บทพิสูจน์ 'ทีมสุดารัตน์' ในยุคฝ่ายค้าน


เพิ่มเพื่อน    

        นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรค นายปลอดประสพ สุรัสวดี นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง นายชูศักดิ์ ศิรินิล นายไพจิต ศรีวรขาน นายเกรียง กัลป์ตินันท์ นายวิทยา บุรณศิริ นายสามารถ แก้วมีชัย นายวิชาญ มีนชัยนันท์ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว นายชวลิต วิชยสุทธิ์ นางลดาวัลลิ์ วงศ์ศรีวงศ์ นายประเสริฐ จันทรรวงทอง นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร นายนคร มาฉิม พล.ต.ท.สมศักดิ์ จันทะพิงค์ รองหัวหน้าพรรค

        น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ เลขาธิการพรรค น.ส.ละออง ติยะไพรัช นายจตุพร เจริญเชื้อ นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ นายศราวุธ เพชรพนมพร นายสุรชาติ เทียนทอง น.ส.ขัตติยา สวัสดิผล นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รองเลขาธิการพรรค

         นายทวีศักดิ์ อนรรฆพันธ์ เหรัญญิกพรรค นายจักรพงษ์ แสงมณี นายทะเบียนสมาชิกพรรค นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด โฆษกพรรค นายประพนธ์ เนตรรังสี นายณรงค์ รุ่งธนวงศ์ กรรมการบริหารพรรค

        29 กรรมการบริหารพรรคเพื่อไทย จากมติที่ประชุมสมาชิกพรรคเลือกเข้าไปทำหน้าที่ บริหารจัดการ ควบคุมทิศทางพรรคเพื่อไทย ในยุคฝ่ายตรวจสอบ คณะกรรมการบริหารพรรคยุคนี้ถูกมองว่า คนที่ได้เข้ามาทำงานส่วนใหญ่เป็นคนใกล้ชิด เจ๊หน่อย-คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์การเลือกตั้ง พรรคเพื่อไทย

        29 กรรมการบริหารพรรคเพื่อไทย เป็นการใช้สิทธิ์เต็มจำนวนตามข้อบังคับที่มีได้ไม่เกิน 29 คน พลันที่เห็นโฉมหน้ากรรมการบริหารยุคนี้ ที่ผิดแผกไปจากธรรมเนียมปฏิบัติเดิม ที่มักจะไม่นำคนที่เป็น ส.ส.มาเป็นกรรมการบริหารพรรค ยกเว้นตำแหน่งหัวหน้าพรรคที่ต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ ผู้นำฝ่ายค้านต้องเป็นหัวหน้าพรรคและเป็น ส.ส. แต่ในยุคนี้กลับอุดมไปด้วย ส.ส.จำนวนมาก ทำให้ถูกมองว่า

       -เหตุใดต้องนำ ส.ส.มาเป็นกรรมการบริหารพรรคถึง 11 คน ในยุคที่มีแต่คนโดดหนีจากการเป็นกรรมการบริหารพรรค โดยเฉพาะคนที่เป็น ส.ส.เพื่อไทยถูกจับตาทุกฝีก้าวจากฝ่ายตรงข้าม หากเกิดอุบัติเหตุการเมือง พรรคถูกยุบ ตามรอยไทยรักไทย พลังประชาชน จะทำให้พรรคเสียบุคลากรที่มีฝีมือการเมืองที่กำลังมีบทบาทโดดเด่นในสภาฯ อาทิ ชลน่าน จิรายุ อนุดิษฐ์ ยุทธพงศ์ ประเสริฐ เป็นต้น

        ยังไม่นับรวมรุ่นใหม่ที่รอวันเติบโตทางการเมือง เช่น ขัตติยา เผ่าภูมิ สุรชาติ ประพนธ์ ที่หากพรรคเพื่อไทยดันเกิดอุบัติเหตุการเมืองจริง ทำให้ต้องถูกเว้นวรรคทางการเมืองอีกหลายปีตามไปด้วย

       -เหตุใดต้องมีรองหัวหน้าพรรคมากถึง 15 คน และรองเลขาธิการพรรคมากถึง 7 คน ดูแล้วมากเกินความจำเป็น

       -คณะกรรมการบริหารพรรคชุดนี้ส่วนใหญ่เป็นคนใกล้ชิดคุณหญิงสุดารัตน์ ทำให้ถูกมองว่า เป็นความพยายามบริหารจัดการในเชิงอำนาจที่ต้องออกจากกรรมการบริหารพรรคอย่างเบ็ดเสร็จ โดยเฉพาะตำแหน่งเลขาธิการพรรค ที่ถือว่า เป็นทั้งมือทำงาน มือประสาน มือขับเคลื่อน กำกับควบคุมทิศทางพรรค ทั้งภายในและภายนอกสภาฯ           

        การก้าวเข้ามามีบทบาทภายในพรรคเป็นอย่างสูงของ ทีมสุดารัตน์ ไม่เพียงทำให้ คนในโครงสร้างเดิม ที่มีบทบาทขับเคลื่อนพรรค ถอยออกไป เสี่ยอ้วน-ภูมิธรรม เวชยชัย อดีตเลขาธิการพรรค ที่ประกาศไม่รับตำแหน่งใดๆ ทั้งสิ้นในกรรมการบริหารพรรค แต่จะไปช่วยงานผู้นำฝ่ายค้านในสภาฯ และให้คำปรึกษา ส.ส.ฝ่ายค้านมากขึ้น

        พรรคเพื่อไทย ในยุคสุดารัตน์ คอยถือหางเสือ ยังต้องเจอบททดสอบทั้งในพรรคและนอกพรรค ในพรรค ความคาดหวัง ส.ส. ที่บางคนร้องขอสิทธิ์ในการอภิปรายอย่างเท่าเทียม และออกโรงดักคอ อย่าเลือกที่รักมักที่ชัง เอาคนภายในกลุ่มมาทำหน้าที่เท่านั้น เช่นเดียวกับความคาดหวังในด้านการพัฒนา ปรับรูปแบบพรรคให้ทันสมัย เป็นพรรคที่ไม่เพียง ยึดฐานเสียงพื้นที่ฐานเสียงเก่าเอาไว้ให้ได้ แต่ยังต้องดึงฐานจากคนรุ่นใหม่กลับมาให้ได้จากพรรคอนาคตใหม่อีกด้วย

        งานนอกพรรคในวันที่ไม่มีอำนาจรัฐหนุนหลัง เครือข่ายอำนาจเก่าอ่อนแรง ไม่เพียงแรงเสียดทานการเมืองที่จะต้องเจอจาก ส.ส.ขั้วตรงข้าม ที่พร้อมจะล้างขั้ว กำจัดเพื่อไทยไม่ให้อยู่ในสมการการเมืองในวันข้างหน้า เพื่อไทยในยุคที่ต้องทั้งบริหารงานพรรค รักษาสมดุลในพรรค ไปพร้อมกับรับมือฝ่ายตรงข้ามจากนอกพรรค ล้วนเป็นโจทย์ที่ท้าทายพรรคเพื่อไทยในยุคสุดารัตน์ทีม.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"