รื้อเก้าอี้รมต.คืบ80% หึ่ง!ภท.ยอมคายคมนาคมแลกพลังงาน/ลุ้นปชป.ปล่อย‘พณ.’


เพิ่มเพื่อน    

 "บิ๊กตู่-ป้อม" เข้าเซฟเฮาส์รื้อโผ ครม.กับแกนนำ พปชร. ย้ำเร่งจัดทำนโยบาย ยึดแนวปฏิรูป 11 ด้าน-กรอบยุทธศาสตร์ชาติ พปชร.ตั้ง "สนธิรัตน์” หัวหน้าร่างนโยบาย ยัน?นายกฯ ต้องดูภาพรวมหน้าตาครม. ลั่นเมื่อโหวตเสร็จต้องหารือเพิ่มเติมเรื่องความเหมาะสม "อุตตม" ยอมรับแบ่งเค้กยังไม่เรียบร้อย ยึดหลักลงเรือลำเดียวกันแล้ว สะพัด! จัดโผคืบ 80%พปชร.ยื่น ศธ.แลก พณ. พ่วงระหว่าง กต.หรือ ยธ.  บวกอีก 1 รมช. "สมศักดิ์" ยอมถอยให้ ปชป.ได้คุมเกษตร ภท.ยอมคืน คค. หลังได้ พง. "ฝ่ายแค้น" จี้เปิดชื่อคนนอกจุ้นโผ ครม. เพ้อ "บางกอกสปริง" 

    เมื่อวันศุกร์ ผู้สื่อข่าวรายงานความเคลื่อนไหวของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ว่าได้เดินทางเข้าปฏิบัติหน้าที่ที่ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล ตามปกติตั้งแต่ช่วงเช้า ก่อนที่เวลา 11.45 น. นายกฯ ได้เดินทางออกจากทำเนียบฯ โดยไม่มีกำหนดการหรือภารกิจทางการแต่อย่างใด เช่นเดียวกับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ได้เดินทางออกจากกระทรวงกลาโหมในเวลาใกล้เคียงกันด้วย
    ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่า พล.อ.ประยุทธ์ไม่เคยออกจากทำเนียบรัฐบาลโดยไม่มีภารกิจหรือกำหนดการแจ้งอย่างเป็นทางการ ซึ่งคาดว่าจะมีการนัดแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลหารือถึงการจัดตั้งคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่มีกระแสข่าวว่าขณะนี้ยังไม่ลงตัว และจะให้ พล.อ.ประยุทธ์เป็นผู้ตัดสินใจ
    สำหรับบรรยากาศที่ทำเนียบรัฐบาล ได้มีรถถ่ายทอดสดของสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทยเข้ามาจอดเตรียมความพร้อมในการถ่ายทอดสดพิธีรับสนองพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนายกรัฐมนตรี ที่จะใช้ห้องสีงาช้าง ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล เป็นสถานที่รับสนองพระบรมราชโองการ
    ภายหลังจากที่ พล.อ.ประยุทธ์เดินทางออกจากทำเนียบรัฐบาล ในเวลา 11.48 น. ได้เดินทางกลับมายังทำเนียบรัฐบาลแล้ว ในเวลา 14.20 น. โดยใช้เวลาประมาณกว่า 2 ชั่วโมง ท่ามกลางสายฝนที่ตกลงมาอย่างหนัก และมีน้ำท่วมขังหลายจุดในทำเนียบฯ   โดยคาดว่าน่าจะร่วมหารือกับแกนนำพรรคพลังประชารัฐ ในการจัดสรรเก้าอี้รัฐมนตรี หลังมีกระแสข่าวล้มดีลคณะรัฐมนตรี (ครม.) ใหม่ 
     ต่อมาเวลา 16.25 น. พล.อ.ประยุทธ์ได้เดินทางออกจากทำเนียบฯ เพื่อกลับบ้านพัก ท่ามกลางสายฝนที่ยังตกโปรยปราย และมีผู้สื่อข่าวยืนรอบันทึกภาพและถ่ายคลิปวิดีโออยู่ ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่าวันนี้ พล.อ.ประยุทธ์ใช้เส้นทางกลับบ้านทางประตูสะพานอรทัย จากปกติจะใช้เส้นทางฝั่งประตูสะพานชมัยมรุเชฐ ขณะเดียวกันขบวนรถของนายกฯ ยังได้ชะลอดูน้ำที่ท่วมขังภายในทำเนียบฯ ด้วย 
    ด้าน พ.อ.หญิงทักษดา สังขจันทร์ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ก่อนเดินทางกลับ นายกฯ เห็นผู้สื่อข่าวยืนถ่ายคลิปอยู่บริเวณหน้าห้องพักผู้สื่อข่าว จึงบอกให้ผู้สื่อข่าวระวังจะเป็นหวัดและให้รักษาสุขภาพด้วย 
"ลุงตู่"สั่งยึดปฏิรูป 11 ด้าน
