ศาลอุทธรณ์ยกคำร้อง 4 จำเลยคดีแชร์ยูฟัน ขอยื่นศาล รธน.วินิจฉัยเรื่องประกันตัว


เพิ่มเพื่อน    

20 มิ.ย.62 - ที่ห้องพิจารณา 704 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลนัดอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีแชร์ลูกโซ์ยูฟันสโตร์ รวม 7 สำนวน ในคดีหมายเลขดำที่ อ.2279/2558,อ.2836/2558, อ.1246/2559, อ.2081/2559, อ.2383/2559, อ.2915/2559 และ อ.3934/2559 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 9 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายอภิชณัฏฐ์ แสนกล้า แม่ข่ายยูฟันสโตร์, นายเควิน ลัย (Kevin Lai) สัญชาติมาเลเซีย อดีต ผจก.ธนาคาร UDBP, นายหยาง หยวน เฉา (Yang  Yuan Zhao) สัญชาติจีน อดีต รอง ผจก.ธนาคารUDBP ซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจของ บริษัท UDBP แมนเนจเมนท์ จำกัด (ประเทศไทย) ที่เป็นบริษัทที่ปรึกษาการเงินของ บจก.ยูฟันสโตร์, นายนที ธีระโรจนพงษ์ นักเคลื่อนไหวความหลากหลายทางเพศ, เครือข่ายแชร์ลูกโซ่ยูฟัน สโตร์ ที่มีทั้งพนักงานบริษัทเอกชน-ผู้ประกอบธุรกิจส่วนตัว และบริษัท ยูเทรดดิ้ง จำกัด บริษัทเครือข่ายยูฟันฯ เป็นจำเลยที่ 1-43

ในความผิด 5 ข้อหา ฐานร่วมกันมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ พ.ศ.2556 ,พ.ร.บ.ขายตรงและการตลาดแบบขายตรง พ.ศ.2545, ร่วมกันกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน ตาม พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527, ร่วมกันฉ้อโกงประชาชน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341, 343 และร่วมกันนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550

กรณีเมื่อวันที่ 25 ต.ค. 2556 – 18 มิ.ย. 2558 บจก.ยูฟัน สโตร์ ที่มีชาวมาเลเซียเป็นผู้ก่อตั้งและผู้ถือหุ้นที่ 1 มี พล.ต.อธิวัฒน์ สุ่นปาน และคนไทยออีกคนถือหุ้นลำดับถัดมา ขณะที่การดำเนินธุรกิจของยูฟันฯ นั้นก็ได้ชักชวนบุคคลเข้าร่วมในเครือข่ายในการประกอบธุรกิจ น้ำผลไม้-สมุนไพร-เครื่องสำอางผิวหน้า โดยทำให้หลงเชื่อว่าจะให้ผลประโยชน์ตอบแทนจากการหาผู้เข้าร่วมเครือข่าย แต่ภายหลังได้หลอกลวงขายหน่วยลงทุนทางอิเล็กทรอนิกส์จำหน่ายสินค้าผ่านระบบออนไลน์ ที่เรียกว่ายูโทเคน (U–TOKEN) โดยอ้างว่าได้รับความนิยมและยอมรับในประเทศออสเตรเลีย-มาเลเซีย ซึ่งจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยอัยการโจทก์ขอให้ศาลสั่งจำเลยทั้งหมดร่วมกันคืนเงินชดใช้แก่ผู้เสียหาย 2,451 คน รวมเป็นเงิน 356,211,209 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีด้วย

คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาเมื่อวันที่ 22 มี.ค. 2560 ให้จำคุกจำเลยที่ 1, 2, 4, 6, 11, 12, 13 คนละ 12,265 ปี จำคุกจำเลยที่ 7 เป็นเวลา 12,267 ปี แต่ตามกฎหมายให้จำคุกคนละ 50 ปี พิพากษาจำคุกจำเลยที่ 5, 15, 16, 22, 23, 29, 31, 36, 37, 40 คนละ 12,255 ปี และจำคุกจำเลยที่ 17, 19 และนายนที ธีระโรจนพงษ์ จำเลยที่ 27 คนละ12,257 ปี แต่ตามกฎหมายให้จำคุก 20 ปี และให้ปรับจำเลยที่ 42 บริษัท ยูเทรดดิ้ง จำกัด ซึ่งเป็นนิติบุคคลเป็นเงิน 1,225,700,000 บาท โดยให้ร่วมกันคืนเงินที่กู้ยืมและฉ้อโกงไปรวม 356,211,209 บาท แก่ผู้เสียหาย 2,451 คน พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ส่วนจำเลยที่เหลืออีก 21 คน พยานหลักฐานยังไม่เพียงพอ จึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย พิพากษายกฟ้อง

