เกียวโต-นาโกยะ และความหวาดผวากลางอากาศ


เพิ่มเพื่อน    

ตรอกพอนโตโช อีกสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ของนครเกียวโต
 

 เป็นเวลาเย็นมากแล้วตอนที่เรากลับมาถึง Kaede Guesthouse ผมถามพนักงานต้อนรับว่าชื่อที่พักออกเสียงอย่างไร เพราะผมเผลอพูดออกไปว่า “เกด” เธอตอบว่า “คาเอเดะ” เรารับกระเป๋าที่ฝากไว้ตั้งแต่เข้าเช็กอินเมื่อตอนสายๆ แล้วก็ขึ้นไปยังห้องพักรวม 6 เตียง ซึ่งเตียงเป็นแบบ 2 ชั้น 3 คู่ ตั้งเรียงติดกันตามยาวโดยมีผนังกั้น เราได้เตียงคู่ด้านในสุด

            หนุ่มตี๋ 2 คนแต่คงไม่ได้มาด้วยกันได้ 2 เตียงนอก เตียงกลางเป็น 2 สาวพูดภาษาอังกฤษสำเนียงคนอังกฤษ คนหนึ่งหน้าตาเป็นอังกฤษแท้ อีกคนเป็นสาวหมวยที่คงเกิดหรือไม่ก็เติบโตในอังกฤษมาตั้งแต่เด็ก ทั้งคู่มาด้วยกัน

            ตอนหลังผมมีโอกาสได้ถามสาวอังกฤษว่ามาจากไหน เธอตอบว่า “ลั้นดัน” ด้วยสีหน้าภาคภูมิใจในความเป็นคนเมืองหลวง แทนที่จะตอบว่าอิงแลนด์ หรือยูเค ขยายความต่อว่าเธอกับเพื่อน (สาวหมวย) เพิ่งเรียนจบมหาวิทยาลัยจึงเดินทางท่องเที่ยวเพื่อฉลองปริญญาก่อนกลับไปหางานทำ

            เราอาบน้ำเสร็จก็ลงไปกินบะหมี่ที่ชั้น 2 ซึ่งเป็นพื้นที่ส่วนกลางขนาดกว้างขวางสำหรับนั่งเล่น และกินอาหาร เพื่อนร่วมทางของผมกินบะหมี่ถ้วยที่ซื้อจากร้าน Lawson ใกล้ๆ ที่พัก ส่วนผมกินบะหมี่ถ้วยที่ซื้อเพราะต้องการแตกแบงค์ย่อยตั้งแต่ก่อนขึ้นรถไฟที่ยามาโตะโคริยามะเมื่อวันก่อน เช่นเดียวกับนักท่องเที่ยวอีกหลายคนที่ซื้ออาหารจากภายนอกมากิน โดยเฉพาะพวกที่เดินทางคนเดียว มีกลุ่มคนหนุ่มจากบราซิลกลุ่มใหญ่คอยส่งเสียงครื้นเครงอยู่เป็นระยะเพราะกำลังเล่นไพ่กันอยู่

ตรอกพอนโตโชยามสนธยา ภาพเมื่อ 3 ปีก่อน

            อากาศคืนนี้ไม่หนาวเท่าไหร่ เราเดินประมาณ 1 กิโลเมตรไปยังโซนดื่มกินใกล้ๆ แม่น้ำคาโมกาวะ “บาร์มามุ” อยู่บนชั้น 3 ของตึก New Kiyamachi Building นัทสึกิซังอยู่หลังเคาน์เตอร์บาร์ เธอเงยหน้าขึ้นเพราะรู้ว่ามีคนเปิดประตูร้านเข้ามา อ้าปากค้างแล้วยิ้มต้อนรับ เธอจำผมได้ เช่นเดียวกับซาดะซังแฟนของเธอที่เดินเข้ามาทักทาย

