วัดทอง วัดเงิน และทางเดินนักปราชญ์


เพิ่มเพื่อน    

 

วัดกิงคาคุ หรือวัดศาลาเงิน บริเวณเชิงเขาฮิกาชิยามะ กรุงเกียวโต

 

              ความหนาวจากภายนอกอาคารที่พักทะลวงเข้ามาทางหัวนอน ปลุกให้ผมตื่นตั้งแต่เช้าตรู่ ห้องพักขนาดจิ๋วราคาถูกห้องนี้ไม่มีฮีตเตอร์ เพื่อนร่วมทางของผมที่นอนอยู่ห้องข้างๆ คงยังไม่ตื่น เพราะเสียงไอและเสียงค่อกแค่กในลำคอยังไม่เล็ดลอดเข้ามา เขาเป็นภูมิแพ้และสูบบุหรี่ค่อนข้างจัด แต่ที่ญี่ปุ่นเขาไม่จามและน้ำมูกไหลเท่ากับอยู่กรุงเทพฯ สันนิษฐานว่าคงเป็นเพราะคุณภาพอากาศที่แตกต่างกัน

                ผมนุ่งกางเกงยีนส์แล้วใส่เสื้อแจ็กเกตเดินออกจากที่พัก ข้ามถนนใหญ่ไปซื้อน้ำเปล่าจากร้านมินิมาร์ท แสงแดดส่องลงมาไล่อากาศหนาว ผู้คนในชุดสูทปั่นจักรยานเร็วจี๋ บางคนเดินอย่างเร่งรีบลงสู่สถานีรถไฟใต้ดิน ทำให้ผมรู้สึกดีขึ้นมาที่สามารถเดินอย่างเชื่องช้ายกขวดน้ำขึ้นดื่ม และมองพฤติกรรมยามเช้าของชาวโอซากาในย่านชิน-อิมามิยะ

                กลับขึ้นไปยังห้องพัก เพื่อนร่วมทางของผมแง้มเปิดประตูห้องไว้เพื่อส่งสัญญาณว่าตื่นแล้ว เราเก็บของเสร็จก็ลงไปหย่อนกุญแจลงกล่องรับคืนแล้วเดินออกไป เวลานี้ยังไม่มีรีเซ็ปชั่นมาทำงาน 

                เรานั่งรถไฟใต้ดินจากสถานี Dobutsumae หวังว่าจะไปเปลี่ยนขบวนที่สถานี Awaji ทางเหนือของโอซากา เพื่อต่อไปยังเกียวโต แต่ผมรู้สึกว่าขบวนที่เราขึ้นคงไม่ได้ผ่านสถานี Awaji พอมีโอกาสก็ลงที่สถานี Umeda จากตรงนี้เราหารถไฟต่อไปเกียวโตได้ไม่ยาก

                ระหว่างทางเชื่อมไปยังอีกขบวน เราแวะร้านกาแฟ St. Marc Café ชุดขนมปังและกาแฟก่อน 11 โมง ขายชุดละ 340 เยน หรือประมาณ 100 บาทเท่านั้น แถมยังได้ใช้บริการห้องน้ำสะอาดสะอ้านหลังกาแฟออกฤทธิ์อีกด้วย

วัดคิงคาคุ หรือวัดศาลาทอง บริเวณเชิงเขาคิตะยามะ กรุงเกียวโต ผู้เขียนไปเยือนเมื่อ 3 ปีก่อน

 

                จากสถานี Umeda เรานั่งขบวน Hankyu-Kyoto Line รวดเดียวถึงสถานี Kawaramachi ซึ่งใกล้ที่พักที่จองไว้กว่านั่งไปสถานี Kyoto เดินต่ออีกประมาณ 1 กิโลเมตรก็ถึง Kaede Guest House ตั้งอยู่ตรงข้าม “บุคโคจิ” วัดเก่าแก่อายุกว่า 700 ปี

