ทิศทาง ปชป. ร่วม รบ.-ฟอร์ม ครม.?


เพิ่มเพื่อน    

 ประเทศต้องไม่เจอทางตัน เหตุผลถ้า ปชป.ร่วมรัฐบาล

การจัดตั้งรัฐบาลของฝ่ายพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) จนถึงช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา พบว่าการเจรจาต่อรองของคีย์แมน พปชร.กับสองพรรคตัวแปร ประชาธิปัตย์-ภูมิใจไทย ยังปิดดีลกันไม่ได้ การเจรจายังไม่ลงตัว โดยมีข่าวว่าหลังการประชุมรัฐสภาเพื่อโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีในวันพุธที่ 5 มิ.ย. ดีลดังกล่าวน่าจะมีความลงตัวมากขึ้น 

                ทิศทางการเมือง การร่วมรัฐบาล ก้าวย่างของพรรคสีฟ้า-ประชาธิปัตย์จะเป็นอย่างไรต่อจากนี้ มีทัศนะ-มุมมองจากนักการเมืองเลือดใหม่-นิวบลัด แต่ดีกรีชื่อชั้น-ตำแหน่งในพรรคไม่ธรรมดา นั่นก็คือ  ปริญญ์ พานิชภักดิ์ รองหัวหน้าพรรค ปชป. ที่ได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบด้านเศรษฐกิจยุคใหม่ 

ทั้งนี้ ปริญญ์ คือบุตรชายของ ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์ อดีตผู้อำนวยการใหญ่องค์การการค้าโลก  (WTO) อดีตแกนนำพรรค ปชป.-อดีตรองนายกฯ ยุครัฐบาลชวน หลีกภัย เมื่อมีชื่อของ ปริญญ์ เป็นรองหัวหน้าพรรค ปชป.ในยุค จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ เป็นหัวหน้าพรรคสีฟ้า-ปชป. เลยทำให้เขาเป็นที่จับตามองทั้งจากคนในพรรคและคนภายนอก ด้วยเหตุเพิ่งเปิดตัวเข้าสู่การเมือง ยังไม่เคยลงเลือกตั้ง แม้ที่ผ่านมาจะช่วยงานด้านนโยบายพรรคแต่ก็เข้ามาได้ไม่นาน แต่ก็ขึ้นมาเป็นแกนนำ รองหัวหน้าพรรค ปชป.ได้ในเวลาอันรวดเร็ว ซึ่งสาเหตุหลักก็คงเพราะด้วยดีกรีทางการศึกษา เช่น จบเศรษฐศาสตร์และการเงิน จาก London School of Economic and Political Science (L.S.E) ประเทศอังกฤษ รวมถึงการมีประสบการณ์การทำงานในภาคเอกชน ที่ผ่านตำแหน่งซีอีโอบริษัทต่างชาติขนาดใหญ่มามากมาย เช่น  Vice President ที่ Deutshe Bank Tisco Securities (Thailand), รองประธาน Asean-UK Business  Forum (AUBF) ล่าสุดเพิ่งลาออกจากกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทหลักทรัพย์ ซี แอล เอส เอ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัทหลักทรัพย์ขนาดใหญ่ที่มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ฮ่องกง รวมถึงการเคยเป็นบอร์ดในคณะกรรมการหลายชุด เช่น กรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เป็นต้น

                ก่อนจะไปคุยถึงเส้นทางการเมืองที่เข้ามาช่วยงานพรรค ปชป.เต็มตัว หลังก่อนหน้านี้เคยช่วยอยู่หลังฉากในเรื่องการทำนโยบายพรรค ปชป. เราถามความเห็นในฐานะรองหัวหน้าพรรค ปชป.ว่าคนที่เลือก ปชป.เกือบ 4 ล้านเสียง คิดว่าพวกเขาอยากให้พรรค ปชป.ร่วมรัฐบาลหรือไม่ เพราะเป็นการเลือกหลังอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรคออกคลิปไม่หนุนพลเอกประยุทธ์ ปริญญ์-รองหัวหน้าพรรคปชป. มีมุมมองเรื่องนี้ว่า ผมพูดได้เลย เพราะผมมีเพื่อนหลายคนที่ลงคะแนนให้พรรค ปชป.ที่อยู่ภาครัฐและเอกชน หากไปคุยกับเขาก็จะรู้ว่าเขาไม่ได้เลือกให้เราไปเป็นฝ่ายค้าน แต่เขาเลือกเราด้วยหลายเหตุผล โอเคคนกลุ่มหนึ่งเลือกเพราะเป็นแฟนพันธุ์แท้ คือต่อให้หัวหน้าพรรคเป็นใครเขาก็เลือก ซึ่งมีคนกลุ่มหนึ่งตรงจุดนี้

...กลุ่มที่สอง คือเลือกเพราะชอบคุณอภิสิทธิ์ ชอบเพราะเป็นคนซื่อสัตย์ ยึดมั่นอุดมการณ์ อันนี้มีจริงไม่เถียง กลุ่มที่สามเลือกเพราะเชื่อว่าประชาธิปัตย์มีคนเก่ง อยากให้เข้าไปบริหารประเทศ เข้าไปแก้ปัญหาเศรษฐกิจ และเลือกเพราะมั่นใจในนโยบายเศรษฐกิจและบุคลากรของพรรค และบางคนก็เลือกเพราะผู้สมัคร ส.ส.ของพรรคเข้าถึงประชาชนในพื้นที่จริง

...ดังนั้นจะบอกว่า 3 ล้าน 9 แสนเสียงที่เลือก ปชป.เพราะพรรคไม่เอาพลเอกประยุทธ์คงไม่ใช่แน่นอน อันนี้เราเห็นด้วยตรงกันว่ามีอยู่ 4-5 กลุ่มที่เลือก ปชป. แต่จะไปถามลงรายละเอียดย่อยว่ามีกลุ่มนี้มากกว่ากลุ่มนั้น ผมว่าไม่แฟร์ที่จะบอกว่ากลุ่มที่ไม่เอาพลเอกประยุทธ์จะมากกว่ากลุ่มคนที่เลือกเพราะสาเหตุอื่นๆ ผมว่าไม่แฟร์ถ้าจะคิดอย่างนั้น แต่ผมได้ยินคนพูดเสมอว่าประชาธิปัตย์เป็นฝ่ายค้านที่เก่งและเก่งมาก แต่ไม่ค่อยมีคนเข้าใจว่าประชาธิปัตย์ยามเป็นฝ่ายรัฐบาลก็เก่งมากไม่แพ้ใครเหมือนกัน เป็นฝ่ายรัฐบาลที่ขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกที่เป็นรูปธรรมกับสังคมได้ แก้ปัญหาปากท้องชาวบ้านได้ ซึ่งทำมาแล้วเช่นสมัยรัฐบาลชวน หลีกภัย ที่แก้ปัญหาวิกฤติต้มยำกุ้ง หรือตอนสมัยรัฐบาล อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่คุณกรณ์ จาติกวณิช ซึ่งช่วงนั้นเป็น รมว.คลัง ก็ทำเรื่องไทยเข้มแข็งไว้อย่างดี จนแก้ปัญหาเศรษฐกิจได้จริง

...ผมก็มองว่าคนที่ลงคะแนนเสียงเลือกพรรค ปชป.มีหลายเหตุผล แต่คราวนี้ยอมรับว่าคนเลือกเราน้อยลงเยอะเพราะมีปัจจัยพิเศษมาเกี่ยวข้อง รวมถึงการที่เราอยู่ตรงกลาง เราก็เลยคะแนนหาย

-ถ้า ปชป.ไปร่วมรัฐบาลกับ พปชร. พรรคจะบอกฝ่ายกองเชียร์ที่ไม่เห็นด้วยกับแนวทางนี้อย่างไร?

