แย่งเก้าอี้เทกระโถน 'พปชร.'ผวาซ้ำรอย'ครม.' วิษณุยันบิ๊กตู่ทำหน้าที่ได้!


เพิ่มเพื่อน    


    "ชวน" แจงยื่นศาล รธน.ตีความคุณสมบัติ "ประยุทธ์" ทำตามหน้าที่ "วิษณุ" การันตีหากศาลรับวินิจฉัยนายกฯ ปฏิบัติหน้าที่ได้ไม่กระทบรัฐบาล อ้างไม่ใช่เรื่องผิด กม.หรือทุจริต "เพื่อไทย" แนะศาลเร่งวินิจฉัยก่อนนายกฯ นำ ครม.เข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ฯ ขณะที่ "เรืองไกร" จ่อบุกทำเนียบฯ บี้ "บิ๊กตู่" ใช้ ม.44 ฟัน "อุตตม" ปมปล่อยกู้กรุงไทย พปชร.เตรียมกำหนดหลักเกณฑ์วางคนนั่ง ขรก.การเมืองหวั่นซ้ำรอยโผ ครม. ครบ 70 ปี "ลุงกำนัน" คึกคัก มั่นใจเสียงปริ่มน้ำไม่กระทบเสถียรภาพรัฐบาล ย้ำหนุน "ลุงตู่" เป็นนายกฯ ไม่มีต่อรองตำแหน่ง "จตุพร" ไม่รีบ ขยี้รัฐบาลฟันธงพังด้วยสนิมภายใน
    เมื่อวันอาทิตย์ นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงกรณีส่งคำร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยความเป็นรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) สิ้นสุดลงเฉพาะตัว เพราะเหตุเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐหรือไม่ว่า ตามกระบวนการ หากมีผู้ยื่นคำร้องเข้ามาในฐานะประธานสภาฯ ต้องทำหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด เช่นเดียวกับคำร้องที่ให้ตรวจสอบ ส.ส.ถือหุ้นสื่อ ทั้งนี้ระยะเวลาการพิจารณาขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของศาลรัฐธรรมนูญ 
    ด้านนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงเรื่องดังกล่าวว่า ไม่มีอะไร ก็ดี ทำให้ชัดเจน ในเมื่อมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสงสัยก็ไม่มีปัญหา
    ผู้สื่อข่าวถามว่า หากศาลรับคำร้องจะส่งผลกระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่ของนายกฯ หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า นายกฯ ยังปฏิบัติหน้าที่ได้ เพราะเป็นแค่การตีความเท่านั้น ไม่ได้บอกว่าผิดอะไร 
    เมื่อถามว่า แล้วหากศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ไว้ก่อนชั่วคราว เหมือนนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ นายวิษณุกล่าวว่า ไม่มีเรื่องการหยุดปฏิบัติหน้าที่ไว้ก่อน เพราะคำร้องของนายกฯ เป็นการตีความสถานะว่าเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐหรือไม่ ไม่ใช่เรื่องสงสัยว่าทำผิดกฎหมายหรือทุจริต ส่วนกรณีนายธนาธรนั้น เป็นคนละมาตรากัน ดังนั้น นายกฯ สามารถเดินหน้าต่อไปได้ ไม่มีผลกระทบอะไร
    นายชวลิต วิชยสุทธิ์ ส.ส.นครพนม พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีประธานสภาฯ ส่งคำร้องของ ส.ส.จำนวน 111 คน ที่ร้องขอตรวจสอบคุณสมบัติของพล.อ.ประยุทธ์ว่า กรณีดังกล่าวทั้งข้อกฎหมายและข้อเท็จจริง ตลอดจนพยานหลักฐานไม่มีอะไรซับซ้อน ขณะเดียวกันศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาที่ 3578/2560 ระหว่างพนักงานอัยการ โจทก์ และนายสมบัติ บุญงามอนงค์ จำเลย ข้อหาขัดคำสั่ง คสช.ไม่ไปรายงานตัวตามประกาศ คสช. โดยในคำพิพากษาศาลได้ชี้สถานะของ พล.อ.ประยุทธ์ ว่าเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมาย ซึ่งหมายถึงเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐอย่างชัดเจน
     "เพื่อไม่ให้การบริหารราชการแผ่นดินเกิดความเสียหาย หากศาล รธน.มีความเห็นเช่นเดียวกับศาลฎีกา ดังนั้น ศาลรัฐธรรมนูญควรเร่งวินิจฉัยคำร้องดังกล่าว ก่อนที่ พล.อ.ประยุทธ์จะนำคณะรัฐมนตรีเข้าเฝ้าฯ เพื่อถวายสัตย์ปฏิญาณตน หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเช่นเดียวกับคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวข้างต้น โดยมีคำวินิจฉัยภายหลังการเข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณ จะเกิดความเสียหายตามมาอย่างมากมายหลายด้าน โดยเฉพาะความเชื่อมั่นประเทศ จะมีผลกระทบตามมาอย่างรุนแรง จึงเป็นเหตุผลที่ศาลรัฐธรรมนูญควรเร่งวินิจฉัยก่อนที่ พล.อ.ประยุทธ์จะนำคณะรัฐมนตรีเข้าเฝ้า ฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณตนฯ ดังกล่าวข้างต้น" นายชวลิตกล่าว 
ชง"บิ๊กตู่"ใช้ม.44ฟัน"อุตตม"
    นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีตสมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.) เปิดเผยว่า เตรียมยื่นเรื่องถึง พล.อ.ประยุทธ์  โดยขอให้หัวหน้า คสช.ให้ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ดำเนินการกับนายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) อ้างเหตุอนุมัติสินเชื่อวงเงิน 9,900 ล้านบาท ที่ศาลได้มีคำพิพากษาไปแล้ว แม้นายอุตตมจะไม่ถูกฟ้องและออกมาประกาศว่าไม่มีความผิดก็ตาม และขอให้พิจารณาความเหมาะสมที่จะให้ไปดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีชุดใหม่ ซึ่งอาจขัดต่อรัฐธรรมนูญตามมาตรา 160 (4) หรือไม่ ด้วยกฎหมายบัญญัติไว้ชัดเจนว่า รัฐมนตรีต้องมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ โดยจะไปยื่นที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ ทำเนียบรัฐบาล ในวันที่ 8 ก.ค. เวลา 11.00 น.
