ปูพื้นฐานก่อนเลือกตั้ง "อบต."


เพิ่มเพื่อน    

จากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ส่งผลกระทบในหลายๆ เรื่อง โดยเฉพาะการเลือกตั้งนายกและสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และพัทยา ที่ก่อนหน้านั้นมีการคาดการณ์ว่า การเลือกตั้งทั้ง 2 รูปแบบจะเสร็จสิ้นภายในปีนี้ แต่ดูเหมือนเวลานี้เริ่มไม่แน่ใจแล้วว่าทำได้หรือไม่

                อบต.เป็นหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น มีฐานะเป็นนิติบุคคลและราชการส่วนท้องถิ่น จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ.2537 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 2 มี.ค.2538 และมีฉบับแก้ไขเพิ่มเติมในเวลาต่อมา พระราชบัญญัติฉบับนี้ได้ส่งผลให้มีการกระจายอำนาจสู่องค์กรประชาชนในระดับตำบลอย่างมาก โดยได้ยกฐานะสภาตำบลซึ่งมีรายได้ตามเกณฑ์คือ มีรายได้ไม่รวมเงินอุดหนุนในปีงบประมาณที่ล่วงมาติดต่อกัน 3 ปี เฉลี่ยไม่ต่ำกว่าปีละ 150,000 บาท ขึ้นเป็น อบต. กล่าวได้ว่าการจัดตั้ง อบต.นี้เป็นผลผลิตหนึ่งของกระแสของสังคมที่ต้องการจะปฏิรูปการเมือง ดังนั้น อบต.จึงเป็นมิติหนึ่งของความพยายามในการปฏิรูปการเมืองโดยการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น

                ซึ่ง อบต.มีความสำคัญต่อท้องถิ่นเป็นอย่างมาก เพราะเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีขนาดเล็กที่สุด แต่ใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุด โดยเฉพาะประชาชนในพื้นที่ชนบท องค์การบริหารส่วนร่วมในการปกครองตนเองตามระบอบประชาธิปไตย

                อบต.ในฐานะที่เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบหนึ่ง มีส่วนสำคัญยิ่งในการทำให้ประชาชนในชนบทได้มีโอกาสในการปกครองตนเองตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันที่ต้องการกระจายอำนาจให้กับท้องถิ่นมากขึ้น

                เมื่อมี อบต.ก็ต้องมีโครงสร้าง ซึ่งเป็นไปตามบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ โดยโครงสร้างขององค์การบริหารส่วนตำบลตามพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2546 ประกอบด้วยสภาองค์การบริหารส่วนตำบล ซึ่งมีสมาชิกสภามาจากการเลือกตั้งของประชาชน และนายกองค์การบริหารส่วนตำบลซึ่งมาจากการเลือกตั้งของประชาชนในเขตองค์การบริหารส่วนตำบล แยกจากสภาองค์การบริหารส่วนตำบล

                ในส่วนของสภา อบต. ซึ่งตามพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2546 กำหนดให้สภา อบต.ประกอบด้วยสมาชิกสภา อบต. ซึ่งมาจากการเลือกตั้ง หมู่บ้านละ 2 คน ในกรณีที่ อบต.ใดมี 1 หมู่บ้าน ให้หมู่บ้านนั้นเลือกสมาชิกสภา อบต.จำนวน 6 คน และในกรณีที่ อบต.ใดมี 2 หมู่บ้าน ให้องค์การบริหารส่วนตำบลนั้นมีสมาชิกสภา อบต.หมู่บ้านละ 3 คน โดยทำหน้าที่ดังนี้ 1.ให้ความเห็นชอบแผนพัฒนาตำบลเพื่อเป็นแนวทางในการบริหารกิจการขององค์การบริหารส่วนตำบล 2.พิจารณาให้ความเห็นชอบร่างข้อบัญญัติองค์การบริหารส่วนตำบล ร่างข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี ร่างข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม

                3.ควบคุมการปฏิบัติงานของคณะผู้บริหารให้เป็นไปตามนโยบายและแผนพัฒนาตำบลตาม (1) และกฎหมาย ระเบียบ และข้อบังคับของทางราชการ 4.เลือกประธานสภา รองประธานสภา และเลขานุการสภา อบต. 5.รับทราบนโยบายของนายกองค์การบริหารส่วนตำบลก่อนนายกองค์การบริหารส่วนตำบลเข้ารับหน้าที่ และรับทราบรายงานแสดงผลการปฏิบัติงานตามนโยบายที่นายกองค์การบริหารส่วนตำบลได้แถลงไว้ต่อสภาองค์การบริหารส่วนตำบลเป็นประจำทุกปี 6.ในที่ประชุมสภาองค์การบริหารส่วนตำบล สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลมีสิทธิ์ตั้งกระทู้ถามต่อนายกองค์การบริหารส่วนตำบลหรือรองนายกองค์การบริหารส่วนตำบลอันเกี่ยวกับงานในหน้าที่ได้

                7.สภาองค์การบริหารส่วนตำบลมีอำนาจในการเสนอบัญญัติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อให้นายกองค์การบริหารส่วนตำบลแถลงข้อเท็จจริงหรือแสดงความคิดเห็นในปัญหาเกี่ยวกับการบริหารองค์การบริหารส่วนตำบลโดยไม่มีการลงมติได้ และ 8.สภาองค์การบริหารส่วนตำบลมีอำนาจในการเลือกปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลหรือสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลคนใดคนหนึ่งเป็นเลขานุการสภาองค์การบริหารส่วนตำบล

