ฝังรัฐบาลแห่งชาติ! 'สมศักดิ์-ไพบูลย์'ประสานเสียงแผนขจัด'บิ๊กตู่'


เพิ่มเพื่อน    


    "เทพไท" เสียงอ่อย! รัฐบาลแห่งชาติแค่ความเห็นส่วนตัวไม่เกี่ยวกับประชาธิปัตย์ แต่ยืนยันพรรคสามารถร่วมรัฐบาลแห่งชาติได้ แถมสมประสงค์อนาคตใหม่เพราะไม่มีการสืบทอดอำนาจ แต่พลังประชารัฐขวางไม่เอาด้วย "สมศักดิ์-ไพบูลย์" พูดตรงกันเป็นแผนของคนที่ประกาศไม่สนับสนุน  "บิ๊กตู่" เป็นแท็กติกในการขจัดพ้นทางนายกฯ 
    นายเทพไท เสนพงศ์ ว่าที่ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวถึงการเสนอเรื่องรัฐบาลแห่งชาติว่า สาเหตุที่ออกมานำเสนอเรื่องนี้ เพราะหลังเทศกาลสงกรานต์การเมืองในประเทศไทยจะต้องมีความคืบหน้า ไม่ใช่รวมเสียงตั้งรัฐบาลไม่ได้แบบที่เป็นอยู่นี้ อย่างไรก็ตามหากฝ่ายใดหนึ่งรวมเสียงได้ก็จริง แต่การบริหารราชการแผ่นดินจะเป็นไปในลักษณะรัฐบาลปริ่มน้ำ ไม่มีเสถียรภาพ ดังนั้น จึงเห็นว่าข้อเสนอของตนน่าจะเป็นทางออกได้และอาจจะมีคนเห็นด้วย
    "ข้อเสนอนี้เป็นข้อเสนอส่วนตัว ไม่ใช่ในนามของพรรค และไม่ใช่ว่าเพราะประชาธิปัตย์ได้คะแนน ส.ส.น้อยจึงเสนอเพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง ผมเพียงเห็นว่าทางออกนี้ก็จะมีประโยชน์กับทุกฝ่าย แม้แต่พรรคอนาคตใหม่ เพราะมีจุดยืนชัดเจนคือไม่ต้องการการสืบทอดอำนาจ และรัฐบาลแห่งชาติก็สามารถมาร่วมกันแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ ขอเพียงแค่ว่าหากใครเห็นตรงกันเราก็มาคุยกันได้ ประชาธิปัตย์เองก็ร่วมรัฐบาลแห่งชาติได้"
    เมื่อถามว่าการเสนอชื่อนายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคเป็นนายกฯ คนกลาง ประชาธิปัตย์อาจถูกมองว่าข้อเสนอนี้ทำเพื่อพรรคตัวเองหรือไม่ นายเทพไทชี้แจงว่า ไม่ได้เสนอชื่อนายชวนเพื่อพรรค แต่เสนอชื่อนายชวนเป็น 1 ใน 4 นายกฯ คนกลางในนามส่วนตัว ซึ่งชื่อของนายชวนนั้นเสนอเป็นลำดับทางเลือกสุดท้ายด้วยซ้ำ และที่เสนอชื่อก็เพราะเห็นว่าต้องการคนที่มีประสบการณ์ในสภาและมีความอาวุโส มีบารมีทางการเมือง อีกทั้งนายชวนไม่ได้อยู่ในแคนดิเดตรายชื่อนายกรัฐมนตรีของ ปชป. แต่ท่านเป็นเพียง ส.ส.บัญชีรายชื่อเท่านั้น ซึ่งก็สามารถเสนอได้
    อย่างไรก็ตาม นายสมศักดิ์ เทพสุทิน ประธานคณะกรรมการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง พรรคพลังประชารัฐ กล่าวว่า หากเราสังเกตดูจะเห็นว่าคนที่คิดถึงรัฐบาลแห่งชาติ คือคนในกลุ่มหรือฝ่ายที่มีคะแนนเสียงที่ไม่มั่นคง ไม่ถึง 250 ใช่หรือไม่ จึงพยายามชวนไปหารัฐบาลแห่งชาติ แต่สถานการณ์คงไม่ไปถึงทางตันเช่นนั้น และจะมีการจัดตั้งรัฐบาลปกติได้ คนที่เกี่ยวข้องกับการร่างรัฐธรรมนูญได้ออกมาให้ความชัดเจน มีแนวทางและวิธีการคำนวณที่ทำให้ กกต.ยึดเป็นแนวปฏิบัติ เป็นทางออกสำหรับทุกเรื่องได้ ดังนั้นเรื่องความรุนแรงคงไม่มี ถ้าจะมีคงเป็นเรื่องดินฟ้าอากาศ พายุฤดูร้อน บางคนอาจจะบอกว่าเป็นเรื่องของดวง แต่นี่คือเรื่องปกติของฤดูกาล
