สรรหา'ตุลาการ'ศาลรัฐธรรมนูญ แง้มกม.ส่องปัญหา'ใครอยู่-ใครไป'


เพิ่มเพื่อน    


    5 ก.ค.62 เป็นวันสุดท้ายในการสมัครเข้ารับการคัดเลือกผู้สมควรได้รับแต่งตั้งเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ในสัดส่วนของผู้พิพากษาศาลฎีกา จำนวน 3 คน ตามที่นายชีพ จุลมนต์ ประธานศาลฎีกา ได้ออกประกาศศาลฎีกาเมื่อวันที่ 26 มิ.ย.2562 เรื่อง “การคัดเลือกผู้สมควรได้รับแต่งตั้งเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและการเรียกประชุมใหญ่ศาลฎีกา” ซึ่งเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560, พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 และระเบียบศาลฎีกาว่าด้วยการคัดเลือกผู้สมควรได้รับแต่งตั้งเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2562
    โดยผู้พิพากษาที่สมัครเข้ารับการคัดเลือก ต้องเป็นผู้พิพากษาในศาลฎีกาซึ่งดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกามาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี กำหนดให้นัดประชุมใหญ่ศาลฎีกาเพื่อลงมติเลือกผู้สมควรได้รับแต่งตั้งเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ในวันที่ 1 ส.ค.2562 เวลา 09.30 น. ที่ห้องประชุมใหญ่ศาลฎีกาชั้น 3 อาคารศาลฎีกา พร้อมออกคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบคุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม นับคะแนน จำนวน 5 คน
    สำหรับสัดส่วนของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้งหมด 9 คน ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 มาตรา 8 ให้มีที่มาจากผู้พิพากษาในศาลฎีกา 3 คน, ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด 2 คน, ผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์ 1 คน, ผู้ทรงคุณวุฒิสาขารัฐศาสตร์ 1 คน และผู้ทรงคุณวุฒิอื่น (ระดับอธิบดี, หัวหน้าส่วนราชการ, รองอัยการสูงสุด) 2 คน และในมาตรา 17 กำหนดให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีวาระ 7 ปี ซึ่งเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 มาตรา 204 ที่กำหนดสัดส่วนที่มาจากผู้พิพากษาในศาลฎีกา 3 คน, ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด 2 คน, ผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์ 2 คน และผู้ทรงคุณวุฒิสาขารัฐศาสตร์ 2 คน โดยมาตรา 208 กำหนดให้มีวาระ 9 ปี
    ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดปัจจุบันซึ่งไม่ถูกเซตซีโรจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แบ่งตามสัดส่วนที่มาจากผู้พิพากษาศาลฎีกา คือ นายนุรักษ์ มาประณีต, นายชัช ชลวร, นายบุญส่ง กุลบุปผา / ตุลาการศาลปกครองสูงสุด คือ นายอุดมศักดิ์ นิติมนตรี, นายวรวิทย์ กังศศิเทียม / ผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์ คือ นายจรัญ ภักดีธนากุล, นายทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ, นายปัญญา อุดชาชน และผู้ทรงคุณวุฒิสาขารัฐศาสตร์ คือ นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์
    สังเกตได้ว่า จากสัดส่วนนี้มีความคลาดเคลื่อนจากที่รัฐธรรมนูญ 2550 กำหนด ตรงที่มีสาขานิติศาสตร์ถึง 3 คน สาขารัฐศาสตร์เพียง 1 คน โดยสาเหตุที่เหลื่อมล้ำคาดว่ามาจากคำสั่ง คสช. ที่ให้ต่ออายุตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 5 คน คือ นายนุรักษ์, นายชัช, นายบุญส่ง, นายอุดมศักดิ์ และนายจรัญ ดำรงตำแหน่งมายาวนานถึง 11 ปี
    ต่อมา บทเฉพาะกาลของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 มาตรา 79 ให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญคงดำรงตำแหน่งต่อไปจนกว่าจะครบวาระตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 (9 ปี) ปัจจุบันมี 4 คนที่ให้อยู่ต่อจนกว่าจะครบวาระ คือ นายวรวิทย์, นายทวีเกียรติ, นายปัญญา และนายนครินทร์ เนื่องจากยังดำรงตำแหน่งไม่ครบ 9 ปี ยกเว้น 5 คนที่อยู่เกินวาระตามคำสั่ง คสช. รวม 11 ปี จะพ้นจากตำแหน่งต่อเมื่อตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่แต่งตั้งใหม่ในสัดส่วนศาลฎีกา, ศาลปกครอง และผู้ทรงคุณวุฒิอื่นเข้ารับหน้าที่
    เมื่อวิเคราะห์ 4 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่อยู่ต่อ กับกฎหมายใหม่ที่ลดสัดส่วนสาขานิติศาสตร์กับรัฐศาสตร์เหลืออย่างละ 1 คน แล้วเพิ่มสัดส่วนผู้ทรงคุณวุฒิอื่น 2 คน ยังคงมีปัญหาสัดส่วนนิติศาสตร์เกินมาเป็น 2 คนอยู่ คือ นายทวีเกียรติกับนายปัญญา  โดยส่วนที่ต้องสรรหาคัดเลือกใหม่ต้องมาจากศาลฎีกา 3 คน, ศาลปกครอง 1 คน หักเดิมมีนายวรวิทย์ 1 คน และผู้ทรงคุณวุฒิอื่น 2 คน ไม่รวมรัฐศาสตร์ที่เดิมมีนายนครินทร์ 1 คน จะทำให้จำนวนของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้งหมดเกินจากรัฐธรรมนูญกำหนด 9 คน มาเป็น 10 คน จะเอาคนที่อยู่เดิมออกก็ไม่ได้ ดังนั้นจึงเป็นที่มาของการตัดสัดส่วนผู้ทรงคุณวุฒิอื่นเหลือ 1 คน ตามที่สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภารับสมัครผู้เข้ารับการสรรหาเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเพียง 1 ตำแหน่งนั่นเอง!
    การสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในส่วนของวุฒิสภาปิดรับสมัครแล้วเมื่อวันที่ 3 ก.ค.2562 มีผู้สมัครรวม 7 ราย ปรากฏบุคคลชื่อดัง อาทิ นายธนฤกษ์ นิติเศรณี อดีตรองประธานศาลฎีกา, นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส อดีตผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และนายเชาวนะ ไตรมาศ เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ เป็นต้น ทั้ง 7 คนจากที่ควรจะได้รับเลือก 2 คน ก็เหลือเพียงคนเดียว อันเป็นผลสืบเนื่องจากปัญหาทางกฎหมายและคำสั่ง คสช. ที่ทำให้สัดส่วนที่กฎหมายกำหนดไม่สามารถปฏิบัติได้ในความเป็นจริงขณะนี้
    ในส่วนของศาลฎีกา 3 คน ซึ่งไม่มีปัญหาข้องเกี่ยวกับสัดส่วนดังกล่าว เราก็เตรียมลุ้นจะปรากฏชื่อใครบ้างหลังปิดรับสมัคร จากนั้นยังมีเส้นทางยังอีกยาวไกล ต้องผ่านการได้รับเลือกจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาก่อน แล้วส่งวุฒิสภาเป็นลำดับสุดท้าย ในการพิจารณาแต่งตั้งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจากทุกสัดส่วนที่มาต่อไป.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"