6วันสงกรานต์ตาย348ศพ นายกฯไม่พอใจวิธีป้องกัน


เพิ่มเพื่อน    


    "ลุงตู่-ลุงป้อม" ยังไม่พอใจมาตรการป้องกันอุบัติเหตุช่วงสงกรานต์ ตอบตรงกัน เพราะยังมีคนตาย-เจ็บเยอะ สรุปยอดสะสม 6 วัน มีผู้เสียชีวิตเพิ่มเป็น 348 ราย ผู้บาดเจ็บ 3,176 คน เมาขับ-สายแว้นยังครองแชมป์ กองบัญชาการศึกษา ตร.กำลังศึกษากฎหมายญี่ปุ่น ดื่มขับโดนหมดทั้งเจ้าของรถ คนขับ คนนั่ง ยันร้านขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
     พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงภาพรวมการป้องกันอุบัติเหตุการเดินทางของประชาชนช่วงเทศกาลสงกรานต์ว่า ภาพรวมยังไม่พึงพอใจ ตราบใดที่ยังมีบาดเจ็บ สูญเสียชีวิต แน่นอนไม่มีใครพอใจอยู่แล้ว เพราะทุกคนคือกำลังสำคัญของประเทศเรา และเป็นที่น่าเสียใจที่มีการสูญเสียชีวิต แม้น้อยลงกว่าปีที่ผ่านมาไม่มากนักก็ตาม 
    "เราได้พยายามทำทุกมาตรการแล้ว ในส่วนที่บางท่านเรียกร้องเพิ่มมาตรการทางกฎหมาย รัฐบาลจำเป็นต้องพิจารณาให้รอบคอบว่าจะมีผลกระทบอะไรบ้าง"
    นายกฯ กล่าวว่า ขณะนี้ก็ขอให้ทุกคนสนใจกฎหมายปกติให้มากขึ้น ทั้งการสวมหมวกนิรภัย การรัดเข็มขัดนิรภัย การขับรถโดยไม่ดื่มสุรา ซึ่งเห็นแล้วว่าสถานการณ์ส่วนใหญ่เกิดจากดื่มสุรา ซึ่งกฎหมายมีทุกตัว แต่ก็ขึ้นอยู่กับตัวบุคคล ในเรื่องจิตสำนึกสำคัญที่สุด ในการทำให้ตัวเองและครอบครัวปลอดภัย รัฐบาลก็ทำอย่างเต็มที่แล้วในทุกๆ เรื่อง การรักษาความปลอดภัยทางถนนทุกคนทำงานอย่างเต็มที่ 
    "ต้องขอบคุณเจ้าหน้าที่ทุกภาคส่วน รวมถึงจิตอาสาที่ทำงานในช่วงสงกรานต์หรือปีใหม่ไทยอย่างเข้มแข็ง ทุกคนเสียสละมาทุกปี ทหารอยู่ชายแดนก็ไม่ได้กลับบ้าน ทหารที่อยู่ภาคใต้ก็ไม่ได้กลับบ้าน เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องดูแลความสุขสงบก็ไม่ได้พักผ่อน ดังนั้นหากทุกคนไม่ช่วยกันจะโทษอะไรได้ โทษกฎหมาย โทษเจ้าหน้าที่ก็ไม่ได้ทั้งหมด ดังนั้นต้องดำเนินการอย่างเต็มที่ เข้มงวดกฎหมาย และดำเนินการกับผู้ที่ละเมิดกฎหมายอย่างจริงจังและเด็ดขาด"
    พล.อ.ประยุทธ์ยังกล่าวว่า ได้เตือนได้พูดกับเจ้าหน้าที่ ทั้งคนขับรถ ผู้ให้บริการแล้ว พูดจนไม่รู้จะพูดอย่างไรแล้ว เหมือนเดิม จึงอยากฝากสื่อและประชาชนช่วยเตือนสติทุกคน ข้อสำคัญเรื่องสุขภาพของคนขับรถ เจ้าหน้าที่หรือผู้ประกอบการต้องมีความรับผิดชอบให้มากขึ้น ในการดูแลความปลอดภัย อย่ามองว่ามีเรื่องเกิดขึ้นแล้วแก้ปัญหาไป อย่าลืมว่าชีวิตเอากลับมาไม่ได้ บาดเจ็บ สูญเสีย พิการ เดือดร้อนทั้งหมด เป็นเรื่องที่น่าเสียใจทุกครั้งที่มีวันหยุด แทนที่ทุกคนจะมีความสุข กลายเป็นความเสียใจที่ต้องทำพิธีศพ ซึ่งไม่น่าเกิดขึ้น
ปัญหายาวนาน
