ลูกหลาน"ตัวช่วย"สร้างพลังใจ เทคนิคป้องกันผู้สูงวัยติดบ้าน


เพิ่มเพื่อน    

     ถ้าลองสังเกตดูจะเห็นได้ว่า มีคนสูงวัยจำนวนไม่น้อยที่ “ติดบ้าน” หรือชอบอยู่บ้านไม่ชอบออกไปหรือไปทำอะไรร่วมกับคนอื่น ยิ่งนานวันเข้าก็อาจทำให้ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าได้ในที่สุด ส่วนหนึ่งเพราะขาดการปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น ประกอบกับลูกหลานไม่มีเวลาดูแล เนื่องจากต้องออกไปประกอบอาชีพ ทั้งนี้ ช่องว่างดังกล่าวที่บุตรหลานปล่อยปละละเลย เพราะคิดว่าไม่เป็นไร โดยเฉพาะการที่พ่อหรือแม่ หรือแม้แต่ปู่ย่าตายายชอบอยู่นิ่งๆ หรือไม่ชอบสุงสิงกับใคร พี่เจี๊ยบ-รัตน์ธนรส วงศ์อุดม พยาบาลวิชาชีพ ผู้ดูแลฝ่ายการพยาบาล จาก “ศูนย์ส่งเสริมและฟื้นฟูสุขภาพผู้สูงอายุ สภากาชาดไทย” มีข้อมูลมาแนะนำไว้น่าสนใจ
    พยาบาล-รัตน์ธนรส บอกว่า สิ่งสำคัญมากที่สุดซึ่งจะช่วยปรับแนวคิดของผู้สูงวัยที่ “ติดบ้าน” หรือ “ชอบอยู่บ้าน” ไม่ชอบเข้าสังคม ตรงนี้อยากให้เข้าใจว่าจริงๆ แล้วผู้สูงอายุ มักจะคิดว่าตัวเองนั้นแก่แล้ว และทำอะไรไม่ค่อยได้ คนที่จะเพิ่ม “เอ็มพาวเวอร์เมนต์” หรือการสร้างพลังบวก พลังใจพลังกายให้ผู้สูงอายุ คือคนในครอบครัว เช่น เวลาลูกหลานมีปัญหา และเข้าไปปรึกษาท่าน ก็จะทำให้ผู้สูงวัยรู้สึกภาคภูมิใจและรู้สึกว่าตัวเองยังมีคุณค่ากับลูกหลานอยู่ หรือเวลาที่พ่อแม่พูดอะไรออกมา และลูกหลานก็มักจะบอกว่าแม่แก่แล้ว ไม่เหมือนคนยุคปัจจุบัน ซึ่งนั่นจะยิ่งตอกย้ำให้ผู้สูงวัยรู้สึกว่า คุณค่าในตัวเองนั้นต่ำลง
    “พี่ว่าประเด็นนี้สำคัญมาก ที่เราจะดึงผู้สูงอายุออกมาจากบ้าน เนื่องจากตอนนี้ในสังคมมักมีกิจกรรมของกลุ่มผู้สูงอายุมากมาย เช่น ชมรมจิตอาสา ล้วนแล้วแต่เป็นจิตอาสาที่อายุ 60-80 ปี ซึ่งเขามีสังคมของเขา เมื่อมีสังคมตรงนี้จะทำให้เขารู้สึกอยากออกมาร่วม เพราะถ้าลูกหลานพาคุณยายออกไปเดินห้างสรรพสินค้า ท่านก็จะไม่ชอบอยู่แล้ว หรือถ้าพาคุณยายไปเดินเล่นสวนสาธารณะ หรือให้ท่านเดินคนเดียวก็ไม่แฮปปี้อีกเช่นกัน แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่ได้ออกมาเจอกลุ่มตัวเอง ก็เป็นทางออกที่ดีในการลดผู้สูงวัยติดบ้านได้ เพียงแต่ว่าชมรมนั้นๆ ต้องมีความสนุกสนาน และมีกิจกรรมตรงกับความสนใจ เพื่อดึงผู้สูงอายุออกมาจากความซึมเศร้า โดยการอยู่บ้านเฉยๆ 
