มหานครการบิน ศูนย์กลางธุรกิจภาคตะวันออก


เพิ่มเพื่อน    


    "ปัจจุบันในภูมิภาคเอเชียมีการสั่งซื้อเครื่องเยอะที่สุด ทำให้เกิดกิจกรรมที่หลากหลาย จะเป็นประโยชน์กับไทยมาก แต่สิ่งที่รัฐบาลทำคือให้พื้นที่ปักหมุดเมืองใหม่ ดังนั้นการส่งเสริมอีอีซี ไม่ว่าจะเป็นสนามบินอู่ตะเภา ศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน (MRO) หรือเมืองการบินล้วนมีความสำคัญ จึงเป็นการรองรับการเติบโตที่จะเกิดขึ้นในอนาคต  ต้องสร้างบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญกับเครื่องบินมีมากขึ้น"

 

    เมื่อพูดถึงการส่งเสริมพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี เป็นที่แน่ชัดว่าโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งถือเป็นปัจจัยสำคัญที่จะเข้าไปเสริมการเชื่อมต่อการเดินทาง ไม่ว่าจะเป็นทางบก, ราง, น้ำ และอากาศ ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งจำเป็น แต่ที่น่าสนใจที่สุดน่าจะเป็นการขนส่งทางอากาศหนึ่งในปัจจัยหลักที่จะช่วยหนุนให้เศรษฐกิจเติบโต รัฐบาลจึงได้เร่งรัดดำเนินการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา ศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน และเมืองการบินภาคตะวันออก มูลค่า 2.9 แสนล้านบาท เพื่อก้าวไปสู่การเป็นมหานครการบินภาคตะวันออก (EEC Aerotropolis) จะมีศูนย์กลางอยู่ที่สนามบินอู่ตะเภา
    ทั้งนี้ สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ซึ่งมีหน้าที่กำกับดูแลการบินพลเรือนและควบคุมกิจการการบินพลเรือน โดยมีอำนาจในการออกข้อบังคับ ข้อกำหนด ระเบียบ ประกาศ และคำสั่งเกี่ยวกับการบินพลเรือนให้เป็นไปตามมาตรฐานสากลที่เป็นปัจจุบัน และทันต่อเหตุการณ์ และกำกับ ดูแล ควบคุม ตรวจสอบ ติดตาม และประเมินผลการปฏิบัติในเรื่องทั้งปวงที่เกี่ยวกับการบินพลเรือนด้วย  

(จุฬา สุขมานพ)

เตรียมรองรับการบินอีอีซี
    นายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) กล่าวว่า ในอีก 2-3 ปีข้างหน้า ตลาดการบินยังคงเติบโตมากในเอเชีย ทั้งปริมาณผู้โดยสาร และจำนวนสั่งซื้อเครื่องบิน ซึ่งมีมากกว่า 100 ลำที่รอส่งมอบ ด้านความพร้อมในการรองรับอุตสาหกรรมดังกล่าวนั้น ประเทศไทยมีศักยภาพในการซ่อมอยู่แล้ว ทั้งด้านองค์ความรู้ เทคโนโลยีและอุตสาหกรรมอะไหล่การบินที่มีผลิตใช้กันอยู่แล้ว 
    ทั้งนี้ ประเทศไทยมีศักยภาพในการผลิตชิ้นส่วน อะไหล่ อากาศยาน เพื่อส่งออกอยู่แล้ว แต่ละปีมีมูลค่าส่งออกกว่า 70,000 ล้านบาท และเชื่อว่าเมื่อมีการขยายลงทุนศูนย์ซ่อมอากาศยาน ยิ่งทำให้ธุรกิจโตอย่างก้าวกระโดด ในส่วนของ กพท. ได้เห็นถึงความจำเป็นในการเร่งผลิตบุคลากร ช่างซ่อมอากาศยาน และได้หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เตรียมหลักสูตรและเพิ่มปริมาณนักศึกษาโดยเร็วให้ทันต่อการขยายตัวของอุตสาหกรรม ที่จะเกิดขึ้น 2-3 ปีข้างหน้า
    “ปัจจุบันในภูมิภาคเอเชียมีการสั่งซื้อเครื่องเยอะที่สุด ทำให้เกิดกิจกรรมที่หลากหลาย จะเป็นประโยชน์กับไทยมาก แต่สิ่งที่รัฐบาลทำคือให้พื้นที่ปักหมุดเมืองใหม่ ดังนั้นการส่งเสริมอีอีซี ไม่ว่าจะเป็นสนามบินอู่ตะเภา ศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน (MRO) หรือเมืองการบินล้วนมีความสำคัญ จึงเป็นการรองรับการเติบโตที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ต้องสร้างบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญที่กับเครื่องบินมีมากขึ้น" นายจุฬากล่าว

