'พ่อของฟ้า'ท้าทายศาล ไทม์ไลน์จัดตั้งรัฐบาลใหม่ การเมืองไทยยังคุกรุ่น


เพิ่มเพื่อน    

      ช่วงสัปดาห์นี้ถือว่าเป็นโอกาสพิเศษของปวงชนชาวไทยที่กำลังเฉลิมฉลองในการ พระราชพิธีบรมราชาภิเษก และกำลังจะได้รัฐบาลใหม่ที่มาจากการเลือกตั้ง ตามระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข   

                ขณะที่บรรยากาศทางการเมืองก็ยังคุกรุ่นประเด็นการถือครองหุ้นสื่อ ในกรณี นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ยื่นเรื่องให้สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ตรวจสอบคุณสมบัติของ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) เข้าข่ายลักษณะต้องห้ามในการใช้สิทธิ์สมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส.ตามรัฐธรรมนูญ 98 (3) และ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 42 (3)

                ที่บัญญัติว่า "เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ" ในกรณีนายธนาธรยังถือหุ้น บริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด หลังจากที่อ้างว่าโอนหุ้นทั้งหมดให้นางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ มารดาแล้ว ตั้งแต่ 8 ม.ค.62 และแจ้งนายทะเบียนเมื่อวันที่ 21 มี.ค.62 แล้ว แต่ก็ยังมีข้อสงสัยว่าทำย้อนหลังหรือไม่?

                จากการชี้แจงของ นายธนาธร และ นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรค

ยิ่งทำให้สังคมกังขากับว่าที่ ส.ส.พรรคอนาคตใหม่จากท่วงทำนองที่ไม่ยอมรับกระบวนการตรวจสอบของสังคมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

                โดยอ้างว่าการตรวจสอบดังกล่าวมาจากเหตุจูงใจทางการเมืองที่ต้องการกำจัดศัตรู ไม่ต้องการให้พวกตนเข้าสภาฯ เรื่องที่ทำให้ตนเองอารมณ์เสียมาก พร้อมกับขู่จะดำเนินการฟ้องกลับทั้งนายศรีสุวรรณ กกต.และบุคคลที่เกี่ยวข้อง ซึ่งต่อมา 11 ว่าที่ ส.ส.อนาคตใหม่ ไปแจ้งความนายศรีสุวรรณข้อหากระทำการอันเป็นเท็จ

                "เส้นของความอดทนมันใกล้หมดกันเต็มที ถึงวันหนึ่งคงต้องใช้วิธีกฎหมายโต้กลับบ้าง และถึงเวลานั้นก็จะไม่มีใครมีเวลาไปบริหารประเทศ ทั้งประเทศไทย ผู้มีอำนาจก็จะต้องใช้เวลามาแก้ตัว“ นายธนาธรกล่าว

                เป็นการโทษคนตรวจสอบ ทั้งที่เรื่องทั้งหมดมาจากพวกตนก่อขึ้นเอง จากกรณี นายภูเบศวร์ เห็นหลอด ผู้สมัคร ส.ส.พรรค อนค. เขต 2 จ.สกลนคร โดนศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งสั่งเพิกถอนชื่อออกจากผู้สมัคร ส.ส.เพราะขาดคุณสมบัติ

                โดยนายภูเบศวร์อ้างว่า หจก.​มาร์ส ​เอ็นจิเนียริ่ง ​แอนด์ ​เซอร์วิส ของตนทำธุรกิจก่อสร้างอย่างเดียว แต่ศาลยึดตามวัตถุประสงค์สําเร็จรูป 43 ข้อ ที่​ว่า "ประกอบกิจการสถานีวิทยุกระจายเสียงและโทรทัศน์ ​รับจัดทำสื่อโฆษณา ​สปอตโฆษณา ​เผยแพร่ข้อมูล"

