มติศาล รธน.ออกสูตรไหน? ชี้ขาดเก้าอี้ 'ปาร์ตี้ลิสต์'


เพิ่มเพื่อน    

      ยิ่งใกล้ถึงวันที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประกาศไว้ว่าจะรับรองผลการเลือกตั้ง ส.ส.เขตให้ได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 95 ภายในไม่เกิน 9 พ.ค.นี้ ที่หลังจากนั้นก็จะเข้าสู่ขั้นตอนการเปิดประชุมสภาฯ เพื่อเลือกประธานสภาฯ-นายกรัฐมนตรีต่อไป เวลาที่ใกล้งวดเข้ามา ยิ่งทำให้ผู้สมัคร ส.ส.เขตที่แพ้การเลือกตั้ง ยิ่งทยอยยื่นเรื่อง-ข้อมูลเพื่อให้ กกต.สอบสวนและนำไปสู่การจัดเลือกตั้ง-นับคะแนนใหม่

      อย่างเมื่อวันจันทร์ที่ 22 เม.ย. ที่ผ่านมา สุรชาติ เทียนทอง ผู้สมัคร ส.ส.กทม.เขต 9 เพื่อไทย ก็ไปยื่นเรื่องขอให้ กกต.สั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ในเขต 9 ทั้งเขต โดยอ้างว่ามีความผิดปกติเกิดขึ้นในบัตรลงคะแนน

      อย่างไรก็ตาม ในรอบสัปดาห์นี้ประเด็นที่หลายคนจับตามองที่เกี่ยงโยงกับการทำงานของ กกต.โดยตรง ที่สำคัญคือ เป็นเรื่องที่มีผลต่อจำนวนเสียง ส.ส.ในการจัดตั้งรัฐบาลของขั้วเพื่อไทยกับขั้วพลังประชารัฐ ที่กำลังชิงเสียง ส.ส.เพื่อชิงการตั้งรัฐบาลกันอย่างเข้มข้น

      นั่นก็คือ การประชุมของ 9 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ในการวินิจฉัยคำร้องที่ กกต.ยื่นคำร้องให้ศาล รธน.วินิจฉัยว่า หาก กกต.จะคำนวณหา ส.ส.บัญชีรายชื่อตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 128 (5) ซึ่งจะทำให้พรรคการเมืองที่มีจำนวน ส.ส. ที่จะพึงมีต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของ ส.ส.พึงมี 1 คน คือ 71,065 คะแนน ซึ่งเป็นการคิดจากจำนวนผู้ออกมาใช้สิทธิ์เลือกตั้งทั่วประเทศหารด้วยจำนวน ส.ส.ทั้งหมด 500 คน แล้วหารด้วยคะแนนที่แต่ละพรรคการเมืองได้รับ สุดท้ายแล้ว พรรคที่ได้คะแนนต่ำกว่า 71,065 คะแนน จะได้จำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อที่มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 1 คน การดำเนินการดังกล่าวของ กกต. จะชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา 91 หรือไม่

      หลังหลักเกณฑ์การคิดจำนวน ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ที่แต่ละพรรคการเมืองจะพึงได้ดังกล่าว มีความเห็นแตกต่างหลากหลายของผู้คนในแวดวงการเมือง-นักวิชาการ จนสุดท้าย  7 เสือ กกต. เลยเลือกส่งศาล รธน.วินิจฉัยให้สะเด็ดน้ำ เพื่อเป็นเกราะป้องกันตัวเองให้ปลอดภัย หากเคาะสูตรคำนวณออกมาแล้วมีบางฝ่ายไม่เห็นด้วย ไปร้องเอาผิดทีหลัง ก็จะได้อ้างคำวินิจฉัยศาล รธน.คุ้มกันตัวเองได้

      ยิ่งสูตรการให้พรรคการเมืองที่ได้คะแนนน้อยกว่า   71,065 คะแนน สามารถมี ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ได้ 1 เก้าอี้ ถูกมองว่าเป็นการเปิดทาง-เอื้อประโยชน์ให้ฝ่ายขั้วพลังประชารัฐได้เปรียบในการชิงเสียงตั้งรัฐบาลเหนือเพื่อไทย เพราะพรรคเล็กๆ ที่จะได้ ส.ส.ตามสูตรดังกล่าว เช่น พลังธรรมใหม่-ประชาชนปฏิรูป–ไทยศรีวิไลย์ ล้วนแสดงท่าทีพร้อมจะไปอยู่กับขั้วพลังประชารัฐ ซึ่งหากพรรคเล็กๆ เหล่านี้ได้ส.ส.ขึ้นมา ฝ่ายพลังประชารัฐก็อาจกุมความได้เปรียบเหนือเพื่อไทยตามมา

