จี้ปม‘พ่อฟ้า’ใช้โทรศัพท์/ร้องพปชร.ถือหุ้นสื่อ


เพิ่มเพื่อน    

 นักร้องเบอร์หนึ่งรุกหนัก! "ศรีสุวรรณ"  ยื่นเอกสารมัด "ธนาธร" เพิ่ม จี้ กกต.ตรวจสอบการใช้โทรศัพท์ เพราะจะเป็นตัวบ่งชี้ชัดเจน 8 ม.ค.หัวหน้าพรรคส้มหวานอยู่ไหน "คำนูณ" ตั้งข้อสังเกต บอจ.5 ปรากฏเป็นครั้งแรกต่อทางราชการคือวันที่ 21 มี.ค. เป็นวันหลังวันสมัครรับเลือกตั้ง ฉะนั้นจะยึดตามกฎหมายเอกชนหรือกฎหมายมหาชน

    ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เมื่อวันที่ 26 เมษายน นายศรีสุวรรณ จรรยา   เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เข้าให้ถ้อยคำเพิ่มเติมกรณีที่สมาคมเคยยื่นคำร้องเรียน นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ถือครองหุ้นสื่อสิ่งพิมพ์ของบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด 
    นายศรีสุวรรณเผยว่า ได้นำเอกสารเพิ่มเติมมาอีก 1 ฉบับ ให้กับคณะกรรมการไต่สวนฯ ถึงข้อมูลที่นายธนาธรอ้างว่าโอนหุ้นของบริษัทดังกล่าวไปเมื่อวันที่ 8 ม.ค.ที่ผ่านมา รวมถึงข้อสงสัยของการแสดงตัวตนของนายธนาธร เมื่อวันที่ 8 ม.ค.ที่ผ่านมา ที่อ้างว่าอยู่ จ.บุรีรัมย์ ซึ่งตนไม่เชื่อว่ามีการโอนหุ้นจริง และไม่เชื่อว่าอยู่ จ.บุรีรัมย์จริง นอกจากนี้ อยากให้ กกต.ตรวจสอบการใช้โทรศัพท์ของนายธนาธรในวันที่ 8 ม.ค.ที่ผ่านมา และจะเป็นตัวบ่งชี้ชัดเจนให้เป็นที่ประจักษ์พยานได้ว่านายธนาธรอยู่ในต่างจังหวัดหรือกรุงเทพฯ
    เขากล่าวว่า ในส่วนของการออกเช็คโอนหุ้น ตนยังมีข้อสงสัยว่ามีการกระทำจริงหรือไม่ จึงอยากให้นำต้นขั้วเช็คของนางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ (มารดาของนายธนาธร) มาตรวจสอบรันนัมเบอร์เช็คว่าเช็คมีการกระโดดไปมาหรือไม่ ซึ่งจะทำให้ทราบวันเวลาออกเช็คที่แท้จริง รวมถึงเช็คดังกล่าวได้มีการนำเข้าธนาคารแล้วหรือไม่ เพื่อจะดูว่าได้มีการนำเงินเข้าช่วงเดือน ธ.ค.ถึงปัจจุบัน เพราะจะทำให้ทราบว่านำเช็คเข้าทำธุรกรรมจริงหรือไม่
    หลังจากนี้ กกต.ต้องดำเนินการนำเอาเอกสารต่างๆ ที่กล่าวมาข้างต้นมาใช้ในการตรวจสอบเพิ่มเติม หาก กกต.ตรวจสอบแล้วพบความจริง ทาง กกต.ก็จะต้องเรื่องให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาทางการเมืองเพิกถอนสิทธิการรับสมัครเลือกตั้งของนายธนาธร และดำเนินการเอาผิดทางอาญา โทษจำคุก 1-10 ปี พร้อมถอนสิทธิเลือกตั้ง 20 ปี และอาจโทษหนักขัด พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ตามมาตรา 132 ก็จะส่งศาลรัฐธรรมนูญส่งให้ยุบพรรคได้หรือไม่
    “เบื้องต้นทราบว่าคุณธนาธรจะเข้ามาชี้แจงต่อ กกต.ในวันที่ 29 เม.ย.นี้ หาก กกต.มีข้อสรุปอย่างไรตนก็จะเข้ามายืนยันคำร้องคัดค้านคำชี้แจงของนายธนาธร” นายศรีสุวรรณกล่าว
    น.ส.พรรณิการ์ วานิช โฆษกพรรคอนาคตใหม่ เปิดเผยว่า นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ จะเข้าให้ถ้อยคำกรณีการถือหุ้น บริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) วันอังคารที่ 30 เมษายนนี้ ช่วงบ่าย จากเดิมที่ตั้งใจจะเข้าชี้แจงวันจันทร์ที่ 29 เมษายน แต่จากการประสานไปยัง กกต. สะดวกให้เข้าชี้แจงวันที่ 30 เมษายน