            มีลูกค้าลุกไปจากที่นั่งตรงเคาน์เตอร์บาร์  2 คนพอดี ชาย-หญิงที่อยู่ด้านขวามืออัธยาศัยดี หาที่ให้เราวางเสื้อแจ็คเก็ต ส่วนคู่ซ้ายมือออกไปทางสนุกสนาน โดยเฉพาะผู้ชายที่เป็นมิตรมาก ชอบเดินเข้ามาขอโทษที่ส่งเสียงดัง แล้วก็กอดไหล่ จากนั้นก็ขอชนแก้ว เป็นอย่างนี้ทั้งคืน เห็นได้ชัดว่าเขาเมาตั้งแต่แรกแล้วแต่ก็รักษาอาการให้คงที่ต่อเนื่องได้ยาวนาน ตอนหลังเขาร้องเพลงตามนักร้องในโทรทัศน์ชนิดใส่อารมณ์เต็มที่ จนใครๆ ก็หัวเราะออกมา

            ลูกค้าทยอยเข้า-ออก ส่วนมากคิดว่าเราเป็นคนญี่ปุ่น พอรู้ว่าเป็นคนไทยก็จะพยายามพูด “สวัสดีค่ะ” และ “ขอบคุณค่ะ” เกินครึ่งของพวกเขาล้วนเคยไปเที่ยวเมืองไทย

คลองทากาเสะ ถนนคิยามาชิ

            ผมเริ่มด้วยเบียร์สด สั่งปลาหมึกจิ๋วผัดกับผักคล้ายๆ ขึ้นฉ่าย และทามาโกะยากิ ไข่เจียวแบบหนาใส่ผักหวานมาเป็นกับแกล้ม นัตสึกิทำอาหารใส่จานใหญ่หุ้มด้วยแผ่นพลาสติกใสวางโชว์บนเคาน์เตอร์คืนละสี่-ห้าอย่าง เมื่อมีลูกค้าสั่งก็แค่ตักไปใส่จานเล็ก อุ่นให้ร้อน ตกแต่งอีกนิดหน่อยแล้วก็เสิร์ฟ

            กับแกล้มชุดนี้ทำให้อิ่มท้องมาก เพื่อนร่วมทางของผมช่วยกินแค่ไม่กี่คำ ผมเลยต้องเบนเข็มไปยังเส้นทางวิสกี้ สั่งซิงเกิลมอลต์ Yamazaki ตามด้วยเบอร์เบิน Maker’s Mark ก่อนจะผ่อนดีกรีลงมาที่ไฮบอล (วิสกี้ผสมโซดา) อีกสองหรือสามแก้ว กระทั่งร้านปิดตอนเที่ยงคืน ส่วนเพื่อนร่วมทางของผมดื่มเฉพาะเบียร์สดและไฮบอล ซาดะซังลดราคาจาก 8 พันกว่าเยนให้เหลือ 8 พันถ้วน เราร่ำลากันอยู่นานกว่าจะได้ออกจากร้าน แล้วตัดสินใจเดินกลับที่พักทันที  

สัตว์ปีกและน้ำใสในวันอากาศดีบนถนนร่มรื่น

            เช้าวันต่อมาต้องตื่นขึ้นเพราะเสียงกรอบแกรบของถุงพลาสติกและเสียงรูดซิปกระเป๋าที่ไม่รู้จักหยุดหย่อนของสองหนุ่มตี๋ คนหนึ่งเก็บของเสร็จอีกคนก็เก็บต่อ ส่วนสองสาวผู้ดีลุกออกไปก่อนแล้ว เราลงไปกินมื้อเช้าที่มีขนมปัง แยมต่างๆ และกาแฟร้อน จากนั้นก็เช็กเอาต์ ฝากกระเป๋าไว้กับรีเซ็พชั่นแล้วออกไปเดินเล่นในตรอกพอนโตโช ตั้งอยู่ระหว่างสองถนนใหญ่ ชิโจดอริทางทิศใต้และซันโจดอริทางทิศเหนือ ไม่ไกลจากที่เราดื่มเมื่อคืน