      ดังนั้น การเคาะสูตรปาร์ตี้ลิสต์ดังกล่าวของ กกต. และการวินิจฉัยของศาล รธน. จึงมีผลโดยตรงต่อการจัดตั้งรัฐบาลต่อจากนี้ ในสภาวะที่ทุกเสียงมีความหมายต่อการเกิดขึ้นของรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ

      ซึ่งก็มีข่าวว่า ตุลาการศาล รธน.จะนัดประชุมเพื่อหารือคำร้องดังกล่าวของ กกต.ในสัปดาห์นี้ โดยอาจจะเป็นวันพุธที่ 24 เม.ย. หรือไม่เกินพฤหัสบดีที่  25เม.ย. ก็น่าจะมีมติออกมาว่าจะรับหรือไม่รับคำร้องดังกล่าวของ กกต.ไว้วินิจฉัยหรือไม่?

      เรื่องดังกล่าวส่งผลให้ “เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ" อดีตผู้สมัคร ส.ส.ไทยรักษาชาติที่ตอนนี้ย้ายกลับมาเพื่อไทย เลยชิงดักไปยื่นคำร้องต่อศาล รธน.ไม่ให้รับคำร้องดังกล่าวไว้วินิจฉัยเมื่อ 22 เม.ย.ที่ผ่านมา โดยอ้างเหตุว่า คำร้อง-ข้อสงสัยของ กกต.ข้างต้น ไม่เข้าหลักเกณฑ์ที่ศาลจะรับคำร้องนี้ไว้พิจารณาวินิจฉัย

      ทั้งนี้ หากอ้างอิงแนววิเคราะห์ของนักกฎหมายอย่าง “ดร.ธนกฤต วรธนัชชากุล" อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด ที่วิเคราะห์แนววินิจฉัยคดีของศาล รธน. ไว้ ว่าจะออกมาด้วยกัน 4 แนว โดยสรุปใจความได้ดังนี้

      1.ศาลไม่รับเรื่องไว้พิจารณา เนื่องจากเป็นอำนาจของ กกต.โดยตรง และเมื่อ กกต.ยังไม่คิดคำนวณออกมา จึงยังไม่เกิดปัญหา ข้อโต้แย้ง การร้องคัดค้าน เท่ากับว่ายังไม่เกิดปัญหาเรื่องการใช้อำนาจของ กกต. ที่จะเข้าข่ายให้ศาลรับไว้ได้ จึงไม่รับพิจารณา

      2 ศาลไม่รับเรื่องไว้พิจารณา ด้วยเหตุผลเป็นอำนาจหน้าที่โดยตรงของ กกต. ที่จะพิจารณาให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด

      3.ศาลรับเรื่องไว้พิจารณา และมีคำวินิจฉัยว่า กกต.มีอำนาจหน้าที่ในการคำนวณหาจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อตามกฎหมาย แต่ศาลไม่วินิจฉัยลงรายละเอียดเรื่องสูตรคำนวณดังกล่าว เพราะเป็นอำนาจหน้าที่โดยตรงของ กกต.

      4.ศาลรับเรื่องไว้พิจารณา และมีคำวินิจฉัยรับรองอำนาจหน้าที่และวิธีการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อที่ กกต. เสนอให้ศาลพิจารณาดังกล่าว ว่าเป็นไปโดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส. โดยหากศาล รธน.วินิจฉัยออกมาในสูตรที่ 4 เท่ากับจะทำให้พรรคการเมืองที่ได้ ส.ส.ต่ำกว่า 71,065 คะแนน ก็จะได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ด้วยหนึ่งเก้าอี้ ไล่เรียงกันไปจากพรรคใหญ่สู่พรรคเล็ก จนครบ 150  คน และจะเป็นบรรทัดฐานต่อไปสำหรับการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในอนาคต

      รอติดตามกันดูว่า ศาลรัฐธรรมนูญจะว่าอย่างไรกับคำร้องที่จะมีผลต่อการจัดตั้งรัฐบาลดังกล่าว หลังมีกระแสข่าว 9 ตุลาการศาล รธน.มีแนวโน้มเสียงแตก.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"