     "ในคดีที่ศาลได้มีคำพิพากษาแล้วนั้น เกิดขึ้นในสมัยที่นายอุตตมเป็นกรรมการบริหารธนาคารกรุงไทยอยู่ด้วย คำพิพากษาศาลฎีการะบุไว้ส่วนหนึ่งว่า คณะกรรมการบริหารมีเจตนาฝ่าฝืนประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่องการให้สินเชื่อที่เล็งเห็นว่าจะเรียกคืนไม่ได้แล้ว คณะกรรมการบริหารยังมีเจตนาช่วยเหลือจำเลยได้รับอนุมัติสินเชื่อ โดยไม่ได้รักษาประโยชน์ของธนาคารผู้เสียหาย ซึ่งในคำพิพากษานี้ย่อมหมายรวมถึงนายอุตตมรวมอยู่ด้วย" นายเรืองไกร กล่าว 
     นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด คณะทำงานสื่อสารการเมืองพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวว่า รัฐบาลประยุทธ์ 2 จะทำเหมือนที่เคยทำในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาไม่ได้แล้ว วันนี้มีสภาผู้แทนราษฎร การตรวจสอบภาคประชาชนเข้มข้นขึ้น การสืบค้นตรวจสอบข้อมูลย้อนหลังมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น การตั้งคนที่สังคมมีคำถาม มีความสงสัยว่าไม่น่าไว้วางใจมารับตำแหน่งสำคัญในรัฐบาล เหมือนเป็นการท้าทายประชาชน เรื่องนี้อาจเกิดวิกฤติศรัทธารอบใหม่ นายอุตตมเป็นหัวหน้าพรรคพปชร. มีชื่อเป็น รมว.การคลัง แต่ระหว่างนายอุตตม เป็นกรรมการบริหารธนาคารกรุงไทยเมื่อปี 2546 ได้ลงนามอนุมัติสินเชื่อให้บริษัทในกลุ่มเครือกฤษดามหานคร จำนวน 9,900 ล้านบาท 
    "นายอุตตมต้องเอาพยานหลักฐานออกมาเปิดเผยต่อประชาชนและสังคมให้หายเคลือบแคลงสงสัยว่าเหตุใดจึงเป็นผู้ลงนามเข้าร่วมประชุมอนุมัติสินเชื่อที่ผิดกฎหมายให้เครือกฤษดามหานคร นายอุตตมมีพยานหลักฐานหรือรายงานการประชุมที่แสดงว่านายอุตตมไม่เห็นด้วย หรือคัดค้านการอนุมัติสินเชื่อดังกล่าวหรือไม่ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ก็ต้องออกมาชี้แจงด้วยว่าเกี่ยวข้องแค่ไหนกับการตั้งบอร์ดกรุงไทยในขณะนั้น อย่าไปหลบหลังกัน" นายอนุสรณ์กล่าว
    ที่ศูนย์ประสานงานพรรคพลังประชารัฐ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน จ.ขอนแก่น นายเอกราช  ช่างเหลา ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ พรรค พปชร. ในฐานะประธานกลุ่มเพื่อนเอกราช เปิดเผยว่า ขณะนี้ การจัดตั้งคณะรัฐมนตรีของรัฐบาลโดยการนำของ พล.อ.ประยุทธ์เสร็จสิ้นแล้ว ในความจริงแล้วกลุ่ม ส.ส.อีสานแม้จะไม่พอใจ แต่เราก็จะต้องให้โอกาส เพื่อที่จะขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศให้ไปได้ ถ้าเอาความไม่พอใจแล้วเราไม่ร่วมเลยก็คงไม่ใช่ ดังนั้นการจัด ครม.ชุดใหม่นี้ จะให้พอใจทุกคนก็คงไม่ถูก แต่ถ้าในโอกาสต่อไปมีการปรับ ครม. เราก็คงจะมีโอกาสที่จะแก้ไข อย่างไรก็ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของนายกฯ ซึ่ง ส.ส.ของเราได้มีโอกาสนำเรียนนายกฯ ไปแล้ว ว่าพื้นที่ภาคอีสานตอนบนนั้นยังคงมีช่องโหว่ ซึ่งนายกฯ ได้รับปัญหาไปแล้ว ซึ่งจะนำไปสู่การแก้ไข
พปชร.อีสานรอลุ้นปรับ ครม.
