รัฐเสียค่าโง่'โฮปเวลล์'1.2หมื่นล้าน!ศาลปกครองสูงสุดพิพากษากลับ


เพิ่มเพื่อน    

22 เม.ย.62 - ที่ห้องพิจารณาคดี 8 ชั้น 3 ศาลปกครอง ถ.แจ้งวัฒนะ ศาลปกครองอ่านคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด คดีหมายเลขดำ 2038/2551 , 107/2552, 1379/2552 คดีหมายเลขแดง 366-368/2557 ระหว่าง บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด (ผู้ฟ้องคดี) กับ กระทรวงคมนาคม ที่ 1กับพวกรวม 2 คน (ผู้ถูกฟ้องคดี) คดีพิพาทเกี่ยวกับเรื่องที่มีกฎหมายกำหนดให้อยู่ในเขตอำนาจศาลปกครอง ซึ่งขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ

โดยกระทรวงคมนาคมกับพวกรวม 2 คน ยื่นฟ้องว่า คณะอนุญาโตตุลาการมีคำชี้ขาดตามข้อพิพาทหมายเลขแดงที่ 64/2551 ให้ผู้ร้องทั้งสองคืนเงินค่าตอบแทนและเงินอื่นให้แก่บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด อ้างว่าผู้ร้องทั้งสองบอกเลิกสัญญาสัมปทานระบบการขนส่งทางรถไฟ, ถนนยกระดับในกรุงเทพมหานคร และการใช้ประโยชน์จากที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทยโดยมิชอบ ซึ่งผู้ร้องทั้งสองเห็นว่าข้อพิพาทดังกล่าวไม่อยู่ในขอบเขตของสัญญาอนุญาโตตุลาการ ที่สามารถระงับข้อพิพาททางอนุญาโตตุลาการได้ เนื่องจากมิใช่ข้อพิพาทในการปฏิบัติตามสัญญาฯ ในการนี้สำนักระงับข้อพิพาทในการปฏิบัติตามสัญญาฯ ในการนี้สำนักระงับข้อพิพาท สำนักงานศาลยุติธรรมได้ส่งสำเนาคำชี้ขาดให้ผู้ร้องทราบตามหนังสือลงวันที่ 3 ต.ค. 2551

คดีนี้ศาลปกครองชั้นต้น พิพากษาเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการในข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 119/2547 ข้อพิพาทหมายเลขแดงที่64/2551 ลงวันที่ 30 ก.ย. 2551 ทั้งหมด และเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการในข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 44/2550 ข้อพิพาทหมายเลขแดงที่ 70/2551 ลงวันที่ 15 ต.ค. 2551 ทั้งหมด และมีคำสั่งปฏิเสธไม่รับบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการในข้อพิพาทหมายเลขดำที่119/2547 ข้อพิพาทหมายเลขแดงที่ 64/2551 ลงวันที่ 30 ก.ย. 2551 และให้คืนค่าธรรมเนียมศาลทั้งหมดแก่ผู้ร้องทั้งสอง

เนื่องจากศาลได้พิเคราะห์แล้วเห็นว่า เมื่อคำนวณนับระยะเวลาตั้งแต่วันที่ 30 ม.ค. 2541 ซึ่งเป็นวันที่ผู้คัดค้านรู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการเสนอข้อพิพาทแล้ว ระยะเวลาของการเสนอข้อพิพาทจะครบกำหนด 5 ปี คือ ในวันที่ 30 ม.ค. 2546 ดังนั้น เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ผู้คัดค้านยื่นข้อพิพาทต่อสถาบันอนุญาโตตุลาการ เมื่อวันที่ 24 พ.ย. 2547 การเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการ จึงเกินกว่ากำหนดระยะเวลาตามที่กฎหมายกำหนดตามนัยมาตรา 51 แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 และเมื่อระยะเวลาการเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการเป็นเรื่องสำคัญ ถือได้ว่าเป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ที่ศาลปกครองสามารถยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ดังนั้น ศาลจึงเห็นว่าในกรณีนี้ คณะอนุญาโตตุลาการไม่มีอำนาจรับข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 119/2547 ที่ผู้คัดค้านยื่นต่อสถาบันอนุญาโตตุลาการไว้พิจารณาเพื่อวินิจฉัยชี้ขาดได้

