"อำนาจ-ผลประโยชน์"ยังหอมหวาน การเมือง"จับขั้ว-แย่งชามข้าว"


เพิ่มเพื่อน    

 

      ทุลักทุเลกันพอสมควรกับการจัดตั้งรัฐบาล ที่สองขั้วล้วนมีคะแนนเสียงปริ่มน้ำ หากฝ่ายใดได้มาเป็นรัฐบาลเข้ามาบริหารประเทศในที่สุด จนทำให้บรรยากาศ ณ ขณะนี้ไม่ต่างจาก "การเมืองน้ำเน่า" ที่คนไทยได้เห็นมาตลอดชั่วชีวิต

                ตรรกะในการก่อกำเนิดของการจัดตั้งรัฐบาลของพรรคพลังประชารัฐที่หนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี อาจถูกอธิบายด้วยเรื่องยุทธศาสตร์ที่สำคัญกว่ายุทธวิธี เพราะเป้าหมายคือ "อำนาจ" ในการเข้ามาบริหารประเทศภายใต้ยุทธศาสตร์ 20 ปีที่ต้องการวางรากฐานให้การปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขเป็นรากฐานที่หยั่งรากลึก

                ขณะที่ อีกฝ่ายมีตรรกะการสร้างการเมืองในระบอบประชาธิปไตยที่ให้ความสำคัญกับกระบวนการในการได้มาซึ่งเสียงสนับสนุนจากประชาชนด้วยวิธีการเลือกตั้ง ภายใต้เงาของกลุ่มการเมืองที่เสียประโยชน์สิงสถิตเป็นร่างทรง เพื่อโค่นล้มอำนาจในระบบเดิมที่กำลังผนวกเข้ากับกลุ่มทุนอย่างแน่นหนา

                สภาพการณ์ที่คนไทยจะได้เห็น "การเมืองใหม่" ในชาตินี้คงเป็นไปได้ยาก เมื่อโครงสร้างของอำนาจยังเป็นเหมือนเดิม การต่อสู้เรื่องปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง การสร้างประชาธิปไตยโดยไม่มีการบิดเบือนกลายเป็นเพียงความฝัน แถมผลผลิตที่ได้คืนคือ อำนาจประชาชนเล็กลง ระบบราชการใหญ่ขึ้น พรรคการเมืองอ่อนแอ

                "สมดุล" และ "ถ่วงดุล" ถูกพังทลายด้วยความเข้มแข็งของคนกลุ่มหนึ่งที่มีกลุ่มทุนเป็นพันธมิตร

                หันมาดูปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น เมื่อโหมดการเมืองเริ่มเข้มข้น ทั้งการปรากฏตัวของ 11 พรรคการเมืองจิ๋วที่ประกาศสนับสนุนพรรคพลังประชารัฐเป็นไปตามที่คาดหมาย มิพักที่ต้องมีคนสัพยอกว่าไม่ต่างจากการรวมกลุ่มเพื่อรอชิ้นเนื้อ

                ขณะที่พรรคการเมืองต่างๆ นั่งนับเลขคำนวณสูตร ส.ส.แลกกระทรวงเกรดเอ บี ซี ไม่ต่างจากยุคลุง ป้า น้า อา ที่ถือเป็นผลตอบแทนในการกรำศึกเลือกตั้ง พา ส.ส.เข้ามานั่งในสภาได้ เพื่อใช้ในการต่อรองจับขั้วรัฐบาลของผู้มีอำนาจ

                ตัวละครที่เป็น "นักการเมืองอาชีพ" หน้าเดิม ตระกูลเดิม ก็ยังวนเวียนอยู่ในระบบพรรค มีการแตะมือหรือผสมผสานระหว่างคนรุ่นพ่อกับรุ่นลูกเข้ามาทำงาน  ภายใต้การต่อรองเรื่องเก้าอี้รัฐมนตรี ที่ไม่ได้ต่างจากที่เคยเห็นมาในช่วงหลายสิบปี