    "ว่าที่รัฐมนตรีทุกตำแหน่งจากพรรคร่วมรัฐบาลทุกพรรคนั้น ทุกคนเหมาะสมในทุกตำแหน่ง ถ้าจะบอกว่าไม่ใช่เลยก็คงไม่ถูก เราต้องให้เกียรติท่านนายกฯ เมื่อจัดโผ ครม.มาแล้ว ทุกคนก็ต้องยอมรับ จึงขอให้ทุกคนให้โอกาส ครม.ชุดใหม่ และให้โอกาสพิสูจน์ฝีมือ ถ้าพิสูจน์ฝีมือแล้วไม่ได้ ก็ควรที่จะพิจารณาตัวเอง เมื่อทำงานแล้วคุณทำงานตามที่ได้รับมอบหมายในอำนาจหน้าที่ที่ได้รับไป หากทำไม่ได้ คุณก็ต้องถอยออกมาให้คนอื่นทำ"
    นายเอกราชกล่าวด้วยว่า วันนี้ไม่มีปัญหาอะไรในการทำงานร่วมในของ ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลและว่าที่รัฐมนตรี เพราะ ส.ส.อีสานทุกคนเคารพและให้เกียรตินายกฯ ที่จะขับเคลื่อนประเทศเพื่อนำไปสู่การพัฒนา
     ผู้สื่อข่าวรายงานจากพรรค พปชร.ว่า วันที่ 9 ก.ค. พรรค พปชร.จะมีการประชุมร่วมกรรมการบริหารพรรคและ ส.ส. เพื่อหาข้อสรุปผู้ที่จะไปดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมือง ได้แก่ เลขานุการรัฐมนตรี ผู้ช่วยรัฐมนตรี และที่ปรึกษารัฐมนตรี หลังจาก ส.ส.บางส่วนพลาดเก้าอี้รัฐมนตรี จากที่หารือกันไว้เบื้องต้นกำหนดไว้หลายทางเลือก คือให้ผู้ที่เป็น ส.ส.ไปดำรงตำแหน่งเพื่อมีประสบการณ์ด้านการบริหาร เนื่องจากมี ส.ส.บางส่วนแสดงความประสงค์จะไปดำรงตำแหน่งข้าราชการเมือง โดยให้เหตุผลว่าสามารถดำรงตำแหน่งได้ เพราะรัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดข้อห้ามเอาไว้ และไม่ขัดมาตรา 184 และ 185 ของรัฐธรรมนูญปี 60 ที่ได้บัญญัติเรื่องการขัดกันแห่งผลประโยชน์ไว้ เช่น หาก ส.ส.คนใดมีบริษัทด้านพลังงาน แต่ไปดำรงตำแหน่งข้าราชการในกระทรวงศึกษาธิการ ไม่น่าจะขัดมาตราดังกล่าว แต่บางส่วนคัดค้านเนื่องจากมองว่าหากแต่งตั้งไปจะเสี่ยงต่อการขัดรัฐธรรมนูญในมาตรา 184 และ 185 และถูกยื่นตีความในภายหลังได้ และหวั่นมีปัญหาการแบ่งเวลาทำหน้าที่ ส.ส.ในสภา ที่ถือว่าอันตราย เนื่องจากรัฐบาลมีเสียงปริ่มน้ำ
    ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า ทำให้บางส่วนเสนอให้ผู้เป็น ส.ส.สอบตกมาดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมืองดีกว่า แต่ต้องได้รับเลือกมาเป็นอันดับ 2 ที่มีคะแนนสูง 2-3 หมื่นคะแนน เพื่อให้สามารถนำไปต่อยอดในฐานเสียงของตัวเองได้ และอาจพิจารณาจากผู้สมัครส.ส.บัญชีรายชื่อ แต่ไม่มีโอกาสได้เลื่อนขึ้นมาเป็น ส.ส.และสมาชิกพรรคไปดำรงตำแหน่ง หรือจะพิจารณาแบบผสมคละกันไป แต่ต้องออกเป็นมติพรรค เพื่อป้องกันปัญหาเกิดความไม่พอใจภายในพรรคซ้ำรอยกับการจัดโผ ครม.ก่อนพรรคจะทยอยส่งชื่อผู้ดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมือง หลัง ครม.ชุดใหม่ถวายสัตย์ปฏิญาณเรียบร้อยแล้ว และต้องส่งไปตรวจสอบคุณสมบัติก่อนเช่นเดียวกับรัฐมนตรี
    ขณะที่นายวิษณุ เครืองาม กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า รัฐธรรมนูญกำหนดว่า ส.ส.เป็นข้าราชการไม่ได้ แต่อนุญาตให้เป็นข้าราชการการเมืองได้ ทั้งนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เลขานุการรัฐมนตรี ที่ปรึกษารัฐมนตรี ผู้ช่วยรัฐมนตรี เป็นได้ทั้งหมด เหมือนอังกฤษ ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น ส.ส.สามารถดำรงตำแหน่งข้าราชการเมืองพร้อมกันได้ ส่วนในไทยมีสมัยหนึ่ง ตอนปี 2540 ที่ต้องลาออก ส่วนที่ผ่านมาที่พรรคการเมืองมักนำผู้สมัคร ส.ส.ที่สอบตกมาเป็นข้าราชการการเมืองนั้น ไม่ใช่เพราะรัฐธรรมนูญห้าม ส.ส. เป็นเรื่องของแต่ละพรรคที่จะพิจารณาว่าจะให้ ส.ส.มาเป็นหรือไม่
