พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร


เพิ่มเพื่อน    

 

                                                  เสด็จขึ้นทรงราชย์

         วันพฤหัสบดีที่ ๑๓ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๕๙ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร เสด็จสวรรคต สิริพระชนมพรรษา ๘๙ พรรษา รวมระยะเวลาทรงครองราชย์ได้ ๗๐ปี โดยที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับชั่วคราว พุทธศักราช ๒๕๕๗ มาตรา ๒ วรรค ๒ ประกอบกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ มาตรา ๒๓ วรรค ๑ ได้บัญญัติเรื่องการสืบราชสันตติวงศ์ ว่า ในกรณีที่ราชบัลลังก์หากว่างลง และในกรณีที่พระมหากษัตริย์ได้ทรงแต่งตั้งทายาทไว้ ตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช ๒๔๖๗ แล้ว ให้คณะรัฐมนตรีแจ้งประธานรัฐสภา อัญเชิญองค์รัชทายาทขึ้นทรงราชย์เป็นพระมหากษัตริย์สืบไป ในการนี้ ในวันพฤหัสบดีที่ ๑ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๕๙ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จออก ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต พระราชทานพระราชวโรกาสให้ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ผู้สำเร็จราชการในพระองค์ นำนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และนายวีระพล ตั้งสุวรรณ ประธานศาลฎีกา เฝ้าทูลละอองพระบาท กราบบังคมทูลเชิญเสด็จขึ้นทรงราชย์

ในโอกาสนี้ มีพระราชดำรัสทรงตอบรับการเสด็จขึ้นทรงราชย์ ความว่า

“ตามที่ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ปฏิบัติหน้าที่ประธานรัฐสภา ได้กล่าวในนามของปวงชนชาวไทย เชิญข้าพเจ้าขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์ ว่าเป็นไปตามพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และเป็นไปตามบทบัญญัติของกฎมณเฑียรบาล ว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ กับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยนั้น ข้าพเจ้าขอตอบรับ เพื่อสนองพระราชปณิธาน และเพื่อประโยชน์ของประชาชนชาวไทยทั้งปวง”

พระราชประวัติ

พระราชสมภพ

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร เป็นพระราชโอรสพระองค์เดียวในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ ๙ เสด็จพระราชสมภพ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต เมื่อวันจันทร์ที่ ๒๘ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๔๙๕

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานนาม ตามที่สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ (หม่อมราชวงศ์ชื่น นพวงศ์) ถวายเมื่อวันพุธที่ ๓ กันยายน พุทธศักราช ๒๔๗๕

“สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ                 เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ

บรมจักรยาดิศรสันตติวงศ               เทเวศรธำรงสุบริบาล

อภิคุณูประการมหิตลาดุลเดช      ภูมิพลนเรศวรางกูร

กิตติสิริสมบูรณสวางควัฒน์             บรมขัตติยราชกุมาร

พระนาม “วชิราลงกรณ” นี้ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ (หม่อมราชวงศ์ชื่น นพวงศ์) ได้ทรงอธิบายว่าเป็นพระมงคลนามตามพระราชตระกูล คือ ได้อัญเชิญพระนามฉายาในพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๔) ในขณะทรงพระผนวชว่า “วชิรญาณะ” ผนวกกับ “อลงกรณ์” จากพระนาม “จุฬาลงกรณ์” ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๕)

พระราชพิธีสมโภชเดือนและขึ้นพระอู่

วันอาทิตย์ที่ ๑๔ และวันจันทร์ที่ ๑๕ กันยายน พุทธศักราช ๒๔๙๕ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ประกอบพระราชพิธีสมโภชเดือนและขึ้นพระอู่ ตามโบราณขัตติยราชประเพณี ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต ในโอกาสนี้สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ (หม่อมราชวงศ์ชื่น นพวงศ์) ได้มีพระลิขิตถวายพระพรชัยมงคลในนามคณะสงฆ์ไทยด้วย

สมเด็จพระเชษฐภคินีและสมเด็จพระขนิษฐภคนี

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีสมเด็จพระเชษฐภคินี ๑ พระองค์ คือสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี และสมเด็จพระขนิษฐภคินี ๒ พระองค์ คือสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี

พระราชจริยวัตรครั้งทรงพระเยาว์

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชจริยวัตรครั้งทรงพระเยาว์เป็นที่สนิทเสน่หาของราชสกุล ของสมเด็จพระเชษฐภคินี และสมเด็จพระขนิษฐภคินี รวมทั้งเป็นพระมิ่งขวัญแห่งปวงชนชาวไทยยิ่งนัก

ทรงมีความรัก ความผูกพัน และความเกื้อกูลต่อ “พี่น้อง” ทุกพระองค์ อาทิ ครั้งทรงดำรงพระอิสรยยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ได้ทรงพระราชนิพนธ์บทความ เรื่อง “น้องน้อยของพี่ชาย” ถึงสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในโอกาสทรงเจริญพระชนมายุ ๓ รอบ วันพฤหัสบดีที่ ๒ เมษายน ๒๕๓๔ ทรงสะท้อนพระราชจริยวัตรของพระองค์ และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ครั้งทรงพระเยาว์ได้อย่างแจ่มชัด ทำให้ผู้อ่านรู้สึกซาบซึ้งในความรักความผูกพันอย่างมาก ต่อพระขนิษฐภคินี ด้วยภาษาที่เรียบง่าย แฝงพระอารมณ์ขัน ขออัญเชิญมาบางตอน ดังนี้

“เมื่อตอนเล็กๆ ถือได้ว่าเราสองคนเป็นลูกคนกลางทั้งคู่ จึงเป็นเพื่อนเล่นกันมาตลอด น้องน้อยต้องเป็นเด็กที่เชื่อฟัง และอยู่ในโอวาทของพี่ๆ เสมอ อยากที่จะมีส่วนร่วมกิจกรรมต่างๆ กับพี่ๆ

เราได้ตามเสด็จทูลกระหม่อมพ่อ-สมเด็จแม่ไปตามต่างจังหวัดเมื่อตอนเล็กๆ เราก็จะไปเล่นกัน หาไม้มาทำเป็นปืน หาของว่าง-ขนมไปปิกนิกกัน และสร้างจินตนาการในการเล่นแบบเด็กๆ สมัยนั้น

ถ้ามีช่างภาพสื่อมวลชนทั้งชาวไทยและต่างชาติมาขอฉายพระรูปครอบครัว เราสองคนก็จะเป็นตัวที่ทำอะไรให้มันยุ่งไปหมด ทำให้ถ่ายไม่เสร็จ (ทำหน้าทำตา) จนผู้ที่มาฉายพระรูปปวดหัวกันไปหมด พอตอนหลังเวลาฉายพระรูปจึงจะเห็นบ่อยๆ ที่สมเด็จแม่ต้องคอยจับเราไว้ให้นิ่งๆ ด้วยพระหัตถ์ทั้งสองข้าง ที่ชายข้าง น้องน้อยข้างเสมอ กันช่างภาพเป็นลมและพระองค์ท่านด้วย”

มีพระอุปนิสัยโปรดความมีระเบียบวินัย เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร สมเด็จพระบรมชนกนาถ มีพระราชดำริให้ครูอาจารย์ทุกคนให้ความรู้และฝึกฝนนักเรียนทั่วถึงกันหมด พระราชโอรส พระราชธิดา ย่อมทรงได้รับการกวดขันในกิจกรรมและพระจริยวัตรทุกอย่างยิ่งกว่าเด็กอื่นๆ และฝึกให้มีมารยาทสมเป็นคนไทย สังเกตได้ว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อทรงพบผู้ใหญ่และพระภิกษุสงฆ์ ทรงปฏิบัติพระองค์อย่างนอบน้อมตามประเพณีไทย

โปรดศึกษาหาความรู้ต่างๆ และสนพระราชหฤทัยวิชาศิลปะ ทั้งวาดเขียน ปั้นรูป และศึกษาเครื่องยนต์กลไกตาม “วิสัยเด็กผู้ชาย” โปรดการเล่นแบบต่างๆ เช่น สร้างค่าย ตั้งสมาคมเสื้อกล้าม ซึ่งสมาชิกเป็นผู้ชายล้วน สิ่งที่เห็นได้ถนัดชัดเจนแต่ทรงพระเยาว์จนทรงพระเจริญวัย คือ โปรดการทหารมาก

“ทรงเห็นนายทหารราชองครักษ์ ทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ ซึ่งเดินสับเปลี่ยนเข้าเวรถวายอารักขาเป็นประจำ ทรงสนพระทัยความมีระเบียบวินัย และท่าทางองอาจของทหาร อันเป็นสิ่งหนึ่งที่ผูกพันพระทัยให้มีต่อทหารของชาติในกาลต่อมา”

การศึกษาเบื้องต้น

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงได้รับการศึกษาระดับอนุบาล ในเดือนกันยายน พุทธศักราช ๒๔๙๙ ขณะพระชนมายุ ๔ พรรษา ณ ห้องชั้นล่าง พระที่นั่งอุดรภาคในพระราชวังดุสิต ต่อมาทรงได้รับการศึกษาระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาที่โรงเรียนจิตรลดา พระราชวังดุสิต ทรงศึกษาจนถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๑ จึงเสด็จพระราชดำเนินต่อที่ประเทศอังกฤษ

ก่อนเสด็จพระราชดำเนินจากประเทศไทย ไปทรงศึกษาต่อยังประเทศอังกฤษ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้มีพระราชดำรัสอำลาประชาชนชาวไทยทางสถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ เมื่อวันจันทร์ที่ ๒๐ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๐๘ ขออัญเชิญมาดังนี้

“วันที่ ๗ มกราคมนี้ ข้าพเจ้าจะจากพระนครไปประเทศอังกฤษแล้ว จึงขอถือโอกาสนี้กล่าวอำลาท่านทั้งหลายโดยทั่วกัน ข้าพเจ้ามีใจผูกพันอยู่กับประเทศชาติและกับท่านทั้งหลายมาก เพราะข้าพเจ้าเป็นพลเมืองไทยคนหนึ่ง และท่านทั้งหลายต่างได้แสดงน้ำใจไมตรีต่อข้าพเจ้าตลอดมา ข้าพเจ้าจึงตระหนักว่าในกาลข้างหน้า ข้าพเจ้าจะมีหน้าที่และจะต้องทำงานให้เป็นประโยชน์แก่ชาติบ้านเมือง และประชาชนให้จงได้ โอกาสที่ข้าพเจ้าจะออกไปศึกษา ณ ต่างประเทศนี้ ข้าพเจ้าจึงตั้งใจไว้อย่างแน่วแน่ว่าจะพยายามศึกษาเล่าเรียน โดยเต็มกำลังความสามารถ เพื่อให้เกิดความรู้และสติปัญญา นำมาใช้ในการทำนุบำรุงประเทศชาติ ให้เจริญก้าวหน้าและรุ่งเรืองไพบูลย์ยิ่งขึ้นไป

ข้าพเจ้าขออำลาท่านอีกครั้งหนึ่ง ขอท่านทั้งหลายได้เอาใจช่วยข้าพเจ้าให้เกิดกำลังใจ ที่จะเล่าเรียนให้สำเร็จสมความตั้งใจโดยตลอดกาลด้วย”

พระราชพิธีแสดงพระองค์เป็นพุทธมามกะ

ตามโบราณขัตติยราชประเพณี พระมหากษัตริย์ของไทยซึ่งทรงดำรงตำแหน่งเป็นพระประมุขของประเทศนั้น จะทรงเป็นพุทธมามกะและอัครศาสนูปถัมภก การเสด็จพระราชดำเนินไปทรงศึกษาต่อต่างประเทศของพระราชโอรสและพระบรมวงศ์ซึ่งต้องใช้เวลานาน และอยู่ท่ามกลางศาสนาอื่น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้พระราชโอรสที่จะเสด็จไปทรงศึกษาต่อยังต่างประเทศนั้น เข้าพระราชพิธีประกาศพระองค์เป็นพุทธมามกะก่อนเดินทาง และเป็นราชประเพณีสืบมา

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวครั้งยังทรงดำรงพระอิสริยยศสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ และทรงเจริญพระชันษาได้ ๑๓ ปีนั้น ก่อนเสด็จพระราชดำเนินไปทรงศึกษาต่อ ณ ประเทศอังกฤษ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ตั้งการพระราชพิธีแสดงพระองค์เป็นพุทธมามกะ ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม พระบรมมหาราชวัง ในวันจันทร์ที่ ๓ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๐๙

การศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษ

ระหว่างเดือนมกราคมถึงเดือนกันยายน พุทธศักราช ๒๕๐๙ ทรงเข้ารับการศึกษาระดับประถมศึกษา ที่โรงเรียนคิงส์มีด เมืองซีฟอร์ด แคว้นซัสเซกส์ ประเทศอังกฤษ (King’s Mead School, Seaford, Sussex) และในปีเดียวกันนั้นได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงศึกษาในระดับมัธยมศึกษาที่โรงเรียนมิลฟิลด์ เมืองสตรีท แคว้นซอมเมอร์เซท ประเทศอังกฤษ (Millfield School, Street City, Somerset) ถึงพุทธศักราช ๒๕๑๓

 