            ตรอกพอนโตโช (Ponto-cho) ความยาว 600 เมตรนี้ตั้งอยู่ริมแม่น้ำโคโมกาวะทางฝั่งตะวันตก ปรากฏหลักฐานว่ามีมาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 16 เป็นย่านที่ให้กำเนิดละครคาบูกิโดยสตรีนาม “อิซุโมะ โน โอคุนิ” หอนางคณิกาก็เคยเป็นที่ขึ้นชื่อในตรอกพอนโตโช ปัจจุบันมีร้านอาหาร ร้านน้ำชา บาร์ และที่พัก อยู่บนสองฝั่งของตรอกที่มีความกว้างของทางเดินเพียงประมาณ 2 เมตร

ถนนคิยามาชิ นครเกียวโต

ลักษณะสถาปัตยกรรมดั้งเดิมและวัฒนธรรมการให้ความบันเทิงของเกอิโกะ (เกอิชา) และไมโกะ (เกอิชาฝึกหัด) ได้รับการอนุรักษ์ไว้เป็นอย่างดี ไม่ต่างจากย่านกิอองที่อยู่อีกฝั่งของแม่น้ำ ส่วนปลายของตรอกที่จะออกไปยังถนนซันโจดอริมีโรงละครคาบูเรนโจสำหรับการแสดงของเกอิโกะและไมโกะ เรียกว่า “คาโมกาวะ โอดอริ” ผสมผสานระหว่างการแสดงละครคาบูกิ การเล่นเครื่องดนตรีโบราณ การร้อง และการเต้นรำ จัดขึ้นปีละ 2 ครั้ง ในฤดูใบไม้ผลิครั้งหนึ่ง และอีกครั้งในฤดูใบไม้เปลี่ยนสี ดึงดูดผู้ชมได้มากทีเดียว ทั้งชาวญี่ปุ่นและต่างชาติ

ที่มาของชื่อพอนโตโชเป็นไปได้ว่ามาจากคำว่า “Ponte” ในภาษาโปรตุเกส แปลว่า “สะพาน” หรือ “Point” ที่แปลว่า “จุด” และ “สถานที่” ในภาษาอังกฤษ ส่วน “Cho” ในภาษาญี่ปุ่นแปลว่า “ถนน” และ “เมือง”

            ผมพยายามมองหาป้ายชื่อ “Dylan Bar” ที่เคยมานั่งเมื่อครั้งก่อน แต่ไม่เห็น อาจจะเปลี่ยนชื่อหรือเลิกกิจการไปแล้ว เราเดินจนเกือบสุดตรอก มีทางเชื่อมกับถนนคิยามาชิเราก็เลี้ยวซ้ายไป แล้วเดินวกกลับลงมายังทิศใต้ ถนนเส้นนี้เลียบขนานไปกับคลองทาคาเสะ ถนนขนาบทั้งสองฝั่งคลองในช่วงแรกก่อนจะเหลือเส้นเดียวเมื่อผ่านไปได้ราว 200เมตร ปลูกซากุระไว้เป็นแถวยาว เป็นจุดชมซากุระบานในเขตใจกลางเมืองที่นักท่องเที่ยวชื่นชอบ  

            เราเดินจนถึงถนนชิโจดอริแล้วก็เลี้ยวขวาไปไปตามถนนเส้นนี้ ย่านนี้เรียกว่าชิโจ-คาวารามาชิ เพื่อนร่วมทางของผมแวะซื้อกระเป๋ายี่ห้ออเนลโลให้ลูกสาว ก่อนจะเดินตัดเข้าซอยเล็กๆ ซอยหนึ่งเพื่อกลับที่พัก ผมเห็นร้านขายอาหารกล่องหรือเบนโตะก็แวะเข้าไป สตรีสูงวัยเป็นคนขาย เลือกได้กล่องหนึ่งเพื่อไว้กินก่อนขึ้นรถบัส มีข้าวสวย ปลาทอด ไข่เจียวญี่ปุ่น และผัดผัก ราคากล่องละ 480 เยน แต่เนื่องจากหิวมากก็แวะซื้อเนื้อไก่ชุบแป้งทอดลักษณะเป็นแผ่นแบนๆ จากร้าน Lawson มาชิ้นหนึ่งแล้วกินรองท้องทันที

