เงื่อนไข ‘ปชป.' สะเทือนเป้า ‘พปชร.’ โจทย์ใหญ่ ‘บิ๊กตู่’ ตั้ง รบ.–ทำงานได้


เพิ่มเพื่อน    

 

ต้องมีการคุยรอบ 2 คือ ปากคำของ “อุตตม สาวนายน” หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ที่โพสต์ลงเฟซบุ๊กส่วนตัวเกี่ยวกับการจัดตั้งรัฐบาล ก่อนจะลบทิ้งไปไม่กี่นาทีต่อจากนั้น คือหลักฐานยืนยันว่า การเจรจาต่อรองเรื่องเก้าอี้รัฐมนตรียังไม่ลงตัว

                สถานการณ์โดยรวมของ “พลังประชารัฐ” เกี่ยวกับการจัดตั้งรัฐบาลวันนี้ที่ยังไม่สะเด็ดน้ำ อาจกล่าวได้ว่า ติดเพียง “ประชาธิปัตย์”

                พรรคภูมิใจไทยเอง แม้จะยังไม่ได้พูดเต็มปากว่ามาร่วม แต่ปฏิกิริยาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการร่วมโหวตประธานและรองประธานสภาผู้แทนราษฎร ในทิศทางเดียวกับ “พลังประชารัฐ” ตลอดจนภาพความชื่นมื่นขณะ “ขันหมากการเมือง” ขึ้นเรือนชาน ได้ตอบแทนคำถามทุกอย่างไปหมดแล้ว

                ด้านพรรคชาติไทยพัฒนา ที่เหมือนดูจะยึกยักจากการให้สัมภาษณ์ของบรรดาแกนนำว่า การโหวตประธานและรองประธานสภาฯ ตามที่พรรคพลังประชารัฐเสนอ เป็นเพียงกระบวนการทางนิติบัญญัติ ไม่สามารถนำมารวมกับการตัดสินใจเข้าร่วมรัฐบาลซึ่งเป็นฝ่ายบริหารได้นั้น ไม่มีนัยอะไรพิเศษ

                หากแต่เป็นท่าทีที่ออกมาวันเดียวกับที่ “พลังประชารัฐ” กำลังหมกมุ่นอยู่กับการสู่ขอ “ประชาธิปัตย์” กับ “ภูมิใจไทย” เหมือนกระทุ้งเตือนไม่ให้หลงลืมแนวร่วมอื่นๆ อีกมากมายที่ต่างมีความสำคัญไม่ยิ่งยวดไปกว่ากัน

                ประหนึ่งว่า ควรสู่ขอเป็นมาตรฐานเดียวกัน อันเป็นมารยาททางการเมือง!

                ณ ตอนนี้พูดได้ว่า การจัดตั้งรัฐบาลจะเสร็จสมบูรณ์ได้ หาก “พลังประชารัฐ” ในฐานะแกนนำจัดตั้งรัฐบาล “ปิดดีล” กับ “ประชาธิปัตย์” ได้

                มันเหมือนง่าย แต่อาจจะยากที่สุด การมอบตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรให้กับนายชวน หลีกภัย จากพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ได้ทำให้การต่อรองสินสอดราบรื่น แต่เป็นเพียงการเปิดประตูบ้านให้เจ้าบ่าวเข้ามาเจรจาพาทีเท่านั้น

                ซึ่ง “สินสอด” คือ ปัญหาใหญ่ในขณะนี้ ที่สำคัญ สิ่งที่พรรคประชาธิปัตย์ต้องการเป็นโซ่กระทบกลับมายังพรรคประชารัฐเอง

                โดยเฉพาะเก้าอี้ รมว.พาณิชย์ และ รมว.เกษตรและสหกรณ์ สองกระทรวงสำคัญที่พรรคพลังประชารัฐต้องการจะเก็บเอาไว้ต่อยอดจากนโยบายที่หาเสียงเอาไว้

                ในการเจรจาผ่าน “ผู้มากบารมี” ฝั่งพรรคพลังประชารัฐ เหมือนกับยินยอมตามที่เจ้าสาวอย่างพรรคประชาธิปัตย์แสดงความประสงค์ หากแต่มันกำลังส่งผลต่อเสถียรภาพภายในของเจ้าบ่าวเอง