                แต่ในพระราชบัญญัติสภาตำบลและ อบต. (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2562 นี้ ได้เปลี่ยนแปลงสาระสำคัญจากฉบับเดิม โดยเฉพาะสภา อบต.ที่กำหนดให้จำนวนสมาชิก อบต.เหลือเพียงหมู่บ้านละ 1 คน โดยให้เขตหมู่บ้านเป็นเขตเลือกตั้ง หากหมู่บ้านใดมีราษฎรตามหลักฐานการทะเบียนราษฎรไม่ถึง 25 คน ให้รวมหมู่บ้านนั้นกับหมู่บ้านที่มีพื้นที่ติดต่อกัน หาก อบต.ใดมีเพียง 1 หมู่บ้าน ให้มีสมาชิก 6 คน หากมี 2 หมู่บ้าน ให้มีสมาชิกหมู่บ้านละ 3 คน หากมี 3 หมู่บ้าน ให้มีสมาชิกหมู่บ้านละ 2 คน หากมี 4 หมู่บ้าน ให้มีสมาชิกหมู่บ้านละ 1 คน และ 2 หมู่บ้านที่มีประชากรมากเพิ่มอีกหมู่บ้านละ 1 คน และหากมี 5 หมู่บ้าน ให้มีสมาชิกหมู่บ้านละ 1 คน และอีก 1 หมู่บ้านที่มีประชากรมากที่สุดเพิ่มอีก 1 คน

                ส่วนของคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามและการกระทำการอันต้องห้าม ของสมาชิก อบต. และนายก อบต. นายก อบต. ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 35 ปีนับถึงวันเลือกตั้ง โดยมีวาระอยู่ในตำแหน่งคราวละ 4 ปีนับแต่วันเลือกตั้ง แต่จะดำรงตำแหน่งเกิน 2 วาระไม่ได้ ในกรณีที่นายก อบต.ดำรงตำแหน่งไม่ครบระยะเวลา 4 ปีก็ให้ถือเป็น 1 วาระ และเมื่อได้ดำรงตำแหน่ง 2 วาระติดต่อกันแล้วจะดำรงตำแหน่งได้อีกเมื่อพ้นระยะเวลา 4 ปี นับแต่วันพ้นจากตำแหน่ง

                สำหรับผู้บริหาร อบต. ต้องไม่ดำรงตำแหน่งอื่นในหน่วยงานของรัฐ และเป็นผู้มีส่วนได้เสียในสัญญา หรือกิจการที่กระทำกับหรือให้แก่ อบต.นั้น หรือมีส่วนได้เสียในสัญญาหรือกิจการที่กระทำหรือจะกระทำกับหรือให้แก่ อปท.อื่น และคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามอื่นตามกฎหมายเลือกตั้ง

                ด้านอำนาจหน้าที่และประเภทรายจ่ายของ อบต.กำหนดให้ อบต.มีอำนาจหน้าที่รักษาความเป็นระเบียบเรียบร้อย การดูแลการจราจร นอกจากนี้มีอำนาจหน้าที่จัดการ ส่งเสริมและสนับสนุนการจัดการศึกษา ศาสนา วัฒนธรรม และการฝึกอบรมให้แก่ประชาชน รวมทั้งการจัดการหรือสนับสนุนการดูแลและพัฒนาเด็กเล็กตามแนวทางที่เสนอแนะจากกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา นอกจากนี้จะนำเงินไปใช้จ่ายเพื่อการฝึกอบรมหรือดูงานในต่างประเทศของผู้บริหารท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่นจะกระทำมิได้ ยกเว้นที่มีข้อตกลงหรือความร่วมมือ

                สำหรับขั้นตอนก่อนที่จะนำไปสู่การเลือกตั้ง อบต. โดยก่อนจะประกาศให้มีการเลือกตั้ง อบต.เป็นดังนี้ 1.ต้องมีการประชุมเตรียมความพร้อมการเลือกตั้งท้องถิ่นที่กระทรวงมหาดไทยก่อน โดยมีผู้แทนของ กกต.และผู้แทนของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) โดยผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทยเป็นประธานในการประชุม 2.เมื่อมีการประชุมเรียบร้อยแล้ว จะนำเรียนเสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเห็นชอบก่อน 3.ถ้ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเห็นชอบก็จะส่งให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา

                4.เมื่อ ครม.เห็นชอบก็จะส่งต่อไปที่ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อเตรียมประกาศให้มีการเลือกตั้ง 5.ประธาน กกต.จะใช้อำนาจตามมาตรา 142 แห่งพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น ประกาศให้มีการเลือกตั้งนายกและสมาชิกสภา อบต.จะต้องพ้นตำแหน่งตั้งแต่วันที่ประกาศให้มีการเลือกตั้ง   

            แต่เมื่อการเลือกตั้ง อบต.ต้องเลื่อนเวลาออกจากที่ควรจะเป็น การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.และพัทยา ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นภายในปลายปีนี้ มีแนวโน้มสูงที่จะทอดยาวไปถึงปี 2565 ส่วนจะเป็นช่วงต้นปี หรือกลางปี ต้องรอดูสัญญาณการสั่งให้มีการเลือกตั้ง อบต.จากที่ประชุม ครม.ก่อนว่า จะให้ดำเนินการเลือกตั้งได้เมื่อใด.

 

 

 

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"