'บ้านบางแค'นำร่องยุคดิจิตอล ใช้เทคโนโลยีช่วยดูแลผู้สูงอายุ


เพิ่มเพื่อน    

    สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือว่าด้วย “การขยายผลการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อผู้สูงอายุ ในศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุ” เพื่อเป็นการยกระดับการดูแลและการให้บริการผู้สูงอายุในศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุ (ศพส.) ไปได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล รองรับสังคมสูงอายุคุณภาพในอนาคต โดยมีนายปรเมธี วิมลศิริ ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธานและสักขีพยาน
    นายปรเมธี วิมลศิริ เปิดเผยว่า ในปี 2562 กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยกรมกิจการผู้สูงอายุ และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดย สวทช. ได้มีการผลักดันให้เกิดการขับเคลื่อนตามมาตรการขับเคลื่อนระเบียบวาระแห่งชาติ เรื่อง “สังคมสูงอายุ” มาตรการหลักที่ 2 การยกระดับขีดความสามารถสู่การบริหารจัดการภาครัฐ 4.0 มาตรการย่อยที่ 4 ในการพลิกโฉมนวัตกรรมเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคมสูงอายุ โดยการนำนวัตกรรม เทคโนโลยี และนวัตกรรมบริการ มานำร่องในศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุ (ศพส.) 12 แห่ง ภายใต้สังกัดกรมกิจการผู้สูงอายุ ซึ่งจะส่งผลให้คุณภาพการให้บริการของ ศพส.มีการพัฒนาขึ้นทั้งในด้านประสิทธิภาพและประสิทธิผล โดยการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ทางสังคมในปัจจุบันที่ประชากรผู้สูงอายุในประเทศไทยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และบางส่วนก็ยังขาดโอกาสที่จะเข้าถึงนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่เอื้อต่อการดำรงชีวิตของผู้สูงอายุ จากเครือข่ายนักวิจัย เพื่อสร้างอุตสาหกรรมสังคมสูงวัยจากนวัตกรรมไทย ลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำ และสร้างประโยชน์แก่สังคมโดยรวมร่วมกัน