                ก่อนหน้านี้มีข่าวมาตลอดว่า "สมคิด จาตุศรีพิทักษ์" รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะคีย์แมนเศรษฐกิจของรัฐบาล ต้องการเก็บกระทรวงเศรษฐกิจไว้ทั้งหมด เช่นเดียวกับ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในฐานะแคนดิเดตนายกฯ คนต่อไป

                ทว่า ยิ่งการต่อรองทอดยาวออกไป กระทรวงสำคัญไม่ว่าจะมิติทางเศรษฐกิจและการเมือง ต่างค่อยๆ หลุดมือไปอยู่ใน “ประชาธิปัตย์” และ “ภูมิใจไทย” เกือบทั้งหมด

                ตามรายงานข่าวว่า พรรคพลังประชารัฐเลือกเก็บกระทรวงมหาดไทย และยอมปล่อยกระทรวงคมนาคมให้พรรคภูมิใจไทย แต่การที่พรรคประชาธิปัตย์ขอกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มันจะทำให้ในมือของพรรคแกนนำ เหลือเพียงกระทรวงเศรษฐกิจหลักเพียงกระทรวงเดียวคือ กระทรวงการคลัง

                การคัดค้านการมอบให้กับพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ได้มีมิติของเรื่องโควตาเพียงอย่างเดียว หากแต่หลายโครงการที่ทำในรัฐบาลชุดนี้ต้องการการต่อยอดเพื่อผลิดอกออกผลตามเป้าหมายที่วางเอาไว้ หากหลุดไปอยู่ในมือคนที่ไม่ได้ทำมาตั้งแต่ต้น ไม่มีใครการันตีว่ามันจะถึงฝั่งฝัน

                ขณะเดียวกัน การสูญเสียกระทรวงหลักไปเกือบทั้งหมด จะทำให้การทำงานของ “บิ๊กตู่” อยู่ในสภาวะเดียวกับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เมื่อ 10 ปีที่แล้ว นั่นคือ ได้เป็นนายกฯ และรัฐบาล หากแต่อำนาจในการบริหารไม่เบ็ดเสร็จเด็ดขาด และทำได้เต็มที่ เพราะกระทรวงที่ต้องผลิตผลงานอยู่ในมือพรรคร่วมอย่างพรรคภูมิใจไทยทั้งหมด

                สุดท้ายแล้วกลายเป็นรัฐบาลที่ไม่มีผลงานและโดดเด่นในสายตาประชาชน

                “บิ๊กตู่” และมือเศรษฐกิจอย่าง “สมคิด” หมายมั่นปั้นมือว่า โครงการต่างๆ ที่อุตส่าห์ประคบประหงม ยอมถูกตราหน้าว่าไม่มีฝีมือด้านปากท้อง จะถูกลบภาพเมื่อผลดอกออกมาเป็นชิ้นเป็นอันจับต้องได้ แต่หากไม่ได้รับการควบคุมเอง มันจะสูญเปล่า หรือถูกเคลมไป

                อีกจุดสำคัญคือ การปรนเปรอให้พรรคประชาธิปัตย์ทั้งหมด จะบั่นทอนเสถียรภาพภายในพรรคที่รู้สึกว่า เอาใจ “คนนอก” มากกว่า “คนใน”

                แน่นอนว่า นักการเมืองหลายคนถูกดูดเข้ามาด้วยเงื่อนไขทางคดี จนอาจพูดอะไรไม่ได้มาก แต่การกวาดเก้าอี้ได้ถึง 115 ที่นั่ง ส่วนสำคัญก็มาจากน้ำพักน้ำแรงคนเหล่านี้เฉกเช่นเดียวกัน

                สุดท้าย “ประชาธิปัตย์” อาจพอใจยอมร่วมรัฐบาล เพราะได้รับตามข้อเสนอ หากแต่เสถียรภาพภายในพรรคพลังประชารัฐ ที่กลุ่มสามมิตรเป็นเพียงแค่เสี้ยวหนึ่งอันสะท้อนความรู้สึกในภาพรวมออกมา เป็นสิ่งที่น่ากังวลต่อจากนี้

                เป็นโจทย์ที่ใหญ่ในการจัดตั้งรัฐบาลครั้งนี้อย่างแท้จริง

                “บิ๊กตู่” จะหาทางคลี่คลายอย่างไร เพื่อให้งานตัวเองได้รับการต่อยอด ประชาธิปัตย์ยอมเข้าร่วม และคนในพรรครู้สึกได้รับการดูแลและปกป้อง ต้องจับตา. 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"