การที่คณะอนุญาโตตุลาการรับข้อพิพาทดังกล่าวไว้พิจารณา และต่อมามีคำชี้ขาดข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 119/2547 ข้อพิพาทหมายเลขแดงที่64/2551 และการที่ผู้ร้องทั้ง 2 ยื่นข้อเรียกร้องแย้งเมื่อวันที่ 20 ก.ย. 2548 จึงเกินกำหนดระยะเวลาตามนัยมาตรา 51 แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 ดังกล่าว เมื่อคณะอนุญาโตตุลาการรับข้อเรียกร้องแย้งของผู้ร้องทั้งสองไว้พิจารณา และต่อมามีคำชี้ขาดข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 44/2550 ข้อพิพาทหมายเลขแดงที่ 70/2551 จึงเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย ผู้ถูกฟ้องคดีจึงยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาศาลปกครองชั้นต้นต่อศาลปกครองสูงสุด

ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัย 3 ประเด็น ในประเด็นที่ 1 การยอมรับหรือบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการดังกล่าวจะเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือไม่ ในประเด็นนี้ ข้อเท็จจริงปรากฏว่า ก่อนที่บริษัทโฮปเวลล์จะยื่นคำเสนอข้อพิพาท ได้ทำหนังสือขอให้กระทรวงคมนาคมและการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ระงับข้อพิพาทโดยการเจรจาประนีประนอมยอมความให้เสร็จภายใน 60วัน ซึ่ง กระทรวงคมนาคมและ รฟท.ได้รับหนังสือดังกล่าวแล้ว แต่เพิกเฉยไม่พยายามเจรจา บริษัทโฮปเวลล์จึงมีสิทธิยื่นคำเสนอข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการชี้ขาดได้ และเมื่อพิจารณาคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการในประเด็นดังกล่าวแล้ว เห็นว่า การพิจารณาของอนุญาโตตุลาการเป็นไปตามเงื่อนไขสัญญาสัมปทานข้อ 31.1 ซึ่งระบุว่าเมื่อมีข้อพิพาทเกิดขึ้นเกี่ยวกับสัญญาคู่สัญญาจะต้องมีการประนีประนอมระงับข้อพิพาทนั้นก่อน หากภายในระยะเวลา 60 วัน ไม่สามารถประนีประนอมระงับข้อพิพาทได้ ให้นำข้อพิพาทเสนออนุญาโตตุลาการชี้ขาดได้ ดังนั้นคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการในส่วนนี้ จึงไม่ปรากฏเหตุที่จะทำให้เป็นคำชี้ขาดที่ฝ่าฝืนต่อบทกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชนแต่อย่างใด

ประเด็นที่ 2 สิทธิเสนอให้ระงับข้อพิพาทโดยวิธีอนุญาโตตุลาการของกระทรวงคมนาคมและ รฟท. พ้นกำหนดระยะเวลาตามกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า ข้อตกลงระงับข้อพิพาทระหว่างปกระทรวงคมนาคม รฟท. และบริษัทโฮปเวลล์ เป็นสัญญาทางแพ่งชนิดหนึ่งที่มีพ้นบังคับกันได้ และไม่ได้มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะ ดังนั้นสิทธิเรียกร้องตามสัญญาสัมปทานจึงมีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 ทั้งนี้ ข้อพิพาทตามสัญญาสัมปทานเกิดขึ้นนับแต่วันที่กระทรวงคมนาคมและ รฟท.มีหนังสือบอกสัญญากับบริษัทโฮปเวลล์ ลงวันที่ 27 ม.ค.2541 ซึ่งบริษัทโฮปเวลล์เสนอข้อพิพาทต่อสถาบันอนุญาโตตุลาการ เมื่อวันที่ 24 พ.ย. 2547 ยังไม่ครบ 10 ปี จึงยังคงใช้สิทธิเรียกร้องได้ การที่กระทรวงคมนาคมและ รฟท. อ้างว่า บริษัทโฮปเวลล์ไม่อาจเสนอข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการชี้ขาดได้ เพราะเป็นการใช้สิทธิเรียกร้องเกิน 1 ปี ตาม มาตรา 51 พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาศาลปกครอง พ.ศ.2542 และคณะอนุญาโตตุลาการเห็นว่า ไม่อาจนำระยะเวลาตามบทบัญญัติดังกล่าว มาบังคับใช้กับการใช้สิทธิเรียกร้องที่จะเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการได้ เนื่องจากเป็นการใช้สิทธิเรียกร้องตามกฎหมายคนละฉบับนั้น เห็นว่า เมื่อพิจารณาคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการในประเด็นนี้แล้ว แม้คำชี้ขาดได้อ้างเหตุทางข้อกฎหมายเกี่ยวกับลักษณะของสัญญาและอายุความแตกต่างไปจากที่ศาลปกครองสูงสุดได้เคยวินิจฉัยไว้แล้วก็ตาม แต่เมื่อเป็นคำชี้ขาดที่ให้ผลว่า ข้อพิพาทที่เสนอเป็นข้อพิพาทที่รับไว้พิจารณาได้ อันเป็นผลตรงกับที่ศาลปกครองสูงสุดได้เคยวินิจฉัยไว้ก่อนแล้ว ดังนั้นคำชี้ขาดในประเด็นนี้จึงไม่ปรากฏเหตุบกพร่องถึงขนาดทำให้เป็นคำชี้ขาดที่ฝ่าฝืนต่อตัวบทกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน อีกเช่นกัน

