พปชร.แค้น!ยื่นสอบ33ฝ่ายค้าน


เพิ่มเพื่อน    

  “จรุงวิทย์” เผย กกต.เร่งพิจารณา 76 คำร้องหุ้นสื่อของ ส.ส.-ส.ว.แล้ว เชื่อเร็วๆ นี้มีส่งเรื่องถึงศาลรัฐธรรมนูญแน่ ถึงคิว “พปชร.” สางแค้นฝ่ายค้าน ยื่น 33 รายชื่อผ่านประธานชวนให้ส่งศาลตีความ มี 2 หัวหน้าพรรคอย่าง “เสรีพิศุทธ์-สงคราม” ติดร่างแหด้วย “ปิยบุตร” ทำตัวยิ่งกว่าตุลาการ บอกศาลต้องมีมาตรฐานเดียวกัน “เขารอด-เราต้องรอด” โทษศาลฎีกาแค่ดูหนังสือบริคณห์สนธิก็ตัดสิทธิ์ จึงทำให้เกิดปัญหาวุ่นไม่จบ

เมื่อวันพฤหัสบดี ยังคงมีความต่อเนื่องหลังศาลรัฐธรรมนูญรับวินิจฉัยคุณสมบัติการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) พรรคร่วมรัฐบาล จำนวน 32 คน ไว้พิจารณาว่าเข้าข่ายขาดคุณสมบัติการเป็น ส.ส.จากการถือครองหุ้นในกิจการสื่อสารมวลชน ตามมาตรา 82 ของรัฐธรรมนูญ 2560 หรือไม่
โดยนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า คำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญชี้แจงเหตุผลให้คนเข้าใจชัดเจนเกี่ยวกับองค์ประกอบของการกระทำ ซึ่งส่วนหนึ่งก็ปล่อยไป ส่วนหนึ่งก็รับไว้สอบสวนไต่สวนต่อไป แต่เรื่องนี้ยังไม่จบ เพราะเข้าใจว่ายังมีรายชื่ออีกชุดที่พรรคฝ่ายรัฐบาลจะเสนอมาอีกหลายคน ซึ่งตอนนี้รายชื่อยังไม่มาถึง และเรื่องดังกล่าวไม่กระทบต่อเสถียรภาพของสภา และไม่กระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่ เพราะไม่ได้สั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ 
“ข้อมูลที่ส่งมาทางสภาแล้วส่งไปที่ศาลรัฐธรรมนูญตามกระบวนการกฎหมาย จึงยังไม่มีการไต่สวนข้อเท็จจริง และศาลคงให้ผู้ถูกกล่าวหาชี้แจงและพิจารณาเป็นแต่ละรายไป” นายชวนกล่าว
ด้าน พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวถึงความคืบหน้าการพิจารณาคำร้องให้ตรวจสอบ ส.ส.และ ส.ว.ที่ถือครองหุ้นสื่อว่า กกต.ได้รับคำร้องทั้งหมดไว้พิจารณาแล้ว โดยอยู่ระหว่างไต่สวนของคณะกรรมการสืบสวนและไต่สวนของ กกต.ทั้ง 7 คณะ ยืนยัน กกต.ใช้เวลาพิจารณาไม่นาน แต่ต้องทำตามขั้นตอนการพิจารณา ซึ่งขณะนี้ผู้ถูกร้องบางคนได้เข้ามาชี้แจงข้อเท็จจริง และแก้ข้อกล่าวหาต่อคณะกรรมการสืบสวนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว คาดว่าเร็วๆ นี้จะมีบางคำร้องเสนอต่อคณะกรรมการ กกต.ให้พิจารณาว่าจะส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ในเร็วๆ นี้
ทั้งนี้ คำร้องที่ขอให้ กกต.ตรวจสอบนั้นมีทั้งสิ้น 76 คำร้อง ประกอบด้วย กรณีนายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ยื่น 27 คำร้อง แบ่งเป็น ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ (อนค.) 11 คน, ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) 15 คน และ ส.ส.พรรคชาติพัฒนา (ชพน.) 1 คน, คำร้องของนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีตผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) 17 คำร้อง ยื่นสอบ ส.