รัฐนาวา บิ๊กตู่ 2/1 อยู่ไม่ยืด


เพิ่มเพื่อน    

 รัฐบาลประยุทธ์ 2/1 รอบนี้อยู่ไม่ยาว-ไม่เกิน 1 ปี

หลังสมาชิกรัฐสภาทั้ง ส.ส.-ส.ว. 500 เสียง โหวตเห็นชอบให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีรอบ 2 สิ่งที่ต้องติดตามต่อไปก็คือ การจัดตั้งรัฐบาล-ทำโผรายชื่อคณะรัฐมนตรี ซึ่งถึงขณะนี้มีกระแสข่าวว่าดีลการเจรจาต่อรองระหว่างคีย์แมนพรรคพลังประชารัฐ กับพรรคร่วมรัฐบาลอย่าง ประชาธิปัตย์-ภูมิใจไทย ยังไม่ลงตัวในบางกระทรวง แต่คาดว่าทุกอย่างจะได้ข้อยุติภายในไม่เกินสัปดาห์หน้า โผรายชื่อ ครม. บิ๊กตู่ 2/1 ก็น่าจะสะเด็ดน้ำ

ทัศนะ-มุมวิเคราะห์ จังหวะขยับทางการเมืองต่อจากนี้ของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ 2/1 ความเห็นจากนักวิชาการ-นักวิเคราะห์การเมือง รศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต คณบดีคณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือนิด้า และประธานคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย หรือ ครป. ประเมินว่า การกลับมาของพลเอกประยุทธ์รอบนี้ รัฐนาวา บิ๊กตู่ 2/1 อาจจะอยู่ได้ไม่นานด้วยเหตุจากหลายปัจจัย โดยประเมินไว้เบื้องต้นว่าอาจจะอยู่ได้ไม่เกิน 1 ปีต่อจากนี้

"น่าจะอยู่ได้ไม่เกิน 1 ปี เพราะเงื่อนไขต่างๆ ที่รัฐบาลจะประสบมีมากมาย ทั้งเงื่อนไขภายในและเงื่อนไขภายนอก ก็คิดว่า 1 ปี คงเป็นเวลาที่ยาวนานพอสมควรและคงอยู่ได้ไม่เกินนี้ โดยการอยู่ไม่เกิน 1 ปี สิ่งที่อาจเกิดขึ้นก็จะมี 2 แบบ อาจเป็นการลาออกของนายกรัฐมนตรีหรือยุบสภาฯ ก็ได้ แต่ถ้าไม่ถึง 1 ปี ก็อาจจะลาออกมากกว่า เพราะหากจะให้มีเสถียรภาพ ควรต้องมี ส.ส.อยู่ฝ่ายซีกรัฐบาลประมาณ 270-280 เสียง ที่จะอยู่ได้สัก 1 ปี หรือ 2 ปี แต่ ณ ตอนนี้ผมประเมินไว้ว่าน่าจะประมาณ 1 ปี แต่ระหว่างทางก็อาจเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันเกิดขึ้น ที่ก็อาจทำให้ระยะเวลามีการบวก-ลบบ้าง แต่ ณ สถานการณ์ขณะนี้ก็ยังประเมินไว้ว่าน่าจะอยู่ได้ประมาณ 1 ปี แต่เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนไป ก็ต้องมาประเมินเป็นระยะ"

อนึ่ง จากผลโหวตนายกรัฐมนตรี ที่มี ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลออกเสียงสนับสนุนพลเอกประยุทธ์ที่ 251 เสียง ซึ่งหากนับนายสุทัศน์ เงินหมื่น ที่จะมาเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ แทนนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่ลาออกไป รวมถึงหากนับ นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ส.ส.ศรีสะเกษ พรรคภูมิใจไทย ที่งดออกเสียงตอนโหวตนายกฯ โดยไม่นับ ชวน หลีกภัย ประธานสภาฯ จากประชาธิปัตย์ เท่ากับฝ่ายรัฐบาลจะมี ส.ส.ประมาณ 253 เสียง เกินกึ่งหนึ่ง 250 เสียง มาแค่ 3 เสียง จำนวนเสียง ส.ส.รัฐบาลดังกล่าว ทาง ดร.พิชาย มองว่า เมื่อเสียง ส.ส.รัฐบาลมีเท่านี้ ทำให้บทบาทสำคัญจะอยู่ที่วิปรัฐบาล ที่ต้องทำงานคุมเสียงในสภาฯ อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะการระดม ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลเข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพียง เพราะหากพลาดไปเพียงนิดเดียว อาจทำให้องค์ประชุมล่มหรือแพ้โหวตในสภาฯ ได้ ฝ่ายรัฐบาลต้องระมัดระวังมากเผลอไม่ได้

...สำหรับเรื่องเสถียรภาพเป็นเรื่องภายในรัฐบาลเอง หากมีปัญหากันภายใน มีการแตกกันภายในพรรคร่วมรัฐบาล เช่น มีความไม่พอใจในเรื่องต่างๆ แล้ว ส.ส.รัฐบาลออกมาโหวตสวนทางกันเอง แบบนั้นจะเกิดปัญหา สิ่งที่รัฐบาลอาจจะต้องใส่ใจเป็นพิเศษ ก็คือบรรดา ส.ส.ซีกรัฐบาลด้วยกันเอง ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องง่ายนัก เพราะอาจมีการต่อรองต่างๆ กันเยอะ แต่ผมว่าในช่วงปีแรก ส.ส.รัฐบาลก็ต้องพยายามประคับประคองกันไป เพราะคงไม่มีใครอยากจะเลือกตั้งกันเร็ว การมีสถานภาพเป็น ส.ส. ก็เป็นที่พอใจของพวกเขาอยู่แล้ว มองแล้วการที่ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลจะออกมาสวนมติพรรคร่วมรัฐบาล ในระยะปีแรก ถ้าไม่มีเรื่องอะไรรุนแรงมากเกินไป ส.ส.รัฐบาลก็คงไม่ทำที่จะมาสวนมติรัฐบาล เพราะพวก ส.ส.เองเขาก็ต้องมองว่าหากจะไปสร้างอะไรที่ไม่พอใจให้กับนายกรัฐมนตรี จนนายกฯ ตัดสินใจยุบสภาฯ เขาก็หมดสถานะเหมือนกัน ทำให้ต่างคนก็กุมไพ่กันอยู่