                เกสต์เฮาส์เปิดให้เข้าพักได้ตอน 3 โมงเย็น เราจึงต้องฝากกระเป๋าไว้กับรีเซ็ปชั่นก่อนแล้วนั่งรถไฟใต้ดินไปรับตั๋วรถบัส เกียวโต-นาโกยะ ที่สถานีเกียวโต จุดรับอยู่ทางออกด้านทิศเหนือ ตรงข้ามหอคอยเกียวโต ผมขอให้ฮิโรกิ-เพื่อนของเราโทรจองไว้ให้ก่อนหน้านี้ ตั๋วรถบัสเป็นของบริษัท Meitetsu แต่จุดรับตั๋วใช้ร่วมกับบริษัท JR เจ้าหน้าที่เป็นของบริษัท JR แม้แต่จุดขึ้นรถก็ยังเป็นของบริษัท JR

 

                ผมบอกหมายเลขอ้างอิงกับเจ้าหน้าที่ เขาก็ออกตั๋วให้ ราคาที่นั่งละ 2,550 เยน หรือประมาณ 750 บาท ทราบทีหลังว่าเท่ากับราคาตั๋วของบริษัท JR BUS ที่ให้บริการไปนาโกยะด้วย ที่เกื้อหนุนกันเช่นนี้ก็เพราะบัสของ JR ใช้ศูนย์ของ Meitetsu ที่นาโกยะในการให้บริการลูกค้าของตัวเอง

                ท่านอาจคิดว่าทำไมไม่เดินทางจากโอซากามาลงที่สถานีเกียวโตเพื่อรับตั๋วรถบัสแล้วค่อยไปยังที่พัก ทว่าแผนของผมก็คือจะนั่งรถเมล์จากสถานีเกียวโตไปชม “ฮานามิ” หรือซากุระบานที่ถนนนักปราชญ์ ทางตะวันออกเฉียงเหนือของตัวเมืองเกียวโต

ภูเขาไฟฟูจิและสวนทรายขาวในวัดศาลาเงิน  

 

                บริเวณทางออกด้านทิศเหนือของสถานีเกียวโตยังเป็นชุมทางของรถเมล์อีกด้วย เราเดินไปหาเลขสายที่ระบุไว้ว่าจะไป Ginkakuji (วัดกิงคากุ) เพราะวัดนี้ตั้งอยู่ติดกับทางเดินนักปราชญ์ (Philosopher’s Path) แต่พอถามจากเจ้าหน้าที่เพื่อให้แน่ใจว่ารถบัสสายที่ว่าไปวัดกิงคากุหรือไม่ เขาก็ชี้ให้ไปขึ้นอีกสาย

                ไปถึงป้ายของสายนั้น ผมก็ถามเจ้าหน้าที่ (อีกคน) อีกว่าไปวัดกิงคากุหรือเปล่า เขาชี้กลับไปที่เดิม ผมก็เลยบอกว่าเจ้าหน้าที่ตรงโน้นให้ผมมาตรงนี้ ตกลงยังไงกันแน่

                เขาเลยขอดูชื่อวัดจากจอโทรศัพท์มือถือของผม แล้วก็ร้องอ๋อ พร้อมคำอธิบาย เข้าใจได้ว่า Ginkakuji ไปสายโน้น ส่วน Kinkakuji มาสายนี้ ชื่อคล้ายกันมาก ต่างกันแค่อักษรนำ G และ K ต้องออกเสียงให้ชัด

                ผมน่าจะเอะใจก่อนหน้านี้ วัด Kinkakuji นั้นผมเคยไปมาแล้วเมื่อ 3 ปีก่อน อยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือในแผนที่ท่องเที่ยว แต่วัด Ginkakuji นั้นอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของแผนที่ ยังจำได้ด้วยว่า Kinkakuji หมายถึง “ศาลาทอง” และ Ginkakuji นั้นแปลว่า “ศาลาเงิน” ทว่าสมองกลับไม่เชื่อมโยงข้อมูลให้สัมพันธ์กัน คงต้องโทษอายุที่มากขึ้นทุกที แต่ยังดีที่รู้จักถามเพื่อความแน่นอน ไม่อย่างนั้นก็อาจไปผิดทิศผิดทาง

