จากกลุ่ม 10 พรรคถึงด้ามขวานฯ บทบาท 'ธรรมนัส' ในรบ.พปชร.


เพิ่มเพื่อน    

          ฮึ่มๆ ก่อหวอดทวงโควตาเก้าอี้รัฐมนตรีมาได้ 3-4 วัน สำหรับกลุ่มก๊วนต่างๆ ในพรรคพลังประชารัฐ ที่ได้แก่ กลุ่มอีสานตอนบน ที่นำโดย เอกราช ช่างเหลา ส.ส.บัญชีรายชื่อ และกลุ่มด้ามขวานไทย ที่เป็นกลุ่ม ส.ส.ภาคใต้ พลังประชารัฐ ซึ่งนำโดย พ.อ.สุชาติ จันทร์โชติกุล อดีต สปช.เพื่อนร่วมรุ่น ตท.12 กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

                สุดท้ายเบื้องต้นหลังจากนี้ น่าจะสงบลงแล้วระดับหนึ่ง หลัง พล.อ.ประยุทธ์ นายกฯ ส่งอดีตผู้กองคนดัง “ธรรมนัส พรหมเผ่า" ส.ส.พะเยา แกนนำพรรคภาคเหนือไปเจรจา จนนำมาซึ่งการปิดห้องคุยกันระหว่าง ธรรมนัส-เอกราช-พ.อ.สุชาติ ที่โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ เซ็นทรัลลาด พร้าว เมื่อ 18 มิ.ย. และตามด้วยการแถลงข่าวของทั้ง 3 คน ที่ได้ข้อยุติว่าจะไม่ออกมาเรียกร้องเคลื่อนไหวขอโควตาเก้าอี้รัฐมนตรีอีก และพอใจหากคนของกลุ่มจะไปมีตำแหน่งการเมืองอื่นๆ เช่น กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี-เลขานุการรัฐมนตรี ที่จะมีการตั้งตามมาหลังคณะรัฐมนตรีเริ่มเข้าปฏิบัติหน้าที่

                “ธรรมนัส” ระบุว่า ได้รับมอบหมายจาก พล.อ.ประยุทธ์ ให้มาประสานพูดคุยกับกลุ่มภาคอีสานตอนบน และกลุ่มภาคใต้ และได้ข้อสรุปจากการหารือกับแกนนำกลุ่ม ส.ส.ภาคใต้และอีสานตอนบน ทั้ง 2 กลุ่มยืนยันว่า ไม่ได้เรียกร้องตำแหน่ง แต่เป็นห่วงว่าจะผลักดันการแก้ปัญหาให้กับประชาชนอย่างไร เรื่องนี้นายกฯ จะมอบหมายให้มีรัฐมนตรีมาช่วยกำกับดูแลงาน ส่วนตำแหน่งทางการเมืองอื่นๆ เช่น กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี หรือเลขาฯ รัฐมนตรี อยู่ที่นายกฯ พิจารณา โดยพรรคจะให้เอกราช และ พ.อ.สุชาติ เสนอชื่อบุคคลที่เหมาะสมให้ไปรับตำแหน่งทางการเมืองอื่นๆ มาให้พรรคต่อไป

                ด้าน พ.อ.สุชาติ กล่าวเช่นกันว่า นายกฯ ได้พูดคุยกับผม จนเป็นที่เข้าใจกันเรียบร้อยแล้ว ซึ่งที่ผ่านมาต้องยอมรับว่า พรรคค่อนข้างนิ่งกับกลุ่ม ส.ส.ภาคใต้ ทั้งที่ภาคใต้ 24 ปี พรรคอื่นจึงแจ้งเกิดได้ การเรียกร้องของเราไม่จำเป็นว่าต้องเป็นรัฐมนตรี แต่เพราะหลังจากกลุ่มภาคใต้ได้คุยเรื่องนี้กับหัวหน้าและเลขาธิการพรรคไปแล้ว แต่กลับไม่มีคำตอบใดๆ กลับมา

                สอดรับกับ เอกราช ที่ระบุว่า ทุกอย่างคลี่คลายแล้ว ปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ใช่เพราะน้อยใจ แต่ที่ทางพรรคเงียบในเรื่องนี้น่าจะเกิดจากติดขัดในระบบการบริหารจัดการภายในพรรค ที่เป็นพรรคใหม่มีผู้บริหารหน้าใหม่ ไม่เข้าใจการบริหารจัดการแบบมาตรฐานมานานแล้ว ทำให้พูดคุยเข้าใจกันน้อย

                ทั้งหมดคือบทสรุปจากการปิดห้องคุยกันร่วม 2 ชั่วโมง ระหว่าง 3 แกนนำ -3 ภาค “เหนือ-อีสาน-ใต้” ของพลังประชารัฐ “ธรรมนัส-เอกราช-พ.อ.สุชาติ” ซึ่งจริงๆ ทั้งหมดก็ล้วนคุ้นเคยกันอยู่แล้ว การพูดคุยกันเลยง่ายและจบเร็ว