    ผู้สื่อข่าวถามว่า จะขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 184 และ 185 ที่เป็นเรื่องขัดกันแห่งผลประโยชน์หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ไม่เกี่ยวกับการขัดกันของผลประโยชน์ เพราะเป็นเรื่องสถานะ ซึ่งรัฐธรรมนูญอนุญาตให้ ส.ส.เป็นข้าราชการการเมืองได้ และทำท่าจะส่งเสริมให้เป็นด้วย ดังนั้น เป็นคนละเรื่องกับผลประโยชน์ทับซ้อน แต่มันจะไปเกิดตอนโหวตในสภา เช่น สมมุติมีเรื่องของตัวเองเข้าไป จะลงมติไม่ได้ ส่วนจะมีปัญหาเรื่องการจัดสรรเวลาของทั้งสองตำแหน่งหรือไม่ เป็นเรื่องที่ตัว ส.ส.จะต้องไปจัดสรรเวลาเอง
ปชป.-ภท.ฟิตดันนโยบาย
    นายปริญญ์ พานิชภักดิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) หัวหน้าทีมเศรษฐกิจทันสมัย แถลงว่า หลังจากทีมเศรษฐกิจทันสมัยได้ลงพื้นที่รับฟังปัญหาของเกษตรกรในพื้นที่ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นภาคอีสาน ที่ จ.ขอนแก่น ร้อยเอ็ด มหาสารคาม พบปัญหาหลักที่สำคัญที่ต้องเร่งแก้ไข ทั้งในระยะเร่งด่วน ระยะกลาง และระยะยาว เช่น ปัญหาแหล่งน้ำที่หลายพื้นที่เกิดความขาดแคลนเนื่องจากฝนแล้ง แม้จะมีการแก้ไขด้วยการทำฝนเทียม แต่ไม่สามารถช่วยเหลือได้ทุกที่ เช่น อ.เกษตรวิสัย จ.ร้อยเอ็ด พื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ ตนจะทำหนังสือถึงปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เพื่อประสานในการทำฝนเทียม ส่วนระยะยาวควรมีการสร้างแก้มลิง 1 ที่นา 1 แก้มลิง เพื่อเก็บกักน้ำไว้ใช้ได้ตลอดปี โดยจะเสนอไปยัง รมว.เกษตรและสหกรณ์ที่มาจากพรรค ปชป.ให้ดำเนินการ
     นอกจากนี้ ยังพบปัญหาเรื่องหนี้สินเกษตรกร ซึ่งมีเกือบทุกชุมชนที่ยังไม่สามารถไขปัญหาได้อย่างจริงจัง โดยทางทีมงานจะมีการหารือกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ในการปรับโครงสร้างหนี้ใหม่ทั้งระบบ การพักหนี้ การสร้างองค์ความรู้ให้กับเกษตรกร สร้างวินัยการออมเพื่อมิให้ก่อหนี้เพิ่มขึ้น และที่สำคัญต้องมีการเพิ่มรายได้ หรือเพิ่มเงินในกระเป๋าให้กับเกษตรกร เพื่อลดภาระหนี้สิน อาทิ จัดทำแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรในชุมชน การแปรรูปสินค้าเกษตรให้มีมูลค่าระดับพรีเมียม เช่น เน้นการเกษตรอินทรีย์ การนำเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาเพิ่มช่องทางการขายผลผลิตการเกษตร เช่น ทางออนไลน์ 
     "ส่วนปัญหาของชาวนา โดยเฉพาะสายพันธุ์ข้าวที่พบว่ามีความพยายามพัฒนาสายพันธุ์ข้าวใหม่ๆ ให้เกิดขึ้น แต่กลับไม่ได้คุณภาพ เห็นว่าเราควรจะเน้นพัฒนาสายพันธุ์ข้าวที่มีอยู่แล้วให้ดียิ่งขึ้น โดยกระทรวงเกษตรฯ และกระทรวงพาณิชย์ ควรจะหารือร่วมกัน แนวทางแก้ปัญหาเหล่านี้จะต้องมีเป้าหมายคือสร้างความยั่งยืน ไม่ฉาบฉวย เพราะมิเช่นนั้นก็จะเจอปัญหาแบบเดิมๆ เพื่อเศรษฐกิจดีขึ้น คุณภาพชีวิตของประชาชนที่ดีก็จะตามมา เชื่อว่ารัฐมนตรีของพรรคประชาธิปัตย์จะสามารถแก้ปัญหาเหล่านี้ได้" นายปริญญ์กล่าว 
    นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย(ภท.) กล่าวถึงความคืบหน้าการเสนอนโยบายของพรรค เพื่อยกร่างเป็นนโยบายรัฐบาลว่า พรรค ภท.มอบหมายให้นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ เลขาธิการพรรค เป็นหัวหน้าทีมนำเสนอและชี้แจงนโยบายของพรรคในการหารือร่างนโยบายรัฐบาล โดยนโยบายด้านสาธารณสุขนั้น ตนยืนยันว่าจะผลักดันแต่ละนโยบายไปพร้อมๆ กัน ทั้งนโยบายกัญชาเสรี ยกระดับอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และการปรับปรุงระบบประกันสุขภาพ