    "รัฐบาลแห่งชาติที่พูดกันอยู่เชื่อว่าไม่มี เพราะสุดท้ายแล้วพรรคการเมืองที่มีอยู่จะปรับตัวเข้าหากันได้ ไม่มีใครอยากถอยกลับไปสู่ความวุ่นวายขัดแย้ง ทุกคนพร้อมทำงานเพื่อบ้านเมือง"
เมินสัตยาบัน
    เมื่อถามว่าจากประสบการณ์ในวงการการเมืองที่ผ่านมา เสียงปริ่มน้ำมองว่าพรรคพลังประชารัฐจะตั้งรัฐบาลยากไหม นายสมศักดิ์ตอบว่า ผู้ที่เขียนรัฐธรรมนูญวิเคราะห์ไว้ก่อนแล้วจึงมี ส.ว. ช่วยทำให้บรรยากาศไม่รุนแรง หากรัฐธรรมนูญไม่พูดถึง ส.ว. 250 คน วันนี้การเมืองอาจจะลุกเป็นไฟ เป็นความฉลาดของผู้ร่างที่ทำให้สมการออกมาและเดินต่อไปได้ ที่เตรียมการมาได้ใช้จริง คนเขียนมองได้ขาด
    ถามว่าพรรคการเมืองควรคุยหรือทำสัตยาบันหรือไม่ นายสมศักดิ์ระบุว่า ดูบรรยากาศถ้าทำสัตยาบันคงเป็นไปไม่ได้ เหมือนกลุ่มแรกที่เปิดตัวทำกันหลังการเลือกตั้งเสร็จ สุดท้ายอาจจะไม่ใช่ เพราะยังไม่รู้ว่ามีเสียงกันอยู่เท่าไร รวมทั้งนโยบายของแต่ละพรรคร่วมกันได้มากน้อยแค่ไหน แต่ทุกพรรคควรต้องห่วงส่วนรวมและเรื่องของชาติมากกว่า ความเป็นหนึ่งเดียวต้องปรากฏชัด นักการเมืองต้องคลายความสงสัยของประชาชนให้ได้ ที่ผ่านมาเรามีบทเรียนให้เห็นแล้วหากยังดึงดันกันอยู่ มันจะแก้ปัญหาไม่ได้และบานปลายไปใหญ่โต
    ด้านนายไพบูลย์ นิติตะวัน หัวหน้าพรรคประชาชนปฏิรูป (ปชช.) กล่าวว่า ส่วนตัวมองว่าเป็นเรื่องเก่าที่พูดกันมานาน เป็นข้อเสนอจากกลุ่มบุคคลที่ไม่ชอบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นอีกหนึ่งแนวทางที่ไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์นั่นเอง ซึ่งข้อเสนอรัฐบาลแห่งชาติไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้น ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ก่อนหน้านี้ก็เคยมีการเสนอมาตลอด
    "พอมาครั้งนี้กลุ่มที่มาเรียกร้องจะเห็นได้ชัดว่าส่วนใหญ่ไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ ทั้งหมดนี้จึงเป็นการเสนอแท็กติกในการขจัด พล.อ.ประยุทธ์ออกไป และช่วงชิงชัยชนะทางการเมืองมาเท่านั้นเอง  ซึ่งเชื่อว่าการตั้งรัฐบาลแห่งชาติโอกาสมันไม่เกิดขึ้นเพราะมีหลายขั้นตอน ไม่มีทางที่จะเป็นไปได้ และมั่นใจว่าการตั้งรัฐบาลปกติก็น่าจะทำได้ ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร" นายไพบูลย์กล่าว
    นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ (ปช.) ให้ความเห็นว่า การเสนอรัฐบาลแห่งชาติหลังการเลือกตั้งที่เพิ่งผ่านมาไม่ถึง 30 วันคงไม่เหมาะสม พรรคการเมืองยังสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ตามรัฐธรรมนูญในระบอบประชาธิปไตย และเชื่อว่าประชาชนคงไม่เห็นด้วยเช่นเดียวกัน โดยการตั้งรัฐบาลแห่งชาติควรจะเหมาะสมกับสถานการณ์อื่นมากกว่าปัจจุบัน
    ขณะที่ น.ส.พรรณิการ์ วานิช โฆษกพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) กล่าวถึงข้อเสนอจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติว่า อนค.เคยพูดหลายครั้งแล้วว่ารัฐบาลแห่งชาติไม่มีจริง เพราะขัดรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจน เนื่องจากรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ว่าจะต้องมีผู้นำฝ่ายค้าน และต่อให้ไม่ขัดรัฐธรรมนูญก็ขัดต่อหลักการประชาธิปไตย เนื่องจากการมีประชาธิปไตยที่สมบูรณ์จะต้องมีการตรวจสอบถ่วงดุล ถ้าหากทุกพรรคเป็นรัฐบาลหมดไม่มีการตรวจสอบถ่วงดุล ก็ไม่ต่างอะไรกับเผด็จการ
รังเกียจ พล.อ.ประยุทธ์
    "ถ้าเรารังเกียจ พล.อ.ประยุทธ์เพราะเป็นเผด็จการ เราไม่เข้าใจ ไม่พอใจสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพราะเป็นสภาตรายาง การเป็นรัฐบาลแห่งชาติทำให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งมาอยู่ในสถานะเดียวกับ คสช.และ สนช. หากประชาชนต้องการแบบนั้นก็ถือเป็นความต้องการที่ไม่เป็นประชาธิปไตย  แต่เราเชื่อว่าประชาชนคาดหวังกับการเลือกตั้งมาก ฉะนั้นคงไม่มีใครอยากกลับไปเป็นเหมือน คสช. และ สนช.แน่นอน" โฆษกอนาคตใหม่กล่าว
    น.ส.พรรณิการ์ยังกล่าวถึงกรณี นพ.วรงค์ เดชวิกรม อดีต ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ข้อความระบุว่า การที่คนรุ่นใหม่ชักชวนพ่อแม่ ผู้สูงอายุไปเลือกพรรคคนรุ่นใหม่ทั้งที่ไม่รู้จัก จนทำให้เกิดกระแสคล้อยตาม อาจทำให้ประเทศเกิดความวุ่นวาย จึงต้องดูแลลูกหลานไม่ให้ถูกชักจูง ว่าเป็นสิทธิ์ของ นพ.วรงค์ที่จะพูด และเป็นสิทธิ์ของประชาชนที่จะตัดสิน นพ.วรงค์ว่าทัศนคติแบบนี้สร้างสรรค์หรือไม่ การที่บอกว่าใครชักจูงให้คล้อยตามเป็นการดูถูกวิจารณญาณและดูถูกเสียงของประชาชน และยังไม่ได้เป็นข้อวิจารณ์ที่นำไปสู่สิ่งที่สร้างสรรค์ใดๆ
    "ประเทศผ่านการเลือกตั้งมาแล้ว มองไปข้างหน้าดีกว่า อย่ามานั่งวิเคราะห์วิจารณ์สิ่งที่ผ่านไปแล้วโดยไม่สร้างสรรค์ ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์อะไร ประเทศไทยคงไม่ต้องการนักการเมืองแบบนี้" น.ส.พรรณิการ์กล่าว