                โดยเฉพาะ ธรรมนัสกับเอกราช ที่เป็น เพื่อน-หุ้นส่วนทางธุรกิจ กันมาหลายสิบปี เพราะทั้ง 2 คนร่วมกันทำธุรกิจหลายอย่างมาด้วยกัน เช่น การค้าโควตาสลากกินแบ่งรัฐบาล-อสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น จนมีการชักชวนกันให้มาทำงานการเมืองด้วยกันที่พรรคพลังประชารัฐ เมื่อทั้ง 3 คนล้วนคุ้นเคยกันอยู่แล้ว เพราะถือเป็นหัวหอกของพรรคในแต่ละภาค เลยทำให้การพูดคุยกัน พร้อมกับการต่อสายไปยังแกนนำพรรคและคนในทำเนียบรัฐบาล ตลอดการหารือ เลยดำเนินไปแบบคนกันเอง นั่งคุยกัน ไม่ได้มีบรรยากาศเคร่งเครียดอะไร จนได้ข้อสรุปว่า เพื่อให้พลเอกประยุทธ์ตั้ง ครม.ไปด้วยความสบายใจ ไม่อยากให้มีการก่อหวอด ต่อรอง กลุ่มอีสาน-กลุ่มภาคใต้ ก็จะไม่ออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องโควตารัฐมนตรีอีก ทุกอย่างก็เลยจบเร็วอย่างที่เห็น

                เคลียร์เร็ว จบง่าย ดังกล่าว เป็นอีกหนึ่งครั้งที่ทำให้หลายคนเห็นบทบาททางการเมืองของ ”ธรรมนัส” ในพรรคพลังประชารัฐและในการจัดตั้งรัฐบาล ประยุทธ์ 2/1 อันเป็นบทบาทที่ไม่ธรรมดายิ่ง กับการเล่นบท มือประสานทางการเมือง ให้กับพลังประชารัฐ และรัฐบาลประยุทธ์ 2/1

                เพราะก่อนหน้านี้ “ธรรมนัส” ก็มีบทบาทสำคัญในการติดต่อประสานพรรคการเมืองขนาดเล็ก 10 พรรค ที่มี ส.ส.พรรคละ 1 คน ที่เรียกกันว่า “กลุ่ม 10 พรรค” ให้เป็นกลุ่ม-พรรคการเมืองกลุ่มแรก ที่แถลงข่าวสนับสนุนการจัดตั้งรัฐบาลของพลังประชารัฐ ท่ามกลางกระแสข่าวว่า ข้อเสนอที่พลังประชารัฐที่ให้ธรรมนัสไปคุยกับกลุ่ม 10 พรรค เป็นข้อเสนอที่ทั้ง 10 พรรคได้รับแล้ว ยากจะปฏิเสธได้ และทั้งหมดต่างตอบรับทันที ไม่มีอิดออด

                และต่อมาเมื่อการจัดตั้งรัฐบาลเห็นชัดว่า เป็นรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ มี ส.ส.เกินกึ่งหนึ่งมาแค่ 3 เสียง ทำให้ทุกเสียงในปีกรัฐบาลสำคัญหมด เลยมีคนในกลุ่ม 10 พรรคออกมาตีรวน เรียกร้องเก้าอี้รัฐมนตรี แต่สุดท้ายพอ ธรรมนัส ที่บทบาทก็คือ คนคุมกลุ่ม 10 พรรคเข้าไปเคลียร์ โดยมีการสั่งเปิดห้องในโรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ คุยแบบที่ธรรมนัสคุยกับ เอกราช-พ.อ.สุชาติ เท่านั้นเอง กลุ่ม 10 พรรคก็เลิกพยศการเมืองโดยทันที 

                ท่ามกลางกระแสข่าวว่า สิ่งที่กลุ่ม 10 พรรค ได้รับการประสานมาบางอย่างก็คล้ายกับสิ่งที่กลุ่มภาคใต้-อีสานตอนบนได้รับ คือขอให้กลุ่ม 10 พรรคอย่าออกมาก่อหวอด ทวงเก้าอี้รัฐมนตรี เพราะมีดีลมาว่า ยังไงคนของกลุ่ม 10  พรรค ได้มีที่ทาง มีตำแหน่งในฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติแน่นอน

                ไม่ว่าจะเป็นข้อเสนอที่บอกว่า หลังโปรดเกล้าฯ รายชื่อ ครม.แล้ว พวกตำแหน่งทางการเมืองต่างๆ เช่น กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี-ที่ปรึกษารัฐมนตรี โดยเฉพาะที่เป็นไปได้มากสุดคือ “กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี” ที่แม้เป็นตำแหน่งลอย แต่ก็เป็นตำแหน่งที่ต้องให้ ครม.เห็นชอบ และมีเงินเดือนประจำให้หลักแสน-มีห้องทำงานในกระทรวง-ทำเนียบฯ สามารถเอาตำแหน่งไปพิมพ์นามบัตรให้ดูโก้ๆ ได้ จะมีโควตาให้กับกลุ่ม 10 พรรคแน่นอน โดยโควตาที่จะได้ แต่ละพรรคในกลุ่ม 10 พรรค ก็ไปตั้งคนของตัวเอง เช่น นายทุนพรรค-ผอ.พรรค-คนใกล้ชิดหัวหน้าพรรคในกลุ่ม 10 พรรคไปรับตำแหน่งต่อไป