    เมื่อถามว่า บางนโยบายของพรรค ภท.ที่อาจทับซ้อนกับนโยบายของพรรคร่วมรัฐบาล นายอนุทินกล่าวว่า ส่วนตัวมองว่าเป็นเรื่องดี เพราะหากนโยบายทับซ้อนหรือใกล้เคียงกัน แสดงว่าพรรคการเมืองมีความเห็นสอดคล้องกัน สำหรับพรรค ภท. เราพยายามจัดตำแหน่งรัฐมนตรีให้ไปอยู่ในกระทรวงที่สามารถผลักดันนโยบายของพรรคได้ หากกระทรวงไหนที่พรรค ภท.เป็นเจ้ากระทรวง อาจจะลำดับความสำคัญโดยยกนโยบายของพรรคขึ้นมาได้สะดวกมากกว่า แต่ถ้ากระทรวงไหนที่พรรค ภท.ไม่ได้เป็นเจ้ากระทรวง ก็เป็นหน้าที่ของรัฐมนตรีช่วยว่าการที่ต้องพูดคุยประสานงานกับรัฐมนตรีว่าการจากพรรคอื่น รวมถึงข้าราชการในการผลักดันทำนโยบายให้สำเร็จ ทั้งนี้ มั่นใจว่านโยบายทั้งหมดของพรรค ภท.จะได้รับการยอมรับ เพราะไม่มีพรรคร่วมรัฐบาลพรรคใดจะเห็นแย้งกับเรา ขณะเดียวกันพรรค ภท.ก็พร้อมสนับสนุนนโยบายของพรรคอื่น หากเป็นประโยชน์ต่อประชาชน
      นายอนุทินยืนยันว่า ตัวแทนของพรรคจะนำนโยบายที่ได้รณรงค์หาเสียงไปเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการยกร่างนโยบายของรัฐบาลที่จะนำเสนอต่อรัฐสภา หนึ่งในนั้นคือนโยบาย "แก้หนี้ กยศ." ด้วย ซึ่งต้องดูว่าพรรคร่วมรัฐบาลจะเห็นด้วยกับสิ่งที่พรรคภูมิใจไทยได้นำเสนอนโยบายแก้หนี้ กยศ.หรือไม่ และจะขับเคลื่อนเรื่องนี้อย่างไรต่อไป และในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการ พรรคภูมิใจไทยได้ที่นั่งรัฐมนตรีช่วยฯ 1 ตำแหน่ง จะมีการแบ่งงานอย่างไรด้วย และได้ดู กยศ.หรือไม่ด้วย
70ปี"ลุงกำนัน"คึกคัก
    วันเดียวกัน นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ผู้ร่วมก่อตั้งพรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) และอดีตเลขาธิการ กปปส. ฟังเทศน์ทำบุญวันคล้ายวันเกิดครบ 70 ปี ที่วัดชลประทานรังสฤษดิ์ จ.นนทบุรี เหมือเช่นทุกปี โดยมีครอบครัว กรรมการบริหารพรรค ส.ส. รปช. และ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ รวมถึงมวลชนอดีตแนวร่วมกลุ่ม กปปส.ร่วมทำบุญ อาทิ นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ ส.ส.พรรค พปชร. และอดีตแกนนำ กปปส.  , นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้า ปชป., นายถาวร เสนเนียม ส.ส.สงขลา ปชป, นายชุมพล จุลใส ส.ส.ชุมพร, นายอิสสระ สมชัย ส.ส.บัญชีรายชื่อ, นางศิริวรรณ ปราศจากศัตรู ส.ส.บัญชีรายชื่อ รวมถึงอดีต ส.ส. ส่วน ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล หัวหน้าพรรค รปช. ติดภารกิจไม่สามารถเดินทางมาร่วมทำงานได้ 
    ทั้งนี้ บรรยากาศเป็นไปอย่างชื่นมื่น นางศิริวรรณและนายถาวรเข้ามอบดอกไม้อวยพรวันเกิดให้กับนายสุเทพ โดยนายถาวรกล่าวอวยพรขอให้มีสุขภาพแข็งแรง และมีกำลังใจที่เข้มแข็ง ต่อสู้กับสิ่งที่เป็นภัยต่อความมั่นคง และพาบ้านเมืองก้าวหน้ายิ่งๆ ขึ้นไป
     ขณะที่นายสุเทพกล่าวว่า ยืนยันจะทำพรรครวมพลังประชาชาติไทยให้เป็นพรรคการเมืองของประชาชน รับใช้ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ด้วยความมุ่งมั่นต่อไป มาถึงวันนี้ก็ไม่มีอะไรฝากถึงประเทศแล้ว ขอฝากถึงตัวเองอย่างเดียวว่า จะใช้เวลาที่เหลือตั้งใจทำความดีทําประโยชน์ให้กับประเทศชาติ ไม่ต้องสอนใคร สอนตัวเอง มาถึงวันนี้ก็ภูมิใจที่ได้ทำหน้าที่ให้ประเทศชาติ ตามกำลังความสามารถ ถ้ามีเวลาก็จะทำต่อไป
     นายสุเทพกล่าวถึงความคาดหวังต่อการเมืองไทย ว่า ไม่มีใครได้สมบูรณ์แบบ ส่วนตัวก็คาดหวังเห็นการปฏิรูปประเทศไทย ปฏิรูปการเมือง บางอย่างก็เป็นไปในทิศทางที่น่าพึงพอใจ บางอย่างก็เป็นเรื่องที่พี่น้องประชาชนก็จะต้องช่วยกันทำต่อไป
