ตำนานเงินตราสยาม


เพิ่มเพื่อน    


    เมื่อรัชกาลที่ ๔ กรุงรัตนโกสินทร์ได้มีการเปลี่ยนแปลงแบบอย่างเงินตราที่ใช้ในประเทศสยามนี้ นับว่าเป็นการสำคัญในพงศาวดารเรื่องหนึ่ง จึงได้ตรวจเก็บเนื้อความเรื่องเปลี่ยนแบบเงินตราในครั้งนั้นอันมีปรากฏอยู่ในหนังสือต่างๆ คือ ประกาศ เป็นต้น มาเรียบเรียงอธิบายให้ผู้อ่านรู้เรื่องและเหตุการณ์ที่มีมา
    ในประเทศสยามนี้ใช้เงินกับเบี้ย (หอย) เป็นเครื่องแลกในการซื้อขายมาแต่สมัยกรุงสุโขทัย เงินนั้นหาตัวโลหะมาแต่ต่างประเทศ เอามาหล่อหลอมทำเป็นเงินตราในประเทศสยามนี้เอง แต่ส่วนเบี้ยนั้น อาศัยพวกชาวต่างประเทศเที่ยวเสาะหาตามชายทะเลแล้วพามาขายในประเทศนี้รับซื้อไว้ใช้สอยเป็นเครื่องแลกในการซื้อขาย ประเพณีเช่นนั้นคงใช้มาจนตลอดสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี มีเหตุปรากฏในปูมครั้งหนึ่งเมื่อปีชวด พ.ศ.๒๒๘๗ ในรัชกาลพระเจ้าบรมโกศว่า "ใช้ประกับต่างเบี้ย" ดังนี้ เดิมไม่ทราบว่าประกับนั้นเป็นอย่างไร จนพระยาโบราณราชธานินทร์ขุดตรวจที่ในพระราชวังหลวงที่กรุงศรีอยุธยา พบดินเผาตีตราต่างๆ ขนาดเท่าเงินเหรียญห้าสิบสตางค์ฝังไว้เป็นอันมาก จึงเข้าใจว่านั่นเองที่เรียกว่าประกับ 
    คงจะเป็นด้วยขาดคราวชาวต่างประเทศเอาเบี้ยเข้ามาขาย จึงนำประกับขึ้นใช้แทนชั่วคราว พอมีเบี้ยเข้ามาขายก็เลิก จึงมิได้ใช้ประกับต่อมาเงินตราครั้งกรุงศรีอยุธยาทำเป็นเงินพดด้วง (คือ รูปสัณฐานกลม) ประทับเป็นสำคัญสองดวง ดวงหนึ่งมักเป็นรูปจักร คงจะหมายความว่ากรุงศรีอยุธยาอันเป็นที่สถิตของสมเด็จพระรามาธิบดี อีกดวงหนึ่งมีใช้รูปแปลกๆ กัน เป็นสังข์บ้าง เป็นตรีบ้าง เป็นเครื่องหมายรัชกาล (แต่พิเคราะห์ดู เห็นดวงตราที่ต่างกันมีน้อยกว่าจำนวนพระเจ้าแผ่นดินที่ครองกรุงศรีอยุธยามากนัก จึงสันนิษฐานอีกนัยหนึ่งว่า จะไม่เปลี่ยนตราทุกรัชกาล ใช้ตราอย่างเดียวกันเรื่อยไปจนมีเหตุอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น เกิดเงินปลอมมากขึ้น เป็นต้น พระเจ้าแผ่นดินจึงมีพระราชดำรัสสั่งให้เปลี่ยนตราเสียครั้งหนึ่ง) เงินตราครั้งกรุงศรีอยุธยามีสี่ขนาด คือ ขนาดบาทหนึ่ง ขนาดครึ่งบาท (เรียกว่า สองสลึง อย่างนี้ชะรอยคนจะไม่ใคร่ชอบใช้ จึงมีน้อย) ขนาด ๑/๔ ของบาท เรียกว่า สลึงหนึ่ง ขนาด ๑/๘ ของบาท เรียกว่า เฟื้องหนึ่ง