พระราชพิธีเฉลิมพระอิสริยยศ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร

เมื่อพุทธศักราช ๒๕๑๕ เนื่องในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระชนมายุครบ ๒๐ พรรษา พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ตั้งการพระราชพิธีสถาปนาเฉลิมพระนามาภิไธย ให้ทรงดำรงพระอิสริยยศ “สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร” ตามโบราณขัตติยราชประเพณี

วันพฤหัสบดีที่ ๒๘ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๑๕ มีพระราชพิธีสถาปนาเฉลิมพระนามาภิไธย ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม พระราชวังดุสิต ปรากฏพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า

สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช        เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ

บดินทรเทพยวรางกูร                  สิริกิติยสมบูรณสวางควัฒน์

วรขัตติยราชสันตติวงศ์                มหิดลพงศอดุลยเดช

จักรีนเรศยุพราชวิสุทธ                 สยามมกุฎราชกุมาร

ในวันเดียวกันนี้ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ ๙ พร้อมด้วยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งขณะนั้นดำรงพระอิสริยยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร ได้เสด็จพระราชดำเนินไปในการพระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา ตามโบราณขัตติยราชประเพณี ณ พระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม พระบรมมหาราชวัง

ในการนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้มีพระราชดำรัสถวายสัตย์ปฏิญาณว่า

“ข้าพระพุทธเจ้าขอพระราชทานกระทำสัตย์ปฏิญาณสาบานต่อประเทศชาติ และประชาชนชาวไทย เฉพาะพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เฉพาะพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร ท่ามกลางมหาสันนิบาตนี้ว่า

ข้าพระพุทธเจ้าผู้เป็นมกุฎราชกุมาร จะรักษาเกียรติยศและอิสริยศักดิ์ ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานไว้เสมอด้วยชีวิต จะภักดีต่อชาติบ้านเมือง จะซื่อสัตย์ต่อประชาชน จะปฏิบัติภาระหน้าที่ทุกอย่างโดยเต็มกำลังสติปัญญาความสามารถ และโดยความเสียสละ เพื่อความเจริญ ความสงบสุข และความมั่นคงไพบูลย์ของประเทศชาติไทย จนตราบเท่าชีวิตร่างกายจะหาไม่”

ในวันต่อมา วันศุกร์ที่ ๒๙ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๑๕ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงบำเพ็ญพระราชกุศล ทรงบาตรร่วมกับประชาชน ณ พลับพลาท้องสนามหลวง แล้วเสด็จออกให้ประชาชนเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท

การศึกษาวิชาการทหาร

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสนพระราชหฤทัยในกิจการทหารตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ ประกอบกับพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร พระบรมชนกนาถ มีพระราชดำริว่า การศึกษาวิชาการทหารในประเทศออสเตรเลีย มีหลักสูตรกว้างขวางและมีการฝึกการอบรมที่เข้มงวดกวดขัน จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เสด็จพระราชดำเนินจากประเทศอังกฤษไปทรงศึกษาวิชาการทหาร ณ ประเทศออสเตรเลีย

ในชั้นแรกทรงเข้าศึกษาในระดับเตรียมทหาร ณ คิงส์สกูล นครซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย ระหว่างพุทธศักราช ๒๕๑๓-๒๕๑๔ จากนั้นในพุทธศักราช ๒๕๑๕-๒๕๑๙ จึงทรงเข้าศึกษาในวิทยาลัยการทหารดันทรูน กรุงแคนเบอร์รา ประเทศออสเตรเลีย

หลักสูตรของวิทยาลัยการทหารแห่งนี้ แบ่งออกเป็น ๒ ภาค คือ ภาควิชาการทหารรับผิดชอบและดำเนินการโดยกองทัพบกออสเตรเลีย นักเรียนที่สำเร็จตามหลักสูตรนี้จะได้เป็นทหารยศร้อยโท ส่วนอีกภาคหนึ่งเป็นการศึกษาวิชาสามัญระดับปริญญาตรี มหาวิทยาลัยนิวเซาท์เวลส์ รับผิดชอบการวางหลักสูตร แบ่งออกเป็นสาขาวิชาวิศวกรรมศาสตร์ อักษรศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ นักเรียนนายร้อยที่ผ่านหลักสูตรนี้จะได้รับปริญญาตรีตามสาขาวิชาที่เลือกศึกษา สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเลือกศึกษาในสาขาอักษรศาสตร์ ระหว่างการศึกษา ทรงได้รับการคัดเลือกให้เข้าร่วมสวนสนาม เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระราชินีนาถ เอลิซาเบธที่ ๒ แห่งสหราชอาณาจักร

เมื่อทรงสำเร็จการศึกษาจากวิทยาลัยการทหารดันทรูนแล้ว ได้เสด็จนิวัตประเทศไทย เมื่อวันพุธที่ ๑๐ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๑๘ และยังทรงพระวิริยอุตสาหะเพิ่มพูนความรู้ ตลอดจนประสบการณ์ทางด้านการทหารอย่างต่อเนื่อง ดังจะเห็นว่าได้ทรงเข้าฝึกเพิ่มเติมในหลักสูตรต่างๆ ของกองทัพออสเตรเลีย เช่น หลักสูตรโดดร่ม หลักสูตรทบทวนวิชาอาวุธและยุทธวิธีชั้นผู้บังคับกองร้อย หลักสูตรวิชาลาดตระเวน หลักสูตรการรบพิเศษ และหลักสูตรอื่นๆ ตลอดจนทรงศึกษาดูงานในกองทัพอากาศออสเตรเลีย ทรงผ่านการฝึก ณ โรงเรียนโดดร่มฐานทัพอากาศวิลเลียมส์ทาวน์ รัฐนิวเซาท์เวลส์ ทำให้ทรงได้รับสิทธิ์ประดับปีกร่มโรงเรียนฝึกโดดร่ม เมื่อทรงเสร็จสิ้นการประจำการที่กรมรบพิเศษที่นครเพิร์ท รัฐออสเตรเลียตะวันตก กรมรบพิเศษได้ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายหมวกเบเรต์ของกรมรบพิเศษ เพื่อเฉลิมพระเกียรติ ครั้นทรงสำเร็จการศึกษาและการฝึกเพิ่มเติมแล้ว จึงเสด็จนิวัตประเทศไทย เมื่อวันเสาร์ที่ ๒ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๑๙

ระหว่างพุทธศักราช ๒๕๒๐-๒๕๒๑ ทรงศึกษาที่โรงเรียนเสนาธิการทหารบก ทรงเป็น “สยามมกุฎราชกุมาร” และเจ้าฟ้าพระองค์แรกที่ทรงเข้าศึกษาและสำเร็จการศึกษา จากสถาบันการศึกษาของกองทัพบก โดยการสอบแข่งขันเพื่อคัดเลือกเป็นนายทหาร นักเรียนโรงเรียนเสนาธิการทหารบก เช่นเดียวกับนายทหารอื่นๆ ในกองทัพ เนื่องจากทรงสนพระราชหฤทัยหลักสูตรการบิน จึงทรงศึกษาและฝึกอบรมเพิ่มเติม ในระหว่างพุทธศักราช ๒๕๒๒-๒๕๒๓ ทรงเข้ารับการศึกษาหลักสูตรการบินเฮลิคอปเตอร์ใช้งานทั่วไป และหลักสูตรการฝึกบินเฮลิคอปเตอร์โจมตี

พุทธศักราช ๒๕๒๓ ทรงเข้ารับการฝึกและศึกษาตามโครงการช่วยเหลือทางทหารของกองทัพบกสหรัฐอเมริกา ที่ฟอร์ตแบรกก์ รัฐนอร์ทแคโรไลนา สหรัฐอเมริกา นอกจากนี้พระองค์ยังทรงเข้าร่วมฝึกโดดร่มด้วย

ครั้นเมื่อทรงสำเร็จการศึกษาและทรงเข้าฝึกวิชาทหาร ณ ฟอร์ตแบรกก์แล้ว ได้เสด็จนิวัตประเทศไทยเมื่อวันจันทร์ที่ ๒ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๒๓

พุทธศักราช ๒๕๒๓-๒๕๒๔ ทรงเข้าศึกษาและฝึกบินหลักสูตรการบินเครื่องบินปีกติดลำตัวแบบต่างๆ และเสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรกิจการทางทหารและตำรวจ ที่สหราชอาณาจักร ประเทศเบลเยียม ประเทศเยอรมนี ประเทศฝรั่งเศสและประเทศออสเตรเลีย

พุทธศักราช ๒๕๒๔-๒๕๒๖ ทรงเข้าศึกษาและฝึกบินหลักสูตรการบินขับไล่ขั้นพื้นฐาน และหลักสูตรการบินขับไล่ระดับสูง เครื่องบินขับไล่แบบ F-5 ที่สหรัฐอเมริกา ณ ฐานทัพอากาศวิลเลียมส์ รัฐแอริโซนา (Williams Air Force Base in Arizona)

พุทธศักราช ๒๕๒๗-๒๕๓๐ ทรงศึกษาด้านกฎหมายและทรงได้รับปริญญานิติศาสตร์บัณฑิต มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

พุทธศักราช ๒๕๓๓ ทรงศึกษา ณ วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักรแห่งสหราชอาณาจักร

นอกจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรเครื่องบินรบแล้ว ยังทรงศึกษาหลักสูตรนักบินพาณิชย์ จากสถาบันการบินพลเรือน ทรงสอบได้ใบอนุญาตนักบินพาณิชย์ตรี และต่อมาในพุทธศักราช ๒๕๔๗ ได้ทรงเข้าศึกษาหลักสูตรนักบินพาณิชย์เอกจากบริษัทการบินไทย และทรงสำเร็จการศึกษาและการบินด้วยเครื่องบินพาณิชย์จริง ทรงได้รับใบอนุญาตเป็นกัปตันเครื่องบินโดยสารโบอิ้ง ๗๓๗

ราชการทหาร และพระปรีชาสามารถ

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวสนพระราชหฤทัยในกิจการต่างๆ ที่เกี่ยวกับทหารมาตั้งแต่ครั้งยังทรงพระเยาว์ ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมกองทหารหน่วยต่างๆ อยู่เสมอ โรงเรียนเตรียมทหารจึงได้ถวายตำแหน่งนักเรียนเตรียมทหารพิเศษ เมื่อวันอังคารที่ ๒๗ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๐๖ ต่อมาพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานประดับยศร้อยตรี เรือตรี เรืออากาศตรี เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๑๑ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๐๘ และภายหลังที่เข้ารับการฝึกปฏิบัติตามหลักสูตรการโดดร่มภาคพื้นดิน ณ กองบังคับการสนับสนุนทางอากาศ กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน ค่ายนเรศวร อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ทรงได้รับพระราชทานปีกนักโดดร่มชั้น ๑ กิตติมศักดิ์ ในเดือนพฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๑๔ จากนั้นจึงได้รับพระราชทานเลื่อนยศเป็นร้อยโท เรือโท เรืออากาศโท เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๑๘ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๑๔ และทรงเข้ารับราชการเป็นนายทหารประจำกรมข่าวทหารบก กระทรวงกลาโหม เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๙ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๑๘

เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสำเร็จการศึกษาจากวิทยาลัยการทหารดันทรูน ประเทศออสเตรเลีย ผู้แทนกองทัพบก กองทัพเรือ และกองทัพอากาศ ได้เดินทางไปเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเครื่องยศ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานเลื่อนพระยศเป็นร้อยเอก เรือเอก และเรืออากาศเอก เมื่อวันอังคารที่ ๙ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๑๘ ณ กรุงแคนเบอร์รา ประเทศออสเตรเลีย

หลังจากเสด็จนิวัตประเทศไทยเมื่อวันพุธที่ ๑๐ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๑๘ แล้ว ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงรายงานพระองค์ต่อเจ้ากรมข่าวทหารบก เพื่อทรงเข้ารับราชการเป็นนายทหารประจำกรมข่าวทหารบก กระทรวงกลาโหม และเมื่อวันอาทิตย์ที่ ๒๕ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๑๙ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงร่วมพิธีกระทำสัตย์ปฏิญาณตนต่อธงชัยเฉลิมพล ประจำปี ๒๕๑๘ ณ พระลานพระราชวังดุสิต ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทย ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวขณะทรงดำรงพระอิสริยยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ได้ทรงร่วมกระทำสัตย์ปฏิญาณตนต่อธงชัยเฉลิมพล

เมื่อทรงเข้าเป็นนายทหารประจำการแล้ว ได้ทรงอุทิศพระองค์ต่อการปฏิบัติหน้าที่ราชการอย่างเคร่งครัด ได้ทรงร่วมปฏิบัติงานด้านการทหารในพื้นที่ โดยทรงเข้าร่วมปฏิบัติการด้านความมั่นคงในภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย รวมทั้งคุ้มกันพื้นที่ในบริเวณรอบค่ายผู้อพยพชาวกัมพูชา ที่เขาล้าน จังหวัดตราด

การดำรงตำแหน่งทางราชการ

หลังจากทรงสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนเสนาธิการทหารบกแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงเป็นอาจารย์โรงเรียนเสนาธิการทหารบก โรงเรียนเสนาธิการทหารเรือ และโรงเรียนเสนาธิการทหารอากาศ ในการนี้ทรงพระวิริยอุตสาหะศึกษาวิชาการใหม่ๆ อยู่เนืองนิตย์ ทรงแปลตำราจากภาษาต่างประเทศเป็นภาษาไทย ทรงนำความเชี่ยวชาญในการฝึกภาคสนามและการโดดร่มไปแนะนำสั่งสอนแก่นายทหารนักเรียน รวมทั้งทรงนำวิชาการความรู้สมัยใหม่ทางด้านวิทยาศาสตร์การทหาร มาใช้ในกองทัพไทยให้มีขีดความสามารถและประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