    มีรายงานว่า ในช่วงเที่ยง แกนนำ พปชร.ได้เดินทางไปพบกับ พล.อ.ประยุทธ์ที่สถานที่แห่งหนึ่ง โดยนายกฯ ได้เน้นย้ำขอให้เร่งจัดทำนโยบายตั้งแต่เนิ่นๆ โดยให้ยึดแนวทางปฏิรูป 11 ด้าน และกรอบยุทธศาสตร์ชาติ เนื่องจากนโยบายแต่ละพรรคมีความแตกต่างกัน โดยจะแบ่งเป็นแต่ละด้าน อาทิ เศรษฐกิจ สังคม การศึกษา สวัสดิการ นอกจากนี้ ในการประชุมคณะกรรมการบริหาร พปชร.ครั้งต่อไป จะมีการนำรายชื่อบุคคลที่จะมาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี และข้าราชการการเมือง ได้แก่ ที่ปรึกษารัฐมนตรี เลขานุการรัฐมนตรี ผู้ช่วยรัฐมนตรี ให้ที่ประชุมเห็นชอบ ซึ่งเป็นตามข้อบังคับพรรค และ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง
     ที่กระทรวงกลาโหม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม กล่าวถึงกรณีที่มีกระแสข่าวว่าจะมีการล้มดีลการจัดสรรตำแหน่ง ครม.ว่าทุกอย่างกำลังดำเนินการไป ตนไม่ทราบรายละเอียด เพราะไม่ได้เป็นคนทำ และ พล.อ.ประยุทธ์ก็ไม่ได้มาปรึกษาอะไรในเรื่องดังกล่าว เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ทำคนเดียว 
    ผู้สื่อข่าวถามว่า เป็นห่วงหรือไม่ว่าถ้าเกลี่ยตำแหน่งไม่ลงตัวอาจจะเกิดปัญหาเรื่องเสถียรภาพรัฐบาลชุดหน้าได้ พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า ไม่ทราบ เพราะไม่ได้เป็นคนเกลี่ยตำแหน่ง ส่วนจะเชิญตนไปนั่งหัวโต๊ะเพื่อพิจารณาตำแหน่งรัฐมนตรีทั้งหมดเพื่อให้เกิดความเรียบร้อยหรือไม่ ตนก็ยังไม่ทราบ อีกทั้งยังไม่มีใครมาเชิญตน
    เมื่อถามถึงกรณีมีข่าวแย่งชิงกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ระหว่างพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) และพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า เรื่องนี้ต้องไปถามนักการเมือง ตนจะไปทราบได้อย่างไรถึงเรื่องความเหมาะสมว่าใครควรจะได้รับตำแหน่ง  เพราะไม่ได้ทำงานนี้ และตนไม่ได้เล่นการเมือง 
    "ไม่ และตนแย่แล้ว คือไม่สบาย และไม่แข็งแรงเท่าที่ควร" พล.อ.ประวิตรกล่าวเมื่อถามว่ามีเทียบเชิญให้ดำรงตำแหน่งรองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคงและ รมว.กลาโหมต่อหรือไม่ 
    เมื่อถามย้ำว่า อาการที่ไม่สบายนั้นคือจะไม่รับตำแหน่งใช่หรือไม่ พล.อ.ประวิตรบอกว่า “ยังไม่รู้” เมื่อถามอีกว่าไม่สบาย แต่ยังพร้อมทำงานใช่หรือไม่ พล.อ.ประวิตรกล่าวย้ำว่า “ก็ยังไม่รู้” ต่อข้อถามว่าเหนียมอายที่จะรับตำแหน่งใช่หรือไม่ หรือเป็นการสงวนท่าที พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า ไม่รู้ เมื่อถามอีกว่าจะเหลือเพียงตำแหน่งรองนายกฯ เพียงตำแหน่งเดียวใช่หรือไม่ พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า “ไม่รู้”
    เมื่อถามต่อว่า แสดงว่าในส่วนของกระทรวงกลาโหมผู้สื่อข่าวจะต้องพบกับรัฐมนตรีคนใหม่หรือไม่ พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า ไม่รู้ เมื่อถามอีกว่ามีคนในใจที่จะมาสานงานต่อแล้วใช่หรือไม่ พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า ไม่มี ซึ่งยังไม่มีใครเลย ผู้สื่อข่าวจึงย้อนถามว่าการที่ไม่มีใครในใจ แสดงว่ายังเป็น พล.อ.ประวิตรเหมือนเดิมใช่หรือไม่ พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า ยังไม่รู้ แต่ยืนยันว่าเรื่องร่างกายที่ไม่แข็งแรงเท่าที่ควรนั้นเป็นเรื่องจริง ส่วนที่ พล.อ.ประยุทธ์เคยระบุว่าจะให้อยู่ช่วยงานต่อนั้น ตนยังไม่ทราบ เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ยังไม่ได้มาพูดกับตน