     ส่วนที่แกนนำพรรคประชาธิปัตย์หลายคนยังคงมาร่วมงานทำบุญอวยพรวันเกิดเช่นทุกปี จะตีความได้ถึงความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นมากขึ้นหลังเปลี่ยนหัวหน้าพรรคคนใหม่หรือไม่ นายสุเทพกล่าวว่า นักการเมืองไม่ว่าจะอยู่พรรคไหน ถ้าเป็นผู้มีอุดมการณ์ทำงานเพื่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ก็คบกันได้ ร่วมมือกันได้ทั้งนั้น ซึ่งคนเหล่านี้เป็นพี่น้องที่มีอุดมการณ์ร่วมกัน ไม่จำเป็นต้องอยู่พรรคเดียวกัน อยู่พรรคไหนก็ร่วมมือกันได้
     ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เป็นที่น่าสังเกตว่านายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรค ปชป. ไม่ได้มาร่วมงานทำบุญวันเกิดของนายสุเทพเหมือนกับทุกปีที่มาร่วมโดยตลอด ภายหลังจากที่ช่วงหาเสียงเลือกตั้ง นายอภิสิทธิ์ประกาศไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรี ทำให้นายสุเทพออกมาระบุว่าหากนายอภิสิทธิ์ไม่มีตนก็คงมาไม่ถึงจุดนี้ ซึ่งอาจเป็นสาเหตุของการไม่ปรากฏตัวของนายอภิสิทธิ์ในวันนี้หรือไม่
     นายสุเทพกล่าวยอมรับว่า การประสานงานการทำงานภายในพรรคร่วมรัฐบาลรอบนี้คงไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะมีนักการเมืองและพรรคการเมืองที่มีความหลากหลาย มีความแตกต่างกันหลายเรื่องหลายประเด็น ซึ่งต้องปรับตัวเข้าหากัน และเรียนรู้ที่จะทำงานด้วยกันให้ได้ ซึ่งตนเองถือหลักว่าขอให้ประเทศอยู่รอดปลอดภัย ขอให้ประชาชนมีความสุข แม้จะต้องอดทนกับคนบางกลุ่มบางประเภทก็จำเป็น แต่ก็ต้องเดินหน้าต่อไป เพื่อให้ประเทศปลอดภัย ประชาชนมีความสุข สถาบันพระมหากษัตริย์มีความมั่นคงแข็งแรง  
    "ไม่กังวลเรื่องเสถียรภาพของรัฐบาล แม้มีเสียงปริ่มน้ำ โดยมีเสียงมากกว่าฝ่ายค้านเพียงหนึ่งเสียงก็ทำงานได้ และยิ่งเสียงน้อยยิ่งต้องทำงานด้วยความจริงจัง ระมัดระวัง ทำผลงานให้ประชาชนเห็น ให้ประชาชนศรัทธา และขอให้ทุกคนในคณะรัฐบาลทุ่มเททำงานแข่งกับเวลา เพื่อให้ประชาชนมีชีวิตที่มีความสุข ประเทศเดินหน้าไปได้"
ย้ำหนุน"ลุงตู่"ไม่ต่อรองเก้าอี้
    สำหรับกรณีที่มีรายงานว่า ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล หัวหน้าพรรค จะได้ตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีนั้น นายสุเทพกล่าวว่า ต้องรอความชัดเจนจากพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง หากได้ตำแหน่งใดก็คงพร้อมทำหน้าที่ เพราะที่ผ่านมาพรรค รปช.ย้ำแนวทางสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีมาตลอด เพื่อทำการปฏิรูปประเทศ ไม่เคยพูดถึงว่าจะต้องได้ตำแหน่งอะไร ดังนั้นเมื่อมีการจัดรัฐบาลจึงไม่ได้มีข้อต่อรองอะไร หากไม่ให้อะไรเลยก็พร้อมทำหน้าที่ต่อไป
     ส่วนกรณีฝ่ายค้านยื่นศาลรัฐธรรมนูญขอให้ตรวจสอบคุณสมบัติความเป็นรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ นายสุเทพกล่าวว่า ทุกคนก็ทำหน้าที่ของตัวเอง ไม่มีอะไรน่าตกใจ ฝ่ายค้านก็ทำหน้าที่ตรวจสอบ ฝ่ายรัฐบาลก็มีหน้าที่ทำงานให้ประเทศชาติ ให้กับประชาชน เชื่อว่า พล.อ.ประยุทธ์เป็นคนที่มีความเหมาะสม เป็นรัฐมนตรีที่ดีได้ในระบอบประชาธิปไตย
    ที่ร้านกาแฟพีซคอฟฟี่แอนด์ไลบรารี่ อิมพีเรียล ลาดพร้าว ชั้น 5 มีการจัดกิจกรรมต่อลมหายใจ พีซทีวี เวทีทัศน์ โดยนายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช. ได้เดินทางมาร่วมงาน พร้อมกล่าวถึงสถานการณ์การเมืองตอนหนึ่งว่า ขอยก 2 คำโบราณคือ ช้าๆ ได้พร้าเล่มงาม และกว่าถั่วจะสุกงาก็ไหม้ วันนี้คนไทยไม่ได้มีความตื่นเต้นกับโฉมหน้าคณะรัฐมนตรีว่าใครจะมาเป็น เพราะคงไม่มีใครดีกว่าใคร มีแต่ใครยี้กว่าใคร ความขัดแย้งในบรรดาพรรคร่วมรัฐบาล โดยเฉพาะการแย่งชิงเก้าอี้รัฐมนตรี คนที่ไม่ได้ก็จะสะสมอารมณ์ไว้ คนที่ได้ก็ไม่คิดว่าอายุรัฐบาลนี้จะนาน เพราะฉะนั้นก็ต้องรีบปล้นแบบลนลาน ปล่อยให้เขาทำไปแล้วเราค่อยมาจับเรื่องทุจริตเอาทีหลัง คือคำว่าช้าๆ ได้พร้าเล่มงาม 