    รองนั้นลงมาถึงเบี้ย มีอัตราสี่ร้อยเบี้ยเป็นราคาเฟื้องหนึ่ง แต่ว่าไม่เป็นราคาตามกฎหมาย สุดแต่มีเบี้ยเข้ามาขายในท้องตลาดมากหรือน้อย ในเวลาเบี้ยในท้องตลาดมีมาก ราคาเบี้ยตกถึงหนึ่งพันเบี้ยต่อเฟื้องก็มี แต่ราษฎรซื้อขายเครื่องบริโภคกันในท้องตลาดมักใช้เบี้ยเป็นพื้น
    ถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ตอนก่อนรัชกาลที่ ๔ คงใช้เงินตรามาตามแบบอย่างครั้งกรุงศรีอยุธยา เป็นแต่เปลี่ยนตราตามรัชกาล รัชกาลที่ ๑ ใช้ตราบัวอุณาโลม รัชกาลที่ ๒ ใช้ตราครุฑ รัชกาลที่ ๓ ใช้ตราปราสาท รัชกาลที่ ๔ ใช้ตราพระมหามงกุฎ ส่วนตราอีกดวงหนึ่งซึ่งบอกนามประเทศ คงใช้ตราจักรเหมือนกันทั้งสี่รัชกาล เป็นเช่นนั้นมาจนในรัชกาลที่ ๔ ตั้งต้นทำหนังสือสัญญาทางพระราชไมตรีเปิดการค้าขายกับฝรั่งต่างประเทศเมื่อ พ.ศ.๒๓๙๘ การค้าขายในกรุงเทพฯ เจริญรวดเร็วเกินคาดหมายเช่นแต่ก่อนมา มีเรือกำปั่นฝรั่งเข้ามาค้าขายในกรุงเทพฯ เพียงราวปีละสิบสองลำ ตั้งแต่ทำหนังสือสัญญาแล้ว ก็มีเรือกำปั่นฝรั่งเข้ามาค้าขายถึงปีละสองร้อยลำ พวกพ่อค้าก็เอาเงินเหรียญดอลลาร์ซึ่งใช้ในการซื้อขายทางเมืองจีนเข้ามาซื้อสินค้า ราษฎรไทยไม่ยอมรับ ฝรั่งจึงต้องเอาเงินเหรียญดอลลาร์มาขอแลกเงินบาทจากรัฐบาล ก็เงินบาทพดด้วงนั้นช่างหลวงทำที่พระคลังมหาสมบัติ เตาหนึ่งทำได้ราววันละสองร้อยสี่สิบบาท เพราะทำแต่ด้วยเครื่องมือ มิได้ใช้เครื่องจักร 


    เตาหลวงมีสิบเตา ระดมกันทำเงินพดด้วงได้แต่วันละสองพันสี่ร้อยบาทเป็นอย่างมาก ไม่พอให้ฝรั่งแลกตามปรารถนา พวกกงสุลพากันร้องทุกข์ว่าเป็นการเสียประโยชน์ของพวกชาวต่างประเทศที่มาค้าขาย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระราชดำริจะเปลี่ยนรูปเงินตราสยามจากเงินพดด้วงเป็นเงินเหรียญ (เรียกในครั้งนั้นว่า "เงินแป") ให้ทำได้มากด้วยใช้เครื่องจักร 
