เรือดำน้ำรำลึก (2)


เพิ่มเพื่อน    


จุดที่เรือดำน้ำ U-194 เคยจอดแสดงในกรุงสต็อกโฮล์มเมื่อประมาณ 20 ปีที่แล้ว

        เรือเฟอร์รีพาพวกเราจากเมืองตุรกู ประเทศฟินแลนด์ ข้ามทะเลบอลติก ถึงท่าเรือในกรุงสตอกโฮล์ม ประเทศสวีเดน ตอนประมาณ 6 โมงเช้า อากาศหนาวเย็นจนอุณหภูมิติดลบ ฟ้าในเดือนมกราคมยังไม่สว่าง พี่หมู (ผุดผาดน้อย วรวุฒิ) ขอให้ “ติโม วัลลิน” ขับรถไปยังร้านที่ภรรยาของแกทำงานอยู่ ความจริงแล้วร้านอาหารยังไม่เปิด แต่ 5-6 วันมานี้ไม่มีอาหารไทยตกถึงท้อง คุณภรรยาก็เลยต้องตื่นมาเปิดร้านแล้วทำกับข้าวให้สามีและคณะได้อิ่มหนำตั้งแต่เช้าตรู่ ฝรั่งอย่างติโมยังขอเติมข้าว

                ไม่ทันที่เราจะได้หยุดพักและทั้งที่ง่วงงุนอยู่เพราะได้นอนในเรือไปไม่ถึง 4 ชั่วโมง ติโมขับรถพาไปดูจุดที่เคยจอดเรือดำน้ำ U-194 ในสตอกโฮล์มเมื่อครั้งลากมาโชว์ในเมืองนี้เป็นครั้งแรก (ก่อนจะย้ายไปจอดใกล้ๆ พิพิธภัณฑ์วาซาในเวลาต่อมา) ใกล้ๆ กับสำนักงานเทศบาลเมือง ตรงข้ามกับโรงแรม Radisson

                การล่องเรือไป-มาในสตอกโฮล์มนั้นไม่ใช่เรื่องยากอะไรเพราะเมืองนี้ได้ชื่อว่า The city that floats on water หรือ “เมืองลอยน้ำ” ประกอบด้วยเกาะหลัก 14 เกาะ และในส่วนของ Stockholm Archipelago หรือหมู่เกาะสตอกโฮล์มที่อยู่ตามชายฝั่งทะเลบอลติกมีจำนวนราว 24,000 เกาะเล็กเกาะน้อยเลยทีเดียว

                ติโมเล่าให้ฟังว่า วันหนึ่งตอนที่เรือดำน้ำจอดอยู่บริเวณนี้ เขาได้ยินเสียงชายคนหนึ่งพูดมาจากด้านหลังว่า “นี่คือเรือของท่าน?” ติโมหันไปมองต้นเสียง ตอบว่า “ใช่” ก่อนจะอ้าปากค้าง พูดต่อไม่ออก เมื่อรวบรวมสติได้ชายผู้นั้นก็เดินจากไปแล้ว

                ชายผู้นั้นคือ “สมเด็จพระราชาธิบดีคาร์ลที่ 16 กุสตาฟแห่งสวีเดน” ท่านคงจะเสด็จกลับเข้าไปในพระราชวังที่อยู่ไม่ห่างออกไปนั่นเอง

 


ถนนในกรุงสต็อกโฮล์มยามเช้า

                เราข้ามสะพานไปยัง Gamla Stan หรือเมืองเก่า เป็นเกาะที่พระราชวังตั้งอยู่ แต่ไม่ได้ซื้อตั๋วเข้าไปชมภายใน นอกจากพระราชวังแล้วก็ยังมีโบสถ์สำคัญอีก 2 แห่ง พิพิธภัณฑ์อีกหก-เจ็ดพิพิธภัณฑ์เป็นอย่างน้อย จากนั้นติโมขับรถพาไปดูจุดจอดเรือดำน้ำจุดที่ 2 ใกล้ๆ กับพิพิธภัณฑ์วาซา เขาจอดแสดงเรือดำน้ำอยู่ตรงนี้ถึง 4 ปี

