ผู้แทนระดับสูงสาธารณรัฐเคนยาศึกษาดูงาน ‘บ้านมั่นคงที่พอช.’


เพิ่มเพื่อน    

วันนี้ (7 พฤษภาคม) เวลา 9.30 น.  ผู้บริหารระดับสูงและผู้แทนราษฎรจากสาธารณรัฐเคนยาจำนวน 8 คน จากโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยคนจนเมือง  สาธารณรัฐเคนยา (Kenya Informal  Settlements  Improvement  Project)  กระทรวงคมนาคม  สาธารณูปโภค  งานพัฒนาที่อยู่อาศัยภาคเมือง  และงานโยธาธิการ  ประเทศสาธารณรัฐเคนยา  ได้เดินทางมาที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช.’ ถนนนวมินทร์  เขตบางกะปิ  กรุงเทพฯ เพื่อศึกษาดูงานการพัฒนาที่อยู่อาศัยของสถาบันฯ ตามโครงการ ‘บ้านมั่นคง’ 

นายไมตรี อินทุสุต (ซ้าย) และ Mr.Patrick  ผู้แทนคณะดูงานจากสาธารณรัฐเคนยา

 

นายไมตรี  อินทุสุต  ประธานกรรมการสถาบันฯ และคณะผู้บริหารสถาบันฯ ได้ให้การต้อนรับ และกล่าวถึงบทบาทของ พอช. ในการขับเคลื่อนงานพัฒนาที่อยู่อาศัยของประชาชนที่มีรายได้น้อยให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20  ปี  โดยเฉพาะการลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเสมอภาค ความเป็นธรรม และการเข้าถึงโอกาส ไม่ปล่อยให้ใครอยู่ข้างหลัง  โดยคำนึงถึงเป้าหมายการพัฒนาของสหประชาชาติว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) เป็นสำคัญ  โดย พอช.เป็นหน่วยงานในสังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ที่ทำงานเกี่ยวกับการพัฒนาคนและองค์กรชุมชน  ให้ชุมชนได้จัดการตนเอง ส่งเสริมกองทุนชุมชน  สร้างสรรค์สวัสดิการชุมชน  และการสร้างบ้านมั่นคงในรูปแบบต่าง ๆ ตามแผนแม่บทการพัฒนาที่อยู่อาศัยระยะ 20 ปี (พ.ศ.2560-2579) ของรัฐบาล ซึ่งขณะนี้มีความคืบหน้าโดยลำดับ  โดยเฉพาะการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลองลาดพร้าว  กรุงเทพฯ  ที่เริ่มดำเนินการในรัฐบาลนี้

 

นางทิพย์รัตน์  นพลดารมย์  ที่ปรึกษา พอช. ได้บรรยายสรุปถึงการดำเนินการของโครงการบ้านมั่นคง ตั้งแต่สภาพปัญหา ความเป็นมา องค์ประกอบ และพัฒนาการในช่วง 16 ปีที่ผ่านมา ซึ่งผลการดำเนินการ  สรุปได้ว่า  ในประเทศไทยมีชุมชนผู้ที่มีรายได้น้อยจำนวน 5,500 ชุมชน  ใน 300  เมือง  ประชากรรวมประมาณ  8.25  ล้านคน  มีความไม่มั่นคงในที่ดินจำนวน  3,700  ชุมชน   จำนวน 65 %  เป็นที่ดินเช่าที่ไม่มีสัญญาเช่าที่มั่นคง  จำนวน  35 % อยู่อาศัยในที่ดินบุกรุก  จำนวน 445  ชุมชนถูกขับไล่  และ 70-80 %  ไม่สามารถเข้าถึงตลาดที่อยู่อาศัยและระบบบริการสาธารณะ

 