    นายบัญญัติ บรรทัดฐาน กรรมการสภาที่ปรึกษาและอดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกระแสข่าวกรณีพรรคประชาธิปัตย์เจรจาขอตำแหน่งประธานสภาให้ตัวเอง แลกกับการร่วมรัฐบาลพรรคพลังประชารัฐ และเพื่อสกัดงูเห่าที่หวังตำแหน่งรัฐมนตรีว่า สามารถพูดได้อย่างไม่ลังเลว่าเป็นข่าวปล่อย ข่าวลวง เพื่อสร้างกระแสอย่างหนึ่งอย่างใดทางการเมืองแน่นอน   
    แต่ที่ยังสงสัยก็คือเป็นการจงใจปล่อยข่าวนี้จากใคร เพื่อประโยชน์อะไร หรือถ้าเกิดมีคนจากพรรคประชาธิปัตย์ ตามที่ข่าวอ้างแหล่งข่าวว่ามีการไปติดต่อขอเจรจากับพรรคใดๆ ในทำนองที่เป็นข่าว ก็ขอให้เข้าใจว่านั่นคือการอุปโลกน์ตั้งตัวเป็นแกนนำขึ้นมาเอง โดยที่พรรคประชาธิปัตย์ไม่รู้เห็นด้วยแต่อย่างใด จึงไม่ควรที่พรรคการเมืองอื่นใดจะเสียเวลาไปร่วมเจรจาต่อรองเรื่องใดๆ ต่อไปอีก เพราะจะเป็นการสูญเปล่า และยังจะทำให้การเมืองไทยดูเป็นเรื่องน้ำเน่าเพิ่มขึ้นไปอีกในสายตาของคนในสังคม ส่วนเรื่องของพรรคประชาธิปัตย์ที่เป็นข้อเท็จจริงว่า พรรคจะเลือกตัดสินใจเดินไปในแนวทางใด ยืนยันว่าจะต้องเป็นการตัดสินร่วมกันโดยกรรมการบริหาร (กก.บห.) พรรคคณะใหม่ รวมกับ ส.ส.ใหม่ ภายหลังวันที่ 9 พ.ค.ที่ กกต.ระบุจะประกาศรับรองผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการที่จะถึงนี้เท่านั้น  
สถานการณ์ไม่ปกติ
    ส่วนนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รักษาการหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงสถานการณ์การเมือง ภายหลังจากที่ทั้ง 2 ขั้วการเมืองยังไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ว่า ตนคิดว่าการจัดตั้งรัฐบาลครั้งนี้เป็นสถานการณ์ที่ไม่ปกติ คือไม่ปกติทั้งกติกา ทั้งการจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นมาเพื่อรองรับภารกิจบางอย่าง 
    ดังนั้นการเมืองจากนี้มันยังไม่นิ่ง ทั้งผลการเลือกตั้ง และการเมืองหลังจากประกาศรับรองผลการเลือกตั้งแล้ว ทุกอย่างยังไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ว่าการเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎรจะเป็นอย่างไร การเลือกนายกรัฐมนตรีจะมีใครเข้าแข่งขัน จะเป็นไปอย่างที่คาดการณ์หรือไม่ มันยังมีเงื่อนไขปัจจัยที่จะต้องติดตาม
      ผู้สื่อข่าวถามว่า สถานการณ์ที่เป็นอยู่สะท้อนถึงกลุ่มคนที่ร่างกติกาที่ทำให้เกิดปัญหา ทั้งการร้องค้านผลการเลือกตั้ง หรือการรวบเสียงจัดตั้งรัฐบาลที่ส่อจะมีปัญหาหรือไม่ นายจุรินทร์ รักษาการหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ตอบว่า เงื่อนไขที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญโดยเฉพาะบทเฉพาะกาลเริ่มจะเป็นปัญหาให้เห็น ที่เป็นรูปธรรมที่สุดก็คือสองขั้วที่แข่งกันจัดตั้งรัฐบาล โดยขั้วหนึ่งถ้ารวมเสียงข้างมากในสภาได้ อาจจะไม่มีเสียงพอที่จะเป็นนายกฯ ได้ แต่อีกขั้วหนึ่งถ้าเป็นนายกฯ ได้ตามรัฐธรรมนูญบทเฉพาะกาล 