ประเด็นที่ 3 คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการที่มีการกำหนดประเด็นว่า สัญญาสัมปทานเลิกกันไปโดยปริยายหรือโดยข้อกฎหมายหรือไม่ และกระทรวงคมนาคม รฟท. และบริษัทโฮปเวลล์จะกลับคืนสู่ฐานะเดิมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 หรือไม่เพียงใดนั้น เห็นว่า คดีนี้สัญญาพิพาทมีลักษณะเป็นสัญญาสัมปทาน การแจ้งยกเลิกสัญญาโดยฝ่ายปกครองแต่เพียงฝ่ายเดียวจึงยังไม่มีผลทางกฎหมายให้สัญญาเป็นอันเลิกกันในทันที อย่างไรก็ตาม มีข้อเท็จจริงปรากฏว่า กระทรวงคมนาคมและ รฟท. ได้มีหนังสือแจ้งมติ ครม.ที่บอกเลิกสัญญาต่อบริษัทโฮปเวลล์ และได้มีหนังสือแจ้งยืนยันเจตนาที่ไม่ประสงค์จะมีข้อผูกพันตามสัญญาอีกต่อไป ถือเป็นกรณีที่ได้แสดงเจตนาบอกเลิกสัญญาอย่างชัดแจ้งแล้ว และต่อมาบริษัทโฮปเวลล์ได้ยินยอมย้ายคนและเครื่องมือออกจากพื้นที่สัมปทานและไม่ได้เข้าไปดำเนินการใดๆ ในพื้นที่ดังกล่าวอีก อันเป็นการแสดงออกถึงการตกลงให้สัญญาเป็นอันเลิกกัน เมื่อสัญญาเป็นอันเลิกกันแล้ว คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะที่เป็นอยู่เดิม เทียบเคียงหลักการให้กลับคืนสู่ฐานะเดิม กรณีที่มีการบอกเลิกสัญญาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการที่เห็นว่าสัญญาเป็นอันเลิกกันและให้คู่สัญญาคืนสู่ฐานะเดิมดังที่เป็นอยู่เดิมจึงไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน แต่อย่างใด

สำหรับคำชี้ขาดในส่วนที่กำหนดให้กระทรวงคมนาคมและ รฟท.ต้องดำเนินการให้บริษัทโฮปเวลล์กลับคืนสู่ฐานะที่เป็นอยู่เดิมนั้น ศาลเห็นว่า เมื่อพิจารณารายละเอียดในประเด็นข้อโต้แย้งต่างๆ ของกระทรวงคมนาคม และ รฟท. ที่อ้างเป็นเหตุให้ศาลเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการนั้น ล้วนแต่เป็นการโต้แย้งดุลพินิจการพิจารณาข้อเท็จจริงและการปรับใช้กฎหมาย ข้อสัญญาของอนุญาโตตุลาการ ซึ่งคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการในประเด็นต่างๆ ดังกล่าว เป็นการวินิจฉัยว่า คู่สัญญาฝ่ายใดปฏิบัติตามสัญญาโดยถูกต้องแล้วหรือไม่ อย่างไร และคู่สัญญาแต่ละฝ่ายมีความรับผิดต่อกันหรือไม่อย่างไร เป็นเรื่องระหว่างคู่สัญญาเท่านั้น ไม่ได้มีลักษณะเป็นเรื่องเกี่ยวดัวยความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชนแต่อย่างใด จึงไม่ปรากฏเหตุให้อำนาจศาลปกครองเพิกถอนคำชี้ขาดในส่วนนี้ได้เช่นกัน

