ที่มามีปัญหา-มือไม่ถึง-ใบสั่ง ชนวนคว่ำ 7 ว่าที่ กกต.?


เพิ่มเพื่อน    

        หัวข้อหลัก ประเด็นร้อน ที่แวดวงการเมือง-ทหาร-นักกฎหมายและหลายภาคส่วน พูดคุยกันมากที่สุดตั้งแต่ช่วงบ่ายจนถึงค่ำของวันพฤหัสบดีที่ 22 ก.พ.ที่ผ่านมา ก็คือ การตั้งคำถามว่า การเลือกตั้งจะต้องยิ่งเลื่อนออกไปหรือไม่ เป็นแผนยื้อเลือกตั้งของ คสช.ใช่หรือไม่ และอะไรอยู่เบื้องหลัง-ที่มาที่ไปของมติที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่ลงมติคว่ำ “7 ว่าที่กรรมการการเลือกตั้ง” ซึ่งคณะกรรมการสรรหาฯ และที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ส่งชื่อมาให้ สนช.ตั้งแต่กลางเดือนธันวาคม 2560 ชนิดหลายคนคาดไม่ถึง

        จนทำให้ว่าที่ กกต.ทั้ง 7 ชื่อ ไม่สามารถฝ่าด่าน สนช.เข้าไปนั่งทำงานเป็น กกต.ได้ ทั้งที่บางคนมีข่าวว่า ถึงกับพูดกับคนในสำนักงานไว้แล้วว่า “ผมจะไปเป็นประธาน กกต.”

        โดยรายชื่อของทั้ง 7 คน ประกอบด้วยชื่อที่มาจากสายกรรมการสรรหาฯ ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. เรืองวิทย์ เกษสุวรรณ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏชัยภูมิ ชมพรรณ์ พงษ์เจริญ สุธีรชาติ ปรึกษากฎหมาย บริษัท วรวิสิฏฐ์ จำกัด และหัวหน้าสำนักงานกฎหมายสุธีรชาติ อิสสรีย์ หรรษาจรูญโรจน์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ ประชา เตรัตน์ อดีตรองปลัด ก.มหาดไทย และอีก 2 ชื่อที่มาจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาคือ ฉัตรไชย จันทร์พรายศรี และ ปกรณ์ มหรรณพ 2 ผู้พิพากษาศาลฎีกา

        มติ สนช.ที่ออกมา ถือว่าสร้างความเซอร์ไพรส์ให้แวดวงการเมืองไม่ใช่น้อย เพราะแม้ก่อนหน้านี้จะมีกระแสข่าวว่า สนช.จะลงมติไม่ผ่านความเห็นชอบรายชื่อว่าที่ กกต.บางคน เพราะติดใจสงสัยเรื่องคุณสมบัติ-ประวัติการทำงานและที่มาที่ไปของบางคนที่พบว่ามีความแนบแน่นกับฝ่ายการเมืองมากเกินไป อาจทำให้เกิดปัญหาด้านการยอมรับในเรื่องความเป็นกลาง

        เช่น มีชื่อเป็นคณะที่ปรึกษา รมว.มหาดไทย คนปัจจุบัน (พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา) หรือเคยเป็นทนายความ ให้กับน้องชายของบิ๊ก คสช. ในการสู้คดีพันธมิตรฯ อีกทั้ง สนช.มีความกังวลใจในเรื่องรายชื่อที่ส่งมาจากศาลฎีกา คือ ”ฉัตรไชย-ปกรณ์” ที่อาจมีปัญหาว่า การเลือกของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาไม่ได้ทำโดยเปิดเผย ซึ่งหาก สนช.โหวตเห็นชอบไป แล้วเกิดปัญหาขึ้นในภายหลัง สนช.อาจแบกรับความรับผิดชอบไม่ไหว แต่ก็มีการคาดหมายกันไว้แค่ว่า เต็มที่ สนช.ก็น่าจะโหวตไม่เห็นชอบประมาณแค่ 3-4 ชื่อ เท่านั้น ไม่น่าจะโหวตคว่ำทั้งหมด 7 ชื่อ จนผู้คนคาดไม่ถึง 

        ทิศทางข่าว ที่มาที่ไป-เหตุผลในการลงมติคว่ำ 7 ชื่อดังกล่าว มีหลายกระแสถูกอ้างถึง แต่ที่ชัดเจนคือกรณีของ ฉัตรไชย-ปกรณ์ ทาง สนช.ไม่ได้ติดใจเรื่องส่วนตัวหรือประวัติการทำงานอะไร แต่ สนช.ส่วนใหญ่กังวลว่า หาก สนช.โหวตเห็นชอบไปแล้วเกิดมีปัญหาขึ้นในภายหลัง เช่น มีคนไปยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญแล้ว ศาลวินิจฉัยว่า การเลือกของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาที่เลือก ฉัตรไชย-ปกรณ์ ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ จะมีปัญหาขึ้นมาได้ เพราะขนาดที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาก็มีผู้พิพากษาลงมติจำนวนมากตอนชี้ขาดเรื่องดังกล่าว ว่าการเลือกของศาลฎีกาไม่เปิดเผย การลงมติไม่เห็นชอบชื่อของฉัตรไชย-ปกรณ์ จึงเป็นทางออกที่ สนช.มองว่า เมื่อ สนช.มีอำนาจกลั่นกรอง เห็นชอบ-ไม่เห็นชอบ รายชื่อทั้งหมดได้ ก็ควรไม่ให้เกิดปัญหาขึ้นภายหลัง การไม่เห็นชอบชื่อของ ฉัตรไชย-ปกรณ์ จึงเป็นทางออกที่ สนช.ส่วนใหญ่เห็นไปในแนวเดียวกัน