ดร.พิชาย-นักวิชาการจากนิด้า-ประธาน ครป. กล่าวต่อไปว่า จากจำนวนเสียง ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลดังกล่าวประมาณ 253-254 เสียง ที่เป็นรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ การมีเสียงขนาดนี้ทำให้เกิดปัญหาแก่รัฐบาลได้ในหลายมิติหลายแง่มุม เช่น การประชุมสภาฯ ที่ก็มีความเป็นไปได้ที่ฝ่ายค้านอาจเล่นเกมในสภาด้วยการทำให้องค์ประชุมไม่ครบ เช่น เปิดประชุมล่าช้า หรือเปิดประชุมได้เกิดประชุมสักระยะ แล้วฝ่ายค้านเห็นว่า ส.ส.รัฐบาลอยู่ในห้องประชุมน้อย ก็จะเล่นเกมให้นับองค์ประชุม หาก ส.ส.รัฐบาลอยู่น้อย ก็จะทำให้องค์ประชุมไม่ครบ ไม่เกินกึ่งหนึ่ง จนสภาล่ม ฝ่ายแกนนำพรรครัฐบาลก็จะต้องดูแล ส.ส.ในฝ่ายรัฐบาลอย่างใกล้ชิด ต้องมีการกำชับให้ ส.ส.มาเข้าประชุมพร้อมเพียง เพราะหากมาประชุมไม่พร้อมหน้า ก็ทำให้แพ้มติในสภาฯ ได้

...การมีเสียง ส.ส.รัฐบาลเกินกึ่งหนึ่งมาเล็กน้อย ก็จะทำให้รัฐบาลอยู่ในสภาวะไร้เสถียรภาพค่อนข้างสูง หากถามว่าภายใต้ภาวะแบบนี้รัฐบาลจะจัดการเพื่อเพิ่มเสถียรภาพ นอกจากเข้มงวด ส.ส.ให้เข้าร่วมประชุมแล้ว ก็อาจมีความเป็นไปได้ในการดึง ส.ส.จากซีกพรรคฝ่ายค้านเข้ามาเป็นฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลเป็นครั้งเป็นคราว ที่เรียกว่างูเห่าเพื่อที่จะได้เป็นหลักประกันว่าหากสมมุติฝ่ายค้านเล่นเกมนับองค์ประชุม พวก ส.ส.งูเห่าก็ยังอยู่ในสภาฯ ทำให้สภาฯ ไม่ล่ม หรือเวลาลงมติของสภาฯ นัดสำคัญๆ พวก ส.ส.เหล่านี้ก็อาจจะลงมติสนับสนุนรัฐบาล แต่การทำการเมืองแบบนี้ ก็ทำให้ไม่สง่างาม ทำให้บรรทัดฐานของ ระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาของไทยถูกครหา มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ได้ อันนี้คือการเมืองในสภาที่รัฐบาลอาจจะต้องเจอ

เมื่อถามถึงการโหวตเห็นชอบนายกฯ เมื่อวันพุธที่ 5 มิ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งไม่มี ส.ส.ในฝั่ง 7 พรรคพันธมิตรขั้วเพื่อไทย ออกเสียงสนับสนุนพลเอกประยุทธ์ หรือไม่มีงูเห่าเกิดขึ้นอย่างที่บางฝ่ายคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ ดร.พิชาย มองเรื่องนี้ว่า เนื่องจากเป็นการออกเสียงลงมติที่ต้องขานชื่อโดยเปิดเผยเลยอาจทำให้บรรดา ส.ส.จากฝ่าย 7 พรรคการเมืองดังกล่าวอาจจะไม่แสดงตัว และอาจเป็นไปได้ว่า ส.ส.จาก 7 พรรคพันธมิตรดังกล่าวมีการผนึกกันแน่น เพราะมองว่าสถานการณ์การเมืองอาจมีการเลือกตั้งในไม่ช้าไม่นานต่อจากนี้ เช่น ไม่เกิน 1 ปีต่อจากนี้ เลยทำให้มองว่ากระแสสนับสนุนพรรคยังคงมีอยู่ จึงเห็นว่าการยังเป็น ส.ส.ในสังกัดพรรคการเมืองปัจจุบันยังทำให้ดำเนินงานทางการเมืองต่อไปได้ ไม่มีใครอยากเป็นงูเห่าที่จะเป็นการตัดอนาคตทางการเมืองของตัวเองและอาจมีความเป็นไปได้ที่บรรดาผู้นำพรรคการเมืองต่างๆ สามารถชักจูงโน้มน้าวบรรดา ส.ส.ที่สังกัดพรรคตัวเองเอาไว้ได้ อีกทั้ง ส.ส.ใน 7 พรรคการเมืองดังกล่าวก็คงเห็นว่าหากไปออกเสียงสนับสนุนพลเอกประยุทธ์อาจทำให้ถูกวิพากษ์วิจารณ์และตำหนิติเตียนจนไม่มีที่ยืนในสังคม โดยเฉพาะในสังคมโซเชียลมีเดีย

ดร.พิชาย กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ สิ่งที่พลเอกประยุทธ์ต้องเจอในการกลับมาเป็นนายกฯ รอบ 2 ก็คือ การอภิปรายจาก ส.ส.ฝ่ายค้าน โดยเฉพาะการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ ที่ฝ่ายค้านมีเสียงเพียงพอที่จะยื่นญัตติเมื่อใดก็ได้ หรือการตั้งกระทู้สดถามรัฐบาลในเรื่องต่างๆ ที่ก็อาจจะมีการกระทบกระทั่งพลเอกประยุทธ์ ซึ่งบางเรื่องบางราวที่อาจอภิปรายในเรื่องที่พลเอกประยุทธ์ไม่อยากได้ยิน ก็อาจทำให้เกิดความรู้สึกคับข้องใจเกิดขึ้นได้

ส่วนนอกสภาฯ สิ่งที่รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ต้องเผชิญก็คือ กระแสคัดค้าน การสืบทอดอำนาจของหัวหน้า คสช. ที่กระแสดังกล่าวก็เริ่มปรากฏก่อนการโหวตเลือกนายกฯ ซึ่งกระแสนี้ก็อาจมีการนำไปขยายต่อเรื่อยๆ โดยกระแสดังกล่าวสุดท้ายจะขยายวงหรือจะจำกัดวง ก็ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขหลายอย่าง เช่น เงื่อนไขคนในสังคม ที่จะรู้สึกอย่างไรกับการที่บอกว่ามีนายกฯ สืบทอดอำนาจ หรือเงื่อนไขที่พรรคการเมืองต่างๆ อาจจะเข้าไปนำประชาชน โอกาสที่จะขยายตัวของกระแสคัดค้านก็จะเกิดขึ้นสูง

