สูงอายุอย่างมีคุณภาพ ต้องไม่หยุดศึกษาหาความรู้


เพิ่มเพื่อน    

      แม้ปัจจุบันเข้าสู่วัย 65 ปี แต่การหมั่นศึกษาหาความรู้จากการอ่าน และนำสิ่งที่ได้ไปเผยแพร่ให้คนทั่วไปได้ทราบ ผ่านงานบรรยายพิเศษในเรื่องสังคมและวัฒนธรรมให้กับองค์กรต่างๆ ที่สนใจ ไม่ว่าจะเป็นมหาวิทยาลัยสงฆ์ (มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย) รวมถึงโรงเรียนกิจการพลเรือน กรมกิจการพลเรือนทหารบก กรมยุทธศึกษาทหารบก และปัจจุบันยังทำงานที่กระทรวงวัฒนธรรม โดยเป็นกรรมการคัดเลือกมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมในโอกาสต่างๆ นั่นจึงถือได้ว่า อ.ไพฑูรย์ ปานประชา ข้าราชการบำนาญ นักวิชาการวัฒนธรรม กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม เป็นวัยเก๋าที่มีคุณภาพอย่างแท้จริง เพราะไม่เพียงเข้าสู่วัยเกษียณและยังทำงาน ที่สำคัญก็ไม่ลืมใส่ใจในรายละเอียดเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพตั้งแต่สมัยวัยหนุ่มสาว จึงทำให้ป่วยเป็นโรคต่างๆ น้อยกว่าคนวัยเดียวกัน อีกทั้งแนวคิดในเรื่องของการฝึกสมองด้วยการอ่านหนังสือ และสืบค้นข้อมูลอยู่ตลอดเวลา จึงนับเป็นการดูแลสุขภาพที่เด็กยุคใหม่ควรเอาเป็นแบบอย่าง

(อ.ไพฑูรย์ ปานประชา)

      อ.ไพฑูรย์ เล่าว่า ปัจจุบันตัวเองอายุ 65 ปี ดังนั้นถ้าจะให้เริ่มต้นดูแลสุขภาพตอนอายุ 60 ปีอาจจะไม่ทันแล้ว ซึ่งเจ้าตัววางแผนการดูแลสุขภาพตั้งแต่อายุ 30 ปี หรือประมาณ 40 ปีที่แล้ว โดยการไม่กินเหล้า ไม่สูบบุหรี่ ไม่เครียด และมองโลกอย่างเปิดใจกว้าง

      “คนที่เกิดในยุคปัจจุบันถือได้ว่าเป็นยุคของการถูกบีบคั้น เนื่องจากเป็นยุคของการแข่งขันกันในทุกๆ เรื่อง ต่างจากสมัยที่ผมเกิดหรือช่วงปี 2497 ที่เป็นยุคของเกษตรกรรม ซึ่งบรรยากาศโดยรวมจะอบอวลไปด้วยความสุขที่ได้อยู่ท่ามกลางธรรมชาติล้อมรอบ และบ้านผมอยู่ริมคลอง เลยทำให้ทำผมว่ายน้ำเป็น และเป็นคนที่ชอบวิ่ง นั่นจึงทำให้ผมหยิบกิจกรรมเมื่อครั้งยังเป็นวัยเยาว์มาเป็นกิจกรรมด้านสุขภาพ ทุกวันนี้ผมชอบออกกำลังกายด้วยการว่ายน้ำ และชอบเดินจ๊อกกิ้งทุกวันอยู่ในบริเวณหมู่บ้านย่านคลอง 3 วา ซึ่งเป็นเขตมีนบุรีที่ยังพอมีทุ่งนาอยู่บ้างทำให้อากาศดี เวลาที่เดินออกกำลังจะได้สูดอากาศที่บริสุทธิ์ และหายได้ยาวสุด ทำให้รู้สึกสดชื่น เพราะเราหายใจไม่สุด ปอดก็จะไม่ขยาย และการที่เราเดินก็จะได้เหงื่อได้เผาผลาญพลังงานไปด้วยในตัว