                ทำให้กังวลกันว่าหากยึดบรรทัดฐานเดียวกันจะมีว่าที่ ส.ส.โดนเพิกถอนสิทธิ์อีกนับร้อยราย ซึ่งก็ยังมีข้อพิจารณาว่าศาลยึดแค่แบบฟอร์มสำเร็จรูปตามหนังสือ บริคณห์สนธิ แค่นั้นหรือ เพราะก่อนจะมาเป็นคำฟ้องต้องผ่านขั้นตอนการตรวจสอบของ กกต.โดยเจ้าหน้าที่สืบสวนสอบสวน มีคณะกรรมการประจำเขตเลือกตั้ง มีนิติกรของ กกต.ทำความเห็นและข้อกฎหมายพร้อมกับการแสวงหาข้อเท็จจริง ก่อนทำคำร้องส่งฟ้อง ฉะนั้นผู้สมัครแต่ละคนจึงมีข้อเท็จจริงแตกต่างกันไป

                ที่สำคัญต้องยึดตามเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ ที่ไม่ต้องการให้ผู้สมัคร ส.ส.ใช้สื่อของตนหรือที่ตนมีส่วนได้ส่วนเสียมาใช้เพื่อประโยชน์ทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นการโปรโมตตนเองหรือใส่ร้ายทำลายผู้อื่น

                ส่วนการดำเนินการของ กกต.ก็ปฏิบัติตามกฎหมาย เมื่อมีผู้ร้องก็ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบก่อนเสนอ กกต.พิจารณาว่าจะยื่นต่อศาลฎีกาฯ เพิกถอนสิทธิ์หรือไม่

                นอกจากนี้แนวทางการพิจารณาของ กกต.ก็ยึดหลัก "เมื่อพบเห็นการกระทําใดที่มีเหตุอันควรสงสัยว่าการเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรมหรือเป็นไปโดยมิชอบด้วยกฎหมาย" ทั้งนี้ เพื่อคุ้มครองผลประโยชน์ของรัฐ แต่ยังคงให้สิทธิ์กับผู้ถูกร้องในการชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา แตกต่างจากกฎหมายอาญาที่ต้องปราศจากข้อสงสัย จึงจะสามารถดำเนินการฟ้องร้องเอาผิดได้

                ขณะที่ผู้สมัคร ส.ส.และว่าที่ ส.ส.ของพรรคการเมืองใหญ่อย่าง พรรคเพื่อไทย-พรรคประชาธิปัตย์ ก็ไม่พบว่ามีปัญาดังกล่าวมากนัก เนื่องจากรู้และเข้าใจเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญและเคลียร์ตัวเองก่อนลงสมัคร         สำหรับว่าที่ ส.ส.ของพรรคการเมืองต่างๆ ที่ถูกร้องตรวจสอบคุณสมบัติว่าขัด รธน.เช่นเดียวกับนายภูเบศวร์ และนายธนาธร ก็ไม่มีใครแสดงความกังวล หรือตอบโต้ ข่มขู่ ผู้ตรวจสอบ แต่อย่างใด

                เช่น นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ ว่าที่ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) บอกว่า "หากถือหุ้นในบริษัทสื่อฯ หรือผิดพลาดที่ไม่ได้ขายหรือโอนในกฎเกณฑ์ของ กกต.ตามกรอบกฎหมาย ก็หลุดจากการเป็น ส.ส. ง่ายๆ ตรงๆ ไม่มีอ้อมไปมา และก็พร้อมรับคำตัดสินแบบลูกผู้ชาย"

                จึงน่าแปลกใจทำไม พรรคอนาคตใหม่ จึงต้องโวยวายกันเกินขอบเขต ทั้งที่ กกต.ก็ไม่เคยบอกว่าจะแจกใบส้ม-เพิกถอนสิทธิ์ก่อนประกาศรับรอง ส.ส. และก็ยังไม่รู้ว่าศาลจะพิจารณาตัดสินอย่างไร 

                หากจะหาว่ากระบวนการยุติธรรม 2 มาตรฐานก็เคยปรากฏอยู่เสมอว่ากรณีศาลตัดสินให้พวกตัวเองได้ประโยชน์ก็ชื่นชมว่าศาลยุติธรรม แต่หากเสียประโยชน์ก็โวยว่า 2 มาตรฐาน เสมือนเป็นพวกเอาแต่ได้หรือไม่

