เรือดำน้ำรำลึก (3) : เบอร์ลินลิ้นห้อย


เพิ่มเพื่อน    


 เรือดำน้ำวิสกี้คลาส U-194 ของอดีตสหภาพโซเวียตจอดอยู่ที่อู่ต่อเรือในเมืองเซสชิน ประเทศโปแลนด์ พร้อมออกเดินทางสู่เมืองไทย

 

​​​​​​​          จากสนามบินอาร์ลันดา กรุงสตอกโฮล์ม ใช้เวลาบินประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่งก็ถึงสนามบินเบอร์ลินบรันเดนบวร์ก สนามบินแห่งนี้แม้อยู่ในเยอรมนี แต่ถือว่าเป็นสนามบินนานาชาติที่อยู่ใกล้เมืองเซสชิน ประเทศโปแลนด์ กว่าสนามบินนานาชาติอื่นๆ ในโปแลนด์ด้วยกัน

                เรากำลังจะเดินทางไปที่เมืองเซสชิน เพราะเรือดำน้ำ U-194 กำลังได้รับการซ่อมแซมขั้นสุดท้ายอยู่ที่นั่นก่อนออกเดินทาง (ด้วยเรือลาก) สู่ประเทศไทย คณะของคุณเจษฎา เดชสกุลฤทธิ์ เจ้าของคนใหม่ก็มารออยู่แล้ว

                ที่อาคารผู้โดยสารขาเข้าสนามบินกรุงเบอร์ลิน เราช่วยกันกวาดตามองบรรดาคนที่ยืนถือป้ายกระดาษเพื่อรับเราไปเมืองเซสชิน ข้อความที่ควรจะเป็นของเราคือ U-194 หรือชื่อของพวกเราคนใดคนหนึ่ง หาอยู่นานก็ไม่เจอ สุดท้ายเกือบไม่เหลือใครถือป้ายอยู่บริเวณนั้น หรือไม่มีใครมารับเรา?

                กระทั่งพี่หมี (พระสุธรรม ฐิตธัมโม ในปัจจุบัน) พาฝรั่งศีรษะโล่งเตียนหุ่นตุ้ยนุ้ยเดินมาหาผม เขาพูดภาษาอังกฤษแทบไม่ได้ ในมือมีกระดาษเขียนว่า EDI ซึ่งเราไม่รู้ความหมาย แต่เมื่อโชว์ข้อความในมือถือเขียนว่า Mr.Witoon lost his passport, please bring him to Thai Embassy in Berlin “นายวิฑูรย์ทำพาสปอร์ตหาย กรุณาพาเขาไปที่สถานทูตไทย ณ กรุงเบอร์ลิน” ผมก็โล่งใจ นี่แหละสารถีของเรา

                ส่วนป้าย EDI ที่เขาถืออยู่ ทราบในสอง-สามวันหลังจากนั้นว่าเป็นชื่อเรือลากที่จะพาเราและเรือดำน้ำไปเมืองไทย ขณะที่ข้อความในมือถือมาจากพี่ธรรมนูญ ลูกน้องคุณเจษฎาที่ทำหน้าที่ประสานงานอยู่ที่เมืองเซสชิน และเป็นอีกคนหนึ่งที่จะลงเรือไปกับพวกเราด้วย

                คนขับรถของเราชื่อ “ปีเตอร์” เป็นคนโปลิช พูดภาษาเยอรมันได้ มีแผนที่ขนาดใหญ่อยู่ในรถยนต์ซีตรองของเขา หาตำแหน่งที่ตั้งสถานทูตไทยเจอแล้ว แต่ไม่รู้จะคลำทางไปอย่างไร เขาขับไปจอดด้านหน้าอาคารสนามบินเพื่อจะถามใครสักคน เวลานี้ฝนพรำลงมา อุณหภูมิ -8 องศา แถมลมยังพัดแรง