      นอกจากการตั้งธงในการดูแลสุขภาพตั้งแต่วัยเลข 3 แล้ว และปัจจุบันเข้าสู่วัยหลัก 6 การค้นคว้าหาความรู้จาก “การอ่าน” การเขียน การจำจด เพื่อให้เกิดเป็นทักษะและความรู้ ตลอดจนความชำนาญ ที่ไม่เพียงเป็นการเปิดโลกทัศน์ของตัวเองด้วยการอ่านแล้ว แต่ความรู้ที่ได้ยังนำไปสู่การถ่ายทอดให้กับผู้อื่นได้อีกด้วย ในฐานะของผู้บรรยายเรื่องสังคมและวัฒนธรรม เพราะตราบใดที่เราเป็นคนที่สนใจและใฝ่รู้ด้วยการหมั่นหาความรู้ ก็จะทำให้ชีวิตของเรามีคุณค่า ที่สำคัญได้รู้ในอีกหลายๆ เรื่องที่เราไม่เคยรู้ มุมมองจาก อ.ไพฑูรย์

      “การหมั่นค้นคว้าและหาความรู้จากการอ่าน การเขียน การจดจำ ยังเป็นสิ่งที่ผมทำอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะก่อนหรือหลังอายุ 60 ปี เพราะการที่เราจะไปบรรยายเรื่องราวต่างๆ ให้คนอื่นฟัง แน่นอนว่าเราจะต้องมีความรู้มากกว่าเขา และสิ่งที่จะได้มานั้นก็ต้องเกิดจากการค้นคว้าข้อมูลโดยการอ่าน ผมชอบอ่านหนังสือตั้งแต่เด็ก จนเมื่อโตขึ้นและมีพื้นฐานจากการอ่าน ก็ไปรับจ้างพิสูจน์อักษรเพื่อเป็นงานอดิเรกให้กับสำนักพิมพ์ที่ผลิตหนังสือแห่งหนึ่ง นั่นจึงเป็นตัวอย่างของการที่เมนหลักชีวิตของผม คือการอ่าน และเมื่อเราอ่านหนังสือ ความรู้ที่ได้ก็จะสามารถนำไปสอนผู้อื่นได้ บอกเลยว่าก่อนและหลังอายุ 60 ปี สิ่งที่ยังทำเหมือนเดิมคือเรื่องการอ่านหนังสือ เพราะมองว่าไม่ได้เป็นงานที่หนักอะไร แต่การที่เรารักการอ่านเพื่อสืบค้นข้อมูลในเรื่องต่างๆ เราจะได้ทั้งทักษะการอ่าน การเก็บข้อมูล ตรงนี้จะทำให้เราเกิดความชำนาญในเรื่องที่สนใจ และจากประสบการณ์ที่ชอบอ่านหนังสือมาร่วม 30-40 ปี ทำให้จับประเด็นในเรื่องที่อ่านได้เป็นอย่างดี ตรงนี้จะทำให้เรามีสมาธิด้วย

      และการเป็นคนใฝ่รู้ ใฝ่อ่าน ก็จะทำให้ชีวิตของเรามีคุณค่า ได้รู้อะไรในหลายๆ เรื่อง เช่น คำว่าทรงพระเจริญนั้น “สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี” พระองค์ท่านได้เคยตรัสว่า คำว่า “ทรงพระเจริญ” ที่ใช้กันในสมัยปัจจุบันนั้น สืบเนื่องจากสมัยรัชกาลที่ 4 นั้น การที่ประชาชนหรือข้าราชบริพารไม่สามารถทักเจ้านายชั้นสูงว่า “อ้วน” หรือ “ผอม” ได้ เพราะถือเป็นคำหยาบคาย เนื่องจากเป็นคำที่ใช้กับสัตว์ เช่น วัว หมู และกระบือ แต่ให้ใช้คำว่า “ทรงพระเจริญ” แทน ตรงนี้ถ้าเราหมั่นอ่าน หมั่นหาข้อมูล ไม่เพียงแค่เราจะมีความรู้เพิ่ม แต่นั่นยังทำให้เปิดโลกทัศน์ของตัวเองไปสู่เรื่องที่เราไม่เคยรู้มาก่อนครับ สมมุติให้เข้าใจง่ายว่า การอ่านจะช่วยเปิดหน้าต่างความรู้ ให้เราได้ถึง 20 บาน จากที่มีอยู่เพียง 2 บาน”