                และที่แสดงถึงการท้าทายกระบวนการยุติธรรม นายธนาธร ประกาศว่า "ถ้าใครพิจารณาคดีความของตนแล้วทำให้เกิดความเสื่อมเสียก็จะใช้สิทธิ์ดำเนินการทางกฎหมายตอบโต้ จะรอให้ คสช.หมดอำนาจแล้วดำเนินคดีกับคนที่ตัดสินผมโดยไม่ใช้หลักฐานทางวิทยาศาสตร์รองรับ"

                เท่ากับข่มขู่ศาลหรือไม่ เพราะเรื่องนี้สุดท้ายแล้ว ศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้ง จะเป็นผู้ตัดสิน

                อย่างไรก็ตาม ปมสำคัญเรื่องการโอนหุ้นของนายธนาธรที่หลายฝ่ายข้องใจคือ เช็คจำนวน 6,750,000 บาท ที่นางสมพรสั่งจ่ายนั้นได้นำเข้าบัญชีหรือไม่ อย่างไร จะเป็นการพิสูจน์ว่าทำนิติธรรมย้อนหลังหรือไม่? แต่นายธนาธรก็ไม่นำมาพิสูจน์ กลับอ้างว่าภรรยาเป็นคนถือเงิน?

                จึงน่าพิจารณาว่า หลัง แม่ทัพอนาคตใหม่ ตกม้าตาย ไม่ได้เข้าสู่อำนาจยึดทำเนียบรัฐบาล บรรดาก๊วน พ่อของฟ้า จะใช้เหตุนี้เขย่าการเมืองไทย เพื่อเปลี่ยนแปลงประเทศตามที่ต้องการอย่างไร

                โดยเฉพาะหลังมีการประการรับรอง ส.ส. ในวันที่ 7-8 พ.ค.นี้ ก็จะมีความเคลื่อนไหวจัดตั้งรัฐบาลอย่างชัดเจนขึ้น 

                โดยสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรรายงานถึงผลการหารือกับ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ว่า กรณี กกต.ประกาศผลการเลือกตั้ง ส.ส.อย่างช้าที่สุดในวันที่ 9 พ.ค.62 คสช.ต้องคัดเลือก ส.ว. จำนวน 250 คน ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 11 พ.ค.62 คาดว่าจะนำรายชื่อ ส.ส.และ ส.ว.ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งภายในวันที่ 12 พ.ค.62 จากนั้น ส.ส.จะรายงานตัวที่สำนักงานเลขาธิการสภาฯ อาคารรัฐสภา (เกียกกาย) สำหรับ ส.ว.จะรายงานตัวที่สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา อาคารสุขประพฤติ ถนนประชาชื่น

                สำหรับรัฐพิธีเปิดประชุมรัฐสภา จะมีขึ้นในช่วงวันที่ 18-19 พ.ค.62 และตามธรรมเนียมปฏิบัติจะจัด ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม ซึ่งจะมีการประสานกับสำนักงานราชเลขาธิการในเรื่องสถานที่อีกครั้ง

                สำหรับการประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรก เพื่อเลือกประธานและรองประธาน รวมไปถึงการประชุมวุฒิสภาครั้งแรก เพื่อเลือกประธานและรองประธานวุฒิสภา เบื้องต้นจะจัดขึ้นที่หอประชุมใหญ่ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) สำนักงานใหญ่ ถนนแจ้งวัฒนะ

                ส่วนการประชุมรัฐสภาเพื่อให้ความเห็นชอบนายกฯ นายวิษณุ ระบุว่า หากมีการทูลเกล้าฯ ถวายแต่งตั้งประธานและรองประธานสภาฯ รวมไปถึงประธานและรองประธานวุฒิสภา ในวันที่ 23 พ.ค.62 จะสามารถเรียกประชุมรัฐสภา เพื่อเลือกนายกฯ ได้ตั้งแต่วันที่ 24 พ.ค.62 เป็นต้นไป 