ศาลปกครองสูงสุด จึงพิพากษากลับคำพิพากษาศาลปกครองกลางเป็นยกคำร้อง มีผลให้กระทรวงคมนาคมและ รฟท. ต้อง ปฏิบัติตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการเมื่อวันที่ 8 พ.ย. 2551 โดย รฟท.ต้องคืนเงินชดเชยให้กับบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด จากการบอกเลิกสัญญารวมเป็นเงิน 11,888.75 ล้านบาท ประกอบด้วยเงินค่าก่อสร้าง 9,000 ล้านบาท เงินค่าตอบแทนจากการใช้ประโยชน์ที่ดินที่บริษัทชำระไปแล้ว 2,850 ล้านบาท เงินค่าออกหนังสือค้ำประกัน 38,749,800 บาท พร้อมดอกเบี้ย 7.5% ต่อปี คืนหนังสือค้ำประกัน และให้คืนค่าธรรมเนียมศาลในชั้นอุทธรณ์จำนวน 16,535,504 บาทให้แก่บริษัทโฮปเวลล์ โดยดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 180 วันนับคดีถึงที่สุด

ผู้สื่อข่าวรายงานคดีนี้เริ่มต้นมาจากในช่วงปี 2533 มีการเปิดประมูลโครงการถนนและทางรถไฟยกระดับในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล โดยผู้ชนะการประมูลคือ บริษัท โฮปเวลล์โฮลดิ้ง ยักษ์ใหญ่แห่งวงการก่อสร้างของฮ่องกง มีการเซ็นสัญญาในวันที่ 9 พ.ย. 2533 โดยสัญญาสัมปทานมีอายุยาวนานถึง 30 ปี โดยบริษัทโฮปเวลล์จะเป็นผู้ลงทุนออกแบบเองทั้งหมดใช้วงเงินลงทุนทั้งโครงการประมาณ 8 หมื่นล้านบาท ใช้เวลาก่อสร้างทั้งสิ้น 8 ปี แต่ต่อมาเกิดการก่อสร้างล่าช้ากว่าแผนที่วางไว้มาก โดยบริษัทโฮปเวลล์อ้างเหตุที่ก่อสร้างล่าช้า เนื่องจากการรถไฟฯ ไม่ส่งมอบที่ดินให้ได้ตามข้อตกลง ซึ่งเป็นช่วงที่บริษัทขาดสภาพคล่องทางการเงิน ปัญหาเศรษฐกิจหลายด้านทำให้โครงการต้องล้มเลิกโครงการ และเริ่มทำต่อในหลายรัฐบาลก่อนจะหยุดการก่อสร้างอย่างสิ้นเชิง ในช่วงปี 2540-2541

ต่อมาบริษัทโฮปเวลล์ (ประเทศไทย) ยื่นฟ้องกระทรวงคมนาคมและการรถไฟฯ เป็นจำนวน 5.6 หมื่นล้านบาท จากกรณีบอกเลิกสัญญา โดยที่การรถไฟฯ เองก็ฟ้องเรียกค่าเสียหายในการเสียโอกาสในการใช้ประโยชน์จากโครงการเป็นจำนวน 2 แสนล้านบาท พ.ศ. 2551 คณะอนุญาโตตุลาการได้วินิจฉัยชี้ขาดให้กระทรวงคมนาคม และการรถไฟฯ คืนเงินชดเชยแก่บริษัท โฮปเวลล์ 1.1 หมื่นล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีให้แก่โฮปเวลล์ จากการบอกเลิกสัญญาไม่เป็นธรรม กระทรวงคมนาคมและการรถไฟฯ จึงได้ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองกลาง เพื่อขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ในกรณีพิพาทการบอกเลิกสัญญา โดยเมื่อวันที่ 13 มี.ค. 2557 ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาให้เพิกถอนคำวินิจฉัยชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ วันที่ 30 ก.ย. 2551 และ 15 ต.ค. 2551 และให้ปฏิเสธการบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ทำให้กระทรวงคมนาคมและการรถไฟฯ ไม่ต้องจ่ายค่าเสียหายในการบอกเลิกสัญญาแก่โฮปเวลล์ ตามเหตุผลข้างต้น


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"