     พล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษก กห. เปิดเผยว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม ได้ให้การต้อนรับนายปีร์กะ ตาปีโอละ ( Pirkka Topil ) ออท.สหภาพยุโรปประจำประเทศไทย ในโอกาสเข้ารับหน้าที่ ณ ศาลาว่าการกลาโหม ทั้งสองฝ่ายได้หารือร่วมกันถึงสถานการณ์ทางการเมืองไทย รวมทั้งความร่วมมือทวิภาคีไทย-สหภาพยุโรป (อียู) และความร่วมมือในกรอบอาเซียน โดย พล.อ.ประวิตรกล่าวยืนยันถึงพันธกิจของรัฐบาลในการมุ่งสู่ประชาธิปไตยอย่างยั่งยืน โดยคาดว่าจะมีการจัดตั้งรัฐบาลในไม่ช้า และหวังว่าความสัมพันธ์ไทย-อียู จะสามารถเดินหน้าเต็มรูปแบบได้ในอนาคตอันใกล้  พร้อมทั้งขอบคุณอียูที่สนับสนุนไทยแก้ปัญหาการทำประมงมาโดยตลอด โดยขอให้มั่นใจว่าไทยยังคงยึดมั่นการทำประมงอย่างยั่งยืน และต่อต้านประมงไอยูยู โดยยินดีเป็นหุ้นส่วนกับอียูในการแก้ปัญหาประมงไอยูยูในระดับภูมิภาค
ตั้ง"สนธิรัตน์"หน.ร่างนโยบาย
    โดยนายปีร์กะ ตาปีโอละ กล่าวแสดงความยินดี กับ พล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา ที่ได้รับความเห็นชอบทำหน้าที่นายกรัฐมนตรี  พร้อมทั้งชื่นชมความสำเร็จของไทย ถึงความพยายามแก้ปัญหาไอยูยู และขอบคุณไทยที่ตระหนักถึงความเป็นหุ้นส่วนของอียู โดยอียูมีความประสงค์จะเพิ่มพูนและยกระดับความร่วมมือกับไทยทุกด้าน โดยเฉพาะความร่วมมือด้านความมั่นคง ทั้งจากภัยคุกคามรูปแบบใหม่ ด้านไซเบอร์และการต่อต้านลิทธินิยมความรุนแรงสุดโต่ง พร้อมทั้งยินดีสนับสนุนประสบการณ์ในการบริหารจัดการสถานการณ์วิกฤติ และพร้อมทำงานร่วมกับไทยในการแก้ปัญหาต่างๆ อย่างใกล้ชิด
        เมื่อเวลา 15.45 น. ที่พรรคพลังประชารัฐ นายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรค พร้อมนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เลขาธิการพรรค ร่วมแถลงผลการประชุมคณะกรรมการบริหาร (กก.บห.) โดยนายอุตตมกล่าวว่า ที่ประชุมหารือถึงการพูดคุยกับพรรคร่วมเพื่อจัดตั้งรัฐบาลหลังจากที่ผ่านการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีเรียบร้อยแล้ว ซึ่งกระบวนพูดคุยกับพรรคร่วมยังไม่แล้วเสร็จ และต้องหารือต่อโดยยึดหลักว่าเมื่อลงเรือลำเดียวกันแล้วต้องมีวัตถุประสงค์ร่วมกันเพื่อขับเคลื่อนให้ประเทศเดินไปข้างหน้า กรรมการบริหารพรรค พปชร.จึงมีมติให้นายสนธิรัตน์เป็นหัวหน้าคณะทำงานร่างนโยบายและผู้ประสานงานพรรคร่วมในการจัดทำนโยบายของรัฐบาล ที่เป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนนโยบายภาพรวมของรัฐบาล 
    ส่วนนโยบายเรื่องบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่จะหมดอายุภายในเดือน ก.ย.นั้น จะสานต่อทันที เพื่อความต่อเนื่อง เช่นเดียวกับเรื่องนโยบายกัญชาเสรีของพรรคภูมิใจไทย ที่จะหารือร่วมกัน ยืนยันว่าตนและนายสนธิรัตน์ได้รับมอบหมายให้พูดคุยหารือเพื่อตั้งรัฐบาลจะทำให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เพราะมีกรอบเวลากำหนดไว้อยู่แล้ว
    ผู้สื่อข่าวถามถึงข้อเสนอของพรรค ปชป.ที่เรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พรรคจะรับข้อเสนอดังกล่าวหรือไม่ นายอุตตมกล่าวว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่มีความซับซ้อน ไม่ใช่ว่าพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งจะแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ แต่ฝ่ายนิติบัญญัติต้องหารือร่วมกัน แต่ยังไม่ได้เสนอว่าจะขอแก้ไขในประเด็นใดบ้าง ต้องหารือกันต่อไป
    "เป็นเรื่องธรรมดาที่คนเป็นนายกฯ จะต้องพิจารณารายชื่อของ ครม.ด้วยตัวเอง ในฐานะที่เป็นหัวหน้ารัฐบาล ก็ต้องดูในภาพรวมทั้งหมด ทั้งการจัดสรรกระทรวงและบุคคลที่เหมาะสม ซึ่งตอนนี้ยังอยู่ในขั้นตอนของพรรคทำให้จบเร็วที่สุด โดยการจัดสรรตำแหน่งต่างๆ จะทำให้ลงตัวที่สุดทั้งภายในพรรคและพรรคร่วม และยังตอบไม่ได้ว่าใครจะได้ตำแหน่งใดบ้าง รวมถึงอดีต 4 รัฐมนตรีก็ยังไม่ทราบว่าจะได้ตำแหน่งทั้งหมดหรือไม่" นายอุตตมกล่าวเมื่อถามว่า พล.อ.ประยุทธ์จะสรุปเคาะตำแหน่งเป็นคนสุดท้ายจะเกิดปัญหาปัญหาหรือไม่