                คราวนี้เราได้ซื้อตั๋วเข้าไปในพิพิธภัณฑ์วาซา เป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีผู้เยี่ยมชมมากที่สุดในกลุ่มประเทศสแกนดิเนเวีย จัดแสดงเรือรบวาซาที่อับปางลงไม่ไกลจากบริเวณนี้เมื่อปี ค.ศ. 1628 โดยสวีเดนในยุคนั้นถือเป็นชาติมหาอำนาจชาติหนึ่ง เรือวาซา (ตามชื่อของราชวงศ์วาซา) ได้รับการต่อขึ้นโดยพระบัญชาของ “อดอล์ฟที่ 2 กุสตาฟแห่งสวีเดน” เพื่อออกไปโรมรันกับ “เครือจักรภพโปแลนด์-ลิธัวเนีย”

                เรือรบความยาว 69 เมตร ระวาง 1,210 ตัน ที่ว่ากันว่ายิ่งใหญ่และสง่างามไม่แพ้ใครในยุคเดียวกันนั้นกลับจมลงสู้ก้นทะเลพร้อมชีวิตทหาร 300 นาย ฝีพาย 145 คน และปืนใหญ่หล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ 64 กระบอก ในการออกเดินทางเที่ยวปฐมฤกษ์ โดยมีเส้นทางบนผืนน้ำเพียงกิโลเมตรกว่าๆ เท่านั้น

                สาเหตุที่เรือจมคาดว่ามาจากน้ำหนักตัวเรือที่มากเกินไป โดยเฉพาะโครงสร้างส่วนบนทำให้เรือโคลงเคลงได้ง่ายเพียงเจอคลื่นและลมไม่แรงนัก ทว่ากลับไม่มีแม่ทัพนายกองคนใดกล้าที่จะเปิดประเด็นหารือหรือรายงานไปยังพระมหากษัตริย์ให้ยับยั้งการนำออกสู่สงคราม


มองออกไปจากเขตเมืองเก่า Gamla Stan กรุงสต็อกโฮล์ม

                รัฐบาลสวีเดนเพิ่งจะทำการกู้เรือขึ้นมาได้สำเร็จเมื่อ ค.ศ. 1961 พร้อมด้วยโครงกระดูกส่วนหนึ่ง เสื้อผ้า ใบเรือ ข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ส่วนของตัวเรือแทบไม่ได้รับความเสียหาย เมื่อประกอบร่างเข้ารูปรอยเดิมแล้วก็จัดแสดงเป็นพิพิธภัณฑ์ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1990 มีห้องให้ชมประวัติในรูปแบบภาพยนตร์สารคดี โดยเฉพาะภาพตอนกู้เรือขึ้นมานั้นน่าชมมาก น่าเสียดายที่กล้องดิจิตอลสมัยสิบกว่าปีก่อนถ่ายภาพในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ได้ไม่ชัดเอาเสียเลย     

                ออกจากพิพิธภัณฑ์ประมาณบ่าย 2 โมง พี่หมูขอให้ติโมขับรถไปที่ร้านอาหารไทยชื่อ “ชบา” เจ้าของร้านชื่อ “ตุ๋ย” เป็นคนอำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี แต่ไปทำงานที่เกาะสมุย สาวแหม่มติดใจในอะไรบางอย่างนอกจากฝีมือการทำอาหารก็เลยชวนให้แกตามมาเปิดร้านอาหารที่สวีเดน

                พี่หมี (ปัจจุบันพระสุธรรม ฐิตธัมโม กำลังทำภารกิจเดินธุดงค์รณรงค์สันติภาพรอบโลก) ซึ่งเป็นคนใต้เหมือนกันขอสั่งแกงส้ม 1 หม้อ (เป็นเสบียงเก็บไว้กินวันหลัง) จะมารับในวันรุ่งขึ้น พี่ตุ๋ยใจดีมาก รับปากจะแกงให้โดยไม่คิดเงิน

