บิ๊กแดงลงยะลา ชูสนามบินเบตง ลดปัญหา‘ไฟใต้’


เพิ่มเพื่อน    

 "บิ๊กป้อม" ถก สมช.ส่งไม้ต่อ กอ.รมน.  หลัง คสช.หมดอายุ ผบ.ทบ.ควง มทภ.1 ลงพื้นที่ยะลา ชู "สนามบินเบตง" ผลงาน "บิ๊กตู่" รองรับเปิดประตูการค้าปี 64 ช่วยกระตุ้น ศก.นำความเจริญ ลดไฟใต้เบาบางลง

    ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่่ 5 กรกฎาคม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงและ รมว.กลาโหม เป็นประธานในการประชุมคณะกรรมการนโยบายสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) โดยมี พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย, พล.อ.วัลลภ รักเสนาะ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ, ผู้แทนเหล่าทัพ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.)? ภาค 4 ส่วนหน้า เข้าร่วมประชุม คาดว่าจะมีการหารือถึงการหมดวาระของคณะรักษาความมั่นคงแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งจะส่งไม้ต่อให้ กอ.รมน. ประสานงานกับทุกกระทรวงในการดูแลความเรียบร้อยของบ้านเมือง 
    มีรายงานข่าวจากที่ประชุม สมช.ว่า ที่ประชุมเห็นชอบแนวทางการปฏิบัติการขนส่งอาวุธอานุภาพทำลายล้างสูง (WMD) ตามที่ สมช.เสนอ ทั้งนี้ แนวทางการปฏิบัติการขนส่งอาวุธมี 2 ประเภท คือ อาวุธหนักและอาวุธเบา ซึ่งเหตุที่ต้องมีการกำหนดแนวทางปฏิบัติดังกล่าว เพื่อป้องกันการตื่นตระหนกและเกิดอันตรายเวลามีการเคลื่อนย้าย
    วันเดียวกัน พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) พร้อมด้วย พล.ท.ณรงค์พล จิตต์แก้วแท้ แม่ทัพภาคที่ 1 พร้อมคณะ เดินทางตรวจเยี่ยมการปฏิบัติในพื้นที่ อ.ธารโต และ อ.เบตง จะ.ยะลา ถือเป็นพื้นที่อยู่ในความรับผิดชอบสมัยรับราชการในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมตรวจความคืบหน้าการก่อสร้างสบานบินเบตง มี พล.ท.พรศักดิ์ พูลสวัสดิ์ แม่ทัพภาคที่ 4 ให้การต้อนรับ 
    โดยในช่วงเช้า พล.อ.อภิรัชต์ พร้อมคณะ ได้เดินทางไปหน่วยเฉพาะกิจตำรวจชายแดนที่ 44 อ.ธารโต พบปะกับฝ่ายปกครองและผู้นำท้องถิ่นในพื้นที่ พร้อมทั้งกล่าวว่า รู้สึกดีใจที่พื้นที่นี้มีความเจริญไปมาก อยากให้ช่วยกันดูแล โดยเฉพาะสนามบินเบตง ที่ก่อสร้างในยุค พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ซึ่งมีความคิดริเริ่มตั้งแต่ปี 2538 และขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการ คาดว่าจะแล้วเสร็จและเปิดใช้บริการแบบครบวงจรปี 2564 จากนั้นงบประมาณจากส่วนกลางจะลงมา นำไปสู่ความเจริญหลายด้าน และพื้นที่นี้จะกลายเป็นศูนย์ท่องเที่ยวใหญ่ที่สุด นักท่องเที่ยวจะหลั่งไหลเข้ามา จะกระตุ้นเศรษฐกิจ ส่งผลให้ไทยพุทธและมุสลิมอยู่กันอย่างมีความสุข 
    จากนั้น ผบ.ทบ.ให้โอวาทหน่วยเฉพาะกิจตำรวจชายแดนที่ 44 ว่า แม้ว่า อ.ธารโต และ อ.เบตง จะมีความสงบสุขมากกว่าสมัยที่ตนเคยรับราชการ แต่เราต้องไม่ประมาท และมีความพร้อมอยู่เสมอ ที่สำคัญต้องดูแลประชาชนในพื้นที่ให้เกิดความปลอดภัยต่อเนื่อง ให้เฝ้าระวังบุคคลภายนอกที่จะเข้ามาก่อเหตุ โดยเฉพาะสนามบินเบตงกำลังแล้วเสร็จ การใช้เส้นทางต้องปลอดภัย เพื่อรองรับนักท่องเที่ยว ที่สำคัญขออย่าเข้าไปมีส่วนร่วมในสิ่งผิดกฎหมาย เพราะเราเป็นข้าราชการขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นข้าราชการในกองทัพบกและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ต้องมีความภาคภูมิใจ และการปฏิบัติงานในหน้าที่ขอให้ยึดถือตามหลักกฎหมาย 