    และในเมื่อกำลังสั่งเครื่องจักรนั้น โปรดฯ ให้ประกาศพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ราษฎรรับเงินเหรียญดอลลาร์จากชาวต่างประเทศ แล้วเอามาแลกเงินบาทที่พระคลังมหาสมบัติได้ โดยอัตราสามเหรียญดอลลาร์ต่อห้าบาท ราษฎรก็ยังไม่พอใจจะรับเงินดอลลาร์ จึงทรงพระราชดำริแก้ไขให้เอาตราพระมหามงกุฎและตราจักรซึ่งสำหรับตีเงินพดด้วงตีลงเป็นสำคัญในเหรียญดอลลาร์ให้ใช้ไปพลาง ราษฎรก็ยังมิใคร่พอใจจะใช้ ครั้นถึงปีวอก พ.ศ.๒๔๐๓ การสร้างโรงกระษาปณ์สำเร็จ ทำเงินตราสยามเป็นเหรียญ มีตราพระมหามงกุฎกับฉัตรตั้งสองข้างหมายรัชกาลด้านหนึ่ง ตราช้างเผือกอยู่ในวงจักรหมายประเทศด้านหนึ่ง เป็นเหรียญเงินสี่ขนาด คือ บาทหนึ่ง กึ่งบาท สลึงหนึ่ง และโปรดให้ทำเหรียญทองคำราคาเหรียญละสิบสลึง (ตรงกับตำลึงจีน) ด้วยอีกอย่างหนึ่ง เมื่อประกาศให้ใช้เงินตราอย่างเหรียญแล้ว เงินพดด้วงก็ยังโปรดอนุญาตให้ใช้อยู่ เป็นแต่ไม่ทำเพิ่มเติมขึ้น
    ต่อมาอีกสองปี ถึงปีจอ พ.ศ.๒๔๐๕ โปรดให้โรงกระษาปณ์ทำเหรียญดีบุกขึ้นเป็นเครื่องแลกใช้แทนเบี้ยหอย เหรียญดีบุกนั้นก็มีตราพระมหามงกุฎกับฉัตรและตราช้างในวงจักร ทำนองเดียวกับตราเงินเหรียญ ทำเป็นสองขนาด ขนาดใหญ่ให้เรียกว่า "อัฐ" ราคาแปดอันเฟื้อง เท่ากับอันละร้อยเบี้ย ขนาดเล็กให้เรียกว่า "โสฬส" ราคาสิบหกอันเฟื้อง เท่ากับอันละห้าสิบเบี้ย การใช้เบี้ยหอยก็เป็นอันเลิกแต่นั้นมา
    ถึงปีกุน พ.ศ.๒๔๐๖ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริให้สร้างเหรียญทองคำมีตราทำนองเดียวกับเงินเหรียญขึ้น สำหรับใช้เป็นเครื่องแลก สามขนาด ขนาดใหญ่ให้เรียกว่า "ทศ"  ราคาสิบอันต่อชั่งหนึ่ง คือ อันละแปดบาท (เท่าราคาทองปอนด์อังกฤษในสมัยนั้น) ขนาดกลางให้เรียกว่า "พิศ" ราคาอันละสี่บาท ขนาดเล็ก (คือ เหรียญทองที่ได้สร้างขึ้นแต่แรก) ให้เรียกว่า "พัดดึงส์" ราคาอันละสิบสลึงเท่ากับตำลึงจีน ดูเหมือนจะเป็นคราวเดียวกับที่ทรงสร้างเหรียญทองเป็นเครื่องแลกนี้เอง 
    พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริสร้าง (ธนบัตร) เครื่องแลกทำด้วยกระดาษ มีตัวอักษรพิมพ์ และประทับพระราชลัญจกรสามดวงเป็นสำคัญทุกใบขึ้นอีกอย่างหนึ่ง เรียกว่า "หมาย"  มีราคาต่างๆ กันตั้งแต่ใบละบาทหนึ่งเป็นลำดับลงมาจนใบละเฟื้องหนึ่ง แลทรงพระราชดำริสร้าง (เช็ค)  ใบ "พระราชทานเงินตรา" อีกอย่างหนึ่ง ขนาดแผ่นกระดาษใหญ่กว่า "หมาย" มีตัวอักษรพิมพ์แลประทับพระราชลัญจกรด้วยชาดสองดวง ด้วยครามดวงหนึ่ง เป็นลายดุนดวงหนึ่ง เป็นสำคัญทุกใบ มีราคาต่างกัน (ว่าตามตัวอย่างที่มีอยู่เมื่อแต่งหนังสือนี้) ตั้งแต่ "พระราชทานเงินตราชั่งสิบตำลึง" ลงมาจนใบละเจ็ดตำลึง (สันนิษฐานว่า เห็นจะมีต่อลงไปจนใบละตำลึงหนึ่งเป็นอย่างต่ำ) กระดาษทั้งสองอย่างนี้ใครได้ก็เห็นจะเอาไปขึ้นเงินที่พระคลังมหาสมบัติในไม่ช้า เพราะยังไม่แลเห็นประโยชน์ในการใช้กระดาษเป็นเครื่องแลก ในสมัยนั้นจึงมิได้แพร่หลาย
    ครั้นถึงปีฉลู พ.ศ.๒๔๐๘ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้โรงกระษาปณ์สร้างเหรียญทองแดง มีตราทำนองเดียวกับเหรียญดีบุก เป็นเครื่องแลกอีกสองขนาด มีราคาในระหว่างเหรียญเงินกับเหรียญดีบุก ขนาดใหญ่ให้เรียกว่า "ซีก" ราคาสองอันเฟื้อง ขนาดเล็กให้เรียกว่า "เสี้ยว" ราคาสี่อันเฟื้อง
    เงินตราสยามซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริสร้างขึ้นเป็นเหรียญนั้น ที่เป็นเงินและทองแดงใช้ได้ต่อมาดังพระราชประสงค์ แต่ที่เป็นทองคำและเป็นดีบุกเกิดเหตุขัดข้อง ด้วยเหรียญทองคำนั้นชาวเมืองชอบเอาไปเก็บเสียอย่างทองรูปพรรณ หรือมิฉะนั้นก็เอาไปทำเครื่องแต่งตัวเสีย ไม่ชอบใช้เป็นเครื่องแลกในการซื้อขาย เหรียญทองเป็นของมีน้อย ก็เลยหมดไป ส่วนเหรียญดีบุกนั้นเมื่อแรกสร้างขึ้นก็ได้ทรงพระราชปรารภว่า เป็นของอาจสึกหรอและทำปลอมง่าย จึงโปรดให้เจือทองแดงและดีบุกดำลงในเนื้อดีบุกที่ทำเหรียญให้แข็งผิดกับดีบุกสามัญ 


    ถึงกระนั้น พอใช้เหรียญดีบุกกันแพร่หลาย ไม่ช้าก็มีพวกจีนคิดทำปลอม ครั้นตรวจจับในกรุงเทพฯ แข็งแรง พวกผู้ร้ายก็หลบลงไปซ่อนทำทางหัวเมืองปักษ์ใต้ แล้วลอบส่งเข้ามาจำหน่ายในกรุงเทพฯ เกิดมีเหรียญดีบุกปลอมในท้องตลาดมากขึ้นทุกที จนราษฎรรังเกียจการที่จะรับใช้เหรียญดีบุก ด้วยไม่รู้จะเลือกว่าไหนเป็นของหลวง และไหนเป็นของปลอม จะกลับใช้เบี้ยหอยก็หาไม่ได้ ด้วยเลิกใช้มาเสียหลายปีแล้ว
    ต่อมาเมื่อราคาทองแดงและดีบุกสูงขึ้น มีผู้รู้ว่าราคาเหรียญทองแดงและเหรียญดีบุกที่ใช้กันที่ท้องตลาดในกรุงเทพฯ ต่ำกว่าราคาเนื้อทองแดงและดีบุกซึ่งซื้อขายกันในประเทศอื่น ก็พากันเอาเหรียญทองแดงและเหรียญดีบุกหลอมส่งไปขายเสียประเทศอื่นเป็นอันมาก เป็นเหตุให้เหรียญทองแดงและดีบุกมีใช้ในท้องตลาดน้อยลง ก็เกิดการใช้ปี้กระเบื้องกันขึ้นแพร่หลาย