พระราชกรณียกิจด้านการทหารและตำแหน่งทางราชการตามลำดับ ดังนี้

วันพฤหัสบดีที่ ๙ มกราคม พุทธศักราช ๒๔๑๘ ทรงเข้ารับราชการเป็นนายทหารประจำกรมข่าวทหารบก กระทรวงกลาโหม

วันศุกร์ที่ ๖ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๒๑ ทรงดำรงตำแหน่งรองผู้บังคับกองพันทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ กรมทหารราบที่ ๑ มหาดเล็กรักษาพระองค์

วันศุกร์ที่ ๒๘ พฤศจิกายน ๒๕๒๓ ทรงดำรงตำแหน่งผู้บังคับกองพันทหารมหาดเล็กรักษาพระองศ์ กรมทหารราบที่ ๑ มหาดเล็กรักษาพระองค์

วันจันทร์ที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๒๗ ทรงดำรงตำแหน่งผู้บังคับการกรมทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์

วันเสาร์ที่ ๓๐ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๓๑ ทรงดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์

วันพฤหัสบดีที่ ๙ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๓๕ ทรงดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ สำนักผู้บัญชาการทหารสูงสุด

                วันพุธที่ ๔ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๓๗ ทรงปฏิบัติหน้าที่ครูการบิน พระราชทานการฝึกสอนถ่ายทอดวิชาความรู้และเทคนิคการบินสมัยใหม่ให้แก่นักบินกองทัพอากาศ ด้วยพระปรีชาสามารถ กองทัพอากาศได้ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายกิตติบัตรครูฝึกการบิน เครื่องบินขับไล่สมรรถนะสูง และเนื่องจากทรงพระวิริยอุตสาหะทำการบิน และมีชั่วโมงบินเฉพาะแบบ บ.ข.๑๘ ข./ค.ในฐานะผู้บังคับหมู่บิน ทำให้ทรงมีชั่วโมงบินครบ ๒,๐๐๐ ชั่วโมง ซึ่งนับเป็นการยากสำหรับนักบินทั่วไปที่จะทำได้ นับเป็นความภูมิใจยิ่งของกองทัพไทยและปวงชนชาวไทย

                พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ครั้งทรงดำรงพระอิสริยยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงดำรงพระยศทางทหารของ ๓ เหล่าทัพ คือ พลเอก พลเรือเอก และพลอากาศเอก

พระราชพิธีทรงผนวช

เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสำเร็จการศึกษาจากประเทศออสเตรเลีย และเสด็จนิวัตประเทศไทย ทรงรับราชการเป็นนายทหารประจำกองทัพบกแล้ว ได้ทรงพระราชศรัทธาในพระบวรพุทธศาสนา ที่จะเสด็จออกทรงผนวช เพื่อสนองพระเดชพระคุณสมเด็จพระบรมราชบุพการี และเพื่อทรงศึกษา ตลอดจนทรงปฏิบัติตามพระธรรมวินัย

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ได้พระราชทานพระบรมราชานุญาต และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ตั้งการพระราชพิธีทรงผนวชขึ้น เมื่อวันจันทร์ที่ ๖ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๒๑ ณ พระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม พระบรมมหาราชวัง

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงผนวชท่ามกลางสังฆสมาคม มีสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (วาสน์ วาสโน) ทรงเป็นประธานสงฆ์ และพระราชอุปัธยาจารย์ สมเด็จพระญาณสังวร เป็นพระราชกรรมวาจาจารย์ และสมเด็จพระธีรญาณมุนี ถวายอนุศาสน์ ทรงได้รับพระนามฉายาว่า “วชิราลงกรโณภิกขุ” ประทับจำพรรษา ณ วัดบวรนิเวศวิหาร เป็นเวลา ๑๕ วัน ตั้งแต่วันจันทร์ที่ ๖-วันจันทร์ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๒๑

ตลอดระยะเวลาที่ทรงผนวชนั้น ทรงปฏิบัติพระองค์อย่างเคร่งครัดตามพระวินัย และทรงปฏิบัติเช่นพระสงฆ์ทั่วไป เช่น ทรงร่วมทำวัตรเช้า-เย็น ทำสังฆกรรม ทรงสดับธรรมเทศนา ทรงศึกษาพระธรรมวินัยร่วมกับพระภิกษุอื่นๆ เสด็จพระราชดำเนินไปทรงรับภัตตาหารบิณฑบาตจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ ๙ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ในรัชกาลที่ ๙ พระบรมวงศานุวงศ์ เข้าทูลละอองธุลีพระบาท ณ พระตำหนักจิตรดารโหฐาน พระราชวังดุสิต และวังสระปทุม ทรงรับภัตตาหารบิณฑบาตจากข้าราชการและประชาชน ณ สถานที่ต่างๆ รวมทั้งเสด็จพระราชดำเนินไปถวายสักการะพระพุทธรูป และปูชนียสถานสำคัญต่างๆ ในส่วนภูมิภาค เช่น พระพุทธชินราช วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จังหวัดพิษณุโลก พระธาตุพนม จังหวัดนครพนม พระบรมธาตุเจดีย์ จังหวัดนครศรีธรรมราช และพระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม

เมื่อทรงประกาศลาสิกขาในวันจันทร์ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๒๑ แล้ว ได้เสด็จพระราชดำเนินไปถวายสักการะพระอัฐิ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ถวายสักการะพระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ถวายสักการะพระบรมราชสรีรางคารพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงกราบลาสมเด็จพระญาณสังวร พระราชกรรมวาจาจารย์ จากนั้นได้เสด็จพระราชดำเนินไปยังวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ถวายสักการะพระบรมราชสรีรางคารพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และทรงกราบสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (วาสน์ วาสโน) สมเด็จพระสังฆราชถวายสรงน้ำพระพุทธมนต์ ถวายพระโอวาท และถวายพระพร จบแล้วทรงกราบลาสมเด็จพระสังฆราช แล้วเสด็จพระราชดำเนินกลับพระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต

ต่อมา ช่วงบ่ายวันเดียวกัน เสด็จพระราชดำเนินโดยเครื่องบินพระที่นั่ง ไปเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ ๙ เพื่อถวายพระราชกุศล ณ พระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ จังหวัดสกลนคร แล้วเสด็จพระราชดำเนินกลับกรุงเทพมหานคร

พระราชโอรสและพระราชธิดา

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร มีพระราชธิดา ๒ พระองค์ และพระราชโอรส ๑ พระองค์ดังนี้

๑.พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ประสูติเมื่อวันที่พฤหัสบดีที่ ๗ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๒๑

๒.พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริวัณณวรีนารีรัตน์ ประสูติเมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๘ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๓๐

๓.พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าทีปังกรรัศมีโชติ ประสูติเมื่อวันศุกร์ที่ ๒๙ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๔๘

พระราชกรณียกิจ

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจอันเป็นคุณประโยชน์แก่บ้านเมืองและปวงชนชาวไทยนานัปการ เป็นที่ประจักษ์ว่าตลอดเวลานับตั้งแต่ทรงพระเยาว์ ตราบจนปัจจุบัน ทรงสืบสานพระราชปณิธานพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ ๙ ในการบำบัดทุกข์บำรุงสุขแก่อาณาประชาราษฎร์ เมื่อยังทรงพระเยาว์นั้น ได้โดยเสด็จสมเด็จพระบรมชนกนาถ และสมเด็จพระบรมชนนี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรในภูมิภาคต่างๆ ของประเทศ จึงทรงสั่งสมพระประสบการณ์เกี่ยวกับบ้านเมืองและราษฎร ดังนั้นจึงทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจ ได้เป็นผลสำเร็จลุล่วงตลอดมา พระราชกรณียกิจทั้งปวงล้วนมีส่วนสร้างสรรค์ความผาสุกแก่ประชาชน นำความเจริญไพบูลย์และความมั่นคงมาสู่ประเทศ

ด้านการศาสนา

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชศรัทธาในพระพุทธศาสนาอย่างมั่นคงตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ ครั้งทรงดำรงพระอิสริยยศสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ นอกจากทรงเข้าพระราชพิธีประกาศพระองค์เป็นพุทธมามกะแล้ว ยังทรงอุปถัมภ์พระอารามต่างๆ ในพระพุทธศาสนาอีกด้วย พระอารามแห่งแรกที่ทรงรับไว้ในพระราชูปถัมภ์ คือ วัดวชิรธรรมสาธิตวรวิหาร เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๙ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๐๘ ตามพระราชปรารภของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร

วัดวชิรธรรมสาธิตวรวิหาร เป็นวัดเก่าแก่ ซึ่งคหบดีชาวลาวสร้างขึ้นราวพุทธศักราช ๒๓๙๙ และได้กลายเป็นวัดร้างมานาน จนกระทั่งพระโสภณวชิรธรรม (สาธิต ฐานวโร) ได้มาบูรณะ ชาวบ้านจึงให้ชื่อว่า วัดทุ่งสาธิต ด้วยวัดตั้งอยู่ย่านทุ่งบางจาก พระโขนง ในครั้งกระนั้น และได้รับพระราชทานนามว่า วัดวชิรธรรมสาธิต พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รวมทั้งพระบรมวงศ์ ได้ทรงร่วมกันทำนุบำรุงวัดนี้นับแต่พุทธศักราช ๒๕๐๗ จนรุ่งเรืองสืบมาถึงปัจจุบัน

ครั้นทรงได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ทรงดำรงตำแหน่งพระอิสริยยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เมื่อพุทธศักราช ๒๕๑๕ แล้ว ทรงรับวัดวชิราลงกรณวรารามวรวิหาร ซึ่งเป็นอารามหลวงชั้นตรีชนิดวรวิหาร เป็นวัดประจำพระองค์ ตามที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ได้พระราชทานพระบรมราชานุญาต

วัดวชิราลงกรณวรารามวรวิหาร ตั้งอยู่ที่ถนนธนะรัชต์ ตำบลหนองน้ำแดง อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา เป็นวัดที่นางทิพย์ นิยมเหตุ มีศรัทธาสร้างขึ้นเมื่อพุทธศักราช ๒๕๐๖ และน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เมื่อวันอังคารที่ ๑๖ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๑๘ เพื่อเฉลิมพระเกียรติในโอกาสพระราชพิธีสถาปนาพระอิสริยยศ

ตลอดช่วงเวลาที่ทรงดำเนินพระอิสริยยศ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระราชดำเนินแทนพระองค์ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ไปทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจด้านการศาสนานานาประการ เช่น

-ทรงเปลี่ยนเครื่องทรงพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร (พระแก้วมรกต) ประจำฤดูร้อน ฤดูฝน และฤดูหนาว ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม

-ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลเนื่องในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา มีพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลวันมาฆบูชา วันอาสาฬบูชา เป็นต้น

-ทรงเป็นประธานในพิธียกฉัตรมหาเจดีย์ พิธียกช่อฟ้าพระอุโบสถ ฯลฯ วัดต่างๆ เป็นอันมาก

-ทรงเป็นประธานในพระราชพิธีอุปสมบทนาคหลวง พระราชพิธีถวายผ้าพระกฐิน ฯลฯ

สำหรับพระราชกรณียกิจด้านพระพุทธศาสนา โดยพระราชดำริริเริ่มของพระองค์นั้น นอกจากทรงผนวชตามโบราณขัตติยราชประเพณีแล้ว ยังทรงหมั่นเยี่ยมพระเถระผู้ใหญ่ เพื่อทรงสนทนาศึกษาพระธรรมอยู่เสมอ ด้วยพระราชจริยวัตรที่นอบน้อมศรัทธา รวมทั้งทรงบำเพ็ญพระบารมี เพื่อธำรงพระพุทธศาสนาหลากหลายลักษณะ เช่น

-เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเป็นประธานในการสร้างพระพุทธรูปลายเส้น ณ หน้าผาเขาชีจรรย์ วัดญาณสังวราราม อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี ซึ่งเป็นพระพุทธรูปลายเส้นบนหน้าผาที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เนื่องในโอกาสที่ทรงครองสิริราชสมบัติครบ ๕๐ ปี พุทธศักราช ๒๕๓๙ พระพุทธรูปนี้มีนามพระราชทานว่า “พระพุทธมหาวชิรอุตตโมภาสศาสดา” มีความหมายว่า พระพุทธเจ้าทรงเป็นศาสดาที่รุ่งเรือง สว่างประเสริฐดั่งมหาวชิระ

-ทรงรับมูลนิธิพระรัตนตรัยไว้ในพระราชูปถัมภ์ ซึ่งพระพรหมวชิรญาณ (ประสิทธิ์ เขมงกโร) กรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าอาวาสวัดยานนาวา ประธานมูลนิธิพระรัตนตรัยจัดตั้งขึ้น เพื่อส่งเสริมศาสนศึกษา การศึกษาสงเคราะห์ การเผยแผ่ธรรมะและกิจกรรมเทิดทูนสถาบันของชาติ เนื่องในโอกาสมหามงคลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ ๙ ทรงพระเจริญพระชนมพรรษา ๖ รอบ วันที่ ๑๒ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๔๗ ครั้นทรงราชย์แล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังได้ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจต่างๆ ที่เกี่ยวกับการศาสนาเป็นจำนวนมาก เช่น

-ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลทักษิณานุปทาน เนื่องในวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร พระราชทานสมณศักดิ์และเครื่องราชอิสริยยศแด่สมเด็จพระราชาคณะ พระราชาคณะ และเจ้าคณะรอง

-ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้แก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยคณะสงฆ์ และตราพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ.๒๕๖๐ มาตรา ๗ โดยให้ใช้ความต่อไปนี้แทน คือ “มาตรา ๗ พระมหากษัตริย์ทรงสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชองค์หนึ่ง และให้นายกรัฐมนตรีลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ”

                -ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งสมเด็จพระมหามุนีวงศ์ (อัมพร อมพโร) วัดราชบพิตรสถิตมหาสีมาราม เป็นสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก องค์ที่ ๒๐ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

พระราชกรณียกิจที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมทางศาสนาอื่นๆ

                พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเมื่อครั้งทรงดำรงตำแหน่งพระอิสริยยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ได้ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจที่เกี่ยวเนื่องกับกิจกรรมทางศาสนาต่างๆ ทั้งในฐานะผู้แทนพระองค์ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และพระราชกรณียกิจส่วนพระองค์ เช่น

                -เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ไปทรงเปิดงานเมาลิดกลางประจำปี

                -เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ไปทรงเป็นประธานในพิธีพระราชทานถ้วยรางวัล การทดสอบการอัญเชิญพระมหาคัมภีร์อัลกุรอาน ระดับประเทศ เพื่อการเรียนรู้และปฏิบัติตามพระมหาคัมภีร์ได้ถูกต้อง รวมทั้งเพื่อเสริมสร้างสัมพันธ์ ความร่วมมืออันดี ระหว่างมุสลิมด้วยกันและคนในท้องถิ่น

                -เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ไปทรงเยี่ยมมัสยิด และทรงเป็นประธานในงานพระราชทานถ้วยรางวัลการทดสอบอัญเชิญพระมหาคัมภีร์อัลกุรอานระดับประเทศ

                -เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ไปในการพระราชพิธีตรียัมปวาย-ตรีปวายของศาสนาพราหมณ์

                -เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ไปทรงร่วมกิจกรรมส่งเสริมศาสนาคริสต์ ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู และศาสนาซิกซ์

ด้านการศึกษาและพัฒนาเยาวชน

                การศึกษาที่ดีของเด็กและเยาวชนจะส่งผลอย่างมากต่อการพัฒนาประเทศชาติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงทรงให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อการศึกษา ตลอดจนการส่งเสริมเด็กและเยาวชนจนเป็นที่ประจักษ์ ทรงพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เป็นทุนการศึกษาแก่บุตรของทหารผู้ใต้บังคับบัญชา บุตรของข้าราชบริพารทั้งหลายเป็นประจำทุกปี และมีพระราชดำริส่งเสริมสนับสนุนการศึกษาทุกระดับ เช่น

                พระมหากรุณาธิคุณต่อการศึกษาขั้นพื้นฐาน

                โรงเรียนอนุราชประสิทธิ์ เดิมชื่อโรงเรียนอนุบาลทหารมหาดเล็กราชวัลลภ เปิดสอนระดับอนุบาล ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ตั้งอยู่บริเวณกรมทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ ถนนราชวิถี กรุงเทพมหานคร ต่อมาได้ย้ายไปตั้งใหม่ในที่ดินวัดกลางบางซื่อ ตำบลบางกระสอ อำเภอเมืองนนทบุรี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานนามโรงเรียนใหม่ว่า โรงเรียนราชประสิทธิ์ และโอนไปสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ เมื่อพุทธศักราช ๒๕๓๔ ปัจจุบันสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ดำเนินการสอนตั้งแต่ระดับก่อนประถมศึกษาถึงระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย

                โรงเรียนมกุฎเมืองราชวิทยาลัย จังหวัดระยอง กระทรวงศึกษาธิการได้น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาระยอง เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ในโอกาสที่ทรงเจริญพระชนมายุ ๔๒ พรรษา ทรงพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานนามโรงเรียนว่า โรงเรียนมกุฎเมืองราชวิทยาลัย มีความหมายว่า ราชวิทยาลัยสูงสุดแห่งเมือง และเสด็จพระราชดำเนินไปทรงวางศิลาฤกษ์โรงเรียน และทรงเยี่ยมชมการเรียนการสอนของโรงเรียน ณ สถานที่เรียนชั่วคราว โรงเรียนแห่งนี้เปิดสอนระดับมัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลาย

                ทรงส่งเสริมการจัดสร้างโรงเรียนมัธยมศึกษาในส่วนภูมิภาคซึ่งอยู่ในถิ่นห่างไกล โดยพระราชทานพระราชทรัพย์สนับสนุนกระทรวงศึกษาธิการ รวม ๖ แห่ง คือ

                -โรงเรียนมัธยมพัชรกิติยาภา ๑ ตำบลหนองฮี อำเภอปลาปาก จังหวัดนครพนม

                -โรงเรียนมัธยมพัชรกิติยาภา ๒ ตำบลประชาสุขสันต์ อำเภอลานกระบือ จังหวัดกำแพงเพชร

                -โรงเรียนมัธยมพัชรกิติยาภา ๓ ตำบลขุนทะเล อำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี จังหวัดสุราษฎร์ธานี

                -โรงเรียนมัธยมสิริวัณวรี ๒ ตำบลคูหาใต้ อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา

                -โรงเรียนมัธยมสิริวัณวรี ๓ ตำบลคลองตะเกรา อำเภอท่าตะเกียบ จังหวัดฉะเชิงทรา

                ทรงส่งเสริมโรงเรียนย่านชุมชนชานพระนคร และในจังหวัดปริมณฑล ให้ได้พัฒนาเป็นที่นิยมแก่ประชาชนในการส่งบุตรหลานมาเรียนมากขึ้น รวม ๖ แห่ง ได้แก่

                -โรงเรียนทีปังกรวิทยาพัฒน์ (วัดโบสถ์) แขวงดุสิต เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร

                -โรงเรียนทีปังกรวิทยาพัฒน์ (วัดน้อยใน) แขวงตลิ่งชัน เขตตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร

                -โรงเรียนทีปังกรวิทยาพัฒน์ (ทวีวัฒนา) แขวงทวีวัฒนา เขตทวีวัฒนา กรุงเทพมหานคร

                -โรงเรียนทีปังกรวิทยาพัฒน์ (วัดประดู่) ตำบลวัดประดู่ อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม

                -โรงเรียนทีปังกรวิทยาพัฒน์ (มัธยมวัดหัตถสารเกษตร) ตำบลคลองห้า อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี

                -โรงเรียนทีปังกรวิทยาพัฒน์ (วัดสุนทรสถิต) ตำบลอำแพง อำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร

                ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมโรงเรียนริม-ป่าคาประชานุเคราะห์ อำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน ซึ่งเปิดทำการสอนตั้งแต่พุทธศักราช ๒๕๐๓ ปัจจุบันสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาน่าน เขต ๒ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ ตามที่คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานของโรงเรียน มีมติเห็นชอบให้ทางโรงเรียนดำเนินการเสนอตามลำดับ เพื่อให้โรงเรียนซึ่งเปิดสอนตั้งแต่ระดับอนุบาลถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ ๖ ได้รับการพัฒนาอย่างยั่งยืน สร้างโอกาสแก่นักเรียนในเขตบริการและชุมชนใกล้เคียง รวมทั้งเพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติ ในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๖๔ พรรษา ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๕๙ ทรงพระกรุณาพระราชทานนามโรงเรียนว่า ราชปิโยรสา ยุพราชานุสรณ์

                ทรงพระมหากรุณาธิคุณรับโรงเรียนข้างต้นไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ และมีพระบรมราชานุญาตให้ใช้อักษรพระนามาภิไธย ม.ว.ก. เป็นเครื่องหมายประจำโรงเรียน รวมทั้งส่งเสริมสนับสนุนการพัฒนาด้านต่างๆ ของโรงเรียนอย่างต่อเนื่อง

ทุนการศึกษาพระราชทานระดับมัธยมศึกษาตอนปลายถึงระดับปริญญาตรี

                ด้วยพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อทรงดำรงพระอิสริยยศ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ที่จะทรงสร้างโอกาสทางการศึกษาแก่เยาวชนไทยที่มีฐานะยากจน มีความประพฤติดี ให้ได้รับการศึกษาอย่างต่อเนื่อง ในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย จนสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ดำเนินโครงการทุนการศึกษาสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมารขึ้น เมื่อพุทธศักราช ๒๕๕๒

                ในปีต่อมา ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้จัดตั้งมูลนิธิทุนการศึกษาพระราชทาน สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร (ม.ท.ศ.) ขึ้น และให้นำโครงการทุนการศึกษา สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร มาอยู่ในความดูแลและการดำเนินงานของมูลนิธิ เพื่อความต่อเนื่องและยั่งยืนสืบไป

พระมหากรุณาธิคุณต่อสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษา

                พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสืบสานพระราชปณิธาน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เมื่อครั้งทรงดำรงพระอิสริยยศ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ได้เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ไปพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยต่างๆ เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยราชภัฏ รวม ๓๘ แห่ง ซึ่งต่างสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ ที่เสด็จพระราชดำเนินไปพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตและผู้ทรงคุณวุฒิของมหาวิทยาลัย พร้อมพระราชทานพระบรมราโชวาท ตั้งแต่พุทธศักราช ๒๕๓๑ จนถึงปัจจุบัน

ด้านการแพทย์ สาธารณสุข และจิตอาสา

                โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช

                เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ครั้งทรงดำรงพระอิสริยยศ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ได้โดยเสด็จพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ ๙ ไปทรงเยี่ยมราษฎรในชนบทที่ห่างไกลอยู่เสมอ ได้ทอดพระเนตรราษฎรที่อาศัยในถิ่นทุรกันดารห่างไกลคมนาคม เมื่อป่วยไข้มักได้รับการรักษาไม่ทั่วถึง จึงมีพระราชประสงค์ให้ราษฎรเหล่านั้นมีโอกาสดูแลรักษาสุขภาพที่ได้มาตรฐาน อันเป็นที่มาของการตั้งโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชในท้องถิ่นห่างไกลและกันดารมากขึ้น

                พุทธศักราช ๒๕๒๐ รัฐบาลร่วมกับพสกนิกรชาวไทยได้แสดงออกซึ่งความจงรักภักดี ร่วมบริจาคทรัพย์สมทบสร้างโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ในท้องถิ่นห่างไกลและกันดารขึ้น น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และเพื่อให้โรงพยาบาลที่สร้างขึ้นนี้มีอุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้ทางการแพทย์พร้อม สามารถบริการประชาชน ทหาร ตำรวจ พลเรือน และโดยเฉพาะผู้ด้อยโอกาสทางสังคม ผู้มีรายได้น้อย ผู้พิการ และผู้สูงอายุได้ด้วยดีตลอดไป จึงนำทรัพย์ที่ประชาชนร่วมกันบริจาคมาจัดตั้งมูลนิธิ ชื่อว่า “มูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช” ปัจจุบันมีโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค สังกัดกระทรวงสาธารณสุข รวม ๒๑ แห่ง

                พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์ และทรงเปิดโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชด้วยพระองค์เองทุกแห่ง ไม่ว่าจะอยู่ห่างไกลทุรกันดารเสี่ยงภัยเพียงใด และยังพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช เชิญอักษรพระนามาภิไธย ม.ว.ก.ภายใต้พระอนุราชมงกุฎ ไปใช้เป็นตราประจำโรงพยาบาล และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้องคมนตรี ติดตามและรายงานความก้าวหน้า รวมทั้งพระราชทานพระราโชบายดำเนินงานโดยตลอด เป็นผลให้โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชเป็นโรงพยาบาลที่มีคุณภาพตามมาตรฐานสากล ISO 9002

โครงการกาญจนบารมีเฉลิมพระเกียรติ ครองสิริราชสมบัติ ๕๐ ปี

                พุทธศักราช ๒๕๒๗ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมผู้ป่วยโรคมะเร็งเป็นครั้งแรก ณ สถาบันมะเร็งแห่งชาติ ได้พระราชทานสิ่งของแก่ผู้ป่วยโรคมะเร็ง ยังความปลาบปลื้มและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ แก่ผู้ป่วยโรคมะเร็งเป็นอย่างยิ่ง ต่อมาในพุทธศักราช ๒๕๓๘ ทรงรับเป็นประธานโครงการสถานรับผู้ป่วยโรคมะเร็ง ธัญบุรี-สายใยชีวิต และพระราชทานโครงการใหม่ว่า “โครงการกาญจนบารมีเฉลิมพระเกียรติ ครองสิริราชสมบัติ ๕๐ ปี” เพื่อร่วมเฉลิมฉลองวาระที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงครองสิริราชสมบัติครบ ๕๐ ปี เมื่อพุทธศักราช ๒๕๓๙ ได้พระราชทานนามอาคาร ศาลาที่สร้างขึ้นเพื่อปฏิบัติวิปัสสนาและฟังธรรมว่า “ธรรมานุภาพ” โดยได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงวางศิลาฤกษ์ศาลา เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๔ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๓๙ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานเงิน โดยการสนับสนุนของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล เพื่อใช้ในการก่อสร้างอาคารต่างๆ