    ต่อข้อถามว่า ที่ผ่านมาพรรคร่วมมองว่านายสนธิรัตน์และนายอุตตมไม่มีอำนาจจริงในการตัดสินใจเรื่องจัดสรรโควตารัฐมนตรี นายอุตตมกล่าวว่า พรรคมอบหมายให้ตนและนายสนธิรัตน์เป็นคนพูดคุย การจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคร่วม แต่ไม่รู้ว่าคนนอกคิดอย่างไร 
ต้องหารือเพิ่มเติม
    "ที่ผ่านมาผมและนายอุตตมได้พูดคุยในขั้นต้นมาอย่างต่อเนื่อง เมื่อโหวตเลือกนายกฯ เสร็จต้องหารือกันเพิ่มเติมทั้งเรื่องความเหมาะสมและสมดุลให้รัฐบาลใหม่มีเสถียรภาพและเข้มแข็ง" นายสนธิรัตน์ กล่าวถึงกรณีพรรคประชาธิปัตย์และพรรคภูมิใจไทยยืนยันว่าการเจรจาพูดคุยตั้งรัฐบาลเสร็จไปเรียบร้อยแล้ว 
    เมื่อถามถึงกระแสข่าวว่านายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี อาจไม่ร่วมในรัฐบาลหน้า หากพรรค พปชร.ไม่ได้ดูแลกระทรวงเศรษฐกิจหลัก นายอุตตมกล่าวว่า ส่วนตัวไม่ได้ยินอย่างนั้น
     นายสนธิรัตน์กล่าวถึงคณะทำงานร่างนโยบายว่า มีหน้าที่ประสานงานกับพรรคร่วมรัฐบาล เพื่อนำนโยบายของแต่ละพรรคมาหารือจัดทำเป็นนโยบายรวมของรัฐบาล และผลักดันนโยบายของแต่ละพรรคการเมืองตามที่ได้หาเสียงไว้ให้เป็นรูปธรรม และพิจารณาผู้ที่เหมาะสม ที่จะมาขับเคลื่อนนโยบายต่างๆ ในส่วนของพรรคจัดตั้งคณะทำงานเพื่อประสานงานกับพรรคร่วมต่อไป โดยจะใช้เวลาทำงานไม่นาน เพราะอีกไม่นานจะมี ครม.ชุดใหม่ที่จะต้องแถลงนโยบายต่อรัฐสภา
     นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รองหัวหน้าพรรค พปชร. ในฐานะเป็นหนึ่งในคนที่ร่างนโยบายของรัฐบาล กล่าวถึงการร่างนโยบายของรัฐบาลว่า ขณะนี้กำลังช่วยกันเขียนอยู่ ซึ่งในส่วนของพรรค พปชร.ไม่ค่อยมีปัญหาอะไร เพราะมีเค้าโครงอยู่แล้ว ตอนนี้รอเอานโยบายของพรรคร่วมรัฐบาลมาดูรวมกัน ต้องดูว่านโยบายหลักหรือนโยบายสำคัญของแต่ละพรรคคืออะไร และนโยบายไหนที่สามารถปรับรวมกันได้บ้าง ที่สำคัญหากกระทรวงที่กำกับดูแลตรงกับนโยบายของพรรคตัวเอง การร่างนโยบายก็จะง่าย ทั้งนี้ก็คงต้องมีการปรับให้สอดคล้องกันทั้งหมด เดี๋ยวคงจะมานั่งคุยกัน แต่ตอนนี้ยังไม่ลงตัว สำหรับการเขียนนโยบายไม่ได้ยาก แค่ดูว่านโยบายหลักคืออะไร และนโยบายไฮไลต์ของแต่ละพรรคคืออะไร 
    เมื่อถามถึงการจัดตั้งรัฐบาล นายสุวิทย์ยอมรับว่า ต้องตั้งเร็ว เพราะปัจจุบันเราได้นายกฯ แล้ว ส่วนตัวอยากให้เสร็จทันก่อนการประชุมสุดยอดอาเซียน อยากให้รัฐบาลใหม่เข้ามาดำเนินการเรื่องการประชุมสุดยอดอาเซียน เพราะเราเป็นผู้นำอาเซียนด้วย แต่ทั้งนี้จะเป็นอย่างไรก็ต้องรอดู โดยเฉพาะตอนนี้ต้องรอการโปรดเกล้าฯ ก่อน
    เมื่อถามถึงกระแสข่าวนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อาจไม่ได้ร่วมรัฐบาลหน้าหากพรรค พปชร.ไม่ได้ดูแลกระทรวงเศรษฐกิจ นายสุวิทย์กล่าวว่า ไม่ทราบ แต่ส่วนตัวทราบว่าท่านสมคิดสุขภาพไม่ดี แต่หากไม่ได้นั่งอยู่ในรัฐบาลหน้าจะส่งผลต่อการดูแลเรื่องเศรษฐกิจหรือไม่ ต้องดูกันต่อไป ตนยังไม่มีโอกาสได้พูดคุยกับท่าน 
    เมื่อถามว่า นายกฯ จะได้มีโอกาสพิจารณาถึงประเด็นที่นายสมคิดอาจไม่ได้ร่วมรัฐบาลหน้าด้วยหรือไม่ นายสุวิทย์กล่าวว่า เดี๋ยวเขาคงมีการหารือกัน อย่าเพิ่งไปด่วนสรุป ส่วนตนเองมีชื่อเป็นรัฐมนตรีในรัฐบาลหน้าอยู่หรือไม่ ไม่ทราบ ส่วนอดีต รมต.ทั้ง 4 คนยังอยู่ที่พรรคอยู่แล้ว ส่วนจะเป็นรัฐมนตรีหรือไม่ตอนนี้ยังไม่มีใครรู้ แต่การทำงานการเมืองทำได้หลายรูปแบบ
"จุรินทร์"แจงเหตุร่วม รบ.