    "ก็ยังมีคำถามว่า สุดท้ายจะเป็นรัฐบาลที่มีเสียงข้างมากในสภาหรือไม่ ล้วนเป็นผลจากรัฐธรรมนูญ  แต่ข้อเท็จจริงจะเป็นอย่างไรต้องรอผลการเลือกตั้งให้นิ่งก่อน"
    ซักว่าสภาพที่เป็นอยู่คือ ทั้ง 2 ขั้วไม่ว่าใครจะเป็นรัฐบาลก็มีเสียงปริ่มน้ำ เป็นผลจากรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่มุ่งเน้นแก้กรณีรัฐบาลมีเสถียรภาพมากเกินไป รวมถึงรูปแบบการเลือกตั้งใช้บัตรใบเดียว การออกแบบกติกาเช่นนี้ถือเป็นคำตอบของประเทศหรือเป็นระเบิดเวลามากกว่ากัน นายจุรินทร์ตอบว่า  เคยวิพากษ์วิจารณ์เรื่องนี้ตอนที่มีการร่างรัฐธรรมนูญ เข้าใจว่าผู้ร่างรัฐธรรมนูญก็คงคาดไม่ถึงว่าสุดท้ายผลจะออกมาเป็นอย่างนี้ แต่เดิมอาจจะคิดว่าจะนำไปสู่การจัดตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้งที่มีเสียงข้างมากเบ็ดเสร็จเด็ดขาดได้ เช่นถึงขั้นกำหนดให้ประธานสภาต้องอยู่ฝ่ายรัฐบาล กำหนดให้วุฒิสมาชิกโหวตเลือกนายกฯ ได้ และออกแบบรูปแบบการเลือกตั้งให้เป็นบัตรใบเดียว เพราะคาดหวังว่าผลการเลือกตั้งจะเป็นเบี้ยหัวแตกและสามารถที่จะทำให้การรวมเสียงตั้งรัฐบาลทำได้ง่าย 
    แต่เอาเข้าจริงมันเป็นผลตรงกันข้าม และเกิดภาวะการแข่งขันของ 2 ขั้วทางการเมืองที่ปริ่มน้ำ ทั้งนี้ตนไม่อยากเรียกร้องใครให้แสดงความรับผิดชอบ เพราะไม่อยากขยายประเด็นปัญหาให้เพิ่มขึ้น แต่คงจะเป็นบทเรียนให้คนร่างรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ได้
    นายประยุทธ์ ศิริพานิชย์ กรรมการสรรหาผู้สมัคร ส.ส.พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงการรวบรวมเสียง ส.ส.จัดตั้งรัฐบาลของพรรคพลังประชารัฐว่า การรวบรวมเสียงของพรรคพลังประชารัฐ หากคิดจะเอาเสียงของฝ่ายตรงข้ามไปสนับสนุนมองว่าเป็นไปได้ยาก เพราะก่อนการเลือกตั้งการเมืองแบ่งข้างกันชัดเจน  ประชาชนจับตาอยู่ใครขยับก็จะถูกวิจารณ์อย่างหนัก 
ไม่มีใครกล้าเป็นงูเห่า
    ดังนั้นคิดว่าคงไม่มีใครกล้าเป็นงูเห่าในสมัยนี้ เพราะนักการเมืองถูกบังคับด้วยประชาชน ที่สำคัญการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นการเลือกตั้งที่แบ่งข้างกันชัดเจน แตกต่างจากการเลือกตั้งทุกครั้งที่ผ่านมา การตัดสินใจของประชาชนไม่ใช่แค่เลือกพรรคที่ชอบ แต่เลือกข้างว่าจะยืนฝ่ายต่อท่ออำนาจ หรือฝ่ายตรงข้ามการสืบทอดอำนาจ มันมีเส้นแบ่งที่ประชาชนเห็นได้ชัดเจน 