                สาวใหญ่ในชุดเหลืองเดินตัวสั่นสะท้านด้วยความหนาวมาที่รถ เสวนากับปีเตอร์ แต่ปีเตอร์ไม่ค่อยอยากคุยด้วยเท่าไหร่ มีผู้หญิงอีกคนเดินเข้ามา เธอเป็นเจ้าหน้าที่สนามบินเสนอความช่วยเหลือ ปีเตอร์จึงลงจากรถไปคุยกับเธอใต้ชายคาอาคาร เป็นโอกาสให้สาวใหญ่ชุดเหลืองได้เสวนากับคนที่เหลือในรถ

                เธอแต่งหน้าแรง ปัดแก้มสีออกแดงๆ ส้มๆ ทาเปลือกตาและขอบตาสีดำ ใส่กระโปรงสั้น และถุงน่องตาข่าย แต่คงไม่สามารถต้านทานอากาศหนาว เพราะตาข่ายห่างจนใช้ดักปลาได้ เธอเป็นคนโปลิช แต่พูดอังกฤษได้คล่องแคล่ว บอกว่าเพิ่งลงเครื่อง ทำงานอยู่ในแอฟริกานานหลายปี รู้สึกไม่ค่อยชินกับอากาศหนาวเสียแล้ว มีความจำเป็นต้องกลับมาเยี่ยมญาติที่โปแลนด์ จองแท็กซี่ไว้ทางอินเทอร์เน็ต แต่แท็กซี่ไม่มาตามนัด “ฉันเกลียดอินเทอร์เน็ต ฉันเกลียดเทคโนโลยี ไว้ใจไม่ได้เลย”

                ปีเตอร์ได้ข้อมูลกลับมาครบถ้วน สาวใหญ่ชุดเหลืองขอติดรถเข้าโปแลนด์ไปด้วย ปีเตอร์ปฏิเสธ พร้อมเหตุผลว่ามีงานต้องทำอีกหลายอย่างก่อนจะเข้าโปแลนด์ เธอก็คงต้องหาทางต่อไปในสภาพการแต่งกายที่กล่าวมา ภายใต้อากาศหนาวเย็นและลมแรง

                เราถึงสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงเบอร์ลิน เวลาเที่ยงพอดี เจ้าหน้าที่ผมสกินเฮด หน้าผากเถิกถึงกลางศีรษะ มีหนวดเหนือริมฝีปากบนเป็นจุดเด่นพอๆ กับศีรษะ ไล่ให้พวกเราไปแจ้งความก่อน จากกิริยาที่เขาใช้ต้องเรียกว่า “ไล่” เท่านั้น เราอาจจะคาดหมายข้าราชการที่กินภาษีจากพวกเราว่าจะปฏิบัติกับเราผู้เดือดร้อนให้ดีกว่านี้ แต่เราก็เจอข้าราชการแบบนี้อยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน

                ผมแจ้งว่าพาสปอร์ตหายในสวีเดน ตำรวจเยอรมนีจะยอมรับแจ้งความหรือ นายหนวดบอกให้โกหกตำรวจไปว่าหายที่นี่ พอถามทางไปสถานีตำรวจ นายหนวดก็ตอบ “ไม่รู้” พร้อมทั้งขู่ว่าสถานทูตปิดบ่ายโมง

                เมื่อ 12 ปีที่แล้ว หากชาวไทยในกรุงเบอร์ลินมีธุระต้องไปติดต่อสถานทูต ท่านอาจจำหน้าและกิริยาของนายคนนี้ได้ ส่วนใน พ.ศ.นี้ไม่รู้ว่าไปได้ดิบได้ดีอยู่ที่ไหนแล้ว

