เที่ยวนารา ชมวัดวา-ดูกวาง


เพิ่มเพื่อน    

อุโบสถไม้วัดไทโด วัดสำคัญแห่งยุคนารา

    สัปดาห์ที่แล้วผมได้นำท่านผู้อ่านไปเยือนส่วนหนึ่งของพระราชวังเฮโจะ พระราชวังหลวงแห่งยุคนารา แล้วแวะกินราเม็งที่ร้านโปรดของฮิโรกิเป็นมื้อเที่ยง จากนั้นเพื่อนชาวญี่ปุ่นของผมคนนี้ก็ขับนิสสันไมโครคาร์พาเราไปยังใจกลางเมืองนาราในปัจจุบัน

                ที่จอดรถมีอยู่ทั่วไป บ้างเล็กบ้างใหญ่ หากใครมีที่ดินว่างๆ ในเมืองแล้วคิดไม่ออกว่าจะประกอบกิจการอะไรดี ก็ขอให้มาลงที่ลานจอดรถ ไม่ต้องใช้คนงาน ไม่ต้องมีคนเฝ้า แค่ติดตั้งเครื่องจ่ายเงินและอุปกรณ์กันรถออกจากที่จอดโดยไม่จ่ายเงิน ก็เป็นอันว่านั่งกินนอนกินได้

                ฮิโรกิจอดรถแล้วเดินนำเราไปยังตรอกฮิกาชิมูกิฝั่งเหนือในย่านเมืองเก่า ผ่านร้านอาหาร ร้านกาแฟ ร้านขายของที่ระลึก เขาชี้ให้ผมดูร้านหนังสือชื่อ Toyosumi บอกว่าเปิดมาร้อยกว่าปีแล้ว แต่วันนี้ร้านปิด

                เราแวะซื้อกาแฟร้อนใส่แก้วกระดาษ เดินจิบแก้ง่วงและแก้หนาวไปพร้อมกัน จนมาถึงโอมิยะดอริ ถนนใหญ่สายสำคัญของเมือง เลี้ยวซ้ายไปไม่ไกลเจอศาลาว่าการจังหวัดนาราก็ข้ามถนนไปอีกฝั่ง ซื้อขนม “ชิกะเซมเบ้” หรือขนมข้าวเกรียบกวางจากแม่ค้าที่นั่งขายอยู่หน้าทางเข้าสวนสาธารณะนารา ขนมเซมเบ้กวางนี้มีลักษณะเป็นแผ่นวงกลมแบนๆ มัดรวมกันสิบกว่าแผ่น ราคาชุดละ 150 เยน ไม่ได้ทำจากเนื้อกวาง แต่สำหรับเอาไปให้กวางกิน ซึ่งกวางในภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า “ชิกะ” และเนื่องจากว่ามีกวางพันธุ์นี้อยู่ในญี่ปุ่นเป็นจำนวนมาก พวกมันจึงถูกเรียกว่ากวางพันธุ์ชิกะ และกวางญี่ปุ่น แม้ว่าจะมีปรากฏในประเทศอื่นด้วยก็ตาม

ตรอกฮิกาชิมูกิ เมืองนารา

                ทันทีที่เราเดินเข้าไป มีกวางสาม-สี่ตัวเข้ามาต้อนรับ พวกเราให้ขนมเซมเบ้มันคนละชิ้นสองชิ้น แล้วเดินต่ออีกนิด เห็นโบสถ์ทองคำและเจดีย์ 5 ชั้นของวัดโคฟุกุตั้งอยู่โดดเด่น นี่คือ 1 ใน 7 วัดอันยิ่งใหญ่ในจังหวัดนารา ก่อสร้างแล้วเสร็จในปี พ.ศ.1212 สมัยจักรพรรดิเทนจิ เดิมทีอยู่ในเมืองยามาชินะ จังหวัดยามาชิโระ ซึ่งปัจจุบันอยู่ในเขตจังหวัดเกียวโต ก่อนจะย้ายไปยังฟูจิวาระเกียวใน 3 ปีต่อมา และจำต้องย้ายอีกครั้งมาอยู่ยังด้านตะวันออกของเฮโจะเกียว (นารา) สถานที่ตั้งในปัจจุบัน

                วัดโคฟุกุอยู่ภายใต้การดูแลของตระกูลฟูจิวาระ ตระกูลที่มีอิทธิพลทางการเมืองสูงยิ่งในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นเป็นเวลาหลายร้อยปี แม้ว่าเมืองหลวงจะย้ายไปยังเฮอันหรือเกียวโตในเวลาต่อมา วัดอื่นๆ ในนาราถูกละเลยและลดความสำคัญลงไป แต่วัดโคฟุกุยังคงรักษาสถานะเดิมไว้ได้ เพราะความสัมพันธ์แนบแน่นกับตระกูลฟูจิวาระ