                วัดคิงคาคุ หรือศาลาทอง (ที่เคยไป) มีชื่อทางการว่า “โรคุออนจิ” เดิมทีเป็นคฤหาสน์ของ “ไซออนจิ คินสึเนะ” กวีคนสำคัญและรัฐบุรุษในยุคคามากุระ (พ.ศ.1828-พ.ศ.1876) ตั้งอยู่ใกล้คิตะยามะ หรือภูเขาทางเหนือ ต่อมา “อาชิคางะ โยชิมิตสึ” โชกุนคนที่ 3 แห่งยุคมูโรมาชิ (ตั้งตามชื่อตำบลมูโรมาชิในเกียวโต โดยโชกุนคนแรกของยุคนาม “อาชิคางะ ทาคาอูจิ”) ซื้อมาจากครอบครัวของมหากวีแล้วแปลงโฉมให้งดงามเพื่อสมกับเป็นบ้านพักหลังเกษียณของโชกุนผู้เรืองนาม ด้วยการปิดทองคำเปลวรอบด้านทั้งชั้น 2 และชั้น 3 ของคฤหาสน์ รูปปั้นทองสัมฤทธิ์นกโฮโอ หรือนกฟินิกส์ ตั้งอยู่บนส่วนยอดของหลังคา จึงเป็นที่มาของชื่อ “ศาลาทอง” แล้วก็ยังได้สร้างอาคารต่างๆ ขึ้นมาอีกจำนวนหนึ่ง รวมถึงสระน้ำที่มีเกาะเล็กๆ จำนวน 10 เกาะ เป็นวิวงามเมื่อมองลงมาจากคฤหาสน์

                หลังอาชิคางะ โยชิมิตสึ เสียชีวิตลงในปี พ.ศ.1951 คฤหาสน์ก็ได้เปลี่ยนเป็นวัดนิกายเซนตามปณิธานของท่านโชกุน กลายเป็นวัดสมบูรณ์ในปี พ.ศ.1965 วัดศาลาทองนี้ถูกเผาทำลายหลายครั้งตลอดอายุราว 600 ปี โดยเฉพาะในสงครามโอนิงที่กินเวลา 10 ปี เพราะการแต่งตั้งโชกุนไม่ลงตัว ครั้งสุดท้ายที่ถูกเผาคือในปี พ.ศ.2493 โดยฝีมือของพระสงฆ์ที่เสียสติ แต่ก็สร้างขึ้นใหม่แล้วเสร็จในปี พ.ศ.2498 และได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกโดยองค์การยูเนสโกเมื่อปี พ.ศ.2537   

วัดศาลาเงินเมื่อมองจากเนินเขาฮิกาชิยามะ

 

                รถเมล์สาย 100 จอดที่ป้าย Ginkakujimae ผมสะกิดเพื่อนร่วมทาง จ่ายเงินคนละ 230 เยนเป็นค่ารถแล้วเดินลง แวะกินกาแฟที่ร้านเล็กๆ ไม่ห่างออกไป มองดูซากุระบานกลางแดดจ้า นักท่องเที่ยวหนาตา หากไม่มาเป็นกลุ่มก็มาเป็นคู่ ที่เป็นครอบครัว-พ่อแม่ลูกก็มีไม่น้อย  

                ทางเดินนักปราชญ์เริ่มจากบริเวณนี้ ทอดยาวลงไปทางทิศใต้ราว 2 กิโลเมตร อยู่บนสองฝั่งลำคลองสายเล็กๆ ปลูกต้นซากุระไว้โดยตลอด และมีถนนขนานไปด้วยทางด้านขวามือ นับเป็นจุดชมซากุระบานที่ขึ้นชื่อมากที่สุดแห่งหนึ่งในเกียวโต ส่วนลำคลองก็จะไหลยาวไปอีก 20 กิโลเมตรลงสู่ทะเลสาบบิวะ ในจังหวัดชิกะ ซึ่งผมเคยพาท่านผู้อ่านไปเยือนเมื่อปีก่อน

                ที่มาของชื่อทางเดินนักปราชญ์นี้เกิดจาก “นิชิดะ คิทาโระ” ศาสตราจารย์ด้านปรัชญาแห่งมหาวิทยาลัยเกียวโตผู้ประสบความสำเร็จและได้รับเกียรติสูงยิ่งของญี่ปุ่นในคริสต์ศตวรรษที่ผ่านมา นักปรัชญาหรือปราชญ์ท่านนี้ให้ความสนใจเป็นพิเศษในเรื่องจริยศาสตร์และพุทธศาสนาแบบเซน เป็นที่ทราบกันว่าท่านใช้เส้นทางนี้ในการเดินจากบ้านไปมหาวิทยาลัย และยังใช้เส้นทางนี้ในการทำวิปัสสนาด้วย ทำให้ผู้คนเรียกกันว่า “ทางเดินนักปราชญ์” หรือ “เท็ตสึกาคุ-โน-มิชิ” ในภาษาญี่ปุ่น

ทางเดินนักปราชญ์ จุดชมซากุระบานขึ้นชื่อของกรุงเกียวโต

 

                ก่อนจะเดินชมซากุระบานบนทางเดินนักปราชญ์ให้ตลอดเส้น เราเลี้ยวซ้ายเข้าถนนเล็กๆ มีร้านค้าตั้งอยู่เป็นระเบียบเรียงกันไปทั้งสองฝั่ง เดินขึ้นเนินไม่ไกลก็เข้าสู่ประตูวัดกิงคาคุ (Ginkakuji) อยู่บนเชิงเขาฮิกาชิยามะ หรือทิวเขาตะวันออกแห่งเกียวโต

                เราซื้อตั๋วคนละ 500 เยนแล้วเดินเข้าสู่ตัววัด ซึ่งก่อนจะเป็นวัดก็เป็นคฤหาสน์หลังเกษียณของ “อาชิคางะ โยชิมาสะ” หลานปู่ของ “อาชิคางะ โยชิมิตสึ” เจ้าของคิงคากุจิ หรือวัดศาลาทอง โยชิมาสะผู้เป็นโชกุนคนที่ 8 แห่งยุคมูโรมาชิสร้างคฤหาสน์นี้ขึ้นโดยมีคฤหาสน์ของท่านปู่เป็นแม่แบบ แต่มีเพียง 2 ชั้น และแทนที่จะปิดทองก็ตั้งใจจะฉาบคฤหาสน์ด้วยแผ่นเงิน ทว่าไม่เคยได้สมดังใจหมายเพราะเกิดสงครามโอนิงเสียก่อน

                สงครามนี้เกิดจากการตั้งโชกุนคนถัดไปซึ่งผลออกมาที่บุตรชาย ก่อให้เกิดความไม่พอใจจากฝ่ายที่สนับสนุนน้องชาย รบกัน 10 ปี จนเกียวโต (หรือเอฮัง) อยู่ในกองเพลิง ชาวเมืองต้องอพยพหนีตายทิ้งบ้านเรือน โยชิมาสะทอดถอนใจจากความพินาศที่เกิดขึ้นอยู่ในคฤหาสน์นี้ และได้บวชเป็นพระสงฆ์ในนิกายเซน ใช้ชื่อ “จิโช” เมื่อท่านเสียชีวิตลงเมื่อปี พ.ศ.2033 คฤหาสน์ก็ได้เปลี่ยนเป็นวัดเซนตามประสงค์ เรียกว่า “วัดจิโช” หรือเรียกติดปากว่าวัดศาลาเงิน 

                ตัวคฤหาสน์หรือศาลาเงินอยู่รอดปลอดภัยจากเหตุไฟไหม้และแผ่นดินไหวมาอย่างตลอดรอดฝั่ง มีการบูรณะขึ้นใหม่บ้าง แต่ไม่เคยได้ปิดแผ่นเงิน แต่บางคนก็บอกว่าเมื่อศาลานี้ต้องแสงจันทร์ในยามค่ำคืน สีดำที่เคลือบผิวไม้สะท้อนออกมาเป็นสีเงิน จึงไม่เสียหายที่จะเรียกว่าวัดศาลาเงิน ปัจจุบันประดิษฐานรูปปั้นขนาดใหญ่ของพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร หรือเจ้าแม่กวนอิม แต่ไม่เปิดให้เข้าชม

โลกสวยงามของว่าที่บ่าวสาว

 

                ด้านหน้าของศาลาเงินเป็นสระน้ำดูเป็นธรรมชาติสวยงาม ด้านซ้ายมือคือพีระมิดทรายสีขาวจำลองภูเขาไฟฟูจิและคลื่นจากทะเลสาบทั้งห้าที่รายรอบ ลานทรายสีขาวกินพื้นที่ต่อเนื่องไปอีกหลายตารางเมตร เราเดินไปตามเส้นทางที่ถูกกำหนดไว้ อาคารใหญ่ด้านซ้ายมือชื่อ “โกกุ-โด” เป็นจุดกำเนิดของวัฒนธรรมฮิกาชิยามะที่ส่งผ่านมาถึงทุกวันนี้ อาทิ ลักษณะสถาปัตยกรรม การจัดสวน การจัดดอกไม้ พิธีชงชา โรงละครโน และบทกวี