                เสร็จมื้อเที่ยงเรากลับไปที่ร้านของภรรยาพี่หมู ผมสัมภาษณ์แกถึงสถานการณ์โดยรวมของร้านอาหารไทยในสวีเดน ได้รับคำตอบว่าค่อนข้างดี นอกจากคนไทยในสวีเดนจะมีเยอะแล้ว คนสวีเดนก็ยังชื่นชอบอาหารไทย พวกเขาเคยเดินทางไปท่องเที่ยวในเมืองไทยมาแล้วแทบทั้งนั้น สำหรับเมนูยอดนิยม ผมนึกว่าจะต้องเป็นต้มยำกุ้ง แต่คำตอบที่ได้คือไก่ผัดเม็ดมะม่วง

                เย็นนั้นเพื่อนพี่หมู ชื่อ “ณรงค์” มารับพวกเราไปที่ร้าน “ใบตอง” ซึ่งแกทำงานอยู่ นอกจากอาหารไทยแล้วร้านใบตองยังมีอาหารญี่ปุ่นด้วย เพราะเพิ่งกินอาหารไทยกันมาผมกับพี่หมูก็เลยสั่งอาหารญี่ปุ่น ส่วนพี่หมียังคงคิดถึงบ้าน กินอาหารไทยต่อเนื่องเป็นมื้อที่สาม จากนั้นพี่ณรงค์มาส่งที่อพาร์ตเมนต์ของพี่หมูซึ่งเราฝากกระเป๋าไว้ ผมและพี่หมีนำเสื้อผ้าส่วนหนึ่งไปนอนบ้านพี่ณรงค์ ส่วนติโมแยกไปเช่าโรงแรม เพื่อเปิดทางให้พี่หมูได้ใกล้ชิดภรรยาเป็นคืนสุดท้ายหรือก่อนสุดท้ายก่อนที่เราจะเดินทางออกจากสต็อกโฮล์ม และคงไม่หวนกลับมาอีกแล้ว อย่างน้อยก็สี่-ห้าเดือน


คุณสุธรรม นทีทอง (ปัจจุบันพระสุธรรม ฐิตธัมโม) ด้านหลังซ้ายมือคือหอสมุดกรุงสต็อกโฮล์ม

                อพาร์ตเมนต์ของพี่ณรงค์อยู่ห่างจากตัวเมืองออกไปราว 30 นาที แกอยู่กับภรรยาชื่อ “ชมพู่” และลูกสาววัย 1 ขวบชื่อ “ฮิลดา” (ลูกของทั้งคู่) สาวน้อยน่ารักน่าชัง คลานเล่นและหยิบจับโน่นนี่ตลอดเวลา ฝ่ายแม่ต้องคอยแงะของออกจากมือ พี่หมีเข้านอนหลังจากร่วมสนทนาอยู่ได้สักพัก ส่วนผมและพี่ณรงค์ต้องรอให้ไวน์กล่องขนาด 3 ลิตรแห้งเสียก่อน

                เช้าวันต่อมา พี่ณรงค์ขับรถไปส่งพี่ชมพู่ที่สถานีอนามัยเพื่อให้หมอฉีดยาฮิลดาที่ครบวงรอบการฉีดวัคซีนก่อนวันเกิด 1 ขวบของเธอในวันถัดไป พี่ณรงค์กลับมารับผมและพี่หมีไปสมทบกับพี่ชมพูและฮิลดาที่ฉีดยาเสร็จพอดี จากนั้นมุ่งหน้าร้านใบตอง แล้วเราก็กินมื้อเช้ากันที่นี่ก่อนพี่หมูจะมาสมทบพร้อมสองข่าว 

                ข่าวแรกคือ “เมื่อคืนเมียอารมณ์ไม่ค่อยดี” ข่าวที่สอง “ธรรมนูญให้เราถ่ายสำเนาพาสปอร์ตเพื่อส่งแฟกซ์ไปที่โปแลนด์” 