ถ้าพรรค ปชป.ตัดสินใจไปร่วมรัฐบาล เราจะตัดสินใจไปร่วมรัฐบาลบนพื้นฐานว่า เราเชื่อว่าเป็นประโยชน์กับประชาชน กับชาติบ้านเมือง ซึ่งอุดมการณ์ของพรรค ปชป.ชัดเจนเรื่องนี้ว่าเราทำเพื่อชาติบ้านเมืองส่วนรวม ไม่ใช่ว่าทำเพื่อพรรคหรือเพื่อคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ผมก็มองว่าถ้าพรรคไปร่วมรัฐบาลก็ทำให้ประเทศชาติเดินหน้าต่อไปได้ ไม่มีทางตัน สอง-คือถ้าได้ไปทำงานในกระทรวงที่สร้างการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกให้กับเศรษฐกิจฐานราก ให้กับกระทรวงที่พรรคมีคนไปขับเคลื่อนได้ในกระทรวงสำคัญ ๆ ไปมีบทบาทในกระทรวงสำคัญ ไปปกครองบ้านเมือง ผมว่าตอบประชาชนได้ว่าได้เข้าไปทำงาน ได้แสดงผลงาน ได้ช่วยเหลือประชาชนจริงๆ โดยเฉพาะปัญหาปากท้องชาวบ้าน แก้ปัญหาความยากจน ซึ่งประชาธิปัตย์ตอนหาเสียงก็พูดนโยบายชัดเจนเรื่อง แก้จน สร้างคน สร้างชาติ

 อีกทั้งที่พรรคเสนอว่าควรมีการแก้ไขปรับปรุงรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ก็เป็นการแสดงให้เห็นถึงจิตใจประชาธิปไตย ที่เมื่อยังมีบางส่วนที่ยังไม่เป็นประชาธิปไตยก็เข้าไปแก้ไข     

จริงๆ ผมว่าคนในพรรค ปชป.เองเท่าที่ได้คุยกันช่วงหลังๆ ส.ส.ของพรรคก็เริ่มใจเย็น ค่อยๆ คิด ค่อยๆ ไตร่ตรอง ก็เลยเกิดกรณีที่พรรคสนับสนุนให้คุณชวน หลีกภัย ไปเป็นประธานสภาฯ และได้รับเลือกจากที่ประชุมสภาฯ สิ่งเหล่านี้คือข่าวดี ที่อย่างน้อยรัฐบาลที่อาจจะดูเหมือนแบ็กโดย คสช.กลายๆ  เราไม่เถียง แต่เขาก็เปิดให้คุณชวนเป็นประธานสภาฯ และในการแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วยในอนาคต

 สิ่งเหล่านี้ตอบโจทย์ประชาชน ตอบโจทย์คนที่เลือกพรรคมา 3.9 ล้านเสียงได้หรือไม่ว่า อย่างน้อย ก็ไม่ได้ไปสนับสนุนพลเอกประยุทธ์หมดทุกอย่าง ไม่ใช่ แต่ก็จะเข้าไปทำงานเพื่อชาติบ้านเมืองบนพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตย ที่จะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มีประธานรัฐสภามาจากพรรค ปชป.

สำหรับเหตุผลที่พรรค ปชป.ต้องยื่นเงื่อนไขขอให้แก้ไข รธน.ด้วยหากจะร่วมรัฐบาลกับ พปชร.  ปริญญ์-รองหัวหน้าพรรค แจงว่า เป็นเพราะก่อนหน้านี้อดีตหัวหน้าพรรค คุณอภิสิทธิ์ก็เคยพูดหาเสียงไว้ว่าไม่เห็นด้วยกับ รธน.ฉบับปัจจุบัน ซึ่งจุดหนึ่งมีหลายคนกังวลและคิดว่านี้คือการสืบทอดอำนาจ ก็จะแก้ไข รธน.เพื่อให้เห็นว่าเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น หากประชาธิปัตย์เข้าไปก็จะได้ตอบโจทย์ประชาชนชัดเจนว่า เรามาร่วมรัฐบาลแต่มาร่วมโดยมีข้อแม้ เช่นให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

-การที่พรรคยังไม่ยอมแสดงท่าทีออกมาว่าจะร่วมหรือไม่ร่วมกับ พปชร. คนมองกันว่ากำลังเล่นเกมยื้อ ดึงเช็ง ต่อรอง?

ไม่ใช่ ไม่ใช่การดึงเช็งอะไร ตอนนี้เป็นเรื่องภายในของพรรค พปชร.แล้ว ไม่ใช่จาก ปชป. ต้องเริ่มต้นที่ พปชร.ก่อน พปชร.ต้องตกลงกันภายในพรรคให้จบก่อน ทางพรรค ปชป.ไม่ได้ดึงเช็งอะไร ปชป.เราเข้าใจสถานการณ์ทุกอย่างดี เพราะอย่างคำถามที่ได้ถามผมว่า แล้วประชาชนที่เลือก ปชป.มา 3.9 ล้านเสียงจะตอบเขาอย่างไร ก็นี่ไงคำตอบ ไม่ใช่การยื้ออะไร แต่เป็นการรับฟังความเห็นทั้งหมด คนที่เขาไม่พอใจไม่อยากให้พรรคไปร่วมรัฐบาลก็มีเยอะ