    ส่วนคดีความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ จากการจัดรายการผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์นั้น น.ส.พรรณิการ์ กล่าวว่า อัยการได้เลื่อนฟังคำสั่งฟ้องคดีเป็นวันที่ 28 พฤษภาคมนี้
ความลับในคดี
    ที่สำนักงานอัยการสูงสุด ถ.รัชดาภิเษก นายกฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความของนายธนาธร เผยว่าสาเหตุที่เลื่อนฟังคำสั่งในวันนี้ เนื่องจากยังสอบสวนพยานเพิ่มเติมตามที่เราได้ร้องขอความเป็นธรรมยังไม่เสร็จสิ้น ส่วนที่ว่าได้สอบพยานเพิ่มไปกี่ปาก คืบหน้าแค่ไหน ตนไม่ทราบ ทางพนักงานอัยการไม่ได้แจ้งมา เพราะอาจจะเป็นความลับในคดี ในนัดหน้าทางอัยการก็ยังไม่ได้มีการกำชับใดๆ เป็นพิเศษว่าตัวนายธนาธรต้องมาหรือไม่
    นายคำนูณ สิทธิสมาน โพสต์ข้อความลงบนเฟซบุ๊ก Kamnoon Sidhisamarn กรณีนายธนาธร โดยระบุว่า กกต.จะยึดถือวันใดเป็นวันโอนหุ้นจริง 1. ยึดวันที่บริษัทส่งแบบ 'บอจ.5' ต่อนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานคร กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ คือวันที่ 21 มีนาคม 2562 อันเป็นวันหลังวันสมัครรับเลือกตั้ง หรือ 2.ยึดถือวันที่มีการโอนกันจริงตามที่ฝ่ายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ กล่าวอ้าง คือวันที่ 8 มกราคม 2562 อันเป็นวันก่อนวันสมัครรับเลือกตั้ง
    เขาระบุว่า นายธนาธรและฝ่ายสนับสนุนยึดถือเวลาตามข้อ 2 โดยมีประมวลแพ่งมาตรา 1129 วรรคสามนี้เป็นฐานสำคัญ ความหมายตามมาตรา 1129 วรรคสามนี้ คือเมื่อมีการจดแจ้งลงในทะเบียนผู้ถือหุ้นของบริษัท ก็ถือว่ามีผลสมบูรณ์แล้ว ไม่ถึงขนาดต้องส่งแบบ บอจ.5 แจ้งต่อนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัททุกครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลง เพราะโดยปกติจะแจ้งปีละ 1 ครั้งเท่านั้น
         แต่การที่สมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นอยู่ที่บริษัทนี่แหละคือปมปัญหา เมื่อนำมาใช้กับกรณีนี้ เพราะโดยทั่วไปแล้วบุคคลภายนอกย่อมยากจะรู้ได้ว่าในระหว่างปีมีการโอนหุ้นกันกี่ครั้ง และเอกสารการโอนหุ้นในแต่ละครั้งก็ยากที่จะรู้ได้แน่นอนว่าเป็นจริงตามวันที่ในเอกสาร หรืออาจจะมีการทำขึ้นย้อนหลังหรือไม่
         "ผมไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายโดยตรง โดยเฉพาะกฎหมายแพ่ง แต่มีหลักคิดผุดขึ้นมาว่า มาตรา 1129 วรรคสาม คือเหตุผลของกฎหมายแพ่ง ซึ่งเป็น 'กฎหมายเอกชน' มีวัตถุประสงค์ในการวางกฎเกณฑ์ในความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลต่อบุคคลที่ได้รับการสันนิษฐานว่ามีความเท่าเทียมกัน ทำมาค้าขายกัน ซึ่งจะต้องใช้ความระมัดระวังตนเองกันตามสมควร รัฐไม่ควรวางกฎเกณฑ์ที่อาจจะสร้างภาระให้แต่ละฝ่ายมากเกินไป"
         คำถามคือ จะเอากฎเกณฑ์ตาม 'กฎหมายเอกชน' มาใช้กับ 'กฎหมายมหาชน' ได้แค่ไหน เพียงใด โดยเฉพาะ 'กฎหมายมหาชน' ในระดับรัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่วางกฎเกณฑ์ 'ลักษณะต้องห้าม' ของบุคคลที่จะเข้าสู่อำนาจรัฐ