        ด้านนายวิเชียร ชวลิต นายทะเบียนพรรค พปชร. กล่าวตอบคำถามเรื่องกระทรวงหลักที่พรรค พปชร.ต้องการดึงกลับมาว่า เป็นเป้าหมายเราที่อยากได้อยู่ ซึ่งขณะนี้กำลังเขย่ากันอยู่
        เมื่อถามว่า หากไม่สามารถดึงกลับมาได้ จะมีปัญหาภายใน โดยเฉพาะที่มีข่าวล่าสุดว่านายสมคิด อาจจะไม่ร่วมในรัฐบาลหน้าหรือไม่ นายวิเชียรกล่าวว่า อย่าไปคิดร้ายขนาดนั้น เราต้องคิดว่าได้สิ ต้องคิดบวก ไม่เช่นนั้นก็เสียฟอร์มแกนนำหมด
     สำหรับความเคลื่อนไหวของพรรคประชาธิปัตย์ท่ามกลางกระแสข่าวการเจรจากับพรรคพลังประชารัฐเพื่อจัดตั้งรัฐบาลนั้น มีแกนนำพรรคบางส่วน อาทิ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน เลขาธิการพรรค, นายองอาจ คล้ามไพบูลย์, นายอลงกรณ์ พลบุตร, นายนราพัฒน์ แก้วทอง รองหัวหน้าพรรค เดินทางเข้าที่ทำการพรรค เพื่อมาทำงานภายในพรรค บางส่วนจับกลุ่มหารือกันถึงการเจรจาในการจัดตั้งรัฐบาล โดยยังรอความชัดเจนล่าสุดจากแกนนำ พปชร.ว่าจะเปลี่ยนแปลงข้อตกลงที่ทำไว้กับ ปชป.หรือไม่ จึงยังไม่มีการพิจารณาวางตัวคนของพรรคที่จะไปดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี
     ขณะที่ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้เดินทางจากกรุงเทพฯ มาถึงท่าอากาศยานภูเก็ต เมื่อเวลา 09.30 น. เพื่อไปลงพื้นที่พบประชาชนใน จ.พังงาและภูเก็ต ซึ่งถือเป็นการลงพื้นที่ครั้งแรกหลังจากดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรค โดยมีนายเรวัติ อารีรอบ อดีต ส.ส.ภูเก็ต, นายชัยยศ ปัญญาไวย อดีตผู้สมัคร ส.ส.ภูเก็ต และนายบำรุง ปิยนามวานิช นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) พังงา พร้อมด้วยประชาชนชาวภูเก็ตและพังงามารอต้อนรับนายจุรินทร์ที่ท่าอากาศยานภูเก็ต และขอให้นายจุรินทร์ได้เป็นนายกรัฐมนตรีในอนาคต พร้อมให้กำลังใจและมอบดอกไม้ ร่วมถ่ายภาพกับนายจุรินทร์
          โดยนายจุรินทร์กล่าวกับประชาชนว่า การตัดสินใจเข้าร่วมรัฐบาลของพรรคประชาธิปัตย์ว่ามีเป้าหมายสำคัญที่จะฟื้นฟูรายได้และแก้ไขปัญหาให้กับเกษตรกรชาวสวนยาง ปาล์ม ข้าว ข้าวโพด มันสำปะหลัง และพืชผลการเกษตรตัวอื่น โดยพรรคประชาธิปัตย์มีบุคลากรที่มีประสบการณ์และมีความพร้อมที่จะไปร่วมแก้ปัญหา ส่วนขั้นตอนการร่วมรัฐบาลนั้น ยังต้องรอพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนายกรัฐมนตรีก่อน จึงจะจัดตั้ง ครม. และเมื่อ ครม.เข้าถวายสัตย์ปฏิญาณฯ หรือเข้าปฏิบัติหน้าที่ รัฐบาลชุดใหม่จะต้องแถลงนโยบายต่อรัฐสภาภายใน 15 วัน
     จากนั้น นายจุรินทร์ได้เดินทางต่อไปยัง จ.พังงา เพื่อเข้าสักการะศาลหลักเมือง ต่อด้วยการพบปะประชาชนที่ลานพระนารายณ์ อ.ตะกั่วป่า และเข้าสักการะศาลเจ้าอำเภอท้ายเหมือง ทั้งนี้ นายจุรินทร์จะเดินทางกลับกรุงเทพฯ ในช่วงดึกวันที่ 7 มิ.ย.