    นายกฯ ยังกล่าวถึงเหตุวัยรุ่นตีกันในโรงพยาบาลบ่อยครั้งมากขึ้นว่า ถือเป็นปัญหาของสังคมมายาวนาน เหมือนกับกรณีปัญหาเรื่องเด็กแว้น ที่มีการแข่งขันมอเตอร์ไซค์ก็มีมาตลอด กฎหมายก็มีทุกตัว จับกุมทุกครั้งก็ยังไม่เข็ดหลาบ คงต้องใช้มาตรการทางกฎหมายให้มากยิ่งขึ้น ก็ขอให้คนไทยมีสติให้มากกว่าเดิม รู้สำนึกผิดชอบชั่วดี รักชีวิตตัวเอง รักชีวิตคนอื่นด้วย และอย่าอ้างเพียงแค่ขาดสติ เพราะน้ำเมาเป็นสิ่งที่ไม่มีใครบังคับ ทุกคนดื่มกินกันเองทั้งสิ้น เรารู้อยู่แล้วว่าไม่สามารถไปห้ามไม่ให้ดื่มเหล้าได้ทุกคน เราก็พยายามรณรงค์กันทุกปี เพราะฉะนั้นจิตสำนึกของแต่ละคนสำคัญที่สุด 
    ด้าน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์ว่า ยังไม่พอใจมาตรการ เพราะยังมีคนเสียชีวิตอยู่ จึงถือว่ายังไม่ประสบความสำเร็จ มีคนเสียชีวิตคนเดียวก็ไม่ได้ ส่วนปีต่อไปจะปรับมาตรการอย่างไรนั้น เราพยายามทำทุกอย่างเพื่อให้สถานการณ์ดีขึ้น 
    เมื่อถามถึงมาตรการเพิ่มโทษผู้ตั้งใจกระทำความผิด พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า เมื่อศาลไม่รับคงต้องให้เจ้าหน้าที่ตำรวจพิจารณาวิธีการต่อไป 
    พ.อ.หญิงศิริจันทร์ งาทอง รองโฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เปิดเผยว่า ภาพรวมการเดินทางกลับเข้า กทม.หลังเทศกาล ประชาชนใช้เส้นทางได้ค่อนข้างสะดวก จราจรติดขัดน้อยลงกว่าเทศกาลที่ผ่านมา เนื่องจาก จนท.วางรูปแบบการอำนวยจราจรและปฏิบัติงานร่วมกันไว้ทุกส่วน รวมทั้งอาจเป็นเพราะมีวันหยุดมากกว่าทุกปี ประชาชนจึงวางแผนเดินทางล่วงหน้าและเดินทางกลับกันก่อน ทำให้ จนท.ทำงานได้เรียบร้อยขึ้น 
    ส่วนในวันนี้ จนท.เน้นการอำนวยความสะดวกประชาชนตามสถานีขนส่ง อำนวยการเดินทางกลับ การต่อรถ การใช้บริการรถรับจ้าง แท็กซี่ จยย. และป้องปรามมิจฉาชีพ 
    สำหรับมาตรการ “ดื่มไม่ขับ จับยึดรถ” พบผู้กระทำผิดในลักษณะที่สุ่มเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุโดยประมาทด้วยการดื่มแล้วขับขี่ในวันที่ 16 เมษายน 2562 มีดังนี้
    รถจักรยานยนต์ พบการกระทำความผิด 38,993  ครั้ง เจ้าหน้าที่จำเป็นต้องยึดรถไว้ 845 คัน และส่งผู้กระทำผิดดำเนินคดี 27,395 คน
    รถโดยสารสาธารณะและรถยนต์ส่วนบุคคล พบการกระทำความผิด 32,503 ครั้ง ยึดใบอนุญาตขับขี่ไว้ 2,038 ใบ ยึดรถยนต์ 272 คัน ส่งผู้กระทำความผิดดำเนินคดี 18,360 คน
ยึดรถ 6,435 คัน 
    โดยตลอด 6 วันที่ผ่านมา (11-16 เมษายน 2562) เจ้าหน้าที่ตรวจพบการกระทำความผิดในส่วนรถจักรยานยนต์ 177,134 ครั้ง รถโดยสารสาธารณะ/รถยนต์ 146,017 ครั้ง เจ้าหน้าที่จำเป็นต้องยึดรถที่ฝ่าฝืนมาตรการ ดื่มไม่ขับไว้ 6,435 คัน (รถจักรยานยนต์ 4,752 คัน และรถยนต์ 1,683 คัน) และดำเนินคดีกับผู้กระทำผิด รถจักรยานยนต์ 131,674 คน รถโดยสารสาธารณะ/รถยนต์ส่วนบุคล 91,499 คน
    อย่างไรก็ตาม จนท.ตำรวจ ทหาร ฝ่ายปกครอง และจิตอาสา ยังคงต้องดูแลความปลอดภัยและอำนวยความสะดวกประชาชนต่อไป เนื่องจากในบางพื้นที่ยังคงมีการจัดงานสงกรานต์ตลอดช่วงสัปดาห์นี้