                พุทธศักราช ๒๕๔๐ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในฐานะทรงเป็นประธานโครงการกาญจนบารมีฯ เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเททองหล่อพระพุทธรูป “พระพุทธนิรโรคันตรายชัยวัฒน์จตุรทิศ” ณ พระอุโบสถ วัดบวรนิเวศราชวิหาร กรุงเทพมหานคร โดยมีสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เป็นประธานเพื่อให้ผู้ป่วยโรคมะเร็งได้เคารพบูชา และเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ

                พุทธศักราช ๒๕๔๑ เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคมะเร็ง จังหวัดชลบุรี และในพุทธศักราช ๒๕๔๓ ได้พระราชทานนามอาคารต่างๆ ในโครงการกาญจนบารมีฯ ของสถานรับผู้ป่วยโรคมะเร็งธัญบุรี ได้แก่ ศูนย์มหาวชิราลงกรณธัญบุรี สถาบันมะเร็งแห่งชาติ อาคารกาญจนบารมีเฉลิมพระเกียรติ ครองสิริราชสมบัติ ๕๐ ปี อาคารพัชรกิติยาภา และสวนสมุนไพรสิริวัณณวรี

ศูนย์สุขภาพชุมชน

                ในพุทธศักราช ๒๕๕๐ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราชดำริให้ตั้งศูนย์สุขภาพชุมชนขึ้นในหมู่บ้านสันติ ๒ ตำบลแม่หวาด อำเภอธารโต จังหวัดยะลา เพราะทรงห่วงใยด้านสุขภาพอนามัยของราษฎรในแถบจังหวัดชายแดนภาคใต้ และได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมเยียนอยู่เสมอ

                นอกจากนี้ ยังทรงห่วงใยการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยเฉพาะเยาวชนที่ด้อยโอกาสและขาดแคลน ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมชุมชนแออัดในกรุงเทพมหานครหลายแห่ง พระราชทานเครื่องอุปโภคบริโภค เครื่องกีฬา เครื่องดับเพลิง ทั้งยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้กรมทหารในบังคับบัญชาของพระองค์ ร่วมกับประชาชนพัฒนาสิ่งแวดล้อม รวมทั้งพระราชทานพระราชทรัพย์สนับสนุนโครงการของเยาวชน เช่น โครงการพัฒนาเด็กเล็กที่ขาดแคลน โครงการปราบปรามยาเสพติดในหมู่เยาวชนชุมชนแออัดคลองเตย เพื่อให้เยาวชนผู้ด้อยโอกาส ได้เติบโตเป็นพลเมืองดีต่อไปในอนาคต

การพระราชทานความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ

                พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริให้บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) จัดเที่ยวบินมหากุศลช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยและจัดหาอุปกรณ์ด้านการแพทย์ สำหรับโรงพยาบาลในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เส้นทางกรุงเทพมหานคร-เชียงใหม่-กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ ๖ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๕๐ และวันที่ ๑-๔ กุมภาพันธ์ปีเดียวกัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานเงินที่ผู้มีจิตศรัทธาร่วมบริจาคไปจัดซื้อเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ เพื่อพระราชทานแก่โรงพยาบาลยะลา โรงพยาบาลนราธิวาส และโรงพยาบาลสุไหงโก-ลก

                เมื่อพุทธศักราช ๒๕๕๑ พายุไซโคลนนาร์กีส ได้พัดเข้าทางมหาสมุทรอินเดียสู่ประเทศเมียนมาและประเทศไทย ทำให้มีผู้เสียชีวิตและสูญหายจำนวนมาก บ้านเรือนและระบบสาธารณูปโภคเสียหายอย่างหนัก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในขณะทรงดำรงพระอิสริยยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานสิ่งของบรรเทาทุกข์ เช่น อาหาร และเครื่องอุปโภคที่จำเป็นแก่ผู้ประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติ กระทรวงสาธารณสุขได้ส่งแพทย์พระราชทานในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร พร้อมเครื่องมือและเวชภัณฑ์ไปประเทศเมียนมาเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยดังกล่าวด้วย

                ระหว่างวันพฤหัสบดีที่ ๑ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๕๙ ถึงวันอาทิตย์ที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๖๐ เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมสร้างความเสียหายอย่างมากในหลายจังหวัดภาคใต้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานถุงยังชีพแจกจ่ายให้แก่ประชาชน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน และเมื่อวันจันทร์ที่ ๑๐ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๖๐ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นำคณะบุคคลเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต รับพระราชทานเงินช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยภาคใต้ จำนวน ๔๐ ล้านบาท ซึ่งเป็นรายได้จากการจำหน่ายบัตรอวยพรและไดอารีภาพวาดฝีพระหัตถ์ ทั้งนี้ได้จัดสรรเงินพระราชทานเป็น ๒ ส่วน ส่วนแรก จำนวน ๑๕,๐๐๐,๐๐๐ บาท ใช้เป็นเงินทุนการศึกษาพระราชทานแก่นักเรียน นักศึกษา ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย เงินพระราชทานส่วนที่สอง จำนวน ๒๕,๐๐๐,๐๐๐ บาท จัดซื้อโต๊ะ-เก้าอี้พระราชทานแก่โรงเรียนที่ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วม จำนวน ๒๖๗ โรงเรียน รวม ๑๐ จังหวัด ได้แก่ จังหวัดสุราษฎร์ธานี จังหวัดสงขลา จังหวัดพัทลุง จังหวัดนราธิวาส จังหวัดปัตตานี จังหวัดชุมพร จังหวัดนครศรีธรรมราช จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดกระบี่ และจังหวัดตรัง

 

โครงการจิตอาสา

                พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงห่วงใยและทรงคำนึงถึงความอยู่ดีมีสุขของประชาชนเป็นสำคัญ และพระองค์มีพระราชปณิธานแน่วแน่ที่จะทำให้ประเทศชาติมั่นคงและประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ด้วยมีพระราชประสงค์ที่จะสืบสาน รักษา และต่อยอดโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริและแนวพระราชดำริต่างๆ เพื่อบำบัดทุกข์และบำรุงสุขให้ประชาชนและพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้า

                เนื่องในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา ๒๘ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๖๐ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้หน่วยราชการในพระองค์ ร่วมกับหน่วยงานราชการต่างๆ และประชาชนทุกหมู่เหล่าที่มีจิตอาสา บำเพ็ญสาธารณประโยชน์ในพื้นที่ต่างๆ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนและแก้ไขปัญหาให้แก่ประชาชน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาน้ำท่วมในเขตชุมชน ปัญหาการจราจร และอื่นๆ เพื่อสืบสานพระราชปณิธานพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ที่ทรงห่วงใยปัญหาชีวิตความเป็นอยู่ของราษฎรเสมอมา

                ในการนี้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้หน่วยทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ หน่วยทหารรักษาพระองค์ ร่วมกับข้าราชบริพารหน่วยราชการในพระองค์ และหน่วยงานราชการ รวมทั้งประชาชนที่มีจิตอาสา "เราทำความดี ด้วยหัวใจ" ดำเนินการเก็บผักตบชวา วัชพืช ขยะมูลฝอย สิ่งปฏิกูล สิ่งกีดขวางทางน้ำ และขุดลอกคูคลองระบายน้ำ รวมทั้งทำความสะอาดพื้นที่สาธารณะ วัด และตลาดในชุมชน ตลอดจนทำกิจกรรมเพื่อสาธารณประโยชน์ทั่วประเทศโดยต่อเนื่อง

 

ด้านเกษตรกรรม

                เนื่องจากประชากรส่วนใหญ่ของประเทศไทยประกอบอาชีพทางเกษตรกรรม โดยเฉพาะการปลูกข้าว ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจหลักของประเทศ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงตระหนักถึงความสำคัญด้านการเกษตรและทรงสืบสานพระราชปณิธานพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ในการช่วยเหลือเกษตรกรและส่งเสริมการเกษตร เช่น

 

การพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ

                พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เป็นพระราชพิธีที่อยู่คู่กับราชอาณาจักรไทยมาช้านาน โดยพระมหากษัตริย์ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเป็นประธานในพระราชพิธีนี้เป็นประจำทุกปี ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เป็นเวลา ๒ วัน วันแรกเป็นงานพระราชพิธีพืชมงคล เป็นพิธีพุทธในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม และวันที่สองเป็นพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เป็นพิธีพราหมณ์ ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเมื่อครั้งทรงดำรงพระอิสริยยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ได้เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ไปในการพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญเป็นประจำ ทรงเห็นความสำคัญของพระราชพิธีนี้ว่ามีผลต่อขวัญกำลังใจแก่เกษตรกรที่เป็นชาวนาอย่างยิ่ง และเมื่อเสด็จขึ้นทรงราชย์แล้ว ก็ยังคงเสด็จพระราชดำเนินไปในการพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญเป็นประจำทุกปี

               

การพระราชทานแบบอย่างและขวัญกำลังใจแก่เกษตรกร

                พุทธศักราช ๒๕๒๕ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงทำปุ๋ยหมักจากผักตบชวาและวัชพืชอื่นๆ เป็นปฐมฤกษ์ เพื่อพระราชทานแก่เกษตรกร ณ บ้านแหลมสะแก ตำบลเดิมบาง อำเภอเดิมบางนางบวช จังหวัดสุพรรณบุรี

                พุทธศักราช ๒๕๒๙ เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเป็นประธานในการทำนาสาธิต โดยใช้ปุ๋ยหมัก ณ บึงไผ่แขก ตำบลดอนโพธิ์ทอง อำเภอเมืองสุพรรณบุรี จังหวัดสุพรรณบุรี ในการนี้ได้พระราชทานอุปกรณ์การทำนา พันธุ์ข้าว และปุ๋ยหมักแก่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี และประธานกลุ่มเกษตรกร เพื่อนำไปดำเนินการทำนาสาธิต แล้วทรงพระดำเนินลงไปในแปลงนาสาธิตที่เต็มไปด้วยโคลนตม ทรงหว่านพันธุ์ข้าวเปลือกและปุ๋ยหมักด้วยพระองค์เอง สร้างความปลื้มปีติยินดีแก่พสกนิกรที่เข้าร่วมในกิจกรรมดังกล่าวเป็นอย่างยิ่ง

                พุทธศักราช ๒๕๔๓ เสด็จพระราชดำเนินไปทรงหว่านข้าวพันธุ์ปทุมธานี ๑ ที่บ้านนาป่า ตำบลบางงาม อำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี และเมื่อถึงเวลาที่เก็บเกี่ยวได้แล้ว ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเกี่ยวข้าวที่ทรงหว่านไว้ซึ่งเป็นการสร้างขวัญกำลังใจอย่างยิ่งแก่เกษตรกร

                พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสนับสนุนและพัฒนาด้านเกษตรกรรมอีกหลายโครงการ เช่น ทรงรับโครงการคลินิกเกษตรเคลื่อนที่ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จัดทำขึ้นถวายในโอกาสที่ทรงเจริญพระชนมายุ ๕๐ พรรษา ในพุทธศักราช ๒๕๔๕ ไว้ในพระบรมราชานุเคราะห์ โครงการคลินิกเกษตรเคลื่อนที่นี้ให้บริการทางการเกษตรแก่เกษตรกรครอบคลุมทั้งด้านการเพาะปลูก การพัฒนาดิน การเลี้ยงสัตว์ การประมง การสหกรณ์ การชลประทาน รวมทั้งด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้อัญเชิญอักษรพระนามาภิไธย ม.ว.ก. ประดิษฐานไว้ในเครื่องหมายตราสัญลักษณ์โครงการด้วย ทั้งนี้ได้ทรงติดตามผลการดำเนินงานของโครงการนี้อย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน

 

ด้านการกีฬา

                พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชอัธยาศัยโปรดการออกกำลังพระวรกายตั้งแต่ทรงพระเยาว์ ทั้งการทรงจักรยาน การวิ่ง การทรงม้า เมื่อทรงเจริญวัยก็ทรงเอาพระทัยใส่ต่อการเล่นกีฬาอย่างสม่ำเสมอ กีฬาที่โปรดมีมากมายหลายประเภท เช่น ฟุตบอล ว่ายน้ำ โดยเฉพาะการว่ายน้ำและดำน้ำ เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินแปรพระราชฐานไปประทับ ณ พระราชวังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ทรงสามารถดำน้ำทะเลได้ครั้งละนานๆ ทรงศึกษาวิธีดำน้ำในชุดมนุษย์กบจากทหารเรือ และทรงฝึกฝนจนชำนาญ ทั้งยังได้ทรงเรือใบแข่งขันกับพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดีด้วย

                เมื่อครั้งโดยเสด็จพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ ๙ เสด็จประพาสยุโรป ได้ทรงสเกตน้ำแข็งร่วมกับทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ขณะที่ทรงศึกษาทั้งในประเทศและต่างประเทศ ได้ทรงร่วมกิจกรรมกีฬาต่างๆ กับพระสหาย เช่น การแข่งขันฟุตบอล รักบี้ฟุตบอล เรือพาย เป็นต้น