            รับกระเป๋าแล้วเราก็เดินไปนั่งรถไฟไต้ดินเข้าสถานีเกียวโต ทันเวลาหาที่นั่งกินเบนโตะ ส่วนเพื่อนร่วมทางของผมได้ขนมปังจากร้านในห้างของสถานีไว้ประทังท้องแล้วขอไปสูบบุหรี่ตรงจุดที่เขากำหนดไว้ ผมกำชับให้ไปยังจุดจอดรถบัสให้ตรงเวลา ตอนนี้เหลือเวลาประมาณ 3 นาทีเท่านั้น

วัดบุกโคจิ นครเกียวโต

            รถบัสของบริษัท Meitetsu จอดอยู่ที่ป้าย JR1 เรียบร้อยแล้ว เจ้าหน้าที่ในเครื่องแบบของบริษัทยืนอยู่หน้าประตูรถ มีกระเป๋าเดินทางแบบล้อเลื่อนตั้งเรียงกันอยู่หลายใบ ผมเข้าใจว่าคงจะรอนำขึ้นรถคันนี้ เช่นเดียวกับคนที่เข้าคิวอยู่สาม-สี่คนก็น่าจะเป็นผู้โดยสารของรถคันนี้ ผมเข้าไปต่อหลังพวกเขา แต่พอเหลือเวลา 1 นาทีก่อนรถจะออกตามกำหนด กลุ่มคนที่ว่าเดินออกไปเสียเฉยๆ แล้วกระเป๋าเหล่านี้เป็นของใครกัน

โชคดีที่มีผู้โดยสารคนหนึ่งเดินมายื่นตั๋วให้เจ้าหน้าที่แล้วเขาก็ขึ้นรถไป ผมจึงรู้ว่ากระเป๋าพวกนี้ไม่ใช่ของรถคันนี้ ที่เก็บกระเป่าใต้ท้องรถปิดลง ผมรีบเดินเข้าไปยื่นตั๋วให้เจ้าหน้าที่บ้าง ขอให้เปิดที่เก็บกระเป๋าใหม่ และบอกว่าอย่าเพิ่งออกรถเพราะมีเพื่อนผมอีกคน เขาดูนาฬิกาข้อมือและแสดงสีหน้าไม่ค่อยพอใจ ทันไดนั้นเพื่อนร่วมทางของผมก็วิ่งมาพอดี เขาก็พยักหน้า เลยอดรู้ว่าถ้าจังหวะนั้นเพื่อนร่วมทางผมยังไม่โผล่มาเขาจะรอหรือออกรถไปเลย

จากสถานีเกียวโต สถานีที่มีอาคารสถานีใหญ่สุดเป็นอันดับ 2 ของประเทศ ไปยังสถานีนาโกยะ สถานีที่มีอาคารสถานีใหญ่สุดเป็นอันดับ 1 ระยะทางประมาณ 140 กิโลเมตร รถบัสวิ่งบนถนนไฮเวย์ ใช้เวลาเดินทาง 2 ชั่วโมง 40 นาที แวะจอดให้ผู้โดยสารเข้าห้องน้ำและกินอาหารว่างที่จุดพักรถ 1 ครั้ง โดยเพื่อนร่วมทางของผมกลับขึ้นรถเป็นคนสุดท้ายอย่างฉิวเฉียดเหมือนเคย