โผ ครม.คืบหน้า 80%
    ผู้สื่อข่าวรายงานถึงการเจรจาต่อรองโควตาเก้าอี้รัฐมนตรี ที่มี พปชร.เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งหลังจบการโหวตนายกรัฐมนตรี เริ่มมีภาพชัดขึ้น โดยในส่วนของ ปชป.ที่ยืนยันยึดดีลแรกที่เคยคุยกันไว้ คือ รมว.พาณิชย์, รมว.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และรมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ แต่พปชร.ต้องการเก้าอี้ รมว.พาณิชย์และ รมว.เกษตรและสหกรณ์คืนนั้น พปชร.ได้ยื่นเงื่อนต่อรองโดยการนำ รมว.ศึกษาธิการ และเพิ่ม รมว.ยุติธรรม หรือ รมว.การต่างประเทศ บวกกับ 1 รัฐมนตรีช่วย เพื่อแลกกับรมว.พาณิชย์ ซึ่งหาก ปชป.ตอบตกลง ก็มีความเป็นไปได้ที่นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรค จะเป็นรองนายกฯ ควบ รมว.ศึกษาธิการ หากเลือกเพิ่มเป็นกระทรวงยุติธรรม น่าจะเป็นนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ดำรงตำแหน่ง รมว.ยุติธรรม เพราะเคยเป็นอดีตรมว.ยุติธรรมมาก่อน ส่วนนายถาวร เสนเนียม จะเป็น รมช.มหาดไทย 
    ในส่วนของ รมว.เกษตรและสหกรณ์ ที่ก่อนหน้านี้กลุ่มสามมิตรพยายามทวงคืนให้นายสมศักดิ์ เทพสุทิน มีแนวโน้มจะยกให้ ปชป. ซึ่งมีรายงานว่านายสมศักดิ์ยอมถอยแล้ว และจะไปนั่งรัฐมนตรีกระทรวงอื่นแทน ซึ่งหากเป็นไปตามนี้ มีชื่อนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน เลขาธิการพรรค ปชป. มานั่งตำแหน่ง รมว.เกษตรฯ แต่ทั้งนี้ยังต้องรอการตัดสินใจของ ปชป.อีกครั้ง
    ขณะที่พรรคภูมิใจไทย ที่มีข่าวว่าได้เก้าอี้ รมว.คมนาคม ในดีลรอบแรกไปนั้น ขณะนี้ พปชร.มีความพยายามอย่างต่อเนื่องจะทวงคืน โดยมีรายงานข่าวว่า ภท.ยอมที่จะคืนให้ พปชร.แล้ว โดยแลกกับกระทรวงพลังงาน ทำให้ ภท.จะได้โควตาเบื้องต้น ได้แก่ รองนายกฯ ควบ รมว.สาธารณสุข, รมว.พลังงาน, รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา 
    ส่วนพรรคชาติไทยพัฒนา (ชพน.) น่าจะนิ่งแล้ว ในโควตาเดิมคือ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และ รมช.เกษตรฯ ขณะที่พรรคชาติพัฒนา(ชพน.) จะได้โควตา รมช.อุตสาหกรรม อย่างไรก็ตาม ขณะนี้การจัดตั้งรัฐบาลคืบหน้าไปแลัว 80 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเกิดจากการเจรจาผ่านแกนนำพรรคแต่ละฝ่าย ยังไม่ถือเป็นข้อสรุป เพราะทั้งหมด พล.อ.ประยุทธ์จะเป็นผู้พิจารณาตัดสินใจถึงความเหมาะสมอีกครั้ง 
     ทางด้านนางลดาวัลลิ์ วงศ์ศรีวงศ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ตามที่ปรากฏเป็นข่าวว่ามีการเจรจาต่อรองเอากระทรวงต่างๆ ไปกำกับดูแลระหว่างพรรคพลังประชารัฐและพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน เลขาธิการพรรค ปชป.บอกว่าทางฝั่งพรรคปชป.ไม่พอใจที่พรรค พปช.ยกเลิกดีลเดิม โดยเรียกกระทรวงสำคัญกลับคืน ให้ไปหาคนที่มีอำนาจเต็มตัวจริงและมีอำนาจในการตัดสินใจนั้น อยากถามว่า บุคคลนอกพรรคที่มีอำนาจเต็มตัวจริง และมีอำนาจในการตัดสินใจตามที่นายเฉลิมชัยกล่าวอ้างเป็นใคร ขอให้ระบุชื่อมา เพราะถ้าเป็นความจริง ก็เป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญและผิดกฎหมาย หากมีการตรวจสอบพบ อาจมีการนำประเด็นดังกล่าวร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้ยุบพรรคที่มีพฤติการณ์เช่นนั้นได้ 
จี้เปิดชื่อคนนอกจุ้นโผ ครม.