 ดังนั้นการที่จะให้คนกลุ่มหนึ่งใน 3.9 ล้านเสียงที่เขาโหวตเลือกพรรค ปชป. ที่เขาไม่เอาพลเอกประยุทธ์ ที่บอกว่าเลือกเพราะอดีตหัวหน้าพรรคคุณอภิสิทธิ์ปฏิเสธเผด็จการ เพราะฉะนั้นคนกลุ่มดังกล่าวที่เขาเลือกพรรค ปชป. พรรคจึงต้องทำอย่างไรที่จะทำให้คนเหล่านี้เขาเข้าใจว่าเราไม่ได้ไปร่วมรัฐบาลเพื่ออยู่ใต้ทหาร อยู่ใต้ คสช. อยู่ใต้พลังประชารัฐ แต่เราไปร่วมเพื่อไปเป็นพาร์ตเนอร์ในการร่วมขับเคลื่อนประเทศให้ไปข้างหน้า ไม่ให้พบกับทางตัน อันนี้สำคัญมากว่าเราทำเพื่ออุดมการณ์ เพื่อผลประโยชน์ของชาติบ้านเมืองของส่วนรวมเป็นใหญ่ ไม่ใช่ของพรรคเป็นใหญ่ เพราะถ้าทำเพื่อพรรคเป็นหลักใหญ่ เอาให้มันล้มไปเลย ถอยดีกว่า อันนี้คือทางตันใช่ไหมครับ หากประชาธิปัตย์ไม่ร่วม ตั้งรัฐบาลไม่ได้ ชาติบ้านเมืองก็ทางตัน ก็เลือกตั้งใหม่ เสียเงิน เสียเวลา คนก็ด่าอีก ประชาธิปัตย์จึงไม่ได้ล่าช้า  แต่ได้ทำตามกระบวนการแล้ว เพราะพรรคก็ต้องรอให้ กกต.ประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง พรรคถึงจะมาเลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่ได้

 ทั้งหมดเป็นเรื่องของกระบวนการ และก็ต้องแคร์เสียงส่วนน้อยที่ผมเห็นว่าไม่ได้เยอะ เพราะอย่างที่คุยกัน 3.9 ล้านเสียง ไม่ใช่ทุกคนที่เลือกพรรค ปชป.เพราะนโยบายคุณอภิสิทธิ์ตอนโค้งสุดท้ายก่อนเลือกตั้ง ก็มีเหตุผลอื่นด้วย แต่อย่าลืมว่าแล้วอีกกี่ล้านเสียงที่เคยเลือกพรรค ปชป.ที่หายไปอยู่กับพรรคพปชร. แล้วจะไม่เอาเสียงเหล่านั้นกลับมาอยู่กับเราบ้างเลยหรือ ในแง่ของพรรค พรรคก็ต้องมองทั้งระยะกลาง ระยะยาว ที่ควรจะได้เสียงเพิ่มมากกว่าครั้งสุดท้ายที่ได้ จะไปจับแค่ 3.9 ล้านเสียงก็ไม่ได้

ถามถึงว่าหาก ปชป.ไปร่วมตั้งรัฐบาลกับพลังประชารัฐ ยืนยันได้หรือไม่ว่านโยบายที่เคยหาเสียงไว้ เช่น ประกันรายได้สินค้าเกษตร หรือการให้เงินช่วยเหลือเด็กแรกเกิด ที่เรียกว่าเกิดปั๊บรับแสน จะสามารถนำไปผลักดันให้เกิดขึ้นได้ ปริญญ์-หนึ่งในคณะทำงานยกร่างนโยบายพรรค ปชป.ตอนหาเสียงเลือกตั้ง กล่าวตอบว่า ขึ้นอยู่กับว่าพรรค ปชป.มีคนของพรรคไปรับผิดชอบเป็น รมว.หรือ รมช.กระทรวงใด ที่จะเข้าไปมีบทบาทในการขับเคลื่อนบางนโยบาย แต่เชื่อว่าหากเข้าไปอยู่เป็นรัฐบาล การเสนอความเห็นเรื่องเหล่านี้มีเกิดขึ้นแน่นอน

ผมก็คิดว่าบางเรื่องก็ประสานงานกันได้ แล้วกระทรวงที่ ปชป.เข้าไปบริหารอย่างเช่นที่มีข่าว อาทิ  พาณิชย์, เกษตรฯ ที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจฐานราก พรรคมีโนว์ฮาวและเคยทำมาแล้ว ซึ่งหลายนโยบายที่พรรคเคยหาเสียงไว้สำคัญมากและจะต้องมีการนำไปขับเคลื่อน เพราะนโยบายของพรรคมีการทำออกมาหลายเซต เช่น ชุดการแก้จน, ชุดเรื่องการสร้างคนสร้างชาติ แต่ละเซตก็จะมีการทั้งในระยะสั้น ระยะกลาง ระยะยาว ที่แม้อาจต้องใช้เวลาขับเคลื่อนแต่ต้องทำ

ถามถึงข่าวก่อนหน้านี้ที่ว่า พปชร.กับ ปชป.เจรจาเรื่องตั้งรัฐบาล และว่า ปชป.ได้ประมาณ 7 เก้าอี้  แต่ ปชป.มีหลายคนที่ถูกมองว่าเหมาะสมจะได้เป็นรัฐมนตรี มีผู้อาวุโสในพรรคจำนวนมาก ในฐานะกรรมการบริหารพรรคคนหนึ่งจะมีหลักเกณฑ์การพิจารณาอย่างไร ปริญญ์-รองหัวหน้าพรรค ปชป.  เผยแนวทางไว้ว่า เรื่องดังกล่าวต้องนำเข้าที่ประชุมกรรมการบริหารพรรค เพื่อพิจารณาหลักเกณฑ์การให้บุคลากรของพรรคที่จะคัดเลือกไปเป็นรัฐมนตรี ซึ่งที่ผ่านมาการพิจารณาเรื่องดังกล่าว พรรคมีการนำเรื่องไปหารือในที่ประชุม กก.บห.ทุกครั้ง เป็นมาตั้งแต่สมัยคุณพ่อผมยังอยู่กับพรรค ปชป. เพราะพรรคมีการรับฟังรอบด้าน ถามความเห็นหลายคน แต่กรอบการพิจารณาดังกล่าวทางพรรคยังไม่ได้พูดคุยกัน เพราะพรรคยังไม่มีมติว่าจะร่วมรัฐบาลหรือไม่ แต่หากพรรคไปร่วมรัฐบาล เราก็จะมีการพูดคุยกันใน กก.บห.พรรค ยืนยันว่ากระบวนการพิจารณาเรื่องดังกล่าวจะทำอย่างโปร่งใส เปิดรับฟังความเห็นจากทุกฝ่าย และสุดท้าย กก.บห.พรรคจะเป็นผู้โหวตรับรองกระบวนการดังกล่าว โดยหากพรรคจะมีการเสนอชื่อใครไปทำหน้าที่ต่างๆ ทั้ง รมว., รมช., ผู้ช่วยรัฐมนตรี, ที่ปรึกษาและเลขานุการ รมต. พรรคจะกลั่นกรองรายชื่อมาอย่างดีแล้ว ทั้งความสามารถ วัยวุฒิ การช่วยงานพรรคในช่วงที่ผ่านมา