    ต่อมา พล.อ.อภิรัชต์เปิดเผยภายหลังเดินทางไปตรวจความคืบหน้าสนามบินเบตงว่า สนามบินเบตงเป็นการดำเนินการของ พล.อ.ประยุทธ์ สมัยดำรงตำแหน่งเป็นรองแม่ทัพภาคที่ 1 ซึ่งได้ลงพื้นที่มาดูการปฏิบัติงานในปี 2548 จากนั้นผ่านไป 10 ปี พล.อ.ประยุทธ์ได้ผลักดันให้เกิดสนามบินเบตง โดยมีวิสัยทัศน์ว่าสนามบินแห่งนี้อยู่ในแผนพัฒนาใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ครอบคลุม 3 มิติ ได้แก่ เศรษฐกิจ ความมั่นคง และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ซึ่งเดิมสนามบินนี้ทำรันเวย์แค่ 1,800 เมตร และมีการขยายเพิ่มอีก 300 เมตร เพื่อให้เครื่องบินแอร์บัสและโบอิ้ง 737 และโบอิ้ง 747 สามารถลงได้ ซึ่งคาดว่ารันเวย์และอาคารผู้โดยสารจะสร้างแล้วเสร็จในช่วงเดือนต.ค.นี้ 
    ทั้งนี้ รัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีวิสัยทัศน์เปิดประตูการค้าขาย เปิดประตูอาเซียนและการค้าเสรีด้วย ซึ่ง อ.เบตงเป็นพื้นที่ที่มีคุณลักษณะเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ใหญ่ และด้วยสภาพภูมิศาสตร์ สนามบินเบตงห่างจากสนามบินอื่นเกิน 100 กิโลเมตรขึ้นไป เนื่องจากสนามบินใกล้ที่อยู่ฝั่งมาเลเซียคือสนามบินปีนัง จึงเชื่อมั่นว่าหากสนามบินเบตงเปิดให้บริการ สามารถรองรับนักท่องเที่ยวได้ปีละ 1 ล้านคน และในชั่วโมงเร่งด่วน สามารถรับผู้โดยสารชั่วโมงละ 300 คน ถือว่าความฝันที่เบตงจะเป็นประตูการค้าเกิดขึ้นในสมัยของ คสช. ซึ่งถือเป็นความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ตนดีใจที่ได้มาเห็นความสำเร็จ และขอให้การดำเนินงานผ่านไปด้วยความราบรื่น
    ผบ.ทบ.กล่าวว่า เรื่องความมั่นคง หน่วยงานความมั่นคงจะให้การสนับสนุนในทุกรูปแบบ เพราะจะสามารถสร้างความเจริญก้าวหน้าให้พื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้มีเศรษฐกิจที่ดี ความไม่สงบก็น่าจะเบาบางลง ส่วนการดูแลรักษาความปลอดภัยท่าอากาศยานในอนาคตนั้น ต้องหารือกับการท่าอากาศยาน โดย กอ.รมน.ภาค 4 จะต้องร่วมวางแผนด้วย ทั้งนี้ สนามบินเบตงจะอยู่ภายใต้การดูแลของสนามบินนราธิวาส สำหรับการดูแลในพื้นที่รอบนอกเป็นหน้าที่ของทหาร ซึ่งพื้นที่เบตงค่อนข้างจะมีความสงบเรียบร้อยอยู่แล้ว
    สำหรับโครงการก่อสร้างท่าอากาศยานเบตงนั้น คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติเมื่อวันที่ 6 ต.ค.2558 เห็นชอบให้ก่อสร้างท่าอากาศยานเบตง ในกรอบวงเงิน 1,900 ล้านบาท ระยะเวลาในการดำเนินการก่อสร้าง 3 ปี ในพื้นที่จำนวน 920 ไร่ สัญญาการก่อสร้างดำเนินการใน 2 ส่วน คือ การก่อสร้างทางวิ่ง ทางขับ ลานจอดเครื่องบิน ระบบไฟฟ้าสนามบิน สิ้นสุดสัญญาวันที่ 15 ก.ค.2562 และสัญญาที่ 2 คือการก่อสร้างอาคารที่พักผู้โดยสารและอาคารประกอบในสนามบิน ซึ่งโครงการจะแล้วเสร็จในปีงบประมาณ 2562 คาดว่าสามารถเปิดให้บริการท่าอากาศยานเบตงได้ในปี 2563 เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้โดยสารทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ นอกจากนี้ หวังให้มีการเชื่อมโยงระหว่างเมืองในพื้นที่ภาคใต้ คือเส้นทางบินหาดใหญ่-เบตง-ปีนัง-กัวลาลัมเปอร์ หรือ ภูเก็ต-หาดใหญ่-เบตง ซึ่งเป็นการเชื่อมเมืองส่งเสริมการท่องเที่ยวอีกทางหนึ่งด้วย.
    
 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"