        ขณะที่ชื่อซึ่งมาจากสายกรรมการสรรหามีกระแสข่าวว่า สนช.ส่วนใหญ่ไม่โอเค กับชื่อที่กรรมการสรรหาส่งมา แม้ประธานกรรมการสรรหาจะมี ชีพ จุลมนต์ ประธานศาลฎีกาเป็นประธาน

        สาเหตุที่ สนช.ไม่โอเคกับทั้ง 5 ชื่อ จากสายสรรหา คือ ฐากร-เรืองวิทย์-นางชมพรรณ์ พงษ์เจริญ สุธีรชาติ-อิสสรีย์ หรรษาจรูญโรจน์-ประชา จนต้องลงมติคว่ำ พบว่าหลักๆ ตามกระแสข่าวก็คือ ยังกังขากับ ชื่อเสียง-ประสบการณ์-เครดิตการทำงาน-ที่มาที่ไป กับการจะเข้าไปทำหน้าที่เป็น กกต.ดูแลการเลือกตั้งถึง 7 ปี 

        ทำนองมองว่า มือไม่ถึง-ชื่อสอบไม่ผ่าน จึงต้องคว่ำ เพื่อสกัดไม่ให้ไปทำงานใหญ่ ที่มีเดิมพันของประเทศรออยู่ เลยล้างไพ่ให้ไปนับหนึ่งเริ่มต้นสรรหาใหม่ เพื่อให้ได้ชื่อใหม่ที่ดีกว่า น่าจะเป็นทางออกที่เหมาะสม แม้บางชื่อเห็นชัดว่า มีความแนบแน่นกับ บิ๊กป้อม-พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ พี่ใหญ่ คสช. แต่เมื่อเป็นการลงมติลับ ไม่รู้ใครเป็นใคร จึงไม่ต้องเกรงใจใคร สนช.ก็เลยแสดงออกได้เต็มที่ แต่จะถึงขั้นเป็นการ หักบิ๊กป้อม โดย สนช.บางกลุ่ม เช่น นักวิชาการ-นักกฎหมาย ที่เดินเกมเรื่องนี้ อย่างที่มีข่าวก่อนหน้านี้หรือไม่ ทิศทางข่าวพบว่า สัญญาณยังไม่ชัดขนาดนั้น แต่จุดเปลี่ยนน่าจะเกิดจากช่วงประชุม ลับ ที่มีการเสนอข้อมูล ลับ-ลึก หลายเรื่องของ 5 ชื่อดังกล่าว จนทำให้ สนช.จำนวนมากเห็นพ้องว่า

        “ต้องคว่ำ-นับหนึ่งใหม่”

        โดยการคว่ำหมดยกแผง 7 ชื่อไปเลย ก็น่าจะทำให้ไม่กลายเป็นว่า สนช.ที่เป็นเครือข่ายของ คสช.ไปหักหน้าศาลฎีกามากเกินไป

        แต่ก็มีข่าวอีกด้าน โดยเฉพาะ นักการเมือง-พรรคการเมือง หลายคนวิเคราะห์ไปในทางเดียวกันว่า เรื่องนี้เป็นอีกหนึ่งใน แผนยื้อเลือกตั้ง-ขยับโรดแมป โดยใช้ สนช.เป็นเครื่องมือ เพราะแม้ต่อให้ กกต.ปัจจุบันจะสามารถทำหน้าที่ดูแลการเลือกตั้งได้ และการเลือก กกต.ใหม่ใช้เวลา 4-5 เดือน แต่การไม่มี กกต.ที่มีอำนาจเต็ม เข้ามาทำหน้าที่ในช่วงจะมีการเลือกตั้ง ก็อาจเป็นเหตุให้ คสช.อ้างเหตุช่วงเปลี่ยนผ่าน กกต.มาหาช่องทางใหม่ ยื้อเลือกตั้งออกไปได้อีกเรื่อยๆ เลยสั่ง สนช.ให้ลงมติคว่ำเสียเลย

       เป็นมติคว่ำของ สนช.ที่ก็ทำให้ไม่แน่เช่นกัน ที่การเห็นชอบ 7 ชื่อว่าที่ กกต. ซึ่งจะส่งมารอบใหม่ สนช.ก็อาจลงมติคว่ำอีกก็ได้!!!!!.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"