                พี่ธรรมนูญคือลูกน้องคุณเจษฎา เดชสกุลฤทธิ์ เจ้าของพิพิธภัณฑ์เจษฎาเทคนิคมิวเซียมที่เพิ่งซื้อเรือดำน้ำ U-194 จากติโม ตอนนี้เรือดำน้ำกำลังซ่อมอยู่ที่อู่ต่อเรือเมืองเซสชิน เมืองติดทะเลบอลติกของประเทศโปแลนด์ รอการลากไปเมืองไทย พี่ธรรมนูญเป็นคนประสานงานอยู่ที่นั่น และคอยจัดการเรื่องเอกสารต่างๆ ด้วย ครั้งนี้คงเพื่อทำหนังสือหรือวีซ่าให้เรือลากที่เปลี่ยนแปลงจะลากเรือดำน้ำออกจากที่นั่นแทนเมืองเฮลซิงบอร์กของสวีเดนตามกำหนดเดิม

                เนื่องจากพี่ณรงค์ต้องทำงานที่ร้าน พี่ชมพูและฮิลดาในรถเข็นก็อาสาพาชมย่านเมืองใหม่ พาเข้าไปถ่ายเอกสารและส่งแฟกซ์ในร้านของห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่ง แล้วพี่หมูก็แยกตัวไป

                มีสาวๆ เจ้าถิ่นสาม-สี่คนเข้ามาสัมภาษณ์ผมเป็นภาษาอังกฤษเพื่อส่งงานอาจารย์ คงเป็นหัวข้อเกี่ยวกับการท่องเที่ยว พบจบการสัมภาษณ์ หนึ่งในนั้นบอกว่าเธอไปเมืองไทยมาแล้ว 4 ครั้ง คะเนจากหน้าตาของเธอถ้าไม่ใช่เด็กมัธยมปลายก็คงเรียนมหาวิทยาลัยปี 1 หรือ ปี 2 เท่านั้น แต่ไปเที่ยวประเทศไทยแล้วถึง 4 ครั้ง เธอย้ำว่าชอบเกาะสมุยมาก “เวรี่ ไนซ์ เพลส”  


SIAM ร้านอาหารไทยในเขตเมืองเก่า กรุงสต็อกโฮล์ม

                จากนั้นพี่ชมพูพาชมเมืองเก่า วันนี้เราได้เข้าไปยังโบสถ์ริดดาโฮลเมน (Riddarhomen) ใกล้ๆ กับพระราชวังที่เราโฉบมาเมื่อวาน โบสถ์นี้เริ่มสร้างในคริสต์ศตวรรษที่ 13 ใช้เป็นที่ฝั่งพระศพของกษัตริย์สวีเดนในอดีตหลายพระองค์

                ระหว่างเดินอยู่ในเขตเมืองเก่า มีโทรศัพท์เข้ามาที่เครื่องของพี่ชมพู่ เธอวางสายแล้วแจ้งว่าพี่หมูบอกให้กลับด่วน ต้องเตรียมตัวขึ้นเครื่องบินไปโปแลนด์ค่ำนี้

                พวกเราแวะที่ร้านชบาแต่ไม่เจอพี่ตุ๋ย เด็กในร้านเป็นชาวอำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช อยู่สวีเดนมาแล้ว 9 ปี ผมไม่ได้ถามว่าตามสาวแหม่มมาอีกคนหรือเปล่า เขาบอกว่าพี่ตุ๋ยสั่งเรื่องแกงส้มไว้แล้ว ให้เรากลับมารับตอนประมาณ 1 ทุ่ม สุดท้ายเราไม่ขอรบกวน ขอบคุณแล้วกล่าวลา พี่ชมพู่นั่งรถใต้ดินไปส่งเราที่ร้านอาหารที่ภรรยาพี่หมูทำงานอยู่ พี่หมูและติโมรออยู่ในร้าน พร้อมข่าวที่อัพเดทล่าสุดว่าการเดินทางเลื่อนไปเป็นพรุ่งนี้ 7 โมงเช้า