                โชคเรายังมี เจ้าหน้าที่อีกคนเดินเข้ามาเขียนที่อยู่ของสถานีตำรวจและวาดแผนที่ให้ หนึ่งในกลุ่มคนไทยที่ง่วนอยู่กับการเตรียมเอกสารเพื่อติดต่อกิจธุระกล่าวกำชับว่า “น้องรีบมานะ เขาปิดบ่ายโมง” เท่ากับเราเหลือเวลาไม่ถึง 1 ชั่วโมง

                สถานีตำรวจที่นี่ ถ้าไม่มีป้ายเขียนไว้ว่า Polizei เราก็มองแทบไม่ออกว่าเป็นสถานีตำรวจ ด้านหน้ามีป้อมยาม เจ้าหน้าที่คอยสกรีนถามถึงธุระความจำเป็น

                ลุงอ้วนหนวดเฟิ้มถามผมเป็นภาษาเยอรมัน ผมตอบเป็นภาษาอังกฤษ แกใช้วิทยุส่งข่าวไปบอกด้านใน แล้วหันมาถามว่ามาจากไหน พอตอบว่าไทยแลนด์ แกยิ้มเผยให้เห็นฟัน บอกว่าเคยไปเที่ยวประเทศไทยหลายครั้ง แล้วแกก็ทยอยพูดภาษาไทยออกมา “สุไหงโกลก หาดใหญ่ สุราษฎร์ธานี” และอีกหลายคำ ต่อด้วย “ฝนตก” เพราะตอนนี้ฝนยังคงตกอยู่ สรุปแล้วแกน่าจะพูดภาษาไทยได้มากกว่าภาษาอังกฤษ

                เสียงวิทยุดังขึ้น หลังฟังอีกฝ่ายเสร็จลุงอ้วนบอกกับเราว่าต้องไปอีกสถานที่หนึ่ง “ตึกสูงๆ” พร้อมทำท่าทางให้ดูเป็นตึกสูง ผมไปเรียกปีเตอร์มาสื่อสาร ลุงอ้วนชี้ไปที่กระดาษที่แปะไว้ข้างฝาของป้อมยาม นั่นคือสถานที่ที่เราต้องไป แกอธิบายกับปีเตอร์เป็นภาษาเยอรมัน แล้วหันกลับมาพูดกับผม “ตึกสูงๆ” พร้อมทำไม้ทำมือเหมือนเดิม ผมลาแกเป็นภาษาไทย แกก็ตอบกลับมาว่า “สวัสดี”

                ไม่นานปีเตอร์ก็ขับมาถึงอาคารเลขที่ 80 ตึกสูงๆ ที่ลุงอ้วนบอก พี่หมู (ผุดผาดน้อย วรวุฒิ) รออยู่ในรถกับปีเตอร์ ผมเข้าไปกับพี่หมี ถามถึงโปลิศสเตชั่น เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ให้ขึ้นไปชั้น 12 ถึงตอนนี้เรามีเวลาเหลือแค่ครึ่งชั่วโมงเท่านั้น ผมได้คิวที่ 53 ขณะที่หมายเลขที่แสดงอยู่บนจอระบุคิวที่ 38 และ 39

                พี่หมีแนะให้ผมลัดคิว ห้องไหนว่างก็ให้เดินเข้าไปเลย แล้วบอกถึงความจำเป็น ทั้งเวลาสถานทูตปิด และเวลาที่ต้องเดินทางไปโปแลนด์

                เจ้าหน้าที่ในห้องที่ผมโผล่เข้าไปถามย้ำ 3 ครั้งว่า “คิวของคุณหมายเลขเท่าไหร?” ทำให้ต้องเดินกลับออกมาด้วยความอับอาย แถมยังได้อารัมภบทไปด้วยว่า “ผมมาจากประเทศไทย” แต่พี่หมีบอกว่าของแบบนี้จะมาทำหน้าบางไม่ได้ ต้องลองทุกทาง แล้วให้ผมไปพูดกับเจ้าหน้าที่จัดคิว ผมก็เดินเข้าไปพูดถึงความจำเป็นอีกครั้ง เจ้าหน้าที่สาวบอกว่าเธอช่วยอะไรไม่ได้ คนอื่นก็รออยู่ ไม่เห็นหรือ ทำให้หน้าชาออกมาอีกครั้ง