                ทั้งนี้ นายวิษณุยังระบุว่า ขั้นตอนตามมาตรา 272 ในรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ว่าด้วยการเสนอชื่อบุคคลซึ่งสมควรเป็นนายกฯ นั้น ต้องกระทำในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา ตั้งแต่ขั้นตอนการเสนอรายชื่อบุคคลจนถึงการลงมติให้ความเห็นชอบ ไม่จำเป็นต้องแยกไปเสนอรายชื่อในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรก่อน

                จากไทม์ไลน์ดังกล่าว ปลายเดือน พ.ค.จะเห็นหน้านายกฯ คนใหม่อย่างแน่นอน

                ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. กล่าวตอนหนึ่งระหว่างเป็นประธานพิธีเปิดงานวันแรงงานแห่งชาติ เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม ว่า รัฐบาลนี้มีเวลาทำงานอยู่อีกประมาณเดือนหน้า จนกว่าจะมีรัฐบาลใหม่ในเดือนมิถุนายน ช่วงนี้เราก็จะเตรียมการเอากฎหมายที่ยังทำไม่เสร็จ หรือทำเสร็จแล้ว ก็จะออกกฎหมายลูก เพื่อให้ดำเนินการได้โดยเร็ว และกฎหมายที่พิจารณายังไม่เสร็จก็ต้องมีการพิจารณาต่อไปในรัฐสภา ที่มีรัฐบาลใหม่ ยืนยันทุกอย่างที่ทำวันนี้ ที่ทำมา 5 ปี จะสืบสานต่อในรัฐบาลใหม่ อันนี้คือความต้องการของประชาชน

                "ขณะนี้เราอยู่ในรัชกาลที่ 10 เป็นรัชกาลปัจจุบัน เป็นช่วงการเปลี่ยนผ่านรัชกาล เหลือแต่พระราชพิธีบรมราชาภิเษก ซึ่งจะมาถึงอีกไม่กี่วันข้างหน้า เราต้องทำให้บ้านเมืองของเราปลอดภัย สงบสุขเรียบร้อย มีเสถียรภาพ ด้วยความมั่นคง ด้วยความเข้าใจ ด้วยการเดินหน้าประเทศไทยพร้อมกัน ในการที่จะปฏิรูปประเทศทั้งหมด ทุกอย่างต้องอาศัยพวกเราทุกคนช่วยกัน ทำให้บ้านเมืองมีความสุขสงบ เรียบร้อย ปลอดภัยเช่น 5 ปีที่ผ่านมา ต้องสร้างความยั่งยืนให้ได้ ไม่ล้มลุกคลุกคลานอีกต่อไป ผมสัญญาว่าจะทำทุกอย่างเต็มที่ และจะส่งต่อรัฐบาลที่จะมาจากการเลือกตั้งต่อไป"

                อย่างไรก็ตาม การจัดตั้งรัฐบาลก็ยังมีปมปัญหากรณีการคำนวณ ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ หลังศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้องตีความของ กกต. ซึ่งแนวโน้ม กกต.จะใช้สูตรคำนวณของคณะกรรมการรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่ยึดหลักจัดสรรปันส่วนทุกคะแนนไม่ให้ตกน้ำ จะทำให้มีพรรคการเมืองได้ ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ 27พรรค

                สูตรนี้ถูกมองว่าเป็นการเอื้อประโยชน์ให้พรรคพลังประชารัฐ ในการรวบรวม ส.ส.เสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ ได้สะดวก ทำให้พรรคเพื่อไทยเตรียมยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญ หรือยื่นผู้ตรวจการแผ่นดินตีความอีก

                ปมปัญหาเรื่องการถือหุ้นสื่อ และสูตรคำนวณ ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ จึงยังเป็นเงื่อนไขสำคัญในการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ และจะส่งผลต่ออุณหภูมิการเมืองในรัฐบาลชุดต่อไป.

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"