    เขาเชื่อว่านักการเมืองมีอุดมการณ์ ใครคิดขายตัวจึงเป็นเรื่องลำบาก แม้จะมีปัจจัยก้อนโตมาล่อตาก็ตาม เพราะต้องเสียผู้เสียคน รวมถึงพี่น้องในวงศ์ตระกูลก็ต้องเสียไปด้วย และมั่นใจว่าที่ ส.ส.อีสานของพรรคเพื่อไทยไม่มีใครย้ายขั้วแน่นอน 
    ส่วนนายนคร มาฉิม อดีต ส.ส.พิษณุโลก สมาชิกพรรคเพื่อไทย กล่าวตอบโต้นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ผู้สมัคร ส.ส.ตรัง พรรคประชาธิปัตย์ ที่ได้กล่าวหาพรรคเพื่อไทยสร้างวาทกรรม "เผด็จการ-ประชาธิปไตย" ว่าเรื่องนี้ไม่ใช่วาทกรรม แต่เป็นระบอบการปกครองที่เป็นของประชาชน โดยประชาชน  และเพื่อประชาชน เป็นสิ่งที่พรรคเพื่อไทยและอีกหลายพรรคฝ่ายประชาธิปไตยใช้เป็นแนวทางในการหาเสียง และให้คำสัญญากับประชาชนที่ผ่านมา ดังนั้นการที่พรรคที่ใช้แนวทางนี้หาเสียงได้รับเลือกให้เข้ามาเป็นผู้แทน จึงหมายความว่าประชาชนจำนวนมากเห็นด้วยกับแนวทางความคิดนี้ และต้องการเปลี่ยนแปลงแนวทางการทำงานและการบริหารประเทศ จากคณะรัฐประหารที่ยึดอำนาจประชาชนไปแล้วปกครองตลอดเวลาที่ผ่านมาห้าปี
    นายนครกล่าวอีกว่า ที่สำคัญคือการหาเสียงที่ผ่านมายังไม่ได้ถูกนำไปปฏิบัติตามความเชื่อที่ประชาชนได้หย่อนบัตรเลือกตั้ง แล้วพรรคการเมืองที่รับปากกับประชาชนไว้กลับเปลี่ยนใจไม่นำนโยบายที่หาเสียงไว้ไปปฏิบัติ จะเรียกว่าประชาธิปไตยได้หรือไม่ มิฉะนั้นการหาเสียงเลือกตั้งก็จะเป็นเพียงการสร้างวาทกรรมอย่างที่นักการเมืองชอบพูดกัน แต่ไม่มีการนำไปปฏิบัติตามที่ได้บอกให้ประชาชนเหล่านั้นมีความเชื่อในการหย่อนบัตรเลือกตั้ง ดังนั้นประชาธิปไตยไม่ได้จบแค่การเลือกตั้ง แต่ครอบคลุมไปถึงการนำนโยบายที่ได้หาเสียงไว้ไปปฏิบัติในฐานะตัวแทนของประชาชนที่เลือกพรรคการเมืองนั้นๆ เข้าไปดำเนินการทางการเมืองแทน
    อย่างไรก็ตาม พรรคเพื่อไทยเคารพในเสียงของประชาชน และมีความเชื่อในการรับรู้ข่าวสารและการตัดสินใจของประชาชน ซึ่งเราจะเห็นได้จากการให้ความสนใจของประชาชนในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา  อันเป็นผลมาจากข่าวลือเรื่องพรรคเศรษฐกิจใหม่สนับสนุนพรรคพลังประชารัฐ ดังนั้นแนวทางการดำเนินงานทางการเมืองของพรรคต่างๆ จะถูกจับตาจากประชาชนและจะถูกตัดสินทางการเมือง เมื่อประชาชนมีอำนาจอยู่ในมือ เหมือนหลายพรรคการเมืองที่ได้รับบทเรียนเมื่อวันที่ 24 มี.ค.ที่ผ่านมา
หยุดสร้างวาทกรรม
    "ขอให้นักการเมืองบางคน บางพรรค หยุดสร้างวาทกรรมผูกโยงกับนายกฯ ทักษิณเสียเถิด เพราะนายกฯ ทักษิณก็เป็นเพียงนักการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยคนหนึ่งเท่านั้น ควรให้ความสำคัญต่อระบอบประชาธิปไตยที่ยิ่งใหญ่มั่นคงยั่งยืนกว่าตัวบุคคล ซึ่งต่างจากระบอบเผด็จการที่ได้อำนาจมาจากการยึดอำนาจของประชาชนไปโดยที่คนส่วนใหญ่ไม่ได้ให้ความเห็นชอบ" นายนครกล่าว
    นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด คณะทำงานสื่อสารการเมืองพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ยืนยันจะทำทุกอย่างเพื่อรวบรวมเสียง ส.ส.ให้ได้เกิน 251 เสียงเพื่อจัดตั้งรัฐบาลว่า  ความจริงสังคมไทยอยู่ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ วันผู้สูงอายุ วันครอบครัว แต่พรรคการเมืองอย่าง พปชร.กลับหมกมุ่นอยู่แต่กับการทำไอโอปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารทางการเมือง ไม่ถูกจังหวะเวลา ขนาด กกต.ที่มีหน้าที่รับรอง ส.ส.ยังยื่นถามศาลรัฐธรรมนูญในหลักการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อที่ถูกต้อง  แทนที่จะรอการประกาศผลเลือกตั้งอย่างเป็นทางการของ กกต.ในวันที่ 9 พ.ค.ว่าแต่ละพรรคมีจำนวน ส.ส.เพิ่มขึ้นหรือลดลงอย่างไร กลับกระเหี้ยนกระหือรือป่าวประกาศจะตั้งรัฐบาล ซึ่งโดยหลักการพรรคอันดับหนึ่งต้องมีสิทธิ์ในการรวบรวมเสียงเพื่อจัดตั้งรัฐบาลก่อน 
    "การที่พรรคอันดับสองอย่าง พปชร.ประกาศจะทำทุกอย่างเพื่อตั้งรัฐบาลนั้น ไม่รู้ว่าจะมีการใช้อภินิหารทางกฎหมายอีกหรือไม่ ปัญหาเร่งด่วนของประเทศชาติและประชาชนในขณะนี้มีมากมายที่รอฟังวิสัยทัศน์ของทุกพรรคการเมือง รวมถึง พปชร.จะแก้ปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจปากท้อง แก้ปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ปัญหาฝุ่นควันพิษ การลดอุบัติเหตุ ลดการเสียชีวิตในช่วงเทศกาลต่างๆ อย่างไร เอาเวลาไปคิดหาทางออก ไปแก้ไขปัญหาให้ประเทศชาติและประชาชน น่าจะเป็นประโยชน์มากกว่า"
    นางลดาวัลลิ์ วงศ์ศรีวงศ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า หากการจัดตั้งรัฐบาลยังยืดเยื้อออกไปมากเท่าไร ก็ยิ่งส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั้งชาวไทยและต่างชาติมากขึ้นจนอาจถึงขั้นวิกฤติได้ ภาคเอกชนที่เป็นตัวจักรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ออกมาส่งสัญญาณเตือนแล้วหลายครั้งว่า หากการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ต้องล่าช้าออกไปถึงไตรมาสที่ 4 อาจทำให้เศรษฐกิจปี 2562 เติบโตแค่ 3.5% หรืออาจลดลง เพราะเศรษฐกิจของโลกก็อยู่ในภาวะชะลอตัวเช่นกัน แม้แต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังก็ยังยอมรับ หากการจัดตั้งรัฐบาลยืดเยื้อจะมีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงต่างชาติ
สัญญาณอันตราย