ตั้งศูนย์ MRO สร้างรายได้
    นายจุฬา กล่าวว่า โครงการก่อตั้งศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา (MRO) วงเงินประมาณ 1 หมื่นล้านบาทนั้น บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) อยู่ระหว่างการเจรจาร่วมทุนกับ บริษัท แอร์บัส ดังนั้นจึงต้องมีการออกพระราชกฤษฎีกาเพิ่มเติมเพื่อวางเงื่อนไขเรื่องการให้บริษัทต่างชาติเข้ามาเปิดเสรี MRO ในไทย อาทิ เงื่อนไขการถ่ายทอดเทคโนโลยี การนำเข้าเทคโนโลยีและเงื่อนไขในการลงทุนปลีกย่อย เป็นต้น ในส่วนของ กพท.จะเป็นผู้ที่ทำหน้าที่เข้าไปตรวจสอบและรับรองมาตรฐานความปลอดภัย 
    ทั้งนี้ กพท.มองว่า MRO ที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) บริเวณสนามบินอู่ตะเภานั้น จะมีศักยภาพอย่างมากในการสร้างรายได้ให้กับประเทศ และกระจายรายได้ไปยังท้องถิ่น เนื่องจากไทยเป็นศูนย์กลางทางการบินในภูมิภาค ส่งผลให้ในแต่ละปีมีเครื่องบินเข้ามาจำนวนมาก ประกอบกับ MRO ในภูมิภาคเอเชียนั้นส่วนใหญ่งานล้นมือหมดแล้ว ไม่สามารถรองรับออเดอร์ใหม่ได้อีก จึงเป็นโอกาสที่จะรับเครื่องบินเหล่านั้นเข้ามาซ่อมในประเทศไทย โดยเฉพาะสายการบินจากประเทศจีนที่มีเที่ยวบินจำนวนมาก
    นอกจากนี้ ในอนาคตจะเปิดให้บริษัทผู้ผลิตรายอื่นอย่างโบอิ้ง (Boeing) เข้ามาลงทุนในประเทศด้วย เนื่องจากที่สนามบินโคราชและสนามบินเชียงรายยังมีพื้นที่รองรับอีก 3,000 ไร่ในการลงทุนศูนย์ซ่อม MRO ได้อีก ด้านนโยบายการส่งเสริมให้ต่างชาติเข้ามาลงทุน MRO ในประเทศไทยนั้น สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) จะให้สิทธิพิเศษในการลงทุน อาทิ การยกเว้นภาษีรายได้ และการยกเว้นภาษีนำเข้าเครื่องจักร เป็นต้น

