ย้อนตำนานนายกฯนั่งควบ อาถรรพ์เก้าอี้'รมว.กลาโหม'


เพิ่มเพื่อน    

        ด้วยข้อจำกัดในการจัดรายชื่อคณะรัฐมนตรีของรัฐบาลผสมหลายพรรคการเมือง ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ต้องเขย่าโผอยู่หลายรอบ แต่ตำแหน่งที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับพรรคร่วมรัฐบาลและต้องใช้ข้อมูลหลายๆ ด้านมาประกอบการตัดสินใจเลือกบุคคลที่มาดำรงตำแหน่ง คือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

                ด้วยหลายเหตุผลจึงทำให้ชื่อของ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ที่เคยถูกมองว่าจะเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมตลอดกาล ไม่ได้กลับมาเป็น รมว.กลาโหมอีกสมัยในโผ ครม.ประยุทธ์ 2/1 

                หากดูจากภายนอก สุขภาพร่างกายของ พล.อ.ประวิตร ซึ่งอายุ 73 ย่างเข้า 74 ปี ยังคงมีเรี่ยวแรงทำงาน ปฏิบัติภารกิจในตำแหน่งหน้าที่ได้ตามปกติ แต่ก็ไม่คล่องตัว ทำให้ต้องมีนายทหารติดตามประกบอยู่ใกล้ๆ ป้องกันไม่ให้สะดุดหกล้ม กลายเป็นเหตุผลหลักที่อธิบายต่อสังคมว่า “บิ๊กป้อม” ไม่ได้ไปต่อ

                ส่วนเหตุผลอื่นนั้น เป็นเรื่องของโชคชะตาฟ้าลิขิต ที่มีเพียงพี่น้อง 2 ป. ที่รู้ดีว่าจะรักษาสมดุลและคุมสภาพการเชื่อมต่อระหว่างกระทรวงกลาโหม ที่เป็นหน่วยงานระดับนโยบาย กับกองทัพซึ่งเป็นหน่วยปฏิบัติแต่มีพลังอำนาจมหาศาลที่เกี่ยวพันกับสถาบันหลักอย่างไร

                ทั้งนี้ ดราฟต์รายชื่อ ครม.โผสุดท้ายก่อนที่จะมีการนำรายชื่อทูลเกล้าฯ ถวายชื่อของ พล.อ.ประยุทธ์ จึงต้องควบตำแหน่ง รมว.กลาโหม เพราะนายกรัฐมนตรีจะเป็นผู้ที่เข้าถึงและเหมาะสมกับสภาพการณ์ของกองทัพที่เปลี่ยนแปลงไปสามารถประสานงานพิเศษเพื่อให้งานเดินได้อย่างไม่สะดุด

                และมี “บิ๊กช้าง” พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล เป็น รมช.กลาโหม ซึ่งรู้ข้อมูลอย่างรอบด้านที่เกี่ยวข้องกับงานของกระทรวงกลาโหม ในช่วงรัฐบาลของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) บริหารประเทศ พร้อมทั้งความเหมาะสมจากเส้นทางรับราชการที่โตมาทางสายยุทธการ เคยดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผน (สนผ.กห.) ซึ่งเปรียบเหมือนเสนาธิการทหารบกของกลาโหม มีความถ่องแท้ในการงานๆ เกือบทุกสายงาน สามารถตอบคำถามและชี้แจงข้อมูลได้เมื่อมีการพาดพิงและวิพากษ์วิจารณ์จากฝ่ายการเมือง

                ในแง่ความเหมาะสมกับสถานการณ์ ก็เชื่อว่า พล.อ.ประยุทธ์ คงนั่งควบตำแหน่ง รมว.กลาโหม ไปจนสิ้นสุดวาระของรัฐบาล แต่ในแง่ของ “ความเชื่อ” ก็มองกันว่า เมื่อนายกรัฐมนตรีนั่งควบตำแหน่ง รมว.กลาโหม รวมไปถึงเคยนั่งทั้งสองเก้าอี้ในต่างวาระ ก็มักไปไม่รอด หรือถ้าไปรอดก็ จบไม่สวย

                เรื่องแบบนี้ ไม่เชื่ออย่าลบหลู่ พลิกประวัติศาสตร์นับแต่จอมพล ป. พิบูลสงคราม, จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์, จอมพลถนอม กิตติขจร, หม่อมราชวงศ์ เสนีย์ ปราโมช, พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เป็นนายกรัฐมนตรี และต้องนั่งควบรมว.กลาโหมด้วย มักลงจากอำนาจแบบไม่ปกติ