เรานั่งรถไฟใต้ดินจากสถานีนาโกยะ สาย Sakura Dori แล้วต่อสาย Meijo ไปโผล่ที่สถานี Kamimaesu เดินไปยังย่านโอสึ ทันทีที่เข้าสู่โอสึช็อปปิ้งอาเขต เพื่อนร่วมทางของผมก็เข้าไปยังร้านขายกระเป๋าแล้วเดินออกมาบอกว่าไม่น่าซื้อที่เกียวโตเลย กระเป๋ารุ่นเดียวกันที่ซื้อให้ลูกสาว ร้านนี้ถูกกว่าตั้งเยอะ

จุดพักรถบนถนนไฮเวย์ เส้นทางเกียวโต-นาโกยะ

ที่พักของเราชื่อ Trip & Sleep Hostel ผมจองห้องสำหรับ 2 คนไว้ ในห้องมีเตียง 2 ชั้น หลังจากเช็กอิน เก็บกระเป๋าเสร็จเราก็ลงไปถามรีเซ็พชั่นอายุน้อย ชายหนึ่ง-หญิงหนึ่ง ว่าอาหารขึ้นชื่อของนาโกยะคืออะไร ทั้งคู่ตอบว่า “มิโสะคัตสึ” หมูชุบแป้งทอดราสซอสมิโสะแบบเข้มข้น ฝ่ายชายที่ออกท่าทางเก้งน้อยอย่างเห็นได้ชัดอธิบายทางเดินไปยังร้านดังชื่อ Yabaton แบบตั้งใจนำเสนอ

เราเดินราวครึ่งกิโลก็ถึงร้านตอนประมาณ 6 โมงครึ่ง ร้านมี 2 ชั้น ชั้น 1 เป็นแบบเคาน์เตอร์นั่งหน้าครัว โชคดีเหลือเกินที่ว่าง 2 ที่พอดี หลังจากนั้นไม่กี่นาทีผมหันไปเห็นคิวต่อยาวเฟื้อยอยู่นอกร้าน พนักงานสาวสวยเข้ามาถามว่ามาจากประเทศอะไร ผมก็นึกว่าตัวเองเสน่ห์แรง ตอบว่า “ไทยแลนด์” เธอสนองตอบด้วยการหยิบเมนูภาษาไทยมาให้

มิโสะคัตสึด้ง ข้าวหน้าหมูชุบแป้งทอดราดซอสมิโสะเข้มข้น มีเครื่องเคียงเป็นกะหล่ำซอย ขิงดอง และมิโสะซุป อร่อยตามคำยอของน้องเก้งน้อยจริงๆ ราคาจานละ 1,300 เยน เป็นเมนูที่เขียนกำกับไว้ว่า No.1 Popular   

ขากลับมายังที่พัก ร้านจำหน่ายสุราชื่อ Liquor Off ที่เต็มไปด้วยวิสกี้ประเภทต่างๆ ทั้งจากญี่ปุ่นและหลายประเทศทั่วโลกได้ปิดประตูลงแล้ว เราจึงต้องพึ่งซุปเปอร์มาร์เก็ตใกล้ๆ นอกจากเครื่องดื่มแล้วเราก็ยังพบขุมทรัพย์ของแห้งจำพวกขนมต่างๆ บะหมี่ ชาและกาแฟที่กระหน่ำลดราคา ชนิดเงินสดเหลือเท่าไหร่ต้องกวาดให้เกลี้ยง  

สิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำย่านโอสึช็อปปิ้งอาเขต เมืองนาโกยะ

กลับไปยังที่พัก ได้รับการชักชวนจากหนุ่มเกาหลีใต้ให้นั่งดื่มด้วยกัน เขาเขียนนิยายแนวแฟนตาซีพิมพ์จำหน่ายมาแล้ว 6 เล่ม ล่าสุดกำลังเขียนเกี่ยวกับดินแดนสมมติประเทศหนึ่งที่ประชาชนไม่ใช้เงินในการดำรงชีวิต หากแต่ซื้อขาย แลกเปลี่ยน เลี้ยงปากท้องด้วยบทกวีแทน แต่เขาก็ยอมรับว่ายากมากที่จะทำให้เป็นเรื่องที่อ่านได้อย่างไหลลื่น 