ปี 62 ปลด FAA แน่
    นายจุฬา กล่าวว่า ส่วนกรณีด้วยการตรวจสอบมาตรฐานความปลอดภัยด้านการบินของประเทศไทย จากสำนักงานบริหารการบินแห่งชาติของสหรัฐ (FAA) นั้น ทาง กพท.มั่นใจภายในปี 2562 ไทยจะได้รับการยกระดับกลับมาอยู่ในชั้นที่ 1 แน่ หลังจากที่ผ่านมา FAA หลังจากปรับลดระดับความปลอดภัยด้านการบินไทยลงจาก Category 1 มาที่ระดับ Category 2 ทำให้สายการบินของไทยไม่สามารถทำการบินในสหรัฐตั้งแต่เดือน ต.ค.2558 ซึ่งขณะนี้ กทพ.อยู่ระหว่างหาบุคลากรผู้เชี่ยวชาญด้านการตรวจสอบ ประมาณ 30 คน สำหรับตรวจนักบิน และเครื่องบินทุกรุ่น ซึ่งขณะนี้ยังขาดผู้ตรวจสอบนักบินสำหรับเครื่องบิน ATR (เครื่องบินใบพัด) และเครื่องบินขนาดเล็กๆ ซึ่งหายาก เพราะเป็นเครื่องบินรุ่นเก่าและมีการใช้งานน้อย โดยแนวทางแก้ไขปัญหานั้นจะแลกเปลี่ยนผู้ตรวจสอบกับทางเวียดนาม ซึ่งมีผู้เชี่ยวชาญอยู่จำนวนมาก 
    “ช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมา FAA ได้เข้าประเมินก่อนว่าพร้อมสอบใหญ่หรือยัง แนะให้ปรับปรุงจำนวนผู้ตรวจ ที่ต้องระบุชัดว่าเครื่องบินมีกี่แบบ ต้องมีผู้ตรวจให้ไปตามแบบนั้นทุกประเภท เช่น เครื่อง ATR ใบพัดมีบางกอกแอร์เวย์สกับนกแอร์ใช้ ที่ผ่านมาให้เอกชนตรวจแทน ซึ่ง FAA บอกว่ามอบได้ แต่ต้องมีคนที่ตรวจคุณสมบัติคนที่รับมอบอีกที เรายังไม่มี แต่จะทำ MOU กับต่างประเทศ แลกเปลี่ยนผู้ตรวจสอบ เช่น สปป.ลาว กัมพูชา เวียดนาม เพราะเขาก็ขาดคนและกลัวธงแดง ในปีนี้จะแสดงความพร้อมให้ FAA มาตรวจ ส่วนจะมาเมื่อไหร่ไปบังคับไม่ได้" นายจุฬากล่าว 
    อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้ กพท.จะตรวจสอบสายการบินที่ได้รับใบรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศใหม่ (AOC Re-certification) ที่ออกให้โดยสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ใบรับรองดังกล่าว กพท.ได้ปรับปรุงการตรวจประเมินการออกใบรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศใหม่ให้เป็นไปตามมาตรฐานที่องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ หรือ ICAO กำหนด ว่าแต่ละสายการบินยังรักษามาตรฐานไว้ได้มากเพียงใด


