‘เรืองไกร’บี้กกต.ส่งศาล ตีความนิยามเจ้าของสื่อ


เพิ่มเพื่อน    

 เรืองไกรไม่ท้อหลังศาลปกครองสูงสุดไม่รับคำร้องกรณีเปิดสื่อออนไลน์ทั้งเฟซบุ๊ก-อินสตาแกรม บี้ กกต.ส่งศาลตีความเรื่องสื่อ “ศรีสุวรรณ” ร่วมขยี้กรณีบัญชีสำรอง 50 ส.ว.ส่อขัดรัฐธรรมนูญ

เมื่อวันที่ 5 มิ.ย. ศาลปกครองกลางได้อ่านคำสั่งของศาลปกครองสูงสุดในคดีที่นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีตสมาชิกพรรคไทยรักษาชาติ ได้ยื่นอุทธรณ์ หลังจากศาลปกครองกลางมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณา ในคดีที่ฟ้องคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ขอให้เพิกถอนมติของ กกต.ที่วินิจฉัยข้อร้องเรียนว่าการที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เปิดช่องทางสื่อสารกับสาธารณชนในรูปแบบเฟซบุ๊ก อินสตาแกรม ทวิตเตอร์ และเว็บไซต์ส่วนตัว ไม่อาจถือว่าเข้าข่ายการเป็นเจ้าของกิจการสื่อมวลชนใดๆ อันจะมีผลเป็นการเข้าลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ  
โดยศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า ศาลรัฐธรรมนูญเป็นองค์กรที่มีอำนาจหน้าที่วินิจฉัยว่าความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัวด้วยเหตุขาดคุณสมบัติ หรือมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ ตามมาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 และมาตรา  210 ของรัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่ง กกต.มีอำนาจที่จะพิจารณาวินิจฉัยว่ากรณีใดที่จะต้องส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยหรือไม่ การที่ กกต.มีมติไม่รับกรณีตามหนังสือของผู้ฟ้องคดี จึงเป็นการใช้อำนาจของ กกต. อันเป็นกระบวนการและขั้นตอนที่บัญญัติไว้เป็นการเฉพาะในรัฐธรรมนูญ ข้อพิพาทนี้จึงไม่ใช่คดีปกครองที่อยู่ในอำนาจพิพากษาของศาลปกครอง ศาลปกครองสูงสุดจึงมีคำสั่งยืนตามคำสั่งของศาลปกครองกลางที่ไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณา
    นายเรืองไกรกล่าวว่า เมื่อศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งยืนเรื่องว่าเป็นอำนาจของ กกต.ที่จะส่งให้ศาลวินิจฉัยหรือไม่ ก็อยากจะเรียกร้องให้ กกต.เร่งพิจารณากรณีที่ได้ร้องขอให้ตรวจสอบ ส.ส.จากหลายพรรคการเมืองที่ถือครองหุ้นสื่อ ว่าเข้าข่ายทำให้ขาดคุณสมบัติในการดำรงตำแหน่ง ส.ส. หรือไม่และเสนอเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยโดยเร็ว เพื่อให้ศาลพิจารณาวางบรรทัดฐานว่าคำว่าสื่อนั้นมีความหมายถึงอะไรบ้าง รวมถึงการมีชื่อเป็นเจ้าของเฟซบุ๊ก และอินสตาแกรมด้วยหรือไม่ ซึ่ง กกต.ไม่ควรเลือกที่จะส่งศาลพิจารณาเฉพาะในบางเรื่องอย่างส่งเฉพาะของกรณีนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) แต่ควรทำกับ ส.ส.คนอื่นๆ ในมาตรฐานเดียวกัน
นายเรืองไกรยังกล่าวถึงการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีว่า ได้มีผู้เสนอให้ที่ประชุมรัฐสภาพิจารณาคุณสมบัติของ พล.อ.ประยุทธ์ กรณีเป็นหัวหน้า คสช.ถือเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ ซึ่งต้องห้ามในการดำรงตำแหน่งนายกฯ หรือไม่ แต่นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร กลับข้ามเรื่องดังกล่าวเพื่อโหวตนายกฯ เลย ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เพราะเคยมีกรณีการโหวต พล.อ.