ร่างกฎหมาย ส.ส.-ส.ว. สะเทือนชะตารัฐบาล


เพิ่มเพื่อน    

      สังคมจับกลุ่มวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักสำหรับการตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ร่วม 3 ฝ่าย เพื่อพิจารณา ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และ ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) เพราะเป็นร่างกฎหมายที่สำคัญสองฉบับสุดท้าย ปูทางสู่โรดแมปการเลือกตั้ง เนื่องจากในรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ว่าต้องมีกฎหมาย 4 ฉบับถึงจะมีการเลือกตั้งได้ ได้แก่ กฎหมายลูกว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.), กฎหมายลูกว่าด้วยพรรคการเมือง, กฎหมายลูกว่าด้วย ส.ส. และกฎหมายลูกว่าด้วยส.ว.

      หากมีเหตุอันทำให้ร่างใดร่างหนึ่งในสองฉบับต้องถูกตีตกไป จะต้องเริ่มยกร่างใหม่ซึ่งอาจใช้เวลาน้อยหรือมากเพียงใดก็สุดคาดเดา แต่ที่แน่ๆ การเลือกตั้งต้องถูกขยายเวลาออกไปและอาจกลายเป็นหนึ่งในชนวนเหตุเขย่ารัฐบาล

      โดยขณะนี้ร่างกฎหมายเกี่ยวกับ ส.ส.และ ส.ว.อยู่ระหว่างการพิจารณาของ กมธ.ร่วม 3 ฝ่าย ประกอบด้วยตัวแทนจาก สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) 5 คน, คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) 5 คน และ กกต. 1 คน โดยก่อนหน้าที่จะประชุมนัดแรกมีประเด็นเพ่งเล็งที่ กรธ.และ กกต.ทำข้อโต้แย้งมาตรงกัน คือกรณี สนช.แก้กฎหมายให้สามารถจัดมหรสพระหว่างการหาเสียงเลือกตั้ง ส.ส.ได้

      มีนัยว่าในชั้นนี้ สนช.จะกลายเป็นเสียงข้างน้อยเพราะมีเพียง 5 เสียง ขณะที่ กรธ.และ กกต.เป็นเสียงส่วนใหญ่คือ 6 เสียง โดยเห็นพ้องต้องกันว่าไม่ควรให้จัดมหรสพ และหาก สนช.ดึงดันในความคิดของตนเองนำเรื่องจัดมหรสพเข้าสู่ที่ประชุมใหญ่ สนช. อาจจะถูกโหวตคว่ำร่างกฎหมาย ส.ส.ซึ่งนั่นหมายถึงดับฝันการจัดการเลือกตั้ง แต่ล่าสุดในประเด็นดังกล่าว สนช.ยอมถอย โดยในชั้น กมธ.ร่วมมีมติเอกฉันท์ห้ามจัดมหรสพระหว่างการเลือกตั้ง เท่ากับว่าระเบิดรัฐบาลด้านไปหนึ่งลูก

      อย่างไรก็ตามยังมีเรื่องที่ต้องพึงระวังอีกหลายประเด็น แม้จะเป็นเพียงเสียงของ กรธ.คัดค้านฝ่ายเดียว โดยเฉพาะในร่างกฎหมายลูก ส.ว. ทั้งวิธีการเลือก ส.ว.จากให้เลือกไขว้เป็นเลือกตรง การจัดกลุ่ม ส.ว.จาก 20 กลุ่มเหลือ 10 กลุ่ม ที่สำคัญประเภทของ ส.ว.ที่แต่เดิมมาจากการสมัครอิสระเพียงอย่างเดียว แต่ที่ประชุม สนช.แก้ไขให้มาได้ 2 ทาง คือสมัครอิสระ และส่งในนามองค์กร โดย กรธ.ทักท้วงว่าขัดกับรัฐธรรมนูญ ซึ่งทั้งหมดอาจเป็นปมนำไปสู่การยืดเลือกตั้งอีกก็ได้

      สำหรับร่างกฎหมายลูก ส.ส.มีข้อโต้แย้งอีก 2 ข้อที่ กมธ.ร่วมจะต้องพิจารณา คือการขยายเวลาเปิดปิดคูหา และการให้ผู้พิการมีผู้ช่วยในการออกเสียง ซึ่ง กมธ.อ้างว่าขัดรัฐธรรมนูญเช่นกัน เพราะกฎหมายแม่บัญญัติให้การลงคะแนนต้องเป็นความลับ

      ปัญหาทั้งหมดทั้งมวลข้างต้น พรเพชร วิชิตชลชัย หัวเรือใหญ่แห่ง สนช.ถึงกับใช้คำว่า ปิดประตู  คอนเฟิร์มว่า สนช.จะไม่คว่ำร่างทั้ง 2 ฉบับ เพราะสามารถเจรจาตกลงกันได้ในชั้น กมธ.ร่วม 3 ฝ่าย  โดยพูดคุยกันด้วยเหตุผล

      การออกมาให้สัมภาษณ์เช่นนี้ถือเป็นการลดโทนความตึงเครียดทั้งในและนอกสภา พอให้ได้ทราบทิศทางการพิจารณาร่างกฎหมายทั้งสองฉบับจะออกในรูปแบบใด อีกทั้งเป็นการสะท้อนความคิดของรัฐบาล คสช.ว่าจะเอาอย่างไรต่อไป

      ทั้งนี้ทั้งนั้นการเมืองเป็นเรื่องของเวลาและจังหวะ คราวใดสบช่องทางสะดวกมีความเป็นไปได้ ผู้มีอำนาจอาจสั่งพลิกสถานการณ์ เรื่องที่ว่าจะจบกันง่ายกลายเป็นจบยากก็มี ขึ้นอยู่กับ คสช.จะประเมินสถานการณ์การเมือง ณ ขณะนั้นอย่างไร

      แต่หากเดินเกมในสภาผิด รัฐบาลคงไปต่อลำบาก เพราะนอกจากจะถูกข้อหาตั้งใจเลื่อนเลือกตั้งแล้ว ในเวลาเดียวกันยังมีภาคประชาชนรวมตัวประท้วงรัฐบาลในปัญหาต่างๆ ซึ่งทั้งหมดจะประดังประเดจนอาจเกิดพลาดพลั้งได้ ทางที่ดีอย่าใช้แทกติกในสภาไม่ใช่นั้นจะกลายเป็น เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว

      งานนี้ คสช.อ่านอารมณ์สังคมให้ออกก็แล้วกัน ว่าประชาชนตัวจริงอยากเลือกตั้ง หรือเบื่อหน้ารัฐบาล!!!


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"