กัญชาเพื่อผู้ป่วย...เดิมพันอนาคตภท. "อนุทิน" ลั่น "ต้องสำเร็จ"


เพิ่มเพื่อน    

 นับแต่การปราศรัยใหญ่ของ "พรรคภูมิใจไทย" สนามช้าง อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต จ.บุรีรัมย์ เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2562 ซึ่งถือเป็นเวทีแรกที่มีการประกาศ "นโยบายกัญชาเสรี" พร้อมกับคำมั่นของหัวหน้าพรรค "นายอนุทิน ชาญวีรกูล" ที่ลั่นวาจาเบื้องหน้าประชาชนราวสามหมื่นคนว่าหากพรรคมีโอกาสได้เป็นรัฐบาล จะทำนโยบายนี้ให้เกิดขึ้นจริง

กระทั่งวันนี้ผ่านเวลาเกือบ 6 เดือน เป็นที่แน่นอนแล้วว่าพรรคภูมิใจไทยได้เป็นพรรคร่วมรัฐบาล และหากไม่มีอะไรผิดพลาด “อนุทิน” จะขึ้นแท่นเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข อันเป็นตำแหน่งที่สามารถขับเคลื่อนนโยบายกัญชาเสรีได้

แม้รัฐนาวาลำใหม่ยังไม่เกิดขึ้นอย่างเป็นทางการ แต่ “หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย” ไม่ได้รอให้วันคืนสูญเปล่า ด้วยตระหนักดีว่านโยบายกัญชาเสรีมีความท้าทาย เขาจึงลงพื้นที่ทำการบ้านล่วงหน้า 

โดยเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคมที่ผ่านมา นายอนุทินพร้อมบุคคลสำคัญของพรรค อาทิ นายสุนทร วิลาวัลย์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข และอดีต ส.ส.ปราจีนบุรีหลายสมัย, นางกนกวรรณ วิลาวัลย์ ส.ส.ปราจีนบุรี, นพ.สำเริง แหยงกระโทก อดีตผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ และทีมยุทธศาสตร์ด้านสาธารณสุขของพรรค ได้เดินทางไปที่โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร จ.ปราจีนบุรี ซึ่งเป็นสถานพยาบาลต้นแบบในการนำกัญชามารักษาผู้ป่วย ภายใต้ชื่อ “กัญชา อภัยภูเบศร โมเดล” เพื่อรับฟังความรู้และข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการใช้กัญชาเพื่อการแพทย์ จากคณะแพทย์และเภสัชกร นำโดย นพ.นำพล แดนพิพัฒน์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร, ภญ.ดร.สุภาภรณ์ ปิติพร หัวหน้ากลุ่มงานเภสัชกรรม, นพ.มกร ลิ้มอุดมพร อายุรแพทย์ ด้านประสาทวิทยา 

นอกจากนี้ ทีมภูมิใจไทยยังได้เยี่ยมชมแปลงปลูกกัญชาระบบรากลอยในตู้คอนเทนเนอร์ และบริเวณโดยรอบที่เตรียมสำหรับการปลูกระบบบนดิน (Green House)  พร้อมทั้งดูการสกัดกัญชาโดยใช้เครื่อง Super critical CO2 extraction และเยี่ยมชมตึก GMP ซึ่งเป็นอาคารที่ใช้สำหรับผลิตสมุนไพรและกัญชา

“ผมมาที่นี่เพื่อหาองค์ความรู้” นายอนุทินเริ่มต้นในวงประชุม ก่อนกล่าวต่อว่า การผลักดันเรื่องนี้โดยอาศัยเพียงภาคการเมืองฝ่ายเดียวอาจไม่สำเร็จ แต่ต้องพึ่งพาความร่วมมือของทุกภาคส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรที่จะสร้างความน่าเชื่อถือให้เกิดขึ้นกับการใช้กัญชาเพื่อรักษาโรค พร้อมทั้งย้ำว่า “กัญชาเสรี” ที่พรรคภูมิใจไทยจะผลักดัน คือ เสรีเพื่อการแพทย์ และจะไม่มีการเอื้อทุนธุรกิจใดๆ เด็ดขาด

“ผมจะเป็นผู้ผลักดันในส่วนนโยบาย แต่ในภาคปฏิบัติ ต้องขอให้โรงพยาบาลเป็นผู้ช่วย ทั้งนี้ ยืนยันว่านโยบายนี้ไม่มีเรื่องผลประโยชน์แอบแฝง ไม่มีการเอื้อประโยชน์ต่อธุรกิจของใคร เราทำทุกอย่างให้เกิดความผาสุกกับส่วนรวม หากสามารถทำได้ คนไข้ก็จะเข้าถึงกัญชาได้ง่าย พกพาได้โดยที่ตำรวจไม่จับ และเวลาเจ็บป่วยก็ไม่ต้องมาถึงโรงพยาบาล ทำให้ประหยัดค่าจ่าย ต้นทุนเรื่องการรักษาพยาบาลทุกอย่างจะลดลง” หัวหน้าพรรคภูมิใจไทยระบุ

ส่วนกัญชาเสรีในมิติทางเศรษฐกิจนั้น “หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย” ยืนยันว่า การสนับสนุนให้แต่ละบ้านปลูกกัญชาตามโควตา 6 ต้น ต้องการให้ชาวบ้านสามารถนำไปใช้รักษาตนเอง ใช้ในการสันทนาการ และนำออกขายเป็นรายได้เสริม เชื่อว่าจะช่วยสร้างเม็ดเงินให้แก่ประเทศในระยะยาว เรื่องนี้ต้องดำเนินการแบบค่อยเป็นค่อยไป

