แอมเนสตี้ฯเปิดรายงานสิทธิมนุษยชนไทยพบยังมีปัญหาหลายด้าน


เพิ่มเพื่อน    

22 ก.พ.61 - แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เปิดตัวรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนประจำปี 2560/61 ซึ่งเป็นการรวบรวมและวิเคราะห์สถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนใน 159 ประเทศทั่วโลกตลอดปี 2560 ที่ผ่านมา โดยพบว่าในหลายประเทศ ซึ่งรวมถึงประเทศไทย มีการพยายามคุกคามเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมุนมอย่างสงบของประชาชนอย่างหนัก

แอมเนสตี้พบว่าในปี 2560 นักปกป้องสิทธิมนุษยชน นักกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อม นักศึกษา ชาวบ้านที่เรียกร้องสิทธิชุมชน ทนายความ สื่อมวลชน นักวิชาการ ไปจนถึงประชาชนทั่วไปในประเทศไทยต่างถูกภาครัฐและเอกชนละเมิดเสรีภาพในการแสดงออกอย่างต่อเนื่อง โดยข้อกฎหมายที่มักถูกนำมาอ้างใช้บ่อยครั้ง ได้แก่ มาตรา 44 ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว มาตรา 116 ในประมวลกฎหมายอาญา พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และคำสั่ง คสช. ที่ 3/2558 ซึ่งต่างมีเนื้อหาหรือการตีความที่ขัดต่อมาตรฐานด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศที่ประเทศไทยมีพันธกรณีต้องปฏิบัติตาม

ประเทศไทยยังคงส่งกลับผู้ลี้ภัยไปยังประเทศที่พวกเขาจะเสี่ยงอันตรายในปี 2560 ส่งผลให้ผู้ลี้ภัยเหล่านั้นถูกจับกุม คุมขัง เสี่ยงถูกทรมานและสังหาร หรืออาจไม่ได้รับการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม ซึ่งถือว่าผิดกฎหมายจารีตระหว่างประเทศว่าด้วยการไม่ส่งกลับ (non- refoulement) อย่างไรก็ตาม คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบให้จัดทำระบบคัดกรองผู้ลี้ภัยแล้ว ซึ่งหากปฏิบัติตามมาตรฐานสากลได้จริงในอนาคต ก็จะถือว่าเป็นความก้าวหน้าครั้งสำคัญของประเทศ

นอกจากนี้ รายงานแอมเนสตี้ฉบับนี้ยังให้ความสำคัญกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยอีกหลายประเด็น เช่น ระบบยุติธรรม การลอยนวลพ้นผิด การอุ้มหาย การทรมานโดยเจ้าหน้าที่รัฐ การสังหารนอกกระบวนการกฎหมาย และการค้ามนุษย์

นางสาวปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ตั้งข้อสังเกตว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนว่าทางการไทยยังไม่ได้ให้ความสำคัญต่อสิทธิมนุษยชนของประชาชนอย่างแท้จริง แม้ว่าเมื่อไม่นานมานี้จะมีการประกาศให้สิทธิมนุษยชนเป็นวาระแห่งชาติและเป็นหนึ่งปัจจัยขับเคลื่อนแผนพัฒนา Thailand 4.0

“แอมเนสตี้ยินดีที่รัฐบาลไทยประกาศให้สิทธิมนุษยชนเป็นวาระแห่งชาติ ตลอดจนระบุว่าจะใช้สิทธิมนุษยชนเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อน Thailand 4.0 เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกลับตรงกันข้าม การละเมิดสิทธิมนุษยชนยังคงถูกปล่อยให้เกิดขึ้นเป็นประจำ เห็นได้จากการคุกคาม จับกุม และดำเนินคดีประชาชนจำนวนมากที่ออกมาแสดงความคิดเห็นอย่างสงบ ไปจนถึงปัญหาสิทธิมนุษยชนด้านอื่นๆ ที่ระบุในรายงานของเราและเป็นที่ประจักษ์ต่อสายตาประชาชนตลอดปีที่ผ่านมา” นางปิยนุชกล่าว

นอกจากประเทศไทยแล้ว แอมเนสตี้ยังพบว่า มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนในแทบทุกประเทศทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นประเทศพัฒนาแล้วหรือกำลังพัฒนา และไม่ว่าจะเป็นการปกครองรูปแบบใดก็ตาม ผู้คนหลายล้านคนทั่วโลกต้องอยู่ในภาวะยากจน อดอยาก หรือต้องลี้ภัย เพราะมาตรการทางเศรษฐกิจที่ไม่เป็นธรรม สงคราม และภัยธรรมชาติ ขณะที่การกีดกันและการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุผลด้านเชื้อชาติ ศาสนา เพศ และความเชื่อทางการเมืองก็ยังคงส่งผลให้เกิดการสูญเสียชีวิตอยู่บ่อยครั้ง

ทั้งนี้ ปี 2561 เป็นการครบรอบ 70 ปีของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration of Human Rights–UDHR) ซึ่งได้รับการรับรองจากที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติตั้งแต่ปี 2491 โดยประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ออกเสียงสนับสนุน แอมเนสตี้เชื่อว่าเป็นโอกาสดีที่ประเทศไทยและทั่วโลกจะได้ทบทวนปัญหาของสังคมและหาทางออกร่วมกัน

“ประเทศไทยให้การยอมรับมาตรฐานสิทธิมนุษยชนสากลมาพร้อมๆ กับประเทศตะวันตกอีกมากมาย ในโอกาสครบรอบ 70 ปี UDHR จึงถือเป็นโอกาสดีที่เราจะได้ทบทวนตัวเองว่าที่ผ่านมาสิทธิมนุษยชนของเราก้าวหน้าหรือถอยหลังมากน้อยแค่ไหน เพื่อจะได้หาทางออกร่วมกันต่อไป นี่จึงเป็นที่มาของเสวนาเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนศึกษาในวันนี้ด้วย ซึ่งเรามองว่าเป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยให้สังคมไทยก้าวผ่านความอยุติธรรมและความไม่เท่าเทียมได้ในระยะยาว แอมเนสตี้ก็หวังว่าจะได้รับคามร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการผลักดันสิทธิมนุษยชนศึกษา ตลอดจนข้อเรียกร้องอื่นๆ เพื่อร่วมกันพัฒนาสิทธิมนุษยชนของเราให้ทัดเทียมสากลต่อไป” นางปิยนุชกล่าว

แอมเนสตี้ขอเรียกร้องให้ทางการไทยยกเลิกคำสั่ง คสช. ที่3/2558 และกฎหมายอื่นๆ ที่ละเมิดเสรีภาพในการแสดงออกและการชุนุมอย่างสงบ ยุติการควบคุมตัวโดยพลการ ยุติการนำพลเรือนขึ้นศาลทหาร ผ่าน พ.ร.บ.ป้องกันการทรมานและการอุ้มหาย คุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชนให้ทำงานได้อย่างปลอดภัย เคารพหลักการไม่ส่งกลับผู้ลี้ภัยไปยังประเทศอันตราย ไปจนถึงสานต่อการจัดตั้งระบบคัดกรองผู้ลี้ภัยให้ใช้งานได้จริงตามมาตรฐานสากล ซึ่งทางแอมเนสตี้ยินดีให้ความร่วมมือหากทางการไทยมีความจริงใจในการแก้ปัญหาและพัฒนาสังคมร่วมกัน.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"