ส่วนผลการดำเนินโครงการบ้านมั่นคงตั้งแต่ปี 2546-2561  สถาบันฯ  ได้ดำเนินการในพื้นที่  76 จังหวัด  จำนวน 353 เมือง  รวม 931  โครงการ  ครอบคลุม 2,061 ชุมชน   รวม  100,216  ครัวเรือน  รวมงบประมาณที่สนับสนุนการพัฒนาที่อยู่อาศัย 160 ล้านเหรียญสหรัฐ (5,600 ล้านบาท/ครัวเรือนละ 75,000 บาท) ให้สินเชื่อพัฒนาที่อยู่อาศัยไม่เกินครัวเรือนละ 5,500 เหรียญสหรัฐ  รวมสินเชื่อที่สถาบันฯ สนับสนุน  203 ล้านเหรียญสหรัฐ (7,105 ล้านบาท)

Mr.Patrick Bucha  หัวหน้าคณะผู้แทนคณะศึกษาดูงานงานโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยคนจนเมือง  สาธารณรัฐเคนยา (Kenya Informal  Settlements  Improvement  Project)  กล่าวถึงวัตถุประสงค์ในการเดินมาศึกษาดูงานครั้งนี้ว่า  ประเทศไทยถือเป็นต้นแบบในการพัฒนาที่อยู่อาศัยของประชาชนที่มีรายได้น้อย  โดยเฉพาะนโยบายของรัฐบาลไทยที่ได้ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยจนประสบความสำเร็จ  คณะศึกษาดูงานจึงต้องการมาแลกเปลี่ยนประสบการณ์และความรู้ด้านการพัฒนาที่อยู่อาศัยในประเทศไทย  เพื่อนำไปปรับใช้ในโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยคนจนเมือง  จำนวน 14 เมืองในประเทศเคนยา 

 

ทั้งนี้ในการเดินทางมาศึกษาดูงานโครงการบ้านมั่นคงของสถาบันฯ  คณะจากเคนยาได้เดินทางไปดูพื้นที่ชุมชนเจริญชัยนิมิตใหม่  เขตจตุจักร  ซึ่งเป็นโครงการบ้านมั่นคงนำร่อง 1 ใน 10 ชุมชนที่ดำเนินการตั้งแต่ปี 2546  โดยมีรูปแบบการพัฒนาที่อยู่อาศัยในที่ดินเดิม  และชุมชนบางบัว  เขตบางเขน  ซึ่งเป็นชุมชนริมคลองลาดพร้าวชุมชนแรกที่รื้อบ้านออกจากแนวคลองและแนวเขื่อนเพื่อสร้างบ้านและชุมชนใหม่  นอกจากนี้คณะจากเคนยายังมีกำหนดการศึกษาดูงานที่การเคหะแห่งชาติ  และธนาคารอาคารสงเคราะห์ในระหว่างวันที่ 7-12 พฤษภาคมนี้

 

โครงการบ้านมั่นคงของสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ เริ่มดำเนินการครั้งแรกในปี 2546  เริ่มจากชุมชนนำร่อง 10 แห่งทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด  เป้าหมายเพื่อให้ประชาชนที่มีรายได้น้อยในชุมชนแออัด   ซึ่งมีที่อยู่อาศัยไม่มั่นคง  เช่น  ปลูกสร้างบ้านในที่ดินเช่า  หรือบุกรุกที่ดินเอกชน  ที่ดินรัฐ  ให้มีที่อยู่อาศัยใหม่ที่มั่นคง  โดยชาวบ้านร่วมกันแก้ไขปัญหาในรูปแบบที่ชาวบ้านเป็น ‘เจ้าของโครงการ’ ไม่ใช่ ‘หน่วยงานรัฐทำให้’ เหมือนที่ผ่านมา  เช่น  มีคณะทำงาน  มีการจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อเป็นทุนซื้อที่ดินและสร้างบ้าน  และร่วมกันบริหารโครงการ  โดยสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ หรือ ‘พอช.’ สนับสนุนด้านความรู้  งบประมาณและสินเชื่อ  ทำให้ประชาชนที่มีรายได้น้อยมีที่อยู่อาศัยที่มั่นคง  จนได้รับการยอมรับจากนานาประเทศ  และเป็นแหล่งศึกษาดูงานการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของหน่วยงานต่างๆ จากทั่วโลก

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"