        อ.ไพฑูรย์ บอกอีกว่า การอ่านเป็นเรื่องที่สำคัญ ดังนั้นการปลูกฝังการอ่านไปสู่เด็กและเยาวชนนั้น สิ่งที่สำคัญที่สุดต้องเริ่มจากสิ่งที่เด็กชอบ ไม่ใช่ยัดเหยียดสิ่งที่ผู้ใหญ่ชอบให้เด็กอ่าน เช่น หากเด็กชอบอ่านการ์ตูน พ่อแม่สามารถชวนลูกคุยเรื่องการ์ตูน และสอดแทรกเรื่องการเรียน และการทำการบ้านให้เด็กด้วย เช่น หากลูกชอบอ่านหนังสือเรื่องโงกุน พ่อแม่สามารถชวนลูกคุยเรื่องนี้ และบอกว่าการที่โงกุนเก่งและฉลาด เพราะเขาตั้งใจเรียนและทำการบ้าน ดังนั้นหากเด็กๆ อยากเก่งและฉลาดเหมือนการ์ตูนโงกุน ก็ต้องตั้งใจเรียนและทำการบ้านส่งคุณครูทุกวัน

      “ในฐานะที่ผมไม่มีลูก ดังนั้นจึงอยากไปถึงเด็กๆ ยุคใหม่ว่า อย่างที่รู้กันดีว่าอนาคตของประเทศชาติอยู่ในมือของเด็กและเยาวชน แต่สิ่งที่ไม่ควรลืมนั้น เด็กอาจจะไม่ได้เกิดมาพร้อมสมบูรณ์ทุกคน ดังนั้นจึงอยากฝากไปถึงผู้ปกครองว่าให้ดูแลเด็ก เพราะพ่อแม่เปรียบเสมือนช่างปั้นภาชนะ ซึ่งถ้าหากสิ่งที่ปั้นออกมาเบี้ยว ต้องโทษคนปั้น ไม่ใช่โทษภาชนะว่าทำไมมันจึงเบี้ยวบูด เพราะการที่เด็กจะเติบโตมาเป็นอย่างไร ก็ต้องอาศัยเบ้าหลอมที่ดี เปรียบได้กับคนเป็นพ่อเป็นแม่นั่นเอง ผู้ปกครองต้องเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับลูกในทุกเรื่องๆ โดยเฉพาะการความรู้ที่ได้จากการอ่าน ส่วนหนึ่งเพื่อให้เด็กมีคุณภาพ และมีข้อมูลในการคุ้มกันและดูแลตัวเองครับ”

      อ.ไพฑูรย์ ทิ้งท้ายว่า นอกจากการอ่านที่ช่วยฝึกสมองและเติมความรู้ให้ตัวเองแล้ว การพูดคุยแลกเปลี่ยนความรู้กับผู้อื่น กระทั่งการตอบคำถามสัมภาษณ์ ยังเป็นประโยชน์กับตัวเองด้วย เพราะทุกครั้งที่ถูกป้อนคำถาม สมองจะคิดและดึงเอาความรู้ที่มีอยู่ในเมมโมรีมาใช้ เพราะไม่เช่นนั้นข้อมูลที่มีอยู่ จะลบออกออกไปจากสมองอยู่เรื่อยๆ เนื่องจากไม่ได้ใช้งาน ดังนั้นการได้คิด ได้ตอบคำถาม ย่อมเป็นการกระตุ้นให้เซลล์สมองได้ทำงาน นั่นหมายว่าโรคอัลไซเมอร์ก็จะไม่ถามหาอย่างแน่นอน.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"