เจ้าบ้านออกมาต้อนรับที่หน้าวัดโคฟุกุ

                ในกาลต่อมา วัดแห่งนี้ได้รับความเสียหายทั้งจากสงครามและอัคคีภัยหลายครั้ง และได้รับการปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่เสมอ ทว่าอาคารบางส่วนได้หายแล้วหายลับ เหลือสถาปัตยกรรมจำนวน 7 หลัง และรูปปั้น 4 ชิ้น ซึ่งล้วนได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นสมบัติสำคัญของชาติ นอกจากนี้วัดโคฟุกุในปัจจุบันยังเป็นศูนย์กลางสำหรับการเรียนการสอนพุทธศาสนานิกายโฮสโส หรือวิชญาณวาท

                เรายังอยู่บริเวณขอบหรือรอบนอกของสวนสาธารณะนารา (Nara Park) เดินผ่านเจดีย์ 5 ชั้นเข้าไปในส่วนที่เป็นสวนเล็กๆ เห็นนักท่องเที่ยวให้ขนมกวางอยู่หนาตา พวกมันเชื่องจนดูคล้ายง่วงนอน และหากเข้าไปใกล้ๆ เราก็จะได้กลิ่นสาบค่อนข้างรุนแรง

                เชื่อกันว่ามีผู้พบเห็นเทพองค์หนึ่งชื่อ “ทาเคมิคาซูชิ-โน-มิโกโตะ” (เป็น 1 ใน 4 เทพประจำศาลเจ้าคาซุกะ ศาลเจ้าสำคัญของตระกูลฟูจิวาระ ตั้งอยู่ไม่ห่างออกไป) ขี่กวางขาวอยู่บนเขาวากากุสะซึ่งตั้งอยู่ทางด้านตะวันออกเชื่อมต่อกับสวนสาธารณะนารา ด้วยเหตุนี้กวางในบริเวณนี้จึงได้รับการปกป้องคุ้มครองในฐานะสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ ผู้ใดฆ่ากวางก็จะได้รับโทษประหารตายตกตามกันไป ซึ่งโทษร้ายแรงนี้ใช้มาจนถึง พ.ศ.2212

 วัดโคฟุกุ อีกวัดสำคัญแห่งยุคนารา

                ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สถานะอันศักดิ์สิทธิ์ของกวางชิกะไม่มีอีกต่อไป หากแต่ได้รับการปกป้องในฐานะสัตว์ป่าคุ้มครองแทน เมื่อปี พ.ศ.2553 มีผู้สังหารกวางชิกะด้วยธนู ได้รับโทษจำคุก 6 เดือน

                สวนสาธารณะนารามีพื้นที่รวมเขตเชื่อมต่อรอบนอกประมาณ 4 พันไร่ มีกวางชิกะอยู่ถึงราว 1,500 ตัว ผู้คนถูกพวกมันทำร้ายปีละไม่ต่ำกว่าร้อยคน ส่วนมากเป็นนักท่องเที่ยวที่ให้อาหารกวางและเล่นกับพวกมันจนเกินพอดี อีกทั้งมีพืชผลทางการเกษตรและทรัพย์สินของชาวบ้านถูกกวางพวกนี้ทำให้เสียหายเป็นจำนวนมาก เมื่อ 3 ปีที่แล้วทางการได้กำหนดโซนขึ้น 4 โซนเพื่อควบคุมจำนวน หากกวางน้อยไปปรากฏตัวในโซนนอกสุดก็สามารถถูกจับและฆ่าได้โดยไม่มีความผิด จากสิ่งศักดิ์สิทธิ์กลายเป็นส่วนเกินไปเสียอย่างนั้น

                ฮิโรกิไม่ได้พาเราเข้าไปยังนาราปาร์ก แต่เดินออกสู่ถนนใหญ่อีกครั้ง เดินต่อไปทางทิศตะวันออก เลี้ยวซ้ายเข้าไปในส่วนที่เต็มไปด้วยนักท่องเที่ยว แวะซื้อขนมดังโงะ ลูกชิ้นแป้งราดซอสหวาน 3 ไม้ ไม้ละ 3 ลูก ยื่นให้เราคนละไม้ แต่เพื่อนร่วมทางของผมปฏิเสธ ผมช่วยฮิโรกิกินอีก 1 ลูก เขากินที่เหลือ จากนั้นเดินเข้าประตูนันไดของวัดโทได มียักษ์ผู้พิทักษ์ 2 ตนยืนอยู่คนละฝั่งอย่างน่าเกรงขาม ฮิโรกิเข้าไปซื้อตั๋ว 3 ใบสำหรับเข้าชมไดบุตสุ หรือหลวงพ่อโต ราคาตั๋วใบละ 600 เยน เขาไม่ยอมรับเงินเมื่อเรายื่นให้

