ประยุทธ์ชี้ก.ค. ปชต.มาเต็มใบ โพลยี้แย่งเก้าอี้


เพิ่มเพื่อน    


    โพลตอกนักการเมืองมีแต่เรื่องผลประโยชน์ มัวแต่แย่งเก้าอี้ รมต. ยี้โผ ครม.บางตำแหน่งไม่เหมาะสมจัดสรรตามโควตา มีแต่หน้าเดิมๆ ชี้จุดแข็ง "ประยุทธ์" เป็นผู้นำมีฐานอำนาจเก่า  จุดอ่อนไม่เป็นที่ยอมรับ แนะทำตามนโยบายหาเสียง ชทพ.ทวงเก้าอี้สองวันติด รอคำตอบ พปชร.พร้อมงัดสูตรคณิตศาสตร์คำนวณ 3 ที่นั่ง ส.ส.เท่ากับ 1 รมช.  "ธนกร" ป้อง "อุตตม" ไร้มลทินคดีปล่อยกู้ ธ.กรุงไทย ศาลฎีกาตัดสินไปแล้วไม่มีความผิด
    เมื่อวันอาทิตย์ นิด้าโพลเปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นเรื่อง “3 เดือนหลังการเลือกตั้งทั่วไป” ระหว่างวันที่ 20-21 มิ.ย.62 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไปทั่วประเทศ 1,277 ตัวอย่าง พบว่า ส่วนใหญ่ร้อยละ 46.44 ระบุว่า ส.ส.ส่วนใหญ่มัวแต่ต่อสู้กันเพื่อแย่งตำแหน่งนายกรัฐมนตรี/รัฐมนตรี, ร้อยละ 35.79 ระบุว่าหลังการเลือกตั้ง ส.ส.หายหน้าไปเลย, ร้อยละ 34.30 ระบุว่า ส.ส.ส่วนใหญ่แสดงบทบาททางการเมืองแบบเดิมๆ เช่น ด่ากันไปมา และชอบอ้างประชาชน, ร้อยละ 31.95 ระบุว่า ส.ส.จากพรรคที่จะเป็นรัฐบาลเอาแต่จับกลุ่มต่อรองตำแหน่งทางการเมือง, ร้อยละ 16.29 ระบุว่า ส.ส.จากพรรคที่จะเป็นฝ่ายค้าน ใช้เป็นแต่วาทกรรมเพื่อล้มรัฐบาล
    สำหรับความคิดเห็นของประชาชนต่อ ส.ส.ที่ไม่มีตำแหน่งในรัฐบาล ว่าจะสามารถผลักดันนโยบายและทำงานเพื่อประชาชนได้ พบว่า ส่วนใหญ่ร้อยละ 52.70 ระบุว่าได้ เพราะจะสามารถทำงานตามนโยบายที่สัญญาไว้กับประชาชน และเป็นปากเป็นเสียงให้กับประชาชน, ร้อยละ 35.00 ระบุไม่ได้ เพราะไม่สามารถทำตามนโยบายที่สัญญาไว้กับประชาชน และในขณะที่ ส.ส.บางคนไม่มีความรู้ความสามารถในการผลักดันนโยบาย
    ด้านสวนดุสิตโพล เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นเรื่อง “โผ ครม.ประยุทธ์ 2 ในสายตาประชาชน” จากประชาชนทั่วประเทศ จำนวน 1,254 คน ระหว่างวันที่ 19-22 มิ.ย.62 พบว่า เมื่อถามว่าคิดอย่างไรกับโผ ครม.ที่เป็นกระแสข่าว ณ วันนี้ ร้อยละ 32.81 ปัญหาเยอะ มีแต่เรื่องผลประโยชน์การต่อรองแย่งเก้าอี้กันวุ่นวาย, ร้อยละ 28.13 บางตำแหน่งไม่เหมาะสม ควรตรวจสอบคุณสมบัติประวัติให้รัดกุม, ร้อยละ 24.22 เป็นการจัดสรรตามโควตา มีแต่หน้าเดิมๆ ระบบพวกพ้อง เครือญาติ, ร้อยละ 15.63 ครม.ประยุทธ์ 2 คลอดช้า ใช้เวลานานเกินไป, ร้อยละ 13.67 อยากให้เปิดโอกาสให้คนดี คนมีฝีมือเข้ามาทำงาน
     เมื่อถามถึง 10 รายชื่อ ครม.ที่ถูกใจประชาชน พบว่า อันดับ 1 ร้อยละ 42.12 นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ ฝ่ายเศรษฐกิจ, อันดับ 2 ร้อยละ 37.58 นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ฝ่ายกฎหมาย,  อันดับ 3 ร้อยละ 30.61 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และ รมว.กลาโหม, อันดับ 4 ร้อยละ 26.82 นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี, อันดับ 5 ร้อยละ 24.55 พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย, อันดับ 6 ร้อยละ 20 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกฯ และ รมว.พาณิชย์,  อันดับ 7 ร้อยละ 19.09 ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล รมว.การต่างประเทศ, อันดับ 8 ร้อยละ 15.30 คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รมช.ศึกษาธิการ, อันดับ 9 ร้อยละ 12.12 นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม และอันดับ 10 ร้อยละ 11.21 นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.พลังงาน