ถัดมาก็เรื่องปัญหาเศรษฐกิจ ที่ต้องบริหารเรื่องเศรษฐกิจตกต่ำ เช่น ปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ หรือการรับมือกับสงครามการค้าระหว่างประเทศที่ทำให้การส่งออกของไทยทรุดตัวลง ก็จะทำให้รัฐบาลเกิดความยากลำบากในการบริหารงานมากขึ้น และหากรัฐบาลบริหารเศรษฐกิจไม่ดีขึ้น กระแสความรู้สึกของประชาชนที่ไม่พอใจรัฐบาลก็อาจมีมากขึ้นด้วย

...นอกจากนั้นแล้ว ในตัวรัฐบาลที่ประกอบด้วยพรรคการเมืองที่สนับสนุนรัฐบาล เป็นพรรคร่วมรัฐบาลร่วม 20 พรรค ที่จะทำให้มีการต่อรองของบรรดาพรรคการเมืองในซีกรัฐบาล ที่อาจทำให้เกิดความอึดอัดคับข้องใจให้กับคนที่เป็นนายกรัฐมนตรีได้

ดร.พิชาย-นักวิชาการจากนิด้า กล่าวถึงการกลับมาเป็นนายกฯ รอบ 2 ของพลเอกประยุทธ์ ที่จะไม่มีอำนาจในการบริหารประเทศแบบเดิม โดยเฉพาะการไม่มีมาตรา 44 ว่า ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลพลเอกประยุทธ์มีเสถียรภาพและมีอำนาจสูง แต่หลังจากนี้ รัฐบาลมีเสถียรภาพค่อนข้างต่ำ จึงต้องบริหารแบบประนีประนอม อาศัยกลไกการประสานร่วมมือจากฝ่ายต่างๆ เพื่อให้มีการขับเคลื่อนนโยบาย การโน้มน้าวจูงใจต่างๆ มากมายที่รัฐบาลจะใช้เพื่อโน้มน้าว และที่สำคัญรัฐบาลต้องพึ่งพาอาศัยเสียงจากประชาชนในการสนับสนุน แต่ก็จะเป็นปมปัญหาสำคัญ เพราะฝ่ายที่สนับสนุนและคัดค้านรัฐบาลก็มีทั้ง 2 ฝ่าย การคัดค้านรัฐบาลก็มีแนวโน้มที่จะแสดงตัวออกมาชัดเจนมากขึ้น เช่น คนที่ไม่เห็นด้วยกับการสืบทอดอำนาจ คนที่เผชิญหน้ากับความเดือดร้อนทางด้านเศรษฐกิจ ก็จะออกมาเรียกร้องรัฐบาลมากขึ้น ทำให้รัฐบาลก็ต้องเจอกับมรสุมเหล่านี้

...ดังนั้นการบริหารจัดการ ก็ต้องเข้าไปพูดคุย ทำความเข้าใจ ซึ่งหมายถึงทำให้รัฐบาลต้องมีความอดทนอดกลั้นสูง ไม่เหมือนกับตอนที่เป็นรัฐบาลที่มีอำนาจเด็ดขาดแบบสมัยรัฐบาล คสช.ที่มีมาตรา 44 ในการแก้ไขปัญหาต่างๆ 

โฉมหน้า ครม.บิ๊กตู่ 2/1 ต้องไม่ยี้

ดร.พิชาย-นักวิชาการจากนิด้า ให้ข้อคิดเห็นถึงโฉมหน้าคณะรัฐมนตรี บิ๊กตู่ 2/1 ที่จะคลอดออกมาในอนาคตอันใกล้นี้ว่า ภาพลักษณ์ของคนที่จะมาเป็นรัฐมนตรีจะมีความชอบธรรมต่อรัฐบาล เพราะฉะนั้น ผู้จัดการรัฐบาลและพรรคร่วมรัฐบาลก็ต้องตระหนักว่าการนำคนมาเป็นรัฐมนตรีต้องนำคนที่สังคมให้การยอมรับ ไม่มีภาพลักษณ์ที่อื้อฉาว เกี่ยวพันกับการทุจริต การซื้อขายตำแหน่ง ต้องไม่เอาคนที่มีสีเทาๆ ออกดำๆ ที่สังคมไม่ยอมรับ รัฐมนตรีทั้งหลายเมื่อสังคมเห็นชื่อแล้วต้องไม่ร้องยี้ สังคมต้องให้การยอมรับ

การพิจารณาเรื่องนี้ต้องดูคุณสมบัติคนมาเป็นรัฐมนตรีให้ดี เพราะหากได้คนที่สังคมร้องยี้มาเป็นรัฐมนตรี ก็จะทำให้ความชอบธรรมของรัฐบาลตกต่ำตั้งแต่ตอนต้น ซึ่งหากความชอบธรรมภาพลักษณ์ไม่ดีตั้งแต่ตอนต้น เสียงสนับสนุนรัฐบาลก็ยิ่งมีน้อย เพราะปัจจุบันเสียงคัดค้านก็มีอยู่แล้ว ดังนั้นหากได้รัฐมนตรีที่ดูแล้วไม่ค่อยดีอีก มันก็จะยิ่งหนัก การจะช่วยยกระดับภาพลักษณ์ของรัฐบาล ก็ต้องหารัฐมนตรีที่มีฝีมือ สังคมยอมรับภาพลักษณ์ดีมาเป็นรัฐมนตรี

-ที่ผ่านมาพลเอกประยุทธ์วางตัวเองให้อยู่ห่างการเมือง พรรคการเมือง ตอนเลือกตั้งก็ไม่ได้เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับพลังประชารัฐ มีแค่ไปปรากฏตัวช่วยหาเสียงวันสุดท้าย แต่วันนี้พลเอกประยุทธ์จะลอยตัวแบบเดิมได้หรือไม่ เพราะอย่างในพลังประชารัฐก็มีกลุ่มการเมืองต่างๆ ร่วมสิบกลุ่มที่หลายคนก็ต้องการเป็น รมต. แล้วนายกฯ จะแก้ปัญหาความขัดแย้งในเรื่องการทำโผ ครม.อย่างไร?