ปี้กระเบื้องนั้นเดิมเป็นแต่คะแนนสำหรับเล่นเบี้ยในโรงบ่อน จีนเจ้าของบ่อนคิดทำขึ้นเพื่อให้ใช้ขอลากบนเสื่อสะดวกกว่าเงินตรา เวลาคนไปเล่นเบี้ยให้เอาเงินแลกปี้มาเล่น ครั้นเลิกแล้วก็ให้คืนปี้แลกเอาเงินกลับไป เป็นประเพณีดังนี้ ใครเป็นนายอากรบ่อนเบี้ยตำบลไหน ก็คิดทำปี้มีเครื่องหมายของตนเป็นคะแนนราคาต่างๆ 
    ส่วนเงินเหรียญนั้น เมื่อได้สั่งเครื่องจักรจากเมืองอังกฤษตั้งเป็นโรงกระษาปณ์ขึ้นใหม่แล้ว ก็ได้เริ่มทำเงินเหรียญออกจำหน่ายเมื่อปีชวด พ.ศ.๒๔๑๙ เงินเหรียญที่ทำคราวนี้ทำเป็นสามขนาดคือ เหรียญบาท เหรียญสลึง เหรียญเฟื้อง พิกัดอัตราอย่างเดียวกับที่ได้ทำมาแต่ก่อน แต่ดวงตราที่ประจำเงินนั้น ด้านหนึ่งเป็นพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวครึ่งพระองค์ มีหนังสืออยู่รอบพระบรมรูปนั้นว่า "สมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว" ด้านหนึ่งมีตราอาร์มแผ่นดินซึ่งคิดผูกขึ้นในรัชกาลที่ ๕ มีหนังสือในพื้นเงินดวงตราว่า "กรุงสยาม รัชกาลที่ ๕" และบอก "ราคาหนึ่งบาท" เหรียญสลึงและเหรียญเฟื้องก็มีลักษณะอย่างเดียวกัน แต่ตราแผ่นดินนั้นเป็นอย่างย่อขนาดน้อยมีบอกราคาหนึ่งสลึงหนึ่งเฟื้อง เงินตราสามขนาดนี้ได้ใช้ต่อมา
    ในปีชวด พ.ศ.๒๔๑๙ นั้น โปรดให้สร้างเหรียญทองแดงซีกขึ้นอีกอย่างหนึ่ง ด้วยขุนพัฒน์ นายบ่อน ร้องว่า ทองแดงเสี้ยว อัฐ โสฬส เล็กบางให้ขอเกี่ยวไม่ถนัด ลักษณะทองแดงซีกก็เหมือนกับทองแดงเสี้ยว อัฐ โสฬส ที่ทำเมื่อปีกุน พ.ศ.๒๔๑๘ นั้น เหรียญทองแดงชนิดนี้จึงมีสี่ขนาดด้วยกัน ใช้อยู่อย่างนี้จนถึงปีกุน พ.ศ.๒๔๓๐ จึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเหรียญทองแดงเสี้ยว อัฐ โสฬส ขึ้นใหม่ พิกัดอัตราเท่ากับทองแดงเสี้ยว อัฐ โสฬส เดิม เป็นแต่เปลี่ยนตราใหม่ 
    คือ หน้าหนึ่ง ตรงกลางมีพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีอักษรโดยรอบว่า "จุฬาลงกรณ์ ป.ร. พระจุลจอมเกล้าเจ้ากรุงสยาม" อีกด้านหนึ่ง ตรงกลางมีรูปพระสยามเทวาธิราชถือพระแสงธารพระกรนั่งบนโล่วางบนแท่น โล่นั้นกั้นเป็นสามห้อง ห้องบนมีรูปช้างสามเศียร ด้านขวารูปช้างยืน ด้านซ้ายรูปกริชไขว้กันสองเล่ม มีอักษรบอกหนึ่งเสี้ยว หนึ่งอัฐ หนึ่งโสฬส ตามขนาด เหรียญทองแดงทั้งสามขนาดนี้คงใช้กันมาควบกับเหรียญทองแดงอย่างเก่าตลอดมา 