     ถามถึงจุดแข็งของโผ ครม. อันดับ 1 ร้อยละ 44.75 พล.อ.ประยุทธ์ เป็นผู้นำ มีฐานอำนาจเก่า,  ร้อยละ 29.83 มาจากการเลือกตั้ง มีเสียงสนับสนุนจากหลายฝ่าย, ร้อยละ 27.62 ส่วนใหญ่เป็นนักการเมืองเก่า มีประสบการณ์ น่าจะทำงานร่วมกันได้ ส่วนจุดอ่อน ร้อยละ 51.41 ไม่เป็นที่ยอมรับอยากได้คนที่มีความรู้ความสามารถ เหมาะสมจริงๆ, ร้อยละ 39.79 มีแต่เรื่องผลประโยชน์มากเกินไป ภาพลักษณ์ไม่ดี,   ร้อยละ 21.13 ไม่มีเสถียรภาพ มีเสียงแตกภายในพรรค
    เมื่อถามว่า อยากให้ พล.อ.ประยุทธ์ดำเนินการบริหาร ครม.เหล่านี้อย่างไร ร้อยละ 37.19 ทำตามนโยบายที่หาเสียงไว้ ฟังเสียงของประชาชน, ร้อยละ 30.17 บริหารงานอย่างโปร่งใส เปิดโอกาสให้ตรวจสอบได้, ร้อยละ 29.34 ดูแลการทำงานของทุกกระทรวงให้มีผลงานเป็นรูปธรรม, ร้อยละ 23.14 ให้ทุกกระทรวงร่วมมือกันทำงาน พัฒนาบ้านเมืองให้เจริญก้าวหน้า, ร้อยละ 15.29 ประเมินการทำงานเป็นระยะ มีการปรับเปลี่ยนให้เหมาะสม
    นายนพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล เปิดเผยผลสำรวจเรื่อง สิ่งที่ประชาชนอยากเห็น กรณีศึกษาประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ 1,654 ตัวอย่าง ระหว่าง 15-22 มิ.ย. พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 57.0 ระบุอยากเห็นบ้านเมืองสงบสุข ไม่วุ่นวาย รองลงมาคือร้อยละ 49.4 อยากเห็นคนดี ปกครองบ้านเมือง, ร้อยละ 41.0 อยากเห็นคนไทยมีงานทำ ทักษะดี รายได้ดี, ร้อยละ 36.5 อยากเห็นคนไทยมีวินัย, ร้อยละ 34.8 อยากเห็นคนไทยมีทัศนคติที่ดีต่อกัน, ร้อยละ 34.8 เช่นกันอยากเห็นคนไทยรักกัน, ร้อยละ 32.9 อยากเห็นคนไทยช่วยเหลือเกื้อกูลมีน้ำใจต่อกัน, ร้อยละ 31.8 อยากเห็นคนไทย ปกป้องผลประโยชน์ชาติ
    เมื่อถามถึงสิ่งที่อยากเห็นถ้าบ้านเมืองวุ่นวายเดินต่อไปไม่ได้ พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 87.0 ระบุยุบสภา เลือกตั้งใหม่ ในขณะที่ร้อยละ 7.7 ระบุยึดอำนาจ และร้อยละ 5.3 ระบุอื่นๆ เช่น นายกรัฐมนตรีลาออก เปลี่ยนรัฐบาล เป็นต้น
    เมื่อวันอาทิตย์ ที่โรงแรมดิแอทธินี กรุงเทพฯ  พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 34 ตอนหนึ่งว่า   ในเรื่องเดินหน้าประชาธิปไตยเขาก็ไม่ได้ว่าอะไร เขาก็จะสนับสนุน เขาเพียงแค่สอบถามว่าจะเรียบร้อยเมื่อไร ตนได้บอกว่าไม่เกินเดือนหน้านี้หรอกทุกอย่างก็เรียบร้อย เขาไม่ได้ติดใจสงสัยอะไร ดังนั้นเป็นสิ่งที่เราน่าจะสร้างความเข้าใจกันเองให้ได้ 