ส.พรรค พปชร. 8 คน, ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) 7 คน ส.ส.พรรคภูมิใจไทย (ภท.) 1 คน, ส.ส.พรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) 1 คน และ ส.ว. 21 คน และคำร้องที่ยื่นโดย ร.อ.ทรงกลด ชื่นชูผล หรือผู้กองปูเค็ม ยื่นคำร้อง 32 คำร้อง แบ่งเป็น ส.ส.พรรคเพื่อไทย (พท.) 10 คน, พรรค อนค. 7 คน, พรรคเสรีรวมไทย (สร.) 6 คน, พรรคเพื่อชาติ (พช.) 5 คน พรรคพลังปวงชนไทย 2 คน และพรรคประชาชาติ 2 คน
ขณะที่นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรค พปชร. พร้อมนายทศพล เพ็งส้ม ทีมกฎหมาย พปชร. ได้แถลงว่า จะไปยื่นศาลรัฐธรรมนูญเพื่อยื่นคำร้องให้วินิจฉัย ส.ส. 33 คนของพรรคฝ่ายค้าน แบ่งเป็นพรรค อนค. 21 คน, พรรค พท. 4 คน, พรรคประชาชาติ 1 คน, พรรคเสรีรวมไทย 3 คน และพรรค พช. 4 คน ว่าขาดคุณสมบัติการเป็น ส.ส.หรือไม่ เพราะจากการตรวจสอบพบว่าได้จดหนังสือบริคณห์สนธิบริษัทมีวัตถุประสงค์ข้อหนึ่งประกอบกิจการสื่อ ซึ่งสาเหตุที่ไม่ยื่นผ่านช่องทางประธานสภาผู้แทนราษฎร เนื่องจากเกรงว่าจะเกิดความล่าช้า เพราะต้องทำรายชื่อตรวจสอบอีกครั้ง รวมถึงต้องตั้งคณะกรรมการตรวจสอบด้วย
ต่อมาในเวลา 15.00 น. นายชัยวุฒิพร้อม ส.ส.พปชร. ลงชื่อรวม 51 คน ยื่นคำร้องต่อนายชวนเพื่อส่งคำร้องต่อให้ศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบสมาชิกภาพ ส.ส.ฝ่ายค้าน 33 คน ซึ่งนายชัยวุฒิชี้แจงถึงการยื่นเรื่องผ่านทางประธานสภาฯ ทั้งๆ ที่ตอนแรกจะยื่นตรงไปยังศาล ว่าจากการปรึกษาผู้ใหญ่และฝ่ายกฎหมายของพรรค เห็นว่าควรยื่นผ่านประธานสภาฯ เช่นเดียวกับพรรค อนค. เพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน และการตรวจสอบ ส.ส.ฝ่ายค้านไม่ได้เป็นเอาคืน แต่ถือว่าทั้ง 2 ฝ่ายต้องตรวจสอบได้ ไม่ควรมีการเลือกปฏิบัติ
ด้านนายชวนกล่าวว่า จะส่งเรื่องดังกล่าวให้เลขาธิการสภาฯ เพื่อตรวจสอบตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป
เปิด 33 ชื่อถูกเช็กบิล
ทั้งนี้ รายชื่อ ส.ส. 33 คน ประกอบด้วย พรรค อนค. 21 คน คือ 1.พล.ท.พงศกร รอดชมภู 2.นายธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ 3.นายพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ 4.นายสุรชัย ศรีสารคาม 5.นายชำนาญ จันทร์เรือง 6.นายวินท์ สุธีรชัย 7.นายธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ 8.นายคารม พลพรกลาง 9.นายวาโย อัศวรุ่งเรือง 10.นางอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล 11.นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล 12.นายวิภพ วิริยะโรจน์ 13.น.ส.เบญจา แสงจันทร์ 14.นายสมเกียรติ ไชยวิสุทธิกุล 15.นายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ 16.น.ส.กวินนาถ ตาคีย์ 17.นายวุฒินันท์ บุญชู 18.น.ส.สุทธวรรณ สุบรรณ ณ อยุธยา 19.นายจิรัฎฐ์ ทองสุวรรณ์ 20.นายปดิพัทธ์ สันติภาดา และ 21.น.ส.วรรณวรี ตะล่อมสิน 