                ข้าวของหลายอย่างเราต้องขนใส่รถตู้เชฟโรเล็ตสีแดงของติโมเพราะน้ำหนักมีมากเกินนำขึ้นเครื่องบิน อีกทั้งเพื่อความคล่องตัวในการเดินทาง เพราะเราจะบินไปลงเบอร์ลิน เมืองหลวงของเยอรมนีก่อนแล้วจึงมีรถมารับจากสนามบินกรุงเบอร์ลินไปยังเมืองเซสชิน ประเทศโปแลนด์ที่เรือดำน้ำซ่อมอยู่ ติโมจะขับรถไปดักเราที่เฮลซิงบอร์ก เมืองทางใต้ของสวีเดน เส้นทางผ่านของการลากเรือดำน้ำ เพื่อเขาจะเช่าเรือเล็กแล้วนำของไปส่งให้ในเรือลาก นอกจากสิ่งของที่เราขนขึ้นรถตอนนี้แล้วก็จะมีอย่างอื่นด้วย โดยเฉพาะไวน์แดงหลายสิบกล่องที่พี่หมูกำชับไว้


“Kristall” ความสูง 37.5 เมตร สร้างจากเหล็กกล้าและปิดด้วยปริซึมกระจก 8 หมื่นแผ่น กลางจัตุรัสแซร์เกล กลางคืนจะส่องสว่างสวยงามมาก

 

                ระหว่างขนของขึ้น-ลงรถติโมอยู่หน้าร้านอาหาร ผมรู้ตัวว่าพาสปอร์ตหาย หาเท่าไหร่ก็หาไม่เจอ แล้วนึกย้อนไป สงสัยจะลืมไว้ที่ร้านถ่ายเอกสารเพราะเป็นสถานที่สุดท้ายที่ล้วงพาสปอร์ตออกมา และผมก็เป็นคนสุดท้ายในบรรดาพวกเราที่ใช้เครื่องถ่ายเอกสาร

                ร้านนี้เราต้องถ่ายด้วยตัวเอง ใช้เงินแลกการ์ด แล้วใช้การ์ดเสียบในตัวเครื่อง ผมหยิบเอกสารสำเนาออกจากเครื่อง แต่ลืมหยิบพาสปอร์ต 

                เวลานี้ห้างปิดแล้ว จะทำเล่มใหม่สถานทูตก็ปิดแล้ว หลายคนช่วยกันเสนอทางออก ไอเดียที่ผมเห็นด้วยคือพี่หมูและพี่หมีบินไปก่อนแล้วผมค่อยนั่งรถตามไปกับติโม มีข้อดีอีกส่วนหนึ่งคือจะได้บันทึกภาพจุดจอดแสดงเรือดำน้ำ U-194 ได้เพิ่ม แต่ติโมขอให้ไปลุ้นที่สนามบินก่อน แม้ว่าโอกาสจะน้อยนิด

                คืนนี้เรานอนที่อพาร์ตเมนต์ของพี่หมู ตี 4 กว่าๆ ของวันใหม่ก็ต้องตื่น ติโมขับรถมารับไปสนามบินอาร์ลันดา เขาขอสำเนาพาสปอร์ตหน้าข้อมูลส่วนตัวและหน้าที่มีวีซ่าเชงเก้งของผมเข้าไปพูดคุยกับเจ้าหน้าที่เคาน์เตอร์เช็กอิน ต่อมามีเจ้าหน้าที่ส่วนอื่นเข้าร่วมเจรจาด้วย 

                เมื่อสัปดาห์ก่อนผมได้เล่าไว้ว่าตอนจะลงเรือจากเมืองอูเมโอ ประเทศสวีเดน ไปยังเมืองวาซา ประเทศฟินแลนด์นั้นพี่หมูมีปัญหาเรื่องเอกสาร ติโมก็ยกเมฆพร้อมชักแม่น้ำทั้งห้าจนเจ้าหน้าที่ยินยอมให้ผ่านมาแล้ว

                เปรียบไปหมอนี่คือสาริกาลิ้นทองแห่งสแกนดิเนเวียก็ปาน หลังการเจรจาจบลงเขาหันมามองผม เป่าปาก มองเบื้องบน แล้วกล่าว “Unbelievable” เขาเองยังแทบไม่เชื่อว่าจะสำเร็จ

                ก่อนจะขึ้นเครื่อง สตรีผมบลอนด์ตรวจบอร์ดดิงพาสของผมเรียบร้อยแล้วกล่าวเป็นภาษาไทย “โชคดีค่ะ”. 

 

 

 

 


 

แกลลอรี่


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"