ปริญญ์ ยังกล่าวถึงกรณีที่คนมองว่ารัฐบาลที่จะตั้งขึ้นหาก พปชร.ตั้งสำเร็จ โดยเสียงไม่เกิน 260 เสียง เป็นรัฐบาลปริ่มน้ำ อาจอยู่ได้ไม่นานก็ต้องยุบสภาฯ ว่า ถ้าจะมีการเลือกตั้ง พรรคก็ต้องพร้อมเสมอ แต่เรื่องที่จะเป็นรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำแล้วเกรงว่าอาจอยู่ได้ไม่นานนั้น คือเมื่อได้ท่านชวนเป็นประธานสภาฯ เผลอๆ จะอยู่ได้ยาวกว่าที่ได้ประธานสภาฯ ที่จะมาจาก พปชร. ผมว่าการคุมเกม ความเก๋าเกมในสภาฯ ความมีประชาธิปไตย การต้องขับเคลื่อนในหลายๆ เรื่อง ผมว่าจะคุมได้ดีกว่าที่จะมีคนจากพรรค พปชร.มาคุมเอง ผมมองว่าอาจจะอยู่ได้ยาวกว่าที่คนคิดกันเอาไว้

ถามต่อไปว่าในฐานะเป็นกรรมการบริหารพรรคที่เข้าร่วมประชุมกรรมการบริหารพรรคและการประชุมร่วมระหว่างกรรมการบริหารพรรคกับ ส.ส. คนในห้องประชุมมีความเห็นแตกต่างกันมากหรือไม่ในเรื่องที่พรรคควรจะไปร่วมหรือไม่ร่วมรัฐบาล ปริญญ์ เล่าว่าจริงๆ บรรยากาศการประชุมกรรมการบริหารพรรค การประชุมร่วมระหว่าง ส.ส.กับกรรมการบริหารพรรคหลายครั้งที่ผ่านมาของพรรค ปชป.ก็ไม่ได้มีอะไร คือภาพที่ออกมาอาจมองดูว่า เช่นการนั่งรวมกลุ่มกันของคนในพรรค ที่พอดีว่าเพิ่งผ่านพ้นการเลือกหัวหน้าพรรคกันมา อย่างคุณกรณ์ก็อาจนั่งใกล้ๆ กับทีมงาน ส่วนคุณถาวร เสนเนียม ก็อาจนั่งกับทีมงานที่เคยร่วมงานตอนหาเสียงเลือกตั้งหัวหน้าพรรค แล้วสื่อก็ไปบอกว่ามีการนั่งแยกฝ่ายแยกขั้วกัน ซึ่งจริงๆ อย่างผมเวลาเดินเข้าห้องประชุมใหญ่พรรค บางทีผมจะไปนั่งแถวหน้าๆ สุด หรือบางครั้งจะไปนั่งหลังห้องสุดก็ได้ ไม่ได้รู้สึกถึงแรงกดดันอะไร

...บางทีสื่อไปมองแค่ช็อตเดียวแล้วไปคิดว่านี่คือความแตกแยก เพราะที่พรรคพอประชุมเสร็จทุกคนก็จับมือกัน เดินตบไหล่ มีการพูดจาหยอกล้อพูดคุยกัน ผมไม่เห็นว่าจะมีบรรยากาศในพรรคที่เปลี่ยนไปจากตอนที่ผมเข้ามาช่วยงานเป็นที่ปรึกษาให้กับพรรค หรือสมัยตอนที่คุณพ่อผมอยู่ที่พรรค ปชป. คือแน่นอนการแข่งขันเพิ่งจบก็ไม่เถียงว่าอาจมีอยู่บ้างบางคนที่อาจจะมีอารมณ์ค้าง แต่ว่าการประชุมของพรรคว่าจะร่วมหรือไม่ร่วม มันยังไม่มีการเกิดขึ้น มีแต่การหารือกันนอกรอบของแต่ละกลุ่ม ก็คุยกันเองว่าแต่ละสเต็ปจะทำอะไร พรรค ปชป.เป็นพรรคการเมืองที่ทำอะไรแต่ละอย่างมีสเต็ปมีขั้นตอน มีจังหวะ

...ผมก็ยังไม่เห็นความแตกแยก อย่างตอนที่พรรคประชุมกันเรื่องการเสนอชื่อประธานสภาฯ เมื่อสัปดาห์ก่อนหน้านี้ ทุกคนก็เห็นด้วยในการเสนอชื่อท่านชวน หลีกภัย ก็มีการพูดซักถามกันว่า ชัวร์นะว่าพรรคพลังประชารัฐเอาด้วย ทุกคนแคร์กันหมด อันนี้มาจากหลายฝ่าย แล้วคนที่เสนอว่าเราอยากได้ประธานสภาฯ ก็ไม่ได้มาจากฝั่งหัวหน้าพรรค ก็มาจากอีกฝั่งหนึ่ง ซึ่งมีคนที่คิดว่าทำแบบนี้แล้วได้ไหม ดีไหม บางทีแล้วไปมองจากข้างนอกกัน ทั้งที่ข้างในจริงๆ พวกเราก็ friendly กัน ไม่ใช่ว่าจะคุยกันไม่ได้  จะแตกหักกัน ไม่ใช่อย่างนั้น

เมื่อถามต่อไปว่า หากพรรค ปชป.มีมติออกมาเช่นให้ร่วมรัฐบาล โหวตนายกฯ ทุกคนในพรรคก็ต้องปฏิบัติตามมติพรรค ปริญญ์ ย้ำว่า เชื่อว่าจะเป็นอย่างนั้น ผมคิดว่า ส.ส.ของพรรคและกรรมการบริหารพรรค ปชป.มีความเป็นผู้ใหญ่ หลายคนมีประสบการณ์ทางการเมืองสูง บางคนอาจมีความเห็นไม่ตรงกัน แต่พรรค ปชป.เปิดโอกาสให้มีการถกเถียง แสดงความคิดเห็นอย่างมีอิสรเสรีภาพเต็มที่

วันก่อนผมเคยไปนั่งคุยกับหัวหน้าพรรค คุณจุรินทร์ ผมถามว่าในใจอยากจะร่วมหรือไม่อยากร่วมรัฐบาล จะให้ผมช่วยพูดอะไรหรือไม่ ผมถามท่านหัวหน้าพรรคตรงๆ เลย เพราะในฐานะที่ผมก็ทำงานให้กับท่านโดยตรง ก็อยากถามว่าในใจหัวหน้าพรรคคิดอะไรอยู่ ท่านก็บอกว่าให้ผมแสดงความคิดเห็นได้เลยว่าพรรคควรจะร่วมหรือไม่ควรร่วมรัฐบาล แสดงความเห็นได้เลยไม่ขัดข้อง อันนี้คือเสน่ห์ของพรรคการเมืองที่มีหัวใจของประชาธิปไตยอย่างแท้จริง