    พรรคเพื่อไทย ประกอบด้วย 1.นายวิสาร เตชะธีราวัฒน์ 2.นายนิยม ช่างพินิจ 3.นายจักรพล ตั้งสุทธิธรรม 4.นายศรัณย์วุฒิ ศรัณย์เกตุ, พรรคประชาชาติ นายกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ, พรรคเสรีรวมไทย ได้แก่ 1.พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส 2.น.ส.ธนพร โสมทองแดง และ 3.น.ส.พัชนี เพ็ชรจินดา, พรรคเพื่อชาติ ได้แก่ 1.นายสงคราม กิจเลิศไพโรจน์ 2.นางลินดา เชิดชัย 3.น.ส.ปิยะรัฐชย์ ติยะไพรัช และ 4.นายเพชรวรรต วัฒนพงศศิริกุล 
นายทศพลยังกล่าวถึงกรณี ส.ส.พรรค 21 คนที่ต้องชี้แจงศาลรัฐธรรมนูญในการถือครองหุ้นสื่อว่า เราต้องทำคำชี้แจงภายใน 15 วัน โดยเบื้องต้นได้ให้ ส.ส.ที่เกี่ยวข้องทำต้นร่างชี้แจงส่งภายในสัปดาห์หน้า
ส่วนนายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรค อนค. แถลงกรณี ส.ส.พรรค พปชร.จะยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ส.ส.ฝ่ายค้าน 33 คน เข้าข่ายการถือครองหุ้นสื่อ ว่าเรื่องดังกล่าวถือเป็นสิทธิ์ เนื่องจากรัฐธรรมนูญมาตรา 82 ให้อำนาจ ส.ส.ในการเข้าชื่อ แต่ก่อนหน้านั้นในช่วงเช้าทราบมาว่าจะใช้วิธีร้องตรง แต่คงเปลี่ยนการตัดสินใจ เพราะรัฐธรรมนูญไม่มีช่อง จึงหันมาใช้ช่องนี้ ซึ่งพวกเขามีวาสนากว่าตนเอง เพราะได้ยื่นถึงมือนายชวนโดยตรง แต่ตนเองต้องยื่นผ่านเจ้าหน้าที่ ซึ่งต้องติดตามดูต่อไปว่าจะใช้เวลาเท่าไหร่
นายปิยบุตรยังกล่าวว่า กรณี ส.ส.ของพรรคทั้ง 21 รายชื่อ เรายืนยันว่าหลายกรณีมีการโอนหุ้นไปแล้ว และหลายกรณีก็เป็นบริษัทที่ไม่ได้ประกอบกิจการสื่อ และสิ่งที่ย้ำมาตลอด คือเจตนารมณ์ที่แท้จริงของรัฐธรรมนูญที่ไม่ต้องการให้นักการเมืองไปครอบงำสื่อเพื่อใช้เอาเปรียบกันทางการเมือง แต่กรณีนายภูเบศวร์ เห็นหลอด อดีตผู้สมัคร ส.ส.สกลนครของพรรค ศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งพิจารณาจากหนังสือบริคณห์สนธิ เจอวงเล็บใดเกี่ยวกับสื่อก็ตัดสิทธิ์ทันที จึงเกิดปัญหาซ้ำซ้อนกันแบบนี้ ดังนั้นสิ่งที่พรรค อนค.ยืนยัน คือเราเห็นว่าการตีความกฎหมายเช่นนี้มีปัญหา ความจริงควรดูเรื่องการประกอบธุรกิจสื่อเป็นหลัก แต่ท้ายที่สุดเรื่องนี้จะอยู่ในมือของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งเราหวังว่าศาลจะมีมาตรฐานในการตัดสินที่เท่าเทียมกันโดยไม่เลือกปฏิบัติ
บีบ'เขารอด-เราต้องรอด'
เมื่อถามว่า พรรค อนค.ย้ำเรื่องเจตนารมณ์ แต่ในคำร้องของพรรค อนค.ก็ร้อง ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลโดยระบุถึงหนังสือบริคณห์สนธิเช่นกัน นายปิยบุตรกล่าวว่า การที่เราร้อง เพราะต้องการเรียกร้องมาตรฐานของกระบวนการยุติธรรมเกี่ยวกับคุณสมบัติต้องห้ามเรื่องถือหุ้นสื่อ ในเมื่อตัดสินคดีนายภูเบศวร์ และนายคมสัน ศรีวนิชย์ อดีตผู้สมัคร ส.ส.อ่างทอง พรรคประชาชาติมาแล้ว ทำให้เกิดมาตรฐานขึ้นมา เราจึงต้องถามว่า มาตรฐานเรื่องนี้อยู่ตรงไหนกันแน่ อย่างน้อยที่สุด ครั้งนี้เป็นโอกาสให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้เกิดความชัดเจน หากกรณีที่ถือหุ้นในบริษัทที่ไม่ได้ประกอบกิจการสื่อจริงๆ แต่หนังสือบริคณห์สนธิมีเรื่องสื่อ ถ้าแนวทางของศาลรัฐธรรมนูญจะไม่เหมือนศาลฎีกา หากเขารอด เราก็ต้องรอด