นายกฯ ต้องมีทีมงานในการช่วยบริหารและสร้างสมดุลอำนาจ ซึ่งทีมงานของเขาก็อาจเป็นพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ที่เข้าใจว่าการฟอร์ม ครม.ก็คงนำพลเอกประวิตรเข้ามาเป็นรัฐมนตรี เพราะเป็นคนที่มีเครือข่ายต่างๆ มากและมีสายสัมพันธ์ที่จะต่อรองกลุ่มต่างๆ ที่อยู่ในรัฐบาล ทำให้พลเอกประยุทธ์ต้องพึ่งพาพลเอกประวิตรมากขึ้น จากเดิมที่ก็พึ่งพาอยู่แล้วในการบริหารเครือข่ายต่างๆ แต่ภายใต้สถานการณ์รัฐบาลจากนี้จะยิ่งต้องพึ่งพาพลเอกประวิตรมากขึ้น

สำหรับการไปดีลกับพรรคการเมืองร่วมรัฐบาลหลังจากนี้ ผมว่าเขาคงไม่ลงไปคุยโดยตรง แต่อาจคุยผ่านตัวแทน เช่น พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ, สมคิด จาตุศรีพิทักษ์, อุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ คงคุยผ่านคนเหล่านี้ โดยเขาเองอาจลงไปคุยบ้างหลังมีการคุยผ่านเบื้องต้นจากคนที่บอกข้างต้นแล้ว แต่พลเอกประยุทธ์จะไม่ลงไปดีลด้วยตัวเอง

...ถ้าจะบริหารให้ราบรื่น พลเอกประยุทธ์ก็ต้องเปลี่ยนบุคลิกของตัวเองด้วยการเข้าไปคุยกับคนจากพรรคการเมืองต่างๆ ด้วยตัวเองมากขึ้น แทนที่จะผ่านทีมงานอย่างที่ทำปัจจุบัน เพราะสุดท้ายคนที่มีอำนาจตัดสินใจจริงๆ ก็คือตัวพลเอกประยุทธ์

สไตล์การทำงานของพลเอกประยุทธ์จากเดิมที่เคยมีอำนาจอย่างมากในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เมื่อเขาต้องเปลี่ยนโดยลงไปคุยกับนักการเมือง ก็อาจทำให้ยากลำบากบ้างในช่วงต้น โดยอาจไม่ชอบที่จะไปอดทนอดกลั้นในการไปคุยไปต่อรอง แต่กระบวนการทางการเมืองมันต้องมีการคุยการต่อรอง การพูดคุยค่อนข้างเยอะ หากพลเอกประยุทธ์จะลงไปคุย เขาก็ต้องปรับบุคลิก จะไปใช้บุคลิกแบบเดิมโดยยังคิดว่าตัวเองยังทำงานภายใต้การมีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดแบบเดิมก็คงไม่ได้ ต้องปรับบุคลิกตรงนี้ ซึ่งก็ต้องมี 2 ระดับ คือ ระดับทีมงาน และตัวพลเอกประยุทธ์เองที่ต้องลงไปคุย และเนื่องจากว่าพรรคการเมืองเกือบทุกพรรคอาจมีเรื่องราวบางอย่างตามที่เราทราบ นักการเมืองก็อาจจะมีทั้งสีขาว สีเทา เงื่อนไขเหล่านั้นเขาก็อาจมีข้อมูลอะไรต่างๆ ที่จะนำไปเจรจาต่อรองกันได้ แต่พรรคการเมืองที่ต่อรองยากก็คือ  พรรคประชาธิปัตย์ เพราะประชาธิปัตย์อาจจะมีเรื่องอื้อฉาวน้อยกว่าพรรคอื่น การที่จะนำอะไรไปต่อรองก็อาจทำให้คุยกันยาก

เมื่อถามถึงมุมมองว่า ทางพลเอกประยุทธ์จะรับมือทางการเมืองไหวหรือไม่ เพราะกลับมารอบนี้ไม่มีอำนาจเด็ดขาดเหมือนเดิม และต้องลงมาอยู่ในเกมการต่อรองทางการเมืองด้วยตัวเอง ดร.พิชาย-ประธาน ครป. วิเคราะห์ไว้ว่า พลเอกประยุทธ์อาจทนได้สักระยะหนึ่ง 3 เดือน 6 เดือน แล้วต่อจากนั้น พออยู่ไปสัก 9 เดือน 1 ปี ถ้าเจอบรรยากาศในสภาฯ แบบนี้ ถูกอภิปรายในสภาฯ ถูกเปิดโปงอะไรในสภาฯ ถูกเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ ลองนึกภาพดูว่าหากเขาบริหารประเทศไปสักระยะ แล้วฝ่ายค้านยื่นญัตติเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ มีการนำข้อมูลต่างๆ มาแฉกัน มีการขุดข้อมูลประเภทวงศาคณาญาติ ขุดออกมาหมด พลเอกประยุทธ์จะตอบอย่างไร จะมีอารมณ์อย่างไร โดยบุคลิกของพลเอกประยุทธ์ที่ผ่านมา ซึ่งเราก็อาจเห็นได้ในอนาคต และเมื่อไปถึงจุดนั้น เขาก็อาจจะประเมินว่าเขาจะอยู่ต่อหรือไม่ ซึ่งก็จะมี 2 แนวทาง

คือหนึ่ง หากประเมินแล้วไม่สามารถรับมือได้กับการที่จะถูกฝ่ายค้านวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักหน่วงได้ หรือไม่สามารถรับมือได้กับกระบวนการต่อรองทางการเมืองเช่นภายในพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกันเองได้ พลเอกประยุทธ์ก็อาจลาออกหรือไม่ก็ยุบสภาฯ ซึ่งการลาออกก็อาจเป็นทางเลือก ถ้าหากว่ามีการตัดสินใจลาออกภายในปีนี้ มันก็มีทางเลือกที่เกิดขึ้นได้อีกหลายๆ ทาง แต่จะน่าเกลียดมาก ถ้าทำอย่างที่มี ส.ว.บางคนพูดว่า หากพลเอกประยุทธ์ลาออก ก็จะโหวตเลือกพลเอกประยุทธ์กลับเข้ามาอีก ซึ่งเป็นวิธีคิดที่ไม่เหมาะ เหมือนกับไม่เห็นประชาชนอยู่ในสายตาเลย