          "ผมเชื่อโดยบริสุทธิ์ว่ากฎเกณฑ์ กฎหมายเอกชน นั้นไม่สามารถนำมาใช้เป็นกฎเกณฑ์ทาง 'กฎหมายมหาชน' ได้ทั้งหมด หากแต่สามารถนำมาใช้ได้เฉพาะบางประการที่ไม่ขัดหรือแย้งต่อการทำหน้าที่ขององค์กรที่ทำหน้าที่ในทางมหาชนเท่านั้น เพราะวัตถุประสงค์หลักของกฎหมายทั้ง 2 ลักษณะแตกต่างกัน
คนภายนอก
         นายคำนูณระบุว่า กฎหมายมหาชนมุ่งคุ้มครองมหาชนที่ประกอบด้วยบุคคลมีระดับความรู้ความสามารถและสถานะแตกต่างกัน รัฐจำเป็นต้องให้ความคุ้มครองบุคคลส่วนใหญ่ที่ด้อยโอกาสกว่า ซึ่งแตกต่างโดยพื้นฐานกับกฎหมายเอกชน ที่รัฐเพียงวางกฎเกณฑ์สำหรับการทำมาหากินของบุคคลที่ได้รับการสันนิษฐานว่าเท่าเทียมกัน รัฐไม่ควรเข้าไปก้าวก่ายมากเกินความจำเป็น กลับมาสู่กรณีธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ
        ในกรณีนี้ 'คนภายนอก' ตามประมวลแพ่งมาตรา 1129 วรรคสาม เป็นองค์กรอิสระนาม 'กกต.' ที่ทำหน้าที่สำคัญยิ่งตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญในการกลั่นกรองบุคคลที่มี 'ลักษณะต้องห้าม' ออกไปจากการเข้าสู่อำนาจรัฐ มิหนำซ้ำ 'ลักษณะต้องห้าม' นี้ยังมีโทษค่อนข้างแรง
         ถามว่า ถ้าจะยึดถือประมวลแพ่งมาตรา 1129 เป็นเกณฑ์อย่างเคร่งครัด กกต.จะรู้ได้อย่างไรว่า ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ยังคงถือหุ้นที่มี 'ลักษณะต้องห้าม' อยู่หรือไม่ ในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2562 อันเป็นวันสมัครรับเลือกตั้ง ในเมื่อเอกสารแบบ บอจ.5 ที่ทางราชการรับทราบการโอนหุ้นของเขาเป็นครั้งแรกคือวันเวลาตามข้อ 1 วันที่ 21 มีนาคม 2562 หลังวันสมัครรับเลือกตั้งแล้ว กกต.จะไปรู้ถึงการโอนหุ้นตามข้อ 2 ที่มีการกล่าวอ้างว่าเกิดขึ้นในวันที่ 8 มกราคม 2562 ได้อย่างไร โดยเฉพาะเมื่อเกิดการโต้แย้งแตกแขนงไปอีกหลายประเด็นว่าการโอนหุ้นในวันนั้นเกิดขึ้นจริงหรือไม่
         กฎเกณฑ์ทั่วไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1129 วรรคสาม จึงไม่น่าจะนำมาหักล้างกับรัฐธรรมนูญมาตรา 98 (3) และกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งมาตรา 42 (3) ได้ทั้งหมด เมื่อมีข้อโต้แย้งเกิดขึ้น เชื่อว่า กกต.น่าจะต้องยึดถือระยะเวลาตามข้อ 1 ตามเอกสารที่ปรากฏต่อราชการเป็นหลัก
        "กล่าวคือยึดตามแบบ บอจ.5 ที่ปรากฏเป็นครั้งแรกต่อทางราชการ นั่นคือวันที่ 21 มีนาคม 2562 อันเป็นวันหลังวันสมัครรับเลือกตั้ง" นายคำนูณระบุ
    นายบุญยอด สุขถิ่นไทย สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ ให้ความเห็นว่า เรื่องเข้าใจง่ายๆ เจ้าของหรือหุ้นส่วนสื่อมวลชนทุกประเภท ต้องลาออกก่อนสมัคร ส.ส. พิธีกร นักข่าว ดารา นักร้อง ตัวตลก ตัวโกง แม้แต่เป็นตัวแสดงในโฆษณา หรือเดินไปมาในมิวสิกวิดีโอยังต้องยุติออกอากาศ เพื่อไม่เอาเปรียบผู้สมัครอาชีพอื่น ไม่ว่าจะเป็นคนรุ่นไหน จะใหม่จะอาวุโส อย่าทำให้สังคม สับสนเลยครับ!! เรื่องแค่นี้ไม่เข้าใจคุณก็กลับไปจุดเริ่มต้นเสียใหม่
"สมชัย"สอน กกต.
    นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ เผยว่า ประเด็นนายธนาธรยังมีมุมที่ใครต่อใครไม่ได้นึกถึง รวมทั้ง กกต.เองด้วย ประเด็นคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้สมัครในส่วน ส.ส.บัญชีรายชื่อนั้น ให้ดูที่มาตรา 60 และมาตรา 61 ของ พ.ร.ป.ส.ส. โดยสรุปให้ฟังง่ายคือมาตรา 60 กล่าวว่า หาก กกต.รับสมัครผู้สมัครบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองใดแล้ว ก็ให้ประกาศรายชื่อผู้สมัครภายใน 7 วัน นับแต่วันรับสมัคร และหากจะมีใครทักท้วง ให้ยื่นภายใน 7 วัน นับจากวันที่ประกาศรายชื่อ  ประกาศรายชื่อ 15 กุมภาพันธ์ ดังนั้นร้องได้ถึง 22 กุมภาพันธ์ 2562 
    มาตรา 61 กล่าวว่า ก่อนวันเลือกตั้ง หาก กกต.เห็นว่าผู้สมัครรายใดขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้าม ให้ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาเพื่อให้ถอนรายชื่อจากผู้สมัครเลือกตั้ง 24 มีนาคม ดังนั้นก่อนวันเลือกตั้งวันสุดท้ายคือ 23 มีนาคม 2562 
    คำแถลงของรองเลขาธิการ กกต. เมื่อ 23 เมษายน 2562 แจ้งว่ามีมติ กกต.ให้แจ้งข้อกล่าวหานายธนาธร เนื่องจากมี "ผู้ร้อง" ว่านายธนาธรเป็นผู้มีลักษณะต้องห้าม ถ้าไปค้นดูผู้ร้องคือ นายศรีสุวรรณ จรรยา มีการร้องธนาธร 2 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อ 25 กุมภาพันธ์ 2562 เรื่องนายธนาธรลงประวัติตัวเองเป็นเท็จเรื่องตำแหน่งประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ครั้งที่สองเมื่อ 25 มีนาคม 2562 เรื่องการถือหุ้นสื่อ
    การยื่นทั้งสองครั้ง จึงเป็นการยื่นคัดค้านคุณสมบัติตามมาตรา 60 ซึ่งต้องดำเนินการภายในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2562 การยื่นที่เกินกำหนดเวลา เป็นเรื่องที่ กกต.ไม่อาจรับคำร้องมาพิจารณาได้ นี่รับแล้วตั้งอนุกรรมการไต่สวน และมีมติแจ้งข้อกล่าวหา ส่วน กรณีจะเป็นความปรากฏต่อ กกต.เองตามมาตรา 61 ก็ต้องดำเนินการก่อนวันที่ 24 มีนาคม 2562 ในกรณีที่จะใช้มาตรา 132 ว่าเป็นการกระทำที่ให้การเลือกตั้งไม่สุจริตและเที่ยงธรรม จนให้ใบส้ม ต้องตั้งเรื่องใหม่ ไม่สามารถนำคำร้องที่เกินกำหนดมาเป็นต้นเรื่องในการพิจารณาได้ ระวังจะโดนข้อหาปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบครับ
    ที่สำนักงาน กกต. นายณรงค์ รุ่งธนวงศ์ หัวหน้าศูนย์ข้อมูลและสถิติ กองอำนวยการเลือกตั้ง พรรคเพื่อไทย เดินทางเข้ายื่นหนังสือขอให้ กกต.ตรวจสอบคุณสมบัติของนายชาญวิทย์ วิภูศิริ ผู้สมัคร ส.ส.กทม. เขตเลือกตั้งที่ 15 พรรคพลังประชารัฐ ซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับคะแนนเลือกตั้งเป็นอันดับที่ 1 เนื่องจากตรวจสอบเอกสารแผ่นพับหาเสียงที่ระบุเป็นผู้บริหารบริษัทมหาชนแห่งหนึ่ง ซึ่งสืบจากข้อมูลกรมธุรกิจการค้าและพาณิชย์ พบว่านายชาญวิทย์ หรือผู้ถูกร้อง เป็นเจ้าของและผู้ถือหุ้นบริษัทที่จดทะเบียนประกอบกิจการหนังสือพิมพ์และสื่อมวลชน โดยพบว่าถือหุ้นในบริษัทดังกล่าวจำนวน 250 ล้านหุ้น และเป็นผู้มีอำนาจในการลงนามของบริษัทดังกล่าวด้วย
    เขาบอกว่า การกระทำดังกล่าวจึงอาจขัดรัฐธรรมนูญ ม.98 (3) และ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.มาตรา 42 (3) ที่ห้ามไม่ให้บุคคลที่เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. ขอให้ กกต.เร่งตรวจสอบและวินิจฉัยกรณีนี้ หากพบว่ากระทำความผิดจริงนายชาญวิทย์ก็จะมีความผิดรับรองคุณสมบัติตนเองเป็นเท็จ ซึ่งก็จะมีความผิดทางอาญาด้วย.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"