    ขณะที่นายประสาร มหาลี้ตระกูล อธิบดีกรมคุมประพฤติ ในฐานะประธานแถลงข่าวสรุปผลการดำเนินงานป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ.2562 เปิดเผยว่า ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ.2562 โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยและความร่วมมือของหน่วยงานภาคีเครือข่ายได้รวบรวมสถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 16 เมษายน 2562 ซึ่งเป็นวันที่หกของการรณรงค์ “ขับรถมีน้ำใจ รักษาวินัยจราจร” เกิดอุบัติเหตุ 367 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 42 ราย ผู้บาดเจ็บ 381 คน สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ขับรถเร็ว ร้อยละ 30.25 ดื่มแล้วขับ ร้อยละ 27.79 ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 78.84 ส่วนใหญ่เกิดในเส้นทางตรง ร้อยละ 64.03 ถนนกรมทางหลวง ร้อยละ 43.05 บนถนนใน อบต./หมู่บ้าน ร้อยละ 33.51 
    ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ช่วงเวลา 16.01-20.00 น. ร้อยละ 25.89 ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตสูงสุดอยู่ในช่วงอายุ 50 ปีขึ้นไป ร้อยละ 31.21 
    ทั้งนี้ ได้จัดตั้งจุดตรวจหลัก 2,040 จุด เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 65,375 คน เรียกตรวจยานพาหนะ 1,048,847 คัน มีผู้ถูกดำเนินคดี รวม 239,295 ราย มีความผิดฐานไม่สวมหมวกนิรภัย 64,829 ราย ไม่มีใบขับขี่ 57,087 ราย 
    โดยจังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ นครศรีธรรมราช (19 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ เชียงใหม่ และระยอง (จังหวัดละ 4 ราย) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ นครศรีธรรมราช (26 คน) 
เสียชีวิตแล้ว 348 ศพ
    สรุปอุบัติเหตุทางถนนสะสม 6 วัน (11-16 เม.ย. 62) เกิดอุบัติเหตุ 3,068 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 348 ราย ผู้บาดเจ็บ 3,176 คน จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต (ตายเป็นศูนย์) มี 5 จังหวัด ได้แก่ ตรัง พังงา แม่ฮ่องสอน สุโขทัย และอ่างทอง จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด ได้แก่ เชียงใหม่ (119 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ นครราชสีมา และอุดรธานี (จังหวัดละ 15 ราย) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ นครศรีธรรมราช (126 คน) 