...หรือตอนที่ผมไปพบคุณชวน ตอนนั้นผมก็กังวลว่าผมเข้ามาทำงาน เข้ามาเป็นรองหัวหน้าพรรค จะไปทำให้ใครมองแล้วเขม่นไหม หรือตอนที่ผมไปคุยกับคุณอภิสิทธิ์ ที่เคยให้ผมเป็นทีมที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจ ผมก็ไปถามว่าหากผมมาเป็นรองหัวหน้าพรรคจะเหมาะสมไหม จะให้ทำอย่างไร คุณอภิสิทธิ์ก็บอกว่าไม่ขัด ขึ้นอยู่กับหัวหน้าพรรคเลย คุณชวนก็ไม่ได้คอนโทรลหัวหน้าพรรคคุณจุรินทร์ คนชอบไปพูดว่าคุณจุรินทร์อยู่ใต้คุณชวน เป็นเด็กใต้อาณัติ ซึ่งไม่จริงเลย ต้องเข้าใจว่าคุณจุรินทร์เป็นผู้ใหญ่ที่มีความอ่อนน้อมถ่อมตน มีมารยาท มีความเป็นสุภาพบุรุษ เหมือนกับคุณอภิสิทธิ์ ผมบอกได้เต็มคำเลยว่าทั้งคุณจุรินทร์และคุณอภิสิทธิ์จะไปอยู่ใต้อาณัติใคร ทุกคนมีความเป็นผู้นำในตัวเอง

-คนมองกันว่าในพรรค ปชป. 3 อดีตหัวหน้าพรรค คือ นายชวน, นายบัญญัติ และนายอภิสิทธิ์ ค่อนข้างมีอิทธิพลทางความคิดต่อคนในพรรค? 

อันนี้ต้องเข้าใจว่าเป็นเรื่องสังคมไทย ไม่ใช่เรื่องพรรคแล้ว ก็เหมือนอย่างเช่นคนที่ทำงานอยู่ในองค์กรสื่อแห่งหนึ่งมานาน คนในองค์กรก็จะเคารพฟังคนที่อยู่มาก่อนหากมีบารมี เป็นคนดี ซื่อสัตย์ ที่ผ่านการสั่งสมจากวัยวุฒิ-คุณวุฒิในการทำงาน ก็ในเมื่อท่านชวน คุณอภิสิทธิ์ ท่านบัญญัติ แต่ละคนทำงานสั่งสมบารมีการทำงาน ความรู้ความคิดเห็นมา ก็เป็นเรื่องธรรมดา ที่อย่างผมแม้จะทำงานด้านการเงินมานาน แต่ผมเข้าไปพรรค ปชป.วันแรก ผมพูดอะไรจะมีคนฟังผมไหม ก็อาจไม่ฟังเท่าผู้ใหญ่ในพรรค ก็เป็นเรื่องธรรมดา ผมถึงบอกว่าพรรคประชาธิปัตย์ ผู้ใหญ่ในพรรคเปิดใจรับคนรุ่นใหม่ อย่างห้องท่านชวน หลีกภัย ที่พรรคก็เปิดไว้ตลอด เด็กๆ รุ่นใหม่ในพรรคอย่างพวกนิวเดมก็เข้าไปสวัสดีไปทานข้าวกลางวันกับท่านชวน ท่านเปิดรับหมด ไม่มีการปิดกั้นว่าต้องเป็นเด็กท่านชวนอะไร ไม่มี ประตูห้องท่านชวนเปิดตลอด รวมถึงห้องคุณอภิสิทธิ์ ใครๆ ก็เข้าไปสวัสดีไปคุยได้ ไม่มีพิธีรีตอง ไม่มีการต้องนัดหมายล่วงหน้า เหมือนกับหัวหน้าพรรคคุณจุรินทร์ ประตูห้องทำงานท่านก็เปิดเสมอ

สิ่งที่ถาม ผมก็คิดว่าคนในพรรคก็มีมารยาท มีความเป็นสุภาพบุรุษ เขาอ่อนน้อมถ่อมตน ไม่ก้าวร้าวกับผู้ใหญ่ ที่เป็นวัฒนธรรมคนไทยในการทำงานองค์กร โดยเฉพาะองค์กรใหญ่ๆ อย่างพรรคประชาธิปัตย์ ที่คนก็นอบน้อมถ่อมตน

ในฐานะรองหัวหน้าพรรค ปชป. เราถาม ปริญญ์ ว่า หลายคนมองว่าพรรค ปชป.มีปัญหาความขัดแย้งภายในพรรค ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ตอนสมัยนายอภิสิทธิ์แข่งกับ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม จนมาถึงตอนนี้ ที่เพิ่งผ่านพ้นไปที่จุรินทร์เอาชนะคู่แข่งคนอื่นๆ มาได้ แล้วในฐานะกรรมการบริหารพรรค มองว่าหลังจากนี้ ปชป.จะกลับมามีเอกภาพได้หรือไม่ ปริญญ์ ให้ความเห็นว่าเป็นเรื่องธรรมดาของการแข่งขัน ที่เมื่อเพิ่งเสร็จจากการแข่งขันอะไรไปแล้ว ในพรรค ปชป.มีคนเก่งเยอะ เมื่อแข่งขันไปแล้ว ฝ่ายที่แพ้อาจจะรู้สึกตะขิดตะขวงใจ ไม่แน่ใจ มีความรู้สึกว่ายังไม่จบ แต่ผมเชื่อว่าด้วยความมีน้ำใจนักกีฬา และเชื่อในความเป็นผู้ใหญ่ ก็เป็นธรรมดาที่ในพรรค ปชป.ก็มีการแข่งขันกันหลายครั้ง จนบางทีคนภายนอกมองเข้ามาอาจรู้สึกไปว่าพรรคจะแตก แต่ผมคิดว่าไม่แตก เพราะผมยังรู้สึกว่า ปชป.เป็นพรรคที่มีระบบ มีความเป็นประชาธิปไตยกับวิธีการที่ทำกันในพรรค

...เมื่อจบแล้ว หัวหน้าพรรคเป็นคนที่ทำงานกับทุกฝ่ายได้ เพราะสนิทและเป็นเพื่อนกับคุณพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ส่วนคุณอภิรักษ์ โกษะโยธิน ก็ตอบรับเป็นที่ปรึกษาของทีมหัวหน้าพรรคแล้ว ส่วนคุณกรณ์ก็จะอยู่ช่วยพรรคอย่างเต็มที่ ผมก็คิดว่าทีมงานที่แข่งขันกันตอนชิงหัวหน้าพรรค ปชป.ทั้งสี่ทีม  จริงๆ แล้วต่างก็มีจุดแข็งจุดเด่นแตกต่างกันไป ต่อไปก็คือจะทำอย่างไรให้มาทำงานร่วมกัน ประสานกันได้เพื่อให้ไปข้างหน้าได้ จริงๆ พรรคการเมืองหลายพรรคก็มีหลายขั้วในแต่ละพรรค ที่เป็นธรรมชาติของการเมือง ซึ่งการแข่งขันทางการเมืองเมื่อมันจบแล้ว อาจใช้เวลาในการประสานทำให้กลับมาเหมือนเดิม  ผมเชื่อว่าพรรคการเมืองอย่าง ปชป.ไม่ได้แตกหักถึงกับทำให้พรรคล่มสลาย เพราะว่าด้วยความที่มีระบบและเป็นพรรคที่มีประชาธิปไตยที่แท้จริง และการที่มีผู้นำพรรคอย่างนายจุรินทร์ ก็เชื่อว่าพรรคไม่น่าจะแตก เพราะความคิดเห็นย่อมแตกต่างกันได้ แต่ไม่ถึงขั้นแตกหัก ก็ทำงานร่วมกันได้