 
ไทยเป็นเจ้าภาพ GACS/3   
    นายจุฬา กล่าวว่า ในเดือนกรกฎาคมนี้ ระหว่างวันที่ 21-24 กรกฎาคมนี้ กพท.จะร่วมกับ ICAO จัดการประชุม The Third Global Aviation Cooperation Symposium  หรือ GACS/3 ที่จังหวัดภูเก็ต ซึ่งถือเป็นงานใหญ่ระดับนานาชาติ ที่จะมีผู้นำของ ICAO ประเทศสมาชิก และผู้บริหารหน่วยงานกำกับมาตรฐานความปลอดภัยด้านการบินทั่วโลกมาร่วม 
    สำหรับวัตถุประสงค์การจัดงานเพื่อแลกเปลี่ยนประเด็นความท้าทายที่สำคัญของการบินในอนาคตอันใกล้ และการปฏิบัติตามมาตรฐานสากล เพื่อความปลอดภัย และความยั่งยืนด้านการบิน รวมถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาและวิธีปฏิบัติที่เป็นเลิศ ในการเสริมสร้างประสิทธิภาพด้านการบิน ผ่านโครงการความร่วมมือและช่วยเหลือทางเทคนิคในรูปแบบต่างๆ อีกทั้งยังช่วยส่งเสริมบทบาทหน้าที่ของโครงการความร่วมมือทางเทคนิคของ ICAO ในการช่วยเหลือประเทศสมาชิกให้บรรลุเป้าหมาย และส่งเสริมความสัมพันธ์ที่ดี และความร่วมมือกันระหว่าง ICAO ประเทศสมาชิก หน่วยงาน องค์กรด้านการบิน อุตสาหกรรมการบินทุกระดับ รวมทั้งผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่นๆ เป็นต้น
    "ประเทศสมาชิกจะมีการแลกเปลี่ยนและสอบถาม ICAO เกี่ยวกับการแก้ปัญหา มาตรฐานความปลอดภัยด้านการบินได้ นอกจากการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้แล้ว ไทยก็จะได้ประโยชน์ สามารถแสดงถึงแนวทางในการแก้ปัญหาปลดธงแดงในช่วงที่ผ่านมา เพื่อเรียกความเชื่อมั่นมาตรฐานความปลอดภัยการบินได้อีกมาก" นายจุฬากล่าว 
    นายจุฬา กล่าวว่า ICAO จะมีการจัดการประชุม 2 ปีครั้ง เชิญประเทศสมาชิก 192 ประเทศทั่วโลกมาคุยกัน ในส่วนของกฎเกณฑ์ กติกาที่ ICAO ที่เอาไปใช้มีปัญหามากน้อยแค่ไหน เมื่อมีปัญหาก็เอาปัญหามาแชร์กัน เพื่อจะเรียนรู้ด้วยกัน ในการสัมมนาครั้งนี้มาคุยถึงประเด็นความท้าทายที่เผชิญอยู่ และปัญหาข้างหน้าจะเป็นอย่างไร จากการที่ไทยได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพ เรามีความก้าวหน้า มีความเติบโต เป็นประเทศที่ไปจากอยู่ระดับที่ล่างๆ มาตรฐานจาก 34 เต็ม 100 จนในที่สุดสามารถขยับขึ้นมา ตรงนี้จะทำให้เรามีพื้นที่ยืนใน ICAO มากขึ้น และต่อไปจะทำให้ไทยเราสามารถสมัครคณะมนตรีได้   
    นายจุฬา กล่าวว่า การเลือกสถานที่จัดงานที่จังหวัดภูเก็ต เนื่องจากผู้ที่มาร่วมงานเดินทางมาใกล้ และเป็นคนที่ทำเกี่ยวกับธุรกิจการบิน เป็นคนมีเงิน เมื่อเขาติดใจความสวยงามสถานที่ท่องเที่ยวที่ภูเก็ต จะทำให้เขาอยากกลับมาเที่ยวอีก ถือเป็นการเอาการท่องเที่ยวมาช่วยด้วย เอาเงินมาใช้บ้านเรา เพราะตอนนี้เริ่มเป็นช่วงนอกฤดูกาลท่องเที่ยว(Low season) ด้วย
    ทั้งนี้ ภาพรวมอุตสาหกรรมการแข่งขันของสายการบิน มองว่ามีแข่งขันกันสูง แต่ได้กำไรไม่เยอะ ส่วนสายการบินที่ไม่มีศักยภาพค่อยๆ หายไปบ้าง เนื่องจากอุตสาหกรรมการบินมีการแข่งขันกันสูงเรื่องของราคา ขึ้นอยู่ว่าใครจะแข็งแรง สู้ได้อยู่ได้ สายการบินที่มีโครงข่ายเชื่อมโยงเยอะๆ ตรงนี้มองว่าการแข่งขันดีกับผู้โดยสาร แต่ไม่ดีกับแอร์ไลน์
    นายจุฬา กล่าวว่า ในส่วนของ กพท.ยังไม่มีเรื่องที่ต้องนำเสนอรัฐบาลชุดใหม่ ส่วนใหญ่ดูเรื่องของกฎกติกา ไม่มีเรื่องของการลงทุน และดูแลอุตสาหกรรมให้ได้มาตรฐาน ส่วนงบประมาณของ กพท.ได้จากการจัดเก็บค่ากำกับดูแลผู้โดยสารเข้า-ออกประเทศไทยคนละ 30 บาท ทำให้มีรายได้เดือนละ 40 ล้านบาท ซึ่งนำไปใช้บริหารสำนักงานตามกฎหมาย ที่ตั้งมาว่าต้องหารายได้เอง ตามสากลกำหนดมาว่าต้องเป็นอิสระ เพราะจะโดนการเมืองแทรกแซง.
       


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"