    "พรรคประชาธิปัตย์เองก็ได้ตกลงยินยอมกับบุคคลนั้น ซึ่งต้องถือว่าเป็นบุคคลผู้มีอำนาจนอกพรรคประชาธิปัตย์เช่นกัน ดังนั้นจึงเป็นกรณีที่พรรคประชาธิปัตย์ โดยกรรมการบริหารพรรคยินยอมให้บุคคลภายนอกพรรคข้ามาก้าวก่าย แทรกแซงครอบงำพรรคจนขาดอิสระในการตัดสินใจ ซึ่งอาจถูกร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญขอให้ยุบพรรคได้เช่นกัน ทั้งนี้ ในความเป็นจริงการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น หากพิจารณาดูบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญมาตรา 256 โดยถ่องแท้แล้วเป็นเรื่องที่แก้ไขได้ยากมาก ดังนั้นการเอาเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาเป็นเกมต่อรองกับพรรคพลังประชารัฐโดยอ้างว่าทำเพื่อประชาชนนั้น ไม่น่าจะใช่ เพราะความจริงคือต้องการกระทรวงที่มีผลประโยชน์มหาศาลมาดูแลใช่หรือไม่" นางลดาวัลลิ์กล่าว 
    นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด คณะทำงานสื่อสารการเมืองพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีพรรคพลังประชารัฐล้มดีลที่เคยตกลงโควตารัฐมนตรีก่อนหน้านี้กับพรรคร่วมมาเกลี่ยเก้าอี้กันใหม่ว่า เป็นหลักฐานและสิ่งบ่งชี้อย่างหนึ่งว่าการปฏิรูปการเมืองไม่มีอยู่จริง ประเทศชาติต้องเสียเวลา เสียงบประมาณมหาศาล เพื่อสร้างภาพโฆษณาชวนเชื่อว่าต้องปฏิรูปการเมือง มีการตั้ง สปช., สปท. กรรมการชุดต่างๆ มากมาย แต่ไม่ได้อะไรเลย ทำให้ประเทศชาติและประชาชนเสียโอกาส ปฏิรูปอย่างไรจากระบบพรรคการเมืองที่เข้มแข็ง ทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอ ขาดเสถียรภาพ เอาเฉพาะในพรรคพลังประชารัฐ มีกลุ่มการเมืองมุ้งต่างๆไม่ต่ำกว่า 40 มุ้ง บางคนก่อนนี้อยู่มุ้งกรุงเทพฯ ตอนนี้ไปช่วยทวงเก้าอี้ รมว.เกษตรและสหกรณ์ให้มุ้งสามมิตร ไม่รวม ส.ส.เอื้ออาทร พรรคเล็กพรรคน้อย ที่พยายามต่อรองเก้าอี้รัฐมนตรีชนิดไม่มีใครยอมใคร 
    "ในขณะที่ #RIPTHAILAND ขึ้นเทรนด์อันดับ 1 ของโลก หลังพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯอีกสมัย แต่ฝ่ายยินดีกับพลเอกประยุทธ์ ชัดๆ มีคนเดียว คือนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ที่แบ่งงานกันทำ วางแผนเป็นขั้นเป็นตอนตั้งแต่ก่อจลาจลชัตดาวน์ประเทศหรือไม่ ต่อไปใครจะตระบัดสัตย์หักหลังประชาชน มาพายเรือให้ใครนั่งต้องคิดดีๆ ได้คุ้มเสียหรือไม่ เพราะมันอาจไม่มีสัจจะในหมู่คนบางประเภท เพราะชุดความคิดของทีมเจรจาพรรคพลังประชารัฐ เขาอาจเข้าใจว่าเขาได้เป็นรัฐบาล เพราะเสียงของ 250 ส.ว. จึงล้มดีล มาเกลี่ยเก้าอี้กันใหม่เข้าทำนองอ้อยเข้าปากช้าง ผีถึงป่าช้าไม่ฝังก็ต้องเผา ความพยายามที่จะปฏิรูปการเมือง แต่ห้ามปฏิรูปกองทัพ ก็เพื่อสืบทอดอำนาจ เพราะเขาอยากอยู่ยาว การปฏิรูปการเมืองจึงอาจไม่มีอยู่จริง และเป็นเพียงแค่ข้ออ้างในการยึดอำนาจเท่านั้น" นายอนุสรณ์กล่าว
    นายภูมิธรรม เวชยชัย เลขาธิการพรรคเพื่อไทย  กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยได้หารือถึงตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร หลังพบปัญหาที่เกิดขึ้นกับพรรค จากกรณีที่ พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ หัวหน้าพรรค ไม่ได้เป็น ส.ส. จึงเข้าไปทำหน้าที่ผู้นำฝ่ายค้านตามที่กฎหมายกำหนดไม่ได้ ดังนั้นต้องรอการตัดสินใจลาออกของ พล.ต.ท.วิโรจน์ ซึ่งเป็นหัวหน้าพรรคก่อน จึงจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ ซึ่งในสัปดาห์หน้าจะมีการพูดคุยกับกรรมการบริหารพรรคชุดปัจจุบัน เพื่อรับทราบมติ ก่อนเรียกประชุมใหญ่สามัญประจำปี คาดว่าจะไม่เกินวันที่ 20 มิ.ย. จะสามารถส่งชื่อผู้นำฝ่ายค้านให้กับสภาผู้แทนราษฎร 
    ส่วนที่มีข่าวว่ามีชื่อแคนดิเดตหัวหน้าพรรคคนใหม่ 2 คน คือ นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ และ น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ ส.ส.กทม.นั้น นายภูมิธรรมกล่าวว่า ยังเป็นเพียงข่าวลือ เพราะต้องหารือกันในกรรมการบริหารพรรคก่อน แต่มองว่านายสมพงษ์เป็นสมาชิกมานาน และมีความอาวุโส และเคยเป็นอดีตรัฐมนตรี เป็นที่ยอมรับ และรู้จักกับนักการเมืองหลายพรรค ส่วน น.อ.อนุดิษฐ์ เป็นคนที่ช่วยงานพรรคได้ดี เชื่อว่าการเสนอชื่อบุคคทั้งสองจะไม่ทำให้เกิดปัญหาความขัดแย้งหรือแบ่งขั้วภายในพรรคเพื่อไทย