    นางลดาวัลลิ์กล่าวอีกว่า ทุกความเห็นที่แสดงออกมาล้วนแล้วแต่เป็นการส่งสัญญาณอันตรายจากภาคธุรกิจ หากฝ่ายการเมืองแสวงหาอำนาจโดยไม่เคารพกติกาตามกฎหมาย เชื่อว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นอาจจะรุนแรงมากกว่าที่ทุกคนคาดคิด โดยเฉพาะในเรื่องของเศรษฐกิจที่จะส่งผลกระทบต่อประชาชนในทุกระดับ ทางออกในเรื่องนี้สามารถทำได้อย่างง่ายดายเหมือนเส้นผมบังภูเขา แค่ฝ่ายการเมืองยอมรับในกติกา ให้พรรคการเมืองที่ได้เสียงอันดับหนึ่งทำหน้าที่รวบรวมเสียงเพื่อจัดตั้งรัฐบาล หากดำเนินการไม่ได้ก็เป็นสิทธิ์ของพรรคที่ได้ลำดับสอง ลำดับสาม ตามลำดับ
    หากพรรคการเมืองยอมรับในกฎกติกาดังกล่าว ปัญหาก็จะไม่เกิดขึ้น หน่วยงานและองค์กรอิสระที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งก็สามารถทำงานได้อย่างอิสระ ยุติธรรม ตรงไปตรงมา เมื่อทุกอย่างเป็นไปตามกติกา เราก็จะได้รัฐบาลที่ตรงกับความต้องการของประชาชนเข้ามาบริหารประเทศเพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆ โดยเฉพาะเศรษฐกิจได้โดยเร็ว ก่อนที่ประชาชนจะเดือดร้อนไปมากกว่านี้" นางลดาวัลลิ์กล่าว
    นายวัฒนา เมืองสุข สมาชิกพรรคเพื่อไทย โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า แม้ กกต.จะประกาศผลการเลือกตั้งแล้ว แต่จำนวน ส.ส.ยังคงเปลี่ยนแปลงได้ เนื่องจากการเลือกตั้งได้ถูกออกแบบให้มีบัตรใบเดียว ดังนั้นหากต้องมีการเลือกตั้งซ่อมไม่ว่าจะด้วยการให้ใบเหลือง ส้ม หรือแดงก็ตาม คะแนนเดิมของผู้สมัครทุกคนในเขตที่มีการเลือกตั้งซ่อมจะถูกยกเลิกทั้งหมด เพราะต้องเอาคะแนนจากการเลือกตั้งซ่อมมาคำนวณจำนวน ส.ส.พึงมีใหม่ ซึ่งจะทำให้จำนวน ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ของแต่ละพรรคอาจเพิ่มขึ้นหรือลดลง
    ที่แย่มากขึ้นคือการให้ใบส้มซึ่งเป็นอำนาจเด็ดขาดของ กกต. จะทำให้พรรคที่ได้รับใบส้มนั้นถูกตัดออกจากการแข่งขัน ไม่สามารถส่งผู้สมัครลงเลือกตั้งซ่อมได้ จำนวน ส.ส.ทั้งแบบแบ่งเขตและแบบบัญชีรายชื่อจะหายไปทันที ใบส้มคือหมัดเด็ดที่เผด็จการจะใช้ตัดคู่แข่งที่ไม่หนุนฝ่ายตนออกไปจากการแข่งขัน สาธุชนที่ติดตามการทำงานของ กกต.คงพอมองออกว่าพรรคไหนจะได้ใบส้มและพรรคไหนจะอยู่รอดปลอดภัยหรือได้ ส.ส.เพิ่มขึ้น
    ทั้งหมดคือผลพวงที่ฝ่ายเผด็จการสุมหัวกันวางแผนทำขึ้น เริ่มจากการยึดอำนาจจากนั้นเขียนกติกาเพื่ออยู่ต่อ ที่จริงแล้วเผด็จการเหล่านี้ไม่ได้มีสติปัญญาพอที่จะมาออกกฎเกณฑ์เพื่อสืบทอดอำนาจ  แต่ก็ได้เนติบริกรทั้งหลายที่ก้มหัวรับใช้ออกแบบกติกาให้จนสร้างความวุ่นวายไม่รู้จบ ประเทศชาติจะยังคงวุ่นวายต่อไปจนกว่าเผด็จการจะได้ครองอำนาจต่อสมตามเจตนารมณ์ที่ออกแบบรัฐธรรมนูญไว้.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"