แต่เบื้องต้นลูกหลานต้องเข้าไปจุดประกายให้ผู้สูงอายุรู้สึกมั่นใจในตัวเองก่อน เช่น บางทีเรารู้สึกว่าปัญหานี้พ่อกับแม่ช่วยไม่ได้ แต่ส่วนตัวพี่ก็จะใช้วิธีการเล่าให้ท่านฟังเกี่ยวกับที่ทำงานในวันนี้ เพียงแค่เราเล่าให้เขาฟัง แค่เอาเรื่องที่ทำงานไปเล่า เขาก็จะรู้สึกภูมิใจและยิ้มออกมา ถึงแม้ว่าเขาจะแค่ยิ้มและพูดออกมาว่า “เหรอ มันก็เป็นอย่างนี้แหละลูก” แต่อย่างน้อยมันคือความภาคภูมิใจและความสุข มันเป็นจุดเริ่มต้นของการทำให้ท่านภูมิใจ และเห็นคุณค่าในตัวเอง อีกทั้งอยากเข้าสังคมอยากคุยกับคนนั้นคนนี้ โดยไม่ต้องใช้ทฤษฎีที่ซับซ้อนอะไร”
ส่วนเรื่อง “การชมเชย” คุณพ่อคุณแม่หรือปู่ย่าตายาย เวลาที่ท่านออกไปเข้าชมรมต่างๆ นั้นสามารถทำได้ เพราะคนทุกเพศทุกวัยย่อมชื่นชอบคำชมเชย แต่สิ่งที่สำคัญมากขึ้นไปอีกคือ “ความอดทนของลูกหลาน” หรือคนดูแลผู้สูงอายุ เพราะบางคนเราจะต้องอดทนกับผู้สูงอายุ ที่มักจะตั้งคำถามซ้ำอยู่บ่อยๆ เนื่องจากเซลล์สมองของผู้สูงอายุเริ่มเสื่อม จึงทำให้ระบบความทรงจำไม่ค่อยดีแล้ว หรือความจำระยะสั้นไม่ค่อยดี 
“ทั้งนี้ ถ้าผู้สูงอายุท่านถามอะไรซ้ำๆ เพียงแค่ลูกหลานเอ่ยคำว่า “ค่ะ” , “กินแล้ว” หรือ “ใช่ค่ะ” ทุก 5 นาที มันไม่ได้เหนื่อยมาก แต่การสร้างสิ่งดีๆ ให้กับคนสูงวัย ถ้าเราคิดเรื่องทฤษฎีมากเกินไป เราก็จะลืมเรื่องพื้นๆ ไป จริงอยู่ที่ทฤษฎีจำเป็นสำหรับการดูแลคนสูงวัยที่เจ็บป่วยอยู่ในเคสยากและซับซ้อน ถ้าเราทำทุกวันของผู้สูงอายุให้มีความสุข และอยากมีสังคมอยากคุยกับคนอื่น แบบไม่นั่งจับเจ่าอยู่กับบ้าน ด้วยการใช้ทักษะของการสื่อสารที่เป็นเรื่องพื้นฐาน อย่างการชวนคุย ก็เป็นเรื่องที่ลูกหลานไม่ควรละเลยค่ะ ส่วนตัวพี่มีคนไข้สูงอายุที่ดูแลอยู่ ซึ่งพี่เห็นท่านนั่งอยู่นิ่งๆ ตลอดเวลา จึงเข้าไปชวนพูดคุย จนกระทั่งท่านอยากคุยกับพี่ เพราะส่วนใหญ่แล้วเวลาที่เราเห็นคุณตาคุณยายนั่งเฉยๆ อยู่กับบ้าน แต่ลูกหลานไม่เคยรู้ว่า การที่ท่านนั่งอยู่เฉยๆ นั้น เพราะท่านกลัวว่าคนอื่นจะเบื่อ หากมาคุยกับท่าน ท่านจะคิดแบบนี้อยู่ตลอดเวลา จึงทำให้นิ่งเสีย แต่เมื่อใดที่ลูกหลานเข้าไปชวนคุย ด้วยเรื่องอะไรก็ได้ ตรงนี้จะทำให้เรารับรู้ถึงสาเหตุดังกล่าว ซึ่งนั่นแปลว่าท่านอยากคุยกับเรานั่นเอง เรื่องเหล่านี้เป็นพื้นฐานง่ายๆ ในการเรียนรู้และอยู่กับผู้สูงวัยค่ะ”.
 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"