                หรือแม้กระทั่ง พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ก็เกือบไม่รอด เจอกับเหตุการณ์กบฏถึง 2 ครั้ง เลยไปถึง ลอบสังหาร ตอนหลังจึงปล่อยเก้าอี้ รมว.กลาโหมให้ผู้อื่น โดยให้ พล.อ.อ.พะเนียง กานตรัตน์ มาดำรงตำแหน่งแทน 

หลังจากนั้นเป็นยุคของ “น้าชาติ" พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัน ตำนานแห่งบ้านราชครู ก็เลือกที่นั่งคุมกระทรวงกลาโหมเอง มี “บิ๊กซัน” พล.อ.อาทิตย์ กำลังเอก ดำรงตำแหน่ง รมช.กลาโหม แต่ในที่สุด “น้าชาติ” ก็ถูกรัฐประหารด้วยคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ที่มี พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ เป็นประธาน รสช.

พอมาช่วงรัฐบาลของ พล.อ.สุจินดา คราประยูร เป็นนายกรัฐมนตรี ก็ใช้สูตรนั่งควบกระทรวงกลาโหมอีกเช่นกัน แต่ในที่สุดก็ต้องปิดฉากด้วยการนองเลือด กลายเป็น ทรราช ลบภาพลักษณ์ของนายพลที่เคยเป็นดาวจรัสแสงในยุคของ จปร.5 เรืองอำนาจ

หลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ อำนาจของกองทัพเริ่มอ่อนตัวลง พรรคการเมืองเข้ามามีบทบาท แม้กระทั่ง “บิ๊กจิ๋ว” พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ผู้ที่มีบทบาทสูงยิ่งเมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก และถูกเรียกว่า ขงเบ้งแห่งกองทัพ ก็ต้องเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีโดยผ่านขั้นตอนการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย

ทว่าเมื่อขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีก็ต้องเจอ วิบากกรรม หลายประการ ทำให้ภาพลักษณ์ความเป็น “ขงเบ้ง” กลับตาลปัตร กลายเป็น “จิ๋วหวานเจี๊ยบ”  หรือ “จิ๋วอัลไซเมอร์” บริหารราชการแผ่นดินในช่วงวิกฤตการณ์ทางการเงินเมื่อปี พ.ศ.2540 แบบล้มเหลว มีการประท้วงโดยประชาชน ส่งผลทำให้ “บิ๊กจิ๋ว” ต้องพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2540

ในยุคของ “ชวน หลีกภัย” เป็นนายกรัฐมนตรี สมัยที่ 2 ตัดสินใจควบเก้าอี้ รมว.กลาโหม แม้จะอยู่ครบเทอม แต่ในที่สุดพรรคประชาธิปัตย์ก็ต้องแพ้การเลือกตั้งครั้งใหญ่

จากนั้นก้าวเข้าสู่ช่วงที่ “ทักษิณ ชินวัตร” เป็นนายกรัฐมนตรี ได้มีการจัดสมการอำนาจกองทัพใหม่ โดยให้ทหารเกษียณเข้ามาเป็น รมว.กลาโหม เช่น พล.อ.ธรรมรักษ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา, พล.อ.เชษฐา  ฐานะจาโร  พล.อ.สัมพันธ์ บุญญานันต์ เพื่อให้เข้ามาดูแลจัดการกันเอง ลดความกดดันที่จะมีต่อรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้ง

แต่เมื่อถูกรัฐประหารโดยคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ที่มี พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน เป็นประธานแล้ว นายกรัฐมนตรีถัดจากนั้น ไม่ว่าจะเป็น นายสมัคร สุนทรเวช, นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ กลับไปใช้สูตรกระชับอำนาจด้วยการนั่งเป็น รมว.กลาโหมเอง แต่ปรากฏว่า นายกฯ พลเรือนทั้งสองคนตกเก้าอี้นายกฯ แบบปัจจุบันทันด่วน   ขณะที่ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ถูก ลับ ลวง พลาง ให้เข้าไปคุมทหารต่อจากนั้น ก็ถูกรัฐประหาร โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

แม้จะดูเป็นเรื่องบังเอิญ แต่ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ที่ซ้ำรอยกันหลายครั้ง ก็ยากจะปฏิเสธว่าเก้าอี้ รมว.กลาโหม เป็น อาถรรพ์ ของผู้นำประเทศในอดีตมาหลายยุค เพียงแต่จะเป็นอาถรรพ์ในรูปแบบไหนและจังหวะเวลาใดเท่านั้นเอง

คงต้องรอดูต่อไปว่า ในยุคของ “บิ๊กตู่” นายกรัฐมนตรี จะล้างอาถรรพ์การควบเก้าอี้ "สนามไชย 1” ได้หรือไม่ หรือต้องปรับทัพ ขยับคนมานั่งแทนในช่วงที่คุมสถานการณ์ไม่อยู่. 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"