                เนื่องในโอกาสที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ ๙ ทรงเจริญพระชนมพรรษา ๘๓ พรรษา วันที่ ๑๒ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๕๘ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวขณะทรงดำรงพระอิสริยยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร มีพระราชดำริให้จัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติ "ปั่นเพื่อแม่" (Bike For Mom) และทรงนำขบวนกิจกรรมปั่นจักรยานเพื่อแม่ร่วมกับพสกนิกรทั่วประเทศ ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ปลุกกระแสสำนึกความรักแม่ ความสามัคคีเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของคนในชาติ และการรณรงค์ออกกำลังกาย โดยการปั่นจักรยานเป็นไปอย่างกว้างขวางจนได้บันทึกในกินเนสส์บุ๊ก (Guinness Book) เป็นสถิติโลกว่า มีประชาชนรวมตัวกันปั่นจักรยานมากที่สุดในโลก

                เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ๘๘ พรรษา วันที่ ๕ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๕๘ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นประธานเปิดกิจกรรมปั่นจักรยานเพื่อพ่อร่วมกับพสกนิกรทั่วประเทศทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคเช่นกัน เมื่อวันศุกร์ที่ ๑๑ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๕๘ ทั้งยังได้พระราชทานลายพระหัตถ์ข้อคิด ๗ ประการ เพื่อความสำเร็จ ความสุขและความปลอดภัยในการปั่นจักรยาน Bike For Dad ด้วย

                พระราชกรณียกิจทางด้านการกีฬาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระมหากรุณาธิคุณส่งเสริมสนับสนุนมีนานัปการ เช่น

                * ทรงรับเป็นนายกกิตติมศักดิ์สมาคมจักรยานสมัครเล่นแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์

                * ทรงอุปถัมภ์สมาคมฟันดาบสมัครเล่นแห่งประเทศไทย

                * พระราชทานไฟพระฤกษ์กีฬาแห่งชาติและกีฬาเยาวชนแห่งชาติ

                * พระราชทานพระราชวโรกาสให้นักกีฬาไทย ผู้นำความสำเร็จและเกียรติยศมาสู่ประเทศชาติ เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท รับพระราชทานรางวัลนักกีฬายอดเยี่ยม รับพระราชทานพรและทรงแสดงความชื่นชมยินดี

                * เสด็จพระราชดำเนินไปในพิธีเปิดกีฬาเอเชียนเกมส์ ทำให้นักกีฬามีขวัญและกำลังใจในการแข่งขัน ประสบชัยชนะนำเหรียญรางวัลมาสู่ประเทศชาติ

 

ด้านภาษา วรรณศิลป์ และศิลปวัฒนธรรม

                พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระปรีชาสามารถด้านการประพันธ์ทั้งพระราชนิพนธ์ร้อยแก้วและร้อยกรอง สมกับทรงสืบขัตติยกวีจากสมเด็จพระบรมราชบุพการี นอกจากนี้ยังมีพระราชปณิธานที่จะทรงสืบสานพระราชปณิธานพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ ๙ ในการบำเพ็ญพระราชกรณียกิจ เพื่อสืบสานสมบัติทางวัฒนธรรมอันทรงคุณค่าของชาติ

                พระราชนิพนธ์ร้อยแก้ว เช่น

                ข้อความในภาพฝีพระหัตถ์พระราชทานแก่ประชาชนเพื่อขอบคุณและทรงแสดงพระราชปณิธานการจัดกิจกรรมปั่นจักรยานเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในโอกาสที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ ๙ ทรงเจริญพระชนมพรรษา ๘๓ พรรษา วันที่ ๑๒ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๕๘ และข้อความเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร วันที่ ๕ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๕๘

                พระบรมราโชวาทในพระราชพิธีและพิธีต่างๆ เช่น พิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ทุกปี และแต่ละแห่งมีจำนวนหลายวัน เป็นต้นว่า มหาวิทยาลัยราชภัฏ ณ อาคารใหม่สวนอัมพร วันพุธที่ ๘ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๔๙ (ภาคบ่าย) ความตอนหนึ่ง ดังนี้

                "...การนิยมไทย เช่น การใช้ภาษาไทยให้ถูกต้อง การปฏิบัติตนตามขนบประเพณีอันดีของไทย การใช้สินค้าไทย การศึกษาและรักษาสิ่งที่เป็นเอกลักษณ์ของไทย เป็นต้น เป็นวิถีทางสำคัญทางหนึ่งที่จะดำรงความมั่นคงและความเป็นชาติไทยไว้ได้ บัณฑิตเป็นผู้ที่สังคมนิยมยกย่อง จึงควรปฏิบัติตนเป็นผู้นำในการนิยมไทย..."

 

พระราชนิพนธ์บทความ น้องน้อยของพี่ชาย

                น้องน้อยของพี่ชาย เป็นบทความที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์ถึงสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในโอกาสทรงเจริญพระชนมายุ ๓ รอบ วันที่ ๒ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๓๔ ทรงบรรยายถึงพระจริยวัตรครั้งทรงพระเยาว์ได้ซาบซึ้ง ด้วยภาษาที่เรียบง่าย แฝงพระอารมณ์ขัน ขออัญเชิญเพิ่มเติมจากหัวข้อพระราชจริยวัตรครั้งทรงพระเยาว์ ตอนต้นของหนังสือนี้ว่า

                "...ขณะนั้นพี่ชายอายุประมาณ ๓ ปี ก่อนน้องน้อยเกิด พี่ก็เริ่มจำความได้บ้างว่า บัดนี้เราได้พ้นจากความเป็นลูกคนเล็กแล้ว ซึ่งก็ได้มีน้องน้อยเพิ่มขึ้นในครอบครัว พี่จำได้ว่า ขณะนั้นพี่กำลังนอนเล่นอยู่ก็มีคนมาบอกว่า สมเด็จแม่ได้ทรงมีพระประสูติกาลแล้ว เป็นองค์หญิง พี่ก็ยังจำอะไรมากไม่ได้ในตอนนั้น เพียงแต่มันรู้สึกเป็นสิ่งแปลกใหม่ พี่ได้เห็นเด็กตัวเล็กๆ นอนอยู่ในเตียง พี่ได้มาดูน้องตัวเล็กๆ ที่นอนอยู่ในเตียงเสมอ เมื่อน้องน้อยโตขึ้น เราก็เล่นกันเรื่อย..."

 

พระราชนิพนธ์บทร้อยกรอง

                พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวสนพระทัยในบทร้อยกรองมาแต่ทรงพระเยาว์ เมื่อครั้งยังทรงดำรงพระอิสริยยศสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ ส่วนใหญ่ทรงพระราชนิพนธ์เป็นบทกลอน เพื่อทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ ๙ เช่น

                พระราชนิพนธ์ในโอกาสที่ทรงเข้าศึกษา ณ โรงเรียนนายร้อยดันทรูน ประเทศออสเตรเลีย เดือนพฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๑๕ ความตอนหนึ่งดังนี้

                                เมื่อสิบสองมกรา หนึ่งห้า ลูกคลาคลาด

                ต้องนิราศ จากไป ไกลนักหนา

                จำใจจาก แม่พ่อ คลอน้ำตา

                นึกขึ้นมา คราใด ใจอาวรณ์

                ลูกจากไป ครานี้ มีจิตมั่น

                จะขยัน และทำตาม คำพร่ำสอน

                ถึงลำบาก อย่างไร ไม่อุทธรณ์

                สู้ทุกตอน ตามประสงค์ จำนงใจ

                ห้าอาทิตย์ เข้าเรียนใหม่ ไร้ญาติมิตร

                ทรมานจิต ทรมานกาย ไม่แจ่มใส

                ตื่นตีห้า ฝึกหนัก งานมากมาย

                ความสบาย ไม่เคยพบ สบอารมณ์

 

                พระราชนิพนธ์ถวายพระพรในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา วันที่ ๑๒ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๑๕ ความตอนหนึ่งดังนี้

                                วันเฉลิม สมเด็จแม่ ได้แต่คิด

                ขอน้อมจิต รำลึกถึง คนึงหา

                พระคุณแม่ มากล้น เหลือคณา

                ลูกเกิดมา โชคดี มีแม่งาม

                ไปเมืองไหน ถูกถาม ถึงนามแม่

                ว่าสวยแท้ ราชินี แห่งสยาม

                ควีนสิริกิติ์ จำขึ้นใจ ในพระนาม

                ชมว่างาม เพริดพริ้ง ยอดหญิงไทย

                                แม่รักชาย ห่วงชาย ชายก็รู้

                ชายจะสู้ สุดชีวา อย่าสงสัย

                จะทำตัว ให้สม แม่วางใจ

                จะรักไทย กู้ศักดิ์ศรี จักรีวงศ์...

 

                พระราชนิพนธ์ถวายพระพรในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา วันที่ ๕ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๑๕ ความตอนหนึ่งดังนี้

                                ขอน้อมกราบ พระบาท บูชาพ่อ

                พ่อเพียรก่อ ชายมา จนกล้าแข็ง

                พ่อรักชาย ห่วงชาย ไม่แสดง

                พ่อคอยแจ้ง ทิศทาง ให้สร้างตน

                ชั่วชีวิต ที่ผ่านมา จนบัดนี้

                เข้าใจดี ชายผิดพลาด ดื้อสับสน

                เคยสร้างความ ยุ่งยาก ให้กังวล

                พ่อสู้ทน ให้อภัย แก้ไขมา

                                วันเวลา ผ่านไป ให้สำนึก

                ให้ส่วนลึก ของพ่อ ปรารถนา

                ยากจะหา พ่อใคร ในโลกา

                ที่เมตตา รักลูก อย่างถูกทาง...

 

                พระราชนิพนธ์ จารึกบนแผ่นเงินประดิษฐาน ณ ฝาผนังพระตำหนักสิริยาลัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

                                พระตำหนักแห่งนี้มีความหมาย

                พ่อกับชายสร้างถวายให้กับแม่

                วิมานทองแห่งนี้คือดวงแด

                ลูกกับแม่ผูกพันนิรันดร

                อานุภาพแห่งความรักสลักจิต

                เนรมิตเรือนไทยอนุสรณ์

                ครบหกสิบพรรษาพระมารดร

                ประชากรแซ่ซ้องพระบารมี

                ขอบูชาจารึกด้วยชีวิต

                ชายอุทิศกายใจไว้ที่นี่

                เพื่อถวายความจงรักและภักดี

                อีกหมื่นปีไม่มีคลายจากชายเอย

 

                พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระราชดำรัส เนื่องในวาระดิถีขึ้นปีใหม่ พุทธศักราช ๒๕๖๐ แก่ประชาชนชาวไทย เผยแพร่ทางสถานีโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ความตอนหนึ่งว่า

                "....ในปีใหม่นี้ ขอให้ชาวไทยทุกคนตั้งใจให้แน่วแน่ ที่จะรักษาคุณสมบัตินี้ให้เหนียวแน่น และทำความคิดจิตใจให้แจ่มใส ด้วยปัญญาที่กระจ่าง พิจารณาทุกสิ่งที่เกิดมีขึ้นตามความเป็นจริงโดยปราศจากอคติ ให้มีความมุ่งมั่น มีกำลังใจ ในอันที่จะร่วมกันปฏิบัติสรรพกิจน้อยใหญ่ในภาระหน้าที่ตามแนวพระบรมราโชบายที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ได้พระราชทานไว้ ให้งานทุกอย่างสำเร็จผลเป็นความดีความเจริญทั้งแก่ตนเอง แก่ส่วนรวม และประเทศชาติ เป็นการรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ ในการนี้ ข้าพเจ้าขอปฏิบัติหน้าที่ ร่วมกับประชาชนชาวไทย โดยเต็มกำลังความสามารถ เพื่อสืบสานพระราชปณิธานเช่นกัน

                ขออานุภาพแห่งคุณพระศรีรัตนตรัย และสิ่งศักดิ์สิทธิ์อันที่เคารพเลื่อมใสของชาวไทย อีกทั้งพระบารมีแห่งสมเด็จพระมหากษัตริย์ไทยในอดีต มีพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เป็นอาทิ จงคุ้มครองรักษาท่านทุกคน ให้ปราศจากทุกข์ปราศจากภัย ให้มีความสุขกายสุขใจ และประสบแต่สิ่งที่พึงปรารถนาตลอดศกหน้านี้โดยทั่วกัน."