                อาคารส่วนมากไม่ได้เปิดให้เข้าชม เราเดินผ่านสระน้ำ สวนญี่ปุ่นพันธุ์ไม้หลากหลายและมอสสีเขียว เกาะเล็กๆ สะพานน้อยๆ ลำธารและน้ำตกจิ๋วๆ แล้วขึ้นเนินเขาไปตามทางที่มีรั้วกั้น มองลงมาเห็นวัดในภาพรวม และที่จุดหนึ่งมีป้ายเขียนไว้ว่า “บริเวณร่มสีแดงที่เห็นอยู่ไกลๆ คือต้นไม้ที่เพาะจากต้นเดิมซึ่งได้รับกัมมันตรังสีจากระเบิดปรมาณูที่สหรัฐทิ้งลงถล่มฮิโรชิมา” ผมมองเห็นแต่ร่มสีแดง ไม่เห็นต้นไม้

ทางเดินนักปราชญ์ยาวตั้ง 2 กิโลเมตร นั่งพักเหนื่อยกันหน่อย

 

                เส้นทางเดินเวียนขวาเป็นรูปครึ่งวงกลม ลงจากเนินเขาก็เจอศาลาเงินอยู่ทางด้านขวามือ สามารถถ่ายรูปไม่ย้อนแสงได้ แต่ต้นไม้ใหญ่ขึ้นขวางอยู่หลายต้น แล้วก็ไปสู่ทางออกตรงบริเวณจุดขายตั๋ว

                เราเดินออกจากวัดแล้วเข้าสู่ทางเดินนักปราชญ์อีกครั้ง โดยเดินจากทิศเหนือไปยังทิศใต้ มีวัดและศาลเจ้าอีกจำนวนหนึ่งอยู่ทางซ้ายมือ ร้านค้าอยู่อีกฝั่งถนนทางขวามือ ถนนและซอยที่ตัดตั้งฉากขึ้นมาจะมีความชันเล็กน้อย เราเดินยังไม่สุดเส้นทางที่ “วัดนันเซน” ก็วกกลับ

                ผมหยิบโทรศัพท์มือถือขึ้นมาดูแผนที่ ตัดสินใจเดินผ่านโรงเรียน บ้านเรือน และคลองสายเล็ก ลัดลงไปยังถนนเส้นหลักเพื่อจะขึ้นรถเมล์กลับเข้าตัวเมืองเกียวโตชั้นใน แผนที่กูเกิลที่แนะนำสายรถเมล์ได้ด้วยระบุให้ข้ามถนนไปขึ้นอีกฝั่ง รู้สึกว่าแปลกๆ แต่ก็ข้ามไปและขึ้นสาย 5 ตามพี่กูเกิล กระทั่งแน่ใจว่ารถเมล์กำลังพาเราออกนอกเมือง ผมจึงลุกไปถามคนขับ เขาบอกให้ลงแล้วข้ามไปขึ้นอีกฝั่ง   

เมืองเก่าไม่จำเป็นต้องเอาสายไฟลงดิน 

 

                คุณป้าคนหนึ่งดูไม่ปกติ แต่งกายมอซอ เดินเข้ามาหาเรา พูดอะไรบางอย่างแล้วเดินหนีไปเหมือนรังเกียจพวกเรา แล้วแกก็เดินกลับมาใหม่

                รถยนต์ติดหมายเลขผู้สมัครพร้อมเครื่องขยายเสียงวิ่งผ่านมา ผมไม่แน่ใจว่ากำลังจะมีการเลือกตั้งระดับชาติหรือระดับท้องถิ่น ชายในรถเก๋งซึ่งน่าจะเป็นผู้สมัคร (หรือทีมงามผู้สมัคร) เปิดกระจกพูดหาเสียงผ่านไมโครโฟน เราโบกมือให้ คุณป้าก็โบกด้วย ส่วนคนอื่นๆ ที่รอรถเมล์อยู่ได้แต่นั่งและยืนเฉยๆ

                ผู้สมัครจะรู้หรือเปล่าว่าพวกที่โบกมือยิ้มยินดีอยู่นี้ ไม่มีใครไปลงคะแนนให้เลย.

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"