                ต่างก็ตรงที่ คนที่จัดสูตรรัฐบาลและมีอำนาจตัดสินใจคือ กลุ่มทหารที่เคยยึดอำนาจ และเข้ามาบริหารประเทศแล้ว 5 ปี

                แม้ขณะนี้การจัดตั้งรัฐบาลยังไม่เสร็จสิ้น แต่การแบ่งโควตาให้กับพรรคการเมือง กลุ่มการเมือง ก็ทำให้เห็นถึงการยึดเรื่องผลประโยชน์ที่เกี่ยวข้องกับงบประมาณและโครงการต่างๆ ที่ประชาชนเห็นแล้วก็คงได้แต่เบือนหน้าหนี

                เช่น กรณีที่มีกระแสข่าวแกนนำพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ต้องการดูแลกระทรวงสำคัญทั้งด้านเศรษฐกิจและกระทรวงที่จะสร้างผลงาน สร้างคะแนนนิยมในการเลือกตั้งครั้งหน้า ได้แก่ กระทรวงการคลัง กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งเป็นไปตามโควตาที่แบ่งให้กับพรรคร่วมรัฐบาล โดย พปชร. 15 ตำแหน่ง ปชป.และพรรคภูมิใจไทย (ภท.) พรรคละ 7 ตำแหน่ง พรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) 2 ตำแหน่ง นอกจากนี้ก็จะเกลี่ยให้กับพรรคที่ร่วมรัฐบาล

                แต่ พปชร.ยังคงยืนยันที่จะดูแลกระทรวงด้านเศรษฐกิจ กระทรวงด้านความมั่นคง ส่วนให้ตำแหน่ง รมช.เป็นของ ปชป.และ ภท. สำหรับกระทรวงเศรษฐกิจ แกนนำ พปชร.ยังยืนยันที่จะดูแล ก.คลัง ก.คมนาคม ก.พาณิชย์ โดยเปิดให้ ปชป.และ ภท.เข้ามาเป็น รมช. ส่วนกระทรวงเศรษฐกิจอื่นๆ ได้แก่ รมว.อุตสาหกรรม รมว.พลังงาน คาดว่าจะปล่อยให้กับพรรคร่วมรัฐบาลเข้ามาทำงาน

                หรือแม้กระทั่งรายชื่อ 250 สมาชิกวุฒิสภาที่เต็มไปด้วย 101 นายพลทหาร-ตำรวจ มีแต่คนกันเองที่ถูกเลือกมาเพราะเคยทำงานใน สปช. สปท. และ สนช. จนมีผลงานมาแล้ว จึงได้ทำงานต่อ ทั้งที่สมาชิกวุฒิสภาหรือสภาสูงควรต้องมีบุคคลที่มีความหลากหลาย มีความรู้ทุกด้าน และส่วนหนึ่งช่วยในการตรวจสอบ ถ่วงดุล ให้กระบวนการทางรัฐสภาเป็นไปด้วยความถูกต้อง ไม่ตกเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นแค่ "เก้าอี้" ที่ใช้ตบรางวัลคนใกล้ชิดที่ได้งานต่อ มีเงินเดือน เบี้ยประชุมหลังเกษียณต่อไปอีก 5 ปี

                ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี "ไม่กลัวเสื่อม" พร้อมกระเตงเพื่อนพ้องน้องพี่เข้ามาอยู่ในกลไกอำนาจต่างๆ อย่างไม่แคร์กระแสวิพากษ์วิจารณ์เช่นกัน ทั้งที่ในอดีตก็มีให้เห็นเป็นตัวอย่างว่าผลลัพธ์ออกมาจะเป็นไปอย่างไร

                ยิ่งล่าสุดประกาศเป็นนัย อยากให้ "บิ๊กป้อม" พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม และ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เข้ามาร่วมคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง ตอกย้ำความเป็น อยู่ คือ ของ 3 ป. ที่ไม่สามารถแตกกอกันได้