กวางหนุ่มไม่ค่อยใยดีขนมเซมเบ้

                แม้ท้องฟ้ายามบ่ายจะไม่สดใสนัก แต่ซากุระที่กำลังผลิบานในช่วงที่เราไปเยือนก็ช่วยให้บรรยากาศสดชื่นคึกคักขึ้นได้มาก กลุ่มนักท่องเที่ยวหนุ่มชาวอินเดียส่งเสียงดังและไม่ค่อยจะสำรวม หนึ่งในกลุ่มนี้ไปพูดกับสตรีญี่ปุ่นในชุดกิโมโน ตอนแรกเขาขอถ่ายรูป ฝ่ายสาวเจ้าไม่เข้าใจความหมายหรือแกล้งทำก็ไม่รู้ เขาก็เปลี่ยนเป็นขอถ่ายรูปเธอเดี่ยวๆ แทน ผมเดินผ่านไปเสียก่อนที่จะทราบว่าสุดท้ายแล้วหนุ่มโรตีจะมีรูปของสาวปลาดิบไปอวดพรรคพวกหรือไม่

                ลานทางเดินกว้างขวางทอดนำเราไปสู่อุโบสถประดิษฐานพระพุทธรูปนั่งองค์โต หล่อจากทองสัมฤทธิ์ มีน้ำหนักถึง 500 ตัน สูง 15 เมตร เรียกว่าพระไวโรจนพุทธะ ประทับบนฐานรูปดอกบัว ด้านหลังมีพระพุทธรูปทองคำ 16 องค์ สูงองค์ละ 2.4 เมตร แผ่ออกล้อมกายหลวงพ่อโตอย่างสมมาตรเป็นรัศมี อีกทั้งยังมีพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์อีก 2 รูป ซ้าย-ขวาของหลวงพ่อโต

กวางกลุ่มนี้ถูกจัดให้อยู่เป็นที่เป็นทาง คอยรับอาหารจากนักท่องเที่ยว

                ในการฉายภาพเอกซ์เรย์ไม่นานมานี้พบฟันของมนุษย์ กระจก ดาบ ไข่มุกและอัญมณีอื่นๆ ในส่วนเข่าของพระพุทธรูป เชื่อว่าน่าจะเป็นของจักรพรรดิโชมูผู้มีพระบัญชาให้สร้างวัดแห่งนี้ขึ้นเช่นเดียวกับวัดประจำจังหวัดทั่วประเทศตามประกาศในปี พ.ศ.1284 ในช่วงเวลานั้นญี่ปุ่นประสบภัยธรรมชาติและโรคระบาดอยู่เนืองๆ พระองค์หวังว่าการสร้างวัดจะช่วยบรรเทาได้ โดยวัดไทไดจิ เดิมเรียกว่าวัดคินโชเซน ถือเป็นวัดประจำจังหวัดยามาโตะ (ในขณะนั้น) และเป็นศูนย์กลางการปกครองวัดต่างๆ ทั่วประเทศ

                สำหรับที่ตั้งวัดไทโด แรกเริ่มเดิมทีเมื่อปี พ.ศ.1271 จักรพรรดิโชมูสร้างขึ้นเป็นที่สถิตของดวงวิญญาณพระโอรสที่ประสูติจากมเหสีตระกูลฟูจิวาระซึ่งจากไปเมื่อมีพระชนม์ชีพได้เพียงพรรษาเดียว

                ในการสร้างวัดไทโดนั้น พระสงฆ์นาม “เกียวคิ” ผู้มีเชื้อสายเกาหลี พร้อมลูกศิษย์ได้เดินทางไปในหลายจังหวัดเพื่อรวบรวมข้าวของบริจาค ตามหลักฐานที่บันทึกไว้ มีประชาชนมากกว่า 2,600,000 คนมีส่วนร่วมในการก่อสร้างองค์หลวงพ่อโตและโบสถ์ไม้ที่มีเสา 48 ต้น สูง 30 เมตร เส้นผ่านศูนย์กลางต้นละ 1.5 เมตร สำหรับพระพุทธรูปเริ่มสร้างในปี พ.ศ.1286 แล้วเสร็จในปี พ.ศ.1294 ตามมาด้วยการก่อสร้างอาคารต่างๆ เพิ่มเติมอีกหลายหลัง รวมทั้งเจดีย์ 2 องค์ที่สูงถึงองค์ละ 100 เมตร