 

มือเศรษฐกิจรุ่นใหม่ ปชป. กับภารกิจฟื้นฟูพรรคสีฟ้า 

                สำหรับเส้นทางการเมืองของ ปริญญ์-รองหัวหน้าพรรค ปชป. เขาเล่าถึงการลาออกจากตำแหน่งซีอีโอในบริษัทเอกชนขนาดใหญ่มาทำงานการเมืองเต็มตัวกับพรรค ปชป. ว่าความสนใจทางการเมืองเริ่มตั้งแต่เยาว์วัย ซึ่งคุณพ่อ (ดร.ศุภชัย) แม้จะทำงานหนักแค่ไหนแต่ก็ให้เวลากับครอบครัว ครอบครัวก็ไปร่วมหาเสียงด้วย โดยคุณพ่อเข้าสู่การเมืองปี 2526 ตอนนั้นลงเลือกตั้งหาเสียงในเขตหนองจอก บางกะปิ ในนามพรรค ปชป. โดยแข่งกับทีมจากพรรคประชากรไทย ตอนนั้นอายุสัก 7 ขวบ คุณพ่อก็พาครอบครัวไปช่วยหาเสียงด้วย

                ความรู้สึกที่ผมมีต่อพรรค ปชป.ก็เริ่มตั้งแต่ตอนนั้น เพราะตอนพ่อผมลงสมัคร ส.ส.ครั้งแรก ต่อมาเมื่อพรรค ปชป.เป็นพรรคร่วมรัฐบาล ทางพรรคก็ให้คุณพ่อผมไปทำหน้าที่เป็น รมช.คลัง ทั้งที่เข้าการเมืองเพิ่งผ่านการเลือกตั้งครั้งแรก โดยตอนนั้นมีอาจารย์สุธี สิงห์เสน่ห์ เป็น รมว.คลัง ทั้งหมดก็ทำให้เริ่มสนใจและติดตามอ่านข่าวพรรค ปชป.จนเมื่อไปเรียนต่อที่อังกฤษ ก็สนใจศึกษาเรื่องเศรษฐศาสตร์การเมือง จนต่อมาคุณพ่อกลับมารับตำแหน่งรองนายกฯ ในรัฐบาลชวน 1 ที่ผ่านมา คุณพ่อไม่เคยชวนหรือบอกให้ลูกมาทำงานการเมือง จนเมื่อผมกลับมาทำงานที่ประเทศไทย เป็นซีอีโอของบริษัท หลักทรัพย์ ซี แอล เอส เอฯ ที่เป็นโบรกเกอร์ขนาดใหญ่ เราก็มีการพูดคุยการเมืองกันเป็นประจำ ก็ได้มีการพบปะพูดคุย นำนักลงทุนต่างชาติเข้าไปคุยกับผู้ใหญ่ในพรรค ปชป.ตั้งแต่สมัยคุณอภิสิทธิ์เป็นนายกฯ จนเป็นผู้นำฝ่ายค้าน ผมก็พาไปเจอกับผู้ใหญ่ในพรรคหลายคน เช่น คุณอภิสิทธิ์-กรณ์ รวมถึงคุณเกียรติ สิทธีอมร และคุณจุติ ไกรฤกษ์ ทั้งสมัยที่พรรค ปชป.เป็นรัฐบาลและฝ่ายค้าน

                สำหรับการก้าวเข้าสู่การเมืองมาช่วยงานพรรค ปชป. ปริญญ์ บอกว่า เริ่มต้นจริงๆ ก็ตอนช่วงปี 2561 พรรค ปชป.มีการสร้างทีมเศรษฐกิจเพื่อเตรียมพร้อมลงเลือกตั้ง ผมก็ได้พูดคุยกับคนในพรรค เขาก็ถามว่าสนใจมาทำงานการเมืองหรือไม่ แต่ตอนนั้นผมยังอยู่ภาคเอกชนและยังไม่หมดเทอมของการเป็นบอร์ดชุดต่างๆ หลายแห่ง เช่น ที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ผมก็เลยขอช่วยพรรคอยู่นอกรอบ แต่ก็เข้าไปเป็นหนึ่งในทีมที่ปรึกษาเศรษฐกิจมาได้สักระยะ โดยมีการพูดคุยแลกเปลี่ยนไอเดียกับทีมเศรษฐกิจของพรรคที่มีคุณกรณ์เป็นหัวหน้าทีม ทำให้ผมยิ่งมีความซึมซับกับพรรค ปชป.มากขึ้นเรื่อยๆ โดยทางผู้ใหญ่ในพรรค ปชป.ต่างก็เปิดกว้าง ซึ่งต่อมาคุณอภิสิทธิ์ที่เป็นหัวหน้าพรรคเวลานั้น และคุณจุรินทร์ก็ดึงผมให้มาช่วยงานพรรค มาช่วยงานเป็นทีมเศรษฐกิจของพรรค ปชป. โดยช่วงหาเสียงเลือกตั้งที่ผ่านมา ผมก็ได้มาช่วยงานพรรค ปชป.มากขึ้น จนปัจจุบันเข้ามาเป็นกรรมการบริหารพรรค

                เมื่อถามถึงว่าตั้งใจมาแต่แรกหรือไม่ว่าจะเป็นนักการเมือง ปริญญ์-รองหัวหน้าพรรค ปชป. ตอบว่า ที่ผ่านมาอยากทำสิ่งที่จะสร้างประโยชน์ให้กับสังคมในวงกว้างมาตลอดตั้งแต่อยู่ภาคเอกชน ดังนั้น หากถามว่าผมปักเป้าไว้หรือไม่ว่าต้องเป็นนักการเมือง ตอนแรกผมก็มีความไม่แน่ใจ เพราะผมรู้ว่านักการเมืองมีทั้งเสน่ห์และความท้าทาย เสน่ห์ก็คือ อำนาจที่เข้าไปแล้วสามารถทำอะไรต่างๆ เช่น การเสนอกฎหมาย อำนาจในการพัฒนาประเทศผ่านการบริหารงานภาครัฐ แต่ขณะเดียวกันการเป็นนักการเมืองที่ดีก็ต้องมีการประสานงาน ปรับความคิดในการทำงานเพื่อให้เข้ากับคนหลายกลุ่มได้ ไม่ใช่ว่าจะมาคนเดียวแล้วจะทำทุกอย่างที่อยากทำได้ ตรงนี้ก็เลยเป็นความท้าทายอย่างหนึ่งในใจ ที่ตอนแรกเราก็ไม่แน่ใจว่าเข้าไปแล้วเราจะถูกกลืนไปในระบบหรือไม่ จะมีใครฟังเราหรือไม่ เพราะเราทำงานภาคเอกชนมายี่สิบปีก็ถือว่ามาได้ในระดับสูงสุดแล้ว แต่เมื่อเข้าไปการเมืองจะเป็นเบบี้ใหม่ทางการเมือง จะเข้าไปพัฒนาอะไรต่างๆ ได้จริงหรือไม่ ก็เป็นสิ่งที่ถกเถียงในใจว่าเข้าไปแล้วจะสร้างประโยชน์ได้จริงหรือไม่ เพราะหลายคนที่เก่งๆ บางทีเข้าไปก็อาจไม่ได้ทำอย่างที่ตัวเองอยากจะทำ ก็ถกเถียงในใจอยู่นาน จนผมรอดูจังหวะให้พร้อมทั้งในใจตัวเองและหน้าที่การงานในภาคเอกชน จนกระทั่งตัดสินใจเข้ามาทำงานการเมืองเต็มตัว