...หากสมมุติว่าพลเอกประยุทธ์ลาออก ก็ทำให้ที่ประชุมรัฐสภาต้องมีการประชุมเพื่อโหวตเห็นชอบเลือกนายกฯ กันใหม่ ซึ่งรายชื่อก็จะมาจากพรรคการเมืองต่างๆ เช่น อนุทิน ชาญวีรกูล, อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ, ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ก็เลือกคนเหล่านั้น แต่หากเลือกมาไม่ได้ ก็อาจนำไปสู่การร่วมมือกันของ ส.ส.กับ ส.ว.ในการเปิดก๊อกสอง ตาม รธน.ที่สามารถเสนอชื่อใครก็ได้ให้มาเป็นนายกรัฐมนตรี ที่อาจจะเป็นคนที่อยู่ในรัฐสภาหรือคนนอกก็ได้ ที่เรียกกันว่านายกฯ คนนอก ที่ก็อาจมีความเป็นไปได้ที่อาจเกิดขึ้น

....หากว่าพลเอกประยุทธ์ลาออก เพราะไม่สามารถทนแรงกดดันต่างๆ ได้ หรือว่าอาจยุบสภาฯ ก็ได้ แต่การยุบสภาฯ ก็จะมีความเสี่ยงเอง สำหรับซีกที่กุมอำนาจนำในสังคมไทยอยู่ เพราะพอมีการยุบสภาฯ เกิดขึ้น สิ่งที่เราจะเห็น ก็คือพรรคพลังประชารัฐอาจจะไม่กลับมาใหญ่เหมือนปัจจุบัน เพราะพลังประชารัฐมีกลุ่มการเมืองต่างๆ ภายในพรรคร่วมสิบกลุ่ม ดังนั้นหากมีการยุบสภาฯ ต้องเลือกตั้ง โดยที่พลังประชารัฐไม่มีชื่อพลเอกประยุทธ์มาเป็นแคนดิเดตนายกฯ ก็ทำให้พลังประชารัฐก็จะไม่มีตัวชูในการหาเสียง เมื่อไม่มีตัวชู ก็ทำให้กระแสสนับสนุนต่างๆ แทบไม่มี ก็มองว่าหากมีการยุบสภาฯ ก็อาจทำให้พรรคการเมืองต่างๆ ในซีกฝั่งตรงกันข้าม เช่น พรรคเพื่อไทย อนาคตใหม่ รวมถึงประชาธิปัตย์ ภูมิใจไทย ก็อาจจะได้คะแนนเสียงเพิ่มขึ้น โดยฝ่ายพลังประชารัฐจะได้เสียง ส.ส.ลดลง

การยุบสภาฯ ก็เหมือนกับทำให้พรรคการเมืองคู่แข่งมีโอกาสจะมาจัดตั้งรัฐบาลภายหลังได้ ก็มองว่าหากจะยุบสภาฯ ภายใน 1 ปีต่อจากนี้ ค่อนข้างเป็นเกมเสี่ยง ซึ่งฝ่ายซีกที่กุมอำนาจรัฐอยู่ก็คงไม่อยากเล่นเกมเสี่ยงแบบนี้

ดร.พิชาย ยังกล่าวถึงบทบาทของกองทัพกับรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ ที่จะเป็นนายกฯ โดยไม่มีสถานะหัวหน้า คสช.แบบห้าปีที่ผ่านมาว่า การที่พลเอกประยุทธ์กลับมารอบนี้ถือว่าขาดจากกองทัพแล้ว  แม้ดูแล้วอาจมีสายสัมพันธ์อยู่บ้าง แต่ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของกองทัพแล้ว ก็ทำให้กองทัพมีความเป็นอิสระจากบุคคลใน คสช.มากขึ้น การตัดสินใจต่างๆ ของกองทัพก็จะเป็นอิสระสูง เพราะโดยหลักการ กองทัพต้องเป็นอิสระจากการเมืองอยู่แล้ว ส่วนเรื่องรัฐประหารต่างๆ เวลานี้ยังเป็นเรื่องไกลอยู่บ้าง แต่การทำปฏิวัติก็ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขต่างๆ ของสังคม ในอดีตอย่างเช่นยุคจอมพลถนอม กิตติขจร ทำปฏิวัติตัวเองตอนเป็นนายกฯ เมื่อปี พ.ศ.2514 เพราะตอนนั้นจอมพลถนอมก็ยังคุมกองทัพอยู่ แต่ปัจจุบันพลเอกประยุทธ์ไม่สามารถคุมกองทัพได้อีกแล้ว การปฏิวัติตัวเองคงไม่เกิดขึ้น หากจะมีการปฏิวัติก็คงเป็นคณะรัฐประหารชุดใหม่ขึ้นมา ซึ่งคนที่จะทำได้ก็ต้องเป็น ผบ.ทบ. แต่ก็ไม่ได้เป็นหลักประกัน เพราะโครงสร้างสังคมไทยปัจจุบันมีความซับซ้อนมากขึ้น การปฏิวัติรัฐประหารต่างๆ มันก็ยังมีโอกาสเกิดขึ้นเพียงแต่ต้องมีความชอบธรรมเพียงพอ ไม่ใช่ว่าอยู่ๆ นึกสนุกก็อยากทำรัฐประหาร มันไม่ได้ หรือปฏิวัติตัวเองมันไม่ได้ต้องมีเงื่อนไของค์ประกอบมากมายที่ใช้เป็นฐานในการอ้างเพื่อทำรัฐประหาร

ปชป.หนุนบิ๊กตู่ ได้หรือเสียมากกว่ากัน?

ดร.พิชาย-นักวิชาการจากนิด้าและประธาน ครป. วิเคราะห์การที่พรรคประชาธิปัตย์ตัดสินใจร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐเพื่อสนับสนุนพลเอกประยุทธ์ จนส่งผลให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ลาออกจาก ส.ส.ประชาธิปัตย์ว่า ขณะนี้ภายในประชาธิปัตย์จะพบว่ามีอยู่ด้วยกัน 3 กลุ่ม กลุ่มแรกคือพวกอดีต กปปส. ที่กลุ่มนี้พบว่ามี ส.ส.ปัจจุบันประมาณ 25-27 เสียง กลุ่มนี้ที่ผ่านมาก็แสดงท่าทีชัดเจนว่าสนับสนุนพลเอกประยุทธ์เป็นนายกฯ มาตั้งนาน และตอนที่อภิสิทธิ์หาเสียงกลุ่มนี้ก็ไม่ค่อยเห็นด้วยเท่าใด ซึ่งกลุ่มดังกล่าวไม่ว่าจะมีเงื่อนไขหรือไม่มีเงื่อนไขอะไร เขาก็สนับสนุนพลเอกประยุทธ์