    นายปวิณ ชำนิประศาสน์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย หัวหน้ากลุ่มงานภารกิจด้านสาธารณภัยและพัฒนาเมือง เปิดเผยว่า กระทรวงมหาดไทยได้เน้นย้ำให้จังหวัดจัดประชุมศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนจังหวัด เพื่อสรุปผลการดำเนินงานป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนในช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ.2562 พร้อมทั้งเร่งตรวจสอบข้อมูลผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน เพื่อให้ได้ข้อมูลสถิติอุบัติเหตุทางถนนที่ถูกต้องและเป็นไปตามมาตรฐานสากล รวมถึงวิเคราะห์สาเหตุหลักการเกิดอุบัติเหตุทางถนน นำไปปรับปรุงและพัฒนาแนวทางการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนต่อไป
    นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เลขานุการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) เปิดเผยว่า ศปถ.จะรวบรวมปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วนให้คณะกรรมการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน และคณะรัฐมนตรีพิจารณาเห็นชอบ เพื่อกำหนดมาตรการและแนวทางในการป้องกันและอุบัติเหตุทางถนนของประเทศ ทั้งในช่วงปกติและช่วงเทศกาล 
    ทั้งนี้ ศปถ.ยังคงรณรงค์การสร้างความปลอดภัยทางถนนอย่างเข้มข้นและต่อเนื่องตลอดทั้งปี เน้นการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด คุมเข้มพฤติกรรมเสี่ยงอุบัติเหตุ โดยเฉพาะการขับรถเร็ว ดื่มแล้วขับ และไม่ใช้อุปกรณ์นิรภัย เพื่อให้ประชาชนเกิดความตระหนักและมีจิตสำนึกในการใช้รถใช้ถนนอย่างปลอดภัย
    พล.ต.ต.เอกรักษ์ ลิ้มสังกาศ รองผู้บัญชาการกองบัญชาการศึกษา เปิดเผยว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างนำกฎหมายจากประเทศญี่ปุ่นที่มีการควบคุมในการกระทำความผิดเรื่องของการดื่มแล้วขับ 3 ข้อ คือ 1.เจ้าของรถที่ให้ยืมต้องรับผิดด้วย 2.ร้านที่จำหน่ายเครื่องดื่ม ให้ผู้ขับขี่ที่ดื่มแล้วขับต้องมีส่วนร่วมในกระทำผิดด้วย และ 3.ผู้โดยสารที่อยู่ในรถไม่ห้ามปรามหรือส่งเสริมให้คนขับดื่มแอลกอฮอล์ต้องร่วมรับผิดด้วย ซึ่งทั้ง 3 ข้อนี้ซึ่งประเทศไทยยังไม่ได้มีกฎหมายดังกล่าว
เสนอรัฐบาลใหม่
    สำหรับกฎหมายดังกล่าวจะถูกยกร่างโดยคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อแก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับ พ.ร.บ.จราจรทางบก ซึ่งคาดว่าจะเสนอได้ในรัฐบาลชุดใหม่ แล้วต้องดูว่ารัฐบาลเห็นด้วยหรือไม่ เมื่อเห็นด้วยก็จะเล่นเข้าสู่กระบวนการนิติบัญญัติ เมื่อกฎหมายแล้วเสร็จจะเสนอไปที่สภาพัฒน์ เนื่องจากเป็นคณะกรรมการพิเศษที่ตั้งโดยรัฐบาล จึงได้มอบหมายให้สภาพัฒน์ตั้งเรื่องและเป็นผู้เสนอเข้า ครม. จากนั้นส่งไปที่กฤษฎีกาและเสนอไปยังสภาผู้แทนราษฎรต่อไป
    “ข้อดีของกฎหมายใหม่นี้ ถ้าเกิดขบวนการทางกฎหมายที่เข้มแข็ง และทำให้พลเมืองยอมรับปฏิบัติตามการทำผิด จะลดลงเชื่อมั่นว่ากฎหมายที่ออกมาจะสำเร็จ เนื่องจากที่ญี่ปุ่นก็ทำแล้วเกิดความสำเร็จและทั้งหมดทั้งมวล เราได้ศึกษาจากความสำเร็จกฎหมายจากประเทศญี่ปุ่น และมั่นใจว่าหากนำมาใช้แล้วจะประสบผลสำเร็จ โดยกฎหมายใหม่นี้ จะเห็นได้ภายในปีนี้แน่นอน” พล.ต.อ.เอกรักษ์กล่าว