         "ส่วนอีกคำหนึ่งกว่าถั่วจะสุกงาก็ไหม้ คือเรื่องธรรมนูญ ไม่ว่าใครก็เชื่อว่ารัฐบาลนี้จะไปเร็ว แต่ถ้า สมาชิกวุฒิสภา 250 คนยังอยู่ใน 5 ปีนี้ ยังมีสิทธิ์โหวตเลือกนายกฯ ได้อีก จะเลือกตั้งอย่างไรก็กลับมาเหมือนเดิม วันนี้หลายองค์กรเริ่มขยับตัวเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ต้องรีบทำ ไม่ว่าจะเป็นภาคประชาชนหรือพรรคการเมืองจะต้องร่วมกัน ลำพังพรรคการเมืองไม่มีวันที่จะทำสำเร็จได้ อยู่ที่กระแสสังคม กระแสประชาชน หลายครั้งในประวัติศาสตร์ ถ้าไม่มีกระแสประชาชนก็ไม่สามารถทำได้ วันนี้ความเดือดร้อนของประชาชนเป็นตัวตั้ง รัฐบาลให้เขาพังของเขาเอง ข้อดีของเรือเหล็กมีข้อดีอยู่ข้อเดียวคือ เป็นปะการังเทียมได้ ทุกคนต้องรู้ว่าเรือเหล็กกำลังมีสนิม ไม่ได้มาจากข้างนอก แต่หากเป็นสนิมใน อย่างไรก็ต้องจมไปเป็นปะการังเทียม" นายจตุพรกล่าว 
          นายจตุพรกล่าวอีกว่า ทั้งสองเรื่องที่พูดถึง คือ ปล่อยให้รัฐบาลทำงานไป ไม่ว่า 3 เดือน 6 เดือน เวลาไม่น่าไกลกว่านี้ เพื่อให้เขาได้ทะเลาะกันต่อไป ถ้าเราเข้าไปเร็ว ก็ตีกันเร็ว และทำให้เขาอยู่นานขึ้น ส่วนของรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องที่จะเกิดขึ้นกับทุกฝ่าย เมื่อแต่ละฝ่ายมีการขยับกันแล้วอย่างเป็นรูปธรรม เราก็จะมีการขยับอย่างเป็นรูปธรรมตามกระบวนการ
ปชช.เบื่อ พปชร.แตกแยก
        ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเรื่อง “รู้สึกอย่างไรกับปัญหาพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.)” ระหว่างวันที่ 4-5 ก.ค.2562 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป 1,262 หน่วยตัวอย่าง โดยเมื่อถามถึงความรู้สึกของประชาชนเกี่ยวกับปัญหาการจัดตั้งรัฐบาลของพรรคพปชร.ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 26.86 ระบุว่าพรรค พปชร.มีความแตกแยกอย่างเห็นได้ชัด, ร้อยละ 20.13 ระบุว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่เข้าใจการเมืองแบบประชาธิปไตยที่ต้องมีการแบ่งปันอำนาจ, ร้อยละ 19.41 ระบุว่า พล.อ.ประยุทธ์แค่พยายามจะทำให้ได้คณะรัฐมนตรีชุดใหม่ที่ดีที่สุด 
    ร้อยละ 18.54 ระบุว่าความเห็นต่างเป็นส่วนหนึ่งของระบอบประชาธิปไตย ซึ่งเป็นเรื่องปกติ, ร้อยละ 16.64 ระบุว่ากลุ่มสามมิตรเล่นการเมืองแบบเดิมๆ ใช้จำนวน ส.ส.กดดันขอเก้าอี้รัฐมนตรี,  ร้อยละ 10.54 ระบุว่านายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ควรทำตามคำพูดว่าจะไม่รับตำแหน่งรัฐมนตรี,  ร้อยละ 7.05 ระบุว่ากลุ่มสามมิตรสมควรได้ตำแหน่งรัฐมนตรีตามที่ผู้ใหญ่ในพรรครับปากไว้, ร้อยละ 2.06 ระบุว่านายสุริยะเหมาะสมกับตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงพลังงาน, ร้อยละ 1.19 ระบุว่านายสุริยะเหมาะสมกับตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรม, ร้อยละ 0.87 ระบุว่า พล.อ.ประยุทธ์ใช้เวลานานเกินไปในการจัดตั้งรัฐบาล ทำให้ประชาชนเบื่อหน่ายการเมือง 