..กลุ่มที่สองเป็นกลุ่ม ส.ส.ภาคกลาง ที่สนับสนุนรัฐบาลภายใต้เงื่อนไขที่พรรคพลังประชารัฐเสนอกระทรวงต่างๆ มาให้กับพรรค ปชป. คือถ้าหากกระทรวงที่เสนอมาสอดคล้องกับสิ่งที่พรรค ปชป.ต้องการ คือเป็นกระทรวงที่นำไปขับเคลื่อนนโยบายหาเสียงได้ เช่นการประกันรายได้สินค้าเกษตรตามที่พรรค ปชป.ได้เคยหาเสียงไว้ โดยคนในพรรคกลุ่มนี้จะนำโดยเฉลิมชัย ศรีอ่อน เลขาธิการพรรค

กลุ่มที่สามไม่เห็นด้วยกับการร่วมรัฐบาล ที่นำโดยอภิสิทธิ์และกรรมการบริหารพรรคที่อยู่ในซีก กทม.และซีกของชวน หลีกภัย, บัญญัติ บรรทัดฐาน ที่ไม่อยากให้ ปชป.ไปเข้าร่วมรัฐบาล ด้วยเหตุผลต้องการรักษาอุดมการณ์ของพรรค ปชป.

...เนื่องจากกลุ่มที่เห็นด้วยกับการเข้าร่วมรัฐบาลมีเสียงมากกว่า แต่ว่ากลุ่มที่ไม่อยากเข้าร่วมอาจมีอิทธิพลทางความคิดกับสมาชิกคนอื่นๆ เช่น อภิสิทธิ์ เลยทำให้เกิดปมปัญหาที่ทำให้มีการยื้อกันเป็นเวลานาน กว่าจะตัดสินใจได้ก็วันที่ 4มิ.ย.ก่อนวันโหวตเห็นชอบนายกฯ วันที่ 5 มิ.ย.

...การไปร่วมรัฐบาลเข้าไปบริหารประเทศ ซึ่งหากคนของประชาธิปัตย์บริหารได้ดี เช่นทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น ก็จะทำให้คะแนนนิยมในภาคใต้รวมถึงภาคกลางก็จะเพิ่มขึ้น อาจได้ ส.ส.ภาคใต้กลับคืนมาบ้างแต่ว่าในกรุงเทพฯ ก็คงยาก เพราะคนกรุงเทพฯ ที่เลือกประชาธิปัตย์เขาเลือกเพราะอุดมการณ์ของพรรคเป็นหลัก ถ้าสถานการณ์เป็นอย่างนี้โอกาสที่ประชาธิปัตย์จะกลับมาในกรุงเทพฯ ในการเลือกตั้งครั้งหน้าก็คงจะยาก จะได้ก็แค่ภาคใต้กับภาคกลาง แต่หากร่วมรัฐบาลแล้วประชาธิปัตย์บริหารงานไม่ดี แก้ปัญหาให้เกษตรกรไม่ได้ ก็จะทำให้แม้แต่ในภาคใต้ก็จะไม่สามารถรักษาฐานเสียงตัวเองไว้ได้

จึงเป็นเดิมพันของประชาธิปัตย์เองว่าจะสามารถรักษาฐานเสียงเดิม และดึงฐานเสียงที่เคยไปเลือกพรรคอื่นให้กลับมาเลือกประชาธิปัตย์แบบเดิมได้อีกครั้งหรือไม่

...สำหรับบทบาทของอภิสิทธิ์ในช่วง 1-2 ปี ต่อจากนี้หากยังไม่มีการเลือกตั้งเกิดขึ้น เขาก็คงแสดงบทบาทในฐานะประชาชนคนหนึ่งหรือนักวิชาการ ที่อาจออกมาวิพากษ์วิจารณ์การเมือง แสดงความเห็นอะไรไป เพราะก็ยังเป็นคนที่มีอิทธิพลทางความคิดในสังคมอยู่ ส่วนจะออกจากประชาธิปัตย์หรือไปตั้งพรรคใหม่อย่างที่บางฝ่ายเสนอ ผมว่าคงไม่เป็นแบบนั้นเพราะอภิสิทธิ์มีความผูกพันกับประชาธิปัตย์  โดยการเลือกตั้งครั้งหน้าถ้าสถานการณ์เปลี่ยนแปลง อภิสิทธิ์ก็คงลงเลือกตั้งอีก เพราะยังไงพรรคประชาธิปัตย์ก็ยังต้องพึ่งชื่อเสียงและภาพลักษณ์ของอภิสิทธิ์

-ถ้าให้ประเมินการตัดสินใจร่วมรัฐบาลครั้งนี้ของพรรค ปชป.จะเป็นผลดีหรือผลเสียมากกว่ากันในทางการเมือง?

มันมีทั้งส่วนดีและส่วนเสีย ต้องประเมินว่าเงื่อนไขที่เขาจะดำเนินการต่อไปในอนาคตเป็นอย่างไร  ส่วนที่เสียก็คือ จะถูกสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์โดยเฉพาะที่อยู่ในกรุงเทพมหานครไม่พอใจแน่ๆ สิ่งนี้คือสิ่งที่ประชาธิปัตย์จะเสีย รวมถึงในพื้นที่เขตเมืองใหญ่ๆ ด้วย ที่มองว่าพรรคประชาธิปัตย์ควรรักษาอุดมการณ์ของพรรคเอาไว้ รวมถึงต้องรักษาพันธสัญญาที่พรรคประชาธิปัตย์ให้ไว้ตอนหาเสียง เพราะสิ่งที่อภิสิทธิ์พูดไว้เป็นการพูดในนามหัวหน้าพรรค ก็เลยทำให้ประชาธิปัตย์เสียคะแนนนิยม เสียศรัทธาจากคนที่สนับสนุนและเลือกพรรคประชาธิปัตย์จากจุดยืนของพรรค

...แต่ว่าประชาธิปัตย์ก็อาจจะได้ แต่จะได้ก็ต่อเมื่อมีเงื่อนไขว่าต้องแสดงฝีมือและดูแลกระทรวงที่แสดงฝีมือได้ แต่หากเข้ามาร่วมรัฐบาลได้กระทรวงที่ไม่สามารถแสดงฝีมือได้ ประชาธิปัตย์จะยิ่งเสียหนักขึ้นไปอีก คือเสียในกลุ่มประชาชนที่เห็นว่าประชาธิปัตย์ควรรักษาจุดยืนประชาธิปไตยเอาไว้ และเสียทั้งกับคนที่เห็นด้วยที่ประชาธิปัตย์มาเข้าร่วมรัฐบาล แต่เมื่อมาร่วมตั้งรัฐบาลแล้วกลับไม่สามารถสร้างผลงานอะไร ถูกกลืน แบบนี้ก็เสียทั้งขึ้นทั้งล่อง แต่หากมาร่วมรัฐบาลกับพลังประชารัฐแล้ว สามารถแสดงฝีมือ และทำให้ประชาชนเห็นฝีมือดังกล่าวได้ว่าเป็นฝีมือของพรรค พรรคก็จะได้ในส่วนนี้