                ผู้ที่จะบวชเป็นพระสงฆ์ในสมัยนั้นต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่ออกโดยวัดโทได สองภิกษุผู้ยิ่งใหญ่อย่างท่านไซโชและท่านคูไก (โคโบ-ไดชิ) ก็ได้บวชที่วัดแห่งนี้ ก่อนที่ท่านไซโชจะไปตั้งสำนักนิกายเทนไดบนภูเขาฮิเออิ ใกล้เมืองเกียวโตในปัจจุบัน ส่วนท่านคูไกก็ไปตั้งนิกายชินงอนบนภูเขาโกยะ ในจังหวัดวากายามะ ถือเป็นสองนิกายที่มีอิทธิพลทางการเมือง ต่อชนชั้นสูงและปัญญาชนในญี่ปุ่นมากทีเดียว ความสำคัญของวัดไทโดจึงเริ่มลดลงนับแต่นั้น  

                อุโบสถหลวงพ่อโตถูกสร้างขึ้นใหม่ 2 ครั้งจากเหตุเพลิงไหม้ หลังปัจจุบันถูกสร้างขึ้นในปี พ.ศ.2252 ยาว 57 เมตร กว้าง 50 เมตร ซึ่งเล็กกว่าหลังเก่า 30 เปอร์เซ็นต์ แต่ก็ยังเป็นอาคารไม้ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกจนกระทั่งสนามเบสบอล Odate Jukai Dome ถูกสร้างเสร็จในปี พ.ศ.2541 ขณะที่องค์พระได้ถูกหล่อขึ้นใหม่หลายครั้งเพราะได้รับความเสียหายจากเหตุแผ่นดินไหว

                แม้ว่าปัจจุบันอาคารหลายหลังรวมถึงเจดีย์ได้หายไป แต่วัดไทโดก็ยังมีความสมบูรณ์กว่าวัดโคฟุกุ ส่วนวัดที่มีความสำคัญเทียบเท่ากับ 2 วัดนี้อีกวัดชื่อวัดโฮริว ได้รับการเรียกขานว่า “วัดสำคัญ 3 วัด” วัดโฮริวเป็นวัดไม้ที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดในโลก สร้างเสร็จตั้งแต่ปี พ.ศ.1150 ตั้งอยู่ห่างออกไปพอสมควร แต่ก็ยังอยู่ในจังหวัดนารา 

ประตูนันไดของวัดไทโด 

                ผมเดินวนขวาไปทางด้านหลังขององค์พระ มีโมเดลของวัดในยุคเริ่มแรกตั้งอยู่ โมเดลอุโบสถหลังที่สร้างขึ้นใหม่เมื่อ 800 ปีก่อน และโมเดลของอุโบสถหลังปัจจุบัน ล้วนสร้างขึ้นในสัดส่วน 1 ต่อ 50

                อีกด้าน บริเวณหลังข้อศอกซ้ายขององค์พระ เสาไม้ต้นหนึ่งถูกเจาะเป็นอุโมงค์ติดกับพื้น มีความเชื่อว่าหากใครลอดผ่านไปได้จะมีโชค สมาชิกในกลุ่มคนหนุ่มจากอินเดียบางคนพยายามลอด เพื่อนๆ ที่เหลือก็ช่วยกันส่งเสียงและปรบมือเชียร์ พอลอดออกไปได้เสียงก็ยิ่งดังก้องอุโบสถ

                ร้านขายของที่ระลึกตั้งอยู่ข้างๆ ประตูทางออกหน้าโบสถ์ มีนักท่องเที่ยวรุมอยู่เต็มไปหมด คงใช้เวลานานหากจะเลือกซื้อของฝากสักชิ้น เราจึงพากันเดินออกมาสู่ลานกว้างหน้าโบสถ์ และเมื่อจะเลี้ยวซ้ายสู่ทางออกของวัดก็มีร้านขายของที่ระลึกตั้งอยู่เป็นแถวอีกสี่-ห้าร้าน

ไดบุตสุทองสัมฤทธิ์แห่งวัดไทโด

                ฮิโรกิซื้อของชนิดเดียวกันมา 3 ชิ้น ยื่นให้เราคนละชิ้น เปิดกล่องออกมาเป็นสร้อยข้อมือ ลักษณะคล้ายลูกประคำ เขาบอกว่าทำมาจากผลของต้นโพธิ์ที่ปลูกอยู่ข้างวัด พระสงฆ์นิกายเซนนาม “เอไซ” นำมาจากต้นโพธิ์เดิมที่ภูเขาเทียนไถ ประเทศจีน เมื่อปี พ.ศ.1734 ซึ่งเชื่อว่ามาจากต้นพระศรีมหาโพธิ์แห่งพุทธคยาอีกที

                “อยากให้เก็บไว้เป็นที่ระลึก เพื่อจะได้จำว่าเรามาเที่ยวที่นี่ด้วยกัน” ฮิโรกิพูดพร้อมยิ้มหวาน.  

 

 

แกลลอรี่


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"