    "จากการประชุมรัฐสภา 7 พรรคการเมือง ที่ไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ ได้ทำงานร่วมกันอย่างดี และเมื่อได้เป็นฝ่ายค้านก็จะต้องทำงานให้มีประสิทธิภาพ ไม่ทำให้ประชาชนผิดหวัง เพราะในสถานการณ์ที่รัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ ทุกเสียงมีความหมาย ดังนั้นการทำหน้าที่ของฝ่ายค้าน จะต้องทำงานให้เห็นประสิทธิภาพอย่างชัดเจน ซึ่งในสัปดาห์หน้า 7 พรรคจะมีการพูดคุยเพื่อแบ่งหน้าที่การทำงาน" นายภูมิธรรมกล่าวถึงการทำงานของฝ่ายค้านในสภา 
เพ้อ"บางกอกสปริง"
    นายรยุศด์ บุญทัน รองโฆษกพรรคเพื่อชาติ กล่าวถึงการเป็นรัฐบาลสมัย 2 ของ พล.อ.ประยุทธ์ ว่า หลายฝ่ายมองว่ารัฐบาลชุดนี้จะบริหารประเทศได้ไม่นาน เพราะเป็นรัฐบาลที่มาจากหลายพรรคการเมือง และมีเสียงปริ่มน้ำนั้น ส่วนตัวมองว่าตราบใดก็ตามที่รัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ไม่มีความขัดแย้ง และยังได้รับการสนับสนุนจากกองทัพ ก็ย่อมจะเป็นหลักประกันความปลอดภัยของรัฐบาลได้ ซึ่งที่ผ่านมาก็เป็นเช่นนั้นมาตลอด และในอนาคตหากมีการแต่งตั้งโยกย้าย ผบ.เหล่าทัพ หรือหน่วยงานที่คุมกำลังสำคัญ ตนก็เชื่อว่ารัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ก็ย่อมต้องส่งคนที่ไว้วางใจไปกำกับดูแล 
    ขณะเดียวกัน ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา การปกครองประเทศภายใต้รัฐบาล คสช. องค์กรอิสระต่างๆ รวมไปถึงหน่วยงานของรัฐอื่นๆ คสช. ย่อมได้สร้างเครือข่ายและวางกลไกต่างๆ ไว้อยู่แล้ว ยังไม่รวมถึงปัจจัยอำนาจรัฐ หรืออำนาจอื่นๆ ที่มองไม่เห็น ดังนั้นเรื่องจำนวน ส.ส.ในสภา ตนจึงมองว่าไม่ใช่ปัจจัยสำคัญที่จะชี้วัดถึงความอยู่รอดของรัฐบาลเพียงอย่างเดียวเท่านั้น เพราะท้ายสุด ส.ว.250 คน ก็ยังสามารถเลือก พล.อ.ประยุทธ์กลับมาเป็นนายกฯ ได้ในตลอด 5 ปีนี้หากมีอุบัติเหตุทางการเมืองใดเกิดขึ้น
    นายรยุศด์กล่าวอีกว่า แม้วันนี้พรรคฝ่ายประชาธิปไตยจะแพ้เกมในสภา แต่ในเชิงสัญลักษณ์ถือว่าชนะใจประชาชน ประวัติศาสตร์การเมืองครั้งนี้คงต้องจารึกไว้หลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นกฎกติกาที่ผิดเพี้ยนเอื้อประโยชน์บางพรรค ส.ว.เพื่อนพ้องน้องพี่ที่เลือกนายกฯ ได้ พรรคชนะเลือกตั้งอันดับหนึ่งไม่ได้จัดตั้งรัฐบาล และอื่นๆ อีกมากมาย จึงทำให้เกิดคำถามจากสังคมว่าการเข้าสู่อำนาจของ พล.อ.ประยุทธ์ มีความชอบธรรมและสง่างามหรือไม่ ตนคิดว่าจากนี้ต่อไปรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ คงจะต้องใช้ทุกวิถีทาง ทุกองคาพยพเพื่อทำให้สามารถบริหารประเทศได้ และแนวโน้มตนก็มองว่ารัฐบาลอาจจะอยู่ได้ยาวจนครบวาระด้วยซ้ำไป 
    "จะมีเพียงเหตุผลเดียวที่อาจจะทำให้รัฐบาลนี้อยู่ไม่ได้ นั่นคือการลุกขึ้นของประชาชนและคนรุ่นใหม่ที่ครั้งหนึ่งเคยเกิดขึ้นมาแล้วในปี พ.ศ.2516 และ 2535 และภายใต้บริบทสังคมที่การสื่อสารโซเชียลมีเดียมีบทบาทอย่างสูง โอกาสของการเกิด “บางกอกสปริง” หรือฤดูใบไม้ผลิในกรุงเทพฯ นั้น ผมคิดว่าอาจจะไม่ใช่เรื่องยาก และมีความเป็นไปได้ เหมือนเคยเกิดขึ้นในกลุ่มประเทศอาหรับมาแล้ว ซึ่งเมื่อวันนั้นมาถึง ผมก็เชื่อว่าประเทศไทยคงจะมีประชาธิปไตยเต็มใบอย่างแท้จริง" นายรยุศด์กล่าวทิ้งท้าย
    น.ส.พรรณิการ์ วานิช โฆษกพรรคอนาคตใหม่ กล่าวว่า บทบาททางการเมืองของพรรคอนาคตใหม่หลังจากนี้ มีการวางแผนงานเกือบครบแล้ว โดยในสัปดาห์หน้าจะมีการแถลงข่าวใหญ่ ถึงแนวทางการการทำงานของพรรคอนาคตใหม่ในฐานะฝ่ายค้าน ทั้งในสภาและนอกสภาทางโดยละเอียดต่อไป
    นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์ถึงการนำรายชื่อนายกรัฐมนตรีขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย ว่าอยู่ในกระบวนการของรัฐสภา ส่วนจะโปรดเกล้าฯ ลงมาในเร็วๆ นี้หรือไม่ ตอนนี้พูดได้ว่าอยู่ในกระบวนการของรัฐสภา.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"