รัฐบาล“บิ๊กตู่”เสียงปริ่มน้ำ อนาคตที่ยากจะคาดเดา...


เพิ่มเพื่อน    

        การเลื่อนประชุม ส.ส.ของพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ออกไปไม่มีกำหนด ทั้งๆ ที่ได้นัดประชุมกันไว้ล่วงหน้าเป็นมั่นเหมาะเมื่อค่ำวันที่ 28 พฤษภาคมที่ผ่านมา ส่งผลให้ไม่สามารถมีมติของกรรมการบริหารและ ส.ส.ของพรรค ปชป.ว่าจะเข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคประชารัฐ (พปชร.) และสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีหรือไม่

                การก้าวขึ้นสู่เก้าอี้นายกฯ ของบิ๊กตู่ซึ่งมี ส.ว. 250 คน นั่งรอเพื่อจะโหวตสนับสนุน บิ๊กตู่ เป็นผู้นำรัฐบาล มีอันสะดุดหยุดลงทันที ก่อนหน้านี้ 1 วัน (27 พ.ค.2562) เวลา 11.00 น. ผู้นำพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) นำโดยนายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรค ยกขบวนแห่ขันหมากมาสู่ขอพรรค ปชป.ถึงที่ทำการพรรค ปชป. ถนนเศรษฐศิริ เพื่อเชิญไปร่วมรัฐบาล แวดวงการเมืองและสื่อพากันตั้งคำถามด้วยความสงสัยว่า ทำไม่ อู๊ดด้า-จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ไม่มารอต้อนรับและเข้าร่วมหารือให้สมเกียรติสมฐานะ

                นี่คือความไม่ปกติของสถานการณ์การเลือกนายกฯ และการฟอร์มรัฐบาลที่เกิดการติดขัดขึ้นแล้ว  หรืออาจเป็นจังหวะก้าวของ ปชป. พรรคการเมืองเก่าและเก๋าในการเดินเกมท่ามกลางความขัดแย้งในพรรคและกระแสกดดันจากพรรคการเมืองอีกขั้วหนึ่งและกระแสสังคมที่ถูกสร้างให้เกิดการแบ่งข้างกันชัดเจนระหว่างฝ่ายประชาธิปไตยกับฝ่ายที่ต้องการสืบทอดอำนาจ คสช.ต่อไป

                สาเหตุที่การประชุม ส.ส.พรรค ปชป.ล้มครืน หน้าฉากที่ปรากฏสะท้อนให้เห็นความไม่ลงตัว เรื่อง ปชป.ขอคุมกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แต่ พปชร.ไม่ยอมคายให้ อีกประการหนึ่งคือ ปชป. ไม่พอใจและไม่ยอมรับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งมีเหตุผลร้อยแปดพันประการ พูดทั้งวันก็ไม่หมด แต่หลังฉาก ปชป.ไม่นำมาพูดกัน คือ ปชป.จะแก้ตัวอย่างไรกับคำกล่าวหาและประณามว่าละทิ้ง อุดมการณ์ ประชาธิปไตย หันไปอิงแอบแนวข้างกับคสช. ที่สืบทอดอำนาจกันมา นอกจากนี้ระหว่างการหาเสียงเลือกตั้ง นายอภิสิทธิ์ก็ประกาศชัดเจน ไม่เอาประยุทธ์สุดท้ายก็มาจูบปากกันอย่างหน้าตาเฉย ได้อย่างไร ประเด็นนี้คือหัวใจสำคัญซึ่งเกิดปัญหาขัดแย้งภายในพรรค ปชป.มาตั้งแต่ช่วงเลือกหัวหน้าพรรคและช่วงหาเสียงเลือกตั้ง ฝ่ายหนึ่ง เอาลุงตู่ ซึ่งเป็นฝ่ายเดียวกับ ลุงกำนัน กับอีกฝ่ายหนึ่ง ไม่เอาลุงตู่ มีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นหัวเรือใหญ่

                การเจรจาไม่ลงตัวของ พปชร.ปชป. ส่งผลเป็นโดมิโน ล่าสุดนายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย จากเดิมเหมือนจะตกลงร่วมรัฐบาลกับ พปชร.แล้ว