                -จากที่เป็นซีอีโออยู่ในแวดวงธุรกิจ การเงิน การลงทุน ทำไมลาออกมาอยู่กับ ปชป. ในช่วงที่คนมองว่าพรรคอยู่ในช่วงตกต่ำจากผลการเลือกตั้งที่ผ่านมา?

                ผมมองว่าตอนนี้เป็นจังหวะที่ดี ด้วยเหตุผลเพราะผมมั่นใจว่าหัวหน้าพรรค คุณจุรินทร์ เป็นคนทันสมัย ไม่หัวโบราณ คล่องแคล่ว ว่องไว จับประเด็นได้แหลมคม อย่างผมจะไปทำงานกับใครก็อยากทำงานกับหัวหน้าที่เราภูมิใจ ทำงานด้วยได้ ทำงานด้วยความสนิทใจ หัวหน้าพรรคทำงานการเมืองมา 33 ปี ได้พิสูจน์ตัวเองให้เห็นแล้วว่าซื่อสัตย์สุจริต ไม่โกง ทำงานโดยยึดมั่นในประโยชน์ของประเทศชาติและส่วนรวม ผ่านงานทั้งบริหารและนิติบัญญัติมาหลายสมัย

                เหตุผลที่สอง หัวหน้าพรรคและพรรค ปชป.ให้โอกาสคนรุ่นใหม่อย่างผมที่ได้เข้ามาเป็นรองหัวหน้าพรรค ปชป. เพราะมีการให้โอกาสคนที่คิดว่ามีความสามารถด้านเศรษฐกิจ ซึ่งพรรคต้องการตรงนี้

                ผมมองว่าเมื่อเข้าไปพรรค ปชป.แล้วจะช่วยต่อเติมตรงนี้เพื่อให้พรรค ปชป.แข็งแกร่งขึ้นมาได้ ในการทำให้ประชาชนเข้าใจนโยบายเชิงเศรษฐกิจ ทำให้พรรคคอนเน็กต์กับคนรุ่นใหม่ได้ ความทันสมัยของหัวหน้าพรรคท่านมองการณ์ไกลในการใช้คนรุ่นใหม่ และใช้แล้วให้ไปอยู่แถวหน้าของพรรคเลย ไม่ใช่ให้ไปต่อแถว อยู่แถวหลังๆ คนชอบมองว่าคนเข้าพรรค ปชป.เข้ามาแล้วต้องมาต่อแถว ซึ่งจริงๆ แล้วพรรคให้โอกาสคน

                เหตุผลที่สาม รอบนี้จริงอยู่ว่า ปชป.เพิ่งจะแพ้การเลือกตั้ง ซึ่งถือว่าหนักมากที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์พรรค การฟื้นฟูพรรครอบนี้เขาก็เปิดใจ เปิดกว้างรับคนรุ่นใหม่เต็มที่ เพื่อให้มีส่วนร่วมในการสร้างพรรคขึ้นมาใหม่ ในใจเราก็รู้ว่าไม่อยากเข้ามาแซงหน้าหรือตัดหน้าใคร แต่ก็พบว่าคนในพรรค ปชป.เขาก็ welcome ตอบรับเราดี คนในพรรคก็ใจกว้าง เปิดกว้างกว่าที่คนอื่นคิด พร้อมรับและแลกเปลี่ยนสิ่งใหม่ๆ ทำให้เราได้เห็นวัฒนธรรมองค์กรในการรับฟังความเห็นคนรุ่นใหม่

                ปริญญ์ พูดถึงการนำประสบการณ์จากภาคเอกชนมาใช้ในการทำงานการเมืองเพื่อกอบกู้พรรค ปชป.ไว้ว่า เรื่องนี้สำคัญมาก คืออย่างวงการธุรกิจหรือเอกชน บางทีหากสังเกตดูเอกชนจะบ่นว่าประชาธิปัตย์ไม่เข้าใจเอกชน จะไปมองว่าเอกชนเอาเปรียบชาวบ้าน หรือไม่อยากไปใกล้ชิดเกินไป จะถูกมองว่าจะไปเกี้ยเซี้ยผลประโยชน์อะไรกัน พรรคจะระมัดระวังมากในการพบกับเอกชน แต่เนื่องจากผมมาจากภาคเอกชน ผมพยายามให้พรรคเข้าใจว่าเอกชนเขาไม่ได้ต้องการให้เข้ามาช่วยเขาหรือมาเอื้อผลประโยชน์ให้ ไม่ใช่ แต่อย่างน้อยรับฟังว่าปัญหาของภาคเอกชนจริงๆ คือเรื่องอะไร ไม่ใช่อยู่บนหอคอยงาช้างแล้วคิดนโยบายสวยหรู แต่ทำจริงไม่ได้ แต่ขอว่าอย่างน้อยขอให้ฟังเขา ว่าในฐานะผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในภาคอุตสาหกรรมมีอะไรบ้าง

                ผมก็หวังว่าจะเป็นสะพานที่เชื่อมระหว่างพรรคกับเอกชนให้ทำงานเข้าใจกัน ได้มีการพูดคุยแลกเปลี่ยนความเห็นกัน โดยไม่เอาการเมืองเป็นตัวตั้ง ไม่ต้องมาคิดว่าเอกชนสนับสนุนพรรคการเมืองไหน แต่ให้เอกชนบอกมาเลยว่าปัญหาของเขาคืออะไร แล้วพรรคจะช่วยอะไรได้บ้าง เช่น การทำนโยบายที่ก่อให้เกิดการแข่งขันอย่างเป็นธรรม ก็คิดว่าผมเป็นสะพานเชื่อมตรงนี้ได้