ศิรินทร์ ธูปกล่ำ เป็น กกต. และคุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา เป็นผู้ว่าฯ สตง. ที่เมื่อมีการทำผิดขั้นตอน การโหวตดังกล่าวก็ถือว่าเป็นโมฆะ ดังนั้นถ้าที่ประชุมสภาไม่มีการพิจารณาเรื่องคุณสมบัติของ พล.อ.ประยุทธ์แล้วข้ามไป ก็จะถือว่าเป็นการทำข้ามขั้นตอน ซึ่งก็จะยื่นให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) พิจารณาว่าผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเหล่านี้จงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 234 (1) หรือไม่ หาก ป.ป.ช.ชี้มูลก็จะมีผลให้ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ 
ขณะที่นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย กล่าวถึงการแต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) โดยเฉพาะประกาศ คสช.ฉบับที่ 1/2562 เรื่อง การกำหนดรายชื่อบุคคลสำรอง สำหรับการคัดเลือกให้ดำรงตำแหน่ง ส.ว. ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว.2561 ออกมาพร้อมๆ กันจำนวน 50 คน และได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 14 พ.ค.2562 ที่ผ่านมานั้น ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 269 (ค) ประกอบมาตรา 90 (ค) และ มาตรา 98 แห่ง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว.2561 ที่กำหนดไว้โดยชัดแจ้งว่าต้องประกาศรายชื่อสำรอง 50 คนจากบัญชีรายชื่อ ส.ว.ที่ กกต.ส่งให้เลือกจำนวน 200 คน (ตามบัญชี (ก))  และอีก 50 คนจากบุคคลที่คณะกรรมการสรรหาเสนอจำนวน 400 คน (ตามบัญชี (ข)) แต่ปรากฏว่า พล.อ.ประยุทธ์ลงนามประกาศบัญชีรายชื่อ ส.ว.สำรองเพียง 50 คนเท่านั้น และไม่ทราบว่าบัญชีรายชื่อ ส.ว.สำรอง 50 คนที่ประกาศนั้นมาจากระบบบัญชีใดอีกด้วย
       นายศรีสุวรรณกล่าวว่า การประกาศรายชื่อ ส.ว.สำรองเพียง 50 คนโดยไม่สามารถระบุได้ว่ามาจากระบบบัญชีใด จะทำให้เกิดปัญหาในการขยับรายชื่อ ส.ว.ขึ้นมาแทน หาก ส.ว.ตัวจริงอาจหลุดจากตำแหน่งไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 111 ซึ่งต้องคัดเลือกบุคคลจากบัญชีสํารองเพื่อแทนตําแหน่งที่ว่าง ตามมาตรา 90 (4) และตามมาตรา 98 แม้กฎหมายให้นําความในมาตรา 45 วรรคสอง แห่ง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา 2561 มาใช้บังคับด้วยโดยอนุโลมก็จะไม่สามารถทำได้ ซึ่งความผิดพลาดล้มเหลวของ พล.อ.ประยุทธ์ในครั้งนี้เป็นเรื่องใหญ่ อาจถือให้เห็นเด่นชัดว่าเป็นความย่อหย่อนในการปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมายแม่บทของชาติ อันจะก่อให้เกิดปัญหาและความสับสนอลหม่านของชาติบ้านเมืองในอนาคตอันใกล้และไกล และเข้าข่ายการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ด้วย
        “สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทยจึงนำความมาร้องเรียนต่อ ป.ป.ช.ให้สอบสวนเอาผิด พล.อ.ประยุทธ์ และ คสช.ตามกฎหมาย ป.ป.ช. และกฎหมายอาญาต่อไป รวมทั้งจะได้เดินทางไปยื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อให้เสนอเรื่องพร้อมความเห็นต่อศาลปกครองวินิจฉัยว่าการกระทำดังกล่าวเข้าข่ายการละเมิดรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายหรือไม่ โดยเฉพาะบัญชี ส.ว.สำรอง 50 คนที่ประกาศออกมานั้น ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายหรือไม่ด้วย”นายศรีสุวรรณกล่าว.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"