                มีความรู้สึกแปลกๆ ว่าน่าจะทัน เหมือนตอนที่รู้สึกว่าพี่หมูจะได้ลงเรือเฟอร์รีเมื่อวันก่อน และผมจะได้ขึ้นเครื่องบินจากสตอกโฮล์มมายังสวีเดนเมื่อเช้านี้โดยไม่มีพาสปอร์ตตัวจริง ขณะนั้นเหลือเวลา 20 นาที คิวบนจอแสดงเลขที่ 44 และช่วง 15 นาทีสุดท้ายก่อนบ่ายโมง ตัวเลขวิ่งจาก 44, 45, 46 และในที่สุดก็ 53 อย่างรวดเร็ว

                เข้าไปนั่งในห้องหมายเลข 6 ด้วยใจระทึก เจ้าหน้าที่ผู้หญิงถามถึงความเดือดร้อน ผมอธิบายแล้วยื่นพาสปอร์ตฉบับก๊อบปี้ให้ เธอตรวจสอบในเครื่องคอมพิวเตอร์แล้วเงยหน้าขึ้นมาพูด “คุณทำหายที่สวีเดนนี่นา ไม่ใช่บนถนนในกรุงเบอร์ลิน” เธอบอกให้กลับไปหาตำรวจที่เราเพิ่งจากมาอีกครั้ง แล้วเขียนอะไรบางอย่างลงในกระดาษแผ่นหนึ่งแล้วปั๊มวัน-เวลาลงไปก่อนยื่นมาให้

                ผมได้ไอเดียว่าวัน-เวลาที่เธอปั๊มลงไปนี่แหละคือหลักฐานการแจ้งความ จะไม่กลับไปที่สถานีตำรวจของลุงอ้วนอีก ลงจากตึกแล้วบอกให้ปีเตอร์บึ่งไปสถานทูต ทันเวลาบ่ายโมงอย่างเหลือเชื่อ

                เป็นโชคของเรา นายหนวดไม่อยู่แล้ว เหลือเจ้าหน้าที่ใจดีคนที่เขียนแผนที่ให้เราก่อนหน้านี้ เขายื่นแบบฟอร์มคำขอทำพาสปอร์ตชั่วคราวให้กรอก และว่ากระดาษที่ได้มาจากชั้น 12 ใช้แทนใบแจ้งความได้ แล้วยังให้เวลาไปถ่ายรูปติดบัตร บ่าย 2 ครึ่งค่อยมาใหม่ วันนี้จะขยายเวลาปิดให้ถึง 4 โมงเย็น เพราะต้องรอกงสุลเข้ามาเซ็น

                เขาพินิจพิเคราะห์ใบหน้าของหนึ่งในคณะเรา แล้วถามออกมาว่า “ใช่พี่หมูหรือเปล่า?” ผุดผาดน้อย วรวุฒิ ตอบ “ใช่” แล้วเดินเข้าไปหา พูดคุยกันระหว่างลูกกรง ผ่านช่องยื่นเอกสาร

                ฝ่ายเจ้าหน้าที่แนะนำตัวเองว่าชื่อ “เสาร์” เคยเจอพี่หมูเมื่อปี ค.ศ.1983 หรือ 1984 ตอนที่สมาคมนักเรียนไทยในฝรั่งเศสยกทีมฟุตบอลมาเตะกระชับมิตรประจำปีกับฝ่ายเยอรมัน มีนักเรียนไทยในประเทศใกล้เคียงเข้าร่วมด้วยอีกสี่-ห้าประเทศ พี่หมูเรียนภาษาได้ไม่กี่วันก็ถือว่าเป็นนักเรียนไทยในฝรั่งเศสแล้ว แกจึงไปร่วมงานทุกปี และไฮไลต์ของแกไม่ได้อยู่ที่การเตะบอล หากแต่เป็นงานเลี้ยงหลังเตะบอล