“เรื่องปลูกบ้านละ 6 ต้น ในใจคิดว่ารัฐจะแจกเมล็ด คนจะปลูกต้องขึ้นทะเบียน ไม่ใช่ให้ชาวบ้านปลูกตามใจชอบ ต่างคนต่างปลูก อย่างนั้นก็มั่วสายพันธุ์ไปหมด แต่วันนี้เมื่อข่าวมันออกไป หลายคนเตรียมพื้นที่ที่บ้านไว้แล้ว มันเครียดนะ เพราะความคาดหวังของคนมันไปไกล" นายอนุทินเผย   ขณะที่ด้านการวิจัยและพัฒนาหัวเรือใหญ่แห่งภูมิใจไทย มั่นใจว่าในอนาคตจะมีคนอีกมากแย่งเข้ามาทำ หากสามารถพัฒนาเมล็ดพันธุ์กัญชา โดยเฉพาะกัญชาสายพันธุ์ไทยให้เป็นที่ยอมรับ มีการศึกษาวิจัยเพื่อให้มีสาร THC (Tetrahydrocannabinol) และสาร CBD (Cannabidiol) ในระดับที่เหมาะสม พร้อมออกตัวว่าเชื่อมือโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรในฐานะฟันเฟืองสำคัญของการผลักดันนโยบาย โดยยืนยันว่า “ผมรอเซ็นอนุมัติอย่างเดียว ยืนรอหน้าห้องได้เลย ไม่มีดอง”

สำหรับที่มาที่ไปของโครงการ “กัญชา อภัยภูเบศร โมเดล” นพ.นำพล แดนพิพัฒน์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร เล่าว่า โรงพยาบาลได้ขออนุญาตจำหน่ายกัญชาทางการแพทย์และการรักษาผู้ป่วย โดยร่วมมือกับมูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดาฯ วิสาหกิจเพื่อสังคมที่ได้รับการรับรองจากอธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ เพื่อให้สามารถยืมใช้สถานที่ในการปลูกกัญชา และยืมใช้เครื่องมือตลอดจนบุคลากรในการสกัดสารสำคัญของกัญชา และปรุงตำรับยาแผนไทย โดยวิสาหกิจชุมชนสมุนไพรเกษตรอินทรีย์บ้านดงบัง เป็นผู้ปลูกกัญชาภายใต้การควบคุมของโรงพยาบาล ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับยาสมุนไพรกัญชาที่ปลอดภัยในการรักษาโรคอย่างต่อเนื่องและถูกกฎหมาย ภายหลังจากครบกำหนดแจ้งการมีไว้ในครอบครองกัญชา เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2562 

ด้าน ภญ.ดร.สุภาภรณ์ ปิติพร หัวหน้ากลุ่มงานเภสัชกรรม ได้กล่าวถึงการปลูกกัญชาสายพันธุ์ไทยว่า จำเป็นต้องมีการรวบรวมและพัฒนาสายพันธุ์ให้เหมาะสมเพื่อให้สามารถขยายพันธุ์ได้ โดยการปลูกลงแปลงนั้น จะใช้ต้นทุนต่ำที่สุด เหมาะสมกับสายพันธุ์ Sativa เพราะเป็นพันธุ์ที่ชอบแสงและต้นสูงใหญ่ ส่วนการปลูกในโรงเรือนมีข้อดีที่สามารถป้องกันแมลงและลมที่มีผลต่อการทำช่อดอก

ขณะที่ นพ.มกร ลิ้มอุดมพร อายุรแพทย์ ด้านประสาทวิทยา ได้นำเสนออีกมุมหนึ่งของสารสกัดกัญชาที่จำเป็นต้องระมัดระวังในการใช้ โดยระบุว่า ผลข้างเคียงที่พบได้บ่อยของผู้ใช้ เช่น ปากแห้ง ตาแดง มึนงง มีการวิตกจริต  อย่างไรก็ตาม การใช้กัญชาเกินกำหนดจะไม่ทำให้เสียชีวิต เนื่องจากกัญชาไม่มีฤทธิ์กดการหายใจ นอกจากนี้ สำหรับกลุ่มโรคหรือภาวะที่สารสกัดจากกัญชาน่าจะมีประโยชน์ในการควบคุมอาการ อาทิ โรคพาร์กินสัน โรคอัลไซเมอร์ โรคปลอกประสาทอักเสบ ในขณะที่โรคมะเร็งนั้น ขณะนี้ยังไม่มีหลักฐานและข้อมูลเพียงพอที่จะสนับสนุนถึงประสิทธิผลของสารสกัดกัญชาในการรักษา ดังนั้น จึงเห็นได้ว่ากัญชาไม่ใช่ “ยาวิเศษ” เช่นที่หลายคนเข้าใจ แต่เป็นพืชที่ต้องได้รับการศึกษาอย่างจริงจัง เพื่อหยิบฉวยใช้ประโยชน์ และหลีกเลี่ยงโทษที่อาจเกิดขึ้น

ท้ายสุดคงต้องรอดูว่านโยบาย “กัญชาเสรี” ภายใต้การนำของนายอนุทิน จะสำเร็จเป็นรูปธรรมหรือไม่  ท่ามกลางเดิมพันอนาคตของพรรคภูมิใจไทย...

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"