 

พระราชนิพนธ์บทเพลงและทรงดนตรี

 

                อาลัยครวญ เป็นบทเพลงซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์ร่วมกับสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ ๙ เนื้อร้องพรรณนาถึงความรัก ความว่า

                                อาทิตย์ตกบนเขาเปล่าเปลี่ยวนัก    ยากจะหักห้ามใจไม่หวนหา

                ก็เพราะเจ้าพี่จึงต้องหมองอุรา                        สิ้นชีวาก็ไม่วายคลายรัญจวน

                                สีทองฟ้าแดงแซมเหมือนแก้มเจ้า    สุดจะเศร้าหมองอุราพาใจหวน

                ถ้ามีเจ้าข้างพี่ได้ชี้ชวน                                  ไม่ต้องครวญเรียกหาด้วยอาลัย

 

                พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวสนพระทัยด้านดนตรีตั้งแต่ทรงพระเยาว์ โดยโปรดการเป่าแซ็กโซโฟนมากเป็นพิเศษ และทรงดนตรีร่วมกับพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร หลายครั้ง นอกจากนี้ยังโปรดขับร้องเพลงด้วย พระองค์ไม่ทรงแสดงพระอัจฉริยภาพทางดนตรีให้ประชาชนชาวไทยได้เห็นมากนัก ส่วนใหญ่จะทรงดนตรี หรือทรงขับร้องเพลงในงานส่วนพระองค์ หรือภายในพระตำหนักเท่านั้น ด้วยความสนพระทัยด้านการดนตรี จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมรับมูลนิธิวงดุริยางค์ซิมโฟนีกรุงเทพฯ ไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ เมื่อพุทธศักราช ๒๕๒๕

 

ด้านการยุติธรรม

                พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเมื่อครั้งทรงดำรงพระอิสริยยศสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ ได้โดยเสด็จพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ไปทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจที่เกี่ยวข้องกับศาลยุติธรรม ทั้งได้เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ไปทรงเปิดศาลยุติธรรมทั้งในกรุงเทพมหานคร และในภูมิภาคที่ห่างไกล เช่น

                 พุทธศักราช ๒๕๑๒ โดยเสด็จพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ไปทรงเยี่ยมศาลยุติธรรม

                 พุทธศักราช ๒๕๑๓ โดยเสด็จพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ไปทรงเยี่ยมศาลฎีกา ศาลอุทธรณ์ และทอดพระเนตรการพิพากษาคดีของศาลแพ่ง

                 พุทธศักราช ๒๕๑๓ โดยเสด็จพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ไปทรงเยี่ยมศาลจังหวัด ศาลแขวง และศาลคดีเด็กและเยาวชน จังหวัดเชียงใหม่

                เมื่อทรงดำรงพระอิสริยยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ได้ทรงศึกษาด้านกฎหมาย ทรงสำเร็จการศึกษาและทรงรับปริญญานิติศาสตร์บัณฑิตจากมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช รวมทั้งทรงเป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์แห่งเนติบัณฑิตยสภา เมื่อวันพุธที่ ๓ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๓๐ ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ในกิจการเนติบัณฑิตยสภาอย่างสม่ำเสมอ เช่น เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ไปพระราชทานประกาศนียบัตรแก่ผู้สอบได้ตามหลักสูตรของสำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา

                วันพฤหัสบดี ที่ ๔ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๓๐ เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรการปฏิบัติงานของศาลอาญา ในโอกาสนี้ได้เสด็จขึ้นประทับพิจารณาคดีพร้อมด้วยผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอาญา คดีเกี่ยวกับความผิดฐานลักทรัพย์ที่มีราคาเพียงเล็กน้อย โดยจำเลยยังเป็นเยาวชนและให้การรับสารภาพ กอปรกับไม่เคยทำความผิดมาก่อน ศาลอาญาได้พิจารณาพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดฐานลักทรัพย์ลงโทษจำคุก แต่ให้รอการลงโทษจำคุก ตามที่ทรงพระกรุณาพระราชทานกระแสพระราชดำริ เพื่อให้โอกาสจำเลยกลับตัวประพฤติตนเป็นพลเมืองดีสืบไป

                สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานพระราโชวาทแก่จำเลย ความว่า

                "ได้รับฟังการพิจารณาของศาลแล้วก็ให้ถือบทเรียนจากความผิดนี้ คือ ให้ความผิดเป็นประสบการณ์ บทเรียนในการที่จะปฏิบัติตนในสิ่งที่ดีงามต่อไป เมื่อกระทำผิดหรือละเมิดสิทธิคนอื่น นอกจากผู้อื่นจะเดือดร้อนแล้ว เจ้าทุกข์หรือผู้เกี่ยวข้องและตนเองก็จะเดือดร้อน อายุยังน้อย ยังมีโอกาสที่จะสร้างชีวิตทำมาหากิน ตลอดจนเป็นประโยชน์แก่ชาติได้ต่อไป เพราะฉะนั้นเอาความผิดนี้เป็นครู และเมื่อรู้ว่าทางศาลให้อภัยก็จงตั้งตนในสิ่งที่ถูกต้องด้วยความมานะอดทนต่อไป"

 

ด้านการต่างประเทศ

 

                พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวสนพระทัยในกิจการเกี่ยวกับสัมพันธไมตรีกับนานาประเทศ เพื่อเป็นรากฐานสำคัญที่จะก่อให้เกิดความมั่นคงทางด้านเศรษฐกิจและความสงบสุขของประเทศไทย ทรงพระวิริยอุตสาหะปฏิบัติพระราชกรณียกิจสำคัญในการเจริญพระราชไมตรีกับประเทศที่เป็นมิตรกับราชอาณาจักรไทยตลอดมา เบื้องต้นเป็นการโดยเสด็จพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ ๙ ไปทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจด้านการทูตกับนานาประเทศ

                เมื่อทรงดำรงพระอิสริยยศสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ ได้เสด็จเยือนประเทศญี่ปุ่นในฐานะพระราชอาคันตุกะของเจ้าชายอากิฮิโต มกุฎราชกุมารแห่งญี่ปุ่น ระหว่างวันพุธที่ ๑๗-วันอาทิตย์ที่ ๒๑ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๑๔ การเสด็จครั้งนั้นได้ช่วยกระชับสัมพันธไมตรีระหว่างพระราชวงศ์ และประชาชนทั้งสองประเทศให้ใกล้ชิดสนิทสนมยิ่งขึ้น

                เมื่อทรงดำรงพระอิสริยยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ได้ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจในการเจริญสัมพันธไมตรีกับนานาประเทศอย่างสมพระเกียรติและต่อเนื่อง ดังเช่น ในระหว่างวันอังคารที่ ๗-วันจันทร์ที่ ๑๓ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๑๙ ได้เสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศอิหร่านตามคำทูลเชิญของเจ้าชายเรซาปาห์ลาวี มกุฎราชกุมารแห่งอิหร่าน ซึ่งเป็นการเจริญสัมพันธไมตรีที่มีอยู่เดิมให้แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น ในโอกาสนี้ได้ทอดพระเนตรกิจการด้านอุตสาหกรรม เกษตรกรรม และการชลประทาน เพื่อนำวิทยาการมาปรับปรุงพัฒนาประเทศไทยให้เจริญก้าวหน้าต่อไป

                นอกจากนี้ ยังเสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ ๙ เยือนประเทศต่างๆ เป็นประจำ เช่น

                วันเสาร์ที่ ๑๔ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๒๘ เสด็จพระราชดำเนินเยือนนครวาติกันอย่างเป็นทางการ ทรงเข้าเฝ้าสมเด็จพระสันตะปาปา จอห์น ปอล ที่ ๒ (Pope Saint John Paul ll) ประมุขของคริสต์จักรโรมันคาทอลิก

                พุทธศักราช ๒๕๓๐ เสด็จพระราชดำเนินเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนอย่างเป็นทางการ ทรงเข้าพบนายเติ้งเสี่ยวผิง ณ มหาศาลาประชาคม กรุงปักกิ่ง และในปีนี้ได้เสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศญี่ปุ่น ทรงเข้าเฝ้าสมเด็จพระจักรพรรดิ สมเด็จพระจักรพรรดินี ซึ่งทั้งสองพระองค์เสด็จออกทรงรับเสด็จและมีพระราชปฏิสันถารต่อกันอย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ยังได้เสด็จพระราชดำเนินเยือนอาณาจักรภูฏาน และเสด็จฯ ไปทรงเจริญพระราชไมตรีกับรัฐคูเวต รัฐสุลต่านโอมาน ราชอาณาจักรโมร็อกโก ราชอาณาจักรบาห์เรน และราชอาณาจักรสวาซิแลนด์ เป็นต้น

                เมื่อครั้งทรงดำรงพระอิสริยยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ในการเสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศต่างๆ นั้น ก่อนเสด็จพระราชดำเนินทุกครั้งจะทรงศึกษาเกี่ยวกับประเทศนั้นๆ ก่อน และระหว่างที่ประทับอยู่ในประเทศดังกล่าวจะสนพระราชหฤทัยเสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรกิจการต่างๆ เพื่อจะทรงนำมาปรับและประยุกต์ใช้ในการพัฒนาประเทศ ครั้นเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติแล้ว สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงสืบสานพระราชปณิธานในการเจริญพระราชไมตรีกับมิตรประเทศทั่วโลก ดังปรากฏในพระราชกรณียกิจในเดือนธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๕๙ ดังนี้

                วันพฤหัสบดีที่ ๘ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๕๙ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ส่งข้อความพระราชสาส์นไปยังนายโจโก วีโดโด ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐอินโดนีเซีย กรณีเหตุการณ์แผ่นดินไหวทางตอนเหนือของเกาะสุมาตรา เมื่อวันพุธที่ ๗ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๕๙ ความว่า

                "ข้าพเจ้าเศร้าสลดใจที่ได้ทราบข่าวเหตุการณ์แผ่นดินไหว ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บเป็นจำนวนมาก ทั้งยังก่อความเสียหายอย่างรุนแรงต่อทรัพย์สินและโครงสร้างพื้นฐานทางตอนเหนือของเกาะสุมาตรา ข้าพเจ้าขอแสดงความเสียใจอย่างยิ่งมายังท่านและผู้ประสบความสูญเสียจากภัยพิบัติทางธรรมชาติครั้งนี้"

                วันพุธที่ ๑๔ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๕๙ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ส่งข้อความพระราชสาส์นแสดงความยินดีไปยังสุลต่านมูฮัมหมัดที่ ๕ แห่งรัฐกลันตัน ในโอกาสที่ทรงได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งสมเด็จพระราชาธิบดีแห่งมาเลเซีย พระองค์ที่ ๑๕ เมื่อวันอังคารที่ ๑๓ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๕๙ ความว่า

                "ในโอกาสที่ฝ่าพระบาททรงขึ้นดำรงตำแหน่งสมเด็จพระราชาธิบดีแห่งมาเลเซีย หม่อมฉันขอถวายพระพรชัยมงคลและความปรารถนาดีอย่างจริงใจมา เพื่อฝ่าพระบาททรงมีพระพลานามัยสมบูรณ์และทรงพระเกษมสำราญ ทั้งเพื่อความผาสุกและความเจริญรุ่งเรืองของประเทศและประชาชนชาวมาเลเซีย

                หม่อมฉันเชื่อมั่นว่า ในรัชกาลของฝ่าพระบาท ความสัมพันธ์ฉันมิตรและความร่วมมือที่มีอยู่ระหว่างประเทศของเราทั้งสอง จะกระชับแน่นแฟ้นและเพิ่มพูนยิ่งขึ้นไปในภายภาคหน้า เพื่อประโยชน์สุขร่วมกัน"

                วันพฤหัสบดีที่ ๒๒ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๕๙ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ส่งข้อความพระราชสาส์น แสดงความเสียพระราชหฤทัยไปยัง นายโยอาคิม เกาค์ ประธานาธิบดีแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี กรณีเหตุการณ์รถยนต์บรรทุกชนประชาชนที่กรุงเบอร์ลินเมื่อวันจันทร์ที่ ๑๙ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๕๙ ความว่า

                "ข้าพเจ้าเศร้าสลดใจที่ได้ทราบข่าวเกี่ยวกับเหตุการณ์มีผู้ใช้รถยนต์บรรทุกจู่โจมทำร้ายประชาชนที่กรุงเบอร์ลิน ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตจและผู้บาดเจ็บเป็นจำนวนมาก ข้าพเจ้าขอแสดงความเสียใจอย่างจริงใจมายังท่านและผู้ประสบความสูญเสียในเหตุการณ์อันร้ายแรงครั้งนี้"

 

พระเกียรติคุณ

                พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจน้อยใหญ่ อันทรงคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติและประชาชนนานัปการ พระเกียรติคุณเป็นที่ประจักษ์ จึงมีหน่วยงาน สถาบันการศึกษาและองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายปริญญาและเหรียญรางวัลเพื่อเฉลิมพระเกียรติ

                ปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ฉลองพระองค์ครุย และเข็มวิทยฐานะ ที่มหาวิทยาลัยและองค์กรต่างๆ ในประเทศ ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย ดังนี้

 

ปริญญา เหรียญรางวัล                    มหาวิทยาลัย วิทยาลัย องค์กรต่างๆ          วันที่ เดือน พุทธศักราช

                ด้านการเกษตร

๑. ส่งเสริมการเกษตรและ                                  มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช         ๑๘ มกราคม ๒๕๓๒

    สหกรณ์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ 

๒. วิทยาศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์  มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์             ๑๘ กรกฎาคม ๒๕๔๕

     (เกษตรเขตร้อน)

๓. วิทยาศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์  มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์              ๑๖ กรกฎาคม ๒๕๔๖

     (เกษตรเขตร้อน)

๔. วิทยาศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์  มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์             ๒๙ ตุลาคม ๒๕๔๖

     สาขาส่งเสริมการเกษตร                                                          

   ด้านการพัฒนาชุมชน

๑. ศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์   มหาวิทยาลัยมหาสารคาม                       ๒๑ ธันวาคม ๒๕๔๑

     สาขาวิชาการพัฒนาชุมชน

๒. ศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์   สถาบันราชภัฏภาคเหนือ                                ๘ กรกฎาคม ๒๕๔๖

     สาขายุทธศาสตร์การพัฒนา

๓. ศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์   สถาบันราชภัฏมหาสารคาม             ๘ พฤศจิกายน ๒๕๔๖

     สาขายุทธศาสตร์การพัฒนา

๔. ศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์   สถาบันราชภัฏภาคใต้                                    ๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๖