                พี่หมีได้โอกาสถามถึงร้านอาหารไทยประเภทข้าวราดแกงในละแวกนี้ พร้อมยื่นแผนที่จากปีเตอร์ให้คุณเสาร์ใช้ปากกาปักหมุด แล้วเราก็ไปกินมื้อเที่ยงกันที่ร้าน “ตลาดไทย” ทุกคนเอร็ดอร่อย ไม่เว้นปีเตอร์ เขายังซื้อตะเกียบจากร้านมา 1 คู่นำกลับบ้านด้วย

                ผมออกไปหาร้านถ่ายรูปสำหรับติดในพาสปอร์ตชั่วคราว ถามแขกเติร์กคนหนึ่ง เขาบอกให้ลงไปดูในสถานีรถไฟใต้ดิน เจอแขกเติร์กอีกคนในร้านโทรศัพท์มือถือแนะให้ไปที่ตู้หยอดเหรียญ ในตู้ระบุให้ใช้เหรียญ 5 ยูโร จึงกลับไปขอแลกเหรียญกับแขกเติร์กในร้านมือถือ เขาก็ใจดีให้แลก เมื่อนำไปหยอด เครื่องกลับไม่ทำงาน แต่ยังได้เหรียญคืน ออกจากสถานีรถไฟใต้ดินก็วิ่งฝ่าความหนาวไปเรื่อยๆ มองดูสองฝั่งถนน ไม่เห็นร้านถ่ายรูปเลย ถามทั้งแขกเติร์กและคนเยอรมันก็ไม่มีคนรู้ ส่วนมากไม่พูดภาษาอังกฤษ

                กระทั่งเจอวัยรุ่นแขกเติร์กขายผลไม้ 2 คน ขายกันคนละแผง ถามคนแรกว่า Do you speak English? เขาตอบว่า No, I don’t speak English ดูความกวนประสาทของมัน อีกคนกวักมือเรียก พูดว่า “ไอเป็นคนอังกฤษ” ซึ่งก็กวนประสาทพอกัน ผมถามว่า “ถ่ายรูปติดบัตรได้ที่ไหน” เขาบอกให้ตรงไป 300 เมตร ร้านจะอยู่ขวามือ

                ผมวิ่งฝ่าลมและความหนาวตรงไปเกินกว่า 500 เมตรแล้วก็ยังไม่เจอ เข้าไปถามในร้านขายเสื้อผ้า ลุงคนขายบอกให้เดินตรงไปจะเจอป้าย Foto อยู่ด้านซ้ายมือของถนน ผมวิ่งไปราว 100 เมตรก็เจอร้านดังกล่าว เข้าร้านไปในสภาพเหนื่อยหอบ แต่ไม่มีเหงื่อ ขอถ่ายรูป 4 รูป รอไม่ถึง 5 นาทีก็รับรูปได้ ราคา 9.99 ยูโร (ปีนั้นอัตราแลกเปลี่ยนยูโรละประมาณ 50 บาท) แล้ววิ่งกลับเป็นเส้นตรงไปยังทิศทางเดิมที่ร้านอาหารตั้งอยู่ ระยะทางประมาณ 2 กิโลเมตร รถของปีเตอร์กำลังขับออกจากร้านพอดี พวกเขากำลังจะตามหาผม เพราะเห็นว่าหายไปนาน

                ถึงสถานทูตเวลา 4 โมงเย็นเป๊ะ ประตูปิดแล้ว แต่ยังมีคนอยู่ข้างใน ทุกอย่างของวันนี้ล้วนทันเวลาแบบเฉียดฉิว คุณเสาร์และกงสุลยิ้มให้ รูปถ่ายถูกนำไปติดและกงสุลก็ลงลายมือชื่อ อ่านไม่ออกว่าท่านชื่ออะไร แต่นามสกุล “เทวกุล” (Devakula) แน่นอน