    นายธนกร วังบุญคงชนะ รองโฆษกพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กล่าวถึงกรณีที่นายพิชัย นริพทะพันธุ์ อดีตคณะทำงานด้านเศรษฐกิจพรรคไทยรักษาชาติ เรียกร้องให้นายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพปชร. เคลียร์ประเด็นปัญหาคดีปล่อยกู้ธนาคารกรุงไทยในสมัยที่เป็นคณะกรรมการบริหารของธนาคารกรุงไทยว่า เรื่องดังกล่าวศาลฎีกาได้ตัดสินจบไปแล้ว นายอุตตมไม่ผิด และไม่ได้ถูกฟ้องดำเนินคดี เรื่องนี้ได้ผ่านกระบวนการตรวจสอบอย่างละเอียด ทั้งจากแบงก์ชาติ คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) และ ป.ป.ช. ซึ่งได้สรุปเป็นที่เรียบร้อยตั้งแต่ต้นแล้วว่านายอุตตมไม่ได้มีส่วนร่วมอนุมัติ และไม่ได้มีส่วนร่วมกระทำความผิดดังกล่าว จึงเป็นเหตุให้นายอุตตมไม่ได้ถูกฟ้องดำเนินคดี และไม่ได้ถูกพิพากษาโดยศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองด้วย รวมทั้งไม่ได้ถูกกันเป็นพยานตามที่นายพิชัยกล่าวหา
    "นายพิชัยรู้เรื่องทั้งหมดดีอยู่แล้วว่าใครกันแน่ที่เป็นตัวการใหญ่ตัวจริงที่ได้กระทำผิดเรื่องเงินกู้กรุงไทย แต่นายพิชัยกลับเลือกที่จะพูดไม่หมด พูดแบบตัดต่อเพื่อดิสเครดิตนายอุตตม หวังตีกินไปวันๆ นายพิชัยน่าจะเอาเวลาและสมองไปช่วยพรรคพวกจะดีกว่า ซึ่งทราบว่าถูกอัยการสูงสุดฟ้องอยู่หลายคดี และบางคดีอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของศาลฎีกาใช่หรือไม่ ซึ่งสร้างความเสียหายให้กับธนาคารกรุงไทยอย่างมาก ไม่เข้าใจนายพิชัยว่าทำไมออกมาพูดอยู่ตลอดเวลา ทั้งที่สุดท้ายแล้วพรรคพวกของนายพิชัยนั่นแหละที่จะยิ่งเสียหาย หรือหวังดีแต่ประสงค์ร้ายหรือไม่ ยืนยันว่านายอุตตมไม่ได้มีมลทินอะไรตามที่นายพิชัยกล่าวหา" นายธนกรกล่าว 
    น.ส.เยาวภา บุรพลชัย โฆษกพรรคขาติพัฒนา(ชพท.) กล่าวถึงตำแหน่งรัฐมนตรีในส่วนของพรรค ชทพ.ว่า พรรค ชทพ.ก็รอคำตอบอยู่ เราไม่ได้ไปเรียกร้องหรือสร้างเงื่อนไขใดๆ ที่จะไปกระทบการจัดตั้งรัฐบาล เราสนับสนุนท่านนายกฯ พล.อ.ประยุทธ์ให้มาเป็นผู้นำของพวกเราในการเข้ามาแก้ไขปัญหาบ้านเมือง การเมืองถ้ายึดถือการเคารพกฎกติกา ข้อตกลง และสปิริตร่วมกันแบบกีฬา ก็จะเรียบร้อย เรามีข้อตกลงอะไรกัน ก็อยากให้ช่วยกันรักษา เพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีว่าการเมืองไทยเชื่อถือได้ จะส่งเสริมความเชื่อมั่นให้กับประเทศได้
    "ตามตัวเลขคณิตศาสตร์ทางการเมืองของการจัดตั้งรัฐบาล จะเห็นได้ว่ารัฐบาลมี 254 เสียง ประกอบด้วย ครม. 36 คน เท่ากับค่าเฉลี่ยที่ประมาณ 7 เสียงต่อ 1 รมต. ตามที่ปรากฏเป็นข่าว พรรคประชาธิปัตย์มี 53 เสียง และพรรคภูมิใจไทยมี 51 เสียง เมื่อหารด้วย 7 ก็ได้ไปพรรคละ 7 รมต. ก็ถูกต้องเหมาะสม แต่เมื่อพิจารณาในส่วนของ ชทพ. ก็ควรที่จะต้องได้รับการพิจารณาให้ได้รับ 1 ตำแหน่งรัฐมนตรี เพื่อความทัดเทียมและเป็นธรรม ประกอบกับข้อตกลงที่มีต่อกันด้วยแล้วยิ่งมีความเชื่อมั่นว่า ชทพ.จะได้รับตำแหน่ง 1 รมต. ตามที่ผู้ใหญ่ของ 2 พรรคได้พูดคุยกันไว้ ขณะนี้ชทพ.และสมาชิกทุกคนก็รอคำตอบจาก พปชร. เราพร้อมที่จะเข้าไปร่วมทำงานผลักดันนโยบายตามที่หาเสียงไว้ให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชน เหมือนนักกีฬาวอร์มอัพไว้แล้ว พร้อมลงสนามรอกรรมการเป่านกหวีด คนดูรอชมอยู่" น.ส.เยาวภากล่าว. 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"