เมื่อถามว่า เคยมีกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญอาศัยบรรทัดฐานของศาลฎีกาตัดสินหรือไม่ นายปิยบุตรกล่าวว่า เท่าที่ได้ตรวจสอบ พบว่ามีโอกาสที่จะตัดสินไม่เหมือนกัน แต่ไม่ว่าศาลรัฐธรรมนูญจะตัดสินสอดคล้องหรือวางแนวแบบใหม่ ก็ขอให้ใช้มาตรฐานเดียวกันกับ ส.ส.ทุกคน ทุกพรรคการเมืองแล้วกัน
นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรค ปชป. และหัวหน้าคณะทนายความต่อสู้คดีที่มีผู้ร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคุณสมบัติ 7 ส.ส.ของพรรคในการถือหุ้นสื่อ ว่าพรรคน้อมรับคำสั่งศาลที่รับวินิจฉัยเรื่องดังกล่าว และพรรคไม่มีความหนักใจในการต่อสู้คดี เพราะไม่มีการประกอบกิจการสื่อสารมวลชน มีการเตรียมพยานหลักฐานครบ 100% แล้ว รอเพียงสำเนาคำร้องจากศาลรัฐธรรมนูญเท่านั้น
นายราเมศยังกล่าวถึงกรณีที่พรรค อนค.เรียกร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญมีมาตรฐานเดียวกันในการวินิจฉัยว่า แม้คดีนี้จะใช้รัฐธรรมนูญมาตราเดียวกัน คือ มาตรา 98 (3) กับคดีของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรค อนค. แต่แตกต่างกันในข้อเท็จจริง จึงเรียกร้องไปยังพรรค อนค.ว่าอย่ากดดันการปฏิบัติหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ ขอให้สู้ด้วยความจริง ซึ่งในส่วนของพรรค ปชป. จะต่อสู้ในเรื่องเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญมาตรา 98 (3) ว่า กรณีการห้ามถือหุ้นสื่อ เป็นการป้องกันการได้เปรียบเสียเปรียบในการแข่งขัน เพราะหากมีผู้ลงสมัครเป็นเจ้าของสื่อ ก็จะได้เปรียบ จึงเขียนมาตรานี้เพื่อป้องกันให้ทุกคนแข่งขันกันอย่างเท่าเทียม
“จะชี้แจงวัตถุประสงค์ในหนังสือบริคณห์สนธิว่าเข้าข่ายประกอบกิจการสื่อจริงหรือไม่ รวมถึงจะนำเอกสารยืนยันให้เห็นว่าไม่เคยมีการยื่นเรื่องเพื่อขออนุญาตดำเนินกิจการสื่อสารมวลชน อีกทั้งไม่มีรายได้ที่เกิดจากการประกอบกิจการสื่อสารมวลชนด้วย ซึ่งแต่ละบริษัทจะมีการจัดทำงบดุลแสดงรายได้ที่ชัดเจนอยู่แล้ว ซึ่งหลังได้รับสำเนาคำร้องแล้วจะแยกทำเป็นรายสำนวน เนื่องจากข้อเท็จจริงแต่ละท่านแตกต่างกัน” นายราเมศกล่าว
ด้าน น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี พรรค พปชร. โพสต์เฟซบุ๊กว่า อย่าดีแต่พูด ดีแต่ทำให้คนอื่นเสียหาย ปารีณาไม่ได้ถือหุ้นสื่อ ธนาธรถือหุ้นสื่อ และศาลก็ทำหน้าที่ด้วยความเป็นธรรม เพียงแต่คุณต้องยอมรับความจริง และหยุดต่อว่าคนอื่น.


 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"