                นอกจากนี้ยังมีออพชั่นพิเศษที่จะให้ เช่น โควตาบอร์ดรัฐวิสาหกิจ ซึ่งน่าจะให้ได้เช่นกัน เพราะรัฐวิสาหกิจมีหลายสิบแห่ง ก็จะมีการกันโควตามาให้คนของกลุ่ม 10 พรรค ประมาณพรรคละ 1 แห่ง แล้วกลุ่ม 10 พรรค ส่งคนของพรรคตัวเองไปนั่ง ซึ่งหากออพชั่นนี้มีการยื่นมาให้ กลุ่ม 10 พรรคก็อาจขอโควตาบอร์ดรัฐวิสาหกิจเกรดเออย่าง การท่าอากาศยานไทย-สำนักงานสลากกินแบ่งฯ เพื่อส่งคนของตัวเองไปนั่ง เป็นต้น

                ยังไม่หมดเท่านี้ ข่าวหลายกระแสอ้างว่า ยังมีออพชั่นที่จะทำให้พวก ส.ส.-หัวหน้าพรรคกลุ่ม 10 พรรค สามารถไปนั่งได้เอง ไม่ต้องส่งนอมินีไปนั่ง ก็คือเก้าอี้ "ประธานคณะกรรมาธิการสามัญ ประจำสภาฯ|       

                ซึ่งจริงอยู่ว่า ส.ส.แต่ละคนสามารถเป็น กมธ.สามัญได้โดยอัตโนมัติอยู่แล้ว โดยส่วนใหญ่ก็จะเป็นได้ไม่เกิน 2 คณะ แต่ว่าคนจะเป็นประธาน กมธ.สามัญได้ จะต้องมีการเจรจากันมาก่อนระหว่างวิปรัฐบาล-ฝ่ายค้าน โดยมีข่าวว่า พลังประชารัฐพร้อมจะเอาโควตาประธาน กมธ.ที่พรรคจะได้ ไปให้กับกลุ่ม 10 พรรค

                ท่ามกลางกระแสข่าวว่า เก้าอี้ประธาน กมธ. ที่กลุ่ม 10 พรรคเล็งๆ ไว้ น่าจะได้ประมาณ 2 เก้าอี้เป็นอย่างน้อย และมีการคุยกันไว้แล้วคร่าวๆ กับทีมดีลของพลังประชารัฐ นั่นก็คือ ปธ.กมธ.กิจการตำรวจฯ ที่อาจดัน พล.ต.อ.ยงยุทธ เทพจำนงค์ หน.พรรคประชานิยมและเก้าอี้ ปธ.กมธ.ด้านศาสนาฯ ที่ข่าวว่า สมเกียรติ ศรลัมพ์ จากพรรคประชาภิวัฒน์ ศิษย์เอกวัดธรรมกายก็เล็งไว้เช่นกัน

                โดยดีลทั้งหมดระหว่างกลุ่ม 10 พรรค กับพรรคพลังประชารัฐ คนในกลุ่ม 10 พรรค บางส่วนเปิดเผยว่า เป็นการประสานงานกันระหว่าง ธรรมนัส พรหมเผ่า ที่ดีลผ่าน พ.ต.อ.รวมนคร ทับทิมธงไชย ปธ.ยุทธศาสตร์ พรรคประชานิยม ซึ่งแม้ไม่ได้เป็น ส.ส. แต่ก็มีบทบาทเป็น ”ผู้จัดการกลุ่ม 10 พรรค“ เพราะเป็นคนดูแลทุกเรื่องของกลุ่ม ตั้งแต่ จ่ายค่าอาหารเวลากลุ่ม 10 พรรคนัดกินข้าวกัน จนถึงการยื่นรายชื่อคนของกลุ่ม 10 พรรคที่จะให้ไปรับตำแหน่งต่างๆ ในรัฐบาลพลังประชารัฐ ให้กับ ธรรมนัส

                ดังนั้นอย่าได้แปลกใจ เหตุไฉนกลุ่ม 10 พรรค ขยับแต่ละครั้ง ธรรมนัสต้องไปด้วยทุกงาน เว้นแต่มีภารกิจสำคัญ ก็จะไปไม่ได้

                บทบาททางการเมืองข้างต้นของธรรมนัส ในพลังประชารัฐและในรัฐบาลประยุทธ์ 2/1 ต่อจากนี้ ซึ่งมีข่าวว่าเจ้าตัวจะนำโควตารัฐมนตรีที่กลุ่มภาคเหนือได้รับไปให้น้องชายไปเป็นรัฐมนตรีแทน เป็นบทบาทที่เห็นชัดว่า หลังจากนี้จะทำหน้าที่เสมือนนักแก้ปัญหา-นักเจรจาทางการเมือง ให้กับพลังประชารัฐและรัฐบาลประยุทธ์ อันเป็นบทบาทที่ไม่ธรรมดาแน่นอน.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"