ผมกับเพื่อนร่วมทางขึ้นนอนตอนตี 1 และตื่นตามเสียงนาฬิกาปลุกเวลาตี 5 ครึ่ง เราต้องไปให้ถึงสนามบินประมาณ 7 โมง สาเหตุที่เลือกเดินทางกลับกรุงเทพฯ จากนาโกยะก็เพราะเมื่อเทียบช่วงเวลาเดียวกันตั๋วราคาถูกกว่าบินกลับจากโอซาก้าถึงครึ่งหนึ่ง

เราคืนกุญแจที่โต๊ะรีเซ็พชั่น (ยังไม่มีใครมาทำงาน) แล้วเดินออกไปนั่งรถไฟใต้ดิน ผมสอดตั๋วเข้าเครื่องตอนขาเข้าแล้วลืมหยิบออกมา พอจะออกที่ปลายทางต้องซื้อตั๋วใบใหม่ราคา 200 เยน จากนั้นต่อรถไฟไปยังสนามบิน Centrair Chubu Airport ป้ายในสถานีรถไฟเขียนไว้ 2 ราคา คือ 810 เยน และ 1,170 เยน เราเลือกซื้อแบบ 810 เยน เพราะเงินสดเหลืออยู่ประมาณแค่นั้น รอที่ชานชาลาไม่ถึงนาทีรถไฟก็เข้าเทียบจอด เขียนไว้ข้างตัวรถว่า Limited Express ผมลังเลนิดหนึ่งแต่ก็เดินเข้าไป

เรื่องที่กังวลกลายเป็นความจริง ตั๋วที่เราซื้อไม่ใช่ของรถด่วนขบวนนี้ เจ้าหน้าที่เดินมาตรวจตั๋วผู้โดยสารทุกคน เขามีตั๋วหลายใบในมือพร้อมกระเป๋าเงินทอน เข้าใจว่ามีคนขึ้นผิดคันกันอย่างปกติ หรือกรณีที่ใครซื้อตั๋วถูกแต่เกิดรีบขึ้นมาก็ใช้บริการได้ ค่อยจ่ายเพิ่มในรถ แต่ตอนนี้ผมมีเศษไม่ถึง 100 เยนด้วยซ้ำ

ผมถามเจ้าหน้าที่ว่ารับบัตรเดบิตไหม เขาส่ายหน้า เพื่อนร่วมทางของผมค่อยๆ หยิบเหรียญออกมานับใส่มือเจ้าหน้าที่ เราต้องจ่ายเพิ่มอีกคนละ 360 เยน ลุ้นกันใจหงายใจคว่ำ ปรากฏว่ามีแทบจะพอดี จ่ายแล้วเหลือไม่กี่สิบเยน

และต้องลุ้นกันอีกคำรบระหว่างนั่งบนเครื่องบิน เพื่อนร่วมทางของผมเก็บพาวเวอร์แบงค์ชาร์จโทรศัพท์ไว้ในกระเป๋าที่โหลดใต้ท้องเครื่อง ผมเปิดอ่านข้อมูลความเสี่ยงระหว่างรอเครื่องขึ้น สรุปได้ว่าความดันอากาศขณะบินอาจทำให้พาวเวอร์แบงค์ระเบิดและติดไฟได้ ซึ่งหากเกิดขึ้นในห้องผู้โดยสารก็จะสามารถช่วยกันดับทัน แต่ถ้าระเบิดในที่เก็บสัมภาระใต้ท้องเครื่องก็เสี่ยงอันตรายอย่างยิ่ง เพราะไม่มีใครอยู่ในนั้น

แม้ตอนอยู่บนเครื่องจะง่วงขนาดไหนแต่ผมก็แทบไม่ได้หลับ และนี่ก็คือสาเหตุที่ผมไม่เปิดเผยชื่อแซ่ของเพื่อนร่วมทางตลอดการเขียนถึงทริปนี้.
 

แกลลอรี่


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"