                ปริญญ์ ยังกล่าวถึงจุดแข็ง-จุดอ่อนของพรรค ปชป.ที่อยู่มา 73 ปีว่า จุดแข็งก็คือ ปชป.เป็นสถาบันการเมือง เป็นพรรคที่ไม่มีใครเป็นเจ้าของ มีบางพรรคชอบอ้างว่าเป็นพรรคฝ่ายประชาธิปไตย แต่จริงๆ ไม่ใช่เลย เห็นได้จากเวลาเลือกหัวหน้าพรรค ก็ตั้งกันเข้ามา ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง จะเอาใคร คุณมีเจ้าของก็ตั้งคนนั้นเลยก็จบ แต่ ปชป.เปิดให้แข่งกันเต็มที่กับการเลือกหัวหน้าพรรค ปชป. ทำให้ ปชป.จึงมีจุดแข็งคือความเป็นสถาบันการเมืองที่แท้จริง คนในพรรคมีอิสระ มีเสรีภาพในการคิดและออกเสียง ทำให้มีความเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริงอยู่ในตัวมันเอง

                ..นอกจากนี้ ด้วยความเป็นพรรคที่เป็นประชาธิปไตย ทำให้คนเก่งๆ มาอยู่กับ ปชป.กันเยอะ เช่น ด้านวิชาการ กฎหมาย และคนในพรรคก็มีอุดมการณ์ ไม่ไขว้เขว อาจจะมีการถกเถียงกันบ้าง แต่ก็จะยึดหลักการทำงานเพื่อบ้านเมืองเป็นหลัก ในพรรคเองก็มีหลายคนที่มีข้อเสนอให้ย้ายไปอยู่พรรคอื่น ถูกพยายามจะซื้อ แต่เงินก็ซื้อหลายคนในพรรคไม่ได้ และให้โอกาสคนรุ่นใหม่

                ส่วนจุดอ่อน ผมก็คิดว่าพรรคก็รู้ตัวเองดีว่าบางทีการสื่อสารกับประชาชนในฐานรากยังไม่เก่ง ยังไม่เก่งเรื่องพีอาร์ คือไม่ผิดอะไรที่จะยึดมั่นในอุดมการณ์ระยะยาว ที่เป็นเรื่องของการทำงานที่ดี มั่นคง แต่ว่าถ้าสื่อสารเรื่องเหล่านี้กับประชาชนไม่เป็น หรือแพ็กเกจมาหาเสียงกับประชาชนไม่เป็น ก็จะเป็นปัญหาเรื่องการสื่อสาร การชนะเลือกตั้ง ซึ่งพรรค ปชป.ตรงนี้เรื่องลุคส์ใหม่ ความทันสมัยใหม่ที่ทางหัวหน้าพรรคกับทีมงานกำลังจะทำ ก็คือจะทำอย่างไรให้พรรค ปชป.เข้าไปในนั่งอยู่ในใจของหลายคน ด้วยการที่หลายอย่างในการสื่อสารต้องทำให้ถูกต้องมากขึ้น เพราะการสื่อสารบางเรื่องย่อยยาก จึงต้องทำให้เข้าใจง่าย

                ...และด้วยความที่ ปชป.เป็นพรรคที่ไม่มีเจ้าของ ทำให้การตัดสินใจบางทีต้องมีขั้นตอน มีกระบวนการ จนมีคนไปมองว่าล่าช้า ดึงเช็งหรือไม่ แบบนี้บางทีเราต้องอธิบายให้สังคมเข้าใจว่ามันไม่ใช่เรื่องดึงเช็งหรือดึงเกมการเมือง แต่ต้องมีกระบวนการที่จะมีการประชุมกรรมการบริหารพรรค ประชุม ส.ส.พรรค และประชุมร่วมกัน เป็นไปตามสเต็ปของประชาธิปไตย ซึ่งบางทีคนไม่เข้าใจเสน่ห์ของพรรค ปชป.ตรงนี้ ก็อาจต้องปรับเรื่องลุคส์ให้คนเข้าใจว่าพรรคมีความทันสมัยกล้าใช้เทคโนโลยี

                คุยกันตอนท้ายๆ ถามมุมมองว่า จากเดิมเลือกตั้งตอนปี 2554 พรรค ปชป.ได้คะแนนเสียงร่วม 11 ล้านคะแนน แต่เลือกตั้งที่ผ่านมาเหลือแค่ประมาณ 3.9 ล้านคะแนน ในฐานะรองหัวหน้าพรรคคิดว่าพรรค ปชป.จะมีแนวทางทำให้คนที่เคยเลือก ปชป.กลับมาเลือกพรรค ปชป.อีกครั้งได้อย่างไร ปริญญ์-รองหัวหน้าพรรค มองว่า การเลือกตั้งที่ผ่านมาต้องยอมรับว่าคะแนนส่วนหนึ่งย้ายไปที่ พปชร. รวมถึงการเกิดเหตุการณ์พิเศษบางอย่างตอนก่อนเลือกตั้ง ซึ่งผมก็คิดว่าคะแนนตรงนี้น่าจะดึงกลับมาได้ในบางส่วน ขณะเดียวกันสำหรับคะแนนจากกลุ่มคนรุ่นใหม่ ทางพรรคก็ต้องสร้างนโยบายที่ทำให้คนรุ่นใหม่เขาเข้าใจ ย่อยง่าย โดยตอนหาเสียงรอบหน้าจะต้องมีภาพลักษณ์ที่เปลี่ยนแน่นอน จะอยู่เหมือนเดิมไม่ได้ ต้องมีการสื่อสารกับคน การเข้าใจคนรุ่นใหม่ พรรค ปชป.ก็ต้องมียุทธศาสตร์ที่ดึงใจคนรุ่นใหม่ได้มากกว่านี้ เพราะเลือกตั้งที่ผ่านมา คนที่ใช้สิทธิ์ครั้งแรกส่วนใหญ่ก็เทไปให้พรรคอนาคตใหม่ ก็ต้องมีการดึงคะแนนกลับมาที่พรรค ปชป.ให้ได้บ้าง

                “ที่ต้องปรับก็คือเรื่องนโยบายพรรค ต้องโฟกัสให้มากขึ้น เช่น เรื่องลดความเหลื่อมล้ำ หากจะทำเรื่องภาษีจะทำเรื่องอะไร หรือการช่วยเอสเอ็มอีจะทำอย่างไร ต้องโฟกัสไปเลย ต้องสื่อสารให้ชัดเจนเลยว่าพรรคจะทำอะไร เช่น จะปลดหนี้เอสเอ็มอี ปลดหนี้เกษตรกร ก็สื่อสารยิงไปเลย ให้คนเข้าใจด้วยภาษาชาวบ้าน ภาษาบ้านๆ แต่ต้องใช้เทคโนโลยี โซเชียลมีเดียให้มากขึ้น และหาก ปชป.ไปร่วมรัฐบาลแล้วเรามีผลงานที่ดี ก็จะช่วยให้เราได้คะแนนเสียงมากขึ้น ซึ่งทั้งหมดเราต้องทำงานหนัก”.

โดย วรพล กิตติรัตวรางกูร

........................................................................


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"