    จนถึงปีเถาะ พ.ศ.๒๔๓๔ เหรียญทองแดงสูญหายเบาบางลง จึงโปรดให้สร้างเหรียญทองแดง เสี้ยว อัฐ โสฬส เพิ่มเติมขึ้น ลักษณะอย่างเดียวกับเหรียญทองแดงเสี้ยว อัฐ โสฬสซึ่งสร้างเมื่อปีกุน พ.ศ.๒๔๓๐ แปลกแต่ตราพระบรมรูปและตราพระสยามเทวาธิราชไม่กลับกันอย่างของเดิม เบื้องบนและเบื้องล่างตรงไปทางเดียวกัน กับเปลี่ยนเลขประจำปีที่สร้างเท่านั้น
    ถึงปีจอ พ.ศ.๒๔๔๑ รัฐบาลคิดเห็นกันว่า ลักษณะการทำบัญชีเงินแต่เดิมนั้นมีช่องบอกว่า ชั่ง บาท อัฐ เมื่อพ้นชั่งขึ้นไปจึงนับเป็นเรือนร้อยเรือนพัน บัญชีมักไขว้กันไม่สะดวก จึงคิดทำเหรียญทองขาวขึ้นใช้เรียกว่า สตางค์ (ส่วนของร้อย) คือ ร้อยสตางค์ เป็นหนึ่งบาท เพื่อง่ายแก่การบัญชี มีช่องแต่เพียงบาทกับสตางค์เท่านั้น เงินจะมากน้อยเท่าใดก็ต่อตัวเลขขึ้นไปเป็นสิบเป็นร้อย ไม่ต้องหักต้องทอน เป็นการง่ายรวดเร็วกว่าของเดิม สตางค์ที่สร้างขึ้นคราวนี้สร้างด้วยทองขาวเป็นสี่ขนาด ด้านหนึ่งมีรูปช้างสามเศียร มีอักษรว่า "สยามราชอาณาจักร" เหมือนกันทั้งสี่ขนาด ขนาดที่หนึ่ง ด้านหนึ่งมีตัวอักษรว่า ยี่สิบสตางค์ และมีเลข ๒๐ ตัวใหญ่อยู่ตรงกลาง เป็นราคายี่สิบสตางค์ ใช้ห้าอันเป็นหนึ่งบาท ขนาดที่สองมีตัวอักษรว่าสิบสตางค์ มีเลข ๑๐ ตัวใหญ่อยู่กลาง ราคาสิบสตางค์ ใช้สิบอันเป็นหนึ่งบาท ขนาดที่  ๓ มีตัวอักษรว่าห้าสตางค์ มีเลข ๕ ตัวใหญ่อยู่กลาง ราคา ๕ สตางค์ ใช้ยี่สิบอันเป็นหนึ่งบาท ขนาดที่ ๔ มีตัวอักษรสองสตางค์กึ่ง มีเลข ๒ ๑/๒ ตัวใหญ่อยู่กลาง ราคาสองสตางค์กึ่ง ใช้สี่สิบอันเป็นหนึ่งบาท
    สตางค์ทองขาวที่สร้างขึ้นใหม่นี้ใช้รวมไปกับเหรียญทองแดงเสี้ยว อัฐ และโสฬสเก่าทั้งสองชนิด จนประกาศใช้พระราชบัญญัติมาตราทองคำ เมื่อ พ.ศ.๒๔๕๑ จึงเลิกใช้เปลี่ยนเป็นเหรียญกระษาปณ์ทองขาวและทองแดงสามชนิด คือ ทองขาวราคาสิบสตางค์ ทองขาวราคาห้าสตางค์ ทองแดงราคาหนึ่งสตางค์ ด้านหน้ามีอุณาโลม อักษรจารึกว่า "สยามรัฐ" และราคา ด้านหลังมีรูปจักรและศักราช เจาะวงตรงกลาง อย่างที่ใช้กันอยู่ทุกวันนี้.
--------------
อ้างอิง: วิกิซอร์ซ


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"