    การรถไฟแห่งประเทศไทย สรุปยอดผู้โดยสารใช้บริการรถไฟเดินทางในช่วงเทศกาลสงกรานต์ เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2562 มีจำนวน 121,414 ราย เป็นผู้โดยสารปกติ 118,612 ราย ผู้โดยสารขบวนรถเสริม 2,802 ราย
    เส้นทางที่มีประชาชนเดินทางมากที่สุด อันดับหนึ่งเป็นรถไฟสายใต้ จำนวน 39,711 ราย รองลงมาเป็นสายตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 29,327 ราย,  สายเหนือ จำนวน 22,231 ราย, สายตะวันออก จำนวน 16,625 ราย และสายมหาชัย/แม่กลอง จำนวน 12,797 ราย ส่วนที่สถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) เช้านี้บรรยากาศทั่วไปเริ่มมีประชาชนเดินทางกลับจากภูมิลำเนาหนาแน่น 
    สำหรับวันที่ 17 เม.ย. คาดการณ์จะมีประชาชนที่เดินทางกลับจากภูมิลำเนาเพื่อเดินทางเข้ากรุงเทพฯ ประมาณ 95,086 คน 
    นายจิรศักดิ์ เยาว์วัชสกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) เปิดเผยถึงการเดินทางกลับเข้าสู่กรุงเทพมหานครของประชาชนหลังจากกลับภูมิลำเนาและท่องเที่ยวในช่วงสงกรานต์ว่า วันนี้ (17 เม.ย.2562) ซึ่งเป็นวันเปิดทำงานวันแรก บขส. ประมาณการว่าจะมีประชาชนเดินทางกลับจากภูมิลำเนากว่า 140,000 คน โดย บขส.ได้จัดรถโดยสารรองรับ 7,800 เที่ยว
    ขณะที่เมื่อวันที่ 16 เม.ย.2562 บขส.ได้เพิ่มเที่ยววิ่งรถโดยสาร (รถ บขส., รถร่วม, รถตู้) รองรับประชาชนในเที่ยวไป 7,934 เที่ยว สามารถรองรับผู้โดยสารได้กว่า 160,049 คน
    สำหรับการดูแลด้านความปลอดภัยและอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน บขส.ได้จัดเตรียมเจ้าหน้าที่และพนักงานจิตอาสาคอยดูแลอำนวยความสะดวกแก่ผู้โดยสาร ทั้งสถานีส่วนกลางและส่วนภูมิภาค พร้อมกันนี้ได้ประสานขอความร่วมมือจากองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) นำรถโดยสารต้นทางหมอชิต 2 จำนวน 13 เส้นทาง มาเสริมให้บริการภายในสถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพ (จตุจักร) ขาเข้า ตั้งแต่เวลา 04.00 น. และจัดรถ Shuttle bus มาให้บริการจากสถานีหมอชิต 2 ไปยังสถานีรถไฟฟ้า BTS และอนุสาวรีย์ชัยฯ ด้วย
    นอกจากนี้ ได้จัดรถสองแถวให้บริการฟรีแก่ผู้โดยสาร โดยออกจากชานชาลาขาเข้า ไปส่งบริเวณด้านหน้าสถานีรถไฟฟ้า BTS ถนนพหลโยธิน รวมทั้งได้ประสานคลื่นวิทยุ จส.100 และ สวพ.91 ประชาสัมพันธ์ให้แท็กซี่เข้ามารับผู้โดยสาร บริเวณสถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพ (จตุจักร) คาดว่าจะสามารถระบายผู้โดยสารที่เดินทางมาถึงให้เดินทางต่อไปยังจุดหมายได้อย่างเพียงพอ.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"