นับถอยหลังพรรคการเมืองยื่นค่าใช้จ่ายเลือกตั้ง เส้นตายลุ้นรอด"โทษคุก-ปรับ-เพิกถอน"


เพิ่มเพื่อน    

 

            ดูเหมือนว่า ... หลังการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เป็นการทั่วไป วันที่ 24 มี.ค.2562 พรรคการเมืองทุกพรรคที่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งในครั้งนี้จะลืมอะไรไปหรือไม่?  หรือไม่ลืม แต่จะทำได้เสร็จทันหรือไม่? แม้วันนี้จะได้สภาผู้แทนราษฎรและนายกรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการแล้ว แต่สิ่งที่พรรคการเมืองต้องสะสางหลังเลือกตั้งยังคงอยู่ นั่นคือ “การยื่นบัญชีรายรับและรายจ่ายในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของผู้สมัครและหัวหน้าพรรคการเมือง” ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้ออกประกาศตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. 2561 มาตรา 67 ที่กำหนดให้ต้องยื่นภายใน 90 วัน นับจากวันเลือกตั้ง

                เรื่องนี้สำนักงาน กกต.ได้ออกเอกสารข่าวไว้เมื่อวันที่ 12 มิ.ย.2562 ให้ผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.แต่ละคน และหัวหน้าพรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ต้องยื่นบัญชีรายรับและรายจ่ายตามแบบที่ กกต.กำหนด ระยะเวลา 90 วัน นับจากวันเลือกตั้ง จะครบกำหนดภายในวันเสาร์ที่ 22 มิ.ย.2562 แต่เนื่องจากเป็นวันหยุดทำการ จึงนับวันจันทร์ที่ 24 มิ.ย.2562 ซึ่งเป็นวันทำการแรกต่อจากวันหยุดทำการ เป็นวันสุดท้ายของระยะเวลาการยื่นบัญชีรายรับและรายจ่าย โดยผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขต ให้ยื่นต่อสำนักงาน กกต.ประจำจังหวัดที่ลงสมัครรับเลือกตั้ง ส่วนหัวหน้าพรรคที่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ให้ยื่นต่อสำนักกิจการพรรคการเมือง ชั้น 6 สำนักงาน กกต.

                ทั้งนี้ ได้ยกเว้นผู้สมัครที่ถูกตัดสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. ไม่ต้องยื่นบัญชีดังกล่าว และ หากผู้สมัคร ส.ส.แต่ละคน และหัวหน้าพรรคการเมืองไม่ยื่นบัญชีรายรับและรายจ่ายนี้ภายในระยะเวลาที่กำหนด หรือจงใจยื่นเอกสารหรือหลักฐานไม่ถูกต้องครบถ้วน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นมีกำหนด 5 ปี ตามมาตรา 155 ของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. 2561 นอกจากนี้หากยื่นเป็นเท็จ ผู้สมัครหรือหัวหน้าพรรคต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1-5 ปี และปรับตั้งแต่ 20,000-100,000 บาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นมีกำหนด 10 ปี

                สำหรับ “ค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้ง” ตามระเบียบ กกต. ว่าด้วยแบบบัญชีรายรับและรายจ่ายค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้ง ส.ส. 2561 หมายความว่า “ค่าใช้จ่ายที่ใช้จ่ายจริงในการเลือกตั้งของผู้สมัครและพรรคการเมือง ทั้งนี้ ให้รวมถึงบรรดาเงินหรือทรัพย์สินอื่นใดที่บุคคลใดๆ จ่ายหรือรับว่าจะจ่ายแทน หรือนำมาให้ใช้โดยไม่คิดค่าตอบแทนเพื่อประโยชน์ในการหาเสียงเลือกตั้ง โดยผู้สมัครหรือพรรคการเมืองนั้นยินยอมหรือไม่คัดค้าน ในกรณีที่นำทรัพย์สินมาให้ใช้ ให้คำนวณตามอัตราค่าเช่าหรือค่าตอบแทนตามปกติในท้องที่นั้น”

                มีรายงานจากแหล่งข่าวที่พบเอกสารของสำนักงาน กกต.  ที่ใช้เช็กรายชื่อพรรคการเมืองที่ได้ยื่นบัญชีรายรับและรายจ่ายในการเลือกตั้ง ส.ส. เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 20 มิ.ย.2562 ซึ่งปรากฏพรรคการเมืองที่ยื่นบัญชีเรียบร้อยแล้วเพียง 14 พรรค ได้แก่ พรรคกรีน, พรรคเสรีรวมไทย, พรรคกลาง, พรรคคนธรรมดาแห่งประเทศไทย, พรรคไทยรุ่งเรือง, พรรคประชาธิปไตยเพื่อประชาชน, พรรคชาติไทยพัฒนา, พรรคประชาภิวัฒน์, พรรคพลเมืองไทย, พรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทย,  พรรคพลังไทยดี, พรรคสยามพัฒนา, พรรคพลังรัก และพรรครวมใจไทย

                เท่ากับว่าข้อมูล ณ วันที่ 20 มิ.ย.2562 ยังเหลืออีกหลายพรรคการเมือง รวมถึงพรรคการเมืองใหญ่ชื่อดังที่ได้ ส.ส.เข้าสภาจำนวนมาก ก็ยังไม่ได้ยื่นบัญชีค่าใช้จ่ายนี้ต่อ กกต.เลย ซึ่งอาจจะมีการยื่นในวันที่ 21 มิ.ย.2562 เพิ่มเติมแล้ว หากยังไม่ยื่นวันที่ 21 มิ.ย. ไม่นับวันหยุดทำการ ก็จะเหลือเพียงวันจันทร์ที่ 24 มิ.ย.นี้เพียงวันเดียวเท่านั้นที่ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จ มิฉะนั้นจะมีโทษถึงจำคุก ปรับ เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง กันเลยทีเดียว!

                ยิ่งพรรคการเมืองใหญ่ค่าใช้จ่ายเยอะ การทำบัญชีก็ยิ่งยาก มีข้อมูลมากและซับซ้อน นอกจากเรื่องหุ้นสื่อ ส.ส. ที่กำลังวุ่นกันอยู่ขณะนี้แล้ว เรื่องบัญชีค่าใช้จ่ายเลือกตั้งอาจจะเป็นเรื่องวุ่นต่อไปได้ ถ้าคนใด พรรคใดทำให้แล้วเสร็จไม่ทันหรือเป็นเท็จ เป็นหนึ่งในเรื่องเตือนใจว่าเล่นการเมืองไม่ง่าย เสี่ยงวอดวายจริงๆ.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"