                “ถ้าพูดถึงอยาก ก็โอเค อยาก เพราะไว้ใจกันมา แต่ก็ขึ้นอยู่กับตัวท่านเองด้วยว่าจะรับแค่ไหนอย่างไร รวมถึงเรื่องสุขภาพด้วย ผมเป็นห่วงกังวลตรงนี้” เมื่อถามอีกว่าได้ชวน พล.อ.ประวิตรมาร่วมงานแล้วหรือยัง พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า “เรื่องอย่างนี้ไม่ต้องชวน ถึงเวลาก็คุยกัน ส่วนจะมีแนวโน้มที่จะมาช่วยงานหรือไม่ ยังไม่ทราบ พล.อ.ประวิตรก็ตอบสื่อแล้วว่าไม่รู้เหมือนกัน ซึ่งส่วนตัวยังไม่ได้ถามท่าน รวมถึง พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย จะมาช่วยงานหรือไม่ ก็แล้วแต่ท่าน เพราะวันนี้ไม่ใช่แค่ผมเพียงคนเดียว" พล.อ.ประยุทธ์กล่าวเมื่อถูกถามว่าอยากให้ พล.อ.ประวิตรอยู่ช่วยงานต่อไปอีกหรือไม่

                หรืออาจเป็นไปเพราะ ธรรมชาติของ "อำนาจ" เมื่อมาอยู่กับใคร ผู้นั้นจะไม่ระวัง ส่งผลให้ "เหลิง" หรือ "ตาบอด" ได้ง่าย ด้วยเหตุผลที่คนใกล้ชิดล้วนรับอานิสงส์ ได้ประโยชน์ ไม่กล้าเตือนให้เห็น "ข้อดี-ข้อเสีย" ในเรื่องต่างๆ อย่างตรงไปตรงมา

                ขณะที่ พรรคการเมืองอีกขั้วยังคงเดินเกมจัดตั้งรัฐบาลในอากาศ ผ่านกระแสการก่อกำเนิดของ "ขั้วที่ 3" สร้างฝันให้กับ "แฟนคลับ" ที่หวังจะล้ม "รัฐบาลทหาร" ที่แปลงสภาพสวมเสื้อ ส.ส.เข้ามาบริหารประเทศ

                จับกระแส "พ่อของฟ้าฟีเวอร์" ดันก้น "ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ" หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่เป็นนายกรัฐมนตรี จนกระทั่ง "ธนาธร" เองก็ตวัดลิ้นหลายหน ตามกระแสชูตัวเองเป็นนายกฯ กลืนน้ำลายคำประกาศของตัวเองอยู่หลายรอบ

                กวนกระแสให้เกิดความหวาดระแวง และหวังให้ "ส้มหล่น" จากปรากฏการณ์ "ฟ้าผ่า" ล้มกระดานเลือกตั้งที่ยังมั่วอยู่กับการจัดตั้งรัฐบาล

                จากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในห้วงระยะเวลา 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมา การเมืองไทยที่คาดหวังว่าจะมีทิศทางที่ดีขึ้น การปฏิรูปให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างการเมือง สังคม เศรษฐกิจ ลดความเหลื่อมล้ำได้อย่างแท้จริง อำนาจอยู่ที่ประชาชน พรรคการเมืองยึดมั่นในอุดมการณ์ ละวางเรื่องผลประโยชน์ ผู้นำยึดในผลประโยชน์ส่วนรวม ไม่คำนึงถึงพรรคพวก เครือญาติ กลายเป็นเรื่องเพ้อฝัน

                ความจริงคือ ระบบอุปถัมภ์ยิ่งฝังรากลึก กลุ่มทุนเฟื่องฟู ระบบราชการเข้มแข็ง พรรคการเมืองแตกแยก อ่อนแรง!!!.

                                                                                                                                ทีมข่าวการเมือง

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"