วันนี้ศาลเบิกตัวจำเลย 22 รายที่ต้องคำพิพากษาจำคุกสูงสุด 20-50 ปี จากเรือนจำมาฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ และก่อนหน้านี้ได้ออกหมายเรียกแจ้งให้จำเลย 21 ราย ที่ศาลยกฟ้องไปมาร่วมฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ซึ่งวันนี้ก็มีกลุ่มญาติของจำเลยมาร่วมติดตามคำพิพากษาและให้กำลังใจจำเลยอีกกว่า 30 คน จนเกือบเต็มห้องพิจารณาคดี

แต่เมื่อถึงเวลา 11.30 น. องค์คณะผู้พิพากษาฯ ได้แจ้งให้จำเลยที่มาศาลในวันนี้ทราบว่า คำพิพากษาที่ศาลอุทธรณ์ส่งมาในวันนี้ เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 17, 36, 37, 40 ได้ยื่นอุทธรณ์ขอให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเกี่ยวกับข้อกฎหมายที่น่าจะขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ โดยก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 25 ต.ค. 2560 และ 20 พ.ย. 2560  น.ส.อลิสา หรืออลิส จำเลยที่ 17, นายวัจน์ณฐภัทร์ จำเลยที่ 36, นายบุญธรรม จำเลยที่ 37, นายรัชชาพงษ์ จำเลยที่ 40 ซึ่งปัจจุบันถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ ได้ยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำสั่งที่ศาลชั้นต้นไม่รับคำร้องของจำเลยทั้ง 4 ที่ขอให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญฯ ปี 2560 มาตรา 212 วรรคหนึ่ง (บัญญัติว่าหากศาลเห็นเองหรือคู่ความโต้แย้งว่าบทบัญญัติกฎหมายที่ใช้บังคับแก่คดีใด ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแล้วยังไม่มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในส่วนนั้น ก็ให้ส่งเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยฯ) วินิจฉัยกรณีที่ศาลใช้ดุลยพินิจไม่ให้ประกันตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยได้เมื่อมีเหตุอันควรเชื่ออย่างหนึ่งอย่างใดตามที่บัญญัติไว้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ป.วิอาญา) มาตรา 108/1บทบัญญัติของกฎหมายนั้นขัดต่อสิทธิที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยหลักการให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าในคดีอาญาผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด จนกว่าคดีจะมีคำพิพากษา โดยคำขอในคดีอาญาต้องได้รับการพิจารณาฯ โดยการไม่ให้ประกันต้องเป็นไปตามกฎหมายบัญญัติ

ศาลได้อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในส่วนนี้ ที่ศาลอุทธรณ์ตรวจประชุมปรึกษาหาหรือกันแล้วเห็นว่า ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 212 วรรคหนึ่ง แสดงให้เห็นว่ากรณีที่จะเสนอความเห็นส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยนั้น ต้องเป็นกรณีที่ศาลเห็นเอง หรือคู่ความในคดีนั้นโต้แย้งเกี่ยวกับกฎหมายที่นำมาใช้บังคับในการพิจารณาพิพากษาคดี แต่กรณีคำร้องของจำเลยทั้งสี่นั้น เป็นเรื่องของการโต้แย้งในกฎหมายเกี่ยวกับการให้ประกันตัวระหว่างพิจารณาคดี จึงไม่ใช่กรณีที่จะเข้าตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญดังกล่าวที่จะให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย จึงไม่มีเหตุจำเป็นที่จะรับคำร้องของจำเลยทั้งสี่ไว้เสนอศาลรัฐธรรมนูญ โดยเหตุแห่งการพิจารณาให้หรือไม่ให้ประกันตัวผู้ต้องหาหรือจำเลย ก็เป็นไปตามที่ ป.วิอาญา บัญญัติไว้ จึงให้ยกอุทธรณ์ในส่วนนี้ของจำเลยทั้งสี่

ส่วนคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่มีเนื้อหาหลักเกี่ยวกับพฤติการณ์ของจำเลยทั้งหมดในคดีนี้ ศาลได้แจ้งว่ายังอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ว่าจะมีคำพิพากษาอย่างไรต่อไป จึงยังไม่มีการอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในส่วนเนื้อหาหลักในวันนี้


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"