    เมื่อถามถึงความเห็นต่อการดำเนินการทางการเมืองในอนาคตของ พล.อ.ประยุทธ์ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 44.69 ระบุว่าควรให้ความสำคัญกับการบริหารประเทศมากกว่าปัญหาภายในพรรค พปชร. รองลงมา ร้อยละ 28.53 ระบุว่าหากมีปัญหามากนัก ก็ลาออก เลิกเป็นนายกฯ, ร้อยละ 24.17 ระบุว่า หากมีปัญหามากนัก ก็ยุบสภาเลือกตั้งใหม่, ร้อยละ 22.50 ระบุว่าควรแบ่งปันอำนาจให้เหมาะสมเพื่อความอยู่รอดของรัฐบาล, ร้อยละ 12.84 ระบุว่าควรใช้อำนาจอย่างเด็ดขาด แม้ว่ารัฐบาลอาจจะอายุสั้นก็ตาม, ร้อยละ 6.02 ระบุว่าควรหาตำแหน่งทางการเมืองอื่นๆ ให้กับ ส.ส. ที่ผิดหวังไม่ได้เป็นรัฐมนตรี, ร้อยละ 5.55 ระบุว่าไม่ควรเป็นหัวหน้าพรรค พปชร.เพื่อจะได้ลอยตัวจากปัญหา, ร้อยละ 5.23 ระบุว่า ควรเข้าดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรค เพื่อแก้ไขปัญหาภายในพรรค พปชร., ร้อยละ 2.54 ระบุว่าควรเตรียมงูเห่า จากพรรคฝ่ายค้านในกรณีวิกฤติ เพื่อให้มาสนับสนุนนายกรัฐมนตรี 
     สวนดุสิตโพล เปิดเผยผลสำรวจเรื่อง บทเรียนทางการเมืองหลังการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคม โดยสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ จำนวน 1,215 คน ระหว่างวันที่ 3-6 ก.ค.2562 สรุปผลได้ ดังนี้ 1.หลังการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มี.ค.2562  เรื่องที่ประชาชน “สมหวัง” คือ อันดับ 1 ประชาชน คนรุ่นใหม่ตื่นตัว ออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งมากขึ้น 42.67%,  อันดับ 2    ไม่มีเหตุการณ์รุนแรงเกิดขึ้น การเลือกตั้งเป็นไปด้วยความเรียบร้อย  38.00%, อันดับ 3 ผู้สมัครที่เลือกชนะเลือกตั้ง พรรคการเมืองที่ชอบได้ ส.ส.หลายคน 21.33%
      2.หลังการเลือกตั้ง เรื่องที่ “ผิดหวัง” คือ อันดับ 1ปัญหาการทำงานของ กกต. การเลือกตั้งไม่โปร่งใส ประกาศผลล่าช้า 54.75%, อันดับ 2 ยังคงขัดแย้ง แตกแยก ถึงจะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้น ก็ไม่สามารถแก้ปัญหาการเมืองได้ 30.68%, อันดับ 3 เลือกตั้งผ่านมานานแล้วแต่ประเทศไม่เดินหน้า ยังไม่มีรัฐบาล 18.29% 
     3.บทเรียนจากการเลือกตั้งที่คิดว่า “เป็นประโยชน์” ต่อการเลือกตั้งครั้งต่อๆ ไป คือ อันดับ 1ต้องมีระบบตรวจสอบการนับคะแนนที่เป็นมาตรฐาน โปร่งใส 43.63%, อันดับ 2 การทำหน้าที่ของ กกต.ต้องเป็นกลาง ตรวจสอบได้ 33.05%, อันดับ 3 กระตุ้นให้ประชาชนออกมาใช้สิทธิเลือกตั้ง ช่วยกันเป็นหูเป็นตา 26.00% 
      4.สิ่งที่ “ประทับใจ” ในการจัดตั้งรัฐบาลครั้งนี้ คือ อันดับ 1 มีนักการเมืองรุ่นใหม่ๆ เกิดขึ้น ได้นักการเมืองที่มีความรู้ความสามารถ 47.18%, อันดับ 2 ประชาชนตื่นตัว คนรุ่นใหม่สนใจติดตามข่าวสารการเมืองไทยมากขึ้น 32.66%, อันดับ 3 เป็นรัฐบาลที่มาจากหลายพรรคการเมือง มีนโยบายที่หลากหลาย 26.21%
      5.สิ่งที่ “อยากลืม” ในการจัดตั้งรัฐบาล คือ อันดับ 1 การแบ่งโควตา แย่งชิงตำแหน่งกัน เห็นแก่ประโยชน์ของตนเองและพวกพ้อง 43.39%, อันดับ 2ผู้ที่ชนะการเลือกตั้งไม่ได้จัดตั้งรัฐบาล ไม่คำนึงถึงเสียงส่วนใหญ่ของประชาชน 36.61%, อันดับ 3 ความล้มเหลวของระบบการเมืองไทย ได้นักการเมืองหน้าเดิม ๆ เข้ามาบริหารประเทศ 22.03%
      6.การจัดโผ ครม.เพื่อจัดตั้งรัฐบาล ณ วันนี้ ประชาชนคาดการณ์ต่อการเมืองไทยในด้านต่างๆ ต่อไปนี้อย่างไร? ข้อ 1 ความวุ่นวายทางการเมือง ดีขึ้น 4.92% แย่ลง 60.52% เหมือนเดิม 34.56%, ข้อ 2ความมั่นคงทางการเมือง/อายุรัฐบาล ดีขึ้น 9.74% แย่ลง 57.92% เหมือนเดิม 32.34%, ข้อ 3 การทำงานเพื่อประชาชนของรัฐบาล ดีขึ้น 12.49% แย่ลง 47.96% เหมือนเดิม 39.55%, ข้อ 4 การประชุมของสภาผู้แทนราษฎรทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน ดีขึ้น 15.95%    แย่ลง 43.85% เหมือนเดิม 40.20%, ข้อ 5 การปฏิบัติงานของฝ่ายค้านในการตรวจสอบรัฐบาล ดีขึ้น 42.69% แย่ลง 26.13%    เหมือนเดิม 31.18%.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"