อาจมีท่าทีเปลี่ยนออกไป หาก ปชป.ไม่สามารถมาร่วมรัฐบาลได้ เพราะจะส่งผลให้ฝั่งนี้เสียงไม่ถึง 251 เสียง และกระทบต่อเสถียรภาพต่อการทำงานของรัฐบาลและฝ่ายนิติบัญญัติ ซึ่งขัดเงื่อนไข 4 ข้อ ของคนภูมิใจไทย คือ 1.รัฐบาลจะต้องเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์และรักษาการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข 2.รัฐบาลต้องไม่สร้างความขัดแย้งของคนในชาติ 3.รัฐบาลต้องมีเสถียรภาพบริหารประเทศได้ 4.รัฐบาลต้องยอมรับนโยบายพรรคภูมิใจไทยเป็นนโยบายรัฐบาล

                อย่างไรก็ตาม ย้อนไปดูศึกประลองกำลังเพื่อเช็กคะแนนเสียงในวันเลือกประธานและรองประธานสภาผู้แทนฯ เมื่อวันที่ 2526 พฤษภาคม ขั้ว พปชร.ชนะไปแบบหืดขึ้นคอ คะแนนเสียงออกมาแบบ ปริ่มน้ำ ปชป.ที่มี ส.ส. 52 เสียง เกมการต่อรองบทที่ 1 ปชป.ตีกินเก้าอี้ประมุขฝ่ายนิติบัญญัติไปครองอย่างสบาย แต่เกมการโหวตเลือกบิ๊กตู่เป็นนายกฯ จะเป็นบทที่ 2 ของศึกการเมืองในวิถีรัฐสภา ถ้า พปชร.ยังยืนกรานจะเดินหน้าพา บิ๊กตู่ ขึ้นสู่เก้าอี้นายกฯ อีกครั้ง จะต้องเผชิญกับคะแนนเสียง ใต้น้ำ  มีสิทธิจมน้ำและสำลักน้ำตายในที่สุด เมื่อหักจำนวน ส.ส.ปชป. ภูมิใจไทย และชาติไทยพัฒนาออกไปแล้ว ประมาณ 114 เสียง ขณะที่ขั้ว พปชร.บวกพรรคยิบย่อยก็จะมี ส.ส. แค่ 141 เสียง เอาตัวเลขนี้ไปรวมกับ ส.ว. 250 เสียง ก็พอจะดัน บิ๊กตู่ เป็นนายกฯ ได้

                แต่จำนวน ส.ส.ในสภาฯ จมดิ่งลงไปใต้น้ำ น้อยกว่าครึ่งหนึ่งอยู่หลายกระบุง รัฐบาลเสียงข้างน้อยคงเป็นได้แต่ความฝัน ไม่มีทางจะเกิดขึ้นได้จริง แม้นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รองหัวหน้า พปชร. จะทำเป็นขึงขังบอกว่า

บิ๊กตู่เป็นนายกฯ ได้ ตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย หากไปต่อไม่ไหวนายกฯ ก็ยุบสภาได้ นายณัฏฐพลคงจะลืมไปว่า ประธานสภาฯ คือนายชวน ไม่ใช่นายสุชาติ ตันเจริญ ที่อยู่พรรคเดียวกัน ซึ่งพร้อมจะอยู่ในกำกับของ พปชร. เกมการต่อรองเก้าอี้เพื่อแบ่งเค้กตำแหน่งรัฐมนตรีอาจไม่ใช่คำตอบเดียว ปชป. ภูมิใจไทย และชาติไทยพัฒนา ย่อมเข้าใจดีว่า ภายใต้ รธน.ที่ปูทางให้มีการสืบทอดอำนาจ มี ส.ว.ที่ คสช.เลือกเอาพวกพ้องและญาติพี่น้องมาคอยค้ำจุนรัฐบาลนั้น ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อย-จมอยู่ใต้น้ำ หรือเสียงปริ่มน้ำ ย่อมมีปัญหาเกิดขึ้นในอนาคตอย่างแน่นอน ดังนั้นหากสุดท้ายรัฐบาลจัดโดยเสียงข้างน้อย หรือร่วมรัฐบาลกับพรรคดังกล่าวได้ทั้งหมดก็จริง โดยมีสภาพเสียงปริ่มน้ำหรือใต้น้ำก็ตาม การเดินหน้าของประเทศก็ไม่ราบรื่น เกิดความไม่พอใจอะไรเกิดขึ้นทั้งใน พปชร. หรือพรรคร่วมรัฐบาล การทำงานจะสะดุดขึ้นมาทันที สถานการณ์เมืองข้างหน้าอาจมีข่าวการถอนตัว สวิงเปลี่ยนขั้วทุกเมื่อ รวมถึงทุบโต๊ะยุบสภา หรือ แม้กระทั่งการมีนายกฯ คนนอก

                อย่าคิดว่าเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ได้!.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"