                ปีเตอร์ขับพาเราฝ่าลมและฝนที่กระหน่ำลงมามุ่งหน้าสู่โปแลนด์ ใช้เวลาราว 2 ชั่วโมงก็ถึงด่านชายแดน ประเทศโปแลนด์เมื่อต้นปี ค.ศ.2007 แม้จะลงนามเข้าเป็นสมาชิกกลุ่มเชงเก้นแล้ว แต่ยังไม่มีผลในทางปฏิบัติ เจ้าหน้าที่ประจำด่านเรียกดูพาสปอร์ต เมื่อเห็นว่าพวกเรา 3 คนไม่ใช่ชาวโปลิช ก็ให้ปีเตอร์ขับไปจอดในจุดจอดพิเศษ ผ่านไป 5 นาที เจ้าหน้าที่คนหนึ่งเดินมาบอกว่า มีพาสปอร์ตเล่มหนึ่งผิดปกติ (สีเขียว เล่มบาง) ผมจึงตอบไปว่า “เล่มปกติหาย อันนี้คือเล่มชั่วคราว สถานทูตเพิ่งออกให้” แล้วก็ยื่นฉบับถ่ายสำเนาของเล่มปกติให้ไปด้วย เขาก็ยังถามว่าพาสปอร์ตตัวจริงอยู่ไหน ผมย้ำอีกทีว่า “หาย” พี่แกทำท่าไม่เข้าใจ ตวาดว่า “เอาตัวจริงมา” ผมขึ้นเสียงกลับไป “ทำหายที่ไหนไม่รู้” แล้วทำไม้ทำมือให้ดูว่าหล่นหาย เหมือนเขาเพิ่งจะเข้าใจตอนทำไม้ทำมือนี่เอง แล้วบอกว่าโปแลนด์ยังไม่อยู่ในกลุ่มเชงเก้น วีซ่าของพวกเราใช้ไม่ได้

                เขาหายไปอีกพักหนึ่งแล้วกลับมาคุยกับปีเตอร์แล้วก็หายไปใหม่ ปีเตอร์เดินเข้าไปที่ตึกหลังหนึ่ง ผมเดินไปเข้าห้องน้ำในตึกนั้นก็เจอปีเตอร์ในห้องน้ำ ปีเตอร์พูดว่า 50-50 ไม่รู้จะผ่านหรือเปล่า จากนั้นปีเตอร์เดินไปคุยกับเจ้าหน้าที่ชุดลายพราง ครู่หนึ่งเขากลับเข้ารถ แล้วบอกว่า Maybe พร้อมยักไหล่ แต่พูดให้ใจชื้นขึ้นหน่อยว่าชุดลายพรางที่คุยเมื่อกี๊คือเพื่อนของเขา

                มีโทรศัพท์เข้ามาที่เบอร์ของปีเตอร์ ปลายสายขอคุยกับพี่หมี ได้ความว่าเอเยนต์จะจัดการเอง พี่หมูให้กำลังใจว่า “ถ้ามันไม่ให้เข้าก็ไล่กลับไปตั้งนานแล้ว ไม่ต้องรอถึงชั่วโมงครึ่งหรอก” แล้วก็ทราบว่าคนไทยจากฝรั่งเศสที่ไปร่วมงานปล่อยตัวเรือดำน้ำนี้ด้วยคนหนึ่งได้ล่วงหน้าไปตั้งแต่เมื่อวาน ใช้เวลาในการเจรจาชั่วโมงครึ่งเช่นกัน

                เอเยนต์จัดการอย่างไรไม่ทราบได้ แต่อีก 15 นาทีต่อมาเราก็ถึงที่หมายในเมืองเซสชิน.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"