...ประชาชนที่เป็นฐานเสียงของประชาธิปัตย์มีอยู่สองกลุ่ม คือมองว่าถ้าเข้าไปแล้วไม่สามารถทำอะไรได้เลย ไม่สามารถแก้ปัญหาประชาชนอะไรได้ การเข้าร่วมรัฐบาลจะยิ่งทำให้คะแนนเสียงพรรคยิ่งแย่ลง แต่เมื่อร่วมรัฐบาลแล้วสามารถแก้ปัญหาของประชาชน โดยเฉพาะในภาคใต้เรื่องปัญหาราคายางพารา, ปาล์ม ประชาธิปัตย์ก็อาจได้รับการสนับสนุนจากประชาชนในพื้นที่ภาคใต้เพิ่มขึ้น เพราะการเลือกตั้งที่ผ่านมาประชาธิปัตย์ได้ ส.ส.เขตในภาคใต้แค่ 22 คน แต่เมื่อเข้าไปแล้วพรรคสามารถเข้าไปขับเคลื่อนแก้ปัญหาต่างๆ เขาก็อาจจะได้คะแนนเสียงจากภาคใต้เพิ่มขึ้น เช่นอาจได้เพิ่มขึ้นมาสิบกว่าที่นั่ง แต่เสียงที่สนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์ หลังเข้าร่วมรัฐบาลอาจจะลดลงเพราะคนกรุงเทพฯ ที่เลือกประชาธิปัตย์ในการเลือกตั้งที่ผ่านมาที่มีประมาณห้าแสนกว่าเสียง เขาเลือกประชาธิปัตย์เพราะจุดยืนที่อภิสิทธิ์ประกาศก่อนวันเลือกตั้งว่าจะไม่ไปร่วมสนับสนุนพลเอกประยุทธ์ เพราะคนที่สนับสนุนพลเอกประยุทธ์เขาก็ไปเลือกพรรคพลังประชารัฐไปแล้ว

 ดร.พิชาย มองว่า เมื่อ ปชป.ไปร่วมตั้งรัฐบาล ดังนั้นเสียงในกรุงเทพฯ ที่จะเลือกประชาธิปัตย์ก็อาจจะลดลง อย่างไรก็ตามสถานการณ์การเลือกตั้งรอบหน้า การจะวัดโดยดูจากสถานการณ์เวลานี้มันเป็นเรื่องยาก ไม่เต็มร้อยมากนัก เพราะสถานการณ์ตอนช่วงวันเลือกตั้ง คนก็จะเลือกโดยพิจารณาตัวเลือกต่างๆ เช่นสมมุติว่าในสถานการณ์วันข้างหน้า หากไม่มีพรรคพลังประชารัฐ หรือมีพรรคพลังประชารัฐแต่ไม่มีพลเอกประยุทธ์ คนที่เคยเทคะแนนให้กับพรรคพลังประชารัฐมาก่อน ก็มีความเป็นไปได้ที่อาจเกิดความลังเล ว่าจะหันกลับมาสนับสนุนประชาธิปัตย์อีกครั้งดีหรือไม่

 ส่วนคนที่เลือกประชาธิปัตย์ในการเลือกตั้งที่ผ่านมาแล้ววันนี้ประชาธิปัตย์ไปร่วมรัฐบาล ก็เป็นพวกแนวเสรีนิยมที่ส่วนหนึ่งก็อาจจะเลือกพรรคประชาธิปัตย์ต่อไปอีก แต่อีกส่วนหนึ่งก็อาจจะไปเลือกพรรคการเมืองอื่น เช่นหันไปเลือกพรรคอนาคตใหม่เพิ่มขึ้นก็ได้ เพราะหากเขามีจุดยืนในเรื่องการไม่เอาการสืบทอดอำนาจ แต่ว่าถ้าประชาธิปัตย์ไปสนับสนุนการสืบทอดอำนาจเสียแล้ว คนที่มีจุดยืนแบบนี้ก็ต้องไปหาพรรคการเมืองอื่นๆ ในการเลือกตั้งรอบหน้า เพราะฉะนั้นการประเมินว่าพรรคประชาธิปัตย์ที่ไปเข้าร่วมรัฐบาลจะทำให้คะแนนเสียงของพรรคเพิ่มขึ้นหรือลดลง มันยังขึ้นอยู่กับเงื่อนไขอีกหลายอย่างที่จะเกิดขึ้นหลังจากนี้

ถ้ารัฐบาลพลเอกประยุทธ์อยู่ได้สักหนึ่งปี รัฐบาลในช่วงหนึ่งปีต่อจากนี้ โดยพรรคประชาธิปัตย์ดูแลกระทรวงเกษตรฯ, กระทรวงพาณิชย์ จนทำให้ราคายางพารา ปาล์มเพิ่มสูงขึ้น คะแนนเสียงในภาคใต้ของประชาธิปัตย์ก็เพิ่มขึ้นแน่นอน แต่หากเข้าไปแล้วไม่สามารถทำได้ คะแนนเสียงในภาคใต้ก็คงไม่ได้เพิ่ม จึงขึ้นอยู่กับฝีมือในการบริหารงานของ ปชป.ในช่วงหนึ่งปีต่อจากนี้ แต่คะแนนเสียงของประชาธิปัตย์ในกรุงเทพฯ ลดลงแน่นอน เพราะเสียงในกรุงเทพฯ เขาเลือกประชาธิปัตย์เพราะเรื่องอุดมการณ์ไม่ใช่เรื่องตัวนโยบายพรรคอะไรมากมาย แต่ถ้าพรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้ดูแลกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กับกระทรวงพาณิชย์ โดยพลังประชารัฐรับผิดชอบ ซึ่งเมื่อประชาธิปัตย์ร่วมรัฐบาล หากว่าราคายางพารา ปาล์มราคาดีขึ้น ผลงานก็จะเป็นของพลังประชารัฐ ประชาธิปัตย์ที่ไปร่วมรัฐบาลก็จะยิ่งแย่ จึงเป็นเงื่อนไขที่เหตุใดประชาธิปัตย์จึงต้องต่อรองขอดูแลสองกระทรวงนี้ เพราะหากประชาธิปัตย์ดูแลเอง แล้วราคายาง ปาล์มมันดี พรรคประชาธิปัตย์ก็จะได้คะแนนเสียงเพิ่มขึ้น ทำให้พรรคนำไปเคลมได้ว่าที่ราคาดีขึ้นมาก็เพราะพรรคดูแลสองกระทรวงนี้

-การเป็นรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำแบบนี้ จะทำให้พรรคพลังประชารัฐในฐานะพรรคแกนนำถูกพรรคร่วมรัฐบาลทั้งประชาธิปัตย์และภูมิใจไทย รวมถึงแม้แต่พรรคเล็กๆ 3-10 เสียงต่อรอง ขี่คอทางการเมืองไปตลอด?