     สาขายุทธศาสตร์การพัฒนา

๕. ปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์       มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์                ๑ สิงหาคม ๒๕๔๘

     (พัฒนาสังคม)

๖. ปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์       มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี            ๑๙ มกราคม ๒๕๔๖

     สาขาวิชายุทธศาสตร์และการพัฒนา

   ด้านการแพทย์และสาธารณสุข

๑. ฉลองพระองค์ครุยและเกียรติบัตร     ราชวิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งประเทศไทย  ๒๑ มิถุนายน ๒๕๒๗

     สมาชิกกิตติมศักดิ์

๒. ฉลองพระองค์ครุยกิตติมศักดิ์            สมาคมวิทยาลัยศัลยแพทย์นานาชาติ      ๑๐ พฤศจิกายน ๒๕๓๒

                                                                   แห่งประเทศไทย 

๓. สาธารณสุขศาสตรดุษฎีบัณฑิต        มหาวิทยาลัยนเรศวร                                        ๗ มิถุนายน ๒๕๓๙

     กิตติมศักดิ์

๔. สาธารณสุขศาสตรดุษฎีบัณฑิต        จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย                                 ๑๑ กรกฎาคม ๒๕๓๙

     กิตติมศักดิ์

๕. แพทยศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์  มหาวิทยาลัยมหิดล                                   ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๔๔

๖. วิทยาศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์   มหาวิทยาลัยบูรพา                                         ๖ ธันวาคม ๒๕๔๘

     สาขาวิชาวิทยาศาสตร์การแพทย์

๗. ฉลองพระองค์ครุยและประกาศนียบัตร  ราชวิทยาลัยศัลยแพทย์                                 ๑ ตุลาคม ๒๕๔๙

      สมาชิกกิตติมศักดิ์                                    ออร์โธปิดิกส์แห่งประเทศไทย

๘. สาธารณสุขศาสตรดุษฎีบัณฑิต           มหาวิทยาลัยมหิดล                                        -      -     ๒๕๔๔

     กิตติมศักดิ์ (การบริหารสาธารณสุข)

๙. แพทยศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์  มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี                  -      -     ๒๕๕๕

    (แพทยศาสตร์)

๑๐. ปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์        มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี                         ๒๓ พฤษภาคม ๒๕๕๖

        สาขาวิชาสาธารณสุขศาสตร์

๑๑. สาธารณสุขศาสตรดุษฎีบัณฑิต       มหาวิทยาลัยมหาสารคาม                         ๒๓ พฤษภาคม ๒๕๕๖

        กิตติมศักดิ์

     ด้านนิติศาสตร์

๑. นิติศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์       มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์                        ๒๖ กรกฎาคม ๒๕๒๗

๒. นิติศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์       มหาวิทยาลัยรามคำแหง                          ๑๙ ธันวาคม ๒๕๓๑

๓. นิติศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์       มหาวิทยาลัยนเรศวร                                ๖ พฤศจิกายน ๒๕๔๕

๔. เข็มวิทยฐานะทองคำ                                     วิทยาลัยการยุติธรรม                                ๒๙ ตุลาคม ๒๕๔๖

๕. ปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์           มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง                               ๑ สิงหาคม ๒๕๔๘

     สาขาวิชานิติศาสตร์

๖. นิติศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์       มหาวิทยาลัยเชียงใหม่                              ๑๘ เมษายน ๒๕๕๑

๗. นิติศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์       มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช             ๘ สิงหาคม ๒๕๖๐

   ด้านบริหารธุรกิจ

๑. บริหารธุรกิจดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์  มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช             ๑๒ มกราคม ๒๕๔๗

     (การจัดการงานก่อสร้าง)

๒. ศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์   มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์          ๓ มีนาคม ๒๕๕๓

     สาขาวิชาการจัดการบิน                                 ในพระบรมราชูปถัมภ์

๓. บริหารธุรกิจดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์  มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต                   ๒๙ สิงหาคม ๒๕๕๕

     (สาขาวิชาการจัดการธุรกิจการบิน)

๔. ศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์   มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี               -          -        ๒๕๕๗ 

     (ธุรกิจการบิน)

    ด้านรัฐศาสตร์ รัฐประศาสนศาสตร์ สหวิทยาการ

๑. รัฐศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์        มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์                               ๒๙ ตุลาคม ๒๕๒๓

๒. รัฐประศาสนศาสตร์ดุษฎีบัณฑิต      มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช              ๒๖ มีนาคม ๒๕๒๗

     กิตติมศักดิ์

๓. ศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์     มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ                          ๒๔ กรกฎาคม ๒๕๒๗

    (สาขาวิชารัฐศาสตร์)                                       วิทยาเขตบางแสน

๔. รัฐประศาสนศาสตร์ดุษฎีบัณฑิต       มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์                   ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๒๘

      กิตติมศักดิ์

๕. รัฐศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์       จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย                                ๑๖ กรกฎาคม ๒๕๓๐

๖. ศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์    มหาวิทยาลัยเชียงใหม่                                    ๒๔ มกราคม ๒๕๓๐

๗. พัฒนบริหารศาสตรดุษฎีบัณฑิต       สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์            ๒๙ เมษายน ๒๕๓๔

     กิตติมศักดิ์ ทางรัฐประศาสนศาสตร์

๘. รัฐศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์      มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช                ๒๘ มกราคม ๒๕๔๑

๙. ศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์    มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์                                 ๒๖ กรกฎาคม ๒๕๔๔

    (สาขาสหวิทยาการ)

๑๐. ศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์   สถาบันราชภัฏนครพนม                 ๕ พฤศจิกายน ๒๕๔๖

        สาขารัฐประศาสนศาสตร์

๑๑. ศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์   สถาบันราชภัฏร้อยเอ็ด                 ๗ พฤศจิกายน ๒๕๔๖

        สาขารัฐประศาสนศาสตร์

๑๒. ศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์  สถาบันราชภัฏภาคตะวันออกเฉียงเหนือ       -        -      ๒๕๔๘

        สาขารัฐประศาสนศาสตร์

๑๓. รัฐประศาสนศาสตร์ดุษฎีบัณฑิต                     มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี               ๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓

        กิตติมศักดิ์

๑๔. รัฐประศาสนศาสตร์ดุษฎีบัณฑิต                    มหาวิทยาลัยธนบุรี                            ๑๕ สิงหาคม ๒๕๕๕

        กิตติมศักดิ์

  ด้านวิทยาศาสตร์และการกีฬา

๑. วิทยาศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์     สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า                       ๑๘ ตุลาคม ๒๕๒๓

                                                                       เจ้าคุณทหารลาดกระบัง

๒. วิทยาศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์     มหาวิทยาลัยบูรพา                                    ๒๕ มกราคม ๒๕๓๘

     สาขาวิทยาศาสตร์การกีฬา

     และการออกกำลังกาย

๓. วิทยาศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์     มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ                                     ๔ มีนาคม ๒๕๔๑

     สาขาวิชาระบบสารสนเทศ

๔. วิทยาศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์     จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย                 ๑๓ กรกฎาคม ๒๕๔๓

     สาขาวิทยาศาสตร์การกีฬา

๕. วิทยาศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์     มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์                  ๑๓ สิงหาคม ๒๕๕๒     

     สาขาการบริหารเทคโนโลยี                     

   ด้านวิศวกรรมศาสตร์

๑. วิศวกรรมศาสตรดุษฎีบัณฑิต             มหาวิทยาลัยขอนแก่น                                       ๑๕ ธันวาคม ๒๕๒๖      

     กิตติมศักดิ์

๒. วิศวกรรมศาสตรดุษฎีบัณฑิต             มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี                            ๒๔ ตุลาคม ๒๕๔๐     

     กิตติมศักดิ์ (วิศวกรรมเครื่องกล)

๓. วิศวกรรมศาสตรดุษฎีบัณฑิต             มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์                 ๒๓ กรกฎาคม ๒๕๔๑     

     กิตติมศักดิ์ (วิศวกรรมการบิน

     และอากาศยาน)

๔. วิศวกรรมศาสตรดุษฎีบัณฑิต             มหาวิทยาลัยเชียงใหม่                                       ๑๘ มกราคม ๒๕๔๔

      กิตติมศักดิ์

๕. วิศวกรรมศาสตรดุษฎีบัณฑิต             สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า                          ๘ ธันวาคม ๒๕๔๘     

     กิตติมศักดิ์ สาขาวิชาวิศวกรรม              เจ้าคุณทหารลาดกระบัง

     เครื่องกล

๖. ปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์              มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์                 ๒ พฤษภาคม ๒๕๔๙

     สาขาวิชาวิศวกรรมศาสตร์

๗. วิศวกรรมศาสตรดุษฎีบัณฑิต             จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย                   ๒๐ กรกฎาคม ๒๕๕๒     

     กิตติมศักดิ์ สาขาวิชาวิศวกรรม

     อากาศยาน

๘. วิศวกรรมศาสตรดุษฎีบัณฑิต             มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี                            ๒๔ ตุลาคม ๒๕๕๒     

     กิตติมศักดิ์ (วิศวกรรมอากาศยาน)

๙. วิศวกรรมศาสตรดุษฎีบัณฑิต             สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า                          ๒๔ ตุลาคม ๒๕๕๖     

     กิตติมศักดิ์                                                    เจ้าคุณทหารลาดกระบัง

    ด้านศาสนศาสตร์

๑. ศาสนศาสตรดุษฎีบัณฑิต                          มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย          ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๔๔

     กิตติมศักดิ์ สาขาพุทธศาสตร์

๒. พุทธศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์     มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ                   ๘ พฤษภาคม ๒๕๔๘

     สาขาวิชาพระพุทธศาสนา                    ราชวิทยาลัย

๓. ศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์     มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์            ๑๕ กันยายน ๒๕๔๘      

     (อิสลามศึกษา)

    ด้านศึกษาศาสตร์

๑. ศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์   มหาวิทยาลัยเกษตรศาตร์                   ๑๗ กรกฎาคม ๒๕๒๓ 

    (ศึกษาศาสตร์ - การสอน)

๒. ปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์             มหาวิทยาลัยรามคำแหง                  ๑๑ มีนาคม ๒๕๒๔

     สาขาวิชาศึกษาศาสตร์

๓. ครุศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์          สภาประจำสถาบันราชภัฏ ๓๖ แห่ง            ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๑

     สาขาวิชาการศึกษา สายเทคนิค           ทั่วประเทศ             

     การศึกษา โปรแกรมวิชาการ

     บริหารการศึกษา

๔. การศึกษาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์           วิทยาลัยมหาสารคาม                                       ๙ มกราคม ๒๕๔๗

     สาขาวิชาพัฒนศึกษาศาสตร์ 

   ด้านสถาปัตยกรรมศาสตร์

๑. สถาปัตยกรรมศาสตรดุษฎีบัณฑิต         มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์                            ๒ สิงหาคม ๒๕๔๕

     กิตติมศักดิ์

๒. สถาปัตยกรรมศาสตรดุษฎีบัณฑิต         จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย                            ๑๔ กรกฎาคม ๒๕๔๘

     กิตติมศักดิ์

๓. ภูมิสถาปัตยกรรมศาสตรดุษฎีบัณฑิต    จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย                            ๙ สิงหาคม ๒๕๕๔

     กิตติมศักดิ์

 

                ปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ และเหรียญรางวัลเกียรติยศ ที่มหาวิทยาลัยและสถาบันในต่างประเทศประเทศทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย ดังนี้

 

ปริญญา เหรียญรางวัล                    มหาวิทยาลัย วิทยาลัย องค์กรต่างๆ          วันที่ เดือน พุทธศักราช

 ๑. ปริญญา Degree of Doctor        มหาวิทยาลัยทาขุโชคุ วิทยาเขต                          ๒๖ กันยายน ๒๕๓๐

      Honoris Causa                 เมียวกะดะนิ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น

๒. ปริญญาและเหรียญดุษฎีบัณฑิต  มหาวิทยาลัยการทหาร คิม อิล ซุง               ๑๐ มีนาคม ๒๕๓๕      

     กิตติมศักดิ์                                             สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลี

๓. ปริญญาและเหรียญดุษฎีบัณฑิต  มหาวิทยาลัยซานติอาโก                                            ๑๐ ตุลาคม ๒๕๓๙      

     กิตติมศักดิ์                                             แห่งสาธารณรัฐชิลี

๔. ปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์    มหาวิทยาลัยอีดิธ โคแวน นครเพิร์ท                   ๒๗ เมษายน ๒๕๔๒

     Degree of Doctor of the         รัฐออสเตรเลียตะวันตก

     University Honoris Causa      เครือรัฐออสเตรเลีย

๕. ปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์  มหาวิทยาลัยกริฟฟิธ นครบริสเบน                 ๓๐ มีนาคม ๒๕๔๔

     สาขาบริการชุมชน                  รัฐควีนส์แลนด์ เครือรัฐออสเตรเลีย

                                                                (ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย ณ วังศุโขทัย)

๖. เหรียญรางวัลเกียรติยศ Lifetime   สภามวยโลก                                                            ๑๒ ธันวาคม ๒๕๔๕

     Achievement Golden                             (ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย ณ วังศุโขทัย)

 

 

                                จากหนังสืออ่านเพิ่มเติม กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม

                                สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ. 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"