    นางไพรวรรณ พลวัน อธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุ กล่าวเสริมว่า จากข้อมูลในปี 2560 มีประชากรของโลกประมาณ 7,550 ล้านคน ในจำนวนนี้มีผู้สูงอายุจำนวน 862 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 12.7 ของประชากรทั้งโลก ส่วนประเทศไทยได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุตั้งแต่ปี 2558 โดยมีประชากรสูงอายุร้อยละ 10 ของประชากรทั้งประเทศ และในอีก 2 ปีข้างหน้าคือ ปี 2564 ประเทศไทยจะเป็นสังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ ซึ่งจะมีประชากรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปถึงร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมด และในปี 2574 จะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุระดับสุดยอด มีประชากรสูงอายุมากถึงร้อยละ 28
    สำหรับการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือว่าด้วย “การขยายผลการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อผู้สูงอายุ ในศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุ” ครั้งนี้ กรมกิจการผู้สูงอายุ และ สวทช. ได้หารือแนวทางความร่วมมือในการขับเคลื่อนนวัตกรรม เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคมสูงอายุ โดยได้จัดทำงบประมาณประจำปี 2563 ภายใต้แผนงานบูรณาการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับสังคมสูงวัย กำหนดกรอบการดำเนินงานในระยะ 3 ปี (ปี 2563-2565) เพื่อนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมบริการ 15 รายการ มานำร่องใช้ในศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุ (ศพส.) ทั้ง 12 แห่ง และขยายผลไปยังสถานดูแลผู้สูงอายุอื่นๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนในอนาคต
    ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการ สวทช. เปิดเผยว่า ภายใต้ความร่วมมือครั้งนี้ สวทช. โดยทีมนักวิจัยศูนย์วิจัยเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกและเครื่องมือแพทย์ (A-MED) ร่วมกับเจ้าหน้าที่ผู้ดูแลศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุ (ศพส.) 12 ศูนย์ และ ศพส.บ้านบางแค จะพัฒนาระบบบริหารจัดการภายในศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ ซึ่งสามารถเชื่อมกับศูนย์ข้อมูลกลางผู้สูงอายุของกรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยในปี 2563 จะนำร่องใช้ระบบบริหารจัดการข้อมูลภายในศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุบ้านบางแค โดยใช้เทคโนโลยีหลากหลายรูปแบบในการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ ได้แก่ 
    1.ระบบบริหารจัดการข้อมูลสุขภาพของผู้สูงอายุ (ผู้รับบริการ) ข้อมูลทางสุขภาพของผู้สูงอายุภายในศูนย์จะได้รับการติดตามดูแลอย่างใกล้ชิด ผ่านเครื่องตรวจวัดสุขภาพอัตโนมัติ ที่ผู้สูงอายุที่ยังมีกำลังวังชาสามารถตรวจวัดได้ด้วยตนเอง หรือผ่านเครื่องตรวจวัดสุขภาพแบบพกพา สำหรับเจ้าหน้าที่ตรวจวัดสุขภาพผู้สูงอายุที่เป็นกลุ่มผู้ป่วยติดเตียง 2.ระบบบริหารจัดการด้านโภชนาการของผู้สูงอายุ เพื่อคำนวณอาหารที่เหมาะสมกับผู้สูงอายุ ที่ได้รับสารอาหารที่เป็นประโยชน์และครบถ้วน 3.ระบบบริหารการดูแลผู้สูงอายุ (Care Plan Management) เป็นเครื่องมือในการช่วยการวางแผน ติดตาม การดูแลผู้สูงอายุในศูนย์ 4.ระบบแจ้งเหตุฉุกเฉินและสื่อสารทางไกล โดยใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ช่วยติดตามผู้สูงอายุเมื่อพลัดหลง หรือเดินออกนอกพื้นที่ดูแล รวมถึงเซ็นเซอร์ตรวจจับการเคลื่อนไหวป้องกันการหกล้ม และให้การช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงที
    ดร.ณรงค์กล่าวต่อว่า นอกจากนั้นแล้วยังมีนวัตกรรมจากผลงานวิจัยของพันธมิตรของ สวทช.ที่ชนะการประกวด ซึ่งเกิดขึ้นมาภายใต้ศูนย์วิจัย CED ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่สร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์และเครื่องจักรกลที่ใช้ประโยชน์ได้จริง โดยสิ่งประดิษฐ์ที่จะนำมาใช้ที่ บ้านบางแคเพื่อดูแลผู้สูงอายุ เช่น อุปกรณ์ช่วยเดินแบบพยุงน้ำหนักบางส่วน (Space Walker) ซึ่งได้รับการออกแบบมาสำหรับการช่วยเหลือและฟื้นฟูการฝึกเดินของผู้ป่วยที่มีปัญหาความผิดปกติของรูปแบบการเดินแบบต่างๆ เช่น ผู้ป่วยอัมพาตครึ่งซีก ผู้ป่วยอัมพาตครึ่งท่อนล่าง ผู้ป่วยกล้ามเนื้ออ่อนแรง ผู้ที่มีปัญหาการทรงตัว และมีความเสี่ยงในการหกล้ม รวมถึงผู้สูงอายุที่มีภาวะกล้ามเนื้ออ่อนแรง โดยเป็นอุปกรณ์ช่วยฝึกเดินสำหรับผู้ป่วยที่ผ่านการกายภาพบำบัดที่มีระบบพยุงน้ำหนักแบบไดนามิก (Dynamic Body Weight Support) ตัวแรกของประเทศไทย
    ปัจจุบันอุปกรณ์ดังกล่าวได้เริ่มกระจายการใช้งานไปยังที่ต่างๆ ทั่วประเทศ เช่น ศูนย์สิรินธรเพื่อการฟื้นฟู สถาบันประสาทวิทยา โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ โรงพยาบาลสวนผึ้ง โดยอัตราส่วนการใช้งานในบ้านต่อโรงพยาบาล คือ 70:30 ผลการนำไปทดสอบเป็นที่น่าพึงพอใจเป็นอย่างมากจากผู้ป่วย เช่น ผู้ป่วยเดินได้ไกลแบบที่ไม่เคยเดินได้มาก่อน หรือมีความมั่นใจไม่กลัวล้ม ทำให้โฟกัสไปที่การฝึกเดินหรือลงน้ำหนักได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยแบ่งเบาภาระของผู้ดูแล นักกายภาพ ให้สามารถดูแลการฝึกให้ง่ายขึ้น ทำให้ประชาชนคนไทยมีโอกาสเข้าถึงอุปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพทัดเทียมกับต่างประเทศโดยไม่จำเป็นต้องนำเข้าแต่อย่างใด.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"