ไม่ใช่ คนที่กำกับดูแลพรรคพลังประชารัฐไม่กลัวภูมิใจไทย ชาติไทยพัฒนา แต่เขาหวั่นประชาธิปัตย์พรรคเดียว เพราะอย่างภูมิใจไทย นายเนวิน ชิดชอบ สนิทกับพลเอกประวิตรมาก มีอะไรก็คุยกันได้ เพราะทั้งสองคนมีความสัมพันธ์กันมายาวนาน จึงพูดคุยกันได้ เขาเรียกเนวินและอนุทิน ชาญวีรกูล มาคุยได้ ยิ่งการที่อนุทินเป็นนักธุรกิจ ดังนั้นการที่จะไปแตกหักกับผู้กุมอำนาจ จึงเป็นเรื่องที่ต้องคิดหนัก อย่างกระทรวงคมนาคมประเมินว่าภูมิใจไทยอาจไม่ได้หรอก ทางพลังประชารัฐคงเก็บไว้เอง  เพราะเขามองว่าสามารถจัดการกับภูมิใจไทยได้ หรืออย่างชาติไทยพัฒนา เป็นพรรคขนาดไม่ใหญ่และเป็นพรรคที่อยากร่วมรัฐบาล เขาเป็นฝ่ายค้านไม่เป็น หากมีการเสนอให้ชาติไทยพัฒนาดูแลกระทรวงบางกระทรวงที่พอสมควรกับฐานะของพรรคได้ ชาติไทยพัฒนาก็ดำเนินการต่อไป

ขณะที่พวกพรรคขนาดเล็กๆ ทั้งหลายที่มาอยู่กับฝ่ายพลังประชารัฐ ก็คงจะไปนั่งเป็นประธานคณะกรรมาธิการสามัญชุดต่างๆ ของสภาฯ และคงได้รับการจัดสรรให้ทรัพยากรต่างๆ ไป

5 ปี สภาสูงองครักษ์พิทักษ์รบ.!

ดร.พิชาย ประเมินบทบาท สภาสูง-ส.ว.  250 คน ในช่วงห้าปีต่อจากนี้ว่า ส.ว.มีอำนาจในการร่วมโหวตเห็นชอบบุคคลไปดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่บทบาทของ ส.ว.ในช่วงห้าปีต่อจากนี้ก็เป็นตัวแทนของกลุ่มข้าราชการเป็นตัวหลัก บทบาทของ ส.ว.ต่อจากนี้ หากหัวหน้ารัฐบาลยังเป็นพลเอกประยุทธ์ บทบาท ส.ว.ก็จะเป็นการสนับสนุนรัฐบาล และทำตัวเป็นเสมือนองครักษ์พิทักษ์รัฐบาลเป็นหลัก จะไม่ใช่บทบาทในแบบสภาถ่วงดุลตรวจสอบ หากนายกฯ ยังชื่อพลเอกประยุทธ์ หรือหากเป็นนายกฯ คนกลางที่ได้รับการยอมรับเข้ามา เขาก็จะเป็นบทบาทแบบสภาลูกขุน เป็นขุนพลอยพยัก คอยยกมือสนับสนุนรัฐบาล เพราะโดยพื้นฐานของ ส.ว.ก็มาจาก คสช. ดังนั้นทิศทางอะไรที่สนับสนุนรัฐบาลเขาก็จะดำเนินการไปตามนั้น แต่หากนายกรัฐมนตรีมาจากหัวหน้าพรรคการเมืองต่างๆเ ช่น อภิสิทธิ์  อนุทิน ธนาธร จะทำให้ ส.ว.แปลงร่างทันที จะกลายเป็นฝ่ายตรวจสอบถ่วงดุลการทำงานรัฐบาลที่เข้มแข็ง บทบาทจะพลิกไป 

...ขณะที่เรื่องการผ่านกฎหมายจากรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ไปยังวุฒิสภา มองว่าก็จะไม่มีอุปสรรคปัญหาอะไรมากมาย เพราะเท่าที่เห็นการประชุม ส.ว.ที่ผ่านมา ส.ว.ก็ไม่ค่อยพูดจาอะไร มีการอภิปรายก็คงทำพอเป็นพิธี แต่คงไม่ถึงกับท้วงติงรัฐบาล แต่คงเป็นลักษณะเสนอแนะ และดีไม่ดีก็จะเป็นองครักษ์พิทักษ์รัฐบาล

ประธาน ครป. ระบุว่า บทบาทของ ส.ว.ก็จะเป็นองค์กรที่คอยปกป้องรักษาผลประโยชน์ของฝ่ายราชการและฝ่าย คสช.เป็นหลัก บรรดากฎหมายที่ออกมาก็คงได้รับการพิจารณาว่าไม่สร้างผลกระทบต่อโครงสร้างอำนาจทางการเมือง เช่นเรื่องรัฐธรรมนูญที่เขาวางเอาไว้ ทำให้เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญดูแล้วคงทำยาก หากจะมีการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญในลักษณะที่จะไปมีผลกระทบทำให้อำนาจของ ส.ว.ลดลงคงจะมีปัญหา ทำให้การแก้รัฐธรรมนูญทำไม่ได้ หากจะมีการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญคงต้องมีการเลือกประเด็น เช่นถ้าจะไปแก้ไข รธน.เพื่อให้ยกเลิกยุทธศาสตร์ชาติ หรือจะไปขอแก้บทเฉพาะกาลในเรื่องการให้ ส.ว.มาร่วมโหวตเลือกนายกฯ ส.ว.ก็คงไม่ยอมต้องคัดค้านแน่นอน แต่หากจะไปแก้เช่นเรื่องระบบการเลือกตั้ง ส.ว.อาจยอม.

................................

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"