรษะ อก ท้อง หลัง สะโพก แขน ขา ประกอบกับผู้สูงวัยมักมีโรคประจำตัว  มวลกระดูกลดลง ทำให้กระดูกจะหักง่าย และรุนแรงกว่า 


    นพ.ประณต นิพัทธสัจก์ ศัลยแพทย์สมองและระบบประสาท ศูนย์สมองและระบบประสาทกรุงเทพ โรงพยาบาลกรุงเทพ กล่าวว่า ปัญหาหนึ่งที่อาจพบได้จากการหกล้มของผู้สูงอายุคือ การบาดเจ็บที่ศีรษะ (Traumatic Brain Injury) ซึ่งมีความเสี่ยงที่จะเกิดอาการเลือดคั่งในสมองที่สูงขึ้น โดยอาการแสดงที่มีอาจไม่สัมพันธ์กับความรุนแรงที่ได้รับ อาจเกิดการบาดเจ็บต่อหนังศีรษะ กะโหลกศีรษะและเนื้อเยื่อที่เป็นส่วนประกอบภายในกะโหลกศีรษะ ซึ่งอาจทำให้มีหรือไม่มีการเปลี่ยนแปลงระดับความรู้สึกตัว ในผู้สูงวัยมักหกล้มง่ายเนื่องจากมีระบบประสาทและกล้ามเนื้อทำงานประสานกันไม่ดี ผู้สูงวัยมักเดินช้า ตามองไม่ชัด การได้ยินเสียงและความจำไม่ดี รวมทั้งมักมีอาการเวียนศีรษะจึงพลัดตกหกล้มได้ง่าย นอกจากนี้บางรายรับประทานยาป้องกันการแข็งตัวของเลือด เช่น warfarin (coumadin), clopidogrel (plavix) ซึ่งทำให้เลือดออกไม่หยุดเมื่อเกิดบาดเจ็บ มีความเสี่ยงให้เกิดสมองกระเทือน หรือสมองช้ำ มีเลือดคั่งในกะโหลกศีรษะได้
    ผู้สูงอายุที่ได้รับการบาดเจ็บที่ศีรษะจึงควรได้รับการตรวจประเมินจากแพทย์โดยเร็ว การสังเกตอาการในโรงพยาบาลตามข้อบ่งชี้ อาทิ ระดับความรู้สึกตัว มีแขน-ขาอ่อนแรง ตาพร่า ปวดศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน มีความจำหรือพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป ฯลฯ หากมีอาการรุนแรงแพทย์จะพิจารณาส่งตรวจสมองด้วยเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ CT หรือ MRI ดังนั้นลูกหลานควรตรวจประเมินความเสี่ยงจากการเกิดอุบัติเหตุ เช่น หมั่นคอยสังเกตอาการ และความผิดปกติของการมองเห็นของผู้สูงวัย สังเกตอาการและความผิดปกติของการเดิน การทรงตัว     เนื่องจากผู้สูงอายุมีกลไกการทำงานที่ควบคุมการทรงตัวของระบบอวัยวะต่างๆ ลดลง ทำให้สมดุลในการทรงตัวบกพร่อง สังเกตอาการและความผิดปกติทางด้านการรับรู้ เช่น สับสน หลงลืมเกี่ยวกับ วัน เวลา สถานที่ และบุคคล เป็นต้น รวมทั้งมีการรับรู้ ตัดสินใจ หรือตอบสนองได้ช้าลง หมั่นคอยประเมินสภาพบ้านที่อยู่อาศัย ทั้งในบ้านและบริเวณบ้าน 
    อย่างไรก็ตาม ในครอบครัวที่มีผู้สูงอายุในบ้านควรระมัดระวัง ทันทีที่ล้มควรพามาพบแพทย์เพื่อตรวจเช็กว่ากระดูกหักหรือไม่ และสมองได้รับการกระทบกระเทือนหรือไม่ เพราะอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต อย่าคิดไปเองว่าอาการลุกยืนเดินไม่ได้เกิดจากความเสื่อมของร่างกายตามปกติ หรือเกิดจากโรคประจำตัว เช่น โรคสมองเสื่อม โรคซึมเศร้า เป็นต้น หากมีศีรษะกระแทกและไม่รู้สึกตัว ให้นอนในท่าเดิมและเรียกรถพยาบาล แต่ถ้าผู้ป่วยรู้ตัวดีและมีอาการปวดต้นคอร่วมด้วยให้นอนราบ ไม่หนุนหมอน เรียกรถพยาบาล พยายามขยับผู้ป่วยให้น้อยที่สุด
    นพ.เอกจิต ศิขรินกุล ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ ศูนย์กระดูกและข้อกรุงเทพ โรงพยาบาลกรุงเทพ กล่าวว่า หนึ่งในปัญหาสุขภาพที่สร้างความทรมานในการใช้ชีวิต คือ กระดูกหัก คนส่วนใหญ่เข้าใจว่ากระดูกหักเพราะ “อุบัติเหตุ” แต่กระดูกหักในผู้สูงอายุนั้นมีภัยเงียบที่เป็นสาเหตุหลักของกระดูกหัก คือ “โรคกระดูกพรุน” เพราะไม่พบอาการใดๆ มาพบอีกทีเมื่อล้มแล้วเกิดกระดูกหักขึ้น ข้อมูลเมื่อปี พ.ศ.2542 พบว่า อุบัติการณ์การเกิดกระดูกสะโพกหักในผู้สูงอายุไทยสูงขึ้นจากปีละ 180 รายต่อแสนประชากรผู้สูงวัย เป็น 450-750 รายต่อแสนประชากรผู้สูงวัย ภายในปี พ.ศ.2568 และจากการศึกษาของ Cooper et al ในปี พ.ศ.2540 พบว่าผู้ป่วยกลุ่มนี้กว่า 20% จะเสียชีวิตภายใน 1 ปี โดย 40% ไม่สามารถเดินด้วยตัวเองได้ และมากถึง 80% ขาดความสามารถในการทำกิจวัตรประจำวันด้วยตนเอง 
    โดยแต่ละปี 1 ใน 3 ของผู้สูงอายุมักประสบการลื่นล้มและครึ่งหนึ่งลื่นล้มมากกว่า 1 ครั้ง เมื่อผู้สูงอายุหกล้ม ร้ายแรงที่สุดก็คือ 20% ของผู้สูงอายุหกล้มแล้วกระดูกสะโพกหัก อาจมีโอกาสที่จะเสียชีวิตได้ภายใน 1 ปี ดังนั้น ผู้ป่วยสูงอายุที่กระดูกสะโพกหักจึงจำเป็นต้องได้รับการป้องกันการเกิดกระดูกหักซ้ำภายหลังการผ่าตัดร่วมด้วย อาการที่สงสัยว่ามีกระดูกสะโพกหัก คือ หลังจากหกล้มจะมีอาการปวดบริเวณสะโพกข้างที่หัก ลุกเดินไม่ได้ หรือลงน้ำหนักขาข้างที่สะโพกหักไม่ได้ หากญาติพบผู้ป่วยหกล้มและสงสัยกระดูกสะโพกหักให้ผู้ป่วยพักในท่าที่สบาย พยายามอย่าเคลื่อนย้ายผู้ป่วย และโทร.เรียกรถพยาบาลมารับผู้ป่วยไปตรวจโดยเร็ว. 
 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"